xs
xsm
sm
md
lg

“ลุยช่วยคนจนกว่าสิ้นลม” จิตอาสาหัวใจน่านับถือ “เค เยาวราช”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คนใจบุญนิรนาม ทำชีวิตเปลี่ยน!! “เค-เยาวราช” ชายคนนี้เคยเจอสถานการณ์ย่ำแย่จนต้อง “นอนข้างถนน-เงินไม่มี-คิดชิงทรัพย์” แต่ด้วยข้าว 1กล่อง เงิน 20 บาท ฉุดชีวิตขึ้นมาจากจุดตกต่ำ สู่นักธุรกิจจิตอาสา “แจกอาหาร-อาสาช่วยคน” ขออุทิศตัวทำดี จนกว่าจะหมดลมหายใจ

วิกฤตชีวิตสุดช้ำ!! ล้มได้ ก็ลุกได้

“ตอนเด็กๆ ผมเรียนป.4 ไม่จบ ที่บ้านมีพี่น้อง 12 คน ผมเป็นลูกคนที่ 9 เราก็เลยให้น้องเรียน ตอนเด็กๆ ก็ลำบากครับ กินข้าววัด มีงานรถไต่ถังก็ไปช่วยเก็บตั๋ว มีการแสดงเกี่ยวกับของเด็กเล่น รถไฟ รถบัมป์ ผมก็ไปคอยเก็บตั๋ว ก็ได้ตังค์ ได้หาประสบการณ์ชีวิต ได้เรียนรู้มา พ่อแม่ผมก็ไปขายก๋วยเตี๋ยว ขายอาหาร ตามงานวัด

เมื่อมีงานวัด ผมก็ช่วยทำอาหารกับพ่อ อย่างเช่นตอนทำขาหมูก็มานั่งเอาไฟเผา ขูดขนขาหมู ซึ่งสมัยเด็กก็รู้สึกไม่อยากทำหรอกครับ พูดตรงๆ ว่าทำทำไม เบื่อ มานั่งขูด มาเผาหมู มันเหม็น เผาขาหมูให้ไหม้ เพื่อที่จะมาทำข้าวขาหมู แล้วก็มาต้มไก่ มานั่งเฝ้า ตอนแรกเราก็ยังโกรธพ่อกับแม่เลยว่า ทำไมให้เราตัวขนาดนี้ เพิ่งอายุไม่เท่าไหร่มาทำงานหนัก พอโตขึ้นเราถึงรู้ครับ ว่าพ่อแม่เขาปลูกฝังให้เรารู้จักทำมาหากิน แล้วผมก็ทำเป็น ถึงได้ทำอาหารให้คนกินได้”



นี่เป็นคำพูดที่เปิดเผยถึงชีวิตในวัยเด็กของ “เค-เยาวราช” หรือ “สมศักดิ์ ศรีเพ็ชร” ที่ปัจจุบันฐานะดีขึ้น จนกลายมาเป็นจิตอาสาช่วยเหลือคนอื่น ในหลายๆ งาน เช่น งานพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9, น้ำท่วมใหญ่ปี 54, ช่วย 13 หมู่ป่าฯ ที่ถ้ำหลวงฯ, ฝายที่ สปป.ลาวแตก ฯลฯ แต่ก่อนหน้านั้นเขาเคยมีช่วงเวลาที่ยากลำบากอยู่ไม่น้อย จนเขาต้องคอยดิ้นรนเพื่อหาเงินมาใช้จุนเจือครอบครัวด้วยความอดทนอย่างมาก

กระทั่งอายุได้ประมาณ 12-13 ปี เขาได้ย้ายตามครอบครัวจากจังหวัดเพชรบุรี มาอยู่ในกรุงเทพฯ ชีวิตในเมืองกรุงพ่อแม่ของเขาเริ่มด้วยการขายโรตีสายไหม ขณะที่ตัวเองนั้นประเดิมด้วยการขายพวงมาลัย ขายหนังสือพิมพ์ตามสี่แยก หลังจากนั้นประมาณ 1-2 ปีเขาก็เบนเข็มมาต่อยมวยหวังได้เงินมาให้ครอบครัว แต่ก็ไม่ได้ราบรื่นดั่งใจหวังไว้ จนเกือบกลายเป็นมิจฉาชีพ

“มีคนพาเราไปต่อยมวยที่โคกสำโรงนะครับ เวทีมวยโคกสำโรง ตอนนั้นเขาพาเราไปต่อยมวย เราก็มีตังค์ติดตัวอยู่นิดหน่อย มีไม่ถึง 10 บาท แต่ไปต่อยเขาบอกให้ค่าตัว 500 แต่ไม่ได้ คนที่เขาพาเราไปเหมือนเขาเสียมวย แล้วเขาไม่มีจ่าย เราก็นั่งรอตรงเวที จนไม่มีใคร เราก็ไม่รู้จะไปไหน ไม่รู้จักใคร เราก็ได้นั่งรถเมล์กลับ พอหลังจากนั้น 4-5 ทุ่ม ไปถึงสนามหลวงประมาณเที่ยงคืน รถเมล์ก็หมดเที่ยงคืนที่สนามหลวง นับจากศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ต้นมะขามต้นที่ 4 สมัยก่อนจะมีโต๊ะกทม. เราก็ลงตรงนั้นแล้วนอนหน้าศาลอาญา



ตอนผมนอนก็คิดว่าเราจะเอาเงินที่ไหนใช้ ไม่มีเงิน แล้วพรุ่งนี้เราจะทำยังไง เราไม่มีกิน เราก็คิดว่าพรุ่งนี้วิ่งหากระเป๋าใครสักอันไหม วิ่งราวอ่ะครับ หรืออาจจะกระชากสร้อยอะไรอย่างนี้ ตอนนั้นคิดนะครับว่าเรายังอายุ 13-14 มันยังเป็นช่วงต่อของวัยรุ่น วุฒิภาวะยังไม่มี”

ด้วยความหวังว่าตัวเองจะได้เงินจากการต่อยมวย เพื่อนำไปให้พ่อแม่ภูมิใจว่าได้ไปต่อยมวยมาแล้วได้เงิน นำเงินส่วนนั้นให้พ่อกับแม่ที่ปลูกเพิงสังกะสี อยู่แถวบางบอนใช้เป็นค่าน้ำค่าไฟก็ยังดี แต่โชคชะตากลับไม่เข้าข้างเขา แต่ดันมาถูกโกงเงิน จนรู้สึกเสียใจและรู้สึกท้อแท้

“เราไม่มีกินอ่ะ แล้วลองคิดดูก่อนต่อยมวยก็ห้ามกินข้าว เพราะมันจะจุก แล้วต่อยมวยเสร็จเราก็ไม่ได้กินข้าวอีก คุณลองนึกดูสิ ผมนอนจนถึงตี 5 ไม่มีข้าวตกถึงท้อง คุณจะทำยังไงอ่ะ

เดชะบุญ ตื่นเช้ามา มีคนเอาข้าวกับตังค์ 20 บาท วางไว้ให้เรา ขอบคุณนะครับ ยังไม่รู้เลยทุกวันนี้ว่าเขาเป็นใคร ผมไปทำบุญทุกวันนี้ ผมอุทิศส่วนกุศลให้ท่าน ตายไปแล้วหรือยังไม่ตายผมไม่รู้ แต่เงิน 20 บาทกับข้าวกล่อง เปลี่ยนชีวิตผมจริง สำหรับคนอื่นอาจจะดูโอเวอร์นะ”

อาหารและเงินจากคนใจบุญในวันนั้น สามารถฉุดชีวิตของเค เยาวราชเอาไว้ พร้อมมีเงินค่ารถกลับบ้าน ทำให้เขาไม่ต้องกลายเป็นมิจฉาชีพ เพราะหากเป็นเช่นนั้นอาจทำให้ชีวิตพบกับเรื่องเลวร้ายไปกว่าเดิม จนต้องไปใช้ชีวิตในคุกแทนก็ได้

เดินซื้อเศษทอง ฟันกำไรครั้งแรก 4 หมื่น!!

หลังจากชีวิตเคยผ่านจุดยากลำบากในเวลานั้นมาได้ ชายผิวแทนได้เริ่มหางานทำ โดยการเป็น "กุลี" ยกของแบกของแถวเยาวราช จนกระทั่งได้มารู้จักกับคนร่อนทอง และเรียนรู้วิธีการร่อนจากเขา

นอกจากนี้เขายังได้รับโอกาสจากเจ้าของร้านทอง ช่วยสอนให้เขาเป็นช่างทำทอง สอนให้รู้จักวิธีการดูทองให้เป็นว่าเป็นทองประเภทไหนบ้าง ไม่เพียงแค่สอนให้รู้จักการดูทองให้เป็นเท่านั้น แต่เฮียตี๋ เยาวราช เจ้าของร้านทอง พร้อมแนะวิธีทำมาหากินด้วยการออกไปรับซื้อของเก่า เศษเงิน เศษทอง จนมีรายได้จำนวนมาก

"มีวันหนึ่งเราไปเจอตะขอทองเล็กๆ ถ้าเปรียบเทียบเดี๋ยวนี้ ก็เท่าตะขอทอง 50 สตางค์ คนร้านทองจะเข้าใจ หน้าร้านเขาเป็นร้านขายทอง เราก็หยิบขึ้นมา เอ๊ย! ทอง เราก็เดินเข้าไปถามร้านเขา เฮียครับ ชื่อ เฮียตี๋เล็ก เยาวราช เฮียครับ นี่ใช่ของเฮียไหม ดูก่อน ของอั๊ว ลื้อจะขายเหรอ เปล่าครับ ผมเห็นมันหล่นอยู่หน้าร้าน คงติดรองเท้าหรือใครทำหล่น คืนเฮียละกัน ผมก็เดินออก เขาบอก เฮ้ย! เดี๋ยวตั้งแต่พรุ่งนี้ มาซื้อกาแฟให้อั๊วนะ มาอยู่ที่ร้าน และสอนผมเรียนรู้วิธีการดูทองให้เป็น



เฮียตี๋เขาก็บอกว่าพอเวลาไปซื้อ ก็ประกาศบอกเขาด้วย ใช้เสียงเรานะ รับซื้อของเก่า รับซื้อนาฬิกาเก่าครับ รับซื้อของเก่าโบราณ แว่นตา เศษเงินเศษทอง ของเก่าที่ไม่ได้ใช้ โต๊ะ ตู้ เตียงเก่า กระเบื้องเก่า ของเก่าโบราณ เข็มขัดเงิน แบงก์ต่างประเทศ เหรียญต่างประเทศมาขายได้ครับ เราก็เดินไป ก็มีคนมาขายจริงๆ”

ขณะเขาเดินประกาศรับซื้อเศษทอง จึงได้พบกับป้าคนหนึ่งที่นำกระป๋องนมออกมาเทให้ดู มีทั้งแหวนเงิน แหวนทอง จำนวนมาก เขาจึงได้ทำการสอบถามราคาและรับซื้อสินค้าทั้งหมดมาในราคา 1,500 บาท

พอมาถึงเยาวราช เฮียตี๋เล็ก ถามคำถามแรกกับเคว่า ทำไมถึงกลับมาเร็ว จนทำให้เฮียคิดว่าเคเป็นคนขี้เกียจ ไม่ทำมาหากิน แต่เขาก็ได้อธิบายไปว่ารับซื้อของจนไม่เหลือเงินแล้ว

“เฮียแกก็หยิบทองมาฝน มาชั่ง ได้เกือบ 4 หมื่น จับมือนี่มือสั่น เพราะชีวิตนี้ไม่เคยจับเงินหมื่น 4 หมื่นกว่า เราเอามาใส่กระเป๋ามัดยาง และถามเฮียอยากกินไรครับ ผมก็วิ่งไปห้างสรรพสินค้าตรงนั้นอ่ะ อะไรสักอย่างตรงเยาวราช มันจะมีร้านแมคโดนัลด์ ก็ไปซื้อแมคโดนัลด์ 2 อัน แล้วโค้ก 2 แก้ว ซึ่งแพงที่สุดในชีวิตเรา ตอนนั้นก็ประมาณ 100 กว่าบาท เอามาให้เฮียกินชุดหนึ่ง ผมชุดหนึ่งก็นั่งกิน กินไปน้ำตาก็ไหลไป เฮียก็บอกว่ามึงร้องไห้ทำไมล่ะ มันไม่อร่อยหรอ เปล่าครับ คืออย่างที่เฮียว่าชีวิตผมเปลี่ยนแล้ว ผมไม่ทำอาชีพอื่นแล้วเฮีย ต่อยมวยก็คงไม่เอาแล้วล่ะ ผมจะวิ่งรับซื้อของอย่างนี้นะเฮียนะ เฮียสอนผมหน่อยนะ ผิดถูกยังไงเฮียก็ว่า ก็แนะนำผมนะ



เมื่อดูท่าว่า ชายหนุ่มจะรุ่งจากการซื้อขายของเก่า เฮียตี๋เล็ก เจ้าของร้านทองผู้มีพระคุณ เริ่มแนะนำให้เค ขยับขยายหาที่ทำกิน ให้รู้จักการไปหาน้ำบ่อใหม่ โดยแนะนำให้ลองไปดูที่สวนจตุจักร เขาจึงเริ่มเปิดร้านขายของเก่ามือสองอยู่ที่สวนจตุจักร จนเริ่มมีทุนทรัพย์มาใช้ในชีวิตแบบไม่ลำบากเหมือนในอดีต

“ฐานะดีขึ้น” จึงแบ่งปัน เพราะรู้ว่า “การไม่มี” เป็นอย่างไร

“พอเริ่มมีทุน เราก็เริ่มไปซื้อกับข้าว แจกคนไร้บ้าน แจกคนที่สนามหลวง ก็เหมือนกับว่าตอนที่เราจน ก็มีคนเอาข้าวมาให้เรา เราก็เริ่มทดแทนบุญคุณ ก็คือข้าวหม้อแกงหม้อ มีอะไรก็ทำไปเรื่อย”

จนรู้สึกว่าค้าขายของเราก็เริ่มดีมาตลอด คือเรายิ่งทำยิ่งได้ เราก็ได้เจอคนเอาของมาขาย ฟลุก เจอคนเอาของมาขาย คราวนี้กำไรเป็นล้าน ฟลุกเจอของเก่าโบราณเจอพระเครื่อง เราเอามาให้ผู้ใหญ่ดู เขาก็บอกว่านี่มันแท้นะ มันแท้นะ เราก็ถามทั้งหมดนี่ได้เท่าไหร่ครับ เออเอาแบ่งกันละกัน กูให้มึงไปล้านนึง เรานี่ตาค้างเลย ช็อก แล้วเราก็เงียบ เขาก็ถาม เฮ้ยมันน้อยไปหรอ มึงจะเอาเท่าไหร่ อ่ะๆ กูให้มึงอีกแสนนึง



นอกจากนี้เงินที่ได้จากการทำธุรกิจขายของเก่า ชายรวยน้ำใจคนนี้ จะแบ่งเงินจากการขายของมาใส่ในกระปุกสำหรับใช้ในการซื้ออาหารมาทำแจกจ่ายคนไร้บ้านที่หัวลำโพง ด้วยเมนูง่ายๆ แต่ใส่ใจด้วยคุณภาพของอาหารที่เลือกมาอย่างดี

“คือ มันก็ไม่ได้ยาก แต่มันก็ไม่ได้ง่าย เพราะเราต้องใส่ใจ แล้วก็ใส่คุณภาพ ของที่เราเอามาเราก็จะคัดสรร ไส้กรอกเราก็เลือกอย่างดี แฮมก็เลือกอย่างดี ส่วนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเนี่ยมันมีอยู่แล้ว แต่ถ้าเราใส่ใจ น้ำให้ร้อน พอน้ำร้อนเราใส่ไข่ไว้ ใส่น้ำร้อนค่อยๆ เท ทำไมต้องเทช้าๆ วนเพื่อให้ไข่มันสุก แล้วก็ให้เขากินได้รสชาติที่อร่อย ไม่ใช่เราทำให้คนไร้บ้านกินแล้ว เราก็ทำสุกเอาเผากิน ไม่สะอาด เราก็ไม่ทำอย่างนั้น เพราะถ้าเขาป่วย เขาไม่สบาย ที่เราจะได้บุญก็กลายเป็นจะได้บาป

หลังจากเค เยาวราช เปิดร้านพระเครื่องแล้ว เขารู้สึกว่าชีวิตต้องมีความรู้ ต้องเพิ่มพูนความรู้ จึงตัดสินใจเรียนกศน. พร้อมต่อยอดด้วยการเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง และเรียนโรงเรียนเสนาธิการทหารด้วย จนสามารถนำความรู้มาใช้จัดการชีวิตให้รู้จักวางแผนงานต่างๆ ในการเป็นจิตอาสาได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น



“คือเราอยากเรียนได้ความรู้เพื่อมาพัฒนาตัวเรา แล้วก็พัฒนาในการเป็นจิตอาสาเพื่อวางแผนในการทำงาน เวลาจะลงพื้นที่เราต้องมีรถกี่คัน น้ำมันกี่ลิตร เสบียงเท่าไหร่ อาหารเท่าไหร่ มันใช้ได้หมดเลยครับ ในการสอนวิชาของโรงเรียนเสนาธิการทหารเราคิดแผนหนึ่ง แผนสอง แผนสาม จนสำเร็จลุล่วง ถ้าไม่เรียนที่นั่นผมก็ไม่มีการวางแผนที่ดี

อย่างตอนที่ผมไปถ้ำหลวงก็ต้องมีการวางแผนที่ดี นำรถเสบียงไว้ข้างล่างเพื่อทำครัว เอารถที่อพยพคนได้ขึ้นไปรับหน่วยซีล เอาไปช่วยงานที่ถ้ำหลวงได้ แล้วก็ลำเลียงของมาให้เจ้าหน้าที่เขาจะได้ทำงานได้สะดวกขึ้น

ส่วนงานพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ ๙ ตรงนั้นผมก็ได้แจกอาหารกลางวัน แจกอาหารกลางคืน แจกน้ำ ทำสเต๊ก ทำมาม่า แล้วก็ลำเลียงอาหารเข้าไป เวลาฝนตกเราก็เอาร่มไปไว้ตามสถานที่จุดคัดกรองต่างๆ ดูแลพี่น้องประชาชนที่มากราบพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ ๙ เป็นผลบุญกุศลที่ทำให้ผมรู้สึกเป็นสนามบุญใหญ่ที่ผมตั้งใจทำปีกว่า เพราะว่าในหลวงท่านทรงเป็นแบบอย่างสำหรับผมนะ ในการอยู่แบบพอเพียงจริงๆ เป็นแบบอย่างทำให้ผมมีกำลังใจในการทำงาน”



ไม่เพียงแค่ช่วยเหลือประชาชนในประเทศเดียวกันเท่านั้น แต่เขายังช่วยเหลือพี่น้องประเทศลาว ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ฝายแตก โดยการนำเสบียงอาหารเข้าไปช่วยประชาชนนับพัน ด้วยเส้นทางที่ค่อนข้างลำบากและใช้เวลานานหลายชั่วโมง แต่ก็ไม่มีอะไรมาหยุดยั้งความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือคนของเขาได้

“สมัยก่อนเราจนเราก็อยากได้อยากมีนะ อยากมีรถ มีบ้าน อยากกินอาหารดีๆ เหมือนที่คนอื่นเขามี แต่เราได้รู้ว่าสิ่งนั้นมันคือสิ่งจอมปลอม มันแค่ชั่วคราว เพราะเรากินของแพงๆ ยังไงก็แค่ให้อิ่ม ขับรถอะไร มันก็ไปถึงที่เหมือนกัน แต่แอร์อาจจะเย็นน้อยกว่าหน่อยก็ไม่เป็นไร แต่สิ่งที่จริงๆ ที่จะมีในชีวิตเราก็คือบุญกับบาป ผมเชื่อว่ามันจะติดตัวเราไปจนตาย ถ้าเราทำในสิ่งที่ดี เราก็จะเจอคนที่ดี แต่ถ้าเราทำในสิ่งที่ไม่ดี ผมเชื่อว่าท่านตายไปท่านก็ต้องได้รับกรรม



ส่วนท่านที่อยากเป็นจิตอาสา ไม่จำเป็นจะต้องมีรถ ไม่จำเป็นจะต้องมาสมัครเป็นจิตอาสาเหมือนพวกผมหรอกครับ แค่ท่านเดินไปในถนน เจอถุงพลาสติกใบหนึ่ง เก็บทิ้ง เจอไม้ลูกชิ้นหล่น เจอแก้วแตก หรือว่าท่านขับรถไปเจอกิ่งอะไรที่หล่นมากีดขวางรถ ก็เก็บทิ้ง นั้นก็เป็นผลบุญที่ท่านเหมือนกับการได้เป็นจิตอาสาแล้ว

ผมคิดว่าจะทำจิตอาสาไปเรื่อยๆ ไม่คิดว่าจะทำไปถึงไหน คือเราไม่รู้ว่าบุญเรามีแค่ไหน บาปเรามีแค่ไหน เราจะตายเมื่อไหร่ แล้วคิดว่าถ้าบุญกุศลส่งให้เราทำไปเรื่อยๆ ยิ่งนานมากยิ่งมีประสบการณ์มาก เราจะยิ่งช่วยคนได้เยอะ ก็ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดลมหายใจครับ”



สัมภาษณ์: รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ”
เรียบเรียง: ทีมข่าว MGR Live
เรี่อง: สวรส พวงเกาะ
ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก “เค เยาวราช”


กำลังโหลดความคิดเห็น