xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึก!! เพลงลูกทุ่ง 2018 “ยุคเสื่อม-ยุคซี้ด” ไม่คราง – ไม่เสียว – ไม่ดัง?!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สังคมกุมขมับ ปวดตับกับเพลงลูกทุ่งสมัยนี้ “ต้องมีท่อนคราง - แต่งตัวโป๊เกินงาม - ไม่เหลือความสวยงามของภาษา” กูรูลูกทุ่งชี้ เพลงล่อแหลมมาไวไปไ; ลูกทุ่งสายซึ้งยังอยู่ได้ แต่ไม่รวย!

ยิ่งคราง ยิ่งด่า ยิ่งรวย!!

“อุ๊ยๆ อิ๊ๆ อ๊ายยยยยยยย”
เสียงครางสุดสยิว , MV สุดวาบหวาม และเนื้อหาของเพลงที่เปิดเผยถึงเรื่องใต้สะดืออย่างชัดเจน ที่เล่าถึงเรื่องราวของชายคนหนึ่ง ที่คนรักต้องแต่งงานกับชายอีกคน จึงขอร้องต่อหญิงสาวว่า หากร่วมหลับนอนกับชายคนใหม่เมื่อใด โปรดครางชื่อพี่ด้วย จึงส่งให้ “ครางชื่ออ้ายแน” ของศิลปิน “ศรีจันทร์ วีสี Feat.ต้าร์ เพ็ญนภา แนบชิด” กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ทันทีที่เผยแพร่ออกสู่สาธารณชน

แม้ล่าสุดจะได้มีการเปลี่ยนภาพในช่วงท้ายของ MV ให้ที่มาของเสียงซี้ดซ้าดสุดกระเส่านั้น จากเดิมที่เป็นกิจกรรมบนเตียง มาเป็นการกินส้มตำในห้องนอนแทน แต่ก็ยังไม่สามารถลบภาพจำแรกที่มีต่อเพลงนี้ ออกไปจากหัวของคนที่รับชมแล้วได้



สำหรับในวงการเพลงลูกทุ่งเอง “ครางชื่ออ้ายแน” ไม่ใช่เพลงแรกที่ดังเปรี้ยงจากเนื้อหาอันล่อแหลม ย้อนกลับไปยุคแรกๆ ของการเพิ่มเสียงครางเข้ามา พาให้นึกถึงเพลง “คันหู” ของ “จ๊ะ - นงผณี มหาดไทย” หรือ “จ๊ะ เทอร์โบ” ในตอนนั้น ที่เรียกได้ว่าปฏิวัติวงการเพลงลูกทุ่งของบ้านเราแบบหน้ามือเป็นหลังมือ

เพราะถึงแม้เพลงนี้จะเป็นเพลงเร็ว จังหวะสนุก แต่ก็มีความน่าหวาดเสียวตั้งแต่เนื้อหาของเพลง ที่ส่งเสียงครางอย่างได้อารมณ์ ทั้งอ๊ะ! ทั้งอุ๊ย! ทั้งซี้ดดดด บ่งบอกว่าคันจริงจริ๊งอยู่ในหูของเธอ ที่มาพร้อมกับท่าเต้นที่ลูบไล้บริเวณช่วงล่าง และชุดสุดหวาดเสียวที่สั้นจนไม่ต่างจากกางเกงชั้นใน

ทำให้ในตอนนั้นทำเอากระทรวงวัฒนธรรมถึงกับเต้นผาง และเกือบจะแบนเพลงนี้ออกจากสื่อออนไลน์เสียแล้ว ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่เหมาะสมต่อวัฒนธรรมอันดีและเป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชน
จากเสียงครางในวันนั้นเอง ก็พลิกชีวิตเธอจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะเพียง 2 ปีหลังจากดังเปรี้ยงเพราะเสียงคราง เธอก็สามารถหาเงินได้มากถึง 8 ล้านบาท ก่อนจะกลายเป็น จ๊ะ อาร์สยาม อย่างทุกวันนี้ ที่แม้จะลดดีกรีความแรงของเพลงลงไปบ้าง แต่ความดังและเงินทองที่เข้ามากลับเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ จนสามารถซื้อบ้าน รถหรู และส่งเงินให้ทางบ้านใช้เป็นว่าเล่น



แม้ถึงจะมีกระแสด้านลบตีกลับไปยังเพลงเหล่านี้ขนาดไหน แต่ก็ดูเหมือนว่า ยิ่งถูกด่า เพลงจะยิ่งดัง ยิ่งได้รับความนิยม และผลิตผลงานในสไตล์เดิมออกมาเรื่อยๆ ทำให้อดที่จะตั้งคำถามไม่ได้ว่า หรือวงการเพลงลูกทุ่งบ้านเราจะเดินทางมาสู่ยุคเสื่อมเสียแล้ว?

ผศ.ดร.ทินกร อัตไพบูลย์ หัวหน้าสาขาวิชาดนตรีศึกษา มหาวิทยาลัยนครพนม และยังเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดงดนตรีพื้นบ้านภาคอีสาน ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรมปี 2537 ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ แก่ทีมข่าว MGR Live โดยเขากล่าวว่า เพลงสองแง่สองง่ามเกิดขึ้นในวงการเพลงลูกทุ่งมานาน แต่จะเลือกใช้คำเพื่อสร้างลูกเล่น ให้เกิดความสละสลวยของภาษา แตกต่างจากลูกทุ่งสมัยนี้ ที่เอะอะก็โป๊ เอะอะก็คราง เพื่อให้โดนใจคนฟัง!

“เพลงมันไม่โดนเลยต้องใช้ศัพท์ทางเพศเข้าไป สื่อความหมายออกมาในทางเรื่องของความใคร่ แต่ก็เป็นลูกทุ่งแบบสตริงหมอลำ เพลง “ครางชื่ออ้ายแน” นักร้องหน้าตาก็เซ็กซี่ด้วย เวลาไปคราง มันก็รู้สึกว่าความสละสลวยทางภาษามันไม่มี คนแต่งก็อาจจะสื่อไปในทางนั้น มันถึงจะดัง ไม่งั้นก็ไม่ดัง มันไม่โดนใจคนฟัง เพราะทุกวันนี้สื่อมันออกมาทางนั้นเยอะ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสังคม โซเชียลมีเดีย หาดูได้ง่าย พอเพลงมันมาลักษณะนี้เขาเรียกว่า sex song มันสื่อไปในทางเพศ สะท้อนสภาพสังคมได้ครับ



เพลงลูกทุ่งสมัยก่อนเขาใช้คำสละสลวย อย่างเพลง ในฝัน ของ “ทูล ทองใจ” ที่ร้องว่า “หากฝันว่าฉันและเธอ ละเมอความรักร่วมกัน ทุกทุกวันแสนสุขฤทัย" ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเพศ แต่เขาซ่อนไว้ในอารมณ์ของเพลงด้วยภาษา เป็นการจินตนาการไปเฉยๆ มันก็เป็นเรื่องเพศแต่ใช้คำสวยกว่า สุภาพกว่า

แต่เพลงนั้นมันเป็นการคราง ร้องอื้อๆ อ้าๆ มันส่อไปในทางเพศ คำพวกนี้มันเป็นเรื่องที่อยู่ในที่ลับแล้วเอาออกมาในที่แจ้ง เลยโดนคนวิพากษ์เยอะ แต่เพลงแบบนี้คงดังไม่นานครับ เดี๋ยวก็มีเพลงใหม่มาแทน มันเป็นภาษาที่สังคมไม่ยอมรับเท่าไหร่ แต่ก็ฟังเพื่อความสนุกสะใจเฉยๆ เดี๋ยวมันก็หายไป”

อัตลักษณ์ลูกทุ่ง2018 “ชุดโป๊ - ชื่อแรง - เพลงหวิว”

ไม่ใช่แค่เรื่องเนื้อเพลงสุดสยิวที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย แม้แต่การแต่งกายก็เปลี่ยนไปด้วย สำหรับตัวศิลปินที่เลือกเดินในเส้นทางลูกทุ่งสายแซ่บ นุ่งสั้นเสมอหูเอง พวกเธอต่างประสบความสำเร็จทั้งงาน ชื่อเสียงและเงินทอง แซงหน้าอีกหลายๆ คนที่เลือกที่จะมิดชิดตามเดิม ดังจะเห็นได้จาก จ๊ะ อาร์สยาม,ใบเตย อาร์สยาม,ลำไย ไหทองคำ ฯลฯ

“การถูกวิพากษ์เยอะก็ยิ่งดัง อย่างของ จ๊ะ อาร์สยาม ในเมื่อเขามีภาพลักษณ์แบบนั้นมาตั้งแต่แรก คนเขาก็ติด เขาก็หาจุดขายเพื่อเงิน ไม่ได้ห่วงว่าจะเสียชื่อเสียงหรืออะไร พอดังแล้วงานก็มา เงินก็ตามมา หายากนะครับสมัยนี้คนที่ร้องเพลงหวานๆ ซึ้งๆ จะประสบความสำเร็จ ผมว่ามันก็ไปได้ แต่อาจจะไม่รวยเหมือนกับพวกใช้ภาษาเลอะๆ เทอะๆ เพราะคนร้องกันเยอะไง มันต้องฉีกแนวออกมา ให้วิจารณ์กันต่อในสังคม เหมือนกับนักร้องถ้าไม่กล้านุ่งสั้นก็ไม่ดัง ถ้าอยากดังทุกวันนี้ต้องกล้า คำพูดต้องได้ เอนเตอร์เทนคนดูได้



เวลาไปแสดงที่ไหน พวกนักร้องใหม่ๆ แต่งตัวโป๊ๆ อย่างผู้สาวขาเลาะ แต่ก่อนก็ไม่ดัง แต่งตัวไม่เข้าตา การแต่งกายก็มีส่วนสนับสนุนตัวเพลงเขาด้วย แต่จะไปทิศทางไหนก็อีกเรื่องนึง พอเพลงมันไปทางนั้น ก็เลยกลายเป็นสัญลักษณ์ของเซ็กซ์ไป ลักษณะส่อไปในทางอนาจารทางเสียง และชื่อของนักร้องเองก็เป็นส่วนประกอบในการสร้างอัตลักษณ์ตัวเองขึ้นมา อย่าง ลำไย ไหทองคำ บางทีมันก็สื่อไปในทาง เอ๊ะไหอะไร บางคนก็พลิกเป็นไหอื่นไป คนก็จินตนาการต่อ จะไปห้ามก็ไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของการเล่นภาษา คำผวน

ส่วนเพลงมันก็เหมือนกับไฟไหม้ฟาง มันก็เปลี่ยนไปเรื่อย ต่อไปก็มีเพลงอื่นเข้ามาทดแทน คนที่เป็นโปรดิวเซอร์ ค่ายเพลง เขาต้องหาจุดขาย ทำยังไงถึงจะได้ล้านวิวไวๆ เอาทำนองมาใส่ เอาจังหวะมาใส่ มันง่ายครับสมัยนี้ เลียนแบบให้มันเกิดอารมณ์ทางเพศ ทำให้คนฮือฮา หาจุดขาย ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพลงที่มันสวยๆ ทำไมไม่ดัง มันดังเฉพาะเพลงสองแง่สองง่าม แล้วก็ใช้ภาษาที่อยู่ในวงการพวกนักดื่มที่เขาคุ้นกัน ฟังแล้วสะใจ แต่เมื่อออกไปสู่สาธารณะแล้ว มันคุมไม่ได้”

เมื่อเพลงเหล่านี้กลายเป็นข่าวขึ้นมา แทบทุกครั้งที่มีกระแสด้านลบจากสังคมตีกลับไปถึงศิลปิน คำตอบที่ได้จากพวกนักร้องจะอ้างว่า “โปรดมองให้เป็นศิลปะ” กันแทบจะทุกคน ซึ่งประโยคนี้ทำให้ อาจารย์ทินกร ตั้งคำถามกลับไปว่า เป็นศิลปะหรืออนาจารกันแน่



“เป็นศิลปะหรืออนาจาร มันต้องแยก คำว่าศิลปะมันบริสุทธิ์ไหม ถ้าคุณเอาคำสบถหรือคำอะไรเข้ามาในเพลงที่มันเป็นศิลป์จริงๆ มันไม่บริสุทธิ์หรอก ศิลปะแฝง แล้วไปเรียกตัวเองว่าศิลปิน ผมว่ามันไม่ใช่ มันเป็นศิลเปรอะมากกว่ามันเลอะเทอะ ไม่ได้เอาความเป็นศิลปะมาใส่เหมือนสมัยก่อน ที่ใช้คำสวยๆ เปรียบเทียบ เปรียบเปรย อุปมาอุปไมย แต่สมัยนี้มันโจ๋งครึ่มไป ผมคิดว่าเพลงลักษณะนี้มันมีผลต่อสังคมนะครับ อย่างดาราที่เอาไปล้อเลียนกันเพราะเห็นเป็นเรื่องสนุก แล้วเด็กๆ ก็อาจทำตาม พวกคนเมาๆ ฟังแล้วอาจเกิดอารมณ์ อาจทำให้เกิดอาชญากรรมทางเพศได้ เป็นเหตุจูงใจได้”

สุดท้าย ผู้ที่คร่ำหวาดในวงการเพลงลูกทุ่งมานาน ขอใช้โอกาสนี้ฝากคำแนะนำไปยังนักแต่งเพลงและศิลปินใหม่ๆ ว่า ควรยึดเอาศิลปินแห่งชาติและครูเพลงสมัยก่อนเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีในการทำงาน ดีกว่ามาทำลายความเป็นลูกทุ่งด้วยเพลงที่ไม่สร้างสรรค์แบบนี้



“ฝากถึงวงการเพลงลูกทุ่งนะครับ ผู้ประพันธ์เพลงที่ดีๆ หรือศิลปินแห่งชาติ เขาเลือกที่จะใช้คำสละสลวย เป็นตัวอย่างที่ดีอยู่แล้ว เราก็เอาตัวอย่างมาใช้ให้มันสร้างสรรค์มากกว่าทำลาย เพลงลามกพวกนี้จะทำลายความเป็นลูกทุ่งของเขาเอง เหมือนทุบหม้อข้าวตัวเองนะผมว่า ต่อไปก็จะไม่มีคนยอมรับ มันไม่ได้อยู่จีรังเหมือนกับสื่อที่เป็นอมตะ

ศิลปินแท้ๆ ศิลปะบริสุทธิ์ มันมีคนสนับสนุนมากกว่าที่สื่อทางเพศ กิเลสตัณหามันทำให้สังคมเสื่อม ก็อยากเตือนๆ พวกที่แต่งเพลงด้วย สังคมเราเป็นสังคมพุทธนะครับ เราก็ถือศีลเท่าๆ กัน แต่ว่าคนจะนำไปปฏิบัติในการเขียนเพลงได้ไหม ไม่ให้มันสื่อออกไปในทางที่ลามกอนาจารเกินไป ก็ดูแลกันไป กบว. ก็ต้องติดตามผลงาน แต่ก็ทำได้ไม่ทั่วถึงเพราะสื่อมันออกเยอะ บางทียูทิวป์ก็เอาไปออก สงสารคนดูแลสื่อเหมือนกัน ก็ต้องระวัง”


กำลังโหลดความคิดเห็น