xs
xsm
sm
md
lg

ลงมือ-ลงแรง ส่งเสริม อนุรักษ์ฟื้นฟู "ปลูกป่าโกงกาง"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เติมเต็มความสมบูรณ์ ด้วยการปลุกป่าโกงกาง ผ่านโคงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช “รูปแบบใหม่” ด้วย “ท่อใยหิน” แบบยกพื้น สร้างจิตสำนึกรักธรรมชาติ อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ร่วมแรง-ร่วมใจปลูกป่าโกงกาง โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ฯ กองทัพเรือ (อพ.สธ.-ทร.) เพื่อปลูกเป็นตัวอักษร “ทรงพระเจริญ” ที่จะคอยส่งเสริมให้ประชาชนหันมาอนุรักษ์ธรรมชาติมากยิ่งขึ้น และในครั้งนี้เคป แอนด์ แคนทารี โฮเทลส์, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพัทยา และออฟโรดจิตอาสา ร่วมกันปลูกต้นโกงกาง จำนวน 375 ต้น บริเวณพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

โดยพื้นที่ปลูกป่าโกงกางบริเวณนี้มีความแตกต่างจากพื้นที่ปลูกป่าโกงกางโดยทั่วไป มีพื้นทะเลบริเวณที่ปลูกเป็นก้อนหิน โขดหิน เป็นส่วนใหญ่ ธาตุอาหารน้อย มีคลื่นลมแรง ระดับน้ำทะเลสูง ทำให้ต้นโกงกางมีโอกาสในการเจริญเติบโตน้อยมาก
 

โครงการดังกล่าวอยู่ในการดูแลของหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ (นสร.กร.) ทางหน่วยบัญชาการฯ โดย เรือโทศุภวุฒ ชูชาติเจริญพร ผู้ดูแลโครงการ ได้คิดค้นวิธีการปลูกด้วยวิธีพิเศษ คือ การปลูกต้นโกงกางลงในท่อใยหินแบบยกพื้น โดยฝังท่อใยหินลงบนพื้นทะเลเพื่อป้องกันและเพิ่มโอกาสให้กับต้นโกงกางในการเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น

ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลด้วยวิธีการปลูกแบบใหม่ สร้างแหล่งที่อยู่อาศัยของพันธุ์พืช และสัตว์ในทะเลให้เกิดความสมดุล รวมทั้งช่วยสร้างจิตสำนึกของประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจ ความผูกพัน และได้ชื่นชมกับธรรมชาติของท้องทะเลไทยอันสวยงามต่อไปอีกนานเท่านาน

ด้าน พลเรือตรี อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บังคับบัญชาการ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ กล่าวถึงโครงการนี้ว่า “ทางหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ รู้สึกมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทางภาคเอกชนเห็นความสำคัญและร่วมแรงร่วมใจในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมทางทะเล ทางหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ

“ผมรู้สึกขอขอบคุณทุกคนที่มาช่วยกันสร้างระบบนิเวศของท้องทะเลไทยให้สมดุลและสวยงาม เดิมทีพื้นที่ตรงนี้สมัยก่อนมีหินเยอะมาก ซึ่งตอนนี้เราพยายามปลูก และดำเนินการมาเรื่อยๆ หาวิธีการต่างๆ จนกระทั่งคิดค้นปลูกลงในท่อใยหินแบบยกพื้น อีกทั้งยังช่วยให้ชายหาดไม่พังอีกด้วย”
 
นอกจากนี้ ไฟล์ท ออฟ เดอะ กิบบอน ผู้นำการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยการโหนสลิงเหินเวหาแห่งแรกในประเทศไทย ยังร่วมสนับสนุนโครงการปลูกป่าโกงกางในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ กองทัพเรือ(อพ.สธ.-ทร.) ร่วมกับ เคป แอนด์ แคนทารี โฮเทลส์, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพัทยา และออฟโรดจิตอาสา

ในส่วนของ เจ้าหน้าที่ฝ่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไฟล์ท ออฟ เดอะ กิบบอน อย่าง ภูเบศ ทรัพย์โภคิน กล่าวว่า บริษัทฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสสนับสนุนโครงการปลูกป่าโกงกางฯ ร่วมกับหน่วยบัญชาการ สงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ (นสร.กร.) พันธมิตร และจิตอาสาผู้มีอุดมการณ์เดียวกันในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

“โครงการนี้เป็นโครงการที่น่าสนใจ ซึ่งทางบริษัทฯ เองมองเห็นถึงความสำคัญ ความทุ่มเทแรงกายแรงใจของหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ ที่มุ่งมั่น พยายามดูแลและอนุรักษ์พันธุกรรมพืช สิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมทั้งสร้างระบบนิเวศให้เกิดความสมดุล ซึ่งตรงกับภารกิจของบริษัทฯ ในการดูแลและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทยให้สมบูรณ์และยั่งยืนต่อไป”

สำหรับโครงการ ไฟล์ท ออฟ เดอะ กิบบอน เริ่มกิจการเมื่อปี พ.ศ. 2550 โดยกลุ่มของคนผู้มีใจรักในธรรมชาติ ได้รับแรงบันดาลใจจากการที่ได้เข้าช่วยเหลือคู่ชะนีป่วยที่ถูกทิ้งไว้ในกรงขังทางตอนเหนือของประเทศไทย ตั้งอยู่ใน ป่าฝนเขตร้อนอันเขียวชอุ่มของหมู่บ้านแม่กำปอง จังหวัดเชียงใหม่ และสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ศรีราชา จังหวัดชลบุรี

ไม่เพียงเท่านี้ สุดาวดี ฤกษ์สุจริต ผู้จัดการทั่วไป ของโรงแรมเคป ราชา ศรีราชา โรงแรมในเครือเคป แอนด์ แคนทารี
โฮเทลส์ กล่าวว่า “โรงแรมในเครือเคป แอนด์ แคนทารี โฮเทลส์ (Cape & Kantary Hotels) ในจังหวัดชลบุรี ประกอบด้วย โรงแรมเคป ราชา ศรีราชา, โรงแรมแคนทารี เบย์ ศรีราชา, โรงแรมคามิโอ เฮ้าส์ ศรีราชา, โรงแรมคาราเวล เฮ้าส์ , โรงแรมซัมแวร์ เกาะสีชัง และโรงแรมคามิโอ อมตะ บางปะกง

และยังได้มีโอกาสเข้าร่วมสนับสนุนโครงการปลูกป่าโกงกางฯ ในครั้งนี้ เนื่องด้วยทางเรามีโรงแรมที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดชลบุรีถึง 6 แห่ง และเห็นความสำคัญในการช่วยสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยทุกหน่วยงานล้วนมีอุดมการณ์และเป้าหมายเดียวกัน คือ เพื่อเพิ่มผืนป่าของเมืองไทยและทะเลไทยให้มีความอุดมสมบูรณ์ให้เป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศ สัตว์ป่า สัตว์ทะเล และชุมชน”
กำลังโหลดความคิดเห็น