xs
xsm
sm
md
lg

“ฟุตปาธไทย = ทางด่วนมอ’ไซค์” นักบิดระดับโลกขอประจาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คนเดินระแวง-คนขับไม่ระวัง งามหน้า! นักบิดระดับโลกโพสต์แฉ เดินฟุตปาธอยู่ดีๆ เจอมอ’ไซค์ขับผ่านหลายคัน ทางเท้าไทยความปลอดภัยที่แขวนอยู่บนเส้นด้าย สังคมตั้งคำถาม กฎหมายไทยไม่แรงพอ หรือคนขี่ไม่มีจิตสำนึก!?

สร้างให้คนเดิน หรือ มอเตอร์ไซค์วิ่ง?

บีบแตร-เร่งเครื่อง-ไล่คน สถานการณ์บนทางเท้าที่หลายคนต้องพบเจอบนฟุตปาธไทย ไม่เพียงแต่คนไทยที่เจออยู่เป็นประจำ แต่ต่างชาติอย่าง "สก็อต เรดดิ้ง" (Scott Redding) นักบิดระดับโลกที่ร่วมงาน MotoGP ที่จ.บุรีรัมย์ ก็ได้โพสต์คลิปวิดีโอลงในอินสตาแกรม “reddingpower” ของตัวเอง เผยให้เห็นความมักง่ายของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในกรุงเทพฯ ที่กำลังขับผ่านตนโดยมีใจความในคลิปว่า

“ดูนี่ครับ รถติดหรอ ไม่มีปัญหา แต่นี่มันคือทางเท้านะโว้ย”



แม้ถนนจะมีไว้สำหรับรถวิ่ง “ทางเท้า” มีไว้สำหรับคนเดิน แต่ปัญหาก็ยังมีมาให้เห็นตลอด เพราะยังมีคนที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง หาหนทางเร่งรัดขับขี่บนทางเท้าให้ได้ แต่ในขณะเดียวกันกลับต้องเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุทั้งตัวผู้ขับขี่และคนที่เดินทางเท้าเองด้วย

แน่นอนว่าอุบัติเหตุจะต้องเกิดขึ้นกับคนที่เดินผ่านไปมา ทำให้ทางเฟซบุ๊ก “ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร-บก.02” ได้มีการโพสต์ภาพของหญิงที่กำลังถูกปฐมพยาบาลบริเวณหน้าตึกทรู ถนนพัฒนาการ เนื่องจากถูกรถจักรยานยนต์ขับรถบนทางเท้าชนจนได้รับบาดเจ็บ



กระทั่งทางกทม.เอง ก็เคยออกมาประกาศหากใครที่ส่งหลักฐานการขับขี่ หรือจอดรถบนทางเท้า ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพหรือคลิปวิดีโอให้กับเจ้าหน้าที่เทศกิจ สามารถได้ส่วนแบ่งค่าปรับ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่จะมีสักกี่คนที่กล้าส่งหลักฐานไปให้เจ้าหน้าที่ เพราะกลัวจะเกิดปัญหาตามมาทีหลังหากแจ้งไปแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น ไม่ใช่แค่เรื่องของการขับขี่รถบนทางเท้าที่สร้างปัญหา แต่ยังมีปัญหาในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น การขายของบนทางเท้า, จอดรถขวางทาง, ฟุตปาธชำรุด ฯลฯ

และอีกหนึ่งเสียงจากคนในวงการบันเทิงอย่าง ณัฐวุฒิ ศรีหมอก หรือ กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่ แร็ปเปอร์เสียดสีสังคม ก็เคยพูดถึงการเผชิญทางเท้ากทม. ในขณะที่กำลังพาลูกออกไปนอกบ้าน แต่ต้องมาเจอกับทางเท้าที่พังจนใช้รถเข็นเด็กไม่ได้ และหากเป็นรถเข็นคนพิการคงขำไม่ออก

“การที่ฟุตปาธแต่ละจุดเป็นหลุมบ่อ ฝาท่อหายบ้างมีบ้างนั้นว่าเป็นอันตรายต่อการเข็นรถเข็นเด็กแล้ว ฟุตปาธของกรุงเทพมหานครยังไม่ได้มีการออกแบบทำทางลาดไว้เพื่อสำหรับการเข็นรถเข็นขึ้นหรือลง นั่นหมายถึงเราสองผัวเมียแทบจะต้องยกรถลูกตลอดทางเหมือนการแบกเสลี่ยงเจ้านางยุคล้านนา



ยังไม่รวมถึงแผงขายของริมฟุตปาธ มอเตอร์ไซค์ที่ขึ้นมาวิ่งบนทางเท้า สายไฟที่ห้อยลงมาจากเสา นั่นเป็นสาเหตุให้เราตัดสินใจอุ้มลูกเดินแล้วเก็บรถเข็นเด็กจะดีกว่า

พ่อแม่เด็กลูกอ่อนอย่างเรายังมีทางเลือก ถึงแม้ถ้าเลือกได้เราก็คงอยากใช้รถเข็น แต่ในเมื่อความเสี่ยงมันบีบบังคับเราให้อุ้มลูกเดินจะปลอดภัยที่สุด เราก็คงต้องผลัดกันอุ้ม แม้จะเสียแรงแต่ก็ดีกว่าเสียลูก ช่วงนี้ชูใจเดินเองได้เราก็อุ้มลูกสลับกับจูงลูกเดิน”

กฏหมายไม่แรงพอ หรือคนขี่ไม่มีจิตสำนึก?

ย้อนกลับไปดูถึงเรื่องการรณรงค์เกี่ยวกับการขับขี่บนทางเท้า พบว่าเคยมีโครงการรณรงค์โดยนิสิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ ถึงโครงการ “รณรงค์ไม่ขับขี่จักรยานยนต์บนทางเท้า” เพื่อลดปัญหาที่จะต้องพบเจอบนทางเท้าอยู่บ่อยๆ

“เริ่มมาจากการเรียนวิชาหนึ่งที่มีจุดประสงค์ให้นิสิตระดมความคิด ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม โดยเป็นปัญหาที่พบเจอในชีวิตประจำวันของพวกเรา คือปัญหาการขับขี่จักรยานยนต์บนทางเท้า โดยส่วนตัวพวกเราต้องใช้ชีวิตประจำวันไปกับการเดินทางแล้วอยู่แล้ว จึงมีความคิดที่อยากแก้ไขปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดเป็นโครงการนี้ขึ้นมา และยังรู้สึกไม่พอใจหากมีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลที่เดินอยู่ในทางที่ปลอดภัยแต่กลับต้องมาระวัง



การรณรงค์ก็ต้องขึ้นอยู่กับคนทุกคนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจ เทศกิจ และที่สำคัญคือผู้ที่ขับขี่จักรยานยนต์ ให้มีจิตสำนึกที่ดีและนึกถึงส่วนรวม และอยากฝากถึงตำรวจ เทศกิจ ผู้รับผิดชอบ ให้ช่วยบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชนค่ะ”

ไม่เพียงแค่นิสิตจากจุฬาลงกรณ์ฯ ที่ออกมารณรงค์เท่านั้น แต่ปี 60 ที่ผ่านมา ก็เคยมีกิจกรรมจากตัวแทนวินจักรยานยนต์รับจ้างจาก 9 สำนักงานเขตในกลุ่มเขตกรุงเทพกลาง จำนวน 540 คัน รวมพลังต่อต้านการขับขี่บนทางเท้า เพื่อสร้างจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการใช้รถใช้ถนน แต่ปัจจุบันผู้ขับขี่ที่ฝ่าฝืนกฎจราจรก็ยังมีอีกมากแม้จะมีการรณรงค์ไปแล้วก็ตาม



ทว่าเมื่อเดือนก.ค. ที่ผ่านมาทางแฟนเพจ ผู้ว่าฯ อัศวิน ได้เผยว่า กทม.มีการจัดตั้งสายตรวจ เพื่อบูรณาการการทำงาน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ทหาร ตำรวจ และกทม. ในการออกตรวจตราความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ รวมไปถึงกวดขันผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝ่าฝืนขับขี่รถบนทางเท้าบนถนนสายหลัก การจอดรถบนทางเท้า และการขับรถย้อนศร ซึ่งได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว

จากนี้จะกวดขันการฝ่าฝืนขับขี่บนทางเท้าอย่างเข้มข้น เพื่อสร้างวินัยในการขับขี่และดูแลความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนที่ใช้ทางสัญจรครับ ซึ่งความผิดในครั้งแรกจะเป็นการตักเตือน หากพบครั้งต่อไปจะจับปรับเป็นขั้นบันได เช่น พบครั้งแรกตักเตือน ครั้งที่ 2 ปรับ 500 บาท ครั้งที่ 3 ปรับ 1,000 บาท ครั้งที่ 4 ปรับ 1,500 บาท นอกจากนี้กทม.จะเชิญหัวหน้าวินมอเตอร์ไซค์มาช่วยกันสอดส่องและตรวจสอบการฝ่าฝืนขับขี่รถบนทาเท้าของแต่ละวินอีกด้วย



จากเหตุการณ์ข้างต้น ทนายรัชพล ศิริสาคร เจ้าของเพจสายตรงกฎหมาย ชี้แจงกับทีมข่าว MGR Live ถึงการขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้า หรือจอดรถมอเตอร์ไซค์บนทางเท้า ที่เห็นอยู่ประจำ จริงๆ แล้วเป็นความผิด มีโทษปรับสูงสุด 5,000 บาท

“มีโทษตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 17 และมาตรา 56 มีหลักคือ ห้ามมิให้ผู้ใด จอดหรือขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือล้อเลื่อนบนทางเท้า หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาทครับ

และเรื่องการขายของบนทางเท้า ตามกฎหมายดังกล่าว มาตรา 20 และมาตรา 54 มีหลักว่า ห้ามปรุงอาหาร ขาย หรือจำหน่ายสินค้าบนถนน หรือในสถานสาธารณะ หรือใช้รถยนต์หรือล้อเลื่อนเป็นที่ปรุงอาหารขายบนถนนหรือสถานสาธารณะ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ยกเว้นพื้นที่ที่ได้รับการผ่อนผัน

ส่วนที่เราเห็นจนชินตา จนดูเหมือนว่า ไม่มีความเกรงกลัวต่อกฎหมาย เห็นว่า เรามีกฎหมายปราบปรามเรื่องพวกนี้อยู่ โทษก็ไม่อ่อน แต่เราขาดความจริงจังในการบังคับใช้มากกว่า ประกอบกับคนทำผิดมีมาก แต่เจ้าหน้าที่มีน้อย ถ้าภาครัฐปราบปรามอย่างจริงจัง ก็น่าจะมีผลบ้างครับ”

ข่าวโดย MGR Live
ขอบคุณภาพ: เพจเฟซบุ๊กทวงคืนทางเท้า, เฮ้ยนี้มันฟุตบาทไทยแลนด์
กำลังโหลดความคิดเห็น