10 ปีใช้มาเกินคุ้ม! ขนส่งฯ สั่งรถตู้กว่า 1,800 คัน “หยุดวิ่ง” เปลี่ยนเป็นมินิบัสแทน หากพบแอบขับโทษปรับสูงสุดสองแสน ทีมข่าวลงพื้นที่หยั่งเสียงผู้ประกอบการรถตู้อนุสาวรีย์ บอกไม่คุ้ม 10 ปีส่งค่างวดยังไม่หมด ด้านผู้โดยสารเผย ก็ไม่ได้อันตรายขนาดนั้น แทบไม่มีใครเข้าข้างรัฐ ยกเว้นกูรูความปลอดภัย ชี้ รถตู้เสี่ยงสุดในบรรดารถสาธารณะ!
หมดเวลาแล้ว(รถตู้)คงต้องไป!
เดือดร้อนกันถ้วนหน้า! เมื่อคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) คณะกรรมการจัดระเบียบรถตู้ และกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ มีคำสั่งให้ รถตู้โดยสารปรับอากาศร่วมบริการสาธารณะกว่า 1,800 คัน หยุดวิ่ง เนื่องจากอายุใช้งานครบ 10 ปี เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร ทำให้ต้นเดือนตุลาคมนี้ คนเดินทางไกลเข้ากรุงเทพฯ ต้องเจอกับฝันร้ายยิ่งกว่าเดิม!
สำหรับรถตู้ที่ไม่ได้ไปต่อนั้น แบ่งเป็นรถตู้หมวด 1 ที่ให้บริการในเส้นทางกรุงเทพฯ และปริมณฑล และรถตู้โดยสารหมวด 2 ที่ให้บริการระหว่างเส้นทางกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด และที่สำคัญหากพบว่าแอบวิ่งอยู่ ก็มีโทษปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท เพราะถือว่าผิดฐานประกอบการขนส่งโดยไม่ได้รับอนุญาต
พีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิบริเวณเกาะดินแดง เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์การให้บริการของรถตู้โดยสารสาธารณะ
หลังจากที่คำสั่งนี้มีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อย ทำให้วันแรกของการเปลี่ยนแปลงเกิดความวุ่นวายเป็นอย่างมาก ทีมข่าว MGR Live ได้ลงพื้นที่ “อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” แหล่งรวมจุดรับ-ส่งรถตู้ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งใน กทม. เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนถึงมาตรการล่าสุดที่ออกมา โดยภาพรวมมองว่า รถตู้อายุ 10 ปี ก็ยังอยู่ในสภาพที่รับได้ ทั้งยังตอบโจทย์ในเรื่องของความรวดเร็ว และหากเปลี่ยนเป็นรถมินิบัสก็อาจจะได้ยืนในช่วงเวลาเร่งด่วน ตรงข้ามกับรถตู้ที่ยังไงก็ได้นั่งอย่างแน่นอน
พรทิพย์ กนกวิไลรัตน์ หนึ่งในผู้โดยสารที่ใช้บริการรถตู้ชัยสมรภูมิ กล่าวว่า “ถ้ารถตู้ให้บริการมาอย่างยาวนานถึง 10 ปีหรือเกินกว่านั้นก็ไม่เป็นไร ยังเชื่อในเรื่องความปลอดภัย ถ้ามีการเช็กรถประจำปี แต่ถ้าถึง 20 ก็เริ่มไม่แน่ใจ และถ้าจะนำรถมินิบัสมาเปลี่ยนแทนรถตู้ ก็จะไม่สะดวกสบายเท่าเดิม การรอรถก็จะใช้เวลานาน ผู้โดยสารในรถก็เพิ่มขึ้น หรือไม่อาจจะได้ยืน แต่รถตู้ก็จะได้นั่งอยู่แล้ว”
ด้าน ตั้ม (นามสมมติ) ตัวแทนคนขับรถตู้อนุสาวรีย์ชัยฯ บริเวณเกาะพหลโยธิน ก็ส่งเสียงสะท้อนถึงนโยบายนี้ว่า ไม่คุ้มค่าหาก 10 ปีให้เปลี่ยน เพราะรถคันหนึ่งก็เกือบ 2 ล้าน แต่ถ้ากฎหมายมองว่าต้องเปลี่ยนก็ต้องทำตาม ขณะนี้ตนขับรถมาตลอดระยะ 20 ปี เปลี่ยนรถมาแล้ว 3 คัน
จากการจัดระเบียบที่เกิดขึ้นนี้เอง ทำให้ระบบขนส่งสาธารณะประเภทอื่นๆ ทั้งรถเมล์และรถไฟฟ้าก็พบว่ามีผู้โดยสารใช้บริการมากขึ้นกว่าที่เคย อีกทั้งในจุดรอรถต่างๆ ก็มีผู้โดยสารตกค้างเป็นจำนวนมาก
ส่วนทางผู้ประกอบการรถตู้ที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ ที่ถึงแม้จะมีคำสั่งให้หยุดวิ่งออกมาก็ยังไม่ถอดใจ เพราะไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการรถตู้ได้ยื่นเรื่องคำร้องต่อศาลเพื่อขอไต่สวนฉุกเฉินขอการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา นำทีมโดย ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย
สำหรับเรื่องที่ร้องขอความเมตตาจากศาลมีอยู่ 2 เรื่อง ก็คือ 1.ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดี กรมการขนส่งทางบกอนุญาตให้รถตู้หมวด 1 ขยายอายุการวิ่งบริการออกไป 5 ปี เพื่อรอรถไฟฟ้าหลายๆ สายของรัฐก่อสร้างเสร็จ และ 2.ขอให้ยกเลิกการบังคับให้รถตู้หมวด 2 เปลี่ยนเป็นรถมินิบัส แต่ขอให้เป็นการเปลี่ยนด้วยความสมัครใจแทน เพราะรถมินิบัสมีราคาสูงกว่ารถตู้หลายเท่า ชาวรถตู้ส่วนใหญ่ไม่มีเงินเพียงพอที่จะเปลี่ยนรถได้
แต่สุดท้าย ทั้งคนทั้งรถตู้ก็ต้องกินแห้ว เพราะล่าสุด ศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ยังฟังไม่ได้ว่ามีเหตุฉุกเฉินเพียงพอตามคำร้อง จึงยกคำร้องดังกล่าวไปตามระเบียบ
ไขข้อข้องใจ ทำไมต้องโละตอน 10 ปี?
แน่นอนว่าเมื่อคำสั่งนี้ถูกประกาศออกไป ย่อมส่งผลกระทบถึงผู้ประกอบการรถตู้ที่ขาดรายได้ และผู้โดยสารที่ต้องใช้เวลาในการรอรถนานกว่าเดิมเป็นเท่าตัว ทีมข่าวจึงได้พูดคุยกับ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เพื่อหาคำตอบว่า นอกจากเรื่องความปลอดภัยที่ภาครัฐเป็นห่วงแล้ว ทำไมรถตู้โดยสารสาธารณะที่มีอายุเกิน 10 ปีจึงต้องหยุดให้บริการ
“เรื่องนี้ต้องย้อนไปตั้งแต่เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้วครับ ตั้งแต่ปี 52 ที่รถตู้เติบโตเร็วเป็นดอกเห็ด เพราะเข้ามาปิดช่องว่างของรถสาธารณะ คนที่อยู่ปริมณฑลกับชานเมืองก็ขึ้นรถตู้จากบ้านมาลงกลางเมืองได้เลย จำนวนรถจดทะเบียนรุ่นแรกๆ ที่ TDRI เคยศึกษา ในปี 52 - 54 เพิ่มขึ้นมาเฉลี่ยปีละ 70% จากหลักพันกระโดดขึ้นมาถึงสองหมื่นคัน เพราะว่าคนนิยมทั้งในแง่ของความสะดวกและมีที่นั่งไม่ต้องยืน
แต่มันก็แฝงมาด้วยความเสี่ยง เพราะช่วงนั้นมีนโยบายที่มาเอื้อให้มีรถตู้เยอะๆ ด้วย คือรถบัส 1 คัน แลกรถตู้ได้ 3 คัน มันก็เลยทำให้ผู้ประกอบที่เป็นสายสั้นเอาทะเบียนรถบัสมาเปลี่ยนเป็นรถตู้ แต่ระบบควบคุมกำกับยังไล่ตามปัญหาไม่ทัน เพราะว่าพอเมืองมันเติบโตมากๆ รถตู้ต้องทำรอบ ช่วงนั้นจะเกิดปัญหาคือการขับรถด้วยความเร็ว หลับใน อุบัติเหตุรถตู้ช่วงปี 52-54 เลยสูงมาก รถตู้เลยกลายเป็นรถสาธารณะที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด แซงรถบัสอีกครับ”
นพ.ธนะพงศ์ เสริมต่อไปว่า หลังจากกรณีอุบัติเหตุที่บ้านบึง จ.ชลบุรี ที่ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตถึง 25 ศพ เมื่อต้นปี 60 กลายเป็นจุดเริ่มต้นถึงการจัดการรถตู้อย่างเข้มงวด คือ 1.ติดจีพีเอสควบคุมความเร็ว ทำให้ควบคุมชั่วโมงการทำงานและระบุตัวตนคนขับ 2. เมื่อรถตู้ถูกไฟไหม้ ทำให้การช่วยเหลือยาก จึงมีการปรับให้เก้าอี้เหลือ 13 ที่นั่ง เพื่อที่จะเปิดให้มีการช่วยเหลือผู้โดยสารกรณีฉุกเฉินได้จากประตูท้ายรถ และ 3.ตั้งแต่ปลายปี 59 เริ่มมีการย้ายจุดจอดบางส่วนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปยังหมอชิต รวมถึงเริ่มมีการจัดระเบียบรถตู้ป้ายดำให้เป็นป้ายเหลือง นำรถตู้นอกระบบกลายมาเป็นรถตู้ในระบบให้หมด และกำกับเข้มคืออายุรถไม่เกิน 10 ปี
“มีการศึกษามารองรับจากทีมวิศวะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่ารถตู้ถ้าเกิน 10 ปี มันจะมีปัญหาสำคัญคือเรื่องของระบบการบำรุงรักษา รถที่วิ่งหนักๆ มันก็จะเริ่มไม่คุ้มทุนที่จะเอามาวิ่ง เพราะเสียค่าดูแลรักษาที่เพิ่มขึ้น เพราะว่ารถตู้ 10 ปี สายที่วิ่งประจำทุกวัน ทั้งวัน ก็มีโอกาสวิ่งได้ถึง 7-8 แสนกิโลเลยนะครับ เลยอาจไม่สามารถดูแลได้ตามที่ศูนย์บริการกำหนด อีกด้านหนึ่งคือมีผลกระทบต่อเรื่องมลพิษครับ
ยิ่งผู้ประกอบการรายย่อย หากออกรถมา 1 คัน ล้านกว่าบาท ถ้าดาวน์ไม่เยอะ ค่าผ่อนอาจสูงถึงเดือนละ 15,000 บาท แปลว่ารถต้องล้อหมุนตลอด ยิ่งสถานการณ์ย้ายจุดจอด ปรับลดที่นั่ง ผู้ประกอบการรายย่อยก็ตกที่นั่งลำบาก การที่รถจะต้องเปลี่ยนหรือดูแลเครื่อง ก็มีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถเปลี่ยนทุกอะไหล่เมื่อครบกำหนดการดูแลรักษาเครื่องยนต์และช่วงล่าง เพราะมันหลายตังค์นะ เจ้าของถ้าไม่มีเงินเก็บที่มากพอก็ถือว่าเป็นภาระพอสมควร เพราะฉะนั้นก็มีความเสี่ยงที่รายย่อยไม่สามารถแบกรับต้นทุนการดูแลรักษาแบบครบเซต อันนี้ก็เป็นประเด็นที่ผมมองว่าเป็นความเสี่ยงนะ สำหรับรถที่อายุเกิน 10 ปี ที่วิ่งมาหนักๆ
และอีกอย่างหนึ่งคือการดัดแปลงสภาพรถ ติดตั้งแก๊ส เพื่อช่วยเซฟเงินด้านเชื้อเพลิง ช่วงนั้นเราเจอ 3-4 เคสที่รถตู้ไฟไหม้ พอใช้งานหนักๆ เป็น 10 ปี มันมีความเสี่ยงอยู่แล้วถ้าไม่ได้ติดตั้งการซ่อมบำรุงที่ดีพอ รวมถึงเพิ่มเก้าอี้นั่งเพื่อให้คุ้มทุน อันนั้นก็เลยทำให้มีความเสี่ยงตามมาอีก ข้อมูลจากฝั่งวิศวะเขาก็เป็นห่วงเรื่องนี้ครับ เพราะจุดศูนย์ถ่วงมันสุ่มเสี่ยงเวลาหักเลี้ยวหรือเข้าโค้งเร็วๆ เพราะน้ำหนักรถที่เพิ่มขึ้น ทั้งหมดเลยเป็นที่มาของการเข้มงวด การจัดระเบียบ เข้มเรื่องอายุรถครับ”
เทียบความปลอดภัย “รถตู้ VS มินิบัส”
สำหรับมาตรการรองรับหลังจากที่กรมขนส่งฯ มีคำสั่งให้รถตู้สาธารณะที่อายุเกิน 10 ปีหยุดวิ่งนั้น นอกจากรถเมล์ปรับอากาศมาวิ่งทดแทนแล้ว มีพูดถึง “การเปลี่ยนจากรถตู้เป็นรถมินิบัสแทน” เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.ธนะพงศ์ ก็มองว่าในแง่ของความปลอดภัย รถมินิบัสตอบโจทย์กว่าหากต้องโดยสารระยะทางไกล แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คือรถตู้จำนวนไม่น้อยเป็นของผู้ประกอบการรายย่อย ที่อาจจะไม่มีเงินทุนมากพอในการเปลี่ยนรถมินิบัสราคากว่า 2 ล้าน จึงต้องเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องมาจัดการดูแลในส่วนนี้
“ข้อดีของมินิบัสโดยโครงสร้างมันจะเซฟกว่าเพราะเป็นรถใหญ่ 2 ประตู การขึ้น-ลงมันจะสะดวกกว่า หากเกิดการชน มันมีโอกาสเซฟมากกว่ารถตู้อยู่แล้ว ส่วนความเร็ว มินิบัสก็ถูกกำหนดมาแล้วว่าห้ามเกิน 90 กิโล อีกอย่างคือระบบเชื้อเพลิง การช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุ ถ้าชนแล้วประตูบิดถ้าออกหลังไม่ได้ก็เสร็จเลยครับ ที่สำคัญต้องไม่ลืมพัฒนาคนขับด้วย เป็นปัจจัยหลักของการเกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นรถตู้หรือรถมินิบัส ส่วนผู้โดยสารก็ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยด้วย คนที่เดินทางข้ามจังหวัด หรือคนที่เดินทางเมื่อต้องใช้ความเร็ว
ส่วนการเปลี่ยนรถตู้เป็นรถมินิบัสที่ตกคันละประมาณ 2 ล้าน ก็ต้องกลับมาประเด็นผู้ประกอบการรายย่อย เขาอาจไม่มีงบประมาณพอที่จะลงทุนได้เท่ากับรายใหญ่ ก็เห็นว่าภาครัฐเองก็มีสินเชื่อให้นะครับ แต่ถ้าจะทำให้คนกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ ต้องมีหลักประกันหรือความมั่นใจให้ด้วย เรื่องอัตราค่าโดยสารหรือนโยบายที่ชัดเจน เพราะตอนนี้มินิบัสที่ยังไม่มีข้อสรุปว่าตกลงให้ยืนไหม แต่ถ้าถามในมุมความปลอดภัย ถ้าบอกให้ยืนเหมือนรถเมล์ก็จะเกิดความเสี่ยงครับ”
สุดท้าย ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ได้ฝากข้อเสนอแนะไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ทั้งการรองรับผู้โดยสารของรถตู้ รวมถึงเรื่องความปลอดภัยที่ควรหยิบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเป็นบทเรียน เพื่อที่ว่าในอนาคตจะช่วยลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจาก “รถตู้” ให้น้อยลงได้
“ผมคิดว่ามาตรการเชิงรุกอาจจะขยับช้าไปนิด จริงๆ ถ้ารู้มาก่อนหน้านี้มันต้องเริ่มมีการรองรับ ถามว่าภาครัฐพยายามไหม เขาก็มีการหารถมาเสริมซึ่งก็ต้องค่อยๆ ปรับกันไป ถ้ารถที่เอามาวิ่งเสริมไม่พอ ก็ต้องประเมินแล้วก็ปรับกันไป แล้วขอความร่วมมือผู้โดยสารอาจจะต้องกระจายโหมดการเดินทาง
เพราะฉะนั้นรอบนี้สถานการณ์ก็คงต้องหาแนวทางที่มาช่วย 2 ส่วนคือ ผู้โดยสารในเส้นทางที่รถหายไป สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติได้เร็วขึ้น ส่วนอันที่ 2 ต้องพยายามหาวิธีให้ผู้ประกอบการรถตู้ เขามีตัวช่วยอื่น รถเขาก็จะกลายเป็นรถส่วนบุคคลไป ไม่ได้เอามาวิ่งรับผู้โดยสารแล้ว
และผมอยากฝากขนส่งให้ย้ำเรื่องการตรวจสภาพ เพราะรถตู้ยังมีอีกกลุ่มใหญ่ที่ยังไม่หมดอายุ และเมื่อมีอุบัติเหตุ ผมคิดว่าบ้านเราขาดการสอบสวนเชิงลึกให้แน่ชัดว่ารถที่เกิดอุบัติเหตุรุนแรง ตกลงแล้วรถมีอายุกี่ปี ใช้อะไหล่เสื่อมสภาพไหม ดอกยาง ระบบเบรก ระบบเครื่องยนต์เป็นยังไง ตอนนี้เรายังไม่มีข้อมูลเป๊ะๆ ถ้าจะฟันธงเรื่องอุบัติเหตุต้องสืบสวน เอาเคสเดิมที่เคยเกิดเหตุหรือเคสไปข้างหน้า ต้องเช็กกับประวัติรถด้วย จะได้ทำให้สังคมชัดเจนว่าทำไมต้อง 10 ปี อันนี้เป็นประเด็นฝากไว้ครับ”
ข่าวและคลิป: ทีมข่าว MGR Live