ยอดวิวกระหึ่ม! ยิ่งมีกระแสจ่อแบนยิ่งแห่ดู “ประเทศกูมี" เอ็มวีเนื้อหาเสียดสีสาดใส่ความรู้สึกต่อสังคม แถมยังจำลองภาพเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ รัฐเพ่งเล็งดันยอดผู้ชมพุ่งกระฉูดทะยานทะลุ 12 ล้านวิว สังคมตั้งคำถาม ผิด กม.ตรงไหน ทำลายหรือสร้างสรรค์!? นานาทัศนะ ธนาธร ชี้ เพลงนี้ท้าทายความจริง สั่นคลอนอำนาจอย่างรุนแรง นักแต่งเพลงชื่อดังยัน เพลงแค่นี้ไม่มีพลังถึงขั้นทำลายชาติได้ อุ๋ย บุดดาเบลส ชี้เสรีภาพต้องมีขอบเขต
ยิ่งห้ามยิ่งยุ!
กลายเป็นแรงกระเพื่อม!หลังจากเพลง “ประเทศกูมี” ของศิลปินวง Rap Against Dictatorship (RAD) ที่กำลังถูกตรวจสอบเข้มจากหน่วยงานภาครัฐ ว่าขัดคำสั่ง คสช. และพ.ร.บ.คอมพ์ หรือไม่ เพราะเนื้อเพลงมีการเสียดสีสังคมและมีภาพจำลองเหตุการณ์นักศึกษาชุมนุมประท้วง ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 หนึ่ง ในผู้แต่งเพลงยันเป็นการตั้งคำถามถึงเหตุการณ์และประเด็นในสังคมที่คนที่ได้ฟังนำไปคิดตาม นำไปสู่การแก้ไข ยันไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใด ทุกคนมีสิทธิ์พูดถึงเรื่องพวกนี้ได้อยู่แล้ว ชี้รัฐบาลทำให้เพลง “ประเทศกูมี” ดัง คนที่ไม่เคยฟังก็ไปหามาฟัง
"...เราไม่ได้บังคับว่า ทุกคนต้องเชื่อเรา อยากให้สังคมนำไปฟัง แล้วคิดตาม เช่น ท่อนแรกของเพลงเป็นเรื่องเสือดำ เราไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องคดี หรือความผิด แต่อยากสะท้อนให้เห็นว่า ทำไมประเทศนี้ ถึงยังมีเสือถูกยิงในพื้นที่อนุรักษ์" HOCKHACKER หนึ่งในศิลปินวง Rap Against Dictatorship กล่าว
ล่าสุด Rap Against Dictatorship ยืนยันว่า พวกเขายังปลอดภัยดีกันทุกคน ขณะนี้ ยังไม่มีการเข้าจับกุมใดๆ จาก จนท.รัฐ ตามที่มีการลือกัน แต่แน่นอน
“แม้ว่าหลายๆคน จะไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของเพลงเรา และ มีความเชื่อทางการเมืองที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่พวกท่านก็ยังช่วยปกป้องเสรีภาพในการวิจารณ์ของพวกเราไว้ เราเชื่อว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเครื่องยืนยันที่ชัดเจนว่า ไม่ว่าเรา-ประชาชน จะมีความแตกต่างกันแค่ไหน แต่พวกเราก็สามารถต่อสู้กับความไม่ถูกต้องร่วมกันได้”
ยันทุกวันนี้สามารถทำเพลงแร็ปการเมืองได้ ก็อยากให้ทุกคนพูดความในใจ เพราะไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ที่น่ากลัวเพราะคนพูดมีจำนวนน้อย สิ่งหนึ่งที่อยากจะเสนอ อยากให้คนที่ทำงานและสื่อสารด้านศิลปวัฒนธรรมสนใจเรื่อง Freedom of Speech (เสรีภาพในการพูด) เพราะถ้าไม่สนใจสิ่งที่พูดได้อย่างปลอดภัยในตอนนี้ อาจเป็นสิ่งต้องห้ามในอนาคตได้
ความแรงของเนื้อเพลงบวกกับภาพในมิวสิควิดีโอทำให้มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เสียงแตกเป็นสองฝ่ายแม้แต่บุคคลที่มีชื่อเสียงนานาทัศนะ หนำซ้ำรัฐยิ่งออกมาประกาศว่าอาจเข้าข่าย ผิดกฎหมายและอาจจะโดนแบน ยิ่งทำให้ใครต่อหลายคนอยากเข้าไปดู ดันยอดวิวให้พุ่งสูงขึ้นจนน่าตกใจ อีกทั้งยิ่งใกล้วันเลือกตั้งแล้วเพลงนี้อาจจะมีนัยสำคัญ หรือมีอะไรแอบแฝงหรือไม่!? แต่สำหรับคอเพลงแร็ปแล้วมองว่าเนื้อเพลงเสียดสีสังคมนั้นเป็นวัฒนธรรมของเพลงฮิปฮอปอยู่แล้ว
นอกจากนี้ เพจดังอย่าง อีเจี๊ยบ เลียบด่วน ได้แสดงความเห็นว่า ผู้ใหญ่ภาครัฐพลาดมาก ที่ไปแตะเรื่อง #ประเทศกูมี เพลงมันอยู่นิ่งๆ เงียบๆ ผู้ใหญ่ไปเตะ ไปดิ้นใส่มันคราวนี้สนุกเลย คนหันมาอยากฟังเพลงกันใหญ่ ก่อนหน้านี้มีอยู่แสนวิว พอบอกว่าสุ่มเสี่ยง จะเรียกมาคุยปุ๊บ ตอนนี้ไปล้านกว่าแล้ว
ถ้าใจกว้าง รับฟังเสียงสะท้อนของวัยรุ่น ความรู้สึกของคนส่วนหนึ่งในสังคมที่เค้าอึดอัดมาหลายปี จะได้รู้ว่าอะไรคนรู้สึกไม่ดีกับการทำงานของเรา และเอาไปแก้ไข และว่า "มันก็แค่เพลงเพลงหนึ่ง"
เพลงแค่นี้...ทำลายชาติไม่ได้
อย่างไรก็ตาม หากจะโฟกัสไปที่เนื้อเพลงที่มีเนื้อหาประชดประชันต่อว่าสังคมไทยนั้น "ดี้ -นิติพงษ์ ห่อนาค" นักแต่งเพลงชื่อดัง แสดงทัศนะส่วนตัวถึงเพลง "ประเทศกูมี" เชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นเพลงไหนๆ ลูกทุ่งหรือแร็ป ก็ไม่สามารถมีอำนาจพลังถึงขั้นจะทำลายชาติได้
“ ไม่เป็นไรน่า จะเพลงแร็ป เพลงหมอลำ ยุคนี้ เดี๋ยวก็มา เดี๋ยวก็ไป คนชอบก็ชม คนเกลียดก็ด่า แต่เพลงแค่นี้ทำลายชาติไม่ได้ดอกจ้ะ”
เช่นเดียวกับ นที เอกวิจิตร หรือ อุ๋ย บุดดาเบลส แรปเปอร์ชื่อดังในวงการเพลงฮิปฮอป ได้แสดงความเห็นถึงกรณีเจ้าหน้าที่จะเอาผิดผู้ทำเพลงดังกล่าวว่า เสรีภาพเป็นคนละเรื่อง กับการละเมิดกฎหมาย และหากจงใจปลุกระดมอาจมีการเลื่อนเลือกตั้ง
นอกจากนี้ ยังได้แสดงทัศนะถึงเนื้อเพลงและตัวศิลปิน ยันหากผิดต้องว่าไปตามผิด
“ถ้าไม่ผิดกฎหมายก็เป็นสิทธิของเค้าครับ แต่ถ้าผิดก็ว่าไปตามกฎหมาย เสรีภาพมีขอบเขต ไม่ด่ารัฐบาล ไปด่าชาวบ้านชาวช่องยังโดนฟ้องหมิ่นประมาทเลย อย่าว่าแต่เด็กเลย ผู้ใหญ่ที่แกล้งโง่ไม่เห็นว่าเผด็จการในคราบประชาธิปไตยเป็นยังไง
ถ้าน้องเค้าสนใจหาข้อมูลกันอีกสักหน่อย คงไม่โหนเรื่องเสือดำ เค้าก็ดำเนินคดีกันปกติ เรื่องปิดกั้นสื่อ มองแง่ดี น้องคงโตไม่ทันยุครัฐบาลประชาธิปไตย คุมสื่อหนักกว่านี้ พูดไปไม่ฟังหรอกครับ บางเรื่องต้องใช้เวลากว่าจะเข้าใจ ถึงมีคำว่าวัยวุฒิ”
นอกจากกระแสเห็นด้วยกับเพลง "ประเทศกูมี" แล้ว กระแสไม่เห็นด้วยกับเพลงนี้ก็มีเช่นกัน ชี้ประเทศไทยมีดีตั้งมาก ทำไมไม่หยิบยกมาเล่า เดือด!ทำลายมากกว่าสร้างสรรค์ โดยหนึ่งในนั้นก็คือ ศศิวิมล อยู่คงแก้ว ภริยา พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผบ.หน่วยซีล ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมตั้งค่าเข้าถึงเป็นสาธารณะ ซัดมันล้างสมองด้วยเสียงเพลง! เกมการเมืองยุค 4.0
เช่นเดียวกับ สมจิตร จงจอหอ อดีตนักชกเหรียญทองโอลิมปิก 2008 ลุกขึ้นมามาเขียนเนื้อเพลงโดยใช้ทำนองเพลงเดียวกันกับ "ประเทศกูมี" โดยเนื้อหาคือการพูดถึงสิ่งดีๆ ของประเทศแสดงออกถึงความรัก และความสวยงามของประเทศไทย ตอบโต้เพลงดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีผู้ตั้งคำถามเจตนาของคนทำเพลงนี้ว่ามีเจตนาพิเศษอะไรหรือไม่ ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกกลุ่มสามมิตร วอนอย่าทำอะไรให้บ้านเมืองขัดแย้งกันอีกเลย เพราะประเทศจะมีการเลือกตั้งแล้ว อยากให้บรรยากาศดี เท่าที่ตนฟังนั้นมีถ้อยคำที่พอรับได้ที่เป็นข้อเท็จจริงตามสถานการณ์ในสังคม แต่บางถ้อยคำก็ทำให้ประเทศเสียหายเพราะมีการบิดเบือน ต้องคำนึงถึงส่วนนี้ด้วย ไม่ใช่นึกจะทำอะไรก็ทำโดย ไม่สนใจผลกระทบต่อประเทศเลย
ทั้งนี้ ยังบอกด้วยว่า ถ้าเป็นตนจะทำเพลง “ประเทศกูดี” มากกว่า เพราะประเทศไทยมีอะไรดีๆ เยอะแยะ เป็นสยามเมืองยิ้ม มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม มีวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ขนาดคนต่างชาติยังรักประเทศไทย เดินทางมาเที่ยวถึงปีละ 37 ล้านคน
สู้ด้วยเพลง...ท้าทายอำนาจรุนแรง
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว MGR Live เกี่ยวกับประเด็นการออกมางัดข้อของรัฐบาล มีท่าทีว่าจะขอแบนเพลง "ประเทศกูมี"
“เผด็จการทั่วโลกเหมือนกัน คือเผด็จการที่จะอยู่ยาวได้ ไม่สามารถปกครองหรือกดขี่ประชาชน ได้ด้วยปืน, คุก หรือกฎหมายเพียงอย่างเดียว อำนาจดิบๆ แบบนั้น ปกครองคนไม่ได้นาน เพราะประชาชนจะลุกฮือ
ดังนั้น ระบบการปกครองที่อยู่ในลักษณะเผด็จการ ที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนแบบนี้เนี่ย จึงเลือกใช้วิธีที่จะปกครองด้วยอำนาจอ่อน คือวัฒนธรรม
คุณครอบงำวัฒนธรรมได้เมื่อไหร่ คุณไม่ต้องใช้ปืน ไม่ต้องใช้กฎหมาย วัฒนธรรมที่เราพูดถึงคือ หนัง, เพลง, ละคร, หนังสือ, บทเรียน, การศึกษา ฯลฯ ถ้าครอบงำตรงนี้ไว้ได้ ก็จะรักษาอำนาจไว้ได้ โดยไม่ต้องใช้อำนาจดิบ
สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศกูมีก็คือ มันไปท้าทายโครงสร้างวัฒนธรรมแบบนี้ คือไม่มีปืนสู้กับปืน ไม่มีคุกสู้กับคุก แต่มีเพลงสู้กับเพลง
เพลงที่ท้าทายอำนาจ เพลงที่ท้าทายค่านิยม เพลงที่ท้าทายความจริง ที่ผู้มีอำนาจ กลุ่มอภิสิทธิ์ชน กลุ่มทหารที่ทำรัฐประหาร แย่งอำนาจจากประชาชน ไม่ต้องการให้ประชาชนรู้ นี่คือการท้าทายอำนาจอย่างรุนแรง ถ้าถามผม ผมว่านี่คือสาเหตุที่ทำให้กลุ่มคนที่มีอำนาจในปัจจุบัน ไม่พึงพอใจกับแร็ปเปอร์กลุ่มนี้
ต้องบอกว่าภายใต้การปกครองของ คสช. 4-5 ปีที่ผ่านมา พวกเราทุกคน ไม่ว่าจะใส่เสื้อสีอะไรมาก่อน ล้วนตกเป็นเหยื่อเท่ากันทุกคน เหยื่อของการที่ไม่มีสิทธิ ไม่มีเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็นที่ต่างจากรัฐบาล
คนที่ตรวจสอบการคอร์รัปชันของรัฐบาล โดนคดี โดนคุกคาม คนที่แสดงความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล โดนปิดปาก
การจัดการชุมนุม การรวมตัวกันเพื่อพูดคุยเรื่องการเมือง เวทีวิชาการต่างๆ ถูกยกเลิก ถูกคุกคามมาไม่รู้เท่าไหร่ ภายใน 4-5 ปีที่ผ่านมา พวกเราทุกคน ล้วนแต่เป็นผู้ได้รับผลกระทบ ของการที่ไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น"
สำหรับประเด็นข้อกฎหมายนั้น เดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายชื่อดัง เจ้าของเพจ “ทนายคลายทุกข์” แสดงความคิดเห็นถึงกรณีดังกล่าวว่า ถ้อยคำในเพลง อาจจะดูแรงไปหน่อย ซึ่งก็เป็นภาษาวัยรุ่น แต่ถ้าจะเอาผิด ต้องตอบให้ได้ว่าเพลงนี้ทำให้ใครเสียหาย ฟังดีๆ เขาด่าใคร เพลงประเทศกูมี เนื้อหาแค่บอกเล่าเรื่องเสือดำ คอร์รัปชั่น บอกประเทศมีอะไรบ้าง ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ว่าเนื้อหาเป็นเท็จ ก็ดำเนินคดีกับเขาไม่ได้ อันที่จริงประชาชนก็มีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้
พอมีคนร้องเพลงหน่อย รัฐบาลจะพังหรืออย่างไร เศรษฐกิจจะล่มสลาย จะพิสูจน์อย่างไง พอเพลงนี้มีคนร้อง พูดถึงคอร์รัปชั่น การโกงกิน เสือดำ การประท้วงมีคนตาย ประชาชนพูดได้หรือไม่ มันมีกฎหมายที่ไหน ห้ามแต่งเพลงล้อเลียนรัฐบาล ห้ามแต่งเพลงเสียดสีสังคม พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบหรือไม่ ถ้าดูในโลกโซเชียลฯ อารมณ์คนส่วนใหญ่กว่า 90 เปอร์เซนต์เห็นด้วยว่าเพลงนี้ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ควรโดนแบน ถ้ารัฐบาลไปทำสวนทาง ก็จะเสียคะแนน
.....เพลงนี้จะ “ปลิว” หรือรัฐจะ“ปล่อย” ก็คงต้องตามดูกันต่อไป
โดยทีม MGR Live