ครูสังคมกับ “การบูรณาองค์ความรู้และการจัดการเรียนการสอนเชิงรุก (Active Learning ) สำหรับผู้เรียนสังคมศึกษา แห่งศตวรรษที่21” ภายใต้การเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของสังคมยุคดิจิทัล “ครู” จึงต้องเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของประเทศและโลกในการศึกษายุค thailand 4.0
“วิธีการสอนที่ให้เท่าทันโลกปัจจุบัน ควรจะเชื่อมโยงกับการใช้เทคโนโลยีและสื่อการเรียนการสอนให้มากขึ้น ยิ่งสื่อปัจจุบันหาง่ายมาก ดังนั้นเมื่อสื่อหาง่ายมาก โรงเรียนก็ควรจะสนับสนุนให้ครูได้ใช้สื่ออย่างสะดวกขึ้น จะทำให้ครูจัดการเรียนรู้ต่างๆ ได้ง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
นี่คือคำพูด อ.นำโชค อุ่นเวียง ครูสังคมศึกษา โรงเรียนเตรีมอุดมศึกษา ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว MGR Live ไว้หลังงาน “สัมนาวิชาการเชิงปฎิบัติการ การบูรณาองค์ความรู้และการจัดการเรียนการสอนเชิงรุก (Active Learning ) สำหรับผู้เรียนสังคมศึกษา แห่งศตวรรษที่21” โดยอาจารย์เล่าว่าครูสังคมยุคใหม่ต้องคอยปรับเทคนิคการสอนให้ทันต่อสถานการณ์โลก เปิดรับแนวความรู้สร้างทักษะไปกับกิจกรรม Workshop
“ส่วนใหญ่การบูรณาการเป็นการบูรณาการเรื่องที่มันใกล้ตัวมากๆ เช่นข่าว อย่างปัจจุบันนี้หาข่าวหรือหาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นค่อนข้างเยอะมาก การที่นำเรื่องใกล้ตัวมาสอนทำให้การเรียนรู้ของเด็กมีความหมายมากขึ้น เด็กก็จะเกิดความเข้าใจ เด็กจะรู้สึกว่าเรียนไปแล้วมันคือเรื่องที่ใกล้ตัวมากๆ อย่างเวลาพูดถึงเรื่องเศรษฐศาสตร์ทำไมสินค้าแพง และการที่สินค้าถูกเกินไป สินค้าแพงเกินไปส่งผลอะไรบ้าง สุดท้ายแล้วเด็กก็จะเห็น
ดังนั้นเราต้องพยายามศึกษาว่ามีแอพอะไรใหม่ๆ มีเกมส์อะไรใหม่ๆ เกี่ยวกับการศึกษาที่นำมาใช้ในห้องเรียนแล้ว ทำให้เด็กเกิดการอยากเรียน ถ้าคาบแรกเราเริ่มจากการใช้สิ่งอะไรแปลกใหม่เหล่านี้ เด็กก็จะรู้สึกว่า คาบต่อไปครูจะมีอะไรใหม่ๆ มาเล่น ก็จะทำให้เด็กเกิดความอยากจะเรียนรู้ในคาบต่อๆ ไป”
นอกจากนี้อาจารย์ท่านนี้ยังฝากถึงครูทั่วประเทศอีกว่า เชื่อมั่นว่าครูยุคใหม่ๆ เป็นคุณครูที่มีความสามารถอยู่แล้วอยากให้มีพลังใจในการทำงานครูต่อไป อย่าเพิ่งท้อถอยขอให้ใช้รอยยิ้มใช้เสียงหัวเราะของเด็กเป็นกำลังใจในการทำงานของครูต่อไป และสร้างให้เขาเป็นคนดีของสังคมในอนาคตต่อไป
ไม่เพียงเท่านี้ อ.ภาสุดา ภาคาผล อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศึกษา ภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวของเราไว้ว่า การใช้เรื่องใกล้ตัวเป็นสื่อในการเรียนการสอนเป็นเรื่องที่ดีมาก เด็กจะเข้าใจในทันทีเพราะว่าเด็กเคยผ่านเรื่องเหล่านี้มาแล้ว
“จริงๆ การใช้ข่าวใช้เหตุผลเป็นสื่อกลางเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะเขาจะเห็นความสำคัญ เพราะบางครั้งเราสอนทบทวนเนื้อหาไป เด็กก็จะคิดว่าเรียนไปท่องจำไปเพื่อสอบอย่างเดียว แต่ถ้าเมื่อไหร่เราหลีกประเด็นทางสังคม หลีกประเด็นทางชีวิตประจำวันของเขาขึ้นมา เขาจะเห็นทันทีว่าเรื่องที่เขาเรียนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเขา
ดังนั้นเขาจำเป็นต้องรู้ อย่างเช่นยกตัวอย่างไปว่า ถ้ารื่องกลไกลราคาเด็กก็เริ่มสงสัยว่าทำไมต้องกลไกลราคา หรือแม้แต่บอกว่ากฎของอุปสงค์กฎของอุปทานคืออะไร เด็กก็จะคิดแล้วว่าทำไมต้องท่อง แต่ถ้าเรายกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนทำไมต้องซื้อมะม่วงหน้านี้ทำไมต้องซื้อแอร์หน้านี้ ทำไมช่วงฝนตกราคาสิ่งเหล่านี้ถึงเพิ่มขึ้น เด็กจะเข้าใจในทันที
เอาง่ายๆ มือถือเป็นอุปกรณ์ที่สามารถใช้ในการค้นหาข้อมูลได้ และเด็กก็จะได้รู้ข้อมูลที่หลากหลาย แต่หนึ่งอย่างที่เราจะต้องบอกเด็กนักเรียนว่าในเมื่อมันมีข้อมูลที่หลากหลายมากมาย การรู้เท่าทันสื่อ การคัดกรองข้อมูลต่างๆ เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น ดังนั้นครูก็ยังเป็นคนที่คอยให้คำแนะนำหรือว่าคอยกระตุ้น”
นอกจากนี้อาจารย์ท่านนี้ยังย้ำอีกว่า ธรรมชาติของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน บริททของโรงเรียนก็ไม่เหมือนกัน โรงเรียนอยู่ในเมือง โรงเรียนอยู่ต่างอำเภอ หรือโรงเรียนที่อยู่ตะเข็บชายแดน บริบทการจัดการเรียนการสอนก็แตกต่างกันไป ที่สำคัญเราก็ต้องดูเด็กนักเรียนว่าสามารถรับรู้ข้อมูลได้แบบไหน
นี่เป็นความคิดเห็นของอาจารย์ทั้งสองท่าน ที่ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับทีมข่าวของเรา ซึ่งมีบริษัทอักษรเอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) และอักษรเจริญทัศน์ร่วมด้วยมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ (ประสานมิตร) เป็นผู้จัดงานในครั้งนี้
โดยมีครูจากทั่วประเทศมาร่วมงานในครั้งนี้ เพราะครูมีส่วนที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนและพัฒนาการจัดระบบการเรียนการสอนที่จะเป็นแนวทางไปสู่การยกระดับแนวทางการศึกษาเพิ่มขีดความสามรถกับนานาประเทศและสอดคล้องกับประเทศไทยในยุค 4.0 เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม
เช่นนี้เอง“ครู” จึงต้องเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน รวมถึงเทคโนโลยีเพื่อแสดงความเป็นมืออาชีพ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของประเทศและโลกในการศึกษายุค thailand 4.0
ภายใต้การเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของสังคมยุคดิจิทัล การเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ กับการพัฒนาทักษะการคิดในชีวิตประจำวันของผู้เรียนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ