ผุที่ฟันทะลุถึงลูกตา! จักษุแพทย์เตือน ผู้ป่วยหนองขึ้นตาจนบวมเกือบบอด เหตุเกิดเพราะฟันผุ โชคดีที่รักษาทัน ฟากหมอฟันย้ำ แปรงฟันไม่สะอาดอาจถึงตาย เชื้อโรคตัวร้ายแพร่กระจายไปทั้งร่าง เผย “เด็ก-ผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยติดเตียง” เสี่ยงสุด!
ตาหวิดบอดเพราะฟันผุ!
ใครจะไปคิดว่าเรื่องใกล้ตัวคนทุกเพศ ทุกวัย อย่าง “ปัญหาฟันผุ” จะเป็นสาเหตุของการเกือบได้สูญเสียดวงตา! แชร์สนั่นโลกออนไลน์ หลังจากที่เพจเฟซบุ๊ก “Doctor Aree” ของ พญ.อารีย์ นิมิตวงศ์สกุล จักษุแพทย์ จากโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์(วัดไร่ขิง) โพสต์ภาพดวงตาของผู้ป่วยคนหนึ่ง ที่ด้านในแดงและบวมเป่งไปทั้งเบ้า ใกล้กันนั้นมีภาพของฟันที่ถูกถอนออกมา 2 ซี่
พญ.อารีย์ ได้บรรยายภาพดังกล่าวว่า "ฟันผุ อย่าละเลย ฟันผุ สามารถเป็นสาเหตุของการติดเชื้อลุกลามเข้าสู่ไซนัสและลามมาในเบ้าตาด้านหลังลูกตาได้ เช่นเคสนี้เป็นต้น ตาปูดโปน มองจนเห็นแค่นิ้วลางๆ ปวดตามาก CT พบหนองในไซนัสและในเบ้าตา และแถวรากฟัน ได้ผ่าตัดถอนฟัน และผ่าตัดระบายหนองหลังเบ้าตาและไซนัส รวมถึงให้ยาฆ่าเชื้อ จนกลับมามองเห็นได้ปกติ แต่รายอื่นๆ หากรักษาไม่ทันอาจไม่โชคดีกลับมามองได้แบบรายนี้นะคะ"
หลังจากที่โพสต์ดังกล่าว ถูกส่งต่อกันไปบนโลกออนไลน์แล้ว ก็นำมาซึ่งความคิดเห็นจำนวนมากที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ รู้สึกหวาดกลัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และอยากรีบไปตรวจสุขภาพช่องปากในทันที
นอกจากนี้ยังมีความคิดเห็นอีกจำนวนไม่น้อย ที่มาบอกเล่าประสบการณ์ฟันผุของตนเองด้วยเช่นกัน ซึ่งก็มีตั้งแต่ปวดแบบธรรมดา จนถึงขั้นเป็นหนองไม่ต่างจากกรณีนี้
และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่อาการฟันผุ ส่งผลกระทบร้ายแรงมากกว่าแค่อาการปวด เพราะก่อนหน้านี้ประมาณ 1 เดือน ก็มีกรณีของเด็กชายคนหนึ่ง มีอาการฟันผุหมดปาก จนทะลุถึงโพรงประสาทฟัน และเกิดการติดเชื้อ ต้องถอนฟันและเจาะระบายหนองออกจากบริเวณคาง แถมยังต้องได้รับยาฆ่าเชื้อและนอนดูอาการที่โรงพยาบาลอีก 1 อาทิตย์ และล้างแผลต่อเนื่อง จนกลายเป็นเรื่องราวที่ถูกพูดถึงอย่างมากในตอนนั้น
เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้บ่อยเข้า หลายคนย่อมอยากทำความรู้จักและรู้วิธีป้องกัน “โรคฟันผุ” ให้มากขึ้น ทีมข่าว MGR Live จึงได้ติดต่อไปยัง ผศ.ทพญ.ดร.จรัญญา หุ่นศรีสกุล หัวหน้าฝ่ายทันตสาธารณสุขชนบทภาคใต้ คณะทันตแพทย์ศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ เพื่อมาเป็นผู้ให้ความรู้ และไขข้อสงสัยที่ว่า “ฟันผุนั้นอันตรายขนาดไหน?”
“ฟันคนเราจะมี 3 ชั้นคือเคลือบฟัน เนื้อฟัน และโพรงประสาทฟัน ในโพรงประสาทฟันมันจะมีเส้นเลือด เส้นประสาทที่รับความรู้สึกอยู่ ซึ่งบางคนก็จะปวด บางคนก็จะไม่ปวด แต่ประเด็นของมันคือ ถ้ามันผุถึงตรงนี้แล้วลุกลามไปปลายรากฟัน มันก็จะเป็นหนองขึ้นมา
การเป็นหนองคือการติดเชื้อโรครูปแบบหนึ่ง เวลามันติดเชื้อ ถ้าร่างกายต้านทานได้ มันก็จะแค่กันให้อยู่เฉพาะบริเวณนั้น แต่ถ้าบางทีร่างกายไม่แข็งแรง หรือมีเชื้อโรคมาก มันก็จะไปตามช่องทางระหว่างกล้ามเนื้อและเส้นเลือดได้ จริงๆ มันไม่ได้ต่อแค่ข้างบนใบหน้านะคะ ถ้ามันเป็นฟันล่างมันก็จะต่อไปข้างล่างได้ที่คาง ถ้าเป็น 2 ข้าง บางครั้งถึงขั้นหายใจไม่ออก เสียชีวิตก็มี บางครั้งลงไปติดเชื้อที่หัวใจก็ได้ มันไปได้หลายทิศทางมากเลย โดยที่ตัวฟันผุจนทะลุประสาทมันเป็นจุดเริ่มต้นค่ะ
เชื้อโรคจากฟันผุที่ทะลุโพรงประสาทฟัน เหงือกอักเสบและโรคปริทันต์ อาจจะลุกลามไปยังช่องพังผืดข้างเคียงทำให้เกิดการติดเชื้อจากฟันที่รุนแรงบริเวณใบหน้าและคอ รอบดวงตา และอาจแพร่กระจายไปยังหลอดเลือดแล้วนำไปสู่การติดเชื้อของอวัยวะต่างๆ ได้ เช่น เยื่อบุและลิ้นหัวใจอักเสบ หนองที่สมอง ปอดอักเสบเป็นหนอง ข้ออักเสบ ซึ่งสามารถเกิดได้ในทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะคนที่ภูมิคุ้มกันที่ไม่ดี หรือมีการเจ็บป่วยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว”
กรณีก่อนหน้าที่เด็กชายฟันผุและติดเชื้อ จนต้องระบายหนองออกจากคาง
นอกจากนี้ กูรูเรื่องฟัน ยังได้เผยถึงกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการฟันผุ จนลุกลามกลายเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งก็มีทุกวัยตั้งแต่เด็กเล็กที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ไปจนถึงผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียงเลยทีเดียว
“เด็กเล็กจะเสี่ยงมากเพราะว่าทำความสะอาดฟันตัวเองไม่ได้ บางทีพ่อแม่ให้เด็กแปรงเอง แต่ก็แปรงไม่สะอาด เด็กเลยเสี่ยงง่ายเพราะเชื้อมีอยู่เยอะ จริงๆ เราต้องแปรงฟันให้เด็กจนถึง 7-8 ขวบ พอเข้าไปในโรงเรียนที่มีเครื่องดื่มหวานๆ คนสมัยนี้ชอบคิดว่าดื่มเครื่องดื่มแล้วบ้วนน้ำจะไม่เป็นอะไร จริงๆ ไม่ใช่ค่ะ เพราะเมื่อดื่มปุ๊บมีน้ำตาล เชื้อโรคมันจับทันที ตอนเด็กนี่เสี่ยงโดยพฤติกรรม แต่พอโตขึ้นจะเสี่ยงเพราะสิ่งแวดล้อมที่มีอาหารรสหวาน และการทำความสะอาดที่ลวกๆ ก็เลยขาดภูมิคุ้มกัน
ส่วนผู้สูงอายุ พอยิ่งนานเข้า ยิ่งมีโรคอื่นมาแทน คือโรคเหงือก โรคปริทันต์ ไม่ได้เกี่ยวกับน้ำตาล แต่มันเกิดจากเชื้อโรค ถ้าอันตรายมากๆ ก็เสี่ยงจะเสียชีวิตได้เลยค่ะ โดยที่มันติดเชื้อและลามไปในจุดที่สำคัญ ไปบวมที่ต่อมน้ำเหลืองใต้คางทั้ง 2 ข้าง พอมันเป็นปุ๊บแล้วจะหายใจไม่ออก ถึงขั้นเสียชีวิตได้ บางคนบวมข้างเดียวเอากอเอี๊ยะแปะ เพราะนึกว่าคางทูม บางคนตาบวมก็ไปหาหมอตา ถ้าหมอตาไม่เปิดปากก็แย่อีก เพราะมันบวมได้หลายจุดมากเลยค่ะ
ยิ่งถ้าเป็นผู้ป่วยติดเตียง ถ้ามีเชื้อโรคในช่องปากเยอะ แล้วเกิดสำลัก เชื้อที่อยู่ในช่องปากมันจะมีโอกาสปวดบวมจากการสำลัก มันมีโอกาสเกิดได้ เชื้อมันมีผลต่อทุกอวัยวะ มันไปได้หลายช่องทาง อยู่ที่ร่างกายเราเป็นช่วงที่แข็งแรงหรือไม่แข็งแรง ช่องปากเป็นประตูของสุขภาพเลยค่ะ มันไปได้หมด ทางน้ำลายก็ได้ ทางเส้นเลือดก็ได้ ทางน้ำเหลืองก็ได้ค่ะ”
ไม่ปวดไม่ใช่ว่าไม่ผุ!!
“ฟันผุเกิดจากเชื้อโรค มันจะเป็นคราบขาวหรือเหลืองระหว่างโคนฟัน ซอกฟัน ซึ่งอาหารของเชื้อโรคคือทุกอย่างที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม ทุกครั้งที่เรากินมันจะเกิดกรดอยู่ประมาณ 20-30 นาที ก่อนที่ร่างกายจะปรับให้เป็นกลาง ถ้าคนที่กินจุกจิก ร่างกายปรับไม่ทัน กรดแล้วกรดอีก ยิ่งเด็กดื่มนมหลับคาขวด คาเต้า พอแช่กรดปุ๊บ แร่ธาตุมันก็จะออกซ้ำๆ ฟันก็เลยเป็นรู”
กูรูเรื่องฟัน กล่าวย้อนไปถึงสาเหตุที่ทำให้ฟันสวยๆ ต้องแปรสภาพกลายเป็นฟันเสียๆ ว่ามีสาเหตุมาจากน้ำตาลที่ส่งเข้าปาก ทั้งสิ้น ซึ่งหากฟันผุถึงชั้นโพรงประสาทฟันแล้ว ก็ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
“ชั้นนอกสุดของฟันมันแข็ง ถ้าฟันผุช่วงแรกๆ จะไม่รู้สึกเลย เพราะไม่มีเส้นประสาทส่งมาถึง แต่ชั้นนี้ถ้าอาการผุมันอยู่ในระยะที่ไม่มากแล้วเราดูแลดี มันก็จะหยุดนิ่ง ไม่ลุกลามไปชั้นที่ 2 ที่เป็นชั้นเนื้อฟัน หากผุถึงชั้นนี้จะมีโอกาสจะเสียวฟัน เพราะเนื้อฟันมันแข็งแรงน้อยกว่า และมีแร่ธาตุน้อยกว่าชั้นแรก เมื่อถึงชั้นนี้จะผุเร็วขึ้น ไปถึงโพรงประสาทฟันได้ไวขึ้น
ชั้นสุดท้ายโพรงประสาทฟันแทบจะไม่มีแร่ธาตุ มีแต่เส้นเลือดกับเส้นประสาท เมื่อผุแล้วจะปวดและมีการอักเสบได้ เพราะมันถูกทำลายระบบทั้งเลือดทั้งอะไรต่างๆ มันก็จะกลายเป็นว่าเป็นที่ปลายรากบวมขึ้นมา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอาการเจ็บหรือไม่เจ็บ ไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงนะคะ เพียงแต่ว่าถ้าเจ็บคือเป็นเยอะแน่ แต่ไม่เจ็บก็ไม่ได้แปลว่าไม่เป็น อันนี้ทำให้คนพลาดท่าเสียทีจนกลายเป็นว่าฟันผุเยอะแล้วค่ะ
ส่วนสัญญาณเตือนว่าเป็นโรคฟันผุ ปกติสีฟันจะออกเป็นสีนวลๆ แต่ถ้าฟันผุแร่ธาตุมันจะออกมากกว่าปกติ ทำให้เห็นฟันเป็นลักษณะขุ่นขาว ถ้าเราคุมอาการ แปรงฟันให้สะอาด มันจะแข็งขึ้นค่ะ แต่สีขาวจะไม่เปลี่ยน และให้สังเกตว่าผิวฟันมีรูหรือไม่ โดยการเอาลิ้นดุน ถ้าสะดุดแสดงว่ามีอาการฟันผุแล้ว และถ้ามีอาการเสียวฟันร่วมด้วย แสดงว่าผุไปอย่างน้อยชั้นที่ 2 ส่วนอันถัดไปถ้าปวดฟันรุนแรง ต้องไปให้หมอตรวจ แต่บางทีผุแต่ไม่เสียว ไม่ปวด แม้กระทั่งเวลาหมอตรวจบางครั้งก็ยังมองไม่เห็นเลย ต้องมีการเอกซเรย์ดู”
พร้อมกันนี้ คุณหมอยังแนะอีกว่า ให้หมั่นสังเกตแผ่นคราบจุลินทรีย์ ซึ่งมีวิธีง่ายๆ ทั้งการดูด้วยตาเปล่า การเอาลิ้นดุนดูว่าฟันว่าลื่นหรือไม่ รวมไปถึงการใช้เล็บที่สะอาดเขี่ยเบาๆ ที่โคนฟันและซอกฟัน และอีกเทคนิคสำหรับเด็กเล็กคือ ใช้หลอดดูดน้ำสีเข้ม ตัดปลายแฉลบให้ทำให้มีความโค้งมน ลากจากโคนฟันขึ้นมา ถ้าติดขี้ฟันขึ้นมาก็จะเห็นอย่างชัดเจน
และสุดท้าย หมอฟันชื่อดังยังได้ฝากวิธีป้องกันฟันผุที่ทุกคนสามารถทำเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งทันตแพทย์ ก็คือการแปรงฟันให้สะอาดหมดจดทุกซี่ เพราะหากมีสุขภาพฟันที่ดีแล้ว ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดโรคร้ายต่างๆ ตามมาได้
“เราต้องเชื่อว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย มันเป็นแค่เรื่องการทำความสะอาด และใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ตั้งแต่ฟันซี่แรก ต้องใช้ความเข้มข้น หนึ่งพันส่วนต่อล้านส่วน แปรงให้นานอย่างน้อย 2 นาที ทุกซี่ทุกด้าน แปรงตามลำดับ บ้วนน้ำน้อยๆ หรือไม่บ้วนเลย บ้วนแค่ฟองทิ้ง ก็จะได้ฟลูออไรด์ที่เต็มที่ นี่เป็นเคล็ดลับเลยค่ะ
การลดน้ำตาล ถ้าให้ดี ต้องลดตั้งแต่เด็กๆ พยายามไม่เติมน้ำตาล หรือหลีกเลี่ยงอาหารหวาน ต้องมีวินัยในการกิน ทั้งในบ้านและข้างนอก พยายามกินให้อยู่ในมื้อ และถ้าจะกินอาหารว่าง ควรกินเป็นผลไม้ หรือจะของที่มีประโยชน์เช่นปลาหรือโปรตีน จะดีกว่า หมออยากให้ตรวจฟันและตรวจแผ่นคราบจุลินทรีย์ด้วยตัวเองบ่อยๆ เราต้องหัดเป็นหมอด้วยตัวเอง มันก็จะช่วยลดโรคฟันผุได้ และการใช้ไหมขัดฟัน ก็จะช่วยโรคเหงือกได้ด้วย
อีกอย่างหนึ่งคือ ไปพบหมอฟันบ้าง แรกๆ ไปปีละ 2 ครั้ง แต่ถ้าเราพอจะเริ่มดูแลตัวเองได้ หมอจะบอกเองให้เป็นปีละครั้ง หรือ 2 ปีครั้ง ตอนนี้ที่หมอเจอคือคนไม่รู้ตัวว่าตัวเองเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ เพราะอาหารที่กินมันมีน้ำตาลแทรกอยู่แทบทุกอณูเลยค่ะ โดยเฉพาะเครื่องดื่มคือตัวร้ายเลยค่ะ แต่ถ้าเราตรวจได้ด้วยตัวเองจะเร็วที่สุดเลยค่ะ เพราะมันง่ายมาก ถ้าเรากำจัดมันออกได้ทุกวันๆ ยังไงก็ไม่เป็นโรคฟันผุค่ะ เชื้อโรคมันทำงานตลอดเวลา เราต้องทันมันค่ะ”