ชาวบ้านไม่พอใจ! เจ้าอาวาสวัดวาปีรัตนารามอยู่วัดไม่ได้ โดนชาวบ้านขับไล่หลังตัดต้นตะเคียนโดยพลการ เจ้าอาวาสวัดแนะทำเป็นชุดรับแขกก็มากราบไว้ได้ นักวิชาการด้านศาสนวิทยาชี้ ความเชื่อเจ้าแม่ตะเคียนสะท้อนลัทธิภูตผีหลงลืมใจความของศาสนา
ศรัทธาเจ้าแม่ถูขอโชค หวังรวยทางลัด!!
ชาวบ้านรวมตัวขับไล่ “พระครูวาปีศีล” เจ้าอาวาสวัดวาปีรัตนาราม ต.ย่านรี อ.กบินทร์บุรี จ.ปทุมธานี จากเหตุการณ์ที่เจ้าอาวาสวัดทำการเลื่อยไม้ตะเคียนขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านนับถือกราบไหว้มาเป็นเวลา 6 ปี เพื่อทำเฟอร์นิเจอร์ใช้ในวัด
นอกจากนี้หนึ่งในชาวบ้านในพื้นที่รวมตัวกันขับไล่เจ้าอาวาสยังให้สัมภาษณ์กับสื่อไว้ว่า รู้สึกตกใจมากเมื่อเจ้าอาวาสตัดแปรรูปต้นตะเคียน ซึ่งถ้าให้เลือกไม้ตะเคียนกับเจ้าอาวาส ขอเลือกไม้ตะเคียน เพราะมีความสำคัญมาก ใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจใครไม่เชื่อแต่พวกเขาเชื่อ ล่าสุดชาวบ้านมีมติว่าเมื่อตัดมาแล้วให้วางไว้เฉยๆ ห้ามใครมาแตะต้อง
“เดิมที่ต้นตะเคียนต้นนี้ จมอยู่ใต้ดินในป่า ทางวัดและชาวบ้านรวมเงินกันจ้างรถแบกโฮไปขุดแล้วนำขึ้นมาตั้งบูชาไว้ที่วัด ตั้งมานาน 6 ปี โดยในช่วงวันพระ ชาวบ้านจะมากราบไว้บูชาเจ้าแม่ตะเคียน นำผ้า 3 สี มาพันรอบต้น และนำแป้งมาถูเพื่อขอโชคขอลาภ เพราะเชื่อว่าเป็นไม้คู่บ้านคู่เมืองมายาวนาน ตั้งแต่บรรพบุรุษ”
ด้าน พระครูวาปีศีล เจ้าอาวาสวัดวาปีรัตนาราม ได้อธิบายเหตุผลที่ต้องตัดไม้ตะเคียนเพื่อแปรรูป เนื่องจากไม่มีใครมากราบไหว้ต้นตะเคียนแล้ว ภายในวัดก็ไม่เคยมีใครมาขายแป้งและพวงมาลัยเพื่อบูชา จึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ชองชาวบ้าน ทำเพื่อประโยชน์ของวัดทั้งนั้น
“อาตมายอมรับผิดที่ว่าไม่ได้ปรึกษาใครก่อน แต่ที่ตัดมาไม่ได้คิดว่าจะเอาไปทำอะไร จะทำชุดรับแขกไว้ที่วัด ทำเพื่อประโยชน์ของวัดทั้งนั้น เราทำไว้โยมก็มากราบไว้ได้
ส่วนที่ชาวบ้านบอกว่าได้เรี่ยไรเงินกัน เพื่อนำต้นตะเคียนขึ้นมาจากป่านั้น ไม่เป็นความจริง เพราะต้นตะเคียนถูกเจ้าของที่ถวายให้กับวัด ซึ่งได้ขุดออกมาจากทุ่งนา อีกทั้งคอยเตือนชาวบ้านแล้วว่าอย่าไปมัวเมากับการขอหวยเสี่ยงดวงจากไม้ตะเคียน อยากให้หันมาไหว้พระดีกว่า”
นอกจากนี้ พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ได้กล่าวถึงเรื่องการนับถือเจ้าแม่ตะเคียน ถ้าเชื่อว่าเจ้าแม่เกิดขึ้นมาจริง ไปรู้สึกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในต้นไม้ เหนือกว่าพระรัตนตรัย แล้วก็ไปกราบไหว้ในเชิงอ้อนวอน ซึ่งศาสนาพุทธไม่ได้เป็นศาสนาที่ให้คนอ้อนวอน แต่ศาสนาพุทธสอนให้พึ่งตัวเอง
“ต้นไม้อยู่วัดก็มีเยอะ แต่ขึ้นอยู่ว่าคนกับต้นไม้ควรปฏิบัติกันอย่างไร ถ้าแม่พึ่งผี ลูกก็พึ่งผี หลานก็พึ่งผี แล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร ชีวิตที่สดชื่น เบิกบาน ไม่ใช่ผีบันดาล แต่เป็นเพราะความประพฤติของตัวเราเอง ถ้าประพฤติดี ลูกหลานประพฤติดี ก็ไม่ต้องไหว้ผี อ้อนวอนผี”
ไม่เพียงเท่านั้น ทีมข่าว MGR Live จึงสอบถามไปยัง ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ นักวิชาการด้านศาสนาวิทยา ยังแสดงถึงความเห็นใจของเจ้าอาวาส และชาวบ้านก็ทำไม่ถูกที่จะไปไล่พระ เพราะท่านไม่ได้ทำผิดกฏ ระเบียบ ไม่ได้ผิดความเชื่อด้วย ไม่ได้ทำอะไรที่อาบัติ เพียงแต่ขัดใจขัดความเชื่อของชาวบ้าน
“เป็นปัญหาในเรื่องความเชื่อที่ขัดกับหลักพุทธศาสนา แต่ต้องยอมรับว่าเป็นวิถีความเชื่อแบบคนไทยที่ปลูกฝังกันมานาน ทีนี้มีปัญหาสองอย่างเรื่องความเชื่อถูกหรือผิดทางหลักศาสนา อีกเรื่องหนึ่งคือความเป็นทรัพย์สินที่ชาวบ้านรู้สึกว่าเป็นของเขา จะเชื่อหรือไม่เชื่อนั้นเรื่องหนึ่ง ที่หมู่บ้านนี้เชื่อ ต้นตะเคียนถือว่ามีวิญญาณอยู่ แล้ววิญญาณก็มักจะสามารถให้โชคให้ลาภได้ ชาวบ้านก็คงถือว่าตัวเองก็มีส่วนร่วมสร้างวัดนี้มาด้วย เมื่อมีส่วนร่วมในการสร้างวัด ก็รู้สึกว่าตนเองมีสิทธิ์
แต่ปัญหา โดยหลักการก็เป็นสิทธิของเจ้าอาวาส ที่จริงท่านจะทำอย่างไร โดยหลักการของกฏของพ.ร.บ.เจ้าอาวาสก็มีสทธิขาด แล้วยิ่งเหตุผลที่ว่าไม่ใช่ความเชื่อที่สอดคล้องกับหลักศาสนาด้วย ก็ยิ่งรู้สึกว่า ทำได้ ปัญหาอยู่ตรงที่เป็นความเชื่อชาวบ้าน แล้วชาวบ้านก็รู้สึกว่าตนเองก็มีส่วนในการเป็นเจ้าของวัด พอไปทำสิ่งที่รู้สึกว่า ทั้งศรัทธา และมีส่วนเป็นเจ้าของโดยไม่ปรึกษา จึงเกิดเป็นเรื่อง
คำถามว่าจะแก้อย่างไรเรื่องนี้ คือเห็นใจทั้งสองฝ่าย เพราะพระจะอยู่ได้ไม่เพียงแค่อาศัยพ.ร.บ.สงฆ์เท่านั้น จะอยู่ได้ด้วยการอุดหนุนจุนเจือของชาวบ้านด้วย ถ้าชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ที่มาฟังเทศน์ฟังธรรมแล้วก็ใส่บาตรและก็ไม่สนับสนุนเสียแล้ว ยิ่งมาชุมนุมขับไล่ด้วยท่านก็ลำบาก ระหว่างนี้ก็ดูเหมือนจะมีอยู่ สองทางคือขอประณีประนอมยอมความ ขอโทษขออภัย ขณะเดียวกันให้ทางมหาเถรสมาคมส่งคนเข้าไปช่วยไกล่เกลี่ย”
ตะเคียนกับความเชื่อที่ถูกผลิตซ้ำๆ!!
อีกหนึ่งความเชื่อโบราณเกี่ยวกับ นางตะเคียน เชื่อว่าในต้นตะเคียนมีดวงวิญญาณของผู้หญิงสิงสถิตอยู่ในต้นตะเคียนเพื่อรอจุติในภพภูมิใหม่ ภาพที่เห็นชินตาเกี่ยวกับต้นตะเคียนคือ เมื่อนั้นจะเห็น ธูปเทียน ดอกไม้ ผ้าแพร 7 สี ไปผูกกราบไหว้ขอโชคลาภ โดยเฉพาะก่อนวันหวยออก จะมีการนำแป้งไปถูบนต้นตะเคียน ซึ่งเชื่อกันว่าจะมีเลขเด็ด
เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องเจ้าแม่ตะเคียนที่ฝังแน่นในสังคมไทยมายาวนาน ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ ในฐานะนักวิชาการด้านศาสนาวิทยา บอกกับทีมข่าวว่าความเชื่อขึ้นอยู่กับการเล่าปากต่อปาก ไม่มีตำนานที่สามารถพิสูจน์ได้ในเชิงประจักษ์ ไม่สามารถทำซ้ำ พิสูจน์ซ้ำให้คนอื่นเห็นได้
"จริงๆ ตำนานนางตะเคียน หรือตำนานเรื่องผีในเมืองไทยมีมายาวนานแล้ว เป็นเรื่องเล่าว่ามีคนเห็น ไม่มีตำนานแต่มีคนเล่าว่ามี แล้วถูกส่งต่อด้วยการเล่า ด้วยประสบกาณ์เฉพาะส่วนบุคคล จึงไม่สามารถที่จะเอามาพูดได้ว่าจริงหรือไม่จริง เป็นเรื่องแล้วแต่ความเชื่อส่วนบุคคล ไม่ใช่สิ่งที่จริงสามารถพิสูจน์ทางประสบการณ์ให้คนอื่นเห็นได้
เจ้าแม่ตะเคียน มีควาามเชื่อโบราณปรัมปรา ยิ่งกว่านั้นคือมีนิทานพื้นบ้านรวมทั้งมีการทำหนังละครตอกย้ำไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันวัฒธรรมไทยรวมทั้งศาสนาพุทธไม่ได้มุ่งกำจัดให้หมดไป แต่ยอมผสมรวมมาโดยตลอด เมื่อผสมรวมมาโดยตลอดความเชื่อเหล่านี้ก็คงอยู่ และคงอยู่ในการเป็นส่วนหนึ่งของวัฒธรรมไทย จึงอยู่อย่างสบาย
ยิ่งกว่านั้นถ้ามีคนเคยมาขอโชคลาภแล้วได้พร ได้เลข ทำให้ชีวิตเขาได้ลาภได้มีชีวิตดีขึ้น จึงเกิดกันพูดปากต่อปาก สิ่งที่มีอยู่แล้วยิ่งเพิ่มมากขึ้น ทำให้ทุกวันนี้ศาสนาพุทธเป็นเพียงเครื่องมือรับใช้ความเชื่อตามความเชื่อผี ความเชื่อเรื่องโชคลาภ ความเชื่อเรื่องของเจ้าพ่อเจ้าแม่เหล่านี้ ยิ่งหลายที่พระเองก็ทำพิธีให้เสียเอง”
ทั้งนี้ นักวิชาการด้านศาสนาวิทยา ยังเสริมอีกว่า คนไทยนับถือศาสนาเพื่อนำเอาพระธรรมคำสอนไปใช้ในชีวิต แต่หวังเพื่อต้องการนำเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ให้โชคให้ลาภและคุ้มครอง จะเอาอิทธิฤทธิ์มากกว่าธรรมมะ
“นี่เป็นลักษณะของความเชื่อผสมกับความเชื่อดั้งเดิมแต่โบราณ เพราะฉะนั้นเวลาที่คนไทยบอกว่านับถือพุทธ เป็นการนับถือพุทธผสมความเชื่อเก่า ความเชื่อผี ความเชื่อวิญญาณ เน้นเรื่องการได้โชคได้ลาภได้พรมากกว่าเรื่องของการได้สัจธรรมหรือว่าได้หลักธรรมไปปฏิบัติ
คนไม่พูดเรื่องถือศีล คนจะพูดเรื่อง มานับถือ มาบูชา มาใส่บาตร มาทำบุญแล้วได้พรอะไร ต้องยอมรับว่ายิ่งทำเกี่ยวกับเรื่องต้นไม้ต้นตะเคียน คนยิ่งรู้สึก ต้องยอมรับว่าคนไทยชอบเล่นหวยมาก เพราะต้นไม้เป็นที่ให้เลขได้โดยความเชื่อวิธีการเอาแป้งไปทาไปขูดต้นไม้
“ต้องยอมรับ เรื่องนี้จะยังอยู่ไปอีกนานเพราะว่าโดยพื้นฐานคนไทยถูกฝังให้มีความกลัวต่อเรื่องธรรมชาติ เชื่อในเรื่องของสิ่งที่บอกเล่ามาตั้งแต่โบราณ พอกลัวในเรื่องปรากฏการณ์ธรรมชาติและกลัวสิ่งที่ถูกบอกเล่ามาตั้งแต่โบราณและไม่เคยมีการพิสูจน์แย้ง กรือกล้าที่จะหักล้าง ที่จะบอกว่าไม่เชื่อ พูดง่ายๆ คืออะไรที่บอกว่าของโบราณ บุคคลโบราณ แล้วถูกยอมรับโดยไม่แสดงการต่อต้านอย่างชัดเจนจากสังคมสิ่งเหล่านี้ก็จะเกิดไปเรื่อยๆ”