เด็กชายที่มาพร้อมความมหัศจรรย์ “หม่อง ทองดี” ร่อนกระดาษเพียงใบเดียว พาเขาไปสู่ระดับโลก สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยดังก้องไกล ปลื้มใจ! วันนี้จะถือสัญชาติไทยไปอย่างที่ฝันไว้สักที พร้อมรู้จักตัวตนเด็กหนุ่มคนนี้ กว่าจะมาถึงวันนี้
สุดตื้นตัน! พร้อมถือ “สัญชาติไทย” ไปเวทีโลก!!
เสื้อโปโลสีแดง สวมกางเกงวอร์มสีดำ ใบหน้าเปื้อนด้วยรอยยิ้ม น้ำเสียงเรียบๆ แววตาใสซื๋อ “สวัสดีครับ” คือคำทักทายแรกของ “หม่องทองดี” ที่ออกมาต้อนรับด้วยความยิ้มแย้ม ทำให้ชวนนึกถึงเด็กชายหม่อง เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ด้วยท่าเหวี่ยงแขนสุดแรงในการแข่งเครื่องบินกระดาษพับในครั้งนั้น
เรื่องราวของเด็กหนุ่มที่น่าสนใจคนนี้ กำลังเป็นที่รู้จักของคนในประเทศอีกครั้ง เขาโด่งดังมาจากเวทีการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2552 ที่คว้าแชมป์โลกมาให้คนไทยได้ชื่นชม
ล่าสุดปีนี้ก็คว้าแชมป์เป็นตัวแทนประเทศไทย รุ่นประชาชนทั่วไป ไปแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับที่ประเทศญี่ปุ่นอีกครั้งในเวทีการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์เอเชีย อีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งแตกต่างจากเมื่อครั้งวัยเด็ก โดยครั้งนี้จะได้ไปในฐานะคนไทยที่มี “สัญชาติไทย” อย่างเต็มตัว
นักร่อนกระดาษมือทอง
เมื่อเร็วๆ นี้ได้รับข่าวดีจากอาจารย์วีนัส ศรีสุข ว่าได้รับสัญชาติไทยอย่างเป็นทางการเมื่อคืนวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นคนไทยถูกต้องตามกฎหมาย และกำลังจะมีบัตรประชาชนเหมือนคนไทยทั่วไป ต่อไปคงจะได้เห็นบัตรประชาชนของหม่องในอีกไม่นาน
“ผมขอขอบคุณ ผู้ว่าฯเชียงใหม่ที่อนุมัติให้ผมได้มีสัญชาติและได้ถือบัตรประชาชน และขอบคุณอาจารย์ทุกๆ คนเจ้าหน้าที่ทุกๆ ท่านครับ รู้สึกดีใจ และหายเหนื่อยกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ดำเนินเรื่องมา ถือเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์แบบแล้วครับ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอทางอำเภอเรียกเข้าพบเพื่อทำบัตรประชาชน”
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมต้องดีใจในเรื่องสัญชาติของเขาถึงขนาดนั้น เมื่อย้อนดูประวัติของเขาดูนั้นจะพบว่า ได้สานฝันให้กับประเทศไทยไปไกลถึงระดับโลกมาแล้ว จากการเริ่มต้นการพับกระดาษเล่นๆ ของเด็กชายหม่อง
สิ่งที่ทำให้เด็กหนุ่มคนนี้หลงใหลในเครื่องบินกระดาษพับตั้งแต่เป็นเด็กชายหม่อง จนมาถึงในขณะนี้ก็ยังให้ความสนใจและชื่นชอบไม่เคยลดลง สิ่งนั้นคืออะไร เจ้าตัวตอบกลับด้วยความภูมิใจว่า “เป็นมากกว่าเครื่องบินกระดาษพับ”
“ได้ความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์ ทั้งพลศึกษา ได้ทั้งคณิตศาสตร์ที่ต้องคำนวณเพราะต้องดูว่าเราควรโยนไปทางไหน เราควรโยนในมุมไหน มันไม่ใช่เครื่องบินกระดาษเพียงอย่างเดียวมันให้ความรู้หลายๆ อย่าง ส่วนการฝึกฝนนั้น ใช้เวลาไม่นาน นะครับ หากเอาใจใส่ตลอด หัดพับทุกวัน แบ่งเวลาให้กับมัน ”
นอกจากนี้ หม่องยังได้เล่าย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้น ว่าเป็นไงมาไงก่อนที่จะมาถึงจุดนี้ เขาหยุดคิดครู่หนึ่งเมื่อให้เล่าไปถึงจุดเริ่มต้นตั้งแต่แรก
“เริ่มต้น เป็นการพับเครื่องบินกระดาษกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียน เริ่มเรียนตั้งแต่ ป.1 ก็พับเล่นกัน หากระดาษมาพับเครื่องบิน พับรถแข่ง พอถึงช่วงมหกรรมวิทยาศาสตร์ จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีผู้เข้าร่วมเดินทางมาจากทุกภูมิภาค ตอนนั้นปี 51 มั้งครับ และมีพี่ ๆ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้ามาแนะแนวมาโปรโมตว่าจะมีการแข่งขันเครื่องบินกระดาษที่ มช.(มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ชิงแชมป์เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันที่ญี่ปุ่น
จากนั้นครูก็ได้คัดเลือกนักเรียนไปประมาณ 20 กว่าคนไปแข่งขันกัน และวันนั้นไปแข่งก็ได้ที่หนึ่ง (ยิ้ม) ได้รางวัลชนะเลิศเป็นตัวแทนของภาคเหนือไปแข่งขันต่อที่อิมแพคเมืองทองธานี ตอนนั้นไปแข่งที่ไบเทค พอเดือนสิงหาคมก็ไปแข่งชิงแชมป์ประเทศไทยตอนนั้นเป็นครั้งที่ 5 ก็ไปแข่ง ตอนนั้นก็ชนะ ได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยไปแข่งต่อที่ประเทศญี่ปุ่น
คว้าแชมป์เครื่องบินกระดาษครั้งที่ 15 เป็นตัวแทนประเทศไทยไปเวทีโลก
หลังจากที่ได้แชมป์กลับมาจากญี่ปุ่น ผมก็เข้าแข่งทุกปีไม่เคยหยุดพัก ไปแข่งด้วยและไปเอาประสบการณ์ที่มีไปสอนน้องๆ พาน้องๆไปแข่งด้วยโรงเรียนเก่าที่ผมเคยเรียน ผมจบจากโรงเรียนบ้านห้วยทรายก็ไปสอนน้องๆ พาน้องๆไปแข่ง ปีนี้ก็พาน้องๆ ไปแข่ง 4 คนเป็นเด็กโรงเรียนบ้านห้วยทราย น้องๆ ก็ยังไม่ผ่านรอบรองชนะเลิศ แต่ผมได้รางวัลชนะเลิศ (ยิ้มมุมปาก) ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งจะไปแข่งต่อที่ประเทศญี่ปุ่นอีกประมาณ 2 ปี”
เด็กชายหม่อง เมื่อ 9 ปีที่แล้วพร้อมเหวี่ยงแขนสุดแรงฝัน
แต่ความน่าสนใจของหม่อง ทองดี ไม่ได้มีเพียงแค่สร้างชื่อเสียงระดับโลกเท่านั้น แต่ที่มากกว่านั้นเขาเป็นเด็กที่เปิดมิติเครื่องบินกระดาษพับให้กับเด็กๆ เมื่อนำเด็กไร้สัญชาติเข้าแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับในมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เมืองทองธานี ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่ ากิจกรรมนี้จะนำพาไปสู่ความหวังที่จะได้รับสัญชาติไทยเหมือนกับพี่หม่องของพวกเขาหรือไม่
ฝ่าฝันนานกว่า 9 ปีกว่าจะได้สัญชาติ!!
ต่อสู้มาถึง 9 ปี ด้วยเงื่อนไขทางสัญชาติกว่าจะได้มา หลังจากที่พ่อแม่อพยพมาจากไทใหญ่ รัฐฉาน ประเทศพม่า ย้ายเข้ามาทำงานที่เมืองไทยเมื่อปี 2538 เริ่มแรกอยู่อำเภอไชยปราการ เมื่อปี 2542 ย้ายมาอยู่ที่อำเภอแม่โจ้อยู่ได้ประมาณ 5 ปี จากนั้นย้ายมาอยู่ที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยยึดอาชีพก่อสร้างมาโดยตลอด
“พ่อเล่าว่าทางนั้นเขาหากินลำบาก ไม่ค่อยมีงานทำ เหมือนยังไม่มั่นคงจึงมาหาเงินในเมืองไทยเพราะว่ามีญาติ มีป้า น้า อา มาทำก่อน เขาบอกว่าเขาได้เงินดี พ่อจึงมาหาเงินในเมืองไทย ตั้งแต่ปี 38 ปักหลักอยู่ที่เมืองไทย ส่วนตัวผมเองก็อยู่ที่นี่เลยไม่ได้กลับไปรัฐฉานอีกเลย
หลังจากย้ายเข้ามาแล้วก็ดีขึ้นครับ แบบมันหากินก็ง่าย ย้ายมาตั้งแต่ปี 38 ก็มีญาติพี่น้องอยู่ที่นั่นตั้งแต่ย้ายมาพ่อก็มีกลับไปเยี่ยมพี่ชายที่บ้านเกิดเป็นครั้งคราว พ่อเล่าอีกว่าเหตุผลที่ว่าทำไมถึงตัดสินใจย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ไทย เนื่องจากแต่ก่อนเขาลือกันว่าไปอยู่โน่น ไปหาเงินหาทองมันง่าย เวลาแลกตังค์จะได้เยอะ
หลังจากอนุมัติเรื่องสัญชาติแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือกรมการปกครองก็จะกำหนดเลข 13 หลักให้ พอกำหนดเลข 13 หลักก็จะเอาชื่อเข้าทะเบียนบ้าน พอเอาชื่อเข้าทะเบียนบ้านเสร็จ ก็จะถึงขั้นตอนถ่ายบัตรประชาชน โดยคาดว่าจะย้ายเข้าไปอยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ 36 หมู่ 7 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นห้องเช่าที่ตนและครอบครัวอาศัยมาตั้งแต่เด็ก หากไม่ได้ก็จะขอเข้าที่ทะเบียนบ้านของครูน้อย (ครูวีนัสรินทร์ มีทรัพย์) ครูประจำชั้นสมัยเรียนมัธยมที่โรงเรียนบ้านห้วยทราย ที่อยู่ในอำเภอหางดง
กับครูน้อยก็เป็นเหมือนแม่อีกคน ครูน้อยก็คอยช่วยเหลือ คอยให้คำปรึกษาหลายๆ อย่าง ไปไหนมาไหน พอมีเรื่องไม่เข้าใจก็โทรมาถามครูน้อย มาปรึกษาครูน้อย ก็รู้สึกว่าครูน้อยก็เป็นแม่อีกคนหนึ่ง ขณะที่หม่องพูดถึงครูน้อย แววตาที่ถูกส่งออกพร้อมน้ำตาซึมน้ำเสียงสั่นเครือ"
กว่าจะมาเป็นหม่องในวันนี้ต้องผ่านอะไรมาบ้างใครจะไปรู้ดีเท่าเจ้าตัว และบุคคลที่อยู่เบื้องหลัง ที่คอยสนับสนุนมาโดยตลอด แต่เขาเก็บคำดูถูกไว้เป็นแรงผลักดันให้ก้าวไปข้างหน้า โดยไม่สนใจสิ่งรอบข้างว่าจะมองเขาเป็นอย่างไร
ขณะที่ทีมข่าวเรานั่งสัมภาษณ์อยู่นั้น เมื่อน้องหม่องได้เล่าความรู้สึกที่เอ่อล้นออกมาจนทำเอาน้ำตาครูน้อยที่นั่งอยู่ข้างๆ ไหลออกมา ทั้งสองคนพร้อมโผเข้ากอดซึ่งกันและกัน ด้วยความซาบซึ้งอย่างบอกไม่ถูก หลังจากนั้นครูน้อยก็เปิดเผยความในใจกับลูกศิษย์อันเป็นที่รัก
ครูน้อย-วีนัสรินทร์ มีทรัพย์
“ทุกข์สุขมาด้วยกัน ก็ภูมิใจทุกอย่างที่เขาทำแล้วก็เป็นตัวอย่างที่ดีของน้องๆ ทุกคนอยากให้เขาเป็นตัวอย่าง เขาเป็นไอดอลของน้องๆ ในการสร้างความดี หวังว่าเขาจะทำให้ดีที่สุด นำชื่อเสียงมาให้กับประเทศชาติเหมือนเดิม แต่ในความสามารถของเขาครูก็มีความเชื่อมั่นว่าเขาจะทำได้ นำสิ่งดีๆ กลับมาสู่ประเทศไทยของเราอีกครั้งหนึ่ง (หัวเราะพร้อมน้ำตา) ”
หลังจากนี้หม่องยังย้ำอีกว่า จะทำคุณประโยชน์ต่อไปเรื่อยๆ ทำความดีต่อไป จะไม่หยุดทำครับ แล้วก็สอนน้องๆ ให้อยู่ในสังคมที่ดี นอกจากนี้ เขาตั้งใจไว้อีก 2 อย่างคือ อาจจะได้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในฐานะเป็นประชาชนคนไทยเป็นครั้งแรกในชีวิตด้วย
เผยทริก “เสกกระดาษธรรมดา” เป็นเครื่องร่อน!!
พื้นที่หน้าบ้านที่เต็มไปด้วยดิน หิน ทราย ใช้เป็นพื้นที่ร่อนกระดาษของเด็กชายหม่องมาตั้งแต่เด็กๆ กับเหล่าน้องๆ ที่ทุกวัน หลังเลิกเรียน หรือหากมีเวลาว่างจะออกมาชุมนุมปักหลักอยู่ที่นี่ เป็นห้องเช่าเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยคนที่คุ้นเคยกันมานาน ใช้เป็นลานในการร่อนเครื่องบินกระดาษพับอย่างสนุกสนาน นอกจากนี้ยังได้บอกเล่าทักษะเครื่องบินกระดาษพับที่นำพาให้เขาไปสู่ชัยชนะด้วยความสำเร็จ จนไปได้ไกลถึงระดับโลก
“เทคนิคอยู่ที่การพับ การร่อน และการปรับให้มีความสมดุล การพับมีทั้งแบบบังคับและอิสระ ในการแข่งขันแต่ละครั้งจะนำความรู้ทั้งหมดที่มีมาพับในแบบบังคับที่คณะกรรมการกำหนดมาให้ได้ ซึ่งไม่รู้ว่ากรรมการจะให้โจทย์อะไรมา จากนั้นนำคะแนนที่ดีที่สุดมาบวกกันแล้วหารด้วยสอง ใครได้คะแนนเยอะสุดก็เป็นผู้ชนะไป นอกจากนี้ต้องดูอาการของเครื่องบินด้วยว่าเมื่อตกลงพื้นเร็วจะต้องปรับตรงไหนให้ร่อนได้นานที่สุด และต้องพับให้เรียบที่สุดอย่าให้มีรอยยับ ถ้ามีรอยยับจะทำให้เสียสมดุลเครื่อง ส่วนคะแนนเฉลี่ยออกมาผมได้ 12.55 วินาที ที่สองได้ 12.50 วินาที ที่สามได้ 12.36 วินาที”
สาธิตวิธีพับเครื่องบินกระดาษ
นอกจากชัยชนะแล้วยังได้แบ่งปัน วิชาความรู้ให้คนอื่นด้วยการเป็นวิทยากรรับเชิญตามโรงเรียนต่างๆ ที่ให้ความสนใจ และได้รับคำเชิญไปเมื่อมีโอกาส เพราะเครื่องบินกระดาษให้อะไรหลายๆ อย่างกับตัวเขา อย่างที่เขาบอกไว้ก่อนหน้านี้ จนสามารถที่จะนำมาสอนคนอื่นได้
“ ผมว่ามันให้ความสุข ให้เพื่อน ให้การเดินทาง (ยิ้ม) เพราะเราต้องเดินทางไปแข่ง ออกไปรู้ว่าสังคมข้างนอกเป็นยังไงและหลังจากที่กลับมาจากประเทศญี่ปุ่นก็คือได้ออกไปตามสถานที่ต่างๆ คือแต่ละโรงเรียนเขาก็เชิญให้ไปสอนพับเครื่องบินกระดาษ ก็เอาความรู้ที่ผมมีไปสอนให้น้องๆ”
ไม่เพียงเท่านั้นยังใช้เวลาว่างที่มีในแต่ละวัน ไปทำกิจกรรมกับน้องๆ ที่โรงเรียนบ้านห้วยทราย เพราะบ้านของหม่องและโรงเรียนห่างกันไม่ถึง 2 กิโลเมตร
“อาสาไปสอนน้องๆ ครับ คือบางวันที่เด็กเลิกเรียนหรือเสาร์อาทิตย์เด็กก็จะมาหาที่บ้าน ก็มาเล่นกันที่บ้าน ส่วนตอนนี้ผมมุ่งหน้าเรียนอย่างเดียว พอว่างจากการเรียนก็ไปช่วยพ่อทำงาน เพราะตอนนี้พ่อก็ปวดขาไม่ค่อยสบาย ก็สอนในเรื่องการพับเครื่องบินเนี่ยแหละครับ ถ้ามีช่วงเทศกาลแข่งก็จะไปสอน สมมติว่าเดือนหน้าจะแข่งก็จะไปเทรนด์น้องๆ ไปสอนอาทิตย์ละวัน สอนว่าเราต้องพับยังไง ต้องเตรียมออกกำลังกาย ฟิตร่างกายไว้
อาสาสอนน้องๆ ให้เดินรอยตามแชมป์โลก
สิ่งที่ได้กลับมาคือได้เห็นความสุขที่น้องๆ เขามีความสุข คือเห็นว่าพอน้องๆ เขาพับได้ แล้วเขาโยนได้ เขาก็จะมีความสุขว่าของเขาร่อนได้ ก็ไม่ได้ผลตอบแทนอะไรก็ไปสอนน้องๆ อยากให้น้องๆ ทำเวลาว่างให้เป็นประโยชน์ก็ไม่ได้ไปยุ่งกับสิ่งผิดกฎหมายหรือยาเสพติด”
ชวด “ทุนเรียน” เกือบชวด “สัญชาติ”
ย้อนกลับไปเมื่อ หม่อง ทองดี เป็นนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านห้วยทราย ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ในการเข้าร่วมการแข่งขันร่อนเครื่องบินกระดาษพับจนได้รับรางวัลอันดับสาม ประเภทบุคคลชายอายุไม่เกิน 12 ปี ที่จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ภายหลังจากการแข่งขันเสร็จสิ้น ก็ได้มีการต้อนรับจาก รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ในสมัยนั้น
ทั้งนี้ รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ในสมัยนั้น กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์จะแต่งตั้งให้เป็นยุวทูตประจำกระทรวงตลอดจนมีแผนมอบทุนการศึกษาต่อจนถึงระดับปริญญาเอกจากการสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย
“ก็ไม่ได้ครับทุนการศึกษาที่บอกว่าจะให้หลังจากที่กลับมา ส่วนเรื่องทุนการศึกษาก็มันเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วครับ ผมไม่อยากจะพูดถึง เพราะวันนี้เราทำวันของเราให้ดีที่สุด เขาอาจจะเป็นนักการเมืองในยุคนั้นแล้วเขาก็มาต้อนรับก็อาจจะพูดไปงั้นๆ”
คำถามคาใจ หลังมีการอนุมัติ “โค้ชเอก” และ 3 เยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมี ได้รับสัญชาติไทย เปรียบเทียบ “หม่อง ทองดี” มือพับเครื่องบินกระดาษสร้างชื่อเสียงให้ไทยเมื่อหลายปีก่อน ผ่านไป 9 ปียังไม่ได้รับ
“เรื่องหมูป่ามันคนละเคสกันครับ คือหมูป่าเคสมันจะง่ายกว่าเขายื่นคำร้องมาก่อนผม อาจจะเป็นเรื่องที่ดังขึ้นมา เจ้าหน้าที่เขาบอกจะทำให้ก็เลยโอเค มันอาจจะคนละเรื่องกัน เคสของผมกับน้องมันคนละอย่างกันคนละเรื่องกัน ของผมอาจจะเป็นทำคุณประโยชน์ หลายหน่วยงานต้องออกมารับแล้วก็อายุเกิน 20 ปีด้วย จึงต้องผ่านกระบวนการตรวจประวัติอาชญากรรมตรวจอะไรต่างๆ ของน้องหมูป่าเขาอายุยังไม่ถึง 20 ปี ยังไม่ต้องตรวจประวัติอาชกรรมอาจจะได้ไวกว่า”
การต่อสู้บนเส้นทางที่ไม่เคยได้รับเงินสนับสนุนให้เป็นนักกีฬาทั้งที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง สัญญาไว้เมื่อ 9 ปีที่แล้วว่าจะให้สัญชาติหลังไปแข่งมาจากญี่ปุ่น และจะให้ทุนเรียนฟรีจนจบดร. ปัจจุบันก็ยังไม่มีใครให้ จนเด็กวัย 12 ล่วงเลยมาถึงช่วงชีวิตวัย 21 ปี
“เมื่อ 9 ปีก่อนที่ผมยังไม่ยื่นขอสัญชาติ เพราะตอนนั้นมีมติ ครม.ปี 2553ให้บุตรต่างด้าวยื่นขอสัญชาติได้ ตอนนั้นก็ยังไม่ได้ทำเพราะผู้ใหญ่เขาจะดำเนินการให้ พอผ่ามาปี2559 มันมีเรื่องมติ ครม.แก้ไขฉบับปี2553ชัดเจนว่าให้บุคคลต่างด้าวขอสัญชาติไทย เข้าเงื่อนไขทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศเข้าหลักเกณฑ์
ได้คุยกับ อ.พันทิพย์ สายสุนทร แล้วก็อาจารย์วีนัส ศรีสุขที่อยู่กระทรวงมหาดไทยก็ได้คุยกันเรื่องขอสัญชาติ คุยกันเมื่อปี 2559 คือเมื่อปีนั้นก็แบบยังไม่ค่อยว่างกันด้วย งานยุ่ง ก็ลองมาเป็นปีนี้ ในเดือนพฤษภาคม อาจารย์วีนัสได้โทรมาประสานว่าจะทำเรื่องขอสัญชาติให้ไปเตรียมขอหนังสือรับรองจากหน่วยงานรัฐ หรือเทียบเท่ากรม แล้วจำนำเอกสารไปแนบเพื่อขอสัญชาติ มาปีนี้ก็ไม่รอแล้ว ยื่นเองเลย ไม่รอผู้ใหญ่แล้ว
หม่องไม่ใช่คนเดียวที่ประสบปัญหานี้ แต่ยังมีเด็กอีกหลายคนที่มีปัญหาเดียวกัน พบในไทยบุคคลไร้สัญชาติมีมากกว่า 8 แสนราย รวมไปถึงน้อง เหมียว (รจนา ทองดี) น้องสาวคนเดียวของหม่อง ในวัย 11 ปี เด็กน้อยร่าเริงที่มีความสนิทสนมกับพี่ชาย และกล่าวชื่นชมพี่ด้วยความภูมิใจที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย และยังกล่าวอีกว่าอยากได้สัญชาติเช่นเดียวกันกับพี่ชาย
ชุดทำงานก่อสร้างที่เปื้อนไปด้วยคราบปูน หลังจากที่ขับรถข้ามจังหวัดไปฉีดยาที่จังหวัดลำพูนเพื่อรักษาอาการปวดขาทุกวันหลังจากทำงานเสร็จ ก่อนที่จะบอกเล่าถึงเรื่องราวเมื่อ 23 ปีก่อน
ครอบครัวทองดี
“ที่เขาบอกจะให้ทุนก็ดีใจ แต่มาตอนนี้ก็ยังไม่มีอะไร ส่งเสียน้องตั้งแต่เด็กไม่มีใครให้ทุน ในอนาคตอยากได้สัญชาติไทยทั้ง 4 คน และหวังว่าจะได้แชมป์กลับมาให้คนไทยได้ชื่นชมอีกครั้ง
เด็กหนุ่มผู้นี้เขาหวังหวังเพียงว่าในครั้งนี้จะไปแข่งในฐานะตัวแทนประเทศไทยที่ถือสัญชาติไทยอย่างเต็มภาคภูมิ ชีวิตติดปีกในครั้งนี้ของ “หม่อง ทองดี” จะบินไปได้ไกลในระดับโลกอีกครั้งหรือไม่นั้นคงต้องรอติดตามกันต่อไป
2 ความหลงใหลบนเส้นทางที่ใฝ่ฝัน!!
นอกจากเครื่องบินกระดาษที่ให้ความชื่นชอบเป็นพิเศษแล้วนั้น มีอีก 2 สิ่งที่หม่องยังให้ความชื่นชอบอีกเช่นกันนั้นก็คือ การบินโดรน และความใฝ่ฝันที่จะจบวิศวะโยธาให้ได้
ชื่นชอบในเรื่องวิทยุเครื่องบินบังคับ เรื่องการบินโดรน เพราะนอกจากภูมิใจที่สุดในชีวิตเรื่องได้ทำให้ชื่อเสียงในประเทศแล้วก็ได้บินโดรนถวายงานใช้ในพระราชวัง เขาเล่าออกมาด้วยความเอ่อล้นเต็มความภาคภูมิในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่หวังว่าจะได้ตอบแทนแผ่นดินเกิด
“ภูมิใจที่สุดก็คือ ได้ทำชื่อเสียงให้กับประเทศ แล้วก็ได้บินโดรนก็ไปในเรื่องการถ่ายภาพและก็ได้รับใช้ในพระราชวัง ไปถ่ายงาน Bike for Dadที่กรุงเทพ”
ความอดทนในวันนั้น ไม่ใช่แค่ความเข้มแข็งทางกาย แต่คือความเข้มแข็งทางใจที่ทำให้ผ่านช่วงชีวิตที่ยากลำบากและอุปสรรคต่างๆ ถึงแม้ว่าไม่ได้สัญชาติก็ใช่ว่าชีวิตจะจบลง ยังคงต้องดำเนินชีวิตต่อไป จากนี้ชีวิตหลังจากได้สัญชาติ ขอเพียงแค่ได้ทำงานที่รักและมีชีวิตอย่างมีความสุขในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
“พอได้สัญชาติไทยก็จะไปหาดูที่ดินปลูกบ้านให้มั่นคง ส่วนอย่างอื่นค่อยหาอะไรทำ ด้านพ่อกับแม่ก็ไม่ได้หวังอะไร แค่หวังว่าให้เป็นคนดี และหาเลี้ยงพ่อกับแม่ได้
สิ่งสำคัญคืออยากมีบ้านเป็นของตัวเอง มันยังวางแผนยังไม่ได้ ตอนนี้คือจะทำงาน ดูที่ดูทางไปก่อน น่าจะประมาณ 4-5 ปีก็น่าจะมีบ้าน แต่รถยนต์มีแล้วพ่อกำลังผ่อนอยู่ ส่วนบ้านเช่าที่นี่ 1,300 บาทต่อเดือน ไม่รวมค่าน้ำค่าไฟ ถ้ารวมก็ตกเดือนละ 2,000 บาท ต่อห้อง
ตอนนี้คืออยากเรียนให้จบก่อน ทำงานหาเงินมาเลี้ยงพ่อกับแม่ คือทำงานอะไรก็ได้ขอให้เลี้ยงพ่อกับแม่ได้ (แววตายิ้มแย้มด้วยความมุ่งมั่น) คือผมตอนนี้ไปเรียนรู้กับงานพ่อเรื่องการก่อสร้าง การออกแบบ อยากจะสานงานต่อพ่อด้วย และที่สำคัญคืออยากมีที่ดินและบ้านเป็นของตนเองเพื่อที่จะมีชื่อในทะเบียนบ้าน และเลี้ยงดูพ่อกับแม่ให้สุขสบาย”
อีกหนึ่งความใฝ่ฝันของหนุ่มน้อยชาวเชียงใหม่ หลังจากนี้จะได้ทำตามความฝันของตัวเองตามที่ได้ตั้งใจไว้คือ ตั้งใจเรียนให้จบระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หลังจากนั้นก็สมัครและสอบเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งตั้งใจไว้อยากเรียนวิศวะโยธา เพื่อสานงานต่อของครอบครัว และเป็นความใฝ่ฝันอยากเรียนสายงานทางด้านนี้
“ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ กศน. ชั้น ม.ปลายที่ อ.เมืองเชียงใหม่ ใกล้จะจบ ม.6แล้วครับ จบ ม.6 ก็คิดว่าจะเรียนต่ออยู่นะครับ ที่คิดไว้คือทางวิศวะโยธา แล้วก็นิเทศศาสตร์ แต่เรื่องมหาวิทยาลัยยังไม่รู้ว่าจะไปมหาวิทยาลัยไหนต้องดูก่อน
อนุบาลผมเรียนอยู่โรงเรียนบ้านแม่โจ้ ย้ายมาเข้ามา ป.1ที่โรงเรียนบ้านห้วยทราย ไปต่อม.1ที่โรงเรียนหอพระ จนจบ ม.3 แล้วเรียน ม.4ได้เทอมหนึ่งแล้วก็ออกไปเรียนเรื่องการบินโดรนที่กรุงเทพฯ เรียนกับสมาคมวิทยุบังคับ จึงทำให้ได้ไปเรียนกศน.ที่หนองแขมเทอมหนึ่ง แล้วก็ย้ายกลับมาเรียน กศน.ม.5 ที่เชียงใหม่
ปัญหาด้านการเรียน ก็ไม่มีปัญหานะครับ เรื่องทุนพ่อแม่ก็ส่งเรียน ค่าเทอมจะเป็นทุนด้านอาหารการเรียนมีการให้เขียนเรียงความส่ง และอยู่ที่ครูประจำชั้นว่าจะให้เด็กคนไหนเข้าตามเกณฑ์ความเหมาะสม ส่วนผลการเรียนอยู่ในระดับที่ไม่ถือว่าดีมาก แค่พอใช้ได้ อยู่ที่ 2.5-2.6”
อะไรที่ทำให้เขาตัดสินใจออกจากโรงเรียนสายสามัญเพื่อเปลี่ยนผันตัวเอง ไปสู่นักเรียน กศน. เกิดจากแรงผลักดัน หรือแรงบันดาลใจอะไร หรืออาจจะเป็นปัญหาด้านเงื่อนไขเรื่องสัญชาติอีกแล้ว
“เหตุผลที่ออกจากสายสามัญเปลี่ยนไปเรียน กศน. เพราะว่าชอบในเรื่องเครื่องบิน ตอนนั้นคิดว่าไม่มีสัญชาติ เรียนจบไปก็ทำงานที่เรียนจบไว้ไม่ได้จึงออกมา มีโอกาสตอนไปอยู่กรุงเทพฯ ไปเรียนรู้การสอน การบังคับวิทยุบังคับ มีการอบรมที่สถานีไทยพีบีเอส ทางสถานีจ้างทางสมาคมไปสอน ก็จะมีครูฝึกอยู่ 4-5คน ซึ่งมีผมอยู่ในนั้นด้วยทำให้กลายเป็นครูฝึกไปด้วย
อีกอย่างชอบในเรื่องเครื่องบินจึงลองไปทำงานในเรื่องเครื่องบิน มีประสบการณ์ หาประสบการณ์ แล้วก็ออกไปเรียนทำให้มีรายได้ด้วย ทุกวันนี้ก็รับงานถ่ายภาพมุมสูงด้วย รายได้หลักของผมก็จะเป็นถ่ายภาพมุมสูงแต่พ่อแม่ก็จะทำงานก่อสร้าง”
ย้อนคำดูถูก “แค่เครื่องบินกระดาษ” คนทั่วไปเขาก็มาพูดให้ว่าเครื่องบินกระดาษทำไมต้องมีคนสนใจ ทำไมต้องให้บัตรประชาชน แต่ที่จริงมันไม่ใช่แค่เครื่องบินกระดาษ คือเราไปทำชื่อเสียงให้กับประเทศแล้วก็เอาความรู้ของเราไปสอนให้น้องๆ ผมก็ไม่สนคำพูดคนอื่น เลือกทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ คือเราก็ออกไปสอน แค่กระดาษใบเดียวเราออกไปสอนน้องๆ แต่ละโรงเรียนได้ คือเมื่อก่อนอยู่กับโรงเรียน โรงเรียนก็จะพาไปสอน คือต้องทำให้รู้ว่ามันไม่ใช่แค่เครื่องบินพับกระดาษ อย่างที่บอกไปครับว่าเป็นได้ทั้งวิทยาศาสตร์ได้ทั้งคณิตศาสตร์ เหมือนเราเล่นไปด้วยแต่เราเรียนรู้ไปด้วยพร้อมๆ กัน เอาจริงนะครับ ก็คือมันก็แค่ไม่มีสัญชาติมันก็ทำชีวิตประจำวันได้ ทำงานก็ได้ ประกันสุขภาพก็ได้ มันก็แค่อาจจะขาดบางอย่าง ก็คือเวลาเดินทางเราก็ต้องขอใบอนุญาตเดินทางจะไปจังหวัดไหนๆ เราก็ต้องขอใบอนุญาตเดินทางแล้วก็ทำงานเราก็ขอใบอนุญาตทำงาน มันก็แค่จะขาดในบางอย่างไป ส่วนปีนี้คิดว่าจะได้แชมป์โลกกลับมาไหม คือไม่ได้คิดว่าจะได้เป็นตัวแทนนะครับ คือจริงๆ วันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านผมมีสอบ เอเน็ตด้วยซ้ำ ผมก็เลยไปเป็นเพื่อนน้องๆ ไปดูแลน้องๆ ก็เลยไปร่วมการแข่งขัน คือคิดแค่เอาผ่านแค่รอบรองชนะเลิศเอาให้ดีที่สุดก็ไม่ได้หวังว่าเป็นตัวแทนอะไร แต่ผลกลับกลายได้เป็นชนะเลิศ (หัวเราะ)” หลังจากที่ได้แชมป์ ผ่านมา 9 ปี ชีวิตเปลี่ยนก็เปลี่ยนเยอะนะครับ ก็มีคนรู้จักมากขึ้น มีคนในสังคมรู้จัก แล้วก็ทำให้กำลังจะได้ถือบัตรประชาชน |
ครอบครัวธรรมดาหาเช้ากินค่ำ ชายวัยกลางคน มาพร้อมชุดทำงานเสื้อแขนยาวสีน้ำเงินที่เปื้อนไปด้วยคราบปูน บอกเล่าหลังจากที่มาอยู่เมืองไทย 23 ปี ถึงความเป็นอยู่ของครอบครัวว่า ครอบครัวอยู่กันแบบง่ายๆ มีอะไรในตู้เย็นก็เอามาทำ ไม่ได้กินอะไรแบบหรูหรามีผักกาดก็ทำผักกาด บางวันที่ไม่ได้ไปทำงานกับพ่อแม่ก็อยู่บ้านตอนเย็นก็จะทำกับข้าวรอพ่อแม่ จุดเปลี่ยนในครอบครัว ไม่มีอะไรเปลี่ยนเหมือนเดิม ทำงานอยู่เหมือนเดิม จิตใจก็เหมือนเดิม หาเช้ากินค่ำ และรู้สึกดีใจมากที่ลูกชายได้เป็นตัวแทนประเทศไทยอีกครั้ง และคิดว่าหม่องน่าจะได้แชมป์โลกกลับมาให้คนไทยได้ชื่นชมอีกครั้ง ไม่ได้บังคับว่าอยากจะให้ทำอาชีพอะไรต่อไป อยู่ที่ตัวเขาว่าอยากทำอะไรไม่ได้บังคับ แต่ลึกๆแล้วก็อยากให้เขาเป็นครูที่สอนเด็กๆ ส่วนที่ลูกบอกว่าอยากเป็นวิศวะโยธานั้นก็ยินดีหากเขาชื่นชอบและใฝ่ฝัน |
ครั้งหนึ่งชีวิตลูกผู้ชาย “บวชทดแทนคุณ” ในชีวิตลูกผู้ชายครั้งหนึ่งได้มีโอกาสบวชตอบทดแทนพระคุณพ่อแม่ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนเมื่อปีที่แล้ว บวชทั้งหมด 7 วันครับ ที่วัดอุโมงค์ จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากการบวชก็รู้สึกว่าตนเองนั้นมีสมาธิเพิ่มขึ้น มีสติ ได้นั่งสมาธิ สงบจิตสงบใจ ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี ทำให้ใจเย็นมากขึ้นจะทำอะไรต้องมีสติเข้าไว้ |
ร่อนกระดาษเจอ “รักแท้” ไปเจอกันได้เพราะเกิดจากการไปแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการพับกระดาษต่างคนต่างให้ความรู้กัน ผมก็ไปให้ความรู้ทางโรงเรียนเขาในเรื่องการพับกระดาษ ทางเขาก็สอนให้ความรู้ในเรื่องการทำเครื่องบินวิทยุบังคับ คือเหมือนแลกเปลี่ยนความรู้กัน ก็ที่คบจริงๆ ก็คนแรก (ยิ้ม) รู้จักกันมา 4 ปี ครบกันมาประมาณ 3 ปีกว่า ตอนนี้แฟนอยู่สกลนคร เจอกันได้เพราะคือชอบเรื่องเครื่องบินเหมือนกัน(อมยิ้ม) เพราะว่าเขาก็ชอบเรื่องเครื่องบินเหมือนกับผม วันนั้นทางโรงเรียนเขาจัดเป็นเครื่องบินวิทยุบังคับ ตอนเรียนอยู่ก็แข่งเครื่องบินกระดาษ เครื่องบินบังคับ ทางโรงเรียนเขาไปจัดทางสมาคมไปจัดที่สกลนคร เขาไปจัดที่โรงเรียน ได้นำความรู้ไปแลกเปลี่ยนกัน ผมก็ไปสอนเรื่องเครื่องบินกระดาษให้เขาพับแล้วเขาก็มาสอนผมในเรื่องเครื่องบินวิทยุบังคับ เขาก็มาช่วยในชีวิตอะไรหลายๆ อย่าง ตอนนี้ก็เหมือนมาช่วยในเรื่องการจัดเวลาผมไม่ว่างก็จะให้เขารับงานแทน ให้เป็นคนรับโทรศัพท์ ให้นัดเวลา ก็จะมาช่วยในเรื่องทางบ้านด้วย ก็จะมาทำกับข้าวรอพ่อกับแม่ |
สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ภาพ: ธัชกร กิจไชยภณ
ถ่ายทำคลิป: สวรส พวงเกาะ
ตัดต่อคลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก Mong Thongdee