ท่ามกลางการถกเถียงเรื่องการยุติการตายของ "นักสู้บนสังเวียนวัยเยาว์" ที่ยังคงดำเนินไปอย่างไม่จบสิ้น นี่คืออีกหนึ่งมุมมองจากผู้บริหารค่ายมวยสาวสวยที่เรียกได้ว่าฮอตที่สุดในตอนนี้ ซึ่งยืนยันเอาไว้ว่าจะต่อต้านเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด “นิ่มไม่เห็นด้วยที่มีการเสนอให้เปลี่ยน พ.ร.บ.มวย ทำแบบนี้ เท่ากับเป็นการปิดโอกาสเด็กและทำร้ายมวยไทย” พร้อมเจาะไลฟ์สไตล์สุดเซ็กซี่ของเธอคนนี้กันแบบครบทุกมิติ
ชกมวย = เสียชีวิตเร็วขึ้น !!?
จากกรณีที่น้องเล็ก - เพชรมงคล ส.วิไลทอง นักมวยเด็กวัยเพียง 13 ปี ที่เสียชีวิตจากการชกมวยไทยการกุศลที่ผ่านมา ทำให้คนหันมาสนใจเรื่องวงการกำปั้นมากขึ้น และนี่ก็เป็นโอกาสที่เราจะได้เปิดใจกับหนึ่งในตัวแทน ผู้บริหารค่ายมวย สุดแซ่บในตอนนี้ พร้อมทั้งการทัศนวิสัยในตัวเขาที่น่าสนใจ
หญิงรูปร่างดี สวมเสื้อสายเดี่ยวสีเขียว กางเกงยีนส์ ลุคเซ็กซี่ สบายๆ ของผู้จัดการค่ายมวยชื่อดัง “ทีเอ็นมวยไทยยิม” ที่กำลังนั่งอยู่ตรงหน้าผู้สัมภาษณ์ไม่ใช่ใครที่ไหน เขาคือ นุ่มนิ่ม- ปารมี จันทร์พวง รุ่นใหม่ไฟแรง ที่ได้ตัดสินใจหันมาช่วยงาน คุณพ่อพีระพงษ์ จันทร์พวง หรือ นกน้อย ทีเอ็นมวยไทยยิม แห่งนี้
ทีมข่าว MGR Live ไม่รอช้าได้มีโอกาสคว้าตัวผู้จัดการค่ายสุดเซ็กซี่มาสนทนาด้วย และการได้พูดคุยกับนุ่มนิ่มในครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นความคิดของเขาในการเข้ามาบริหารค่ายมวย และประเด็นดรามาเรื่องห้ามเด็กต่ำกว่า 12 ปี ขึ้นชก รวมถึงเรื่องที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้ว่าตัวตนของเธอล้มลุกคลุกคลานมาอย่างไร กว่าจะเป็นผู้หญิงสุดสตรองได้จนถึงทุกวันนี้ และบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จะทำให้รู้จักเธอมากยิ่งขึ้น
ในฐานะที่คลุกคลีกับวงการมวยมาตั้งแต่เด็ก นิ่มเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่นิ่มก็ไม่เห็นด้วยที่มีการเสนอให้เปลี่ยนพ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ. 2542 ให้ครม.พิจารณาห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีชกมวย ถ้าอายุระหว่าง 13-15 ปีต้องใส่เครื่องป้องกัน ทำให้วงการมวยร้อนเหมือนกัน เธอคิดว่าหากทำแบบนี้เท่ากับเป็นการปิดโอกาสสำหรับเด็ก และเหมือนเป็นการทำร้ายมวยไทยของเราด้วย
“ถ้าพ.ร.บ.กีฬามวย มีการเปลี่ยนแปลงและเกิดขึ้นมาจริงๆ เด็กที่ซ้อมมวยแล้วไม่ได้ขึ้นชก เป็นนิ่มต้องร้องไห้แน่นอน คืออย่างแรกคนรักมวย เขาก็รักเป็นชีวิตจิตใจของเขาแล้ว 2.รายได้ที่เขาได้อยู่ทุกเดือน ที่นำไปช่วยเหลือพ่อแม่เขาก็ขาดหาย 3. ถ้าเขาขาดโอกาสที่จะได้ชกมวยแล้ว ถ้าสมมุติมันจะเกิดจริงๆ นุ่มว่ามันก็ทำใจยากนะ”
ตัวค่ายนิ่มยังไงก็ต่อต้านอยู่แล้วค่ะ เพราะว่า นักมวยที่อยู่ในค่ายอย่างน้อยซ้อมมา
7-8 ขวบ มีใจรักตั้งแต่เด็กๆ ถ้าเกิดให้เด็กมากกว่า 12 ปี ต่อยมวยได้ คือมันหายาก ส่วนมากเด็กจะไปติดเกม ศิลปะมวยไทยมันจะเริ่มสูญหาย
ส่วนใหญ่เด็ก 7-8 ขวบ ก็จะเริ่มถูกปลูกฝังตั้งแต่เด็กแล้ว มีการชอบ มีการเริ่มรักมวย เริ่มรักศิลปะมวยไทย ถ้าหากเป็นเด็กต่ำกว่า 12 ขวบ ถ้าไม่ได้คลุกคลี หรือไม่ได้เข้ามาอยู่ในวงการมวย เด็กก็คือไม่ชอบ คือไม่เอาแล้วมวย เหมือนหันไปทางอื่นมากกว่า หรืออย่างเด็กที่เป็นยอดมวยถึงวันนี้ เขามาจากการปลูกฝังตั้งแต่7-8ขวบทั้งนั้น ไม่มีใครหรอกที่ว่ามาซ้อมตอนโต แล้วเป็นยอดมวย มันไม่มี”
หากจะให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นชก ผู้หญิงสุดเซ็กซี่ที่นั่งหน้า บอกว่ามันเป็นสิ่งที่ยาก เพราะแรกเริ่มเดิมทีเด็กจะต้องถูกปลูกฝังก่อน ไม่ใช่อยู่ๆจะให้ไปขึ้นชกแบบนั้นไม่ได้ การให้นักมวยเด็กสวมเครื่องป้องกันคิดว่ามันไม่จำเป็น มันเป็นการทำร้ายศิลปะวัฒนธรรมไทยมากกว่าควรอนุรักษ์ไว้ให้คงเดิม เพราะทุกวันนี้เวทีตามต่างจังหวัด(เวทีภูธร)ก็เริ่มลดหายไป ซึ่งนุ่มก็อยากอนุรักษ์ในส่วนของตรงนี้ไว้
“มันเหมือนทำร้ายศิลปะมวยไทยไปเยอะ การเอาอะไรมาใส่ อยากให้คงความเหมือนเดิมมากกว่า เพราะจริงๆก่อนที่นักมวยจะไปชกเนี่ย อย่างน้อยเจ้าของค่ายต้องมีการดูแลว่านักมวยสบายหรือเปล่า ไม่สบายหรือเปล่า ก็น่าจะให้เจ้าของค่ายดูแลนักมวยก่อนขึ้นชก
เด็กในค่ายก็ยากจนทั้งนั้น มันเหมือนเป็นการปิดโอกาสเด็กบางคน คือคนจนเราก็รู้อยู่แล้วว่าหาเงินไม่ได้ บางทีเขาต้องช่วยเหลือครอบครัว ถ้าเขาไม่หารายได้ตรงนี้ก็คือคนยากจนจะไปหารายได้จากตรงไหน อย่างน้อยเด็กบางคนก็ส่งตัวเองเรียนก็มีเยอะเลย อย่างน้อยเด็กๆก็มีส่วนอยากช่วยเหลือครอบครัวก็เลยหันมาต่อยมวย
อย่างน้องในค่ายเป็นชาวพม่าเมื่อก่อนก็ทำงานก่อสร้างมีกินบ้าง ไม่มีกินบ้าง พอทีนี้เขามาซ้อมมวยที่ค่ายได้ประมาณเกือบ 2 ปี น้องเขาก็มีเงินส่งกลับเขาที่ประเทศ จากคนที่แบบไม่ค่อยมีเงินก็เริ่มมีเงินเก็บ”
ไม่ได้เป็นความผิดของใคร ศิลปะมวยไทยไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้น้องคนนั้นเลือดคลั่ง และเสียชีวิตบนสังเวียน เหตุการณ์แบบนี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นหรอก เธอคิดว่าการต่อยมวยมันทำให้เด็กยิ่งมีร่างกายที่แข็งแรง หากเกิดการเสียชีวิตนิ่มอยากให้มองไปที่การฟิตซ้อมของร่างกาย รวมถึงสุขภาพของน้องที่มีการดูแล และพักผ่อนอย่างเพียงพอ
ในค่ายเต็มที่จะให้ขึ้นชกไม่เกิน 2 ครั้งต่อเดือน คือจะไม่ให้เด็กขึ้นชกมากเกินไป เพราะว่าเราต้องถนอมร่ายการเด็กเหมือนกัน และหากเกิดเหตุการณ์มีเด็กเสียชีวิตด้วยสาเหตุจากการถูกน็อก อย่างไรทางค่ายต้องรับผิดชอบ เพราะดูแลมาก็เกิดความผูกพันเหมือนคนในครอบครัว
“คืออย่างแรกเราต้องดูก่อนขึ้นชกว่าไม่สบายหรือเปล่า การฟิตซ้อมของเด็กอย่างน้อยต้องมี 20 วันเป็นอย่างต่ำ เด็กต้องฟิตซ้อม ถึงจะเอาไปขึ้นชกได้ ถ้าเด็กไม่ได้ฝึกซ้อม แล้วเอาไปขึ้นชกเลย มันก็มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ
การเล่นมวยทำให้เด็กแข็งแรงมากกว่า บางคนแข็งแรงเกิดจากการซ้อมมวยนะ เพราะว่าเด็กในค่ายนิ่ม ก็มีคนที่เป็นลิ้นหัวใจรั่วตั้งแต่เด็ก ร่างกายไม่แข็งแรง แล้วพอเขาได้ออกกำลังกาย ต่อยมวย ลิ้นหัวใจรั่วของเด็กหายไปเลย ก็มันไม่เหมือนกันค่ะ
ถ้าเกิดเด็กในค่ายเสียชีวิต ทางค่ายต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว คือเด็กเราดูแลมา เราผูกพันกับเด็กนะคะ ถ้าเกิดปัญหาวันนึงทางค่ายไม่มีการทิ้งเด็กแน่นอน
เคสเด็กที่มีการเสียชีวิต นุ่มว่าอาจจะเป็นเพราะ เด็กอาจจะไม่สบาย หรือว่าจริงๆอาจจะชกมากเกินไป คือจริงๆแล้วเจ้าของค่ายต้องตั้งกฎว่า เด็กคนนี้เดือนหนึ่งจะชกได้ครั้งหรือ 2 ครั้ง ไม่สามารถจะไปชก4-5 ครั้งต่อเดือนได้
อย่างเด็กในค่ายเลยก็คือเต็มที่เลยจะขึ้นชกไม่เกิน 2 ครั้ง บางคนก็ 2 เดือนต่อ 1 ครั้ง คือจะไม่ให้เด็กขึ้นชกมากเกินไป เพราะว่าเราต้องถนอมร่ายกายเด็กเหมือนกัน”
ค่ายของนิ่มไม่เคยมีกรณีเสียชีวิต ร่างกายนักมวยทุกคนฟิตซ้อมมาดีมาก ถ้าหากไม่สบาย เด็กขี้เกียจซ้อม การฟิตซ้อมไม่ถึง นิ่มจะไม่ให้ขึ้นชกเด็ดขาด มันช่วยหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุได้
แน่นอนว่าในชีวิตจริง ใครๆ ก็ต่างโทษว่าการเสียชีวิตของเด็กที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของนักต่อสู้ ที่ใช้ความรุนแรงต่อคู่ของตัวเองมากเกินไป ซึ่งในทางกลับกันเธอให้คำตอบว่ามันเป็นกติกามวย ทุกคนต่างทำไปตามหน้าที่ของตนเอง
“ ไม่ได้เป็นความผิดของนักสู้นะคะ เพราะว่าเด็ก หรือคู่ต่อสู้เขาก็ทำตามหน้าที่ ถ้าเขาไม่น็อกผู้ต่อสู้ ผู้ต่อสู้ก็น็อกเขาเหมือนกัน แต่จริงๆ แล้วคือ อย่างแรกคือทางค่ายต้อง เรื่องฟิตซ้อมต้องให้ถึง
คือการเสียชีวิตคาสังเวียนก็ไม่เคยเห็น ก็เพิ่งจะมีเรื่องที่เกิดขึ้น เกิดจากการถูกน็อก ซึ่งเด็กบางคนก็หมดสติภายในประมาณแค่ 5 นาที เด็กก็ฟื้น”
สานมวยต่อ เพราะมีแรงบันดาลใจ
จุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้นุ่มนิ่มได้เข้ามาสนใจมวยแบบจริงจัง นอกเหนือจากที่คุณพ่อ เป็นเจ้าของค่ายแล้วนั้นคือ การที่ได้เห็นมวยที่ชกตามงานวัดตั้งแต่เด็ก ซึ่งทำให้เธอเกิดความประทับใจ และถูกซึมซับโดยไม่รู้ตัว ในที่สุดเธอก็ได้ปรับเข็มทิศชีวิตเดินเข้าสู่เส้นทางวงการมวยอย่างจริงจัง
นุ่มนิ่มผู้จัดการค่ายวัย 27 ปี บอกเล่าประสบการณ์ผ่านถ้อยคำที่มีความสุข และมีแววตาที่เห็นได้ว่า เธอรักกับสิ่งที่เลือก และเธอเองยังไม่อยากเชื่อว่าวันหนึ่งจะต้องมาทำหน้าที่ตรงนี้
“คุณพ่อนุ่มทำมาก่อนแล้ว 10 กว่าปีแล้วค่ะ ตอนเด็กๆ 10 กว่าขวบ นุ่มมีโอกาสได้ไปดูตามงานวัดอยู่แล้ว พอเริ่มโตเริ่มเป็นวัยรุ่นหน่อย เริ่มออกจากคุณพ่อไปก็อยู่กับเพื่อนมากกว่า พอโตขึ้นก็เริ่มกลับมาอยู่กับคุณพ่อ เริ่มสุงสิงกันเรื่องมวยมากขึ้น
ตอนที่คุณพ่อเป็นนักมวย เราไม่เคยตามไปเชียร์ เพราะตอนนั้นนุ่มยังไม่เกิดค่ะ พ่อเขาเป็นนักมวยตั้งแต่สมัยวัยหนุ่มแล้ว
นุ่มไม่เคยคิดว่าวันวันหนึ่งจะมาช่วยสานพ่อเลย เพราะเราเป็นผู้หญิง อย่างน้อยน่าจะไปทำอย่างอื่นมากกว่า อันนี้ก็เหมือนกลายเป็นอาชีพหลัก อาชีพหนึ่งที่ว่าเราต้องมาดูแลตลอด
เวทีแรกที่ไปคือ ตอนที่คุณพ่อเริ่มตั้งค่าย เอาญาติพี่น้องมาซ้อมมวย ครั้งแรกที่ไปดูเลยก็คือพี่ชาย(ญาติ)แถววัดปากบึง ร่มเกล้าค่ะ ที่ได้ไปดู
วินาทีที่ไปดูครั้งแรกมันจะตื่นเต้น ดีใจ ดูเวทีงานวัดก็ดีใจแล้ว มันครั้งแรกในชีวิตเรานะที่ได้ดูมวยได้แต่ความตื่นเต้น เพราะว่าเราเป็นเด็กค่ะ เราก็ไม่ได้คิดอะไร นุ่มรู้สึกว่าอยากดู อยากเห็น นุ่มเป็นเด็กคนหนึ่งที่ไม่เคยเห็นเวทีมวยเลย ก็ตื่นเต้น ชอบ แล้วยิ่งเราไปเชียร์ด้วยยิ่งสนุกค่ะ
นุ่มจำไม่ได้ว่าเขาแพ้หรือชนะ น่าจะแพ้ แต่ก็ไปยืนเชียร์อยู่ริมเวที ตะโกนเชียร์ สู้เว้ย สู้! (เล่าการไปเชียร์ครั้งแรกด้วยสีหน้ายิ้มแย้มมีความสุข)”
สาวบริหารคนเดิมมองว่า เสน่ห์มวยไทยคือนักมวยเขาใจสู้ พอชกกันแล้วมันทำให้เห็นว่า คนนี้สู้จริงๆ มันก็เป็นเสน่ห์ของแต่ละบุคคล และเธอไม่เคยคิดที่จะใช้เส้นคุณพ่อในการไต่เต้า เพราะทำสิ่งนี้เพราะรัก และชื่นชอบจริงๆ
“เรื่องโดนปรามาสไม่มีนะคะ เพราะนุ่มตามพ่อไปดูมวยไปตามงานวัดตลอด นุ่มก็ดูมวยของนุ่มเป็นปกติอยู่แล้ว คือนุ่มไม่ได้ออกหน้าอะไร ก็เหมือนเราไปตามเชียร์น้องๆ ในค่ายเฉยๆ ค่ะ”
ในค่ายทีเอ็นมวยไทยยิม มีสมาชิกนักมวย 11 คน ก็เคยผ่านเหตุการณ์หนักๆ มาเหมือนกัน จากการที่เคยทำอาชีพอื่นมาก่อน อยู่ๆ วันหนึ่งต้องขึ้นมาช่วยบริหารดูแลค่ายกับคุณพ่อ ก็พลิกชีวิตเธอไปเช่นกัน
“แล้วแต่ละวันที่มาค่าย จะมาดูนักมวยซ้อมค่ะ มาช่วยกันแก้เกม แล้วก็คุมนักมวยว่าวันนี้ทำอะไรบ้าง
พอมาทำตรงนี้ มันคนละอย่างกันเลย เราต้องมาดูแล ดูแลหลายๆคน ที่อยู่ในค่าย แล้วก็ดูแลทั้งเรื่องการการชกการซ้อมแล้วเรื่องของเวทีอีก มันไม่เหมือนกับการค้าขายอย่างอื่นที่เราต้องดูแค่หน้าร้านอะไรอย่างนี้ค่ะ”
ปราบเซียนมวย เพราะมีฝีมือ!!
การเข้ามาทำงานกับพ่อ มุมมองการทำงานระหว่างพ่อ และลูกย่อมจะแตกต่างกันเยอะ มีขัดแย้งกันเป็นประจำ ทั้งเรื่องการประกบมวย เรื่องของการแก้เกม แต่สุดท้ายก็ลงรอยกันอยู่ดี
“แตกต่างกันเยอะค่ะ ก็มีขัดแย้งกันเป็นประจำ (หัวเราะ) ทั้งเรื่องการประกบมวยด้วย เรื่องมีการเดิมพัน แล้วก็เรื่องการแก้เกม ก็มีเคลียร์กับคุณพ่อบ้าง สุดท้ายก็ลงรอยกันอยู่ดี
อย่างมวยประกบคู่ คุณพ่อจะมอง และอ่านว่าชนะ แต่ส่วนตัวนุ่มจะมองว่ายังสู้ไม่ได้ ก็มีการขัดแย้งอยู่เป็นประจำ บางทีเรื่องเดิมพัน จะมีการเถียงกันหน่อยว่า เราเดิมพันตรงนี้ เราเป็นรองอย่าไปเดิมพันนะ ส่วนคุณพ่อจะชอบเดิมพันให้ดูมีสีสันในวงการ”
หลังจากผู้บริหารสาวตัดสินใจเข้ามาช่วยบริหารค่ายดังกล่าว การเลือกใครเข้ามาในทีมก็ทำให้เธอรู้ว่าสำคัญเหมือนกัน จะต้องเข้าไปคัดเลือกจากงานภูธรต่างจังหวัดก่อน ซึ่งทางพ่อ และลุง เป็นคนไปดูด้วยตนเอง หากเข้าตา หรือเด็กสมัครใจ ก็จะชวนเข้ามาอยู่ในทีมด้วยกัน
“เวทีมวยมาตรฐาน คือเวทีราชดำเนิน และลุมพินี แต่เวทีอื่นเป็นเวทีตามต่างจังหวัดทั่วไป เป็นเวทีสำหรับนักมวยที่ยังชกไม่ถึง หรือความสามารถน้องยังไม่เข้าตาก็เลยไม่ได้ขึ้นชกในเวทีมาตรฐาน ซึ่งการเลือกใครขึ้นชกจะเป็นเรื่องของโปรโมเตอร์ โปรโมเตอร์จะมีหน้าที่เป็นคนจัดหาคู่ให้ที่สูสีที่สุด
ในส่วนของการเลือกนักมวยเข้ามามาอยู่ในค่าย จะไปเลือกที่ต่างจังหวัดก่อน นักมวยเขาชอบหรือเปล่า อยากมาอยู่กรุงเทพมั้ย แล้วก็ชวนเขาค่ะ ก็ดูว่านักมวยชกเข้าตาไหมด้วย"
บวกกับเบื้องลึก เบื้องหลังการที่จะนำนักมวยเข้าสู่เวทีมาตรฐานนั้นไม่ง่ายเลย จะต้องผ่านเจ้าของศึกก่อน ซึ่งเจ้าของศึกจะเป็นคนหาผู้ประกบคู่มาให้ทางค่าย
“ตอนนี้เวทีราชดำเนิน และลุมพินีนักมวยทางค่ายก็มีหลายคนแล้ว แต่เวทีภูธรก็มีหลายคนเหมือนกัน อย่างนักมวยคนนึงเราจะเอาเข้าเวทีใหญ่ เราก็ต้องไปขอเจ้าของศึกก่อนว่า ขอสู้ศึกนี้นะ เจ้าของศึกหรือโปรโมเตอร์จะเป็นคนหาผู้ประกบคู่มาให้เรา เขาจะโทร.แจ้งจะมีชกนะ มีคิวชกอะไรอย่างนี้ค่ะ
สำหรับทางค่ายของนุ่ม นุ่มได้คิวขึ้นชกไม่ยากนะ เพราะว่าโปรโมเตอร์ก็ดูแลดีค่ะ มีรายการให้ตลอด แมตช์ประทับใจ มันก็มีการขึ้นชกล่าสุดของ "สีแคว” ที่กระแสมาด้วย ประทับใจเพราะว่า เซียนมวยหลายคนก็ให้ฝั่งตรงข้ามเยอะ พอน้องขึ้นมาชนะก็เหมือนกับว่าเราหักปากกาเซียนหลายท่านเลย”
ความรู้สึกวินาทีหลังจากพลิกเกมคู่ต่อสู้ที่มีทีท่าว่าจะชนะนักมวยของเธอได้แล้ว ถึงแม้ว่าหน้าตาของนักบริหารสาวรายนี้ จะออกแนวเซ็กซี่น่าทะนุถนอม แต่ถ้าเป็นเรื่องดูมวยแล้ว นุ่มนิ่มไม่เป็นสองรองใครแน่นอน
“เราต้องรู้วิธีแก้ก่อน แก้มวย แก้อะไรก่อน เสร็จแล้วเราถึงจะดูออกว่า นักมวยเราจะแพ้ตรงนี้ จะแพ้ตรงนี้ เราต้องแก้ แล้วให้นักมวยขึ้นไปชก
อย่างสี่แคว ที่เป็นกระแสเลย ก็คือ เซียนมวย คือชื่อมวยเราเป็นรอง หน้าเสื่อเราเป็นรอง วันนั้นคือเราเป็นรองทุกอย่าง คือเปอร์เซ็นต์ที่จะชนะ มองดูว่าแค่ 20% เท่านั้น ที่เราจะสามารถจะชนะได้ แล้วขึ้นไป ณ บนเวที
เราเป็นรองเหมือนกับว่าตัวนักมวยของค่ายเราเกร็งด้วย แล้วก็ออกอาวุธได้ไม่ดีพอ พอยก 3 เราก็คุยกันแล้วว่า เฮ้ย แก้หน่อย แก้ตรงนี้หน่อย เดินต่อยหมัด เดินเตะหน่อย คือเราแก้ไปเรื่อยๆว่าตรงไหนมวยเราที่จะชนะ"
ต้องมองจุดอ่อนให้ออก ต้องคอยประสานกับเทรนเนอร์คนที่อยู่ข้างบนที่สามารถมองเกมออกได้ เพราะตัวนิ่มอยู่ข้างล่าง อาจจะมองไม่ออก คือเราต้องเชื่อใจกัน วิธีการสื่อสารก็คือการคุยโทรศัพท์ ซึ่งผู้บริหารรายเดิมจะต้องใส่หูฟังคุยตลอดเวลา เพื่อให้แก้เกมให้ทัน
“ของนุ่มจะมีคนเทรนอีกคนนึงที่อยู่ข้างบน สามารถมองมวยออกได้มากกว่า เพราะว่านุ่มอยู่ข้างล่าง บางทีมันมองไม่ชัดอยู่แล้ว ต้องเป็นคนที่อยู่ข้างบน ตอนนั้นเราต้องมีหูฟัง เราต้องฟังตลอดว่าต้องแก้เกมตรงไหน แล้วเราต้องเป็นคนอธิบายให้น้องฟังอีกที
คือเรามีหน้าที่ให้อีกคนช่วยดูด้วย แล้วเราต้องมากรองให้น้องฟังอีกที วันนั้นต้องคาหูตลอดเลย คาหูฟังทุกยกต่อยกเลยค่ะ ไม่มีการวาง เพราะว่า เราต้องฟังราคาด้วยว่าเราเป็นต่อ หรือเป็นรอง
จุดอ่อนก็คือน้องเขาจะยืนอยู่เฉยๆค่ะ แล้วมวยคู่ต่อสู้เขาเป็นมวยไวที่เดินเข้ามาหาเรา ต้องมีการวนซ้ายวนขวาเพื่อไม่ให้เขาออกหมัดต้องเรา คืออย่างน้อยหมัดไม่ตรง ไม่หนัก แล้วก็มีจุดที่ว่าเราต้องแก้ใช่ไหม เราก็ให้น้องวนซ้ายเตะซ้าย เราก็ต่อยหมัด ทำให้เรามีสิทธิ์นับน็อกค่ะ ถือว่าวันนั้นเป็นการหักปากกาเซียนหลายท่านเลย”
“มีแต่คนไทยที่ไม่ยอมรับมวยไทยด้วยกันเอง”
การเป็นผู้หญิงที่หันมาทำค่ายมวย ไม่ใช่เพียงแค่ต้องดูแลนักมวย 11ชีวิต แต่ต้องดูครอบครัว รวมถึงญาติของตนเองด้วย แน่นอนต้องถูกครหาว่าชีวิตแสนสบาย เพราะมีกิจการเป็นของตนเอง และพ่อช่วย
“ถามว่าตอนนี้มีคนกดดันนุ่มไหม ไม่มีใครกดดันนะ แล้วก็ไม่กดดันอะไรเลย เราทำมวย แค่เรารู้ว่าเราชอบ เราตั้งใจทำ ดูแลให้มันถึงที่สุดค่ะ มันก็ไม่มีอะไรกดดันเราแล้ว ถึงแม้ว่ามวยอาจจะแพ้ แต่ว่าแพ้แบบที่เรามีการฟิตซ้อมมาอย่างดีแล้ว แต่ว่าแพ้ทาง ก็ไม่เป็นไร
จุดเด่นของค่าย ก็น่าจะเป็นตัวนุ่มเองที่เป็นผู้หญิง เป็นผู้หญิงที่เข้ามาดูแล แต่ชีวิตนุ่มดิ้นรนเยอะค่ะ ต้องดิ้นรน นิ่มต้องดูแลหลายๆ ชีวิต
บางทีเราไม่ได้ดูแลแค่นักมวย ญาติพี่น้อง บางทีเราก็ช่วยเหลือคนอื่น เพราะเราเองก็เป็นคนชอบช่วยเหลือคนอื่น ก็อยากให้ญาติพี่น้องมาทำนู่นทำนี่ ช่วยเหลือกันอะไรอย่างนี้ค่ะ ก็ต้องแบ่งปันอะไรกันบ้างค่ะ บางทีก็ช่วยเหลือ หางานให้เขาทำบ้าง
คือยิ่งเรามาทำตรงนี้ แล้วยิ่งมีกระแส หนึ่งเลยทุกอย่างต้องดีกว่าเดิม อะไรที่มันแย่อะไรที่ไม่ดีเราต้องปรับปรุงให้คนที่เขาคิด ยังมองไม่เห็นว่าเราทำได้ เราก็ต้องทำผลงานของเราให้ดียิ่งขึ้นค่ะ”
และในฐานะที่นุ่มนิ่มเป็นผู้หญิง เธอมองการที่เข้ามาแวดวงมวยเป็นสิ่งที่ดี ทำให้ผู้หญิงมีบทบาทมากยิ่งขึ้น และเปลี่ยนความคิดใครหลายคนเช่นกันว่าสิ่งเหล่านี้ผู้ชายทำไม่ได้
“ก็มองเป็นจุดดีนะคะ มันแสดงให้เห็นว่าผู้หญิง เราก็แข็งแกร็ง ทำให้ผู้หญิงมีบทบาทในความที่แบบ มวยคนส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นของผู้ชายอยู่แล้ว ก็ทำให้เห็นว่าอย่างน้อยผู้หญิงที่เข้ามาในจุดนี้ได้ไม่ได้แพ้ผู้ชายเลย
การเป็นผู้หญิงมันช่วยให้เรา มีการนอบน้อมต่อผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จะมีความเอ็นดูว่าเราเป็นเด็กนะ คือผู้หญิงจะมีความอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่แล้วค่ะ จะคุยกันง่ายขึ้น”
ด้วยความที่เธอมีความผูกพันกับมวยไทยมาตั้งแต่ยังเด็ก ดังนั้นเธออยากให้มวยไทยถูกพัฒนา และมีชาวต่างชาติยอมรับ และเข้าสู่มวยระดับโลกมากกว่านี้
“ถ้าพ.ร.บ. มวยไทย2542 อายุ 12 ไม่อนุญาต(ไม่ผ่านการอนุมัติ) มวยไทยจะได้ไปต่ออยู่แล้วค่ะ เพราะมันเป็นมรดกของโลก เพราะตอนนี้กระแสนักมวยกำลังมาดี” หญิงสาวสุดเซ็กซี่วัย 27 นั่งนึกคิดกับคำตอบถึงการมองอนาคตวงการมวยไทยก่อนที่เอ่ยออกมาว่า ตอนนี้มวยมีกระแสที่ดี มวยไทยจะยืนอยู่ต่อได้ เมื่อมีคนคอยสืบทอด ถ้าไม่มีการแก้ไขพ.ร.บมวยไทย ฉบับนี้ นิ่มเชื่อว่ามวยไทยได้ไปต่ออีกยาวไกลอีกแน่นอน
“นุ่มคิดว่าเรียนที่อื่นก็ไม่เหมือนกันแน่นอน ชาติที่เข้ามาประเทศไทย ส่วนมากก็อยากเรียนมวยไทย เขาดีใจนะคะ ที่ได้ชกกับคนไทย เขามีความภูมิใจมากอย่างน้อยได้ต่อยกับต้นกำเนิดของมวยไทยค่ะ
มันเป็นศิลปะมวยไทยอย่างหนึ่ง ที่ต่างชาติยอมรับเลยว่า ศิลปะมวยไทยคืออันดับ 1 อย่างเมืองนอกเขาจะมีทีมฟุตบอลของเขา แต่ของเราคือแน่นอนเลยว่าคิดถึงเมืองไทยอันดับแรก ก็ถ้ามาเหมือนกับว่า มาตัดศิลปะมวยประเทศไทยเนี่ยต้องบอกเลยว่าแย่มาก
อย่างน้อยเป็นเกียรติประวัติของเขา ว่าเขาได้ซ้อมที่ไทยกับคนไทยจริงๆ มีชาวต่างชาติยอมรับเกี่ยวกับมวยไทยเยอะนะ มีแต่คนไทยที่ไม่ยอมรับมวยไทยด้วยกันเอง”
เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ เพื่อค่ายมวย
“นุ่มเคยถามนักมวยแล้ว กองเชียร์สำคัญไหม เขาบอกกับนุ่มว่าสำคัญมาก แรงจะหมดๆ พอกองเชียร์ยังเชื่อมั่นในตัวเขาอยู่ มันทำให้เขามีกำลังค่ะ”
จริงอย่างที่ใครเคยกล่าวไว้ว่า คนเราจะเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ และสู้ต่อได้นั้นต้องมีกำลังใจที่ดี เธอเป็นหนึ่งอีกหลายคนที่แสดงให้เห็นว่าไม่มีอะไรที่ผู้หญิงทำไม่ได้ ถ้าจะทำ
“คิดว่ากำลังใจสำคัญเลยค่ะ กองเชียร์อะค่ะ อย่างน้อยจะหมดแรงแล้ว กองเชียร์เราดังขึ้นเมื่อไหร่ มันก็ทำให้มีแรงฮึบสู้เมื่อนั้น
คือก่อนที่จะขึ้นชก นุ่มจะเดินไปหาน้องๆอยู่แล้ว จะบอกกับเขาว่าสู้นะแพ้ชนะเป็นเกมกีฬาแต่ขอให้น้องสู้ สู้ให้ถึงที่สุดสู้ได้สูสี อย่าให้คนอื่นมองว่าเราบอกว่าเราขาด หรือคนละเบอร์ค่ะ
ก็มีการกอด โอบน้อง ตอนชกสนามบ้าง หรือแท็กกันตอนขึ้นชกบ้างเพื่อให้น้องมีกำลังใจ เพราะน้องๆเขาซ้อมมาก็หนักด้วย นุ่มจะเป็นห่วงตรงนี้”
เธอยอมรับว่าเธอจะให้ความสำคัญกับน้องๆ ในค่ายแบบครอบครัว ทุกคนจะสนิทสนมกันหมด มีปัญหาต่างๆจะเข้ามาปรึกษาเธอได้ทุกเรื่อง
“กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญมากๆค่ะ พอเด็กไม่มีกำลังใจ อย่างแรกเลยเด็กก็ไม่มีจิตใจอยากซ้อมแล้วค่ะ เราก็มีทั้งกำลังใจ และก็ใช้จิตวิทยาบ้าง”
โดยจิตวิทยาที่เธอมักจะใช้กับนักมวยเมื่อไม่มีกำลังใจ คือ การคุยกับน้องๆก่อน แล้วก็มีการให้กำลังใจบอกให้เขาสู้ พยายามบอกเขาว่าสิ่งที่ทำนั้นต่อไปจะเป็นอย่างไร
“นักมวยอย่างแรกต้องมีกำลังใจก่อน บางทีนักมวยซ้อมหนัก แล้วก็นักมวยเขาห่างพ่อ ห่างแม่ค่ะ อย่างมีคนมีลูกแล้วก็ห่างลูก ห่างเมีย เราก็ให้กำลังใจให้ไปชกให้เต็มที่ ก็ถ้าหากอยากดัง อยากมีอนาคต ไวๆ ก็ตั้งใจซ้อม
วิธีพูดหรือกระตุ้น.ให้น้องๆ มีแรงที่ซ้อม ก็มีกลยุทธ์เล่นกับเขาค่ะ อย่างแรกเลย การซ้อมจะต้องดูไม่น่าเบื่อถ้าน่าเบื่อเมื่อไหร่น่าเบื่อปุ๊บ เด็กในค่ายก็จะมีความขี้เกียจเราก็ต้องมีการไปคุยให้เป็นสีสัน หรือมีการยอเด็กบ้าง เด็กก็จะมีการฮึกเหิมในการซ้อม ซึ่ง เด็กที่อยู่ในค่าย เขาก็มีความฝันอยากเป็นแชมป์อยากมีเงินสร้างอนาคตก็จะพยายามให้เขาชกให้ดีชกให้เก่งแล้วให้รีบเก็บค่ะ”
การอยู่ในวงการมวยต้องโชว์ผลงานให้มากที่สุด ต้องดูแลตัวนักมวย รวมไปถึงต้องให้เวลาแก่ตัวนักมวยมากกว่าเดิม นุ่มนิ่ม ผู้จัดการค่ายมวยสุดแซ่บ ย้อนกลับไปมอง ทุกวันนี้เวลาของเธอคือการได้ดูแลค่ายมวย และเธอก็มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนว่า จะปลุกปั้น และทำความฝันของเด็กๆ และพ่อโดยเป็นนักมวยเงินแสนให้ได้
“เป้าหมายของค่ายก็คือเราหวังว่าจะมีแชมป์ระดับมาตรฐานทั่วไป นิ่มวางไว้ว่านักมวยค่ายของเราจะมีค่าตัวระดับหลักแสนไม่มากก็น้อย ซึ่งถ้าไปถึงตรงจุดนั้นได้เราก็พอใจแล้ว
ถ้าเป็นช่วงเวลาของค่ายมวย ที่บ้านจะรู้กันอยู่แล้วค่ะว่า ช่วงประมาณ16.00-20.00น.ไปนุ่มจะไม่มีเวลาแล้ว นุ่มจะอยู่แต่ในค่ายมวย ถ้านอกนั้น ก็เที่ยวได้อะไรได้หมดเลย แต่ถามว่าทุกวันนี้เที่ยวเหมือนเมื่อก่อนไหม นุ่มไม่เที่ยวแบบเมื่อก่อนแล้ว
คือสมัยก่อนจะเที่ยวค่ะ แต่ถ้าเป็นสมัยนี้พอโตขึ้น หรือมาดูนักมวยก็ไม่ค่อยได้เที่ยวแล้ว ปกติก็ถ้ามีปาร์ตี้สังสรรค์กับเพื่อนฝูง ก็เต็มที่นะคะ ถ้าหากซ้อมมวย คุมนักมวยเสร็จ ก็ประมาณ4ทุ่ม จะเป็นเวลาส่วนตัว ทุกวันนี้มีเวลานุ่มก็ทุ่มให้กับมวยเป็นหลัก”
“บน”ช่วยได้ใครว่า “ดวง” ไม่สำคัญ นิ่มชอบไปทำบุญมากค่ะ วันไหนนักมวยจะขึ้นชก จะมีการบนเอาไว้บ้าง เราก็ไปขอพรบ้าง นุ่มว่าดวงเป็นสิ่งสำคัญนะ วัดที่ไปทำบุญเป็นวัดแถวบ้านนั่นแหละค่ะ แล้วนิ่มก็ให้นักมวยไปบนด้วยกัน ถ้าสำเร็จ ส่วนมากการบนของนิ่ม และน้องๆในค่ายคือจะวิ่ง 9 รอบเป็นการวิ่งรอบโบสถ์ ก็สำเร็จทุกครั้งนะคะ เหมือนเป็นสิ่งที่พึ่งทางใจมากกว่าค่ะ |
บริหารด้วยใจ มอบ “ทริป”เป็นของขวัญนักมวย เดือนหนึ่งถ้านักมวยทั้ง 11 คน ประสบความสำเร็จมากกว่าแพ้ ตัวเด่นๆของค่ายชกชนะนิ่มจะพาไปเที่ยว นิ่มจะพาเด็กๆไปเที่ยวต่างจังหวัด เป็นช่วงเวลาพักผ่อน นักมวยก็ว่ายน้ำกันอย่างสนุก มันเป็นความทรงจำที่ดี ก็รู้อยู่ว่าการซ้อมมวยมันเหนื่อยมาก บางทีเหนื่อยกว่าการขายของตั้งเยอะ เวลาวันนึงนักมวยชกชนะปุ๊บ เราก็จะพานักมวยไปสังสรรค์กันตามต่างจังหวัดค่ะ ก็มีความสุขมากๆเป็นช่วงเวลาที่ได้relaxกัน ก็ถือเป็นการอัดฉีดให้แก่ๆน้องในค่ายค่ะ |
จาก “สาวห้าว” เป็น “สาวเปรี้ยว” เมื่อก่อนนุ่มห้าวมาก แตกต่างกับตอนนี้เลย เพื่อนมักเรียกว่านักมวย บางทีตอนไปเรียนเขาก็เรียกเราเป็นทอมนะ เรียกแบบนี้ ตั้งแต่เด็ก ม.1ม.2แล้ว กลายเป็นฉายานักมวยไปเลย แต่จริงๆ เราไม่ได้เป็นนักมวยหรอก นุ่มมีแฟนแล้วค่ะ แฟนนุ่มเข้าใจดีค่ะ ไม่มีการหึงหวง บางทีเขาก็เข้ามาอยู่ในค่าย ก็มานั่งดูนักมวยกับนุ่ม ก่อนที่จะมาอยู่ในนักมวยรุ่นนี้ นุ่มเคยอยู่กับนักมวยรุ่นก่อนมาแล้ว คือกินนอนเล่นกับเด็กผู้ชายอยู่แล้วคือเกิดมาแทบจะไม่มีเพื่อนผู้หญิงก็มีแต่ผู้ชาย พอแฟนเข้ามา เขาก็เห็นว่าเราอยู่แบบนี้ อยู่กับผู้ชายอยู่แล้ว เขาก็ไม่ได้อะไรอะค่ะ |
“ศัลยกรรม”ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย นุ่มยอมรับว่านุ่มทำศัลยกรรมค่ะ ก็เลยชกมวยไม่ได้ นุ่มคิดว่า เดี๋ยวนี้ศัลยกรรมมันก็ไม่ได้ดูว่ารุนแรงเท่าไหร่ ก็มีคนยอมรับเยอะขึ้น นุ่มก็ไม่รู้กันว่าความสวยจะเป็นกำลังใจให้น้องๆมีกำลังใจ แต่เราจะอยู่กันแบบพี่แบบน้อง อย่างในค่าย นุ่นเป็นผู้หญิง เด็กในค่ายเราจะดูห่างเหินใช่มั้ยคะ แต่สำหรับน้องในค่าย มีอะไรก็บอกเราตลอด คือจะเจ็บจะป่วย หรือจะอะไรอย่างนี้ ก็คือเหมือนเด็กผูกพันใกล้ชิดกับเรา กล้าพูดกับเรามากกว่า บางทีเด็กกล้าบอกมากกว่าตัวคุณพ่ออีก ถามว่าเราต่อยมวยเป็นไหม เมื่อก่อนเราก็ซ้อมกับน้องๆค่ะ ก็รู้เทคนิคค่ะ เพราะว่าเราผูกพันมาตั้งแต่เด็กค่ะ ก็จะเห็นอาจารย์สอนมวย จะรู้ว่าเขาสอนยังไง นิ่มเป็นเด็กที่ชอบรู้อยู่แล้ว เราก็ไปอยู่ใกล้ๆ ซึมซับอะค่ะ ก็เคยมีคนบอกนะคะว่านิ่มเข้งหนัก (หัวเราะ) |
สัมภาาณ์โดย MGR Live
เรื่อง: ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ภาพ: ปัญญพัฒน์ เข็มราช
ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก “ฉ่ำเบ่อะ”
ขอบคุณสถานที่: "T.N.มวยไทยยิม"
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **