ข้าวปลาไม่กิน ออนทั้งวันทั้งคืน ติดเกมมือถืองอมแงมจนช็อก! เด็กอีกรายจ้องแท็บเล็ตนาน จนตาเหล่ กล้ามเนื้อหัวตาถูกทำลาย พ่อเศร้า! ลูกสมาธิสั้น เดือด! จอปีศาจ จิตแพทย์แนะผู้ปกครองงดเล่นมือถือหวังเป็นตัวอย่างให้ลูก -จำกัดเวลาเล่นไม่เกิน 2 ชม.ต่อวัน นักวิชาการด้านสื่อซัดพ่อแม่บางคนมักง่ายเลี้ยงลูกด้วยมือถือตั้งแต่เล็ก เพราะรำคาญ! เตือนระวังลูกเป็นหุ่นยนต์!
เล่นมือถือจนช็อก- ตาเกือบบอด
อุทาหรณ์สำหรับพ่อแม่ ปล่อยลูกไว้กับโทรศัพท์มือถือ จนเกือบสูญเสียลูกชายวัย 13 ปี สาเหตุเล่นเกมออนไลน์ทั้งวันทั้งคืนนานติดต่อกันหลายวัน ไม่พักผ่อน ไม่ทานอาหาร และน้ำ ทำให้ร่างกายขาดน้ำและสารอาหารจนเกิดภาวะร่างกายช็อก
ผู้ปกครองเด็กชาย 13 ปี เล่าว่า ตนเองต้องออกไปขายของทั้งกลางวันและกลางคืน จึงปล่อยลูกอยู่บ้านคนเดียวเป็นประจำ และลูกชายชอบนั่งอยู่หน้าจอเล่นเกมแบบนั้นไม่ลุกไปไหนจนดึกดื่น และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเห็นลูกชายเล่นเกมต่อสู้ออนไลน์ติดต่อกันมานานกว่าสัปดาห์ จนกระทั่ง พบว่าลูกชายมีอาการลักษณะช็อก ตัวเกร็ง มือเท้าเย็นแขนขาอ่อนแรงควบคุมตัวเอง จึงรีบหามส่ง ขณะนี้เด็กพ้นขีดอันตรายแล้ว แต่พบว่าเด็กมีลักษณะเป็นโรคสมาธิสั้นขั้นรุนแรง ต้องทำการรักษาในตามระดับต่อไป
มหันตภัยของการจ้องมือถือเป็นเวลานานนั้น ยังส่งผลให้เด็กเล็กหลายคนต้องเข้าโรงพยาบาลผ่าตัดดวงตากันหลายราย จนกลายเป็นโรคตาดิจิตอล เช่นเดียวกับกรณีของน้องวินนี่ วัย 5 ขวบ แพทย์ตรวจพบว่า กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงจากการเสพติดแท็บเล็ตจนต้องผ่าตัด เพราะองศาของลูกตาเหล่ออกมาประมาณ 35 องศา และยังมีอาการเหล่ออกไปเรื่อยๆ หากไม่ผ่าตัดรักษาจะทำให้สูญเสียการมองเห็นภาพ 3 มิติ และต่อไปตาจะไม่ทำงาน
คล้ายกับเคสของเด็กวัย 4 ขวบ ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดดวงตา คุณพ่อได้โพสต์เตือนหวังเป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้ปกครอง แนะคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ต้องใจแข็ง อย่าให้ลูกเล่นมือถือ
“เคยได้ยินข่าวกันมาบ่อย แต่ก็มาเจอกับตัวเองจนได้ จอปีศาจ เลี้ยงลูกกะมือถือ ไอแพด ตอนสองขวบ ดูแลเค้าไม่ทันบางทีก็ ให้ดูจอไปพลางๆจะได้ไม่กวนไม่งอแงมาก ท่านอย่าดีใจไป เด็กอารมณ์ดีตอนได้ดู แต่พอไม่ได้ดูจะอารมณ์เสีย ต้องดูให้ได้ เหมือนเด็กติดเกมเลย ผลกระทบที่ได้มา เราเองคนเป็นพ่อเป็นที่ต้องมาเสียใจ มานั่งสงสารลูก ทำไมเราไม่ดูแลเขาดีๆ พอตาเริ่มมีปัญหาก็ให้ใส่แว่นประคองอาการหวังว่าจะดีขึ้น สุดท้ายต้องมาผ่าตัดตั้งแต่อายุ 4 ขวบ ผลที่ได้รับมามันร้ายแรงกว่าที่คิดมาก ทั้งสมาธิสั้น รอไม่ค่อยเป็น หลังจากไม่ได้ดู อารมณ์ดีขึ้นเยอะเลย คนละคนเลย”
เช่นเดียวกับผู้ใช้เฟซบุ๊ก Bumm Montira ได้เล่าว่า ลูกของตนที่อยู่ชั้น ป.6 ป่วยเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม ที่มักจะเกิดในผู้ใหญ่วัยทำงานที่นั่งหน้าคอมพ์นานๆ โดยลูกมีอาการอาเจียน ปวดหัวหนักเหมือนมีไข้ คล้ายเป็นไมเกรน จนต้องประคบร้อนบริเวณต้นคอและนวดเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ สาเหตุเป็นเพราะตนปล่อยให้ลูกเล่นโทรศัพท์นานเกินไป พร้อมทั้งเตือนว่า “รักลูกอย่าให้เล่นโทรศัพท์เป็นดีที่สุด”
พ่อแม่ทำได้มั้ย!? งดเล่นมือถือเป็นตัวอย่าง
จิตแพทย์ชี้เด็กเล่นมือถือจนช็อกนั้น ถือเป็นอาการขั้นรุนแรงของการติดเกม แนะวิธีแก้ต้องกำหนดเวลาเล่นให้ชัด งดเล่นมือถือในเวลาครอบครัว ตามหลัก “3 ต้อง 3 ไม่”
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ชี้เป็นภาวะขั้นรุนแรงของการติดเกม ซึ่งเป็นการเสพติดพฤติกรรม คล้ายกับการติดสารเสพติด ซึ่งการติดเกมนั้นทำให้สูญเสียการใช้ชีวิตประจำวัน เสียการเรียน เสียงาน ไม่กินไม่นอนกระทบสุขภาพ โดยเฉพาะปัจจุบันพบว่าเด็ก และวัยรุ่นมีการติดเกมมาก เนื่องจากเป็นช่วงที่สมองส่วนควบคุมความคิดยังพัฒนาไม่เต็มที่ทำให้ สมองส่วนอยากทำงานได้มากกว่า ซึ่งเป็นปัญหาที่กระทรวงสาธารณสุขกังวลมาก
โดยเฉพาะตอนนี้มีเรื่องของอีสปอร์ตเข้ามา ทางกระทรวงและเครือข่ายจึงได้ประกาศเจตนารมณ์ในการปกป้องเด็กจากการติดเกม และมีข้อเรียกร้องให้พิจารณาควบคุมเรื่องของอีสปอร์ตต้องมีกติกาอย่างชัดเจน
“การเล่นเกมนั้นมันมีข้อแนะนำอยู่ตามหลัก “3 ต้อง 3 ไม่” คือ 1.ต้องกำหนดเวลาเล่นไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน 2.ต้องตกลงโปรแกรมและเลือกประเภทเกมให้ลูก เช่น เกมบริหารสมอง ลดเกมที่เสี่ยงความก้าวร้าวอย่างการฆ่ากันยิงกัน พ่อแม่ต้องอยู่ด้วย 3.ต้องเล่นกับลูก เพื่อสอนให้คำแนะนำกันได้
ส่วน “3 ไม่” ได้แก่ 1.พ่อแม่ไม่เล่นเป็นตัวอย่าง 2.ไม่เล่นในเวลาครอบครัว และ 3.ไม่เล่นในห้องนอน
เนื่องจากแต่ละครอบครัวมีภาระหน้าที่แตกต่างกัน บางบ้านอาจจะไม่สามารถอยู่ดูแลลูกๆ ได้ตลอด ดังนั้นครอบครัวที่มีปัญหาเรื่องเวลา อาจจะต้องมีการพูดคุยกับครู ว่าอาจจะมีการส่งเสริมให้เด็กได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ เพื่อทดแทนการเล่นเกมได้ ฝากเรื่องนี้ไว้เตือนสำหรับครอบครัวต่างๆ ได้คิดให้มากหากจะปล่อยเด็กกับการเล่นเกม
เบื้องต้นทางกรมสุขภาพจิตได้จัดทำแบบประเมินการติดเกมเอาไว้สามารถเข้าไปรับการประเมินได้ที่เว็บไซต์ของกรมได้ แต่หลักๆ คือหากเล่นเดิมมากกว่า 2 ชั่วโมงและสูญเสียการทำหน้าที่ประจำวันไปแล้วควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย ปรับพฤติกรรม”
เลี้ยงลูกผ่านจอ...ระวังได้ลูกเป็นหุ่นยนต์
ในต่างประเทศอย่างฝรั่งเศสเล็งเห็นอันตรายของการที่เด็กติดสมาร์ทโฟนจนผุดมาตรการเฉียบขาด แก้ปัญหาเด็กติดมือถืองอมแงม ด้วยการ “แบนมือถือในโรงเรียน” สำหรับเด็กประถม 3-15 ปี ซึ่งเริ่มต้นไปแล้วเมื่อ 2 กันยายน 2561
“เราทราบดีว่าทุกวันนี้เกิดปรากฏการณ์ติดหน้าจอขึ้น และบทบาทหลักของเราคือช่วยปกป้องเด็กๆ และเยาวชนจากการใช้มือถืออย่างผิดๆ มันคือบทบาทพื้นฐานของการศึกษา และกฎหมายนี้ก็อนุญาตให้ทำได้” ฌอง-มิเชล บลองเก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการฝรั่งเศส กล่าวถึงภัยร้ายของเด็กติดมือถือ
โดยรัฐสภาฝรั่งเศสได้ผ่านความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย ให้แบนสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอื่นๆ เช่น แท็บเล็ต กับเด็กนักเรียนอายุระหว่าง 3 ถึง 15 ปี ไม่ให้ใช้ในโรงเรียน แม้กระทั่งช่วงพักเรียน แต่มีข้อยกเว้นให้แก่พวกนักเรียนคนพิการและระหว่างกิจกรรมนอกหลักสูตร
ส่วนของโรงเรียนระดับมัธยมที่มีเยาวชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ก็จะเป็นการเลือกเองว่าจะนำมาตรการแบนสมาร์ทโฟนมาใช้หรือไม่
ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการอิสระด้านสื่อ เผย 4 เหตุผลเบื้องหลังสำคัญที่ทำให้กฎหมายฉบับนี้ผ่าน ตั้งข้อสังเกตฝรั่งเศสแบนมือถือในโรงเรียนมีเรื่องมากกว่าแค่แบนมือถือเด็ก แต่เบื้องหลังคือภัยจากสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ชี้ เรื่อง 4ส ที่มาจากงานวิจัยทางการแพทย์ สาธารณสุข และสังคม ที่เป็นเหตุผลสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ให้ได้รับความยินยอมผ่านไปได้ในสภา คือ
1.สัญญาณอินเทอร์เน็ต-มือถือ ส่งผลต่อสมองและสุขภาพ 2.สมาธิในการเรียน ความเบี่ยงเบนออกจากการเรียนรู้ระหว่างครูและนักเรียนลดลง เพราะมีโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตมาแทรกกลางระหว่างกระบวนการเรียนรู้ 3.สัมพันธภาพระหว่างครู นักเรียน พ่อแม่ และสังคมเปลี่ยนแปลงไปทางลบ เป็นศัตรู แปลกหน้ากันมากขึ้น 4.สมรรถนะในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นด้านอื่นๆ ถดถอย ศักยภาพเด็กลดลงในหลายด้าน
นอกจากนี้ นักวิชาการอิสระด้านสื่อ ยังกล่าวถึง "เด็กในโลกดิจิทัล" กับการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไป ชี้ การเรียนรู้ของเด็กสมัยนี้ เริ่มต้น อ้างอิง มาจาก "ประสบการณ์หน้าจอ ก่อนประสบการณ์จริง"
ซึ่งจะไม่เหมือนกับการเรียนรู้จากโลกจริง เพราะจะต้องเจอปัญหา เงื่อนไข สภาพอุปสรรค ความเสี่ยง สิ่งที่ไม่ได้คำนึงถึงมากกว่าที่จะเจอในคอมพิวเตอร์ซึ่งถูกออกแบบกำกับตัวแปรและวิธีการประมวลผลสำเร็จรูปมาเหมือนๆ กันหมดแล้ว
การเรียนจากคอมพิวเตอร์ จึงทำให้เด็กแคระแกร็นทางทักษะการสื่อสารและพัฒนาการทางสมอง เด็กๆ ก็จะกลายเป็นเพียงหุ่นยนตร์ที่ถูกป้อนโปรแกรมเข้าสมอง โดยไม่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ใดๆ เลย ได้ไปแต่เพียงความรู้ ฉาบฉวยและมักง่าย แต่ไม่รู้จักกระบวนการเรียนรู้ การค้นหาความรู้ การวิจัย การทดลอง การค้นคว้า ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญกว่ามาก โดยเฉพาะในยุคสมัยนี้ที่ความเชี่ยวชาญสันทัดมีค่ายิ่ง
ใครที่มีลูกก็ควรจะเข้มงวดกับตัวเองมากๆ ระเบียบวินัยและความอดทนอดกลั้นต่อการเลี้ยงดูลูกสำคัญกว่าความมักง่ายที่พ่อแม่มักจะเอามือถือให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก เพียงเพราะเหตุผลเรื่องความรำคาญ อยากให้เด็กอยู่นิ่งๆ นั่งเงียบๆ เล่นมือถือดูยูทูปไป
“ถ้าเลี้ยงลูกกับคอมพิวเตอร์ คุณก็จะได้ลูกแบบหุ่นยนต์”