เครื่องดื่มชูกำลังสัญชาติไทย 'เรดบูล-วอริเออร์' โกอินเตอร์ เปิดสำนักงานบุกตลาดโลกแห่งแรก 'นครโฮจิมินห์' ประเทศเวียดนาม ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์วัฒนธรรมกิน-ดื่ม 'ดับกระหาย-คลายร้อน' เทียบเท่าน้ำอัดลม เจาะกลุ่มผู้บริโภคทุกเพศ-ทุกวัย แถมทุ่มงบ 4,000 ล้านบาท 'เสริมการตลาด-จัดจำหน่าย-งานวิจัย' พาแบรนด์ไทยสู่เวทีโลก!
แบรนด์ไทย..สู่ตลาดโลก!
เปิดสมรภูมิ 'เครื่องดื่มชูกำลังสัญชาติไทย' บุกเวทีตลาดโลก ด้วยการลงทุนเพิ่ม 4,000 ล้านบาท มุ่งพัฒนาศักยภาพ 3 ด้าน 'เสริมแกร่งทีมงานวิจัยตลาดพัฒนาผลิตภัณฑ์-บริหารจัดการด้านการตลาด-บริหารจัดการด้านการจำหน่าย' เปิดสำนักงานแห่งแรก ณ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม
ถือเป็นส่วนหนึ่งในแผนธุรกิจ 5 ปี ที่กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ประกาศไว้เมื่อปี 2560 ตั้งเป้า 3 ปี ยอดขายเพิ่มขึ้นเท่าตัว ตอกย้ำการเป็น 'เฮ้าส์ออฟแบรนด์' ที่มีความหลากหลายของสินค้าเครื่องดื่ม อย่าง เรดบูล(กระทิงแดง) เรดดี้ โสมพลัส และ 'วอริเออร์' เครื่องดื่มน้องใหม่มาแรงที่วางจำหน่ายเพียงไม่กี่ปีแต่ติด TOP 5 ในตลาดเวียดนามเป็นที่เรียบร้อย
'สราวุฒิ อยู่วิทยา' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP เปิดใจว่า การเปิดบริษัท TCPVN ที่ประเทศเวียดนามถือเป็นบทพิสูจน์ความมุ่งมั่นของบริษัทที่สามารถนำความภาคภูมิใจมาสู่ประเทศไทยในเวทีโลก โดยมีเป้าหมายทุ่มทุน 4,000 ล้านบาท สร้างศักยภาพใน 3 ด้าน ถือเป็นการลงทุนที่มากกว่าเดิมเท่าตัวกว่าที่ผ่านมาในรอบ 3 ปี
“อย่างแรกที่เราเสริมสร้าง คือ 'ด้านศักยภาพของทีมงานวิจัยตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์' ต้องบอกว่าเครื่องดื่มชูกำลังอัดลมแบรนด์ 'วอริเออร์' ถือเป็นแบรนด์ใหม่ที่คนไทยสร้างขึ้นมาเพื่อตลาดเวียดนาม สามารถเอาชนะการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดเครื่องดื่มพร้อมดื่มในตลาดได้
โดยเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เราพบว่าผู้บริโภคชาวเวียดนามต้องการดื่มเครื่องดื่มชูกำลังที่ยังคงให้ความรู้สึกเหมือนดื่มน้ำอัดลม เราจึงได้วิจัยและพัฒนาจนออกมาเป็นเครื่องดื่มชูกำลังอัดลม วอริเออร์ และได้วางจำหน่ายในปี 2558 มียอดขายเติบโตต่อเนื่องทุกปี คาดว่ายอดขายสิ้นปี 2561 จะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึงเท่าตัว
ด้านที่สอง เรามุ่งเน้น 'การบริหารจัดการด้านการตลาดและการขายอย่างเต็มประสิทธิภาพ' โดยมีการประสานการทำงานร่วมกันระหว่างทีมงานการตลาดมืออาชีพ ซึ่งเป็นคนเวียดนามที่มีประสบการณ์การทำงานกับบริษัทระดับนานาชาติ และ ทีมบริหารของเราเองที่ผ่านการทำงานระดับโลก
ซึ่งจะนำทักษะเหล่านี้มาร่วมกันช่วยพัฒนาและผลักดันให้มูลค่าตลาดรวมของเครื่องดื่มในเวียดนามสูงขึ้นเป็นอันดับที่สอง หรือใกล้เคียงกับตลาดน้ำอัดลมนั่นเอง
สุดท้าย การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการช่องทางการจัดจำหน่าย ซึ่งทางเรามีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการระบบการจัดจำหน่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น รวมถึงการแสวงหาช่องทางสมัยใหม่ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และบริการที่ดียิ่งขึ้น”
อย่างไรก็ดี สำหรับยอดขายสินค้าของกลุ่ม TCP ในตลาดเวียดนาม คาดว่าสิ้นปีนี้จะมียอดขายรวม 10,000 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งการตลาดรวมทุกแบรนด์ในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังราว 42%
เห็นได้ว่าตลาดการค้าเครื่องดื่มพร้อมดื่มในเวียดนามมีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง มีแบรนด์เกิดใหม่ในทุกๆ ไตรมาส นี่จึงเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งในฐานะแบรนด์ไทยที่เข้าสู่สมรภูมิตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ท้ายที่สุดการเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคคือเป้าหมายสำคัญที่สุดที่จะพาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จได้!
ตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง ทำไมต้อง 'เวียดนาม' !?
แน่นอนว่ายอดขายกว่า 80% ยังคงเป็นร้านค้าปลีก (Traditional Trade) หรือที่เรียกว่าการขายสินค้าหรือการตลาดแบบดั้งเดิม อย่างเช่น ร้านค้าตามตลาด ร้านแผงลอย ร้านขายของชำ จึงไม่แปลกใจเลยว่าเครื่องดื่มพร้อมดื่มส่วนใหญ่ถูกส่งตรงเข้าสู่ร้านค้าปลีก เพื่อสนองวัฒนธรรมการดื่มของชาวเวียดนาม
ทีมข่าว MGR Live ได้ลงพื้นที่สำรวจตลาดการค้านครโฮจิมินห์ ในย่านการค้าที่โด่งดังอย่าง 'ตลาดอันดง' (An Dong Market) พบว่าบรรยากาศโดยรอบคึกคักไปด้วยผู้คน โดยแต่ละร้านค้าจะมีการวางจำหน่ายเครื่องดื่มชูกำลัง รวมถึงเครื่องดื่มน้ำอัดลมหลากหลายแบรนด์ไว้หน้าชั้นวางอย่างเห็นได้ชัด
ซึ่งหากพูดถึงไลฟ์สไตล์การบริโภคของคนเวียดนาม มักจะเลือกซื้อเครื่องดื่มและนั่งดื่มที่เก้าอี้เล็กๆ บริเวณหน้าร้านค้า ทั้งเครื่องดื่มชูกำลังอย่าง 'เรดบูล' หรือ 'วอริเออร์' เอง โดยวัฒนธรรมการกิน-ดื่มของชาวเวียดนาม มักดื่มเครื่องดื่มชูกำลังเพื่อใช้ในการดับกระหาย รวมถึงบริโภคควบคู่กับการรับประทานอาหารไปด้วย
โดยกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่มีแทบทุกเพศ ทุกวัย ทั้งกลุ่มวัยทำงานหรือแม้แต่วัยรุ่นหนุ่มสาว จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมการดื่มเครื่องดื่มชูกำลังของชาวเวียดนามยังคงแตกต่างจากเมืองไทยอย่างชัดเจน เพราะสำหรับที่นั่นการดื่มเครื่องดื่มชูกำลังมีเพื่อการดับกระหาย หรือดื่มเพื่อความสดชื่นเทียบเท่าเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม
สอดคล้องกับด้าน 'วัสนัย กฤษอร่ามเรือง' ผู้อำนวยการสายงานธุรกิจต่างประเทศ กลุ่มธุรกิจ TCP ได้เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่าบริษัท TCPVN จำกัด เป็นบริษัทแรกในต่างประเทศที่กลุ่มธุรกิจ TCP ถือหุ้น 100%
ขณะที่ปัจจุบันการขายมีทั้งในรูปแบบการส่งออกจากไทยสู่ต่างชาติทั้งหมด 15 ประเทศ รวมถึงมีการสร้างโรงงานที่ต่างประเทศ อย่าง ประเทศจีน อินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม แต่ยังไม่เคยก่อตั้งสำนักงานโดยถือหุ้นสมบูรณ์ครบ 100% เช่นในครั้งนี้
โดยเหตุผลที่ตัดสินใจเลือกเปิดสำนักงานที่ประเทศเวียดนาม นั่นเพราะเป็นตลาดที่ใหญ่และมีศักยภาพสูง อีกทั้งยังเกี่ยวเนื่องไปถึงไลฟ์สไตล์ของคนเวียดนาม และจำนวนประชากรที่มีมากถึง 96 ล้านคนอีกด้วย
1. ไลฟ์สไตล์ของคนเวียดนามจะนิยมบริโภคเครื่องดื่มชูกำลัง เพื่อใช้ในการดับกระหาย รวมถึงใช้บริโภคควบคู่ไปพร้อมกับมื้ออาหาร ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการบริโภคของคนที่ทำงานหนัก และต้องการพลังงานจากเครื่องดื่มชูกำลังมาช่วยเสริม ถือเป็นการตลาดที่ค่อนข้างท้าทาย
2. ด้วยประชากรการเติบโตของคนเวียดนามค่อนข้างสูง ดังนั้น ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังของเวียดนาม มีศักยภาพที่จะเติบโตต่อเนื่องโดยปัจจุบันในภูมิภาคเอเชียเวียดนามเป็นที่สองรองจากประเทศจีนเท่านั้น
3. ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มธุรกิจ TCP ที่มีจำหน่ายอยู่แล้วมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องกว่า 25% ซึ่งเป็นการเติบโตที่มากกว่าตลาดรวม
4. ตลาดเวียดนามจะให้ความไว้วางใจกับสินค้าที่มีคุณภาพ ซึ่งผลิตภัณฑ์ของเราเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกทั้งในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม พรีเมี่ยม ซึ่งสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับกลุ่มธุรกิจ TCP ในการนำผลิตภัณฑ์คุณภาพอื่นๆ เข้าสู่ตลาดเวียดนาม
5. กลุ่มธุรกิจ TCP ยังมีรากฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง โดยมีแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในตลาดเวียดนามมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี ถือได้ว่าได้รับการสนับสนุนจากผู้บริโภคเวียดนามมาโดยตลอด
ข่าวโดย MGR Live