xs
xsm
sm
md
lg

ใครว่า “ข้อสอบหิน” สร้างดอกเตอร์!? เด็กไทยเรียนยากเวอร์ สงสาร “เหยื่อวัยเยาว์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรณีข้อสอบเด็กที่ทำให้งงตาแตกกันทั้งประเทศ ล่าสุดสังคมออกมาขุดยับพร้อมต่อว่าระบบการศึกษาของไทยนับวันยิ่งถอยหลังลงคลอง แม้แต่ผู้ใหญ่เองยังงง นับประสาอะไรกับเด็ก ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาสับเละระบบการศึกษาไทยล้มเหลวทั้งระบบ

สร้างจินตนาการหรือสร้างความกดดัน!!

ใครไปที่คูนา? ถกกันสนั่นจนได้คำตอบคือ “อีกา” ไปที่คูนา เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในตอนนี้เป็นอย่างมาก แต่อีกหนึ่งประเด็นที่สังคมตั้งคำถาม โดยอ้างว่าข้อสอบช่วยกระตุ้นจินตนาการ ช่วยพัฒนาด้านการเรียนรู้ คนส่วนใหญ่ก็ตั้งคำถามอีกว่าข้อสอบเหล่านี้จะดีต่อเด็กจริงหรือ แล้วจะสร้างให้เด็กจบออกไปเป็นดอกเตอร์ได้จริงหรือ


นอกจากนี้เพจ “ครูนอกกรอบ” ยังได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้ว่าจะปั้นเด็ก ป.1 ให้เป็นดอกเตอร์หรืออย่างไรที่ยัดเยียดความเครียดให้พวกเขาตั้งแต่เด็ก อีกทั้งเป็นคำถามที่ยากเกินไป ไม่เหมาะแก่วัย

“ข้อสอบเด็ก ป.1 ถามหน่อยสิครับ คุณจะปั้นเด็ก ป.1 ให้เป็น ดร.เหรอครับ ยัดเยียดความเครียดให้พวกเขาตั้งแต่เด็กเลย พอพวกเขาคิดไม่ได้ เด็กบางคนท้อ แถมตีตราตัวเองว่าโง่บ้าง แอลดีบ้าง แล้วหยุดเรียน หยุดพัฒนาไปดื้อๆ #ไม่ได้ศึกษาเรื่องพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กเลย #จิตวิทยาเรียนมาเพื่ออะไร #เด็กป.1นะครับ #เรียนแล้วเครียด”

ทั้งนี้ ครูลิลลี่-กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์ ครูสอนวิชาภาษาไทยชื่อดัง ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อไว้ว่า ข้อสอบดังกล่าวนั้นจะเห็นได้ว่า ปูอยู่ในรูที่อยู่ในคูนา เมื่องูกำลังดูอีกาที่กำลังจะไปที่รูปู ก็เท่ากับว่าคำตอบคือ “อีกากำลังไปที่คูนา”

“ข้อสอบดังกล่าว เป็นการพิมพ์เว้นคำ เพื่อให้คุณครูใช้เป็นสคริปต์อ่านแบบแบ่งวรรค เป็นประโยคสั้นๆ ให้เด็กเข้าใจง่าย เพราะเขาจะไม่เหมือนผู้ใหญ่ที่สามารถฟังและตีความจากประโยคยาวได้ แต่ก็เป็นข้อสอบที่ค่อนข้างยากสำหรับเด็ก เพราะต้องมีการใช้เชาว์และไหวพริบในการแยกออกมาว่า ในรูที่อยู่ในคันนานั้นจะมีปูอยู่ด้วย แต่หากเป็นข้อสอบที่ทำเพื่อให้เด็กๆ เป็นผู้อ่าน แล้วตอบคำถามด้วยตัวเอง อันนี้ครูก็มองว่าออกข้อสอบยากเกินไป ส่วนเรื่องคำว่าว่า “คูนา” นั้น ครูก็ไม่เคยพบ แต่จากบริบทก็เข้าใจได้ว่าอาจจะหมายถึงคันนา”

ครูลิลลี่ยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า เบื้องต้นเราต้องเข้าใจก่อนว่าด้วยช่วงวัยของเด็กๆ ในชั้น ป.1 นั้นอาจจะยังไมาสามารถอ่านหนังสือออกทุกคน บางคนก็อ่านออกในช่วงเทอม 2 หรือขึ้นชั้น ป.2 ฉะนั้นข้อสอบโดยส่วนใหญ่จะเป็นการให้คุณครูเป็นผู้อ่านข้อสอบให้เด็กๆ ตอบ ซึ่งประโยคโดยทั่วไปก็จะประกอบด้วย ประธาน กิริยา กรรม แบบง่ายๆ

ด้าน ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์มองว่า คำถามดังกล่าว หากเป็นแบบฝึกหัด ข้อสอบเก็บคะแนน หรือเป็นข้อสอบปลายภาค ส่วนตัวมองว่ายากเกินไป สำหรับข้อสอบเด็ก ป.1 หากคำถามดังกล่าวเป็นข้อสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียน ตนเองมองว่าไม่แปลก เพราะโรงเรียนอาจจะต้องการคัดกรองเด็กที่เก่ง ทำข้อสอบเชิงวิเคราะห์ได้ ซึ่งการออกข้อสอบเข้าโรงเรียน อยู่ที่ดุลยพินิจของโรงเรียนนั้นๆ แต่ข้อสอบข้อยาก อาจจะผสมอยู่กับข้อที่ง่ายก็ได้

ไม่เพียงเท่านี้ ยังเคยมีเคสดรามาลักษณะนี้ในโจทย์วิชาคณิตศาสตร์ของเด็ก ป.1 เรื่องของโจ้-จอยเก็บมะม่วงที่ว่าด้วยเรื่องบวกลบ โดยโจย์ทถามว่า จอยเก็บมะม่วงได้ 12 ผล โจ้เก็บมะม่วงได้มากกว่าจอย 8 ผล โจ้เก็บมะม่วงได้กี่ผล ซึ่งเด็กตอบโจ้เก็บมะม่วงได้ 20 ผล ครูกลับตรวจว่าผิดแก้คอตอบเป็น 4 ผล ครั้งนั้นก็ทำให้ถกกันสนั่นเช่นกัน ก่อนที่ครูจะออกมาขอโทษและยอมรับว่าคำคอบของเด็กถูกต้องแล้ว เป็นครูเองที่เฉลยผิด


และบรรทัดต่อจากนี้คือความคิดเห็นของสังคมที่ออกมาแสดงความคิดเห็นไปต่างๆ นานา ว่าเป็นโจทย์ที่ยากไป อาจทำให้เด็กเครียด ซึ่งเป็นการสร้างจินตนาการหรือช่วยเพิ่มความกดดันกันแน่ และยังสะท้อนถึงความถอยหลังของระบบการศึกษาไทย

“มันคือกับดักทางการศึกษาที่ให้เด็กคิดแต่ในกรอบ พอเด็กใช้จิตตนาการนอกกรอบกลับตอบถูกจากปัญหาเชาว์ที่ดักไว้ ดังนั้นที่ผิดไม่ใช่เด็ก ไม่ใช่คนออกโจทย์นี้ มันไม่ยากแต่ที่ผิดคือระบบของการศึกษาของเมืองไทยที่สอนให้คิดในกรอบ”

“นี่แหละการศึกษาไทย นักวิชาการวาดวิมานในอากาศว่าเป็นไปอย่างที่คิด ทั้งที่ภาพจริงไม่ใช่อย่างนั้น หลักสูตรและเนื้อที่นำมาปรับใช้กับเด็กได้จริงๆ น้อยมากเพราะระดับของเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน กระทรวงก็นั่งคิดกันเข้าไป”

“ถ้าเรียนแล้วเครียดตั้งแต่เด็กโดยการยัดเยียดสาระเนื้อหามากจนเกินไปให้กับเด็กวัยที่กำลังสนุกกับการเล่น อาจจะส่งผลต่อเจตคติในการเรียนรู้ของเด็กๆในอนาคตก็เป็นได้ ใครตอบได้ไม่ได้ ไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือ นี่คือคำถามเด็ก ป.1 ซึ่งเด็ก ป.1 บางคนยังอ่านหนังสือไม่แตกฉานเลยนี่ยังจะให้วิเคราะห์อีก จะเอาแต่ไอคิว อีคิวดันไม่มีสงสารเด็กน้อยมาก”

สร้างเด็กเป็น “นักสอบ” ไม่ใช่ “นักเรียนรู้

เมื่อการศึกษาไทยยังใช้การสอบเป็นตัววัดและประเมินผลทางการศึกษา ทีมข่าว MGR Live จึงติดต่อไปสอบถาม อ.กรองทอง บุญประครอง ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ในฐานะที่คลุกคลีเกี่ยวกับเด็กและแวดวงการศึกษามาอย่างยาวนาน จึงได้ช่วยสะท้อนมาว่าระบบการศึกษาไทยผิดไปทั้งระบบ

“คำว่าทั้งระบบคือ คนที่จัดกาเรียนการสอน คนที่คิดจะวัดผล คนที่จะสอบ คนที่ออกข้อสอบ ทั้งนี้คนที่ออกข้อสอบก็ไม่ใช่คนที่เข้าใจเด็ก ฉะนั้นข้อสอบสะท้อนชัดเจนว่าคนออกข้อสอบไม่ได้เข้าใจพัฒนาการเด็กแล้วคุณจะมาวัดเด็กได้อย่างไร เพราะว่าหลักการของปฐมวัยหรือเด็กอนุบาลบอกไว้ชัดเจนว่า วิธีประเมินเด็กที่ดีที่สุดคือสังเกตจดบันทึก และประเมินเพื่อเอาข้อมูลนั้นมาพัฒนาเด็ก จึงไม่อนุญาตให้สอบ

การสอบยังสะท้อนว่าไม่มีความรู้ที่แม่นยำทางวิชาการ ยิ่งถ้าเป็นโรงเรียนที่มีคณะครุศาสตร์หรือคณะศึกษาศาสตร์อยู่ในมหาวิทยาลัยแล้วยังฝืนสอบอยู่แสดงว่าไม่เข้าใจปรัชญาวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย ไม่เข้าใจหลักปรัชญาของเด็กปฐมวัย ไม่เข้าใจหลักจิตวิทยาพัฒนาการ เพราะทุกอย่างที่กำลังทำขัดแย้งกันทั้งหมด ถามกลับไปว่าแล้วจะสอนนิสิตนักศึกษาของคุณให้ออกมาเป็นครูที่ดีได้อย่างไรเพราะว่าคุณยังเป็นต้นแบบของการทำที่ขัดแย้งกับหลักทฤษฎี

และต้องกลับมาดูว่าแค่กระบวนการคิดจะสอบก็ผิดแล้ว ถ้าคุณเชื่อว่าการสอบวัดเด็ก 5 ขวบครึ่งได้ผิดแน่นอน แสดงว่าคุณยังไม่เข้าใจเด็กปฐมวัย ถ้าไม่เข้าใจเด็กปฐมวัยแล้วคุณจะไปสอนต่อยอดให้เขาได้อย่างไรแล้วคุณก็ยังไม่ได้ประเมินตัวเองด้วยว่าสิ่งที่คุณกำลังทำส่งผลกระทบไปต่อเด็กที่คุณอยากได้ เราเตรียมเด็กเพื่อเป็นนักสอบไม่ใช่นักเรียนรู้”

ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษายังเสริมอีกว่า ข้อสอบเหล่านั้นที่นำมาให้เด็กสอบไม่ได้ช่วยสร้างจินตนาการเด็กเพิ่มขึ้นแม้แต่นิดเดียว กลับกันยิ่งสร้างความกดดัน ความเครียดให้เด็ก

“ในที่สุดพ่อแม่ก็จะเตรียมความพร้อมลูกด้วยการพาไปติวก่อน และซ้อมสอบก่อน ทั้งเพิ่มความกดดันและลดโอกาส เช่นเด็กขาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้อย่างธรรมชาติตามวัยที่ควรจะได้รับ คือเด็กได้เล่น หรือเด็กได้ช่วยเหลือตัวเองในบางสิ่งบางอย่าง การศึกษาประเทศเรายังเป็นรูปแบบเก่า ก็คือยังคิดว่าจะวัดเด็กได้ในเวลาอันรวดเร็วจากการป้อนข้อมูลอะไรบางอย่างไป แต่ลืมไปว่าจริงๆ แล้วการที่จะวัดที่ดีที่สุดคือควรวัดโอกาสของเด็ก และไม่ได้มองว่าเด็กเป็นตัวตั้งในการเรียนรู้ ถ้าเราคิดว่าโรงเรียนมีคุณภาพ เด็ก 5-6 ขวบ ไม่ต้องไปวัด ไปวัดดีกว่าว่าสามารถจัดการเรียนรู้ให้กับเด็ก 5-6 ขวบ เป็นคนรักการเรียนรู้ได้หรือไม่ ทำให้เด็กเชื่อมั่นว่ามีอะไรให้เรียนรู้อีกเยอะแยะไปหมด ถามว่าไม่ไว้ใจจึงต้องสอบเด็ก

เรื่องนี้สะท้อนอีกอย่างคือคนที่ออกข้อสอบว่าต้องการอะไรจริงๆ อยากได้เด็กแบบไหนเข้าไปในโรงเรียน ผุสอนเองมีความพร้อมในการพัฒนาเด็กทุกคนหรือไม่ในเมื่อเด้กเขาเล็กมาก เล็กมากจนชนิดที่เรียกว่ายังไม่ฉายแววความสามารถตนเองออกมาอย่างเต้มที่ เขาอาจจะเป็นคนดีก็ได้ อาจจะเก่งมองเห็นตัวเองว่าสามารถทำอะไรได้สารพัดอย่างด้วยตนเอง หรืออาจจะมองว่าตนเองทำอะไรไม่ได้ด้วยตนเอง หรือคิดไม่ได้ด้วยตนเอง ต้องถามว่าสังคมต้องการเด็กแบบไหน ต้องการจะพัฒนาเด็กทุกคนไหม

ถามว่าที่ผ่านมาผลออกมาเป็นอย่างไร ไทยติดอันดับโลกทั้งนั้น ไม่ว่าจะเรื่องการติดยาเสพติดอายุมากที่สุด มีแม่ท้องวัยใสเยอะที่สุด ไทยสารพัดเยอะที่สุดในเรื่องที่ไม่ดี ไทยมีเด็กที่เรียนสูงจบมาจริงแต่ก็ยังไม่สามารถดูแลจัดการชีวิตตัวเองได้ อย่าหวังว่าเด็กเขาจะไปช่วยดูแลสังคม เขาดูแลตัวเองยังไม่ได้เลย”


กำลังโหลดความคิดเห็น