มองวงการสะท้อนชีวิตนักแสดงตลอด 31 ปีในวงการบันเทิง การกลับมาแสดงอีกครั้งในรอบ 3 ปีกับละครที่ฮอตที่สุดในตอนนี้ “เลือดข้นคนจาง” talk of the town สุดๆใครก็ต่างพูดถึง "ใครฆ่าประเสริฐ" ซึ่งหนึ่งในตัวละครนั้นก็คือการกลับมาในรอบ 3 ปีของแหม่มจนได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมาก และบทสัมภาษณ์นี้จะทำให้รู้เบื้องหลังการเป็นนักแสดงมืออาชีพ และมิติตัวตนของเธอ โดยเฉพาะมุมรักสุขภาพจนต้องลุกขึ้นมาทำฟาร์มออแกนิกเป็นของตัวเอง
“การแสดง = ขี่จักรยาน” ขี่เป็นแล้วเลิกยาก!
นาทีนี้ใครไม่พูดถึงละครที่มาพร้อมกับประโยคเด็ด “ใครฆ่าประเสริฐ” ไม่ได้ ถึงแม้ตอนนี้จะได้รับคำตอบแล้ว แต่ก็ยังมีการติดตาม โดยเฉพาะบทบาท”ภัสสร” ที่ได้รับบทโดย แหม่ม - คัทลียา แมคอินทอช(กระจ่างเนตร) ที่ได้รับเสียงสะท้อนกลับมาว่า เป็นนักแสดงที่ตีบทได้ขยี้อารมณ์ และเป็นการกลับมาแสดงอย่างสมศักดิ์ศรีที่สุด
ทีมข่าว MGR Live ไม่รอช้า ได้มีโอกาสคว้าตัวเธอมาสัมภาษณ์ เพื่อเจาะตัวตน ถึงเรื่องกว่าจะแสดงได้แบบนี้ เขามีความคิด เบื้องหลังในด้านการแสดงอย่างไร กับประสบการณ์ 31 ปี ของการอยู่ในวงการบันเทิง ที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้
ชุดเดรสลายจุด ใบหน้าเปื้อนรอยยิ้ม นักแสดงมากฝีมือในวัย 45 ปีผู้เคยได้รับฉายาว่าเป็น “เจ้าหญิงแห่งวงการบันเทิง” พูดด้วยน้ำเสียงชัดเจนและจริงใจ กับเรื่องราวการหวนกลับมารับละครอีกครั้งในรอบ 3 ปีว่า ไม่ต้องเคาะสนิมอะไรเลย การแสดงสำหรับเธอ เปรียบเสมือนการขี่จักรยาน ถึงแม้ไม่ได้ขี่นาน กลับมาขี่อีกครั้งก็เป็นอยู่ดี
หลังจากห่างหายไปกับการเลี้ยงลูกสุดหวง 3 คน เธอยังคงเชื่อว่า ผลงานที่ดีไม่เคยเกิดจากคนคนเดียว แต่เป็นเพราะมีทีมที่ดี ทำให้งานออกมามีประสิทธิภาพ
ด้วยยุคสมัยเปลี่ยนไป วิธีการการทำงานก็เปลี่ยนไปด้วย ได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการกำกับ วิธีการแสดงจากผู้กำกับหลากหลายมากขึ้น ยิ่งโตขึ้นก็จะได้รับบทที่ท้าทาย และได้ดึงศักยภาพตัวเองออกมา
“มันไม่มีอะไรง่ายอยู่แล้วค่ะ เพราะว่าพอเรายิ่งโตขึ้น เราก็จะได้รับบทท้าทายมากขึ้น เพราะฉะนั้นสมัยเราอายุ 22 ปีเล่นเป็นเจ้าหญิง ตอนนี้เรา 40 กว่า เขาก็คงไม่ให้เราเล่นเป็นเจ้าหญิงแบบนั้นแล้ว มันก็จะมีอะไรที่ท้าทายที่ดึงความสามารถ ดึงตัวละครที่มันจะเข้มข้น มันจะมีมิติมากขึ้นมันก็เป็นไปตามอายุ ตามวัย
สำหรับแหม่มไม่เคยอินจนออกจากละครไม่ได้ เพราะว่าเราก็เป็นคนที่อยู่ในโลกความเป็นจริง แล้วเวลาอินแล้วเนี่ย มันก็สถานการณ์ เหตุการณ์ นักแสดงร่วม สภาพแวดล้อมตรงนั้นมันจะนำพาและส่ง แต่เรากลับบ้านปุ๊บมันก็กลับมาโลกความจริงแล้วว่า อ๋อนี่ลูกเรานะ นี่สามี นี่บ้านเรา มันก็แยกโดยชัดเจน แค่ขับรถออกจากกองขึ้นทางด่วน มันก็อ้าว! นี่ฉันแหม่ม คัทลียา แล้วนะ เดี๋ยวฉันขึ้น easy pass ก่อน ฉันต้องผ่านตรงนี้ แล้วฉันจะต้องกลับบ้านทางไหน (หัวเราะ) อาจจะเป็นเพราะบทที่ได้รับสามารถคืนไว้ที่กองถ่ายได้ ไม่ต้องเอากลับมาบ้านด้วย”
โดยล่าสุดกับความท้าทายใหม่ในละครเลือดข้นคนจาง ที่เธอรับบทเป็น “ภัสสร”ลูกสาวคนที่ 3 ในตระกูล จิริอนันต์ ที่ถูกมองว่าเป็นคนนอก เพราะแต่งงานออกเรือน และเปลี่ยนนามสกุล เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนที่เกิดความบาดหมางกันในตระกูลจนนำไปสู่การแตกหักภายในครอบครัว จากการที่ลูกชายคนโตของตระกูลซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจ และกงสีถูกยิงเสียชีวิต
สำหรับ แหม่ม คัทลียา ก็ไม่ต่างจากตัวภัสสรที่แสดงมากนัก เพราะเธอเองเป็นลูกสาว ที่มีพ่อเป็นชาวอังกฤษ และแม่เป็นลูกคนจีน ซึ่งก็เป็นส่วนสำคัญกับการแสดงละครเรื่องนี้ จนทำให้คนที่ได้ติดตาม และเป็นครอบครัวจีนอินไปตามๆ กัน
แน่นอนว่าในชีวิตจริงแหม่ม ใครๆ ก็รู้ว่าครอบครัวนี้พี่น้องรักกันแค่ไหน กับวิลลี่ แมคอินทอช พี่ชายของเขาซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นกับชีวิตแหม่มอยู่แล้ว แล้วเธอก็ให้คำตอบว่า ถ้าหากมีปัญหาเหมือนละคร วิธีการที่ดีที่สุดคือ การหันหน้ามาคุยกัน เพื่อจะได้เข้าใจกันมากขึ้น
“ไม่มีค่ะ” เธอรีบปฏิเสธ “จริงๆ มันก็พูดยาก เพราะว่าในเรื่องภัสสรก็เป็นคนรักพี่รักน้องรักครอบครัว เพียงแต่ว่าอย่างที่บอกพอมันมีเรื่องของผลประโยชน์ เรื่องของความน้อยใจเข้ามาเกี่ยวข้อง มันก็เลยทำให้ความเป็นคนมันจางลง
แหม่มถูกดูแลแบบจีน แบบไทย และแบบฝรั่งเพราะว่า คุณแม่เองเป็นคนจีน แต่ว่าคุณตาคุณยายเป็นคนจีนมาอยู่เมืองไทยคุณแม่ก็เกิดที่เมืองไทย แต่ก็เชื้อสายจีน คุณพ่อเป็นอังกฤษ เพราะฉะนั้นเราจะถูกเลี้ยงดู เราก็จะได้รับวัฒนธรรมทั้งจีนทั้งไทยแล้วก็อังกฤษ
เราไม่มีปัญหาเรื่องความน้อยใจ หรืออะไรเกี่ยวกับมรดก เพราะว่าไม่ได้มีpartนั้น ตอนที่พ่อแม่แต่งงานกันสมัยนั้น ชาวต่างชาติไม่สามารถมาจับจองซื้อที่ดินในเมืองไทยเลย
นอกจากเป็นเจ้าของคอนโดฯ เพราะฉะนั้นทรัพย์สินทุกอย่างของคุณแม่รวมไปถึงของที่คุณพ่อซื้อลงทุนทุกอย่างก็ต้องไปอยู่ชื่อของคุณยาย แล้วพอเวลาแหม่มและพี่วิลลี่ โตมาทรัพย์สินทุกอย่างที่มีอยู่ก็มาใส่ชื่อลูกทั้ง 2 คนก็จะไม่มีเรื่องนี้”
อย่างไรก็ดี เมื่อเธอโตขึ้นเธอจึงได้รับการสั่งสอนจากครอบครัวให้เข้าใจบริบททางวัฒนธรรมจีน ว่าลูกชายจะต้องเป็นผู้สืบสกุล และเป็นหัวหน้าครอบครัว เปรียบกับการออกรบ ผู้ชายก็ต้องเป็นนักรบ ส่วนผู้หญิงก็ต้องอยู่บ้านทำอาหาร
“เท่าที่เด็กๆ โตมาก็อาจจะคิดว่าโอเคผู้หญิงก็มีหน้าที่ support ผู้ชายข้างหลัง ผู้ชายแข็งแรงกว่าต้องออกไปรบ สมมุติพูดถึงนะคะ
เขาก็เปรียบเทียบให้ฟังว่าผู้ชายก็ต้องออกไปรบ ผู้ชายต้องออกไปทำงานมีความแข็งแรงในสรีระร่างกายมีความเป็นผู้นำครอบครัว ผู้หญิงก็คอย support ทำกับข้าวคอยดูแลความเรียบร้อยดูแลลูกก็ basic มันก็เป็นความเข้าใจอย่างนี้มาโดยตลอด แต่เขาก็เทียบเหมือนกันว่าผู้ชายเนี่ยถ้าเป็นผู้ชายต้องออกไปรบถ้าเป็นผู้หญิงต้องคลอดลูก มันก็เป็นความท้าทายที่น่าจะใกล้เคียงกัน”
นอกจากเป็นนักแสดงที่ต้องเล่นได้ทุกบทบาทแล้ว ความสุขและทัศนคติ ก็เป็นส่วนที่ต้องควบคู่กันไปด้วย การแสดงละครก็เหมือนการย้อนมองตัวเอง ว่าตรงนี้เราทำดีแล้วหรือยัง เราบกพร่องต้องแก้ไขตรงไหนหรือเปล่า หรือส่วนที่ทำดีแล้วก็ต้องรักษาเอาไว้
“มันแน่นอนอยู่แล้วมันเป็นเรื่องของทีมเวิร์ก เรื่องของความทุ่มเท เรื่องของความใส่ใจ เรื่องของการที่เราทำการบ้าน เป็นตัวละครนั้นๆ เราอิน แล้วเราก็สามารถตีบทออกมา จนคนเขาสามารถเชื่อได้ว่าเราคือภัสสรจริงๆ อันนี้ก็คือในส่วนของการทำงาน
ในส่วนของแง่คิด หรือสิ่งที่เป็นประโยชน์ในการดูละครแล้ว มันก็เรื่องของ มันไม่มีใครถูก ใครผิด 100% หรอก มนุษย์ก็คือสัตว์สังคมที่มีผิดบ้างถูกบ้าง เราก็เรียนรู้กันไป แต่ถามว่าถ้าเรามีจิตวิญญาณที่พร้อมจะทำดีอะ มันอาจจะหล่นตรงนั้นไปนิด ด้อยตรงนั้นไปหน่อย แต่พอเรามาดูละครปุ๊บ เราก็มองย้อน อ้ออันนี้ทำถูกแล้ว อันนี้ทำดีแล้ว ครอบครัวเราได้อบอุ่นไง ทำไมลูกเราถึงรักกัน แต่ว่าอันนี้อ๋อเราอาจจะบกพร่องตรงนี้ด้วยเวลา ลืมไปมัวแต่ทำงาน ลืมให้เวลากับครอบครัว ก็อาจจะขาดความเข้าใจไป
หรือบางอย่างคิดมาก บางทีเราไม่ต้องคิดมากสิ ไม่ใช่แม่ไม่รัก แม่ก็รัก แต่แม่อาจจะคิดว่าพี่ชายเขาเป็นผู้นำ เขาเป็นผู้ชายที่เขาแข็งแรง ด้วยเพศที่แข็งแรง เขาก็ต้องออกไปทำงาน เราเป็นเพศหญิงเราก็ต้องดูแลผู้ชายในบ้านสิ
ส่วนในละคร ภัสสรจะไปน้อยใจอาม่าทำไม ลื้อก็คิดมากอะไรอย่างนี้ แหม่มว่ามันอยู่ที่เราไปหยิบจับอันไหน แล้วมาคิดมายอมรับความจริงไหมล่ะ ถ้าทุกคนยอมรับความจริงได้ โลกนี้มันจะน่าอยู่มากขึ้น ยอมรับในแง่ถ้าเราผิดเรายอมรับผิด แต่ถ้าอันไหนที่มันไม่ดีเราไปแก้ไข อันไหนที่มันดีแล้ว ทำต่อไป"
“ถ้าเรารักในสิ่งที่ทำ เราก็มีความสุข”
ปัจจุบันปฎิเสธไม่ได้เลยว่า ละครในบ้านเรามีการเปลี่ยนแพลตฟอร์มจากอะนาล็อกไปสู่ออนไลน์มากขึ้น พฤติกรรมคนดูก็เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี
สมัยก่อนอาจจะยังไม่มีการพัฒนา แต่ด้วยวิวัฒนาการด้วยเครื่องมือ และอุปกรณ์ ก็สามารถเอามาช่วยในเรื่องของโปรดักชันละครได้ แต่ในเรื่องกำกับจะเป็นลายเส้นของแต่ละผู้กำกับมากกว่า
“การทำงานสมัยก่อน และปัจจุบันก็คงคล้ายๆ กันแหละค่ะ แต่ด้วยวิวัฒนาการด้วยเครื่องมือ ด้วยอุปกรณ์ อย่างคอมพิวเตอร์กราฟิก สมัยก่อนมันอาจจะยังไม่พัฒนามาก สมัยนี้มันพัฒนาขึ้นเยอะ มันสามารถเอามาช่วยในเรื่องของโปรดักชั่นละครได้ แต่ว่าถ้าพูดถึงในเรื่องกำกับมันก็จะเป็นลายเส้นของแต่ละบุคคล แต่ละผู้กำกับมากกว่า
แหม่มก็ยังคงเชื่ออยู่ว่า มันไม่มีวันตายหรอก เพราะตั้งแต่สมัยไหน สมัยก่อนเราเกิดก็มีหนัง มีละครมาตลอด เพียงแต่ว่าก็ถูกพัฒนา และปรับตัวไปตามยุคสมัยนะคะ มันก็ยังเป็นเรื่องที่ เหมือนเป็นความบันเทิงให้คนที่ทำงานก็สามารถหลุดจากชีวิตเข้าไปดู เข้าไปอิน กับเรื่องนั้นๆ มันก็เป็นความบันเทิง คืออย่าลืมว่าละคร หนังอะไร พวกนี้ มันคือสิ่งบันเทิงที่จะทำให้เราสามารถปลดปล่อย มีความสุข สนุกไปกับมัน แต่ว่าพอหลังๆ มานี้มันเข้ามาแตะถึงชีวิตคนจริงๆมากขึ้น คนสัมผัสได้มากขึ้น ไม่มีแล้วเจ้าหญิง เจ้าชาย
พฤติกรรมคนมันเปลี่ยนไป แต่การวัดมันยังวัดกันเหมือนเดิม มันยังวัดเรตติ้งจากทีวี ซึ่งมันเอ๊ะ! มันน่าจะต้องปรับเปลี่ยนไปพร้อมๆกันมั้ย กับทุกๆอย่างว่าเรตติ้งคุณยังวัดแบบสมัยทีวี เหมือนสมัยเราเล่นละครเรื่องแรกอยู่เลย นั่นคือ20กว่าปีแล้ว สมัย “เพื่อเธอ" “หยุดตะวันไว้ที่ปลายฟ้า” ก็มีการวัดเรตติ้ง
แต่สมัยนี้โอเคมันยังคงวัดเรตติ้งอยู่ แต่วิวัฒนาการ และอื่นๆมันได้พัฒนาไปถึงออนไลน์ และอะไรแล้ว แต่ก็ยังอ้างอิงถึงเรตติ้งอยู่ อ้าว! แล้วตรงนี้ เอาไว้ตรงไหนดี เอาไปวัดตรงไหนได้บ้างล่ะ หรือเอาไปเฉลี่ยหารยังไงได้ไหม เพราะว่ามันจะเป็นกำลังใจให้คนทำงานนะ
แหม่มเช็กกระแสตลอด สนุกมาก (ย้ำด้วยความสุขที่ได้เห็นฟีดแบ็กที่ดี)ทวิตเตอร์อะไรอย่างนี้ ดูๆ แล้วบางทีเอ๊ะ! กำลังสไลด์ แล้วเป็นโรคจิต สไลด์ๆ แล้วก็อยากดูตั้งแต่ข้อความแรก หรือข้อความล่าสุด คือจะค่อยไหล ไหลลง สไลด์เสร็จ อ้าว! ยังไม่จบ สไลด์มาใหม่อีก แล้วฉันจะเริ่มจากตรงไหน มันอยากจะอ่านทุกข้อความ อยากจะอ่านทุกอันไง แต่เฮ้ย! มันเยอะมาก ทำยังไงดี แล้วเราจะเข้าไปตรงไหนดี งง แต่ชื่นใจนะ จริงๆ มันเป็นความชื่นใจมากของคนทำงานในฐานะเราก็เป็นส่วนหนึ่งตรงนั้นค่ะ
กระแสได้ไหม กระแสดีมาก แต่เรตติ้งกำลังมา แล้วเมื่อไหร่จะมา หรือเอ๊ะ! ควรจะมาได้แค่ไหน หรือว่าคุณต้องรอเรตติ้งอย่างเดียว อ้าว! แล้วกระแสที่มันถล่มทลายตอนนี้ ไปไหน ทุกคนถามว่าใครฆ่าประเสริฐ หรือว่า Hastag หรือว่าทุกสินค้า สาขาอาชีพเอาละครไปเป็นถูกการพูดถึง อันนี้น่าเอาไปรวมในเรตติ้งได้เหมือนกันนะ”
กว่า 31 ปี และกว่า 20 ผลงาน ที่ฝากฝีมือไว้ในวงการบันเทิง ทั้งการเป็นพิธีกร หรือการเป็นนักแสดงมืออาชีพ ชื่อของ แหม่ม คัทลียา ก็ยังคงเปล่งประกายความเป็นนักแสดงตัวแม่อยู่ ยังคงสนุก และมีความสุขกับการทำงาน
“เราเป็นคนที่สนุกและมีความสุขกับการทำงาน ในแต่ละชิ้นที่เราทำ ที่เรารับทำ มันมาจากความเต็มใจอยู่แล้วที่เราจะรับมันค่ะ
เคยพูดอยู่เรื่อยๆ ว่าถ้าเรารักในสิ่งที่เราทำ เราก็จะมีความสุข เราก็เหมือนกับว่ามันต้องทำงาน มันก็ไม่ใช่เหมือนเป็นหน้าที่ว่า อ๋อตื่นเช้า เหมือนสมัยเรียน อ๋อต้องไปทำรายงาน ตายแล้ว ต้องสอบๆ เที่ยวจังเลย อันนั้นมันเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ แต่อย่างงานโชคดีที่เราเลือกได้ แล้วเราก็สนุกในสิ่งที่เราทำด้วย มันก็สนุก มันก็มีความสุข
ถ้าเราคิดว่า โอ้ย! ตายเหนื่อยจังเลย ทำไมฉันถึงต้องทำงานเยอะขนาดนี้ ทำไมฉันต้องรับภาระหนักขนาดนี้ มันก็จะท้อแท้ แต่ถ้าเราคิดว่า เฮ้ย! ทำไมเราโชคดีจังเลยอะ เรามีโอกาสดี๊ดี เราได้ทำอันนี้ด้วย แล้วก็ได้ทำอันนั้นด้วย โอ้ย! ได้ทำธุรกิจอันนี้ด้วย แล้วก็ได้เงินมาด้วย แล้วเราไม่ต้องของพ่อแม่ด้วย มันก็เป็นความภาคภูมิใจที่ทั้งเรา และสามีภูมิใจมากว่า เราสามารถหาเงินได้เอง เราสามารถเลี้ยงดูครอบครัวตัวเองได้เอง เราไม่ต้องขอพ่อขอแม่ด้วย ดีใจจังเลยมันเป็นความภาคภูมิใจ คิดบวก แหม่มว่านะ คิดบวกช่วยได้เยอะ”
ไม่เคยคาดหวังว่าต้องเป็นแบบไหน ไม่ได้วางแผนไกลมากว่าต้องทำงานอีกเท่านี้ มันเป็นไปตามอัตโนมัติ ที่อาจจะไม่ได้กำหนดตายตัวว่าอีก 10 ปีข้างหน้าว่าจะต้องทำอะไร เป็นอะไร แต่ก็ยังมีอีกหลายบทบาทที่เธอยังไม่เคยลองทำ
“ก็น่าจะเป็นบทร้ายๆ ลึกๆ โรคจิต ที่มันซับซ้อนอย่างนี้ค่ะ ก็น่าจะท้าทายดี หรือไม่ก็บทแบบที่เราอาจจะไม่สมประกอบทางด้านใดด้านหนึ่ง อาจจะตาบอดมองไม่เห็น หูหนวก เป็นใบ้อะไรแล้วแต่อะไรอย่างนี้ มันก็จะท้าทายไปอีก”
เปิดฟาร์ม-ปลูกผัก เพื่อสุขภาพของลูกๆ
ไม่ใช่เพียงแค่งานในวงการบันเทิงที่นักแสดงคุณภาพที่ยืนหยัดทำอย่างมีความสุข นอกจากนี้ยังมีธุรกิจที่เธอได้ให้ความสนใจ จนกลายเป็นธุรกิจครอบครัว เช่น รีสอร์ตอยู่ที่เกาะกระดาน จ.ตรัง ขนมBake , ZAKUZAKUนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น และสิรินทร์ฟาร์ม ที่เป็นธุรกิจหลักของครอบครัว
และในฐานะที่เป็นคุณแม่ลูกสาม แหม่มเผยว่า ปัจจุบันอาหารโภชนาการของบ้านเรานั้นมีความน่ากลัว ใส่สารเคมีต่างๆที่เป็นอันตรายทั้งนั้น เธอเป็นห่วงลูกในด้านนี้ จึงหันมาทำฟาร์มที่ปลอดภัย ไร้สารเคมีอย่างจริงจัง เพราะอยากให้ลูกได้กินของที่ดีสุด
“หลักๆ เลยก็จะเป็นสิรินทร์ฟาร์มค่ะ ที่ฟาร์ม มีไก่ มีไข่ มีหมูออแกนิก ปลอดสาร แล้วเราก็เพิ่งได้ตราออแกนิกมาของไข่ แล้วเดี๋ยวก็จะมีของหมูที่กำลังตามมา ก็อันนี้ก็เป็นธุรกิจหลักๆ ของที่บ้านนะคะ”
ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน เธอได้ตัดสินใจซื้อที่ดินผืนเล็กๆ ที่จังหวัดเชียงราย เพื่อนำมาทำฟาร์ม และไร่นาสวนผสมขนาดเล็ก มีการเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ปลูกข้าว เมื่อเวลาผ่านไปผลผลิตที่ปลูก เลี้ยงไว้ก็เจริญเติบโตสามารถเก็บเกี่ยวมาเป็นผลผลิตมีทั้งเก็บไว้ทานเองในครอบครัว และส่งขายในห้าง
“จริงๆแล้ว ต้องยกความดีความชอบให้สามี(บีบี๋-สงกรานต์ กระจ่างเนตร)มากกว่าค่ะ เพราะว่า ถามว่าเราเป็นหัวธุรกิจมั้ย ขนาดนั้นรึเปล่า ไม่ใช่ พี่วิลลี่ต่างหากเป็นคนที่มีหัวธุรกิจมากกว่า หรือตัวบีบี๋ สามี แล้วสิรินทร์ฟาร์มเกิดจากการที่มีลูก พอมีลูกปุ๊บก็คิดว่า ทำไงดีเราอยากจะทำให้ลูก แน่นอนทุกคนทุกครอบครัว อยากให้ลูกได้ดีที่สุด ลูกได้กินดีที่สุด ได้อยู่ดีที่สุด ได้เรียนดีที่สุด อะไรก็แล้วแต่ที่ดีที่สุด ก็เลยคิดว่า พอในเรื่องของอาหาร ลูกเราก็ต้องได้ทานอาหารที่ดีที่สุด
สมัยนี้มันก็มีสารเคมี สารเร่งเนื้อแดง มีฉีดฮอร์โมนมีสารพัด ที่มันน่าจะเป็นอันตราย และเราก็เห็นคนรอบตัวเราก็มีที่แบบ เอ๊ะ! ทำไมอายุสั้นลง ทำไมคนนั้นป่วยบ่อยขึ้น ทำไมเข้าโรงพยาบาลกันบ่อย ความรักลูก เราก็เลยถ้าอย่างนั้นเราก็ต้องทำอะไรก็ได้ที่มันสามารถนำพาให้ลูกเราได้ทานอาหารที่มีประโยชน์ และดี ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้น
ในฟาร์มของแหม่ม เราปลอดสาร เราปลอดยาฆ่าแมลง เราปลอดสารเร่งเนื้อแดง เราปลอดฮอร์โมน ยาปฎิชีวนะทั้งหลายเราไม่มีเลย เราธรรมชาติ กลับสู่สามัญ กลับสู่เหมือนคนสมัยก่อน ทำไร่ ทำนา ปลูกข้าว ปลูกนาข้าว เสร็จเกี่ยวข้าว เอาข้าวมากิน มีผักในสวนก็เอาผักเรามากิน ทำกับข้าว
เผอิญของเราเป็นธุรกิจด้วย มันก็นำพาจากความพอเพียงไปต่อยอดในเรื่องของธุรกิจ ที่นอกเหนือจากที่เราที่ได้ทานของดีแล้ว ของดีของปลอดภัยแล้วอะค่ะ เพื่อนบ้านเราก็ต้องได้ เพื่อนฝูงเราต้องได้ คนที่ใกล้ชิด หรือคนที่รู้จัก เขาก็มีสิทธิ์จะได้รับของดี ได้ซื้อของที่มีประโยชน์ ปลอดสารด้วยเหมือนกัน มันก็เลยกลายเป็นธุรกิจ”
ถึงแม้ว่าความสุข จะอยู่ในการทำงาน และทัศนคติความคิดบวกในแบบตัวเอง แต่ถ้าไม่มีครอบครัว ความสุขก็คงไม่เต็มร้อย
“แหม่มไม่ค่อยพาลูกออกสื่อนะ นอกจากสื่อจะเห็นเอง หรือว่าเราก็มีไอจีบ้างให้พวกแฟนคลับเขาได้เห็น ได้เจอ ตอนเล็กๆ ก็คงอาจจะตัวติดกันเพราะว่ายังกินนมแม่อยู่ หรือยังเล็กไปไหนไปกัน แต่พอตอนโตเขาก็ไปเรียนหนังสือ
ถ้า ณ วันนี้เลย ตอบได้ว่า ทั้งแม่ก็ติดลูก และลูกก็ติดแม่ จากนี้ก็ไม่รู้แล้วนะ พอเขาเข้าสู่วัยรุ่นเราก็ตอบไม่ได้ แม่อะติดลูกอยู่แล้ว แม่ก็ไม่จบไม่สิ้นยังติดอยู่ ถึงลูกจะเลิกติดแล้ว แต่แม่ก็ยังเลาหลือกับลูก ไม่รู้สิแหม่มเชื่อในเรื่องของการใกล้ชิดอะค่ะ การใกล้ชิดความอบอุ่น อันนี้สำคัญ”
อย่างไรก็ดีถึงจะติด และรักลูกแค่ไหน ก็ตัดสินใจพาลูกไปเรียนไกลถึงประเทศอังกฤษ เธอเผยถึงความรู้สึกที่ตัดสินใจพาลูกไปเรียนไกลถึงประเทศอังกฤษว่า อยากให้ลูกได้หาประสบการณ์ด้วยตัวเอง การที่เขาอยู่ที่นั่นจะทำให้เขามีวินัย เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ถ้าในอนาคตหากลูกไปเรียนต่างประเทศกันทุกคน ก็พร้อมจะย้ายไปอยู่กับลูกด้วย
“ตัดสินใจพาลูก (น้องแมค -สิริ กระจ่างเนตร)ไปเรียนที่ต่างประเทศ ก็เจริญรอยตามคุณพ่อค่ะ เพราะว่าตัวพ่อของลูกก็คือสามี เขาก็ได้รับประสบการณ์ที่ดีมากจากการเป็นเด็กนักเรียนประจำที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ เพราะฉะนั้นก็สานต่อเจตนารมณ์ตัวคุณพ่อ ซึ่งถามว่าเรามาถกกันเยอะไหม ก็ถกกันเยอะ ก็คิดว่ามันมีข้อดีข้อเสียยังไงบ้าง เราก็คิดว่าโดยรวมแล้วข้อดีมันก็จะเยอะ ก็เลยส่งลูกไป
ระบบการศึกษา มันก็ดีหมดทุกที่แหละค่ะ แต่สิ่งที่แตกต่างที่เราจะได้รับ คือเขาจะได้เป็นตัวของตัวเอง เขาก็จะได้ มีวิธีการแบบ service ได้อะ การอยู่ในสังคม การเอาตัวรอดได้ ไม่ต้องมีพ่อแม่คอยโอ๋ คอยโอบอุ้ม แหม่มว่ามันก็สำคัญ ซึ่งถ้าเกิดเขาอยู่ที่นี่อัตโนมัติอะ เขาก็จะบอกว่า อ้าวทำไมต้องเก็บจานล่ะแม่แม่ แม่แม่ก็มีพี่เลี้ยงให้เราแล้วนิอะไรเหล่านั้น
คราวนี้มันก็ง่ายกว่าที่เขาไปอยู่ที่นู่นเลย แล้วเขาก็ได้อยู่กับมนุษย์กลุ่มเล็กๆ อายุเท่าๆ กับเขา แล้วก็เรียนรู้ รู้จักแชร์ รู้จักแบ่งปัน รู้จักอยู่กับคนหมู่มาก รู้จักระเบียบ กฎกติกา แล้วก็มีสมาธิในการตั้งใจเรียนหนังสือ ซึ่งหน้าที่หลักเขาก็คือการเรียนอยู่แล้วค่ะ
แหม่มไปหาลูกทุกเดือนเลย (หัวเราะ) ถ้าไปเรียนที่ต่างประเทศกันหมด แหม่มก็ย้ายเลย (เสียงสูง) จะอยู่ทำไมล่ะ แต่ยังไม่ใช่เร็วๆนี้ อีกตั้งนานเพราะว่ายังมีคนที่2(น้องคิน -สยาม กระจ่างเนตร) และ3(น้องเนซซี่ -สิรินทร์ กระจ่างเนตร) อยู่ที่นี่อยู่ค่ะ มันก็ยังอีกนานแหละ มันก็คงไม่ใช่อนาคตอันใกล้ แต่ถ้าสมมุตถึงจุดนึงไปกันหมด 3 คน เราจะอยู่ทำไมล่ะ เราก็ไปอยู่นู่นสิ แล้วเราค่อยบินกลับมา”
“ลมใต้ปีก” ไม่มีเขาเราก็บินไม่ได้
นอกจากครอบครัว แหม่มยอมรับว่าสิ่งสำคัญที่สุด ที่ทำให้ยังคงมีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไปคือ กลุ่มคนที่รักแหม่มทุกคน รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณกับคนเหล่านี้ เพราะเขาทำให้เธอสามารถยืนได้อย่างแข็งแรง มีพื้นที่ยืนอย่างสวยงาม และอบอุ่น คนกลุ่มนี้ก็เปรียบเหมือนลมใต้ปีกที่ทำให้แหม่มขับเคลื่อนต่อไปได้
“ที่สุด (ย้ำหนักแน่นว่ามันเป็นเรื่องจริง) ต้องใช้คำนี้เลย เพราะว่าครอบครัวมันเป็นกำลังใจให้เราอยู่แล้ว ครอบครัวไม่ทิ้งกันอยู่แล้ว ไม่รู้นะ อย่างครอบครัวแหม่มทุกคน พ่อแม่ หรือลูกหลานพี่น้องเป็นเหมือนกันแหละ จะยังไงซะ ที่นี่คือบ้าน
แต่อีกกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เขาไม่ได้เกิดในครอบครัวเรานะ แต่เขาก็รัก ดูแลเรา และเข้าใจเรา เปรียบเสมือนครอบครัวเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเนี่ย มันเป็นกำลังใจสำคัญที่สุด ที่ขับเคลื่อนให้เราสามารถ มีแรงก้าวเดินต่อ มีแรงยืนอย่างมั่นคง มีแรงที่จะขับเคลื่อนทำอะไรหลายๆ อย่างที่สามารถจะเป็นความสุขให้ไม่มากก็น้อย สำหรับคนจะกลุ่มเล็ก หรือจะกลุ่มใหญ่ หรืออะไรก็แล้วแต่
สิ่งหนึ่งที่แหม่มพูดมาโดยตลอด แล้วก็ต้องให้เครดิตสามี เพราะว่าเขาพูดออกมาเสมอ เขารู้จักเรา เขาไม่ได้รู้จักเราในฐานะนักแสดงไง เขาเป็นคนไทย แต่เขาก็เหมือนแบบคนไทยที่โตเมืองนอก เขาจะไม่ค่อยเข้าใจอะไรอย่างนี้หรอก คราวนี้พอเขาเริ่มมารู้จักเรา เขาก็เริ่มเห็นว่าเราก็มีแฟนคลับ มีคนดู มีคนชื่นชอบ มีคนมาติดตาม มีคนชื่นชมผลงาน เขาก็เลยบอกว่า แหม่ม จริงๆแล้ว ต่อให้เหลือแค่คนเดียว ที่เขาอยากดูงานแหม่ม แหม่มก็ต้องทำให้เขาดู ไม่ใช่จะทิ้งไปเลย
แหม่มก็พูดอยู่เสมอมันก็เป็นความหมาย และความรู้สึกนั้นจริงๆว่า คนเหล่านี้ก็คือลมใต้ปีก ของเราจริงๆ ถ้าไม่มีเขาเราก็บินไม่ได้หรอก
หลายๆ คนอาจจะบอกว่า เราไม่ได้เป็นครม.(คนรักแหม่ม) แต่เราก็รักพี่แหม่มนะคะ ครม.ในที่นี้เราไม่ได้มีแบบ บัตรสมาชิก หรือเราไม่ได้มีบัตรแสดงตัวว่าคนนี้คือครม. ทุกคนที่ให้กำลังใจแหม่ม ทุกคนที่ติดตามผลงาน ไม่ว่าจะส่งข้อความมา เจอตัว หรืออาจจะไม่เคยเจอเลยในโลกนี้ ยังไม่มีโอกาสเจอกัน หรืออาจจะฝากกำลังใจมาจากทางไหน ทุกๆทาง ทุกๆคน เราถือว่าเป็นครม.หมด
บางทีเราก็มีเหมือนกัน ที่เราแบบท้อแท้ เราก็รู้สึกแบบหมดหวัง หมดกำลังใจ มันมี ทุกคนมีความรู้สึก แต่เรารู้สึกว่าเขาก็มาจุดประกายเหมือนกันว่า จริง มันอาจจะมีคน 100 คนที่ไม่ต้องการดูผลงานเราแล้ว ไม่ต้อนรับเราแล้ว แต่ยังมีอีก 2 คนที่เขายังมีความหวังในตัวเรา ยังให้กำลังใจ ยังอยากดูผลงาน ยังชื่นชม เรารู้สึกว่ามันก็ไม่แฟร์เหมือนกันที่เราจะไม่ทำแล้ว โอเคงั้น 100 คนนี้ เขาสรุปให้เราแล้วว่า เราไม่ควรทำงานต่อ แต่อีก 2 คนที่ยังอยากดูเราอยู่ เขาก็มีสิทธิ์นะ ทุกคนก็มีสิทธิ์เท่ากัน เราก็เลย... โอเคมีความหวัง โอเคเราจะทำให้
กำลังใจหาได้จากรอบตัวนะคะ อย่างที่บอก เรื่องปกติทุกคนมีทั้งคนรัก และคนเกลียด ทุกสาขาอาชีพ ทุกวงการ ทุกสังคม เพียงแต่ว่าเราอยู่ในโลกความเป็นจริง เราอย่าเพิ่งเป็นคนหมดหวังอะ หันมาเราก็อ้าว! คุณแม่ เราจะมาล้มให้แม่ดูได้ยังไง เฮ้ย! แม่อุ้มชูเลี้ยงดูมาอย่างดี ทำทุกอย่างเพื่อเรา อะไรอย่างนี้นะคะ หรือพี่น้อง หรือเพื่อนฝูง
เพราะฉะนั้นในวันที่หมดกำลังใจ แต่หันไปมันก็มีนะที่ในหลายๆ ซอก หลายๆ มุม หลายๆ หลืบ เราก็เห็น เฮ้ย! กำลังใจมันก็พรั่งพรูออกมาเหมือนกันนี่หว่า มันได้อยู่”
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ภาพ: วชิร สายจำปา
ขอบคุณภาพ: อินสตาแกรม @mcintosh