บ๊วย, รั้งท้าย, ที่โหล่ ฯลฯ จะมีสักกี่คนที่ยินดีกับคำระบุผลลัพธ์แบบนี้ แต่สำหรับคุณลุงวัย 75 รายนี้ กลับโอบกอดตำแหน่ง “แชมป์ปลายแถว” บนถนนคนพันธุ์อึดเอาไว้ด้วยรอยยิ้มอันแสนภาคภูมิใจ เพราะถึงแม้เขาจะวิ่งเข้าสู่เส้นชัยเป็นคนท้ายๆ ในทุกรายการมินิมาราธอนตลอด 14 ปีที่ผ่านมา แต่ด้วย “หัวใจนักสู้” ผู้ไม่เคยยอมแพ้แม้สักสนาม จึงส่งให้ “ลุงสมเกียรติ” กลายเป็น “ไอดอลรุ่นเก๋า” ที่ไม่มีเหล่านักวิ่งขาประจำคนไหนไม่รู้จักในเวลานี้!!
แสนภูมิใจ ชัยชนะในลำดับ “บ๊วย”
[ไม่มีสนามไหน ที่ "ลุงสมเกียรติ" วิ่งไปไม่ถึงเส้นชัย]
“จะเข้าเส้นชัยเป็นลำดับที่เท่าไหร่ สำหรับผมมันไม่สำคัญเลย ที่สำคัญก็คือเมื่อเราเลือกที่จะวิ่งแล้ว เราจะทำยังไงให้ไปสู่จุดหมายปลายทางที่เราต้องการให้ได้ แค่นั้นก็พอแล้ว แค่นั้นมันก็เป็นความภาคภูมิใจของผมแล้ว”
ไม่มีแม้แต่เศษเสี้ยวอารมณ์แห่งความไม่พอใจ ปรากฏให้เห็นบนใบหน้าของผู้สั่งสมประสบการณ์ในชีวิตมานานถึง 75 ปี เมื่อถูกถามถึงตำแหน่ง “รั้งท้าย” ในทุกสนามมินิมาราธอนที่เคยไปคว้าชัย มีเพียงรอยยิ้มเย็นๆ ฉายชัดบนดวงหน้าเจ้าของฉายา “คุณลุงมาราธอน” ผู้พิชิตมาแล้วร่วม 1,000 รายการ อย่าง “สมเกียรติ จินดากุล”
“คงต้องขอบคุณพวกเขามากกว่า ที่เขายังรู้ว่าเราได้ที่โหล่ (หัวเราะเบาๆ) แต่ก็ยังชื่นชมเราอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นเพราะเขาเห็นถึงความมานะของเรา ที่พยายามจะไปให้ถึงจุดหมายให้ได้ โดยที่เราไม่โกง หรือไม่วิ่งลัดระยะทางในทุกรายการ เขากำหนดมาเท่าไหร่ ผมก็จะต้องทำให้ได้ตามนั้นเสมอ”
ตลอดระยะเวลา 14 ปีบนเส้นทางวิ่งระยะไกล ตกสนามละกว่า 10 กม. สมเกียรติพูดได้เต็มปากว่าไม่เคย “โกงตัวเอง” ด้วยการวิ่งแหกกฎ-ฝ่าทางลัดไหนๆ อย่างที่ขาวิ่งบางรายเคยทำให้เห็น เพราะหลักการสำคัญที่ตั้งมั่นเอาไว้ในใจชายมากประสบการณ์รายนี้คือ “การชนะใจตัวเอง” แม้ว่าผลลัพธ์ของการวิ่งจะไม่เคยได้รับคำว่า “ชนะเลิศ” ในลำดับต้นๆ เลยก็ตาม
แต่ถึงอย่างนั้น ภาพของคุณลุงที่ฝากความหวังและความฝันไว้บนสองเท้า และเพียรก้าวไปข้างหน้าในจังหวะสม่ำเสมอด้วยแววตาแห่งความมุ่งมั่น ก็ยังคงจุดประกายไฟในตัวคนรักสุขภาพได้ครั้งแล้วครั้งเล่า ส่งให้การปรากฏตัวของผู้ชายคนนี้ กลายเป็นแรงบันดาลใจของเหล่านักวิ่งในทุกสนาม ในทุกคราวที่เขาตระเวนไปพิชิตชัยทั่วมหานครกรุงเทพฯ
[ตั้งใจมาออกตัว ณ "จุดสตาร์ท" เป็นกลุ่มคนแรกๆ เสมอๆ]
โดยเฉพาะภาพการเป็นหน่วยลุย รอคอยอยู่ที่ “จุดสตาร์ท” ในฐานะกองหน้ากลุ่มแรกสุด ที่กลายเป็นเหมือนภาพจำของคุณลุงคนนี้ไปแล้วว่า เขามักจะมาลงทะเบียน เป็นหนึ่งในกลุ่มที่จับจองพื้นที่ปล่อยตัวในเวลา “เช้าที่สุด” เพื่อที่จะก้าวเท้าเข้าสู่ปลายทางความพยายามในลำดับที่แทบจะ “ช้าที่สุด” จากจำนวนนักวิ่งทั้งขาประจำและขาจร รวมแล้วกว่า 5,000 ราย
“บางรายการที่เขาเช็กอินกันตั้งแต่ตี 4 ครึ่งหรือตี 5 เราก็ต้องไปก่อนหน้านั้นสัก 15 นาที และพอเช็กเสร็จแล้ว ก็ต้องรีบเข้ามารอยังจุดสตาร์ทให้เร็วที่สุด คือไม่ได้ต้องรีบเข้ามาเพื่อถ่ายรูปนะ แต่ผมต้องการอยู่ข้างหน้าๆ เพราะถ้าเรารู้ตัวดีว่าเราวิ่งช้า แล้วถ้ายังจะไปยืนอยู่จุดสตาร์ทท้ายๆ อีก ตอนวิ่งเราก็จะไม่เห็นหลังเพื่อนที่วิ่งนำหน้าแล้ว
เพราะส่วนใหญ่เวลาเข้าเส้นชัย เราก็เข้ามาเป็นที่ “เกือบบ๊วย” บ้าง “บ๊วย” บ้าง (ยิ้ม) เราเลยต้องมาลงทะเบียน จองที่หน้าๆ ให้เร็วๆ หน่อย ไม่อย่างนั้นถ้าเรามาช้า สมมติว่ามีนักวิ่ง 5,000 คน วัดจากจุดสตาร์ทไปจนถึงคนที่ยืนท้ายๆ มันจะไกลกันถึง 100 เมตรเลยนะ เพราะฉะนั้น ผมเลยต้องพยายามกว่าคนอื่นหน่อย เพราะถ้าเราได้อยู่ข้างหน้า การวิ่งของเราก็จะทำเวลาได้ดีขึ้น”
แน่นอนว่าไม่มีใครอยากรับความรู้สึกของการเป็น “ตัวถ่วง” ในการแข่งขัน แต่ผู้ชายคนนี้ก็ “รู้จักตัวเอง” ดีพอที่จะไม่ฝืนให้ต้องกระทบสุขภาพในระยะยาว สมเกียรติจึงเลือกวิ่งในแบบที่ตัวเองไหว คือไม่เน้นเร่งความเร็วเพื่อแข่งขันกับใครๆ แล้วเข้าสู่เส้นชัยในลำดับต้นๆ แต่กลับเลือกจังหวะก้าวเท้าที่ “เหมาะสมที่สุด” แม้ว่าในหลายๆ ครั้งอาจตอบแทนมาพร้อมกับคำว่า “ถึงเส้นชัยช้าที่สุด” ก็ตาม
“อย่างผมก็น้ำหนักตัวมากพอสมควรทีเดียว คือเกือบ 80 กก. เราก็เลยต้องเลือกที่จะไม่วิ่งเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาข้อเข่าเสื่อม ไม่อย่างนั้นพอวิ่งไปแล้วเราจะท้อ เพราะเราเจ็บเข่า วิ่งไม่ไหว แล้วในที่สุดก็ต้องเลิกวิ่ง
เพราะฉะนั้น เราก็ต้องวิ่งตามสเต็ปของเรา ถ้าดูแล้วว่าร่างกายเราไหวแค่นี้ เราก็วิ่งแค่นี้ เพราะถ้าไปฝืนวิ่งให้เร็วกว่านี้ ถึงแม้จะสามารถเข้าเส้นชัยในลำดับที่ดีมาก คนชมเชยว่าวิ่งเร็วจังเลย แต่เสร็จแล้วเราต้องมานั่งพักหลายวัน มานั่งเจ็บป่วยทีหลังมันก็ไม่ดี
ต้องจำไว้เลยครับว่า เราจะเอาตัวเองไปเปรียบเทียบคนอื่นไม่ได้ เพราะเวลาเจ็บป่วยขึ้นมา เขาไม่ได้มาเป็นไปกับเราด้วย เพราะเขาแข็งแรงกว่าเรา หนุ่มสาวกว่าเรา ในเมื่อเราอายุขนาดนี้แล้ว เราก็ต้องคำนึงถึงสภาพร่างกายของตัวเองด้วย แล้ววิ่งไปตามทิศทางของเราอย่างที่ควรจะเป็น
ที่สำคัญ เราไม่ได้ไปแข่งกับใคร เราแข่งกับตัวเอง แข่งกับสุขภาพร่างกายของเรา แข่งกับจุดมุ่งหมายของเราก็พอว่า เราจะต้องไปให้ถึงจุดที่เราต้องการให้ได้ ไม่ว่ากว่าจะถึงจุดหมายใช้เวลานานเท่าไหร่ก็แล้วแต่ จะใช้เวลาชั่วโมง 2 ชั่วโมงก็ตาม เราก็ต้องสู้และต้องพยายาม เพื่อไปให้ถึงจุดหมายนั้นให้ได้”
ใจสู้จนได้ตำแหน่ง “ไอดอลวัยเก๋า”
“โอ้โห..คุณลุงแข็งแรงมาก เจ๋งมากเลยครับ”
“คุณลุงเป็นไอดอลของหนูเลย หนูเป็นแฟนของคุณลุงด้วยนะในเฟซบุ๊ก”
“หนูขอถ่ายรูปกับคุณลุงหน่อย อยากถ่ายไปให้พ่อดูค่ะ จะได้เป็นแรงบันดาลใจให้คุณพ่อออกมาวิ่งบ้าง”
เสียงตอบรับน่ารักๆ แบบนี้นี่แหละ ที่วกกลับมาเป็น “พลังงานด้านบวก” คอยขับเคลื่อนให้ชายวัยกลางคนคนนึง ได้มีแรงก้าวเท้าตามจังหวะหัวใจของตัวเองต่อไป
“ผมก็ไม่รู้หรอกครับว่าในเฟซบุ๊ก ที่มีคนเอาเรื่องผมไปแชร์ ไปออกข่าวอะไรกันบ้างที่ผ่านมา เพราะว่าผมไม่มีคอมพิวเตอร์ แต่ผมก็ดีใจแล้วก็ภูมิใจครับ ที่ได้เป็นตัวอย่างให้กับคนอีกหลายๆ คน ให้ออกมาวิ่งกัน”
[คนวงการวิ่ง ต่างยกนิ้วให้!!]
แม้จะไม่ใช่ไอดอลที่เก่งที่สุด แต่อาจถือได้ว่าเป็นไอดอลที่พยายามที่สุดคนนึง สมเกียรติเชื่อมั่นในผลของความพยายามของตัวเองแบบนั้น “เพราะเคล็ดลับของผมไม่มีอะไรมากเลย มีแค่ “ความพยายาม” ถ้ามีความตั้งใจ มีความพยายาม แล้วเดี๋ยวมันก็จะสำเร็จเอง”
“เวลาไปวิ่งมินิมาราธอน ถึงบางทีผมวิ่งไม่ไหว ผมก็จะเดินเอา แต่จะเดินให้เร็ว และต้องไปให้ถึงเส้นชัยให้ได้ เพราะจุดหมายของเราคือเส้นชัย
หลายคนก็เลยชอบมาถ่ายรูปคู่กับผม บางคนก็ถ่ายเอาไปให้คุณพ่อของเขาดูว่า คนหน้าตาอย่างนี้ยังออกมาวิ่งเลย (ยิ้ม) เอาไปเป็นแรงบันดาลใจให้คนมีอายุรุ่นเดียวๆ กับผมได้ออกมาวิ่ง เพื่อที่จะได้มีสุขภาพดี แข็งแรง และอยู่กับลูกหลานกันไปนานๆ
ผมอยากช่วยยืนยันว่า การวิ่งทำให้สุขภาพร่างกายเราดีขึ้น สดชื่นขึ้น และโรคภัยไข้เจ็บก็จะไม่มาเบียดเบียน เพราะฉะนั้น คนที่มีอายุยิ่งเป็นวัยที่สมควรออกมาวิ่ง ลุกขึ้นมาออกกำลังกายกันเถอะครับ จะได้ไม่ต้องเจ็บป่วย
เมื่อไม่ป่วยก็ไม่ต้องเดือดร้อนทางโรงพยาบาล ไม่ต้องใช้เงินงบประมาณไปกับการจ้างหมอ จ้างพยาบาล หรือใช้จ่ายไปกับค่ายาเพิ่ม ประเทศชาติก็จะได้เอาเงินส่วนนี้ไปพัฒนาส่วนอื่นๆ ให้เจริญก้าวหน้ามากกว่าที่เป็นอยู่”
นิสัยมุ่งมั่นและจริงจังอย่างแรงกล้าแบบนี้ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นกับคุณลุงรายนี้ แต่หยั่งรากลึกมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่อาจจะเพิ่งมาแสดงตัวให้เห็นชัดๆ ในตอนที่เริ่มลองสนาม “มินิมาราธอน” ระยะทาง 10.5 กม.เป็นสนามแรกในชีวิต
ย้อนกลับไปเมื่อ 14 ปีที่แล้ว หลังการซ้อมวิ่งวันละ 1-2 ชั่วโมงอย่างสม่ำเสมอ เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 2 เดือนที่สวนรมณีนาถ แม้ไม่เคยพิชิตรายการวิ่งพันธุ์อึดรายการใดมาก่อน แต่ชายวัย 61 ขณะนั้นก็ปฏิญาณกับตัวเองเอาไว้ด้วยใจหนักแน่นว่า จะต้องก้าวเท้าให้ถึงเส้นชัยและจบรายการแรกในชีวิตให้ได้อย่างสง่างาม ซึ่งเขาก็ทำได้แบบนั้นจริงๆ
“ถ้าตัดสินใจไปแล้วว่าจะวิ่งรายการไหน ยังไงเราก็ต้องวิ่งให้จบรายการให้ได้ นี่คือสิ่งที่ผมยึดเอาไว้มาตลอด และเราก็ต้องซ้อมให้พอด้วย คือต้องซ้อมเผื่อไว้ครับ อย่างเวลาวิ่งที่สวนรมณีนาถที่ผมวิ่งอยู่ประจำ มีเวลาวิ่งไม่เกิน 1 ชั่วโมง ผมก็อาจจะวิ่งให้ได้สัก 7-8 รอบ
การวิ่งในทุกวันของผมก็เหมือนเป็นการซ้อมไปในตัว แต่จะไม่ได้ซ้อมโดยกำหนดระยะทางว่าวิ่งได้ 10 กม. ตามระยะที่มินิมาราธอนกำหนดเอาไว้แล้วหรือยัง วิธีของผมคือเราซ้อมไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องคิดเรื่อง มั่นใจหรือไม่มั่นใจว่าจะถึงเส้นชัยไหม เพราะยังไงเราก็รู้ว่าร่างกายเราก็ไหวอยู่แล้ว วิ่งได้มากกว่า 10 กม.อยู่แล้ว
ที่เหลือก็แค่เราต้องมีความตั้งใจก็พอแล้วครับ แค่มีความตั้งใจ มีความพยายามที่จะไปให้ถึงจุดหมายก็พอแล้ว ซึ่งถ้าเรามีความพยายาม อยากจะชนะ ไม่ท้อ ไม่ว่าใครจะวิ่งแซงหน้าเราไปก็ตาม เดี๋ยวสุดท้าย เราก็จะถึงเส้นชัยเอง
บอกตามตรงเลยว่าผมไม่เคยท้อเรื่องวิ่งเลย (ยิ้ม) เพราะถ้าท้อ เราก็จะทำมันไม่ได้ และผมก็ไม่เห็นเหตุผลด้วยว่าทำไมเราต้องท้อ ในเมื่อเราเองก็มี 10 นิ้วมือ 10 นิ้วเท้า เหมือนคนอื่นเขา ฉะนั้น เราต้องพยายามอดทน ตั้งใจ ที่จะไปให้ถึงจุดมุ่งหมายที่เราตั้งใจไว้”
แน่นอนว่าไม่เคยมีคำว่า “ถอดใจ” จดไว้ในสารบบหัวใจของผู้ชายคนนี้ แม้ในวินาทีที่รู้สึกเหนื่อยแทบขาดใจสักแค่ไหน แต่จะยังคงมีถ้อยคำเติมเต็มกำลังใจ ที่ผลักให้เขาก้าวไปแตะเส้นชัยบนปลายทาง
“เวลาเหนื่อยๆ ผมจะชอบบอกตัวเองว่า “อีกนิดเดียว อีกนิดเดียวก็จะถึงแล้ว!!” (ยิ้ม) และทางข้างๆ ก็จะมีกองเชียร์คอยเชียร์ด้วย เวลาเด็กๆ เห็นเราวิ่งผ่าน เขาก็จะช่วยเชียร์ ช่วยปรบมือให้ ส่วนใหญ่เป็นคนที่วิ่งถึงเส้นชัยก่อนเรา
เขาจะมาคอยบอก คอยให้กำลังใจเราว่า “อีกนิดเดียว จะถึงแล้วครับลุง” ทั้งๆ ที่เส้นชัยห่างอีกตั้งเยอะเลยนะ (ยิ้ม) แต่เขาก็บอกเราว่าอีกนิดเดียว และเราก็ตอบเขาไปว่า “ครับ ขอบคุณครับ เดี๋ยวถึงๆ” จะเป็นแบบนี้ตลอด
และไม่ว่าจะสถานการณ์จะเป็นยังไง ผมก็จะใช้คำว่า “พยายาม” เข้าข่มเอาไว้ คิดซะว่าต้องสู้นะ สู้ให้ได้!! (ยิ้ม) เราจะได้ไม่เป็นโรค เพราะถ้าป่วยขึ้นมาแล้ว เราก็ต้องมานั่งเสียเงินอีก และเรามีเงินที่จะเสียตลอดไปไหม เราก็ต้องมานั่งถามตัวเองด้วยว่า เรามีเงินรับผิดชอบตรงนั้นไหม
หรือถึงใครจะมีเงินเสียค่าใช้จ่ายตรงนั้นก็ตาม แต่การไม่เป็นโรคอะไรเลย มันจะไม่ดีกว่าเหรอ เพราะฉะนั้น ก็ต้องออกมาวิ่งสิ คือเราต้องให้ความพยายามมันติดตัวเราไปตลอด ให้มันอยู่ในใจเราอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้รู้ว่าเราต้องทำให้สำเร็จให้ได้”
วิ่งจบทุกรายการ “ผู้พิชิตพันสนาม”!!
“ผ่านมากี่สนามแล้วเหรอครับ เอาจริงๆ ผมไม่เคยนับเลย แต่รวมๆ แล้ว น่าจะทะลุ 1,000 รายการไปแล้วนะ เพราะตลอด 14 ปีที่ผ่านมา ผมมีวิ่งทุกอาทิตย์ ไปมาแล้วทุกสนามในกรุงเทพฯ
พอลองหันกลับไปมองหลายๆ เหรียญที่ได้รับมา มันก็ช่วยสร้างความภูมิใจให้เราได้เหมือนกันนะ ภูมิใจที่ว่าเราวิ่งได้เยอะขนาดนี้แล้วเหรอ ตกเหรียญละสนาม ตอนนี้ก็น่าจะมีเป็น 1,000 เหรียญได้แล้วมั้งครับ”
เพราะอย่างนี้เอง “คุณลุงมาราธอนพันสนาม” จึงกลายมาเป็นอีกหนึ่งสมญานาม ที่วงการนักวิ่งใช้เรียกแทนชื่อของเขา โดยระยะทาง 10 กม.ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 17 กม. คือประเภท “มินิมาราธอน” ที่คุณลุงรายนี้ถนัดที่สุด เพราะถ้าให้ไปวิ่งประเภท “ฮาร์ฟมาราธอน” ที่กินระยะทาง 21 กม.ขึ้นไป ก็ดูจะหนักหน่วงเกินสภาพร่างกายและช่วงวัย สนามที่พิชิตมาแล้วส่วนใหญ่จึงอยู่ที่ 10.5 กม. และใช้เวลาในการคว้าชัยกว่า 2 ชั่วโมง
แม้ว่าปัจจุบัน รายการวิ่งทนประเภทนี้ในช่วงหลังๆ จะมีระยะเวลากำหนดว่าไม่ควรวิ่งเกินกรอบที่ระบุ แต่คุณลุงคนนี้ก็พร้อมที่จะกระทุ้งขอบเขตเหล่านั้น ให้ยืดหยุ่นออกไปอีกสักนิดสักหน่อยแบบไม่ทำร้ายใคร เพื่อให้การวิ่งเป็นไปด้วยความสบายใจ และเพื่อไม่ให้ตัวเองต้องได้รับบาดเจ็บโดยไม่จำเป็น
“ปัจจุบันรายการวิ่งส่วนใหญ่จะมีกำหนดเวลา cut off ครับว่า อยู่ที่ชั่วโมงที่เท่าไหร่ สมมติว่าวิ่ง 10 กม. เขาก็จะกำหนดไว้ว่าควรจะถึงเส้นชัยภายใน 1 ชั่วโมงครึ่ง หมายความว่าถ้าปล่อยตัวตอนตี 5 สักประมาณ 6 โมงครึ่ง ก็ควรจะวิ่งถึงเส้นชัยแล้ว เพราะมันจะส่งผลต่อเรื่องการจราจรด้วย ถ้าวิ่งเสร็จช้ากว่านั้น รถมันจะหนาแน่น
แต่ผมก็ไม่ได้รู้สึกกดดันอะไรเท่าไหร่นะ เพราะคิดว่าถึงเขาจะกำหนดมาแบบนั้น เราก็ยังต้องวิ่งไปในแบบของเราอยู่ดี เขาต้องรู้ว่าร่างกายคนเราแต่ละคนมันไม่เท่ากัน อย่างนักวิ่งที่หนุ่มๆ มาวิ่งมินิมาราธอน แค่ 30 นาที เขาก็วิ่งจบแล้ว แต่อย่างผมต้องใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมงกว่าจะจบรายการได้
คนที่ไปวิ่งทุกคน ก็มีจุดมุ่งหมายของตัวเองกันทั้งนั้น และเป็นใครก็อยากจะวิ่งให้จบรายการให้ได้ อย่างตัวผมเองก็ไม่อยากวิ่งแบบครึ่งๆ กลางๆ วิ่งไม่เสร็จแล้วต้องเลิก แบบนั้นมันถือว่าวิ่งได้ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ ดีที่สุดคือต้องวิ่งจนถึงจุดสิ้นสุด แล้วถึงเลิกวิ่งได้
และสุดท้ายแล้ว ถึงเราจะวิ่งถึงจุด finish เกินเวลาที่เขากำหนดไว้ เราก็ยังได้เหรียญอยู่ดี ตราบใดที่เราสามารถพิชิตเส้นชัยได้ ก็อยากให้เข้าใจว่า คนเรามันไม่เท่ากันหรอกครับ นิ้วคนยังไม่เท่ากันเลย ฉะนั้น ถึงเขาจะกำหนดเวลามายังไง แต่ถ้าเราทำไม่ได้ เราก็ทำเท่าที่เราทำได้ก็พอแล้ว”
ให้ลองพูดถึง “เสน่ห์ของกีฬามาราธอน” ผ่านมุมมองของผู้พิชิตนับพันรายการมาแล้ว นอกเหนือไปจากเรื่องสุขภาพ ก็ยังมีเรื่อง “มิติความผูกพัน” อีกประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างคนแปลกหน้า ที่มาพบเจอและสนิทกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องแคร์เรื่องของฐานะและชาติตระกูล
“มันทำให้เรามีเพื่อนครับ แล้วก็ช่วยให้เรามีน้ำใจเป็นนักกีฬา ยิ้มแย้มแจ่มใส ทักทายกัน เพราะกลุ่มคนวิ่ง ก็จะเป็นกลุ่มคนคุ้นๆ หน้ากัน ทุกคนเป็นเพื่อนกันหมด ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ คนหนุ่ม คนสาว หรือคนแก่
พอไปอยู่ตรงนั้น จะรู้สึกเลยว่าไม่มีใครถือเรื่องชนชั้นวรรณะ คนวิ่งบางคนในสวนรมณีนาถ บางคนเป็นพ่อค้าผ้าบ้าง บางคนเป็นนายห้างร้านทอง แต่เขาก็มาวิ่งด้วยกัน โดยที่ไม่ได้เอาเรื่องยศศักดิ์หรือชนชั้นอะไรมาใช้แบ่งแยกกัน เหมือนกับพอมาวิ่งแล้วทุกคนเท่ากันหมด ถอดหัวโขนเพื่อที่จะไปทำในสิ่งที่ตัวเองรัก
นอกนั้น คงเป็นภาพประทับใจที่มีให้เห็นกันได้บ่อยๆ อย่างเวลาเห็นคู่แม่ลูกมาวิ่งด้วยกัน บางครอบครัวก็ชวนลูกมาวิ่ง หรือบางทีลูกวิ่งไม่ไหวแล้ว พ่อแม่ก็ต้องอุ้มลูกมาขี่คอ วิ่งไปด้วย ปลอบลูกไปด้วย (ยิ้ม) มองแล้วรู้สึกว่าน่ารักดี ถือเป็นภาพประทับใจสำหรับผม และจะยิ่งน่าประทับใจที่ได้เห็นลูกๆ เป็นฝ่ายชวนพ่อแม่มาวิ่งด้วยกัน”
ย้ำชัดจากประสบการณ์ตรงให้เห็นว่า การออกกำลังกายไม่มีคำว่า “สายเกินไป” เช่นเดียวกับตัวคุณลุงเองที่สมัยวัยรุ่น เคยโตมากับการเล่นฟุตบอล, เล่นเทนนิส ระหว่างเรียนที่ รร.สวนกุหลาบ แต่หลังก้าวเข้าไปในห้วงชีวิตวัยรุ่นและวัยทำงาน ตารางชีวิตก็วุ่นวายจนทำให้หลงลืมเรื่องสุขภาพไป จนได้กลับมาใส่ใจมันอีกครั้งเมื่อช่วงวัยใกล้เกษียณ กระทั่งกลายมาเป็นก้าวใหม่ที่สร้างสีสันสดใสให้ชีวิตอย่างทุกวันนี้
“ถ้าเราคิดว่าเราไม่พร้อม เราก็จะไม่ได้ทำสักที เพราะฉะนั้น ถ้าตั้งใจจะทำอะไรปุ๊บ ให้ทำเลย ไม่ต้องไปรีรอ ยกตัวอย่างคนที่บอกว่าอยากวิ่ง ถึงจะซื้อรองเท้าวิ่งมาแล้ว แต่ก็คงไม่ได้วิ่ง ถ้าเราไม่พาตัวเองไปทำมัน... เวลามันไม่ไปคอยใครหรอกครับ เพราะฉะนั้น อยากทำอะไรให้ลงมือทำเลย”
ลงทุนหลักพัน ผลลัพธ์ “คุ้ม” ทั้งชีวิต!! ที่ผมได้มาเริ่มวิ่ง มันมาจากเมื่อ 14 ปีก่อน ที่ภรรยาผมต้องไปอบรมบัญชีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างที่รอรับเขาตอน 2 ทุ่มกว่า ผมเลยเดินไปตรงสวนรมณีนาถ ไปเห็นคนเขาวิ่งกัน เลยคิดว่าจะไปทำอย่างอื่นรอ มันก็ไม่เกิดประโยชน์ พอดีกับที่วันนั้น ผมได้เจอกับประธานชมรมวิ่งรมณีนาถที่ชื่อ “เฮียไผ่” และแกก็ชวนเรามาวิ่งด้วยกัน พอวันรุ่งขึ้น ผมก็ไปซื้อรองเท้ามาวิ่ง แล้วเริ่มวิ่งเย็นวันนั้นเลย ตอนนั้นคิดแค่ว่าไม่รู้จะเอาเวลาไปทำอะไร จะไปดูหนังรอ ก็รู้สึกว่าต้องเสียเงิน ไม่มีประโยชน์ แต่การวิ่ง ถ้าจะเสีย ก็เสียแค่ “ค่ารองเท้า” แค่คู่เดียว ส่วนเสื้อผ้าที่จะใส่มาวิ่ง เราก็มีอยู่แล้ว ตอนนั้น รองเท้าที่ผมเลือกราคาก็ประมาณ 5,000 กว่าบาท เพราะอยากได้แบบที่มีคุณภาพหน่อย แต่ก็เป็นการลงทุนที่คุ้มมากครับ เพราะการซื้อรองเท้ามาวิ่ง ผมว่าเราถอนทุนคืนได้อยู่แล้ว จากการที่ได้ออกกำลังกาย และทำให้เราไม่เจ็บไข้ได้ป่วย เพราะการไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ พอหลังจากที่ผมได้วิ่ง ได้ออกกำลังกายทุกวัน มันก็ทำให้เราไม่เจ็บป่วยอะไรอีกเลย หวัดก็ยังไม่เป็นเลย จากที่เมื่อก่อน แค่โดนฝนนิดหน่อย กลับมาผมก็จะเป็นหวัดแล้ว หรือเพราะแค่อากาศเปลี่ยนเฉยๆ ก็เป็นได้ แต่พอเรามาวิ่งแล้ว ถึงจะโดนละอองฝนนิดหน่อยเราก็ไม่เป็นไร ร่างกายเรายังเป็นปกติ เหมือนมันปรับสภาพเองได้ บอกได้เลยครับว่า ลงทุนเรื่องรองเท้าไปแค่ครั้งเดียว ผลมันคุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้มอีก เทียบกับค่ารักษาโรคเวลาต้องป่วยไปโรงพยาบาลแล้ว ไปหาหมอตรวจทีนึงไม่ถูกๆ แน่นอน ตรวจครั้งนึงก็ตก 1,000 กว่าบาทแล้ว แต่ถ้าเราเลือกที่จะออกกำลังกายตั้งแต่แรก ถึงเราจะต้องเสียเวลากับการมาออกกำลังกาย แต่มันทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเจ็บไข้ได้ป่วย |
เรื่องออกกำลังกาย ไม่มีคำว่า “เกษียณ” การทำงานยังมีเกษียณได้ แต่สำหรับผม การออกกำลังกายไม่มีคำว่าเกษียณนะ คือตราบใดที่เรายังวิ่งอยู่ ยังมีชีวิตอยู่ เราก็ยังต้องออกกำลังกาย เพื่อเราจะได้ไม่เป็นโรค อย่างทุกวันนี้ ผมก็เลือกที่จะวิ่ง เพราะมันทำให้เรามีความสุข เป็นความสุขที่เราไม่จำเป็นต้องไปซื้อหามาเลย เป็นความสุขที่ได้มาโดยอัตโนมัติ หลังจากที่ลองได้เริ่มวิ่ง ทำให้ร่างกายเราแข็งแรง แถมยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้เราได้มีชีวิตต่อ ทำให้เราอายุยืนขึ้น ทั้งยังทำให้เราเป็นคน active มากขึ้นด้วย เชื่อไหมว่าทุกวันนี้ เพื่อนในรุ่นเดียวกันกับผม จากที่มีอยู่ 300 กว่าคน ตอนนี้เสียชีวิตไปแล้วตั้ง 116 คน ซึ่งถือว่ามากพอสมควรนะ หรือถ้าให้ลองเอาไปเทียบกับคนอายุไล่เลี่ยกันตอนนี้ ผมก็ถือว่าตัวเองยังแข็งแรงอยู่นะครับ ถึงจะมีโรคความดันโลหิตสูงอยู่ แต่เราก็กินยาคุมและไม่ได้รู้สึกว่ามันกระทบอะไร ส่วนเรื่องเดินเหิน ผมยังไหว ไม่ต้องอาศัยไม้เท้าเหมือนคนอื่นๆ ทุกวันนี้ผมยังทำงานอยู่ที่ บริษัท ช.การช่าง จํากัด (มหาชน) รับหน้าที่บริหารงานตามไซต์ก่อสร้าง ยังไม่ได้เกษียณออกไปไหน ซึ่งจริงๆ แล้วอายุ 60 ขึ้นไปต้องเกษียณแล้ว แต่ทางบริษัทเขาเห็นว่า ร่างกายเรายังดีอยู่ สมองเราก็ยังใช้ได้ เพราะเราออกไปวิ่ง ไปออกกำลังกาย เขาก็เลยให้เราทำงานต่อได้ ทุกวันนี้ผมก็ยังทำงานปีต่อปีมาเรื่อยๆ นี่ก็ทำงานมาเป็นปีที่ 16 เข้าไปแล้ว ส่วนอายุปีนี้ก็ 75 ย่างเข้าสู่ 76 แล้ว และผมก็ยังไปวิ่งทุกวัน วันธรรมดา หลังเลิกงาน ผมจะออกมาวิ่งช่วงสัก 5 โมงเย็น ประมาณ 1 ชั่วโมง วิ่งสัก 7-8 รอบ วันเสาร์ก็ยังมีซ้อมวิ่ง ส่วนวันอาทิตย์ก็เอาไว้ลงสนามวิ่งจริง และคิดว่าจะวิ่งอย่างนี้ต่อไปอีกเรื่อยๆ จนกว่าเราจะไม่ไหว หรือเดินไม่ได้แล้ว ถึงจะเลิกวิ่ง |
สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่องและคลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "IndyRun" และคลิปรายการ "คนค้นฅน"
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **