xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าบ้าน VS คนร้าย... ไม่สู้-เสี่ยงตาย ถ้าสู้-เสี่ยงคุก!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ระทึก! ตีนแมวย่องเบาผิดบ้าน เผลอหลับแถมเจอเจ้าบ้านฮึดสู้ โรมรันพันตูจนคนร้ายพลาดท่าถูกล็อกคอเสียชีวิต ส่วนเจ้าของบ้านถูกตั้งข้อหาหนัก ด้านกูรูกฎหมายเผย ฆ่าคนตายยังไงก็ต้องถูกตั้งข้อหา จะรอดก็ต่อเมื่อ “ป้องกันพอสมควรแก่เหตุ”!

ผิด/ไม่ผิด เหตุล็อกคอโจรดับ?!

กลายเป็นประเด็นร้อนที่ผู้คนในสังคมกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ กับกรณีที่มีคนร้ายเข้าไปขโมยทรัพย์สินภายในบ้านหลังหนึ่ง ประจวบเหมาะกับที่ลูกชายของเจ้าของบ้านมาพอดี จึงเกิดการต่อสู้กัน สุดท้ายคนร้ายพลาดท่า ถูกฝั่งเจ้าของบ้านจับล็อกคอจนถึงแก่ความตาย ทำให้หนุ่มรายนี้ถูกตั้งข้อหาหนัก ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของโลกโซเชียลฯ ที่ว่า “ปกป้องชีวิตและทรัพย์สินในบ้านตัวเองแท้ๆ แต่กลับโดนข้อหาเสี่ยงคุก”

สำหรับรายละเอียดของเหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นในทาวน์เฮา 3 ชั้นหลังหนึ่ง ใน ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี เมื่อเจ้าหน้าที่ไปถึง ก็พบเจ้าของบ้านผู้เป็นพ่อ อายุ 56 ปี และ ลูกชายของเจ้าของบ้านซึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาโท วัย 23 ปี รอให้การอยู่ และได้พาเจ้าหน้าที่ไปดูศพคนร้ายเป็นชายไม่ทราบชื่อ ที่เสียชีวิตอยู่บริเวณชั้นล่าง



ลูกชายของเจ้าของบ้านเล่าว่า ครอบครัวอาศัยอยู่ที่ จ.สระบุรี ปกติเขาและน้องสาวจะเข้ามาพักบ้านหลังนี้ ในวันศุกร์-อาทิตย์เพื่อเรียนหนังสือ วันเกิดเหตุเขาเดินทางมาถึงบ้านเวลา 20.00 น. ระหว่างทางมีการพูดคุยโทรศัพท์กับผู้เป็นพ่อตลอด เมื่อเข้าไปในบ้านกลับพบว่าของในบ้านถูกรื้อค้น จึงคิดว่าอาจจะมีคนเข้ามา

เขาเล่าต่อว่า เมื่อขึ้นไปที่ชั้น 2 ก็พบคนร้ายนอนหลับอยู่ในห้องนอนและมีมีดปังตอวางไว้ข้างตัว เขาจึงพยายามหยิบมีดออก แต่นั่นกลับทำให้คนร้ายตื่น จึงต้องต่อสู้กันจนคนร้ายหล่นมายังชั้น 1 เขาจึงเข้าไปล็อกคอเพราะคิดว่าคนร้ายจะเข้าไปหยิบอาวุธในครัวมาทำร้าย เป็นเหตุให้คนร้ายแน่นิ่งไป ซึ่งระหว่างเกิดเหตุผู้เป็นพ่อก็ได้ยินเสียงเหตุการณ์ทุกอย่าง จึงรีบเดินทางมาจาก จ.สระบุรีในทันที และได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่มายังที่เกิดเหตุ ส่วนทรัพย์สินภายในบ้านพบว่าได้สูญหายไปหลายรายการ

เบื้องต้น ยังคงต้องรอให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจสอบก่อน จึงจะทราบว่าคนร้ายรายนี้คือใคร และจะทำการสอบปากคำเจ้าของบ้านเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป
ทันทีเหตุการณ์นี้ถูกส่งต่อกันไปบนสังคมออนไลน์ ก็นำมาซึ่งความคิดเห็นของสมาชิกเฟซบุ๊กเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการที่ลูกชายเจ้าของบ้านถูกแจ้งความด้วยข้อหาหนัก ทำให้หลายต่อหลายคนเป็นห่วงเขา และเกรงว่าจะถูกกระบวนการยุติธรรมตัดสินให้เป็นคนผิดและต้องรับโทษ ทั้งๆ ที่เป็นการป้องกันตัวและบ้านตัวเองก็ถูกบุกรุกและขโมยของแท้ๆ


ร่องรอยบาดแผลที่ลูกชายเจ้าของบ้านต่อสู้กับคนร้าย

“รัดคอโจรตาย ปกป้องชีวิตและทรัพย์สินในบ้านตัวเองแท้ๆ มิวายโดนข้อกล่าวหาเสี่ยงติดคุกอีก”
“ซวยแท้น้อสู้กับโจรในบ้านแถมโดนคดีเอง”
“ใจเย็นๆ จ้า กฎหมายไทยใช้หลักการปรักปรำจ้า ดังนั้นถ้ามีคนตายต้องตั้งข้อหาก่อนจ้า เหตุบรรเทาโทษต้องไปสู้ในชั้นศาลครับ แพ้ชนะ ว่ากันอีกทีจ้า”
“เข้าใจกฎหมาย แต่ถามว่า เราฆ่ามันตาย เราเป็นเจ้าของบ้าน ต้องอยู่ให้โดนจับ และโดนแจ้งข้อหา ไปสู้กันในศาล แต่ถ้าเราตายโจรมันจะอยู่ให้แจ้งข้อหาไหมครับ”

ก่อนที่ความคิดเห็นบนโลกโซเชียลฯ จะระอุไปมากกว่านี้ ทางด้าน เพจเฟซบุ๊ก “กองปราบปราม” ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ถึงเรื่องของ “การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อเป็นความรู้ให้แก่เจ้าของบ้านทั้งหลาย โดยมีรายละเอียดตามบรรทัดต่อจากนี้



“การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 68 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 "ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่น ให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด"

การกระทำเพื่อป้องกันนี้ ถึงแม้จะเกิดความเสียหายบ้าง แต่ถ้าได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ ก็เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นย่อมไม่มีความผิด

หลักเกณฑ์ ของการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

1. มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย คือ ภยันตรายที่เกิดขึ้นนั้นผู้กระทำไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะกระทำได้ หากผู้กระทำมีอำนาจที่จะกระทำได้ ก็ไม่มีสิทธิป้องกัน ผู้ที่จะอ้างป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น จะต้องไม่มีส่วนผิดในการก่อให้เกิดภยันตรายขึ้นด้วย แต่ถ้าผู้จะอ้างป้องกันนั้น มีส่วนก่อให้เกิดภยันตรายนั้น ก็ไม่สามรถอ้างป้องกันได้

2. ภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายนั้น จะต้องเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง คือ ภยันตรายที่เกิดขึ้นนั้นกระชั้นชิดถึงขนาดที่หากไม่ป้องกันตัวในขณะนั้น ก็อาจจะเกิดอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่นได้

3. ผู้กระทำจำต้องกระทำการเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่น ให้พ้นจากภยันตรายนั้น

4. การกระทำเพื่อป้องกันนั้น จะต้องกระทำพอสมควรแก่เหตุ คือการกระทำเพื่อป้องกันนั้น จะต้องได้สัดส่วนกับภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายนั้น เช่น ภยันตรายที่เกิดขึ้นจากการถูกตบหน้า จะป้องกันโดยใช้ปืนยิง ถือว่าไม่ได้สัดส่วนกัน การกระทำเพื่อป้องกันนั้น ถ้าผู้กระทำได้ใช้วิถีทางน้อยที่สุดที่จะทำให้เกิดอันตรายแล้ว ถือว่ากระทำไปพอสมควรแก่เหตุ”

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด ตำรวจนนทบุรี แจ้งข้อกล่าวหาแก่ลูกชายเจ้าของบ้าน ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย แต่จะสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากเป็นเจ้าของบ้านที่ต่อสู้เพื่อป้องกันตัว และได้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องประกันตัว

เจ้าของบ้านรู้ไว้ แค่ไหนเรียกป้องกันตัว!

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เอง แม้ทางกองปราบปรามจะให้ความรู้ไว้เบื้องต้น แต่นั่นก็อาจจะไม่เพียงพอให้เจ้าของบ้านบ้านอื่นๆ สบายใจขึ้น หากเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้กับบ้านตนเอง และเพื่อความชัดเจนทางด้านข้อกฎหมายการป้องกันตัว ทีมข่าว MGR Live ยังได้ติดต่อไปยัง ทนายรัชพล ศิริสาคร ประธานชมรมสนับสนุนการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและเจ้าของเพจ “สายตรงกฎหมาย” เพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นร้อนนี้ด้วยเช่นกัน

“จริงๆ มันก็ยากเหมือนกันที่จะให้มาตอบว่าป้องกันตัวหรือไม่ป้องกันตัว แน่นอนว่าทุกคนก็รักชีวิตครับ อยากจะเอาชีวิตรอดอยู่แล้ว แต่การที่ฆ่าคนตายยังไงก็ต้องถูกดำเนินคดีนะครับ พนักงานสอบสวนก็ต้องรวบรวมพยานหลักฐานอยู่แล้วว่าเป็นการป้องกันตัว เจตนาฆ่าคนตาย หรือว่าประมาท



เพราะว่าถ้าเป็นการป้องกันตัว เจ้าของบ้านก็จะไม่ผิดครับ เขาก็ต้องสอบสวนหารายละเอียด ว่าเป็นการป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุหรือไม่ พนักงานสอบสวนอาจจะสั่งไม่ฟ้อง ส่งไปให้อัยการ ถ้าอัยการสั่งไม่ฟ้อง คดีก็จบ ก็ถือว่าเป็นการป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ
ในกรณีที่อัยกาส่งฟ้องศาล ก็ต้องหาทนายไปสู้ในชั้นศาล ซึ่งถ้าศาลพิพากษาว่าเป็นการป้องกันตัว ก็ไม่ผิด แต่ถ้าศาลมองว่าป้องกันตัวเกินกว่าเหตุ ก็เป็นความผิดตามมาตรา 290 อาจจะมีโทษข้อหา ไม่เจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่น เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุก 3 - 15 ปีครับ แต่ส่วนใหญ่จะส่งฟ้องครับ อย่างกรณีลุงวิศวะ ก็ส่งฟ้องเหมือนกัน”

นอกจากนี้ เจ้าของเพจกฎหมายที่มีผู้ติดตามหลักแสน ก็ได้อธิบายถึง “ป้องกันพอสมควรแก่เหตุ” ไว้ว่า ต้องทำให้คนร้ายหยุดการกระทำ หากคนร้ายหยุดแล้ว แต่เรายังเข้าไปทำร้ายคนร้ายต่อจนถึงแก่ชีวิต แบบนี้จะกลายเป็นว่า “ป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ”




“คดีนี้ผมตอบได้แค่ว่า หากเจ้าของบ้านถูกฟ้องต้องหาทนายไปสู้คดีครับ ก็ให้การไปในทางว่าป้องกันตัว ถ้าศาลพิพากษามาว่าป้องกันตัว ก็ไม่เป็นความผิด แต่ถ้าศาลบอกว่าป้องกันตัวก็จริง แต่ว่าเกินกว่าเหตุ อันนี้ก็จะเป็นความผิดแล้วครับ เพราะว่าการที่จะป้องกันตัว ต้องป้องกันพอสมควรแก่เหตุ หรือว่าป้องกันทรัพย์สินพอสมควรแก่เหตุ ไม่ใช่จะเอาชีวิต เอาให้ตายเลย อันนี้ไม่ถูกต้อง

อย่างเช่น โจรยิงมาก่อน แล้วเรายิงสวนกลับไปจนโจรตาย อันนี้ก็ถือว่าพอสมควรแก่เหตุได้เหมือนกันครับ ถ้าอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นก็ต้องทำให้คนร้ายหยุดการกระทำหรือว่าจับตัวได้ แค่นั้นครับ สมมติถ้าจับตัวได้ แล้วไปยิงซ้ำให้ตาย อันนี้ก็ถือว่าเกินสมควรแก่เหตุครับ

ในทางกลับกัน หากเจ้าของบ้านเป็นผู้หญิง ศาลก็อาจจะมองว่า การป้องกันตัวจากผู้ชายที่เขาเป็นโจร ศาลก็ต้องมองว่าผู้หญิงมีสิทธิป้องกันตัวได้มากกว่าคนที่เป็นผู้ชาย เพราะเป็นเพศที่ไม่แข็งแรงเท่า ก็อาจจะใช้อาวุธเพิ่มขึ้นมา อาจจะมองว่าเป็นการป้องกันตัวได้อยู่ครับ เรื่องพวกนี้มันตอบแบบฟันธงไม่ได้ว่าเป็นการป้องกันตัวหรือเปล่า มันต้องดูในรายละเอียด”



สุดท้าย ทนายรัชพล ได้ฝากไปยังผู้เจ้าของบ้านทั้งหลาย ที่อาจเจอเข้ากับเหตุการณ์เช่นนี้ได้ทุกเมื่อ ว่าสิ่งสำคัญที่สุด ต้องมี “สติ” และพยายามใช้เสียงให้ดังเข้าไว้ เพื่อจะได้มีคนมาช่วย หรือเป็นพยานหากเกิดการต่อสู้ขึ้น

“ถ้าสมมติเจอเหตุการณ์แบบนี้ ส่วนใหญ่คนก็จะต้องป้องกันตัวอยู่แล้ว ก็อาจจะต้องมีสติ แต่ไม่ควรที่จะจ้องเอาชีวิตเขาครับผม เราก็ไม่รู้หรอกว่าเราป้องกันตัวหรือเปล่าในสถานการณ์นั้น แต่ก็อยากให้มีสติกัน ถ้ามีคนช่วย ก็พยายามตะโกนร้อง เพื่อที่จะได้มีพยานรู้เห็นเหตุการณ์ครับ”


กำลังโหลดความคิดเห็น