คนแรกในเอเชีย! “มินนี่” สาวน้อยนักแข่งโกคาร์ท ทายาทนักแข่งรถระดับตำนาน สร้างชื่อให้ประเทศด้วยการคว้ารางวัล First Lady จากสนามแข่งระดับโลกมาได้ แถมประสบการณ์ไม่ธรรมดา 3 ปี ล่าถ้วยมาแล้วกว่า 70 สนาม ประกาศให้โลกรู้ ถึงเป็นผู้หญิง แต่ก็ซิ่งไม่แพ้ใคร!!!
กวาดแชมป์แทบทุกสนาม เพราะ “โค้ชคุณพ่อ”
เรียกได้ว่าเป็นลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นของแท้ เมื่อ "มินนี่ - สิตาวีร์ ลิ้มนันทรักษ์” นักแข่งรถวัย 13 ปี ลูกสาวเพียงคนเดียวของ เกรียงไกร ลิ้มนันทรักษ์ อดีตนักแข่งรถแชมป์ประเทศไทยหลายสมัย ที่วาดลวดลายได้อย่างยอดเยี่ยม ในการแข่งขันโกคาร์ทรุ่น X30 อินเตอร์เนชันแนล เวิลด์ ไฟนอลส์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
และที่พิเศษไปกว่านั้น สาวน้อยคนนี้ยังทำผลงานและคะแนนรวมจนได้อันดับ 1 จากนักแข่งหญิง 6 รุ่น ทั้งหมด 28 คน
ก่อนที่ได้รางวัล First Lady จึงถือได้ว่า “มินนี่” เป็นนักแข่งผู้หญิงที่อายุน้อยที่สุดและเป็นผู้หญิงเอเชียคนแรกที่ได้ไป
ไม่รอช้า ทีมข่าว MGR Live จึงขอคว้าตัวเจ้าของรางวัลอันทรงเกียรติในวงการมอเตอร์สปอร์ต มาเปิดใจถึงความรู้สึกและเรื่องราวชีวิตก่อนที่จะได้ก้าวลงสู่สนามระดับโลกอย่างในวันนี้
“ก็รู้สึกดีใจค่ะ(ยิ้มเขินๆ) แต่ก่อนที่จะได้ไปแข่งที่ฝรั่งเศส ก็ต้องผ่านการคัดเลือกมา ไปแข่งในรายการ X30 เอเชีย 6 สนามมา แล้วคะแนนได้เป็นรองแชมป์ ก็เลยได้เป็นตัวแทนเอเชีย หนูเป็นผู้หญิงคนเดียว ไปในนามของประเทศไทยไปแข่งที่ฝรั่งเศส เป็นเวิลด์ ไฟนอลค่ะ นักแข่งมีอายุตั้งแต่ 8 - 19 ปีค่ะ”
สำหรับการแข่งขันรายการนี้ มีการจัดแข่งมาทั้งหมดประมาณเกือบ 30 ปีแล้ว โดยมีนักแข่งโกคาร์ทระดับท้อปมาจากทั่วโลก แต่โควตาของทางฝั่งเอเชียได้แค่ 8 คนเท่านั้น และ “มินนี่” ตัวแทนจากประเทศไทยและเอเชีย ก็ได้มีโอกาสลงชิงชัยมา 2 ครั้ง ครั้งแรกคือปีที่แล้ว แต่ทว่าไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุรถคว่ำระหว่างซ้อม จึงทำให้รถไม่สมบูรณ์
น้องมินนี่และรางวัลอันทรงเกียรติ "First Lady"
มาปีนี้เธอไม่ทำให้โอกาสหลุดลอยไปอีกครั้ง ซึ่งก็มีนักแข่งระดับเทพจากทั่วโลกกว่า 500 คนมาขับเคี่ยวกัน และเธอก็สามารถผ่านเข้ารอบสุดท้าย จนคว้าอันดับ 14 จาก 35 ที่ชิงชนะเลิศกันมาครอง ซึ่งนอกจากจะทำผลงานในรุ่นของตัวเองได้อย่างยอดเยี่ยมแล้ว ยังสามารถคว้ารางวัล First Lady ที่มอบให้เฉพาะนักแข่งหญิงที่คะแนนรวมได้สูงสุดของทุกรุ่นมาได้อีกด้วย
รางวัลนี้จัดตั้งมาแล้วประมาณ 4 - 5 ปี โดยที่ผ่านมา นักแข่งหญิงจากทางยุโรปรุ่นใหญ่กว่าที่ได้ไป หรือแม้แต่ในประเทศญี่ปุ่นที่พัฒนากีฬาแข่งรถมายาวนานกว่าบ้านเราก็ยังไม่เคยได้ รางวัลนี้จึงถือได้ว่านำมาซึ่งความภาคภูมิใจและสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยเป็นอย่างมาก
ปัจจุบันด้วยวัยเพียง 13 ปี จึงทำให้ “มินนี่” ยังถูกจัดอยู่ในประเภทนักแข่งสมัครเล่น ซึ่งการจะเป็นนักแข่งอาชีพได้ต้องอายุ 14 ปีขึ้นไป แต่ก็ถือได้ว่าสาวน้อยคนนี้กลายเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ในวงการกีฬามอเตอร์สปอร์ต ที่เปล่งประกายและพร้อมจะนำชื่อประเทศไทยไปประกาศยังสนามระดับโลกได้อีกครั้งอย่างแน่นอน
เก๋ามาตั้งแต่รุ่นพ่อ! เกรียงไกร ลิ้มนันทรักษ์ เริ่มต้นเข้าสู่วงการนักแข่งรถในปี 2519 เมื่ออายุ 19 ปี โดยยุคนั้นมีนักแข่งรถชื่อดังทั้ง สุทธิพงษ์ สมิตชาติ , มงคล เสถียรถิรกุล , พนัส ควรสถาพร ฯลฯ และตัวเขาเองก็ถือได้ว่าเป็นเพชรเม็ดงามเม็ดหนึ่งในวงการมอเตอร์สปอร์ตของบ้านเราด้วยเช่นกัน ด้วยรางวัลการันตีเป็นแชมป์โกคาร์ทประเทศไทย 2 ปี แชมป์รถยนต์ทางเรียบประเทศไทย 9 สมัย แต่เมื่อถึงปี 40 ที่ประเทศวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ทำให้หลายธุรกิจต้องปิดตัวลง รวมไปถึงสปอนเซอร์ที่จะเข้ามาสนับสนุนการแข่งรถก็หาได้ยาก เขาจึงตัดสินใจประกาศ “แขวนพวงมาลัยรถ” เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์ของประเทศไทยในตอนนั้นไม่ควรจะมาแข่งรถกัน และรู้สึกว่าตนเองมาถึงจุดอิ่มตัว เนื่องจากได้แชมป์ประเทศไทยมาหลายสมัยแล้ว ปัจจุบัน นักแข่งในตำนานที่ยังมีลมหายใจผู้นี้ ยังคงอยู่ในแวดวงความเร็ว เพราะเขาประกอบธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์ อีกทั้งยังเป็นโค้ชส่วนตัวให้ “มินนี่” ลูกสาวหัวแก้วหัวแหวน ที่เดินตามรอยเท้าพ่อ ด้วยการเป็นนักแข่งรถอีกด้วย |
3 ปี กวาดมาแล้ว 70 กว่าถ้วย!
“หนูขับโกคาร์ทครั้งแรกตอน 10 ขวบค่ะ พ่อเป็นนักแข่งรถมาก่อนด้วย แล้วก็อยากให้พ่อไปสอน พ่อก็พาหนูไปลองขับรถเช่าที่สนาม ตอนแรกหนูก็ไม่อยากขับหรอก ตอนแรกก็กลัวนิดหน่อยแล้วก็ตื่นเต้นแต่มันก็สนุกค่ะ ลองไปก็ชอบ พ่อก็เลยให้เอาทางนี้เลย ก็รู้สึกว่าอยากขับอีก ก็ขับไปเรื่อยๆ พอซ้อมได้เวลาดีก็เลยไปลองแข่งค่ะ”
เมื่อให้น้องมินนี่ได้เล่าถึงที่มาที่ไป ก่อนที่จะมาเป็นนักแข่งระดับประเทศแบบนี้ เธอจึงเล่าย้อนไปว่า เมื่อประมาณ 3 ปีก่อน ที่ได้มีโอกาสสวมหมวกกันน็อก จับพวงมาลัย และแล่นฉิวไปกับรถโกคาร์ทในสนามครั้งแรก ก็รู้สึกหลงรักกีฬาชนิดนี้ทันที แต่พอบทสนทนาดำเนินไปได้สักพัก ทีมข่าวก็สัมผัสได้ว่า “มินนี่” เป็นสาวน้อยขี้อายและพูดไม่เก่งเท่าไรนัก ในบางช่วงบางตอนของการสัมภาษณ์ จึงได้คุณพ่อเกรียงไกร ผู้เป็นอดีตนักแข่งแชมป์ประเทศไทยมาช่วยเล่าเสริมด้วย
ตามรอยคุณพ่ออดีตแชมป์แข่งรถ 9 สมัย เกรียงไกร ลิ้มนันทรักษ์
“ปกติผมก็ไปดูรถแข่งประจำ เราก็พาเขาไปดูรถโกคาร์ทตอน 7 ขวบ ก็ถามเขาว่าจะเอามั้ย ก็ไม่เอา เขาก็คงคิดว่ามีแต่ผู้ชายทั้งนั้น แล้วจะสู้เขาได้เหรอ เราก็ไม่ได้ขู่เข็ญบังคับ แต่อย่างเขานั่งรถไฟเหอะครั้งแรกก็ชอบเลย เขาชอบความตื่นเต้น เราก็จับเขาออกว่าชอบ พอตอน 10 ขวบ ก็พาเขาไปลองรถเช่าที่ RCA พอลงไปแล้วเขาชอบเลย ถามว่าเอามั้ย พอเอา เราก็สนับสนุนอยู่แล้วว่า ถ้าเขาชอบกีฬาประเภทไหนก็ไปทางนั้น แล้วเป็นกีฬาที่เราถนัดด้วย เพราะเราก็เคยแข่งมาก่อน ก็เริ่มเลย
วันแรกที่รู้ว่าเขาขับได้ เขาขับกับเด็กอีกคนนึง ทั้งคู่ก็พยายามจะแซงกัน มินนี่ก็ชนะ ผมเลยถามว่าชอบรึเปล่า เขาก็ชอบ ในความรู้สึกที่ผมดูตอนนั้นเขามีความมั่นใจ แต่ก่อนหน้านั้นที่ไปดูเฉยๆ ยังไม่ชอบเพราะไม่ได้ลอง การแซงคนอื่นครั้งนั้นมันไม่ใช่แค่สนุก แต่มันเป็นการแข่งกันของเด็กคู่นึง
หลังจากก็ซื้อรถเป็นของตัวเองเลย มีรายการจัดแข่งที่ไหนก็ร่วมแข่งเลย เริ่มด้วยรายการสิงห์ อะคาเดมี ในปีแรก มือใหม่ ก็ลงรุ่นมือใหม่ ก็ได้ตำแหน่งแชมป์มา แล้วก็รายการต่อมาในปีเดียวกัน ก็เป็นรายการทรูวิชันส์-โตโยต้า จูเนียร์ คาร์ท แชมป์เปียนชิป 2016 สรุปคือชนะตั้งแต่สนามแรกที่แข่งมาของมือสมัครเล่นครับ” คุณพ่อเกรียงไกรกล่าว
ถ้วยรางวัลส่วนหนึ่งที่ได้รับจากการแข่งขัน
แม้จะเข้าวงการแข่งรถนี้มาได้เพียง 3 ปี แต่ความสามารถของเธอนั้นไม่ธรรมดา เพราะนอกจากรางวัลสุดพิเศษที่เพิ่งได้รับมา ยังมีอีกมากกว่า 70 รางวัลจากทั่วโลกที่มินนี่เคยได้รับ และได้เป็นแชมป์ประจำปีถึง 9 รายการ รวมทั้งได้ถ้วยพระราชทานจาก พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 อีกด้วย
เมื่อถามถึงความรู้สึกที่สามารถก้าวขึ้นไปถึงระดับโลกได้ด้วยอายุเพียงเท่านี้ สาวน้อยมินนี่ก็ตอบว่า รู้สึกดีใจเพราะมีผู้สนับสนุน นักแข่งต่างประเทศให้ความรู้สึกแต่งต่างจากนักแข่งไทย โดยเฉพาะนักแข่งยุโรปที่มีประสบการณ์มากกว่า แต่ปีนี้เริ่มสู้ได้เพราะเคยไปมาแล้ว และรู้สึกว่าแข่งกันอย่างดุเดือดจริงๆ
การแข่งรถโกคาร์ทสำหรับเธอ นอกจากจะได้รางวัลในฐานะผู้ชนะแล้ว ยังได้มิตรภาพจากนักแข่งในรุ่นเดียวกันทั่วทุกมุมโลก ที่ทุกวันนี้ยังติดต่อกันอยู่ผ่านทางอินสตาแกรม รวมถึงการสอนให้รู้จักการแพ้-ชนะ และน้ำใจนักกีฬาอีกด้วย
“นอกสนามก็เป็นเพื่อนกันกับคู่แข่งค่ะ” สาวน้อยมินนี่ตอบพร้อมรอยยิ้ม
ผู้หญิง...ใครว่าซิ่งไม่ได้!
หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า กีฬาแข่งรถ ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีการแยกประเภทนักขับชายและนักขับหญิงออกจากกัน และด้วยองค์ประกอบหลายๆ อย่างของร่างกาย รวมถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต จึงทำให้ไม่ค่อยมีผู้หญิงมาเป็นนักแข่งรถมากนัก แต่สำหรับน้องมินนี่ เธอได้ก้าวข้ามอุปสรรคทางสรีระ และเอาชนะความกลัวของตัวเอง จนสามารถไปถึงการแข่งรถรายการระดับโลก
“เวลาแข่งกับผู้ชายก็ไม่ได้รู้สึกกังวลค่ะ ก็แข่งกับผู้ชายมาตลอด ก็เห็นว่าตัวเองทำได้ แข่งมาเยอะแล้ว แล้วก็ชนะผู้ชายมาด้วย ก็เริ่มไม่ค่อยกังวล ก็มีความมั่นใจขึ้น ก็ต้องออกกำลังกายเยอะๆ ค่ะ บางครั้งหลังจากซ้อมก็จะไปวิ่งรอบสนามเพราะว่าปีหน้าหนูขึ้นรุ่นใหญ่กว่าเดิม รถหนักกว่าเดิม ถ่วงเยอะกว่าเดิม ก็ต้องพยายามออกกำลังกาย แล้วก็ต้องกินเยอะๆ ค่ะ(หัวเราะ)”
หมายเลข 9 ประจำรถ ที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
ด้านคุณพ่อก็ช่วยเสริมว่า “เขาโดนชนบ่อย มันก็คือการเรียนรู้ครับ ฝึกให้เขาแกร่งขึ้น การแข่งขันมันก็จะมีนักขับที่นิสัยแตกต่างกันไป ทุกคนก็อยากจะเอาชนะเพราะเห็นเขาเป็นผู้หญิง แพ้ใครแพ้ได้แต่อย่าแพ้ผู้หญิง เขาจะโดนตรงนี้บ่อย เราเลือกไม่ได้ว่าจะแข่งเฉพาะผู้หญิงเพราะกีฬาแข่งรถไม่ได้แยกหญิง-ชาย แต่ถ้าในอนาคตมีจำนวนนักแข่งผู้หญิงมากขึ้น เขาก็อาจจะแยกก็ได้ ตอนนี้ทางสมาพันธ์กีฬาความเร็วโลก ก็พยายามจะเข้าไปถึงจุดนี้เหมือนกัน ให้นักขับผู้หญิงแยกออกไป แต่ทุกวันนี้ก็เป็นสัญญาณที่ดีที่มีผู้หญิงเข้ามามากขึ้น”
อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ด้วยร่างกายของผู้หญิงที่อาจจะไม่แข็งแรงเท่าผู้ชาย จึงทำให้นักขับหญิงเสียเปรียบกว่ามาก จึงต้องสร้างความแข็งแรงให้ตนเอง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อแขนและคอ เนื่องจากแรงเหวี่ยงนั่นเอง
“ด้านพละกำลัง แน่นอนว่าเสียเปรียบเยอะมาก ผู้หญิงไม่มีทางสู้ผู้ชายได้ อันนี้คือส่วนที่เราเป็นรองเยอะ ก็ต้องสู้ไปเรื่อยๆ
กำลังแขนนี่เยอะมาก อย่างทุกวันนี้ผมไปขับรถ ขนาดเป็นนักแข่งมาก่อน ได้แค่ 5 รอบก็หมดแรงแล้ว เพราะเราไม่ได้ออกกำลังกาย เหมือนเราโหนอะไรนานๆ แล้วไม่ไหว น้องปล่อยมือ มันไม่ได้เหนื่อย แต่จะล้าคนไม่ไหว รถไม่ได้มีพวงมาลัยเพาเวอร์ แล้วก็หนักกว่ารถทั่วไปเยอะครับ
ในฐานะที่เป็นโค้ชพ่อ-ลูกไม่ดีหรอก เขาเป็นลูกคนเดียวก็ไม่ค่อยเชื่อฟังพ่อเท่าไหร่ บางทีก็ต้องดุเยอะ ให้เขาซ้อมเยอะๆ ก็สอนทุกอย่าง ต้องใส่ให้เขาหมด ก่อนลงแข่งแต่ละครั้งก็ให้ซ้อม มีข้อผิดพลาดตรงไหนก็บอกเขา เขามีพรสวรรค์นิดหน่อย ไม่ได้เข้าข้าง แล้วก็ข้อดีคือความทะเยอทะยาน ความรู้สึกอยากเอาชนะ มันดีสำหรับกีฬาทุกประเภท แต่ข้อด้อยของเขาคือความขี้เกียจในการออกกำลังกาย มันจะต้องถ่วงเยอะในรถโกคาร์ท เขาไม่กินข้าว กินยาก มันก็เพิ่มน้ำหนักยาก แต่ก่อนแข่งทุกครั้ง ในความกดดัน เราก็จะบอกเขาว่าไม่มีอะไรมินนี่ ขับให้สนุกอย่างเดียว
การซ้อมทุกครั้ง เราก็พยายามให้ไม่ต่ำกว่า 100 รอบต่อครั้ง เพื่อให้ได้พละกำลัง ให้ได้ความคุ้นเคย ตอนแรกๆ เขาจะเป็นคนขี้กลัว ขี้เกรงใจ ก็จะพยายามเสริมให้เขามีความกล้าขึ้น มีความทะเยอทะยานมากขึ้น ในเรื่องจิตวิทยาสำคัญ อีกอย่างผู้หญิงไม่ว่าจะเป็นวัยไหนก็เข้ามาในวงการนี้ได้ เชื่อเถอะครับว่าถ้ามีความตั้งใจจริง ก็จะประสบความสำเร็จ ยิ่งเข้ามาเยอะได้เท่าไหร่ ผมว่ามันก็จะแบ่งได้เป็นรุ่นผู้ชายกับรุ่นผู้หญิง” คุณพ่อเกรียงไกรกล่าว
ท้าทายความเร็ว ต้องเผื่อใจ
แน่นอนว่าสิ่งที่มาคู่กับกีฬาความเร็วทุกประเภท นั่นก็คือการเกิดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทั้งจากตนเองและคู่แข่ง สำหรับน้องมินนี่เอง แม้จะเข้าสู่วงการนี้ไม่ได้นาน แต่เธอก็เคยผ่านประสบการณ์สุดอันตรายนี้มาแล้วเช่นกัน
“ปีที่แล้วรถคว่ำที่ฝรั่งเศสค่ะ แล้วตอนไปขับรายการสิงห์ก็คว่ำ คว่ำตอนซ้อมทั้งคู่ค่ะ มันแล้วแต่จังหวะด้วยค่ะ เพราะตอนไปฝรั่งเศส กรรมการเขาโบกคน หนูขับมาแรงๆ แล้วเบรกไม่ทัน ตอนนั้นไม่ได้เจ็บอะไรค่ะ รถก็เอาไปดัดใหม่แล้วขับใหม่ ไม่ได้ตกใจค่ะ แค่งงๆ แต่ก็ไม่ได้ถอดใจ ตัวหนูไม่ได้เจ็บอะไร แล้วก็ไม่ได้ห่วงตัวเองอะไรมาก แค่อยากแข่งต่อ(หัวเราะ)”
ส่วนคุณพ่อก็ช่วยเสริมต่อว่า “ตอนคว่ำครั้งแรกที่งานสิงห์ อะคาเดมี ก็ไปเกี่ยวกำแพงขึ้นมา แล้วรถมันก็พลิก รถพยาบาลก็มารับ คำแรกที่ผมไปถึงรถพยาบาล มินนี่ถามว่า “รถหนูแข่งต่อได้รึเปล่า” พอฟังอย่างนี้แล้วเราก็รู้ว่าเขาไม่ได้กลัวแต่รถก็เสียหายหมด งอหมด แต่ก็ซ่อมต่อแล้วแข่งต่อทัน หลังจากที่นั้นก็มีเวลาชั่วโมงกว่าที่จะทำรถแล้วเปลี่ยนอะไหล่ ก็ลงไปแข่งต่อได้ แต่โชคดีที่ตัวเขาไม่เป็นอะไร ผลการแข่งก็ชนะในรุ่นรุกกี้ ด้วยรถที่สภาพไม่สมบูรณ์
ทุกครั้งที่เห็นอุบัติเหตุคือช็อก เราลุ้นอยู่อย่างเดียว ขอให้ลุกขึ้นได้ด้วยตัวเอง อย่างน้อยก็ขาไม่หักแล้ว เวลาลงจากรถ ในใจเราก็คือ “ลุกขึ้น ลุกขึ้น ลุกขึ้น” แต่ที่ฝรั่งเศสมันแรงมาก เราก็เห็นกับตา เพราะมันคว่ำ 360° เลย กรรมการเขาให้ธงแดงทั้งสนาม เป็นอุบัติเหตุรุนแรง รถแข่งทุกคันต้องหยุดหมด รถพยาบาลก็มา ใจเราก็เหมือนเดิม “มินนี่ลุกขึ้น” แต่กรรมการเขาให้อยู่กับรถก่อน พอไปถึงตรงนั้นก็ถามว่าเจ็บอะไรรึเปล่า เขาก็บอกเจ็บขา โอ้โห...ยิ่งตกใจใหญ่เลย เขาก็ค่อยๆ ลุกขึ้นมาได้ รถก็เสียหายเหมือนเดิม ก็แข่งต่อ แข่งในสภาพรถที่ไม่สมบูรณ์”
คุณพ่อและคุณแม่ กำลังใจของน้องมินนี่
เมื่อผู้สัมภาษณ์ถามต่อไปว่า คุณพ่อทำใจได้ยังไงให้ลูกมาเล่นกีฬาที่เสี่ยงอันตรายแบบนี้ ก็ได้คำตอบว่า โกคาร์ทเป็นกีฬาที่เครื่องป้องกันทุกอย่างมันพร้อมหมด กีฬาความเร็วมันก็อันตรายก็จริง แต่ในเมื่อทุกอย่างมันมีเครื่องป้องกันอย่างดีแล้ว มันก็ลดในจุดบาดเจ็บไปได้ สำหรับคุณพ่อมองว่า จักรยานยังอันตรายกว่า เพราะทุกครั้งที่พลาดคือล้มจากที่สูง แต่โกคาร์ทถ้าพลาดคือชนกัน กระแทกกัน หรือหมุน ส่วนเรื่องคว่ำเกิดขึ้นได้น้อยมาก
และการที่น้องมินนี่มาเป็นนักแข่งรถดังเช่นทุกวันนี้ ก็เหมือนเป็นการได้สานฝันของพ่อ เพราะวิชาความรู้ที่ติดตัวมาก็สามารถให้ลูกสาวได้เต็มที่ เหมือนกับได้สานความรู้ต่อๆ ไป
เมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย สาวน้อยนักซิ่งก็ขอขอบคุณแฟนๆ ทุกคนที่คอยติดตามผลงาน ตามลุ้น ตามเชียร์ และขอขอบคุณคนที่สนับสนุนอย่างสิงห์ และทีมแมกซิม่า ที่ช่วยสนับสนุนเรื่องรถอีกด้วย และขอให้แฟนๆ ช่วยส่งกำลังใจเชียร์เธอต่อไป
ส่วนคุณพ่อเกรียงไกร ก็ใช้โอกาสนี้ฝากไปถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกีฬามอเตอร์ อยากให้ช่วยผลักดันกีฬานี้ เพราะเชื่อว่าศักยภาพของนักกีฬาไทยไม่แพ้ประเทศอื่นแน่นอน หากได้รับการสนับสนุน
“วันที่ผมแข่งเมื่อ 20 กว่าปีก่อน นักแข่งไทยไม่เคยแพ้ใครในเอเชียนอกจากญี่ปุ่น แต่หลังจากนั้นเราค่อนข้างจะถอยหลัง จนเมื่อ 2-3 ปี ที่ผ่านมา หลังจากมีสนามบุรีรัมย์ เราก็พัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ แต่ทางด้านการสนับสนุนทีมแข่งหรือนักแข่ง มันก็ยังไม่มาก กีฬาแข่งรถกว่าจะสร้างมาได้แต่ละคนใช้เงินหลายสิบล้านนะครับ ไม่ว่าจะค่าเดินทาง คนช่าง ค่าทีมแข่ง ค่าอะไหล่ ค่ารถแข่ง ทุกอย่างมันแพงหมด ค่าใช้จ่ายสูงมากถ้าเทียบกับกีฬาประเภทอื่น
แต่ในประเทศที่เขาชอบมอเตอร์สปอร์ตอย่างยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ผลตอบรับเขาก็ดีมาก ประเทศเหล่านี้รัฐบาลเขาสนับสนุน ณ วันนี้ประเทศไทยผู้สนับสนุนกีฬาประเภทนี้ก็น้อย จริงๆ แล้วทางภาครัฐน่าจะช่วยสนับสนุนในเรื่องนี้ วันนี้โมโต้จีพี ก็ผ่านไปแล้ว ผลประโยชน์ก็ตกอยู่กับประเทศมหาศาล แต่นักกีฬาไทยยังต้วมเตี้ยมอยู่ตรงนี้ ถ้ามีการสนับสนุนตรงนี้มากขึ้น เราไปไกลกว่านี้ได้แน่ ผมเชื่อว่าคนไทยมีศักยภาพ ผมเชื่อว่ากีฬามอเตอร์สปอร์ตมันเป็นการยกระดับของประเทศ ศักดิ์ศรีของประเทศ
ผมอยากเห็นในอนาคตอันใกล้ทางภาครัฐและองค์กรใหญ่ใหญ่ช่วยกัน สนับสนุนเด็กไทยเพื่อที่จะไประดับโลก ซึ่งผมเชื่อว่าเด็กไทยทำได้แน่นอนแบบที่รุ่นผมทำมาแล้วถึงแม้จะเป็นระดับเอเซียก็ตามครับ แล้วยิ่งตอนนี้ทางสมาพันธ์แข่งรถยนต์โลกกำลังคิดที่จะส่งเสริมนักแข่งหญิงมากขึ้นด้วยครับ ส่วนเป้าหมายของมินนี่ตอนนี้ก็คงจะเป็นการแข่งรถยนต์ ถ้าไม่มีผู้สนับสนุนไปฟอมูล่า เขามีศักยภาพพอที่จะไปทางนั้นแล้ว แต่ว่าตรงนั้นมันใช้เงินเยอะ ถ้าไปไม่ได้เราก็คงเบนเข็มมาแข่งรถยนต์ทางเรียบในเมืองไทยแล้วก็ในเอเชีย เราก็จะไปให้สุดเท่าที่เราไปได้ครับ” คุณพ่ออดีตนักแข่งรถกล่าวทิ้งท้าย
ขับรถเก่ง - ดนตรีดี - กีฬาเจ๋ง ตอนเด็กๆ เป็นนักดนตรีค่ะ เรียนทุกอย่าง มุ่งมั่นทางดนตรี แต่อยู่ดีๆ ก็มาแข่งรถ ไม่ค่อยมีเวลามาเล่น ก็เลยเลิกเรียนไป แต่ก็ยังเล่นอยู่ในโรงเรียนค่ะ ส่วนกิจกรรมที่ทำในโรงเรียนหนูว่ายน้ำแล้วก็เล่นบาส แล้วก็เป็นนักดนตรีที่โรงเรียนด้วย หนูเล่นเปียโนอยู่ กับอีกวงเป็นวงคลาสสิค เล่นไวโอลินค่ะ แล้วก็มีแข่งร็อกแบนด์ ระหว่างโรงเรียนนานาชาติด้วยกัน ปีที่แล้วได้เป็นแชมป์ในรุ่น year 8 ค่ะ หนูเล่นคีย์บอร์ด ผลการเรียนก็พอใช้ได้ค่ะ ปกติถ้าว่าง เลิกเรียน หรือเสาร์-อาทิตย์ก็ไปซ้อมค่ะ บางครั้งก็จะให้เพื่อนติวหลังเลิกเรียนให้นิดหน่อย เพราะทุกครั้งที่เราไปต่างประเทศก็ต้องหยุด แต่ว่าโรงเรียนหนูก็สนับสนุนค่ะ แล้วก็มีลดค่าเทอมให้นิดหน่อย แต่ตอนเด็กๆ ก็ชอบเล่นบาร์บี้ค่ะ(หัวเราะ) ตอนนี้ก็ไม่ค่อยเล่นแล้ว ก็ไม่ค่อยรักสวยรักงามด้วย ชอบแอดเวนเจอร์ค่ะ” |
สัมภาษณ์โดย : MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ภาพ : พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณสถานที่ : ศูนย์นำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ Auto Image รัชดา