xs
xsm
sm
md
lg

เปิดศึกไฟต์เดือด! โขนไทย Vs โขนเขมร ใครคือผู้ชนะ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ถกเถียงดุเดือดไม่จบไม่สิ้น! หลัง 'โขนกัมพูชา' ถูกประกาศเป็นมรดกโลก แซงหน้า(คิว)ไทยแลนด์ โลกออนไลน์ 2 สัญชาติดรามากระจาย! ขณะที่โขนไทยรอการพิจารณา ด้านกูรูศิลปะโขน เปิดใจ นักวิชาการปั่นกระแสเก่ง พาคนดรามาสหนั่นเมือง ชี้ 'โขน' ไม่ใช่ของใคร วัฒนธรรมเป็นของทุกคนในโลก!!

'ศิลปะโขน' ฟาดฟันบนเวทีคีย์บอร์ด!

ดรามาสังคมออนไลน์ร้อนระอุอีกครั้ง! หลังคณะกรรมการมรดกโลกจากยูเนสโก (UNESCO) ประกาศรับรอง 'โขนกัมพูชา' เป็นมรดกโลกหลังจากการประชุม ณ ประเทศมอริเซียส โดยให้ละครโขนของกัมพูชาเป็นมรดกโลกที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติอย่างเป็นทางการ!

ขณะที่ 'โขนไทย' ยังต้องรอการพิจารณาต่อ เนื่องจากว่าการหารือในหัวข้อ 'วัฒนธรรมอันจับต้องไม่ได้' ประกอบไปด้วยรายชื่อวัฒนธรรมกว่า 50 รายการจากหลายประเทศ

ซึ่งละครโขนเองถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ 'โขนไทย' และ 'โขนกัมพูชา' ทว่า การขึ้นทะเบียนได้เรียงลำดับตามภาษาอังกฤษ จึงทำให้โขนของกัมพูชาได้รับการพิจารณาและประกาศเป็นมรดกก่อน

ทันทีที่กระแสการรับรองโขนกัมพูชาเป็นมรดกโลกถูกเผยแพร่ออกไป นำมาสู่การวิจารณ์อย่างดุเดือดทั้งสองฝ่าย จากที่เคยเกิดประเด็นดรามากันมาช่วงหนึ่ง ล่าสุด กลับมาดีเบตกันอีกครั้งในเวทีระดับชาติ 

ทีมข่าว MGR Live ได้สำรวจไปยังเว็บไซต์ชื่อดังอย่าง 'ทวิตเตอร์' จากความเห็นของผู้ใช้ชาวกัมพูชา พบว่า หลังจากที่องค์กรยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนโขนกัมพูชาเป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการ ชาวกัมพูชาได้ร่วมแสดงความยินดีกับการรับรองดังกล่าว อีกทั้งยังยืนหยัดในความเห็นว่า ละครโขนเป็นการแสดงและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวกัมพูชา


 
รวมถึงยังมีการติดแฮชแท็กกันอย่างดุเดือด #itiscambodiaculture หรือ #Notthailand เพื่ออ้างถึงกรรมสิทธิ์และความเป็นเจ้าของภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอีกด้วย ทว่า ศึกฟาดฟันบนเวทีคีย์บอร์ดของไทยก็รุนแรงไม่แพ้กัน เพราะต่างพากันแสดงความคิดเห็นถึงช่วงเวลาการรอฟังคำประกาศจากทางยูเนสโกที่กำลังพิจารณาโขนไทยในรายการต่อไป

“โขนเป็นวัฒนธรรมร่วมก็แบ่งๆ กันใช้ไป ถ้าอยากเป็นเบอร์หนึ่งก็พัฒนาเรื่องการแสดงดีกว่า สุดท้ายก็ให้ผู้ชมทั่วโลกตัดสินเอาเอง จะได้วินๆ กันทุกฝ่าย”

“บางทีก็รู้สึกสงสารประเทศตัวเอง เราไม่เคยได้รับความเป็นธรรมในเรื่องใดๆ ทั้งสิ้นจากชาวโลก ขอให้วันนี้มีข่าวดี โขนไทยสวยงามไม่แพ้ชาติไหน และยังคู่ควรแก่การอนุรักษ์ ขอให้ยูเนสโก้รับรองด้วยเถอะ”

ด้าน 'ดร.อนุชา ทีรคานนท์' ผู้เชี่ยวชาญด้านการแสดงโขนได้อธิบายถึงประเด็นร้อนนี้ว่า การขึ้นทะเบียนตามอนุสัญญามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไมได้ มีทั้งสิ้น 3 ประเภท นั่นคือ บัญชีรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ, รายการที่ต้องได้รับการสงวนรักษาอย่างเร่งด่วน และ รายการมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการสงวนรักษา

 
กล่าวอย่างง่ายคือการขึ้นทะเบียน 'ละครโขลของวัดสวายอันเด็ต' หรือละครโขนของประเทศกัมพูชา เป็นการขึ้นทะเบียนในประเภทที่ 2 : รายการที่ต้องได้รับการสงวนรักษาอย่างเร่งด่วน (Urgent Safeguarding List) ซึ่งมีสาระสำคัญคือความเป็นโขนที่ชุมชนร่วมกันฟื้นฟูและอนุรักษ์

ขณะที่การขึ้นทะเบียน 'โขนไทย' เป็นการขึ้นทะเบียนในประเภทที่ 1 : บัญชีรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ (Representative List) หมายความว่ามีสาระสำคัญคือเป็นการแสดงที่มีการปฏิบัติสืบทอดอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นการยื่นเสนอให้ยูเนสโกพิจารณาต่างประเภทกันนั่นเอง

วัฒนธรรมเลื่อนไหล 'โขน' ไม่ใช่ของใคร

“ประเด็นเรื่องโขนเป็นของเขมร หรือโขนเป็นของคนไทย ผมมองว่าเรื่องราวตรงนี้มันเป็นเรื่องของการเมืองและนักวิชาการมากกว่า ต่อให้ขึ้นทะเบียนไป อย่างไรแล้วเราก็เล่นต่อไปได้อยู่ดี เพราะวัฒนธรรมนั้นไม่ใช่ของใคร วัฒนธรรมเป็นของทุกๆ คนในโลก”

'ศักดิ์ดา น้อยเจริญ' หนึ่งในสมาชิกโขนพระราชทาน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงศิลปะโขนมากกว่า 12 ปี เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live เกี่ยวกับประเด็นดรามาโขนไทย-โขนเขมรที่เป็นที่พูดถึงอย่างหนักในสังคมออนไลน์ ก่อนจะย้อนความถึงต้นกำเนิดศิลปะโขนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรในภูมิภาคเอเชีย

“โขนเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ถามว่าทำไมโขนถึงเป็นศิลปะชั้นสูงของประเทศ เพราะว่าโขนคือการนำศาสตร์และศิลป์มารวมกัน เป็นการจำลองหรือเลียนแบบการแต่งองค์ทรงเครื่องของพระมหากษัตริย์ทั้งหมด หรือแม้แต่ความเชื่อที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ก็จะเกี่ยวโยงกันหมดเลย ซึ่งโขนเดิมทีเล่นแค่ในพระราชสำนักเท่านั้น

จริงๆ แล้ว ในอาเซียนของเรามีโขนทุกประเทศนะ พม่า ลาว กัมพูชา ไทยก็มี ที่อื่นก็มี แต่ต้นกำเนิดจริงๆ เกิดขึ้นที่ประเทศอินเดียคือรามายณะ ซึ่งย้อนกลับไปในเรื่องของการค้าขายนั้นมาจากทางเรือ การขยายอิทธิพลในสมัยก่อนอาจยังไม่มีเรื่องการทหารเข้ามามากมาย
ภาพ FB: โขนยักษ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
โขนกัมพูชา
 
ฉะนั้น การขยายอิทธิพลที่ดีที่สุดคือการนำวัฒนธรรมของตนเองไปยัดใส่หัวสมองของบุคคลเหล่านั้นให้เกิดความรู้สึกคล้อยตาม จึงเรียกว่าการล่าอาณานิคมทางวัฒนธรรม นี่แหละจึงเป็นการเลื่อนไหลของวัฒนธรรมไปเรื่อยๆ

ผมว่ากระแสที่เกิดขึ้นคือเรากำลังตามหาว่าใครเป็นเจ้าของ มากกว่าจะมองในมุมของการอนุรักษ์และสืบสานที่ดีงาม ทำไมวัฒนธรรมต่างๆ ในหลายๆ เชื้อชาติ อย่าง การเต้นคัฟเวอร์เกาหลี หรือการเต้นบัลเลต์ ถึงไม่จดทะเบียน

ต้องอย่าลืมว่าสิ่งที่เรากำลังทำ คือ การทำร้ายวัฒนธรรมเราเองหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนกัมพูชา สิ่งที่ทำอยู่เป็นการทำร้ายวัฒนธรรมหรือไม่ นี่ไม่ใช่การปกป้อง เพราะการปกป้องที่แท้จริงต้องเป็นการสืบสานหรือการสืบต่อ อย่างสร้างสรรค์ หรือทำอย่างไรให้คงอยู่ต่อไปมากกว่า”

อย่างไรก็ดี ในสายตาของผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะโขนมองว่า ไม่ว่าการตัดสินที่เกิดขึ้นขององค์การยูเนสโกต่อโขนไทยว่าจะได้รับการขึ้นทะเบียนหรือไม่นั้น ทว่า การร่วมกันสืบสานวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ต่อไป โดยให้สายตาชาวโลกเป็นคนตัดสินเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
แฟ้มภาพการแสดงโขนไทยในนิวซีแลนด์ เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในต่างแดน
 
“ถ้าตัดสินออกมาว่าโขนไทยไม่ได้ขึ้นทะเบียน ขณะที่โขนกัมพูชาได้รับการรองรับ ผมว่าองค์กรยูเนสโกไม่มีความเป็นธรรม เพราะไม่รู้ใช้หลักเกณฑ์อะไรในการวัด

ผมว่าน้ำหนักของไทยมีสิทธิ์ที่จะได้จดทะเบียนด้วยเช่นกัน อย่างแรกเลยไทยสามารถดำรงอยู่ได้นานกว่า เรามีโรงเรียนรองรับ มีกรมศิลปากรคอยสืบสาน เรามีเด็กรุ่นใหม่คอยเต็มเติมอยู่ตลอด แต่กัมพูชามองไม่เห็นเลยว่าศิลปะโขนจะอยู่กับเขาได้นานแค่ไหน

ในฐานะของคนไทย ผมมองว่าเรื่องการจดทะเบียนมันก็ดี เพราะมันเป็นการปกป้องสิทธิหลายๆ อย่างของเรา โขนก็เหมือนกับอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของเรานั่นแหละครับ แต่ท้ายที่สุดไม่ว่าผลการตัดสินพิจารณาจะออกมาเป็นอย่างไร การดำรงอยู่และสืบสานอย่างสร้างสรรค์สำคัญที่สุดครับ”

ข่าวโดย ทีมข่าว MGR Live


กำลังโหลดความคิดเห็น