xs
xsm
sm
md
lg

เจาะชีวิต “เจ้าหญิงน้ำแข็ง” ส่งเสียตัวเอง สานฝัน “กองหน้าฮอกกี้ทีมชาติไทย”!! [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

[ขอบคุณสถานที่: “The Rink Ice Arena” (เซ็นทรัลพลาซา แกรนด์ พระราม 9)]
ถ้าค้นพบ “ความฝัน” แต่กลับไม่มีทุนหนุนไปสู่เส้นทางนั้น คุณจะยอมรับชะตากรรมหรือไม่? คำตอบที่เด็กสาวคนนี้เลือกคือคำว่า “สู้ต่อไป” แม้ในวันที่ชีวิตของเธอไม่เหลือใคร ต้องลาออกจากห้องเรียนสายสามัญตั้งแต่ชั้น ม.4 ดิ้นรนส่งเสียตัวเอง จนคว้าฝันได้สำเร็จในวันนี้ ในฐานะ “โค้ชสเกตมืออาชีพ”, “แชมป์สปีดสเกต” บนลานน้ำแข็ง และ “นักฮอกกี้สาว กองหน้าทีมชาติไทย”!!




จาก “คนเริ่มช้า” สู่ “ทีมชาติบ้าพลัง”!!

“ยังจำวันแรกที่เล่นได้อยู่เลยค่ะ ตอนนั้นเรายืนทรงตัวเองไม่ได้ ขยับตัวไม่ได้เลย ขยับปุ๊บ ล้มปั๊บ แล้วก็ล้มหนักมากด้วย (หัวเราะ) ล้มแบบเปียกไปทั้งตัวเลย ต้องเดินเกาะเพื่อน เกาะไปตามขอบลานสเกต

แถมยังมีไปชนกับพี่คนนึง ที่เขากำลังสเกตมาด้วยความเร็วอยู่ในนั้นด้วย ชนกันจนน้ำตาลล้มหัวฟาดตึ้ง! ไปกับพื้น เครื่องป้องกันอะไรก็ยังไม่ได้ใส่ เพราะเข้าไปลองเล่นแบบดิบๆ เลย แต่ก็ยังไม่เข็ดนะ ยังอยากจะเล่นอยู่

ตอนนั้น ไม่ได้มีความคิดเลยค่ะว่า ชอบกีฬาชนิดนี้ ไม่มีเลยนะ (ยิ้ม) รู้สึกแค่ว่ามันยากจัง อยากจะทำให้ได้ เอาไว้ทำได้แล้วค่อยเลิกเล่นก็ได้ แต่พอได้ลองเล่นจริงๆ เรากลับค่อยๆ ชอบมันมากขึ้นเรื่อยๆ”

ใครจะคิดว่า เด็กผู้หญิงที่เคยป้ำๆ เป๋อๆ อยู่บนลานน้ำแข็งในวันนั้น จะได้มานั่งเท้าความหลังเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในฐานะคนดังสายกีฬาที่ใครๆ เรียกกันว่า “เจ้าหญิงน้ำแข็ง” อย่างในวันนี้ เพราะแม้แต่เจ้าตัวเอง ยังแทบไม่เคยวาดฝันมาก่อนเลยว่า จะมีรายชื่อ น้ำตาล-วิลาสินี รัตนนัย เป็นหนึ่งในตัวแทน “นักฮอกกี้หญิงทีมชาติไทย” เซตปัจจุบัน

ด้วยวัย “18 ปี” ในวันที่ลองก้าวเท้าก้าวแรกไปบนเส้นทางสายน้ำแข็ง เทียบกับคนกีฬาสายนี้ที่ส่วนใหญ่เริ่มกันตั้งแต่ 8-9 ขวบแล้ว ก็ต้องยอมรับกันตรงๆ ว่า สาวตากลมคนนี้พาตัวเองมาอยู่ที่ “จุดสตาร์ท” ได้ช้ากว่านักกีฬารายอื่นๆ หลายเท่านัก

“ตอนแรกไม่รู้เลยค่ะว่า ที่ประเทศไทยมีกีฬาแบบนี้ให้เล่นด้วย น้ำตาลเริ่มจากเพื่อนชวนมาเล่นสเกตเฉยๆ และเราก็แค่รู้สึกว่ามันยากมาก อยากเอาชนะตัวเองให้ได้ และด้วยความที่เราโตแล้ว ไม่ใช่เด็กเล็กๆ แล้ว ก็เลยไม่ได้จ้างโค้ชอะไร น้ำตาลอาศัยดูคนอื่นเล่น เล่นกับเพื่อน แล้วก็ฝึกเอง แล้วพอเล่นไปเรื่อยๆ ก็ไปเจอเข้ากับกีฬาตัวนึง ก็เลยลองพุ่งไปทางสายนั้นดูค่ะ



[สมัยแรกเริ่มเล่น “สปีดสเกต”]
กีฬาตัวนึงที่ว่านั่นก็คือ “สปีดสเกต (Speed Skate)” หรือการวิ่งแข่งบนลานน้ำแข็ง เอาชนะคู่ต่อสู้ด้วยทักษะความเร็ว บวกกับเทคนิคการแซง การเข้าโค้งที่ต้องเหนือกว่า และถึงแม้ว่าเธอจะเริ่มต้นฝึกช้า แต่ด้วยความพยายามทำซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง ชนิดที่เรียกได้ว่า “บ้าพลัง” เกินกว่าคนทั่วๆ ไป จึงทำให้น้ำตาลสามารถพิชิตตำแหน่งแชมป์ ในฐานะทีมชาติไทยในสายนี้ได้ในที่สุด

“ตอนนั้นน้ำตาลคิดแค่ว่า อยากสเกตให้ได้เร็วขึ้น อยากทำลายสถิติของตัวเอง สมมติว่าวันนี้เราทำได้แค่นี้ วันต่อไปเราก็ต้องคิดว่า ไหนลองใหม่ดูซิ เราอาจจะทำได้มากกว่าเดิมก็ได้ ก็พยายามคิดแบบนั้นเรื่อยๆ แล้วสุดท้ายเราก็จะไปได้เร็วขึ้น

ก็มีคนบอกเหมือนกันค่ะว่า น้ำตาลบ้าพลังมาก (หัวเราะ) เพราะเราเป็นคนทำอะไร ก็จะทำให้มันสุดโต่งไปเลย ให้มองย้อนกลับไป น้ำตาลก็จำไม่ได้เหมือนกันว่าเราคล่องขึ้นตอนไหน รู้แค่ว่าเราต้องพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วก็รู้สึกว่าเราก็ทำได้เร็วเหมือนกันนะ แต่ก็ไม่ได้คิดเลยค่ะว่าจะติดทีมชาติ แค่รู้สึกว่าอยากเล่น แล้วพอเขามีคัดตัว ก็ไปคัด แล้วก็ติด”



[สู่ตำแหน่ง "ทีมชาติ" ในวัยกระเตาะ]


แต่แล้วสภาพร่างกายที่เป็นอยู่ ก็ไม่ปล่อยให้น้ำตาลได้เป็น “ทีมชาติบ้าพลัง” นานนัก เมื่อเธอต้องยุติบทบาทบนลานน้ำแข็งชั่วคราว จากโรคประจำตัวที่เพิ่งแสดงตัวขึ้นมาอย่าง “ไทรอยด์เป็นพิษ” ส่งผลให้คนที่ไม่เคยเหนื่อยกับแบบฝึกอะไรง่ายๆ และทำทุกอย่างได้เท่านักกีฬาชาย กลับต้องหายใจหืดหอบแทบตาย เพราะค่าไทรอยด์ต่ำกว่าระดับปกติ จนต้องหลบไปพักรักษาตัว ก่อนกลับมาในอีกไม่กี่ปีให้หลัง ในฐานะ “โค้ชพื้นฐานสเกตมืออาชีพ”

“ตอนที่ไทรอยด์เป็นพิษ เล่นสปีดสเกตไม่ได้เลยค่ะ คือแข่งไป 2-3 แมตช์ก็เล่นไม่ได้แล้ว รู้สึกเหนื่อยมาก ตอนแข่งแมตช์สุดท้าย หอบเหมือนจะช็อก จากปกติไม่ว่าจะออฟไอซ์หรือทำอะไร เราก็จะทำได้เหมือนเพื่อนผู้ชายหมดเลย แต่มีอยู่วันนึงทำไม่ได้ เพื่อนทำ 100 เราทำได้แค่ 20 รู้สึกแย่มากเลย

สุดท้าย หมอเลยบอกให้หยุดเล่น ให้ไปรักษาตัวก่อน แล้วพอน้ำตาลหายจากอาการเป็นพิษ เราก็กลับมาสมัครเป็นโค้ชแบบจริงจัง แล้วก็เปลี่ยนสายมาเล่นฮอกกี้แทนค่ะ”

ทุกวันนี้ เธอเป็นโค้ชสาวประจำอยู่ที่ “The Rink Ice Arena” สาขาเซ็นทรัลพลาซา แกรนด์ พระราม 9 สถานที่เดียวกับที่ทำให้น้ำตาลค้นพบความสามารถในการสอนเด็กๆ ตั้งแต่ยังไม่ได้ยื่นใบสมัครเป็น “ผู้ฝึกมืออาชีพบนลานสเกต” จากการสอนให้ลูกศิษย์ตัวน้อยแบบฟรีๆ ตามลานน้ำแข็งในฐานะพี่สาวคนนึง

“น้ำตาลเริ่มจากเป็นคนเล่นธรรมดา แล้วก็มีพวกแม่ๆ ที่พาลูกๆ มาเล่น เขาเห็นเราสเกตอยู่ ก็เลยขอเราว่า พี่น้ำตาลช่วยสอนน้องๆ ให้หน่อย น้ำตาลก็เลยช่วยสอนเขา สอนเฉยๆ นี่แหละค่ะ ไม่ได้เก็บเงินอะไร แต่มันก็ทำให้เรารู้สึกตัวว่า เฮ้ย..เราสอนเด็กได้นะ และมันก็ช่วยให้เรามั่นใจได้ตั้งแต่ตอนนั้นว่า เราทำได้ดี เราชอบอยู่กับเด็ก และเราก็สามารถสอนเขาให้พัฒนาได้แน่นอน”



เสน่ห์ของ “ฮอกกี้” กีฬาแนวกระแทกกระทั้น

[มาดดิบๆ ลุย “กองหน้า”]
“มันเท่ดีค่ะ เห็นแล้วอยากลองเล่น” คือความรู้สึกเมื่อแรกพบระหว่างน้ำตาลกับกีฬาต้นตำรับจากฝั่งตะวันตกอย่าง “ฮอกกี้ (Hockey)” มันเกิดขึ้นในวันหนึ่ง ที่เธอได้เห็นการซ้อมของทีมฮอกกี้หญิงภายใต้การดูแลของ “โค้ชแขก” จึงขอตามติดไปลองร่วมซ้อมกับบรรดานักกีฬาเหล่านั้นด้วย กระทั่งได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในทีม “นาคราช” แข่งในฐานะทีมผสม ปะทะกันแบบไม่เลือกเพศทั้งหญิงและชาย

ถึงแม้ว่าหน้าตาของนักกีฬาสาวรายนี้ จะออกแนวน่ารักน่าทะนุถนอม แต่ถ้าเป็นเรื่องลุยแล้ว น้ำตาลไม่เป็นสองรองใครแน่นอน กีฬาแนวปะทะเดือด จนต้องมีเครื่องป้องกันไปทั้งตัว ทั้งสนับแข้ง สนับขา และหมวกกันกระแทก แบบนี้ จึงไม่ได้สร้างความหนักใจให้น้ำตาล แต่กลับมองเป็นความท้าทายแบบใหม่ที่น่าสนุกในชีวิต

“น้ำตาลเป็นคนลุยมากค่ะ ผิดจากเมื่อก่อนมากที่เล่นกีฬาอะไรไม่เป็นเลย เคยเล่นแต่โดดหนังยาง (หัวเราะ) กีฬานี้เป็นชนิดแรกเลยที่อยากลอง และทำให้เริ่มชอบกีฬา แล้วจากนั้นเราก็เริ่มทำอะไรที่ท้าทายมาตลอด

ตอนที่ลงแข่งทีมผสม ที่มีผู้ชายด้วย ถามว่ายากไหม ก็ยากแหละค่ะ เพราะผู้ชายแรงเยอะกว่า วิ่งเร็วด้วย แต่มันก็ยังโอเค เพราะเราคิดว่ายังไงก็สู้เขาได้ (หัวเราะ) คือไม่ใช่ว่าจะไปเก่งกว่าเขานะ แต่อย่างน้อยเราก็ต้องทำให้เขาเซได้บ้าง (ยิ้ม) เราไปป่วนเขาได้อยู่แล้ว เราสามารถไปทำให้เขารำคาญได้เวลาอยู่ในลาน



แมตช์แรกในชีวิตน้ำตาล ถูกจัดขึ้นที่เชียงใหม่ และแน่นอนว่าเธอได้ลงเป็นตัวจริง ด้วยคุณสมบัติความเป็น “ตัวป่วน-ตัวไล่” ประจำทีม ด้วยความเร็วที่ยืนพื้นแน่นมาตั้งแต่สมัยเป็นทีมชาติสาย “สปีดสเกต” จึงส่งให้สาวฮอกกี้หน้าใหม่ในขณะนั้น ถูกเลือกให้ประจำ “กองหน้า” คอยบุกทะลวง เดินเกมทำคะแนนจากคู่ต่อสู้

ที่ถูกเลือกเป็นกองหน้า น่าจะเพราะน้ำตาลวิ่งเร็วค่ะ เรื่องข้อมือเราไม่เท่าไหร่นะ อาจจะไม่ได้หลบหลีกเก่งมาก แต่น้ำตาลเน้นเร็วเป็นหลัก เหมือนพอเรามีพื้นฐานที่ดีจากสปีดสเกต ก็ทำให้เราต่อยอดตรงนี้ได้ง่ายขึ้น แต่จริงๆ น้ำตาลอยากเล่นกองหลังมากกว่านะ จะได้ไม่เหนื่อยมาก (หัวเราะ)”

หลังจากได้ลิ้มลองสนามจริงในฐานะนักกีฬาเต็มตัวกับทีมฮอกกี้ทีมแรกในชีวิต น้ำตาลก็ตัดสินใจลองไปคัดเข้า “ทีมชาติ” โดยพยายามเกาะกลุ่มไปกับเหล่านักกีฬา เขาซ้อมที่ไหนก็ไป โค้ชบอกจุดแก้ไขอะไรมาก็ทำ กระทั่งวันคัดตัวมาถึง รายชื่อของเธอจึงถูกคัดเลือก จนสามารถสานฝันเส้นทางสายฮอกกี้ได้สำเร็จ ภายใต้ชื่อทีมล่าสุด ทีม “Warrior”



ให้ “กองหน้าสาวขาลุย” ลองพูดถึงเสน่ห์ของกีฬาปะทะชนิดนี้ดู เธอบอกได้แค่ว่ามีมากมายหลายข้อจนอธิบายได้ไม่หวาดไม่ไหว “ทั้งความท้าทาย การเล่นเป็นทีม มันมีหลายอย่างที่น้ำตาลบอกไม่ถูก คงต้องให้มาลองกันค่ะ (ยิ้ม)” และที่แน่ๆ คือมันทำให้เธอมีความสุขทุกครั้ง ที่ได้เคลื่อนไหวอยู่ในลานแห่งความเย็น โดยตัดขาดจากทุกความเครียดที่เคยเกาะกุมอยู่ในหัวใจไปอย่างสิ้นเชิง

“ทุกครั้งที่ได้ลงเล่น เหมือนเราได้ตัดโลกภายนอกออกไปหมดเลย ไม่ต้องคิดเรื่องอะไรให้ปวดหัวเลย จากที่น้ำตาลมีเรื่องให้คิดเยอะมากในชีวิต มันก็เลยทำให้เรารู้สึกโอเค คือถ้าจะเครียด ก็เครียดกับในเกมดีกว่า

จุดมุ่งหมายในการเล่นทุกครั้งของน้ำตาลก็คือ เล่นยังไงก็ได้ไม่ให้มันออกมาแย่ ไม่ให้ทีมเสีย แค่นี้ก็โอเคแล้วค่ะ และทุกครั้งที่เจอเกมหนักๆ น้ำตาลจะสู้ตลอด น้ำตาลจะไม่ยอมเลย ถึงจะเจ็บแค่ไหน น้ำตาลก็จะลงไปเล่นแบบนั้นแหละ จะไม่เคยบ่นว่าเล่นไม่ไหวเลย คือถึงเจ็บก็จะพยายามเล่น

และน้ำตาลก็จะเต็มที่กับมันทุกครั้ง จะสนุกไปกับมัน น้ำตาลไม่รู้ว่าคนอื่นคิดยังไงนะเวลาที่ได้ลงไปเล่น แต่สำหรับน้ำตาล น้ำตาลแค่อยากลงไปเล่นแล้วมีความสุข แล้วก็ทำมันเต็มที่แค่นั้นเองค่ะ




["ทีมผสม (ชาย-หญิง)" ก็เคยประลองมาแล้ว]

หลายๆ ครั้งก็ไม่จำเป็นว่าเราต้องเป็นตัวทำคะแนน เป็นคนยิงประตูเองด้วย ส่วนใหญ่น้ำตาลจะชอบ support ชอบส่งให้เพื่อนมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะน้ำตาลไม่เคยคิดว่าเราต้องเป็นที่ 1 คิดแค่ว่าเรารู้ว่าเราได้แค่ไหน และเราพัฒนามันได้ แค่นั้นก็โอเคแล้วค่ะ จะเล่นตำแหน่งไหนก็สำคัญเหมือนกันหมด”

ความฝันสูงสุดบนเส้นทางสายน้ำแข็ง สำหรับน้ำตาลแล้ว วินาทีนี้คือเวที “ซีเกมส์” ที่เธอและทีมอยากจะฟันฝ่าไปให้ถึงให้ได้ เพราะที่ผ่านมา มีเพียงการส่ง “ทีมชาติชาย” ไป ยังไม่มีโอกาสให้ “ทีมชาติหญิง” ได้ไปประลองสนามระดับนั้น เนื่องจากเจ้าภาพรายล่าสุดอย่าง “มาเลเซีย” เลือกที่จะไม่จัดกีฬาในรายการนี้

“ยังไม่อยากหวังถึงเวทีโอลิมปิกค่ะ หวังซีเกมส์ก่อนดีกว่า (ยิ้ม) เพราะเรามั่นใจว่า ถ้าทีมชาติไทยทีมหญิงได้ไปในเวทีซีเกมส์ เราต้องชนะกลับมาได้อย่างแน่นอน!!



สู้อย่างเดียวดาย เบื้องหลังชีวิต “เจ้าหญิงน้ำแข็ง”

“ตอนแรกที่เลือกเล่นสปีดสเกตก่อน เพราะค่าซ้อมมันถูกกว่า น้ำตาลเลยยังไม่เลือกเล่นฮอกกี้ค่ะ แต่ไปเลือกเล่นอันที่ถูกกว่าก่อน” ถึงแม้การปิดท้ายประโยคของเธอ จะมาพร้อมเสียงหัวเราะเหมือนคนไม่จริงจังอะไรนัก แต่แววตาที่แฝงความรู้สึกบางอย่างลึกๆ เอาไว้ ทำให้ผู้สัมภาษณ์ไม่อาจละเลยไป

บวกกับข้อสงสัยบางอย่าง ที่จุดชนวนให้ได้รับรู้ในภายหลังว่า เด็กสาวรายนี้มีกรอบความคิดที่แตกต่างจากวัยรุ่นคนอื่นๆ ทั่วไป นั่นคือความคิดเรื่องที่ต้องหาทุนมาหนุนความฝันด้วยตัวเองให้ได้ แทนที่จะเลือกแบมือขอผู้ปกครอง ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเธอไม่เหลือ “ที่พึ่ง” ที่ไหนมาตั้งแต่วัย 15 แล้ว

คือคุณพ่อน้ำตาลเสียแล้วค่ะ เขาหัวใจวาย จากไปแบบกะทันหันมาก ส่วนคุณแม่กับพี่ชายอีก 2 คน ก็ต้องมีครอบครัวของเขา ต่างคนต่างแยกออกมาดูแลตัวเอง น้ำตาลก็เลยต้องทำงาน ส่งเสียตัวเอง เลี้ยงดูตัวเองมาตั้งแต่ตอนนั้น



จากจุดพลิกผันของชีวิตเมื่อ 8 ปีก่อน ทำให้เด็กสาวที่ไม่เคยต้องปวดหัวกับการรับผิดชอบเรื่องอะไรเลย ต้องแบกรับอนาคตของตัวเองเอาไว้เต็มบ่า รวมถึงอนาคตเรื่องการศึกษาที่ต้องพลิกจาก “ห้องเรียนสายสามัญ” ไปเป็น “หลักสูตรสายอาชีพ” ตัดสินใจหายตัวไปจากโรงเรียนพะเยาพิทยาคม เดินทางเข้าเมืองกรุง เพื่อให้ยังสามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องไปได้ พร้อมๆ กับการส่งเสียตัวเองไปให้ถึงฝั่งฝัน

ตอนนั้นไม่ได้บอกทางโรงเรียนด้วยซ้ำค่ะว่าลาออก พอคุณพ่อเสียก็ออกมาเลย แล้วก็ตัดสินใจย้ายมากรุงเทพฯ มาทำงานกับพี่สาวคนนึงที่เคยสนิทกันตอนเด็กๆ

เพราะน้ำตาลรู้อยู่แล้วว่า ถ้าอยู่ที่พะเยาต่อคงหางานยาก ไปต่อยาก ก็เลยตัดสินใจย้ายมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่กรุงเทพฯ แล้วก็เปลี่ยนมาเรียน ปวช.-ปวส.แทน เพราะเราเลือกเรียนแบบภาคปกติไม่ได้แล้ว เราต้องทำงาน ต้องหาเงินมาดูแลตัวเอง

จริงๆ แล้ว น้ำตาลเคยอยากเป็นนักบินนะ อยากเป็นพยาบาล อยากเป็นนู่นเป็นนี่ แต่มันเป็นไม่ได้ ส่วนนึงอาจจะเป็นเพราะเราไม่ได้เรียนเก่งอะไรขนาดนั้นด้วย เพราะถ้าฉลาดกว่านี้ ก็อาจจะสอบได้ทุนเรียน ก็เลยคิดว่ายังไงซะ เราก็เรียนให้จบละกัน (ยิ้มบางๆ)

ตอนแรกที่ออกจากโรงเรียนมา ก็คิดเหมือนกันนะคะว่า เราคงไม่ได้มีชีวิตที่สวยหรูเหมือนเพื่อนๆ แล้วล่ะมั้ง แต่ก็พยายามมองในแง่ดีว่า ถึงมันจะไม่สวยหรู แต่ยังไงเราก็ต้องได้ดี เราจะไม่ทำตัวเองให้คนอื่นมาดูถูกได้ แล้ววันนึง เราจะเอาความสำเร็จนี่แหละ มาให้ทุกคนดูให้ได้”



ย้อนนึกถึงฉายา “เจ้าหญิงน้ำแข็ง” ก่อนที่จะได้รู้จักตัวตนกันทุกซอกทุกมุมแบบนี้ เชื่อว่าหลายๆ คนคงคิดถึงภาพชีวิตอันแสนสุขสบาย ในฐานะลูกสาวคนมีอันจะกินครอบครัวนึง แต่หลังจากได้รับรู้เส้นทางอันแสนยากลำบากของเธอคนนี้แล้ว กลับทำให้ผู้สัมภาษณ์มองเห็นในอีกมุมว่า ทุกความเจ็บปวดที่น้ำตาลเคยต้องฝ่าฟันมา คงสร้างความหนาวเหน็บได้พอๆ กับลานน้ำแข็งที่โอบล้อมรอบตัวเธออยู่ทุกวันนี้

ตลอด 3-4 ปี ก่อนชะตาชีวิตจะพัดมาให้ลงล็อกอยู่บนเส้นทางไอซ์สเกต น้ำตาลเป็นเพียงหญิงสาวคนนึงที่ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ ทำงานแลกค่าตอบแทนเลี้ยงปากท้อง ทุ่มชั่วโมงส่วนใหญ่ไปกับการเป็นลูกจ้าง รับผิดชอบเช็กสต๊อกเสื้อผ้าตามร้านต่างๆ จนแทบไม่ได้หลับได้นอน และเหลือเวลาให้แก่การเรียนภาคพิเศษเพียงวันอาทิตย์วันเดียวเท่านั้น

“น้ำตาลต้องตื่นเที่ยงคืน บางทีก็ไม่ได้นอน เพื่อไปจัดของ เช็กสต๊อกของตอนดึกๆ กลับบ้านอีกทีก็ 6 โมงเช้า แล้วค่อยกลับมาหลับ และมาตื่นอีกทีตอน 10 โมง ก็ต้องไปทำงานอีก มีไปฝากของขายตามหน้าร้านต่างๆ ด้วย คือตอนนั้นเวลามันรวนมาก เรารู้ว่าชีวิตเราแย่ แต่เราก็ต้องสู้

เงินก้อนแรกที่ได้มา ประมาณ 8,000 เราก็แบ่งไปจ่ายค่าเทอม 3,000 นอกนั้นก็เก็บเอาไว้ใช้ไว้กิน ยิ่งพอมาชอบสเกต เรายิ่งต้องพยายามมากกว่าเดิม บางทีก็ต้องอดข้าวมาซ้อม อดข้าวมาเล่น ไม่รู้ตอนนั้นคิดอะไรอยู่ในหัว (หัวเราะเบาๆ) แต่คงเป็นเพราะอยากเล่นแหละ เราคงชอบมันไปแล้ว



[มาด "โค้ชน้ำหวาน" ของเด็กๆ]
ตลอดช่วงหนักๆ ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าน้ำตาลท้อบ่อยมากค่ะ ท้อแบบไม่มีกำลังใจเลย แต่เราก็พยายามคิดตลอดว่า สักวันเราต้องได้ดี แล้วก็พยายามคิดว่าทุกคนบนโลกนี้ ก็มีเรื่องที่แย่ๆ ในชีวิตด้วยกันทั้งนั้น ชีวิตเรามันก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น ยังมีคนที่แย่กว่าเราอีกเยอะ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องสู้กับมันต่อไป

แล้วหลังจากนั้น พอได้มาเล่นสปีดสเกต ได้มาทำงานเป็นโค้ชสอน เงินตอบแทนหลายๆ อย่างก็เริ่มดีขึ้น ทุกวันนี้ชีวิตน้ำตาลก็เริ่มโอเคขึ้นแล้วนะคะ สบายขึ้นแล้ว ที่สำคัญ เราได้ทำงานที่เรารัก สามารถเล่นบนลาน ฝึกมันได้ตลอด และตอนนี้น้ำตาลก็สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซ้อม-การเล่นฮอกกี้ ได้อย่างที่ตั้งใจแล้วด้วย




“30 บาท” ติดกระเป๋า ชีวิตเราต้องดีกว่านี้!! 

ทุกความสำเร็จ ย่อมมีความล้มเหลว ทุกหุบเขาที่ปักธงพิชิต ย่อมมีหุบเหวรั้งรออยู่เบื้องล่าง... แน่นอนว่าก่อนจะมาถึง “จุดสูงสุด” ในชีวิต ณ วินาทีนี้ ผู้หญิงคนนี้ก็ต้องเคยพบเจอกับ “จุดต่ำสุด” มาแล้วเหมือนกัน และวันที่มองกลับไปแล้วเห็นภาพชัดเจนที่สุด ก็คือวันที่เธอเหลือเงินติดตัวอยู่เพียงแค่ “30 บาท” เท่านั้นเอง

“ช่วงที่ดาวน์สุดๆ น้ำตาลจำได้ว่า เราแทบไม่มีเงินกินข้าวเลย เหลือตังค์ในกระเป๋าแค่วันละ 30 บาท คือห้ามใช้เกินนี้ วันนึงต้องกินข้าวมื้อเดียวเท่านั้น ซึ่งน้ำตาลเลือกกินตอนมื้อเช้า แล้วนอกนั้นก็จะอาศัยไปกินขนมเอาตามที่ทำงาน

เรื่องที่น้ำตาลจำได้มาจนถึงทุกวันนี้เลย คือมีอยู่วันนึง น้ำตาลอยากกินชาเย็นมาก แต่ว่าเราก็ต้องกินข้าวด้วย น้ำตาลก็เลยเลือกที่จะอดข้าว แล้วซื้อชาเย็นมากิน (ยิ้มปลงๆ) พอมาทุกวันนี้ เวลาที่เห็นชาเย็นทีไร น้ำตาลก็ยังต้องซื้อกินอยู่เลย ให้มันรู้สึกว่า เฮ้ย..เราได้กินแล้วนะ

แต่ถึงจะลำบากยังไงในวันนั้น น้ำตาลก็จะคิดตลอดว่า เราจะต้องผ่านมันไปให้ได้ คือยังวาดภาพไม่ออกหรอกค่ะว่าจะมาถึงวันนี้ได้ยังไง แต่เรารู้ว่าวันนึงเราต้องสบาย คืออาจจะไม่ได้สบายอะไรมาก แต่ต้องไม่ลำบากขนาดนั้นอีกแล้ว



ในแต่ละวันกว่าจะผ่านมันไปได้ เรารู้สึกแย่มากในทุกวัน แต่เราก็รู้อยู่ลึกๆ ว่า เดี๋ยวมันจะผ่านไป เดี๋ยวก็หมดเดือนนี้แล้ว แล้วก็ต้องย้ำกับตัวเองว่าไม่เป็นไรนะ คือเราต้องโลกสวยเอาไว้ก่อน (ยิ้มบางๆ) ไม่งั้นอยู่ไม่ได้ เพราะถ้าเรามองโลกในแง่ร้าย ทุกอย่างมันจะแย่ไปหมด จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย”

สารภาพตามตรงว่าคนที่ดูสดใส ยิ้มเก่งในสายตาของใครต่อใครอย่างน้ำตาล จริงๆ แล้วเคย “คิดสั้น” ในหลายๆ ครั้งอยู่เหมือนกัน จนเข้าข่ายคนที่ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ แต่ที่ทำให้เธอไม่เคยลงมือทิ้งชีวิตของตัวเองเลยสักครั้ง ทั้งยังพาตัวเองให้ผ่านพ้นวิกฤตความคิดในช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้ ก็เพราะการกล่อมให้ตัวเอง “เชื่อมั่น” ในแสงสว่างที่ยังคงรออยู่ที่ปลายอุโมงค์

“ที่ผ่านมา น้ำตาลเคยคิดสั้นบ่อยๆ ค่ะ (ยิ้มเนือยๆ) คิดตลอดว่า เราไม่อยากอยู่แล้ว เราไม่มีใครเลย แต่ก็บอกตัวเองว่า ไม่ได้นะ มันบาป และถึงเราตายไป มันก็ไม่มีประโยชน์อยู่ดี ก็เลยคิดว่าอยู่เพื่อสร้างประโยชน์บ้างดีกว่า แล้วเราค่อยจากไป



คือตอนนั้นน้ำตาลไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นด้วยซ้ำ ที่ทำให้น้ำตาลรู้สึกแบบนั้นบ่อยๆ แต่เราก็แค่พยายามมองว่า ยังมีคนอื่นที่ลำบากกว่าเรา พยายามมองว่าคนอื่นลำบากกว่าเราตั้งเยอะ เขาไม่มีแขน ไม่มีขาด้วยซ้ำ เขายังผ่านมันไปได้เลย เราก็ต้องผ่านมันไปได้เหมือนกัน

หรือบางครั้งก็ต้องใช้เรื่องความรับผิดชอบมาเป็นตัวกระตุ้นให้เราเดินต่อไปได้ค่ะ เพราะบางวันเราตื่นลืมตาขึ้นมา มันก็มีที่รู้สึกไม่อยากทำอะไรเลย แต่พอคิดว่าเรายังมีภาระหน้าที่ มีความรับผิดชอบ ยังมีงานที่ร้านที่ต้องดูแล คือตัวเราจะไม่มีกินก็ยังได้นะ แต่เราต้องไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนไปด้วย น้ำตาลจะคิดแบบนี้ตลอด เพราะไม่อยากให้คนอื่นมาเสียการเสียงานเพราะเรา



แต่ที่ทำให้น้ำตาลผ่านหลายๆ เรื่องมาได้ หลักๆ เลยน้ำตาลคิดว่าเป็นเพราะเราพยายามจะไม่คิดแบบลบๆ ค่ะ คือจะบอกตัวเองตลอดว่า เฮ้ย..เราทำได้ดิ เราต้องผ่านมันไปได้ดิ หรืออย่างความฝันเกี่ยวกับฮอกกี้ ก็จะคิดว่าเราต้องเล่นได้ดิ เราต้องหาเงินมาจ่ายมันได้แน่ๆ

และที่สำคัญยิ่งกว่าเรื่องการคิด ก็คือการลงมือทำค่ะ เพราะถ้าคิดอย่างเดียว แล้วไม่ทำ มันก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นมา เพราะฉะนั้น เราต้องลงมือทำมันให้สำเร็จด้วย




“เวลาแข่ง” ยังไม่หมด เหมือน “เวลาชีวิต” ยังไม่จบ

ถ้าให้มองเรื่อง “ฮอกกี้” เปรียบเทียบกับเรื่อง “ชีวิต” สิ่งที่น้ำตาลคิดว่ามันใช้ได้เหมือนกันคือ เราต้องมีความรับผิดชอบค่ะ ต้องมีวินัยในการซ้อม วินัยในการแข่ง

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเป็น “กองหน้า” คงเป็นเรื่อง “การตัดสินใจที่รวดเร็ว” อันนี้หมายถึงเรื่องที่ควรตัดสินใจนะคะ และพอเราตัดสินใจได้ไว มันก็จะทำให้เรามีเวลาไปทำเรื่องอื่นๆ ในชีวิตได้เพิ่มขึ้น ถ้าเราแก้ไขอะไรหลายๆ อย่างได้เร็วขึ้น เราก็จะสามารถพัฒนามันไปได้อีกเรื่อยๆ



มีการแข่งอยู่นัดนึง เป็นนัดที่ให้บทเรียนกับชีวิตน้ำตาลมากๆ คือนัดที่แข่งกับ “ญี่ปุ่น” ค่ะ ตอนนั้นเราแพ้ยับเลยนะ (ยิ้ม) จำคะแนนไม่ได้ว่าเท่าไหร่ แต่ทิ้งห่างเยอะมาก แต่น้ำตาลกลับรู้สึกว่า ตัวเองประสบความสำเร็จในวันนั้น เพราะเราสู้ไม่ถอยจนวินาทีสุดท้าย

สิ่งที่น้ำตาลภูมิใจมากในวันนั้นก็คือ น้ำตาลไม่หยุดนิ่ง แล้วก็ไม่ท้อเลย ถึงเราจะเจอคนที่เก่งกว่า แต่เรากลับรู้สึกสนุกไปกับมัน ยิ่งตอนที่เราสามารถเอาลูกไปฝั่งเขาได้ แม้จะแค่แป๊บเดียว มันก็ทำให้เราดีใจแล้ว

ที่สำคัญคือการที่เราได้สู้จนวินาทีสุดท้ายจริงๆ ซึ่งน้ำตาลว่ามันก็เหมือนชีวิตคนเรานี่แหละค่ะ ที่ถ้ามันยังไม่จบ ยังไม่หมดเวลา เราก็ยังต้องสู้กันต่อไป

ถ้าวันข้างหน้าน้ำตาลจะต้องเจอกับอะไรที่หนักหนาสาหัสอีก น้ำตาลก็จะคิดไปว่าเรื่องแค่นี้เอง น้ำตาลเคยเจอมาเยอะกว่านี้อีก และสุดท้ายแล้วมันก็จะผ่านไป



น้ำตาลคิดเสมอว่า ทุกอย่างมันจะต้องผ่านไป ไม่ว่าเราจะมีความสุขหรือว่าความทุกข์ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป ให้คิดให้ได้แบบนี้ ให้อยู่ในความธรรมดาให้ได้มากที่สุด

หลายเรื่องในชีวิต มันผ่านเข้ามาเพื่อให้เราได้เรียนรู้ค่ะ ทุกคนต้องเจอปัญหาเหมือนกันหมด แค่ต่างเรื่องกัน ขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะสู้ไปกับมันหรือเปล่า พอเราสู้แล้ว เดี๋ยวทุกอย่างมันก็จะผ่านไป แล้วมันก็จะเปลี่ยนมาเป็นประสบการณ์ของเรา ให้เราแกร่งขึ้นเรื่อยๆ เอง

น้ำตาลว่าความพยายาม ความอดทน สำคัญที่สุด ขอให้เราอดทนกับทุกๆ อย่าง พยายามกับทุกๆ สิ่งที่เราอยากจะได้มัน คนเราถ้าพยายามแล้ว ถึงอาจจะไม่สำเร็จ แต่มันต้องได้อะไรกลับมาแน่นอน แล้วทุกอย่างจะสอนให้เราเรียนรู้ไปกับมัน

ไม่มีใครไม่เคยเจอเรื่องแย่ๆ ในชีวิต แล้วก็อยากให้คิดว่ายังมีคนที่แย่กว่าเราอีกเยอะ อย่างเช่นตัวน้ำตาลเอง ก็อาจจะแย่กว่าทุกๆ คนก็ได้ (ยิ้มบางๆ) ให้คิดว่าเราโชคดีแค่ไหนแล้ว ที่เรายังมีลมหายใจอยู่ในทุกวันนี้

ถึงทุกวันนี้ ให้มองย้อนกลับไป น้ำตาลกลับรู้สึกดีนะคะ ที่เราเคยผ่านอุปสรรคหลายๆ อย่างในชีวิตแบบนั้นมา เพราะไม่อย่างนั้นก็คงจะไม่มีน้ำตาลในวันนี้ หรืออาจจะกลายเป็นน้ำตาลในแบบที่โหลยโท่ยไปแล้วก็ได้ ถ้าเราไม่เคยผ่านเรื่องราวความยากลำบากในวันนั้น



“ลานน้ำแข็ง” ชดเชยวัยเด็กที่ขาดหายไป

ช่วงชีวิตที่ผ่านมา น้ำตาลจะมีเพื่อนในวัยที่แก่กว่าเยอะ เป็นคุณป้า เป็นผู้ใหญ่ที่เอ็นดูเรา ทำให้เวลาคุยกับเด็กวัยเดียวกันแล้ว จะคุยไม่ค่อยรู้เรื่อง และมันก็ให้ความรู้สึกว่าช่วงชีวิตในวัยเด็กของเราหายไปด้วย


พอได้มาเล่นสเกต มาเล่นฮอกกี้ มันเหมือนน้ำตาลได้ชดเชยช่วงเวลาที่น้ำตาลทำหายไป ช่วงเวลาที่เราเคยอยากเล่น อยากเจอเพื่อนๆ แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะว่าเราต้องเลือกที่จะทำงาน เลี้ยงดูตัวเอง



ชีวิตดีขึ้นได้ เพราะพาตัวเองไปเจอ “คนดีๆ”

หนึ่งในวิธีการทำชีวิตให้ดีขึ้นของน้ำตาลก็คือ เราจะไม่พาตัวเองไปจุดที่แย่ๆ ไปสังคมแย่ๆ แต่จะพาตัวเองไปพบเจอแต่คนดีๆ คนที่ทำให้เราเป็นคนโลกสวย แล้วก็คิดบวกเยอะๆ

ตอนที่เป็นวัยรุ่น น้ำตาลไม่เคยเที่ยว ไม่เคยไปกินเหล้าเลยนะ จนเราโตขึ้น รับผิดชอบตัวเองได้มากขึ้น ถึงมีไปกับเพื่อนๆ บ้าง แต่ก็นานๆ ที เพราะเราไม่ค่อยอยากไปในสถานที่ที่ทำให้เราดูแย่

และที่ผ่านมา น้ำตาลก็โชคดีมากค่ะที่ได้เจอแต่คนดีๆ เพราะถ้าเจอคนไม่ดี ป่านนี้ไม่รู้ว่าชีวิตจะเป็นยังไงบ้าง อาจจะโดนหลอกไปทำนู่นนี่แล้วก็ได้ (ยิ้ม)



อย่างครั้งแรกที่ไปเล่นสเกต ก็ได้เจอพี่คนนึงที่เขามาชวนคุย จนเราสนิทกัน และพอดีพี่เขาเป็นคนทำงานอยู่ในลานสเกต เขาก็เลยให้น้ำตาลเล่นฟรีได้ หรือไม่งั้นก็จะมีบัตรเข้าฟรีมาแจกตลอด ถ้าวันนั้นไม่มีพี่คนนั้น ก็คงไม่มีน้ำตาลในวันนี้ค่ะ เพราะตอนนั้นน้ำตาลก็ยังไม่มีเงินมาจ่าย เพื่อมาเล่นอะไรแบบนี้

หรืออย่างเวลาต้องการกำลังใจ ก็จะมีป้าๆ ที่ทำงาน ที่เขาจะคอยช่วยเหลือตลอด คอยให้กำลังใจเราว่า หนูทำได้นะ หนูเก่งนะ พอโดนชมบ่อยๆ เข้า มันก็ทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าทุกคนคิดว่าเราเก่ง เราก็ต้องเก่งให้ได้แบบนั้น

เป้าหมายสูงสุดในชีวิตน้ำตาลทุกวันนี้ก็คือ เราต้องประสบความสำเร็จในอะไรสักอย่างนึง เพื่อให้เรามีชีวิตที่มั่นคง แล้วก็ได้มีครอบครัวที่น่ารักๆ (ยิ้ม)

น้ำตาลไม่ได้ต้องการรวยล้นฟ้า แค่อยากใช้ชีวิตธรรมดา แล้วก็มีความสุข ประสบความสำเร็จในชีวิต แล้วก็เป็นคนดีของสังคม คนรอบๆ ข้างเราเป็นคนดี ครอบครัวเราเป็นคนดี แค่นี้ก็โอเคแล้ว








บทสัมภาษณ์และคลิป: ทีมข่าว MGR Live
เรื่องและตัดต่อ: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพเคลื่อนไหว: สวรส พวงเกาะ และพัชรินทร์ ชัยสิงห์
ภาพนิ่ง: พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณภาพ: fb.com/wilasinee.rattananai
ขอบคุณสถานที่: “The Rink Ice Arena” (เซ็นทรัลพลาซา แกรนด์ พระราม 9)



 
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **





กำลังโหลดความคิดเห็น