xs
xsm
sm
md
lg

“เอาเงินพันล้านมาแลกก็ไม่ยอม” ชาวไร่หัวใจเพื่อชีวิต!! (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เขาคือชายวัยเกษียณผู้เนรมิต “เกษตรกรเพื่อชีวิต” ให้เป็นจริง สร้างผืนนาตัวเองให้เป็น "บ้านนอกในเมืองกรุง" ปฏิเสธเงินนายทุนพันกว่าล้าน เพื่อเดินตามทางฝัน ล้มเหลวมากี่ครั้งแต่ไม่เคยคิดท้อ

ปฎิเสธเงินพันกว่าล้าน เพื่อสานฝันเกษตรกร!!

คงไม่มีใครอยากเชื่อว่า จะมีคนกล้าปฏิเสธเงินพันกว่าล้าน เพื่อจะเป็นเกษตรกร อะไรทำให้อดีตข้าราชการคนนี้ต้านทานกระแสเงินที่มูลค่ามหาศาล และยังยืนยันว่าอยากอยู่กับความเป็น “บ้านนอกในเมืองกรุง”
เรื่องราวของ สมโภชน์ ทับเจริญ อดีตนักวิชาการเกษตร กับความคิดที่เลือกทำ "เกษตรเพื่อชีวิต" เนรมิตรไร่นาของตัวเองให้เป็น "บ้านนอกในเมืองกรุง" บนพื้นที่ 50 ไร่ ปฏิเสธเงินพันกว่าล้าน เพื่อเดินตามฝันเป็นเกษตรกร
อดีตนักวิชาการเกษตร วัย 60 ปี ที่เกษียณอายุราชการก่อนเวลาถึง 6 ปี คือเจ้าของพื้นที่ธรรมชาติ 50 ไร่ ใจกลางกรุงที่เคยมีคนมาขอซื้อที่ดินด้วยเงินสูงถึง 1,500ล้านบาท ถ้าเป็นคุณจะขายไหม แต่อาจารย์สมโภชน์ ไม่ขาย ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของตนเอง แต่หวังให้เป็นปอดอีกแห่งของคนกรุง ทั้งยังเป็นแหล่งอาหารที่ปลอดภัยสำหรับคนเมืองด้วย
ย่านถนนนวลจันทร์ เขตบึงกลุ่ม เป็นสถานที่ทุกคนอาจจะรู้จักกันก็คือ @บางขวด ที่ดินธรรมชาติผืนนี้ที่มีมูลค่ามหาศาล ของอดีตราชการวัย 60 ปี ที่มีแง่คิดมุมมอง และการจัดการที่ดินผืนนี้ที่ไม่ยอมแลกกับเงินมหาศาล
หลายคนถ้ามีคนมาเสนอผลประโยชน์มหาศาลให้แลกกับที่ดินหรือทรัพย์สินของตัวเองในมูลค่าสูง กับตัวเลขถึง 1,500 ล้านบาท ก็อาจจะตัดสินใจขาย แต่สำหรับอาจารย์ท่านนี้ เลือกที่จะเก็บไว้และสร้างผลประโยชน์ เพื่อสานต่อเติมความฝันของตัวเอง และอะไรเป็นเหตุปัจจัยให้ไม่สนใจเงิน 1,500 ล้านบาท

“ไม่ได้มีอะไรหรอกครับ คือเราไม่ได้เดือนร้อนอะไร เราไม่อยากที่จะต้องการเงินมากมายมหาศาล ถ้าเกิดว่าเราขายผืนดินผืนนี้ไปแล้ว เขาเอาไปสร้างเป็นหมู่บ้านคอนโด แล้วใครละครับจะมาใช้ประโยชน์จากผืนดินผืนนี้อีก นอกจากนายทุนที่เขามาซื้อเราไป คนที่อยากเข้ามาสูดอากาศตรงนี้เองที่อยากได้รับออกซิเจนสักวัน เดือนละครั้งหนึ่งก็จะไม่ได้มาอีกแล้ว เพราะกลายเป็นตึกไปหมด
ถ้าเกิดเราขายที่ดินผืนนี้ไปแล้ว เขาไปสร้างหมู่บ้านคอนโดฯ แล้วใครจะใช้ประโยชน์ที่ดินผืนนี้อีก นอกจากนายทุนที่ซื้อที่เราไป คนที่อยากจะเข้ามาสูดอากาศบริสุทธิ์ตรงนี้ อาทิตย์ละครั้ง ก็ไม่มีแล้ว ผมไม่อยากขายหรอกครับ
ลองคิดดูนะครับที่ดินอยู่ในกรุงเทพ ที่ปู่ย่าตายายซื้อไว้เพียงไร่ละไม่กี่บาท ส่งมาถึงเราในวันนี้ ซึ่งปู่ย่าตายายเองก็ไม่รู้หรอกว่าวันหนึ่งจะมีราคาสูงขนาดนี้ เป็นเช่นนี้แล้วเราก็ยังมีโอกาสที่จะรั้งผืนแผ่นดินตรงนี้เอาไว้ ถ้าขายแล้วนำเงินไปฝากธนาคาร ต้นทุนที่นำไปฝากก็ออกมาเป็นดอกเบี้ย แต่ผืนดินผืนนี้เองขึ้นราคาได้ทุกวัน วันนี้ราคา 10 ล้าน ปีหน้าอาจจะ 11 ล้าน ปีต่อไปอาจจะเป็น 15 ล้าน ตามความเจริญที่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นที่ดินแห่งนี้ไม่ได้ออกดอกมาเป็นดอกเบี้ย แต่ดอกมีอยู่ที่ดินตลอดเวลา บานให้เราเห็น บานมากกว่าสิ่งที่เอาไปฝากไว้ที่ธนาคารอีก สิ่งเหล่านี้ก็งอกงามทุกวันตามความเจริญที่เข้ามา แถมยังใช้ประโยชน์ในพื้นดินด้วย ทั้งเกิดขึ้นกับตัวเองและคนอื่นด้วย
เราเกิดมาด้วยความจน ต้องบอกว่าสมัยก่อนบ้านตรงนี้ที่เรียกว่าบ้านบางขวดทุกคนทำนาหมด เงินที่จะไปโรงเรียนแถบจะหาไม่ได้ เงินที่ได้จากการขายข้าวของย่าแต่ละปีก็เอามาเลี้ยงสมาชิกที่อยู่ในครัวเรือนเกือบทั้งหมด”
หรืออาจเพราะว่าได้คู่ชีวิตที่ดี และมีความคิดที่เหมือนกัน ทำให้ไม่ต้องมีเงินมหาศาลก็สามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข เพราะสำหรับภรรยาอย่าง สุภารัตน์ ทับเจริญ ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเงินมากขนาดนั้น

สุภารัตน์ ทับเจริญ ภรรยาผู้คอยอยู่เคียงข้าง
“เราอยู่ด้วยตรงที่เราไม่ได้ใช้เงิน เพราะฉะนั้นเงินก็ไม่ได้มีความสำคัญกับเรามาก พูดจริงๆ นะ ถ้าเราไม่ได้ใช้เงิน เงินไม่ได้มีความสำคัญเลยนะ ความสุขต่างหากที่สำคัญกับเราถ้าเราขายที่ไปเราจะไปอยู่ที่ไหน ชีวิตเราต้องเปลี่ยนไป เราต้องปรับตัวเอง แล้วจะมีความสุขจริงหรือ

พ่อซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแกจะมีความสุขไหม เราก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบชีวิตใหม่ เปลี่ยนไปเป็นคนอีกรูปแบบหนึ่ง ก็ไม่ใช่เป็นคนที่อยู่กับธรรมชาติแล้ว ต้องเป็นคนที่อยู่กับเมือง ไปใช้ชีวิตอย่างนั้นก็คือต้องใช้เงินทุกวัน แต่อยู่อย่างนี้เราไม่ต้องใช้เงินเราก็อยู่ได้นะ”

ล้มเหลวมากี่ครั้ง แต่ไม่ทุกข์กับปัญหา!!

กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของไทย เป็นศูนย์กลางความเจริญในทุกๆ ด้าน ทุกปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่พื้นที่สิ่งปลูกสร้างและจำนวนประชากร ขณะที่คุณภาพชีวิตของคนในสังคมเมืองเริ่มห่างไกลจากธรรมชาติมากขึ้น
พื้นที่ถูกแปรเปลี่ยนเป็นตึกราบ้านช่องแทน เมื่อธรรมชาติในเมืองกรุงเหลือน้อย มลพิษจากยวดยานและสิ่งก่อสร้างต่างๆ มีมากขึ้นสุขภาพของคนเมืองจึงถูกบั่นถอนลงเรื่อยๆ จะเป็นเรื่องดีขนาดไหน ถ้าใคนสักคนมีพื้นที่พืชสวนไร่นาอยู่กลางกรุง เพื่อให้ตนเองและครอบครัวได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ
อาจารย์สมโภชน์ในอดีตเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการเลี้ยงสุกรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์เป็นส่วนใหญ่ ยอมรับว่ากว่าที่ตนเองจะมาทำการเกษตรด้านพันธุ์พืชได้อย่างทุกวันนี้ต้องเรียนรู้และผิดพลาดอยู่บ่อยครั้ง
เรื่องราวของคนที่ล้มเหลวหรือคนที่ผิดพลาดจากทดลอง ทดสอบกับสิ่งที่เขารั ก สิ่งที่เขาตั้งใจมาหลายครั้งหลายหน เรียกได้ว่าล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ แต่ความสำเร็จสิ่งหนึ่งที่เขาได้รับคือความสำเร็จจากการตั้งใจ และความพยายามนำไปสู่เป้าหมาย
“เรื่องการปลูกผักผมไม่มีความรู้อะไรเลยจริงๆ เนื่องจากว่าผมเป็นนักวิชาการทางด้านสัตวบาล เพียงแต่ว่าในช่วงเวลาการทำงานเอง ผมได้นำเอาพืชไปทำการวิจัยด้วย เนื่องจากผมเป็นลูกเกษตรกร ผมค่ำหวอดอยู่กับมันมาตั้งแต่จำความได้ ผมก็เลยมีความรู้ทางด้านพืชแบบงูๆ ปลาๆ
แต่วันนี้เอง หลังจากที่ออกจากงานประจำ ผมต้องมาปลูกผัก ตามไอเดีย ตามความคิดที่ผมมี ผมไม่เคยปลูกผักกระหล่ำ ผมไม่เคยปลูกเมล่อน ผมไม่เคยปลูกมะเขือเทศราชินี เหล่านี้คือสิ่งใหม่ของผมหมดเลย เพราะฉะนั้นแล้ว ไม่ใช่ว่าผมจบทางด้านเกษตรแล้วผมจะรู้หมดทุกอย่าง พวกนี้ผมไม่เคยทำมาเลยทั้งชีวิต เมื่อมาปลูกผัก ปลูกรุ่นแรกโดนจิ้งหรีดกินหมด ไม่เข้าใจว่าต้องทำอย่างไร คราวนี้ปลูกครั้งที่สองคนอื่นได้น้ำหนักของต้นผักกันประมาณสักครึ่งกิโล แต่ผมได้แค่ขีดเดียว
ผมก็ยังไม่เข้าใจอีกว่า ในแต่ละระยะควรจะให้ปุ๋ยยังไง จะต้องเป็นแปลงชนิดไหน จะต้องยกขึ้นอย่างไร จะต้องการความร้อนอย่างไร ทุกอย่างคือปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งผมต้องเรียนรู้และหาทางแก้ไขเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จที่เกิดขึ้น”
 
 
สวนเกษตรผสมผสาน

แม้การทำเกษตรกรรมจะประสบปัญหา ไม่ได้รับผลผลิตตามต้องการแต่สำหรับอาจารย์สมโภชน์แล้ว เขากลับคิดว่าคือสิ่งที่ต้องเรียนรู้ เมื่อถามถึงความท้อแท้อาจารย์ผู้นี้กลับตอบกลับมาด้วยเสียงหัวเราะอย่างขำขันพร้อมอธิบายว่าไม่เคยเป็นทุกกับปัญหาที่เข้ามาแม้แต่นิดเดียว
“ปัญหาที่เกิดขึ้นมันเกิดขึ้นทุกวัน แต่ปัญหาไม่ได้มีไว้ให้เราท้อถอย แต่ปัญหามีไว้เป็นครูสอนเรา นอกจากสอนเราแล้ว เรายังนำปัญหาที่เกิดจากเราไปสอนคนอื่นได้อีกด้วย ฉะนั้นคนที่มาหาผมทุกคน ผมไม่ได้บอกว่าผมทำแล้วสำเร็จอย่างไร แต่ผมพอที่จะเลือกเล่าความล้มเหลวให้เขาฟังได้
ผมล้มเหลวมาอย่างไร แล้วผมแก้ไขอย่างไรเพื่อที่จะให้คนที่ได้ฟังไปปรับใช้ เกิดไอเดียว่าถ้าเป็นตัวเขาเองเมื่อเจอปัญหาแบบนี้เขาจะแก้ไขอย่างไร เพราะฉะนั้นหลายๆ ยูทูบ หลายๆ คนที่ออกไปจากงานมักจะพูดเสมอว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากตัวเองเป็นอย่าไร แต่เขาไม่ได้บอกว่า แต่ละครั้งที่ประสบความสำเร็จมา เขาฉิบหายมากี่หน
ทุกอย่างไม่ได้ปูด้วยดอกกุหลาบเสมอไป ทุกอย่างในเรื่องเกษตรเป็นเรื่องง่ายกว่าที่คุณคิดมันไม่ใช่เลยนะครับ เพราะฉะนั้นแล้ว เราอยู่กับมัน เรารู้ปัญหากับมัน เราแก้ไขปัญากับมัน เมื่อเราทำได้เมื่อไหร่ วันนี้เราอาจจะทำไม่ได้ พรุ่งนี้เราอาจจะทำไม่ได้ เราก็เริ่มปลูกมันใหม่
แค่ปัญหามันเกิดขึ้น แล้วเราก็มีเวลาในการที่จะแก้ไขปัญหามันได้ เพราะตรงนี้เองเกษตรกรถึงไม่ได้มีความเครียดที่จะเกิดขึ้นตรงนี้ ทุกอย่างมีทั้งดีและเลว มีทั้งบวกและลบ คุณจะมองสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นบวกหรือลบอย่างไร ผมก็เลยไม่ได้ไปมีความเครียดกับมัน”
 
สูตรสำเร็จของใครบางคนไม่สามารถเป็นสูตรสำเร็จของทุกคนได้ อาจารย์ผู้นี้ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่สะท้อนเรื่องมุมมองความคิด และวิธีการประพฤติปฎิบัติตน เชื่อว่าจะเป็นแนวคิดและแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต เพื่อไปปรับใช้ของใครหลายคน

ออกจากราชการ จุดพลิกผัน-ฝันเป็นจริง!!

จุดพลิกผันในชีวิตครั้งสำคัญของอาจารย์สมโภชน์ ที่ออกมาทำอาชีพเกษตรกรที่มีชีวิตแบบพอเพียงโดยเริ่มต้นจากนักวิชาการด้านการเกษตร รับราชการตำแหน่งผู้อำนวยการ ต้องหยุดลงเพื่ออกมาดูแลพ่อเพราะคุณแม่ต้องเสียชีวิตลงกะทันหันโดยที่ตนนั้นไม่ทันได้ดูใจก่อนท่านเสียชีวิตจุดนี้จึงทำให้อาจารย์ผู้นี้ตัดสินใจออกจากราชการทันทีก่อนหมดอายุราชการ
“ผมก็ได้เริ่มคิดมาตั้งแต่เริ่มเข้ารับราชการแล้วว่า เมื่อเราออกมาเมื่อไหร่ เราก็คงจะกลับมาทำเกษตร และคงจะไม่อยู่ถึงเกษียณหรอก เนื่องจากว่าถ้าคุณอยู่ถึงอายุ 60 ปี ร่างกายคุณจะไปไหวหรือเปล่าก็ไม่รู้ที่จะเดินไปดูสวน สมองคุณจะมีแรงคิดหรือเปล่าก็ไม่รู้เมื่อถึงวันนั้น ก็คิดว่า 55 ปี ก็จะลาออกแล้ว
แต่บังอิญแม่ผมเสียชีวิตก่อนปีหนึ่ง ก่อนที่เราจะลาออก ผมก็เลยถือโอกาสตรงนั้นลาออกมาอยู่กับพ่อจะได้มาดูแลพ่อด้วย เพราะทั้งพ่อทั้งแม่ผมไม่เคยดูแลเลยตั้งแต่รับราชการ จึงเป็นสิ่งที่ผมจะต้องกลับมาฉุกคิด แล้วก็มาสานฝันที่เราวางเอาไว้ก่อนที่เราจะกลับมาทำตรงนี้ไม่น้อยกว่า 20 ปี กลับมาทำในสิ่งที่เราคิดให้มันสำเร็จ”

ไม่เพียงเท่านี้เองนั้นภรรยาอย่าง สุภารัตน์ ทับเจริญ ก็ได้เล่าย้อนไปถึงเรื่องราวเมื่อหลายบปีก่อน เหตุการณ์พลิกผันที่ตัดสินใจออกจากราชการ เพื่อออกมาดูแลคนที่เรารักก่อนจะสายเกินไป
คุณแม่เสียชีวิตกระทันหันค่ะ แล้วแกกำลังรับแขกชาวต่างประเทศอยู่ ทางบ้านก็โทรไปว่าแม่แย่มากแล้วนะให้รีบกลับมาบ้านมาดูแม่ เพื่อพาแม่ไปโรงพยาบาล แต่ปรากฎว่ากำลังเดินทางมา แม่ก็เสียชีวิตที่บ้านก่อน พอกลับมาก็จะเหลือพ่ออยู่คนเดียว เขาก็คงกลับมาคิดค่ะว่าทำงานแล้วก็ไม่มีเวลาให้ครอบครัว แม่ก็เสียชีวิตไปโดยที่ตัวเองไม่ทันได้ดูใจ ก็คิดว่าเหลือพ่ออยู่คนเดียวก็ควรจะดูแลพ่อ
เขาก็มานั่งคำนวณนะก่อนที่จะลาออกว่าถ้ารับราชการอยู่เขาจะได้เงินเท่าไหร่ จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร ถ้าออกมาจะมีชีวิตอยู่ยังไง เขาก็มาคำนวณดูสิ่งที่พ่อทำไว้ให้ที่พ่อเหลือไว้ให้มันมีมูลค่ามากนะ ควรจะเสียสละและก็มาดูแลพ่อมากกว่า”
นอกจากได้ทำอาชีพเกษตรกรตามฝันแล้ว สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การได้ทำเกษตรในแบบของอาจารย์สมโภชน์ที่เรียกว่าการทำเกษตรเพื่อชีวิต
“ผมทำการเกษตรเพื่อชีวิต ผมจะไม่ทำการเกษตรเพื่อความตาย ผมไม่ได้ใช้ยาฆ่าแมลง สารพัดยาที่เป็นอันตรายต่อชีวิต อาหารเพื่อชีวิตกับอาหารเพื่อความตายมันไม่เหมือนกันนะครับ อาหารเพื่อชีวิตคือคุณกินเข้าไปแล้ว เพื่อบำรุงสุขภาพ แต่อาหารเพื่อความตายคุณกินเพื่อความอร่อย กินเข้าไปแล้วคุณอาจจะเป็นโรคร่างกายอ่อนแอลง เนื่องจากสารเคมีที่เป็นยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง อะไรต่างๆ มากมายที่คุณนำเข้าไปในร่างกาย
 
วันนี้เองผมมีโอาสที่จะเข้ามาสร้างอาหารที่ปลอดภัยสำหรับคนที่เข้ามาชมสวนหรือฟาร์มของเรา และคนที่เข้ามาก็ดีใจครับที่ได้กินของที่ได้ขึ้นชื่อว่าปลอดภัย เขามั่นใจมากกว่าที่จะไปซื้อของจากตลาดทั่วไป ซึ่งไม่รู้แหล่งที่มาว่ามันมาอย่างไร
เขาได้เดินมาดูว่าเราปลูกผักอย่างไร และก็ได้อธิบายให้เขาฟังทุกคน ใครอยากมมีความรู้เรื่องปลูกผักผมก็อธิบายว่าคุณควรจะเริ่มต้นอย่างไร เอาความรู้ต่างๆ ของทุกคนที่มีคำถามเข้ามา”
มาถึงวันนี้ชีวิตและความฝันของอาจารย์สมโภชน์ทำให้เห็นว่า ความสุขที่แท้จริงของการเป็นมนุษย์ไม่ได้เกิดจากการสะสม หรือไขว่คว้าชื่อเสียงเกียรติยศเงินทองเพื่อเติมเต็มในสิ่งที่ตนเองขาด หากเกิดจากความพอใจ พอดี และทำประโยชน์ให้กับสังคมมากกว่า

ติดตามรับชมรายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ” ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-09.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 (IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211)
center>

สัมภาษณ์ : รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ”
เรียบเรียง : ทีมข่าว MGRLive
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์



 
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **





กำลังโหลดความคิดเห็น