xs
xsm
sm
md
lg

“บ้านหมา-แมว” ประชดหนัก!! “เก็บตังค์ขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงเมื่อไหร่ จะปล่อยทิ้งให้หมด”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“บีบประชาชน ทำอย่างนี้ไม่ต่างอะไรกับการเก็บภาษีหมาแมว” ผู้รับเลี้ยงสัตว์จรจัดกว่า 600 ตัว โวยแรง ขอค้านหัวชนฝา ต้านร่างกฎหมาย “ขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง” จ่ายตัวละ 450 บาท บอกเลย พ.ร.บ.นี้ประกาศใช้จริงเมื่อไหร่ จะปล่อยหมาแมวออกจากกรง ให้กลายเป็นภาระสังคมให้หมด

เล่นเอาสมาคมผู้ดูแลเรื่องสัตว์วิตกหนัก แทนที่กฎหมายจะช่วยลดทารุณสัตว์ กลับยิ่งเสี่ยงต่อการถูกทิ้งหนักกว่าเก่า ไหนจะเรื่อง “ค่าปรับ 25,000” ที่อาจกลายเป็นส่วยเข้ากระเป๋า เตือนรัฐบาลให้รอบคอบ กฎหมายมีได้ แต่อย่าผลักภาระให้ประชาชน!!




ทำดีไม่ได้ดี? เหล่า “สถานสงเคราะห์สัตว์” พร้อมประชดกฎหมาย!!

“ถ้ากฎหมายตัวนี้ออกมาเมื่อไหร่ มันจะกลับกลายเป็นภาระของคนที่เลี้ยงสัตว์ หรือเก็บสัตว์มาดูแล อย่างตัวพี่เอง พี่ก็คงไม่ไหว ถ้ากฎหมายจะมาเก็บเงินกับพี่อีก ถ้าต้องมาจ่ายค่าลงทะเบียนสัตว์อีก พี่ก็จะปล่อยออกจากกรงให้หมดทุกตัวเลย ปล่อยออกไปให้เป็นภาระของสังคมไปเลย

เพราะทุกวันนี้ที่รับผิดชอบอยู่ ค่าใช้จ่ายก็ตกเดือนนึงประมาณ 1 แสนกว่าบาท กับการที่ต้องดูแลหมา 500 กว่าตัว และแมวอีกเกือบ 100 ตัว แถมบางเดือนที่ไม่มีแม้เงินจะจ่ายค่าอาหารสัตว์ ก็ต้องติดหนี้บัตรเครดิตเขาเอา”



มุก-ไข่มุก เพ็ชรรัตน์ ประธานองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ “สุนัขริมรั้ว” สาวผู้ใจบุญในพื้นที่ จ.สงขลา ที่รับบรรดาหมาแมวจรจัดมาเลี้ยงทั้งหมดกว่า 600 ตัว ระบายความอัดอั้นตันใจกับ ทีมข่าว MGR Live ผ่านปลายสายเอาไว้อย่างนั้น เกี่ยวกับประเด็นร้อนล่าสุดที่ฟากรัฐบาลโยนหินถามทาง คล้ายให้สัญญาณว่ากำลังจะผ่าน “ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ (ฉบับที่...) พ.ศ....” ในมาตราที่แก้ไขเพิ่มเติมให้เก็บ “ค่าลงทะเบียนสัตว์เลี้ยง” กับผู้เลี้ยง ตัวละ 450 บาท


[มุก-ไข่มุก เพ็ชรรัตน์ ประธานองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ “สุนัขริมรั้ว”]

เริ่มนำร่องกันที่สัตว์เลี้ยงยอดนิยมอย่าง “หมา” และ “แมว” ก่อน โดยให้เหตุผลว่าการระบุตัวตนเจ้าของได้อย่างชัดเจน จะช่วยลดปัญหาเรื่องเจ้าสัตว์แสนรักไปก่อความรำคาญ ทำร้ายชีวิตและทำลายทรัพย์สินของผู้อื่นได้ จึงเป็นที่มาของจำนวนเงิน 450 บาทที่ต้องแลกไป ซึ่งคิดเป็นค่าคำร้องขอขึ้นทะเบียนฉบับละ 50 บาท, ค่าสมุดประจำตัวสัตว์ 100 บาท, ค่าเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ 300 บาท รวมเป็นเงิน 450 บาทต่อตัวตามที่กฎหมายกำหนด

หากเจ้าของสัตว์ฝ่าฝืน ไม่พามาลงทะเบียน เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้เลย เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 25,000 บาท ซึ่งถ้ามองจากมุมของคนรักสัตว์ มุมของผู้รับเจ้าสี่ขาจรจัดมาเลี้ยง ในฐานะประธานองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ “สุนัขริมรั้ว” แล้ว มุกมองว่าร่างกฎหมายนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาเรื่องไหนเลย มีแต่จะสร้างปัญหามากไปกว่าเดิมด้วยซ้ำ




“ถ้ากฎหมายตัวนี้ออกมาบังคับใช้เมื่อไหร่ เชื่อว่าจะทำให้คนเอาหมาแมวออกมาทิ้งเยอะกว่าเดิมมาก วัดดูจากที่พี่เคยไปช่วยรักษาหมาตามบ้าน จะเห็นเลยว่าชาวบ้านที่ช่วยดูแลแต่ละคนเขาไม่มีตังค์ที่จะพาไปหาหมอเลย ตังค์จะซื้อยาให้หมาก็ไม่มี แล้วถ้ายิ่งเอากฎหมายตัวนี้มาบีบให้พวกเขาต้องจ่ายค่าลงทะเบียน ปัญหาจะยิ่งหนักกว่าเดิม และสุดท้ายภาระก็จะไปตกที่วัดแทน

พูดตามตรงเลยว่าถ้าจะร่างกฎหมายออกมาแบบนี้ อย่าร่างเลยดีกว่า หันมาคิดว่าจะร่างกฎหมายยังไงให้สามารถควบคุมประชากรสัตว์จรจัดได้ ไม่ดีกว่าเหรอ หรือจะร่างให้ทุกตำบลมีคลินิกที่จะช่วยทำหมันฟรีได้ แบบนั้นดีกว่าไหม ในเมื่อคุณยังไม่มีคลินิกที่จะช่วยเปิดรักษาสัตว์ให้ประชาชนฟรีๆ ได้ แล้วจะมาเก็บเงินกับทางประชาชนแบบนี้ จะเก็บไปเพื่ออะไร และจะเอาเงินตรงนี้ไปทำอะไร แถมยังไปบีบเงินกับคนจนอีก

ทำแบบนี้มันเท่ากับว่า คุณจะเก็บภาษีหมาแมว เก็บภาษีสัตว์เลี้ยง โดยที่คุณไม่ได้มีสวัสดิการช่วยเหลืออะไรตอบแทนให้ประชาชนเลยด้วยซ้ำ ซึ่งมันไม่ใช่ และไม่ตอบโจทย์อะไรเลย”


[นอกจากต้องดูแลสัตว์จรจัดภายในศูนย์ของตัวเองแล้ว ทุกวันนี้คุณมุกยังลงพื้นที่ ช่วยเหลือ-ฉีดยา-ทำหมัน ให้แก่สัตว์จรจัดตามที่ต่างๆ ด้วย]

สอดคล้องกับมุมมองของ ลุงหยี-พิสิษฐ์ คำคม ลุงผู้ใจบุญ ซึ่งไม่ได้มีฐานะมั่งมีเหมือนอย่างใครๆ แต่ด้วยความเมตตาในเพื่อนร่วมโลก ทำให้ตัดสินใจรับเลี้ยงหมาและแมวจรจัดที่มีคนเอามาปล่อยทิ้งไว้ ให้พวกมันได้อยู่อาศัยในบริเวณบ้านกว่า 500 ตัว บนพื้นที่ละแวกพุทธมณฑลสาย 2 เลียบทางรถไฟ

ให้ความเมตตาแก่สัตว์จรจัดมานานถึง 20 กว่าปี ไม่เคยมีปัญหา มาครั้งนี้นี่แหละที่ลุงคิดว่าต้องเดือดร้อนหนักแน่ ถ้ากฎหมายตัวนี้ออกมาบังคับใช้จริง จึงได้แต่บอกผ่านสื่อเอาไว้ว่า ขอให้รัฐบาลได้โปรดยกเว้นคนที่ตั้งใจช่วยเหลือเหล่าสัตว์ผู้ไร้ที่พึ่ง เพราะบรรดาหมาแมวในการดูแลของลุงทุกตัว ถูกจำกัดบริเวณให้อยู่แต่ในพื้นที่เท่านั้น ไม่เคยออกไปสร้างความเดือดร้อนให้ใครเลย หรือแม้แต่เรื่องเสียงรบกวนเพื่อนบ้านก็ไม่เป็นปัญหา เพราะละแวกเดียวกันนี้มีแต่ญาติๆ คนกันเองทั้งนั้น



[ลุงหยี-พิสิษฐ์ คำคม ลุงใจบุญ ผู้รับเลี้ยงหมาและแมวจรจัดไว้กว่า 500 ตัว]
“ช่วงกลางคืน พวกเขาก็ไม่ได้เห่าหอนอะไร พอกินอิ่ม เขาก็นอนหลับ ไม่มีมากัดกัน เพราะเวลามีคนให้เงินบริจาคมา ผมก็เลี้ยงให้เขาดี ให้กินอิ่ม ตัวอ้วนทุกตัว ไม่ได้ว่ามาเกาะหมาหรือแมวกินอย่างที่คนอื่นคิดหรือพูด


และถ้าทางการเขาจะเก็บค่าลงทะเบียน ผมคงต้องเดือดร้อนแน่ ผมว่าน่าจะมีมติออกมาหน่อยว่า ให้ยกเว้นสำหรับผู้ที่ช่วยเหลือสัตว์จรจัด แล้วมากักบริเวณให้ดี เพราะถ้าให้ผมต้องพาเขาไปลงทะเบียนทั้งหมดนี้ 400 - 500 ตัว มันเป็นไปไม่ได้เลย เพราะแค่ที่จะกินวันๆ ก็ไม่มีแล้ว

หรือถ้าจะมาปรับค่าไม่ลงทะเบียนอีกเป็นหมื่น 2 หมื่น ก็คงจ่ายไม่ไหว ปรับไปก็เท่านั้น หรือเจ้าหน้าที่เขาจะให้ขนหมาขนแมวไปทำลาย ไปฆ่า ก็คงจะต้องแล้วแต่เขา เพราะว่าเราคงไม่มีปัญญาไปทำอะไรได้”



ผ่านกฎหมาย-ลงทะเบียนสัตว์ได้ แต่อย่า “หน้าเลือด” เกินไป

ไม่ใช่ว่าจะมีแค่เสียงฟากคนค้านหัวชนฝาอย่างบรรดาผู้รับอุปการะสัตว์จรจัดเท่านั้น แต่เสียงสะท้อนจากสังคมจำนวนไม่น้อยก็ไม่ได้ต่อต้านร่าง พ.ร.บ.ตัวนี้เสียทีเดียว เสียงส่วนใหญ่เห็นดีเห็นงามเสียด้วยซ้ำ ที่จะมีระบบเข้ามาจัดการคุ้มครองเรื่องสัตว์ ติดอยู่แค่ “ค่าลงทะเบียนสัตว์เลี้ยง” นี่แหละที่เป็นปัญหา และบรรทัดต่อจากนี้คือหนึ่งในความคิดเห็นที่ได้รับการกดไลค์มากที่สุดบนโลกออนไลน์

"หลายคนมีเงินจ่ายค่าลงทะเบียนให้หมาและแมวได้ แต่อยากจะถามรัฐบาลว่าต่อปีหรือตลอดอายุ จะให้ไปจ่ายที่ไหน? หน่วยงานไหนรับผิดชอบ? เงินที่จ่ายไปจะไปอยู่ที่ใครที่ไหน และจะเอาไปทำอะไรบ้างกับเงินนี้? หมาแมวที่ไปลงทะเบียนได้อะไรกลับคืนมาบ้างไหม? ถนนหรือทางเดินเท้าดีขึ้น มีสวัสดิการหมาแมวเมื่อชราภาพ ใช้บัตรทองได้บ้างไหม?"



"ลงทะเบียนน่ะได้ แต่ค่าใช้จ่ายน่าเกลียดเกิน ค่าคำร้อง 50 บาท สมุดประจำตัว 100 บาท เครื่องหมายประจำตัว 300 ของพวกนี้จะต้นทุนเท่าไหร่กันถ้าผลิตอย่างมาก

1. คำร้องขึ้นทะเบียนสามารถทำได้ทางอินเทอร์เน็ต ไม่ต้องใช้เจ้าหน้าที่มาพิมพ์ข้อมูลเข้าระบบ ให้เจ้าของส่งข้อมูลเข้าระบบได้เอง ทุยแลนด์ 4.0 หน่อยสิ ถ้าเข้าไม่ถึงเน็ต ค่าใบคำร้องไม่ควรมี หรือราคาถูกๆ 5 บาท ให้คนเอาไปถ่ายเอกสารเพิ่มกันเองได้

2. สมุดประจำตัวสามารถโหลดพิมพ์ออกมาเองได้ จะให้กรอกข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต หรือโหลดสมุดมากรอกข้อมูล และถ้าจะพิมพ์ออกมาสำหรับคนที่เข้าเน็ตไม่ได้ ควรราคาแค่เล่มละ 5-10 บาท พิมพ์จำนวนมากราคาถูกอยู่แล้ว ตั้งราคา 100 บาท นี่มันราคาเท่ากับพิมพ์ 4 สี หนังสือ HELLO! แล้ว

3. เครื่องหมายประจำตัว จะคิดเงิน 300 ควรเป็นชิป หรือ ป้าย GPS ถ้าเป็นแค่ป้ายห้อยปลอกคอ 20 บาทก็ยังได้กำไร"




"เห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียน แต่ไม่เห็นด้วยกับราคา 450 อย่างน้อยควรเริ่มแรกก่อน สัก 200 หลังจากหมดช่วงที่กำหนดจะเป็น 450 น่าจะดีกว่า"

ไม่ต่างไปจากบทวิเคราะห์ของ ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ที่มองว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวน่าจะมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย แค่เพียงรัฐบาลกำหนดรายละเอียดการบริหารจัดการ และบทลงโทษต่างๆ เอาไว้อย่างชัดเจน อย่าปล่อยให้คลุมเครือ ให้ประชาชนคาดเดากันไปเองอย่างตอนนี้



[ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA)]
“สิ่งที่จำเป็นมากๆ ที่ภาครัฐควรทำก็คือ 1.การให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้านต่อประชาชน 2.ทำยังไงก็ได้ให้กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนน้อยที่สุด และ 3.ต้องแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง ถูกวิธี และให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนในอนาคต

ยังไงก็ตาม ข้อดีของการจะมีร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมา มันก็ยังมีอยู่นะครับ เพราะการขึ้นทะเบียนสัตว์ มันจะช่วยให้เราสามารถระบุเจ้าของอย่างเปิดเผยและชัดเจนได้ เมื่อมีเจ้าของก็ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ในกรณีที่สัตว์ไปทำร้ายคนหรือทรัพย์สินของผู้อื่น เช่น ไปกัดเด็ก ไปกัดไก่ของคนอื่น เราก็จะสามารถหาเจ้าของมาดำเนินการรับโทษตามกฎหมายได้โดยง่าย

อีกประเด็นนึงที่จะเกิดข้อดีก็คือ เรื่องที่เกี่ยวกับสัตว์จรจัด จากก่อนหน้านี้เราจะกังวลกันว่า ถ้าสัตว์จรจัดไปสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้น ทั้งกับคนและทรัพย์สิน ประชาชนจะไม่ได้รับการดูแล แต่หลังจากมีร่างนี้แล้ว น่าจะช่วยให้ทางท้องถิ่นเข้าไปบริหารจัดการได้มากขึ้น และจะทำให้ปัญหาเดิมๆ ลดลงตามไปด้วย



แต่ตอนนี้ ดูเหมือนกฎหมายจะยังไม่มีความชัดเจนอะไรออกมาเลย ยังไม่ได้ระบุรายละเอียดด้วยว่าจะเก็บกับองค์กรที่ดูแลสัตว์จรจัด หรือบ้านป้าๆ ลุงๆ ที่ใจบุญช่วยเลี้ยงด้วยหรือเปล่า ซึ่งตรงนี้ทางภาครัฐก็ควรสนับสนุนกลุ่มคนที่ช่วยเหลือสัตว์จรจัดด้วยนะครับ ไม่ใช่จ้องจะไปเก็บเงินเขา เพราะเขาช่วยแบ่งเบาภาระให้ทางรัฐด้วยซ้ำ หรืออย่างบางวัดที่มีหมา 500 ตัว ถ้าไปบังคับใช้กฎหมายแบบนั้น มันก็จะกลายเป็นการผลักภาระไปให้กับทางวัดอีก

ที่สำคัญ อัตราค่าลงทะเบียน 450 บาทต่อตัว ผมว่าสำหรับผู้มีรายได้น้อยก็กระทบกับเขานะ ยิ่งบางคนที่เลี้ยงเป็นจำนวนมาก จะยิ่งกระทบต่อการดำรงชีวิตของเขา เพราะฉะนั้น ถ้าจะต้องเก็บจริงๆ ก็เก็บในอัตราที่จำเป็น อาจจะหลักสิบหรือหลักร้อยต้นๆ ก็พอ หรืออย่างในระยะต้น อาจจะให้มาขึ้นทะเบียนสัตว์โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายเลยตลอด 1 ปี แล้วหลังจากนั้นก็อาจจะเก็บบ้าง แต่ไม่เก็บในอัตราที่สูงเกินไป



ส่วนข้อมูลที่ออกมาบอกว่า ให้สิทธิเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ในการเปรียบเทียบปรับกับเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่ไม่พาไปขึ้นทะเบียนได้ ตรงนี้ก็นำมาซึ่งความกังวลเรื่องการจะเอาเงินเข้ากระเป๋าของพนักงานได้ด้วยเหมือนกัน ถือเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าจะทำจริงๆ ก็ต้องควบคุมปัญหาตรงนี้ และต้องดูความพร้อมในแต่ละพื้นที่ด้วย”

ท่ามกลางความคลุมเครือของข้อมูลที่ส่งมาจากฟากรัฐบาล ล่าสุดกลับมีสัญญาณจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยบอกเล่าแก่สื่อมวลชนผ่านถ้อยคำของ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีว่า ดูท่าผู้นำประเทศจะมองไม่เห็นความจำเป็นว่า เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบผลักให้ผ่านร่าง พ.ร.บ.อะไรมากมายนัก



นายกฯ บอกว่ามีกฎหมายจัดระเบียบเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องระวังอย่าให้เป็นการสร้างภาระให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะคนที่เขาเมตตาสัตว์ เลี้ยงสัตว์และนำสัตว์มาไว้จำนวนมาก ซึ่งนายกฯ เป็นห่วงเหมือนกันว่า ถ้าจะต้องไปควบคุมว่าต้องเลี้ยงไว้กี่ตัว เลี้ยงไม่เกินกี่ตัวถึงจะต้องเสียภาษี และถ้าจะหาที่ไปปล่อย แล้วใครจะดูแล กทม., ท้องถิ่น หรือกระทรวงเกษตรฯ จะดูแลไหวหรือไม่

ตอนนี้ทุกอย่างยังเป็นปกติ เพราะเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติดังกล่าวแล้ว จะต้องส่งเรื่องไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณา และยังต้องส่งไปสภาอีกยาวนาน ยังไม่ได้บังคับใช้”









สกู๊ป: ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "บ้านลุงหยี" และ "องค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ "สุนัขริมรั้ว" สะเดา"


กำลังโหลดความคิดเห็น