ยืนขาย 'บัตรผี' หน้างาน..มันเอาต์ไปแล้ว! ล่าสุด เจาะตลาดออนไลน์ ซื้อตั๋วราคาปกติแต่อัปเพิ่ม 3 เท่า แฟนคลับเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดัง 'BlackPink' ช้ำใจวิจารณ์ถล่มผู้ขาย 'ขูดเลือดกันเกินไปไหม' ด้านนักวิชาการตลาดสื่อโซเชียลฯ วิเคราะห์พฤติกรรมส่งต่อบัตรคอนเสิร์ต 'ยิ่งหายาก-ยิ่งแพง' แถมย้ำ ไม่ใช่ความผิดในเมื่อ 'สมัครใจ' ซื้อ!
จาก 6,000 เป็น 30,000 บาท อัปค่าบัตรแพงเว่อร์!
“ขายบัตรยืน BlackPink จำนวน 3ใบ ลดให้สุด 70,000 บาทพอ สนใจ DM หรือเมนชั่นก็ได้ครับ”
นี่แหละหนา! กดบัตรไม่ทันก็ยังไม่ปวดใจเท่าราคาบัตรขายต่ออัพหลายเท่าตัว! จากผู้ใช้งานทวิตเตอร์รายหนึ่ง ประกาศโพสต์ข้อความขายบัตรต่อวงเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังจากประเทศเกาหลี 'BlackPink' ที่เตรียมจัดคอนเสิร์ตครั้งแรกในไทยในเดือนมกราคม แต่ไหงโขกราคากันแพงเกือบแสน! ทั้งที่บัตรจริงขายอยู่ที่ราคาใบละ 6,000 บาทเท่านั้นเอง
โดยการประกาศขายครั้งนี้เจ้าตัวขายบัตรแพ็ครวม 3 ใบ ในราคา 70,000 บาท เท่ากับใบละ 23,333 บาท จากราคาปกติใบละ 6,000 บาท ทว่า หากผู้ซื้อต้องการซื้อบัตรแยกจะต้องซื้อในราคา 30,000 บาทต่อใบ
ด้านสังคมออนไลน์โดยเฉพาะสาวก 'บลิ๊งค์' ถึงกับโวย แถมยังพากันตั้งคำถามว่านี่เป็นการฟันราคาบัตรคอนเสิร์ตเกินเหตุสมควรหรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้แม้จะมีการเดินทางมาจัดคอนเสิร์ตของศิลปินเกาหลีก็มักจะมีการขายบัตรต่อในราคาที่สูงลิ่วให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง แต่ยังเป็นราคาที่รับได้และสมควรแก่การซื้อผิดกับกรณีนี้
“นี่ต้องหน้าไม่อายแบบไหนอ่ะ ตัวเองกดไวเพื่อมาทำอะไรไร้จิตสำนึกแบบนี้ และคนแบบนี้ก็มีอยู่เรื่อยๆ สงสารแฟนคลับที่เขาอยากไปดูจริงๆ เสียดายตังค์แทนคนที่ซื้อไปนะ เขาคงอยากดูมากจริงๆ”
“จริงๆ มันไม่ได้อยู่ที่คุณกดไว มันอยู่ที่ว่าคุณนะเอาบัตรมาอัปราคา คิดถึงคนที่อยากไปจริงๆ หน่อย อัปค่าเสียเวลาที่รอกดเล็ก น้อยๆ ก็พอไหว นี่อัปเหมือนไม่มีเงินติดกระเป๋า มันเวอร์ไปอะฝากไว้ให้คิด”
ขณะที่อีกกระแสหนึ่งมองว่านี่เป็นการปั่นกระแสของเจ้าของโพสต์มากกว่า ไม่ได้ตั้งราคาไว้จำหน่ายจริง โดยยังบอกอีกว่าถึงแม้จะขายในราคาที่แพงจากเดิมหลายเท่าตัว แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับอำนาจการตัดสินใจของผู้ซื้อ ไม่ถือเป็นความผิดของผู้ขาย!
“ไม่พอใจไม่ต้องซื้อกันครับ เรื่องง่ายๆ ไม่ต้องบ่น ถ้าอยากไปแล้วกดไม่ได้ก็ผิดที่ตัวพวกคุณครับ ถ้าแบบนั้นการนำมาขายต่อก็ผิดกฎหมายหมดเลยสิครับในทวิตเตอร์เยอะแยะเลย ไม่เห็นส่งผลอะไรกับใครเลย ใครพอใจก็ซื้อ ไม่พอใจก็ไม่ต้องซื้อ แค่นั้นเอง”
อย่างไรก็ดี ทีมข่าว MGR Live ได้ตรวจสอบไปยังเว็บไซต์ผู้จำหน่ายบัตร 'Thai Ticket Major' พบว่ามีการเผยแพร่ข้อความแจ้งเตือนลูกค้าให้อย่าหลงเชื่อการจำหน่ายบัตรที่ไม่ได้มาจากไทย ทิคเก็ต เมเจอร์ ทั้งการนำบัตรไปเปิดจำหน่ายตามเว็บไซต์อื่นๆ หรือจำหน่ายจากบุคคลทั่วไปโดยอาศัยช่องทางโซเชียลมีเดียที่มีการแอบอ้างขายบัตรเกินราคา
ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีประกาศเตือนจากผู้จำหน่ายบัตรคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลี ทั้งการห้ามนำบัตรไปขายต่อหรือแจกเพื่อการโฆษณา รวมทั้งการนำบัตรไปขายต่อเพิ่มราคา ซึ่งหากตรวจสอบพบหลักฐานการทำความผิดจะถูกยกเลิกบัตรเป็นโมฆะ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีผู้นำบัตรมาขายต่อในราคาที่มากกว่าให้เห็นกันอยู่ดี!
“สมัครใจ” ซื้อซะอย่าง! คนซื้อ-คนขายไม่มี “ถูก-ผิด”
“ต้องเข้าใจความเป็น 'Blackpink' โดยเฉพาะ 'ลิซ่า' ก่อน ว่าแบล็กพิงค์เป็นกระแสเกิร์ลกรุ๊ปที่มาแรงมาก ตัวลิซ่าเองตั้งแต่เปิดอินสตาแกรมมาไม่นาน ล่าสุด ยอดติดตาม 10.9 ล้านคนแล้ว แซงซุปเปอร์สตาร์อย่าง 'อั้ม-พัชราภา' ที่อยู่อันดับหนึ่งของไทยไปแล้ว
เรียกง่ายๆ ว่า ถ้าคน 10% ของอินสตาแกรมลิซ่ามาดูคอนเสิร์ตก็เต็มแล้ว ยังไม่รวมศิลปินคนอื่นในวงเลยนะ ฉะนั้น ความหายาก ความเป็นลิมิเต็ดของบัตรนี้ มันต้องถือว่าแรร์มาก จึงไม่น่าแปลกที่บัตรมันจะขึ้นมาแตะราคาเท่านี้”
'วีรพล สวรรค์พิทักษ์' นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด วิเคราะห์ถึงกระแสความฮอตของวงเกิร์ลกรุ๊ป 'Blackpink' ผ่านการตั้งคำถามของสังคมว่า ทำไมบัตรที่มีการนำมาขายต่อในโลกออนไลน์ถึงมีราคาแพงลิ่วถึงเพียงนั้น ที่สำคัญผู้ซื้อเองก็มีกำลังในการซื้อเสียด้วย แม้ว่าราคาจะสูงหลายเท่าตัวก็ตาม!
“ก่อนอื่นผมขออธิบายคำว่า 'รีเซลส์' ก่อน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราจะได้ยินคำนี้กันบ่อยมาก นั่นคือการนำมาขายต่อ ถ้าสมัยก่อนจะเรียกว่า 'ตั๋วผี' ทั้งบัตรคอนเสิร์ต-สินค้าแบรนด์เนมเอง ก็คือการนำสินค้าราคาปกติมาขายต่อในราคาที่สูงขึ้น ฉะนั้น ถ้าเรามองว่าตั๋วผีในสมัยก่อนจะมองในแง่ลบทันทีว่ามีคนไปเหมาตั๋วมาขายในราคาแพง
แต่ขณะที่ปัจจุบัน คนทั่วไปหรือกระแสอินเตอร์เน็ตที่เข้ามา มันเกิดการรีเซลส์ทางออนไลน์ง่ายขึ้น ทำให้ภาพพจน์ของการเป็นตั๋วผีในแง่ลบมันจะเริ่มน้อยลง ถามว่าราคาแพงไหมก็แพงอยู่ แต่เป็นประโยชน์กับผู้ขายที่ไปซื้อมาจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ที่ง่ายและสะดวกมากขึ้น
ส่วนประเด็นว่าทำไมสินค้ารีเซลส์ถึงแพง ก็ต้องทำความเข้าใจว่าคือ 'ความลิมิเต็ด' ก่อน เมื่ออุปสงค์ (Demand) มันสูง ความต้องการก็จะสูงขึ้น เพื่อปรับให้อยู่ในจุดได้ดุลอีกครั้งหนึ่ง เท่ากับว่าราคาที่ได้มาในตอนแรกเป็นอีกราคาหนึ่ง แต่เมื่อความต้องการสูงขึ้น แต่อุปทาน (Supply) มันเท่าเดิมเพราะบัตรมีเท่าเดิม แน่นอนราคาต้องสูงขึ้น
ดังนั้น ไม่แปลกเลยที่สินค้ารีเซลส์ ราคาทำไมถึงสูง สิ่งเหล่านี้เป็นไปตามทฤษฎีและภาคปฏิบัติ อธิบายง่ายๆ ก็คือเมื่อของมีจำกัด แต่ความต้องการหรือคนอยากได้สูง ราคาจึงต้องปรับขึ้นตามหลักนั่นเอง”
แม้จะเป็นไปตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์ที่พอเข้าใจได้ แต่ก็ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าการอัปราคาที่สูงลิ่วจนน่าตกใจก็ยังเป็นเรื่องที่แฟนคลับส่วนใหญ่ยังคงรับไม่ได้อยู่ดี ขณะที่ในสายตาของผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดคนเดิมกลับมองว่า นั่นก็เป็นสิทธิ์ของผู้ซื้อและผู้ขายด้วยความสมัครใจมากกว่า
“มันต้องยอมรับว่าเป็นสิทธิ์ของเขาในการขาย เพราะเขาซื้อมาจะขายหรือไม่ขายก็ได้ มันเป็นสิทธิ์ของเขา เป็นบัตรของเขา เราต้องเข้าใจทั้งผู้ซื้อและผู้ขายนะ เมื่อผู้ซื้อก็อยากได้ในราคารีเซลส์ที่ไม่สูงมากนัก ทุกคนยอมรับได้แหละ แต่ขณะที่ผู้ขายก็อยากรีเซลส์ในราคาที่สูง ต้องยอมรับว่ามันเป็นสิทธิ์ของเขา
เพราะกว่าที่เขาจะได้บัตรมา มันมีราคา (Cost) ที่เขาต้องเสีย ทั้งการไปหาบัตร การมีทีม หรือเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปก่อน โดยที่ไม่รู้ว่าจะขายได้หรือไม่ ถือเป็นความเสี่ยง ซึ่งคอร์สเหล่านี้เมื่อตีออกมาเป็นตัวเงินก็สามารถบวกเข้าไปในตัวบัตรได้
เราคงเอาผิดเขาลำบากนะ เพราะเขาไม่ได้ทำเป็นธุรกิจขึ้นมา เหมือนการซื้อ-ขายด้วยความสมัครใจมากกว่า แต่ถ้าเป็นในเรื่องของธุรกิจก็อาจมีประเด็นการค้าขายที่เอากำไรเกินควรหรือไม่ หรือประเด็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคในแง่ของนิติบุคคล แต่กรณีนี้เป็นการค้าขายด้วยความสมัครใจ ผมว่าถ้าเอาผิดน่าจะลำบากครับ”
อย่างไรก็ดี นักวิชาการคนเดิมยังทิ้งท้ายถึงการซื้อขายสินค้า ทั้งกลุ่มแฟนคลับของศิลปินรวมถึงกลุ่มคนทั่วไปอีกด้วยว่า ความรักของแฟนคลับที่มีต่อตัวศิลปินต่างชาตินั้นมีพลังเกินกว่าจะดูถูกได้ อีกทั้งความเป็นลิมิเต็ดอิดิชั่นที่ไม่ว่าจะไปอยู่ในสินค้าหรือบริการใดๆ ก็ล้วนแต่มีมูลค่าตามหลักอุปสงค์-อุปทานเสมอ
“สำหรับแฟนคลับหรือผู้ซื้อ ประเด็นแรก 'อย่าดูถูกพลังของแฟนคลับ' ไม่ว่าจะเป็น 'บลิ๊งค์' 'นุช' หรือ 'โอตะ' ต้องอย่าดูถูกพลังของแฟนคลับ เขารักของเขา เขาสามารถใช้จ่ายเงินกับคนที่เขารักได้ ต้องอย่าไปรู้สึกว่าไร้สาระ หรือเป็นการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ต่างคนต่างจิตใจครับ
ส่วนต่อมา 'ความเป็นลิมิเต็ด' ใช้ได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์-สินค้า หรือแม้แต่บัตรคอนเสิร์ต ความเป็นลิมิเต็ดอิดิชั่น มันจะเข้ากับหลักอุปสงค์-อุปทานเสมอ
สุดท้าย 'รู้จักความพอดี' เลือกซื้อได้ตามความสบายใจ สบายกระเป๋า มีตังค์ก็ซื้อหรือแพงเท่าไหร่ก็ซื้อได้ แต่ถ้าไม่มีตังค์ก็ไม่ต้องขวนขวาย ทำใจสบายๆ กำตังค์ไว้ในมือ แล้วนั่งภูมิใจว่าฉันยังมีตังค์อยู่กับฉันก็จะสบายใจขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องซื้อของแพงขนาดนั้นก็ได้ ที่อยากฝากคือความพอดีครับ'
ข่าวโดย MGR Live