xs
xsm
sm
md
lg

“พระบรมสารีริกธาตุศรีลังกา” ศรัทธาแรงกล้า ปรากฏการณ์ความศักดิ์สิทธิ์ข้ามโลก”!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้มีศรัทธาอันแรงกล้า ยอมถอดรองเท้าตั้งแต่ปากทางเข้าพื้นที่ นุ่งขาวห่มขาวทั่วอาณาเขตแห่งความศักดิ์สิทธิ์ พนมมือฟังเทศน์-ก้มกราบสักการะจนหน้าแทบติดพื้นดิน แม้ส่วนใหญ่จะมีฐานะเพียงพออยู่พอกิน แต่กลับกลายเป็นประเทศที่มียอดบริจาคมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก

ทั้งหมดนี้คือแรงศรัทธาที่เกิดขึ้นจนถือเป็นเรื่องธรรมดา บนผืนดินพุทธภายใต้ชื่อประเทศ “ศรีลังกา” ที่กำลังจะเผื่อแผ่ความศักดิ์สิทธิ์ข้ามทะเลมายังดินแดนไทย เพื่อสร้างปรากฏการณ์ “สวดมนต์ข้ามโลก” อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นที่ใดมาก่อน!!



ปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ “สวดมนต์ข้ามโลก-รวมประมุขทางศาสนา”

[ศรีลังกายินดี ให้ไทยอัญเชิญ “พระบรมสารีริกธาตุ” ไปเป็นการชั่วคราว]
“การมาเยือนศรีลังกาในครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นการปฏิบัติหลายๆ อย่างของชาวพุทธที่นี่ที่ให้ความร่วมมือทางศาสนาเป็นอย่างดี เช่น เรื่องการแต่งชุดขาวเข้าวัด และการถอดรองเท้าในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่ปากทางเข้า เพื่อแสดงออกถึงความเคารพในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงโบราณสถานในบ้านเมืองของเขา มันสะท้อนให้เห็นถึงความศรัทธาอย่างแรงกล้าในตัวพุทธศาสนิกชนที่นี่

คนที่มาส่วนใหญ่ก็จะไม่ค่อยเห็นมายืนถ่ายรูปอะไรกันมากมาย แต่มาเพื่อมาเข้าวัด มาปฏิบัติธรรม มาไหว้พระ ฟังเทศน์กันจริงๆ จังๆ รวมถึงมาเพื่อเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ทางศาสนา ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีของชาวพุทธที่ควรปฏิบัติ เป็นชาวพุทธที่แสดงออกถึงความเคารพในตัวพระศาสนาอย่างแท้จริง”



[นุ่งข่าวห่มขาว สักการะด้วยหัวใจ]


นี่คือคำบอกเล่าผ่านมุมมองของ วีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ที่เดินทางมาถึงดินแดนแห่งความศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ เพื่อหารือเรื่องความร่วมมือด้านพระพุทธศาสนาระหว่างไทยและศรีลังกา เตรียมความพร้อมสำหรับกิจกรรม "สวดมนต์ข้ามปีครั้งใหญ่ที่สุดของไทย” ที่จะจัดขึ้นในปลายปีนี้

แน่นอนว่าไฮไลต์สำคัญในงานนี้ก็คือ การขออัญเชิญ “พระบรมสารีริกธาตุองค์สำคัญของศรีลังกา” ไปประดิษฐานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว โดยกินระยะเวลาประมาณ 15 วัน เพื่อให้ชาวพุทธได้มีโอกาสร่วมสักการะ สร้างสิริมงคลให้แก่ตัวเองและครอบครัวไปด้วยในคราวเดียวกัน

พระบรมสารีริกธาตุองค์ที่จะอัญเชิญไปไทยองค์นี้ เป็นองค์ที่มีความสำคัญองค์นึงสำหรับชาวศรีลังกาเลย เป็นองค์ที่ขุดค้นพบตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 3 เนื่องจากพระสถูปองค์นึงเกิดพังขึ้นมา จึงมีคนไปขุดเจอ

โดยตัวพระบรมสารีริกธาตุภายในนั้น ถูกห่ออยู่ในผอบ 3 ชั้น (หิน, ทองแดง และทอง) ซึ่งยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุองค์สำคัญองค์หนึ่งของศรีลังกา ทั้งยังเป็นองค์ที่มีรายละเอียดระบุเอาไว้ในศิลาจารึกอย่างชัดเจนด้วย




[ผูกเหรียญติดผ้าขาว ทำบุญด้วยใจศรัทธา]


สถานการณ์ล่าสุดจากปากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม คือผู้เกี่ยวข้องคนหลักๆ ทั้งสองฝ่ายจากทางฝั่งนั้น ทั้งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพุทธศาสนาศรีลังกา และทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาและวัฒนธรรมศรีลังกา ได้ตกปากรับคำเรียบร้อยแล้วว่า ยินดีที่จะเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ด้วยการอนุญาตให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปยังแผ่นดินไทย ส่วนจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นองค์อื่นอีกหรือไม่ คงต้องพิจารณาจากความเหมาะสมเพิ่มเติมในอนาคต

ความจริงแล้ว ทางคณะเดินทางที่ไปร่วมหารือถึงศรีลังกาในครั้งนี้ เรียกกิจกรรมที่จะเกิดในช่วงปลายปีนี้ว่า “สวดมนต์ข้ามปี” ซึ่งจัดต่อเนื่องกันมานาน 14 ปีแล้ว แต่ทางทีมข่าว MGR Live มองว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในครั้งนี้ น่าจะเหมาะกับชื่อ “สวดมนต์ข้ามโลก” มากกว่า



[หลักฐานการทำบุญ ของประเทศที่มียอดบริจาคมากที่สุดแห่งนึงในโลก]
เนื่องจากความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเพียงการเชิญชวนพุทธศาสนิกชนไทยมาร่วมตั้งจิตตภาวนาเท่านั้น แต่ทางกระทรวงวัฒนธรรมยังจับมือร่วมกับกรมศาสนา พร้อมจัดให้มีขบวนแห่ “พระบรมสารีริกธาตุจากหลากประเทศ” ที่ขออัญเชิญมา ซึ่งตอนนี้มีประเทศศรีลังกา, พม่า, ลาว, กัมพูชา และอินเดีย อยู่ในลิสต์รายชื่ออนุญาตให้คนไทยได้หยิบยืมมาสักการะเรียบร้อยแล้ว

“ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก เพราะประเทศที่ยินยอมให้เราอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาไทยในครั้งนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศพุทธศาสนาที่มีความเข้มแข็ง และเป็นประเทศที่ส่งเสริมให้ผู้คนนำหลักธรรมมาใช้นำทางในการดำเนินชีวิตทั้งสิ้น

ส่วนประเทศนอกเหนือจากนั้น ถึงแม้จะไม่ได้ร่วมอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมา แต่ท่านเจ้าอาวาสและสังฆราชบางประเทศจะมาร่วมสวดมนต์ข้ามปีไปกับเราด้วย เช่น เจ้าอาวาสวัดเส้าหลินของจีน ท่านก็รับปากแล้วว่าจะมาร่วมที่ไทยในปีนี้

กล่าวได้ว่ากิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นคือการใช้ “มิติทางศาสนา” สร้างความร่วมมือและผลักดันให้หลักการและคำสอนของพระพุทธศาสนา ได้ฝังรากลึกลงไปในจิตใจของประชาชน ทั้งยังถือเป็นครั้งแรกของโลกเลยครับ ที่มีการรวมเอาพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศต่างๆ มาไว้ที่เดียว พร้อมๆ กับประมุขทางพุทธศาสนาที่จะมาร่วมสวดมนต์ไปพร้อมกับเราด้วย



[เหรียญทำบุญ ที่พุทธศาสนิกชนภาวนาจิตฝากเอาไว้]
พระโสภณวชิราภรณ์ (ไสว โชติโก) รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ รักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยพระธรรมทูต และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม คืออีกหนึ่งเสียงที่ช่วยยืนยันถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างทั้งสองประเทศ เพราะล่าสุด ถึงแม้ทางพระมหานายกะแห่งสยามนิกายฝ่ายมัลวัตตะ (สมเด็จพระสังฆราช วัดบุปผาราม) จะเดินทางไปเองไม่สะดวก แต่ก็ยังส่งรองสมเด็จพระสังฆราชไปทำหน้าที่แทน

รวมถึงพระมหานายกะแห่งสยามนิกายฝ่ายอัสคีรี (สมเด็จพระสังฆราช วัดป่า) ผู้มีบทบาทสำคัญอีกท่านหนึ่งในการดูแล “พระธาตุเขี้ยวแก้ว” พระบรมสารีริกธาตุส่วนเขี้ยว สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญที่สุดของประเทศศรีลังกา ซึ่งประดิษฐานอยู่คู่เมืองหลวงมาตั้งแต่ พ.ศ.844 โดยย้ำชัดว่าครั้งนี้จะให้ความร่วมมือโดยการช่วยจัดงานสวดมนต์ข้ามปี ตามที่ทางวัฒนธรรมไทยเราสร้างขึ้น ให้เกิดขึ้นที่วัดพระธาตุเขี้ยวแก้วในช่วงนับถอยหลังขึ้นปีใหม่ ไปพร้อมๆ กับประเทศไทยด้วย

“จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับศรีลังกา ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ถือว่ามีความสำคัญมาก เราจะกราบทูลอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชทั้งสองรูปไปที่ไทยทุกปี ทั้งฝ่ายมัลวัตตะและฝ่ายอัสคีรี โดยเฉพาะวันวิสาขบูชาโลก ซึ่งท่านก็จะส่งตัวแทนมาทุกปีตั้งแต่ปี 52

ทางไทยเองเคยอาราธนาให้ท่านเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระเจ้าอยู่หัว ร.๙ ที่วัดพระแก้ว ท่านก็เสด็จมาทั้งสององค์ ตั้งแต่ปี 49 ในวันวิสาขบูชาโลก สะท้อนถึงความแน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศที่มีมาโดยตลอด




“เรื่องเล่าปาฏิหาริย์” จากปากรัฐมนตรีศรีลังกา

[รมต.พุทธศาสนาศรีลังกา บอกเล่ามุมปาฏิหาริย์]
...ดวงหน้าปริศนาลอยล่องรายรอบเจดีย์ที่ใช้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ, ลำแสงประหลาดวิ่งวนอยู่เหนือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ระหว่างประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และช้างเผือกในตำนาน ตัวแทนของพระพุทธเจ้า ที่ออกมาปรากฏกายให้เหล่าพุทธศาสนิกชนได้พบเห็นบนดินแดนแห่งศรัทธา...

ท่ามกลางคำบอกเล่าเคล้าปาฏิหาริย์ดังกล่าว หลายคนได้ฟังแล้วอาจจะมองว่า “งมงาย” หรือเป็นความเชื่อตามแบบฉบับชาวบ้านทั่วไป แต่สิ่งเหล่านี้กลับปรากฏออกมาให้เห็นผ่านรูปถ่ายที่ไม่ได้มีการแต่งเติมใดๆ ซ้ำยังถูกถ่ายทอดโดยบุคคลที่น่าเชื่อถือที่สุดคนนึงในประเทศของพวกเขา จากปากของ กามินี จายาวิกรามา เปเรร่า (Hon.Mr.Gamini Jayawickrama Perera) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพุทธศาสนาศรีลังกา สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา



[หลักฐานจากภาพถ่าย เชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์]
“ถ้าคุณไม่ได้อยู่ตรงนั้น คุณอาจจะไม่เชื่อ แต่มันคือภาพที่ทุกคนเห็นกันด้วยสายตาตัวเองจริงๆ และเราก็มีการตั้งกล้องถ่ายภาพเหล่านั้นเก็บไว้ด้วย เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้กับ “มหาเจดีย์โสมาวาติ” ระหว่างประกอบพิธีกรรมที่เรียกว่า “Esala Dalada Perahera” แล้วปรากฏลำแสงประหลาดอยู่บนท้องฟ้า เหนือพระมหาเจดีย์องค์นั้น”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพุทธศาสนาศรีลังกาย้ำชัดว่า สิ่งที่เห็นไม่ใช่แสงจากการสะท้อนทั่วๆ ไป แต่เป็นลำแสงที่มีรังสีแผ่ออกมาอย่างเห็นได้ชัด จนสร้างความตื่นตะลึงให้แก่ผู้พบเห็นโดยรอบบริเวณ ไม่ต่างไปจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงประกอบพิธีกรรม “Sri Dakunu Dalada Perahara” ใกล้พระมหาเจดีย์องค์เดียวกัน ที่ปรากฏลำแสงประหลาดในภาพถ่าย

กระทั่งเมื่อขยายภาพถ่ายเหล่านั้นดูชัดๆ จึงพบว่า ภายในดวงรัศมีปริศนาเหล่านั้น กลับมี “ดวงหน้า” ลึกลับซุกซ่อนอยู่ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น พระพักตร์ของพระพุทธเจ้า, พระพักตร์ของกษัตริย์, ใบหน้าของมหาวานร และใบหน้าของเหล่าเทพต่างๆ ที่มองเห็นได้ชัดเจน


[ภาพดวงหน้าแห่งเทพ ที่ปรากฏให้เห็นเมื่อขยายภาพดูแล้ว]


หรือแม้แต่การปรากฏตัวของ “ช้างงาเดียว” ที่เดินออกมาจากป่า มาหยุดยืนอยู่บริเวณต้นศรีมหาโพธิ์บริเวณนั้น หลังประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ณ “มหาเจดีย์โสมาวาติ” เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้คนชาวศรีลังกาเชื่อกันว่าเป็นตัวแทนของพระพุทธองค์ส่งลงมา รวมถึงภาพถ่ายติด “ช้างเผือกจิ๋ว” ตัวสีขาว ที่ปรากฏออกมาให้เห็นเพื่อเตือนใจชาวพุทธ

“ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากให้พวกคุณได้ลองไปพิสูจน์ด้วยตาของตัวเอง ถ้าโชคดีคุณจะได้เห็นในสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าจัดวางเอาไว้ คล้ายพระองค์ต้องการสื่อสารกับพวกเราว่า ทุกการกระทำของทุกชีวิต พระองค์ทรงมองเห็นทั้งหมด เพื่อให้พวกเราตระหนักได้ว่า ถ้าใครทำผิดก็จะต้องได้รับผลกรรมที่ตัวเองก่อ


[หนึ่งในภาพที่ รมต.ศรีลังกา บอกเล่าว่า ปรากฏ "ช้างเผือกจิ๋ว" อยู่ในนั้น]


ถามว่าทำไมพระองค์จึงให้ปรากฏกายผ่านมาทางรูปแบบนี้ และทำไมต้องเกิดขึ้นให้เห็นที่มหาเจดีย์แห่งนี้ ก็เพราะที่แห่งนั้นยังถูกปกคลุมไปด้วยพื้นที่ป่าบริสุทธิ์ ยังไม่ถูกรบกวนจากสิ่งก่อสร้างอื่นๆ มากนัก จึงทำให้พระองค์สามารถแสดงอานุภาพออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจนแบบนี้”

อีกหนึ่งคำบอกเล่าจากผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม แต่มีสถานภาพเกี่ยวข้องกับบุคคลที่น่าเชื่อถือเพียงพอทางฝั่งสถานทูตศรีลังกา คือเรื่องราวมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองเมื่อครั้งเดินทางไปสักการะ “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ประจำเมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นต้นโพธิ์ที่สืบหน่อโดยตรงมาจากพุทธคยา สถานที่ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้กว่า 2,000 ปีที่แล้ว

โดยได้เผยประสบการณ์ตรงเอาไว้ว่า ครั้งหนึ่งระหว่างพาคณะแสวงบุญไปนั่งปฏิบัติธรรมบริเวณใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ท่ามกลางความคิดสับสนในปัญหาหลายๆ อย่างที่โจมตีอยู่ในหัว จู่ๆ เขาก็ได้ยินเสียงเย็นๆ เสียงหนึ่งปรากฏขึ้นมาในภวังค์ ขณะที่กำลังตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ทำไมชีวิตถึงไม่มีความสุขเลย”

และแล้วชายคนดังกล่าวก็ได้คำตอบจากต้นโพธิ์ ที่กระซิบบอกกับเขาในวันนั้นว่า “ถ้าหากใจของท่านยังเต็มไปด้วยความอยาก อยากได้-อยากมี-อยากเป็น ก็คงไม่อาจพบทางสงบได้” จึงเป็นที่มาของการศึกษาพระธรรมอย่างจริงจัง และหัดปล่อยวางจากความคาดหวังในเรื่องต่างๆ จนทุกวันนี้เขาสามารถยิ้มและมีความสุขให้แก่ชีวิตของตัวเองได้ในที่สุด


[ต้นพระศรีมหาโพธิ์ แหล่งรวมจิตใจชาวศรีลังกา]

แน่นอนว่าถ้าหันกลับมาถามคณะรัฐมนตรีไทยเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อและความศรัทธาเหล่านี้ ย่อมไม่มีใครอยากแนะนำให้โฟกัสไปในเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เท่าใดนัก แต่อยากให้เน้นไปที่เรื่องการยึดถือปฏิบัติให้ตรงตามพระธรรมคำสอนเสียมากกว่า

ดังนั้น เมื่อตั้งคำถามถึงเรื่อง “ความศักดิ์สิทธิ์ของพระบรมสารีริกธาตุของศรีลังกา” ที่กำลังจะได้รับการอัญเชิญมายังประเทศไทยในปลายปีนี้ขึ้นมา มานัส ทารัตน์ใจ อธิบดีกรมการศาสนา จึงให้คำชี้แนะว่าไม่ต้องการให้แบ่งแยกว่าองค์ไหนศักดิ์สิทธิ์กว่า เพราะพระบรมสารีริกธาตุทุกองค์ก็เปรียบเสมือนตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ควรค่าแก่การให้ความเคารพและศรัทธา ไม่ได้มีองค์ใดยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย

“พระบรมสารีริกธาตุ ไม่ว่าจะถูกขุดค้นหรืออัญเชิญมาจากที่ไหนก็ตาม ขอให้อย่าไปยึดติดในเรื่องของข้อสงสัยว่า พระบรมสารีริกธาตุองค์นั้นๆ เป็น “พระธาตุ” หรือ “พระอัฐิธาตุ” คือถ้าเป็นพระธาตุ หมายความว่าเป็นอัฐิของพระอรหันต์ เป็นกระดูกของมหาเถระ แต่ถ้าเป็นพระอัฐิธาตุ จะหมายความว่าเป็นอัฐิของพระพุทธเจ้าโดยตรง

แต่ถ้าเราไม่แยกแยะหรือแบ่งแยกในองค์พระบรมสารีริกธาตุ ไม่แบ่งแยกว่าเป็นพระธาตุหรือพระอัฐิธาตุ ไม่แบ่งแยกว่าจะขุดค้นพบที่ประเทศไหน ไม่ว่าจะที่ศรีลังกา, ไทย, จีน, อินเดีย ฯลฯ เราก็จะสัมผัสได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ จากการมองว่าทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของพระพุทธเจ้า



[ใช้ร่มโพธิ์บนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นแหล่งสงบสติ ทำสมาธิ และแลกเปลี่ยนพระธรรม]
เพราะจริงๆ แล้ว พระบรมสารีริกธาตุทุกองค์ ได้รับมาจากอินเดียเหมือนกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะผ่านทางช่องทางใดก็ตาม คือหลังจากที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว เจ้ามัลลกษัตริย์ทั้งหลาย ทั้ง 8 เมือง ก็ไปขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อนำไปกระจาย แบ่งปันต่อไปอีกในหลายๆ แห่ง

แต่ถ้าเป็น “พระทันตธาตุ (ฟันของพระพุทธเจ้า)” หรือ “พระเกศาธาตุ (เส้นผมของพระพุทธเจ้า)” น่าจะเป็นสิ่งที่ได้มาในขณะที่พระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จดับขันธปรินิพพาน เช่น พระเกศาธาตุใน “เจดีย์ชเวดากอง” ของพม่า ซึ่งตามตำนานแล้ว เป็นพระเกศาธาตุที่ประทานให้แก่พ่อค้า 2 คนอย่าง ตปุสสะ และภัลลิกะ (ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 6-10)

ทั้งนี้ พระบรมสารีริกธาตุนั้น ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดก็ตาม ก็ล้วนมีความศักดิ์สิทธิ์เท่าเทียมกันหมด นั่นก็หมายความว่าถ้าเรามีโอกาสได้ไปกราบพระบรมสารีริกธาตุองค์ไหนก็ตาม ย่อมหมายถึงการได้เข้าใกล้พระพุทธเจ้าที่สุดแล้ว

หรือแม้กระทั่งพระบรมสารีริกธาตุในพระเชตวันมหาวิหาร ที่อินเดีย (วัดไทยเชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี ประเทศอินเดีย) ซึ่งประดิษฐานบนพื้นที่กว้างใหญ่ และอยู่บนนั้นมากว่า 25 ปี และบนผืนดินนั้นทั้งหมด ก็ถือเป็นผืนดินที่พระพุทธเจ้าได้ทรงพระดำเนิน ได้เหยียบย่ำมาโดยตลอด และคนก็เคารพศรัทธา จึงได้เดินทางไปสวดมนต์กันที่นั่นอย่างล้นหลาม




พุทธศรัทธา เชื่อใน “อิทธิฤทธิ์” แต่ไม่คิด “ขอหวย”

[โบราณสถานเมืองอนุราธปุระ ไม่มีคนเซลฟี่ มีแต่กราบไหว้]
“ยิ่งทำมาก ยิ่งได้มาก ขอให้รวยๆ เฮงๆ ให้ถูกหวย รวยเบอร์” ทั้งที่ศรีลังกาเป็นประเทศที่ผู้คนส่วนมากอยู่ในฐานะยากจนกว่าคนไทย แถมยังเปี่ยมไปด้วยแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนา แต่น่าแปลกที่กลับไม่ได้ยินถ้อยคำคุ้นชินประโยคดังกล่าว ที่มักจะถูกประกาศซ้ำๆ ในหลายๆ วัด เพื่อสะท้อนสังคมพุทธพาณิชย์ในประเทศไทย

แต่การไปตามรอยศรัทธาบนดินแดนพุทธแห่งนี้ กลับทำให้ได้เห็นโลกแห่งจิตอันบริสุทธิ์ที่แตกต่างกันออกไป คือได้เห็นพุทธศาสนิกชนทั้งรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่ ที่พร้อมใจกันเปลือยเท้าตั้งแต่ปากทางเข้าอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์อย่าง “วัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว” วัดสำคัญที่สุดแห่งศรีลังกา



[ผู้คนมากมาย นั่งกราบไหว้หน้าประตู แหล่งประดิษฐาน "พระธาตุเขี้ยวแก้ว" แม้ไม่อาจเข้าไปได้]

ด้วยแรงศรัทธาของชาวศรีลังกาหัวใจพุทธ ที่ตั้งใจเดินทางเพื่อไปขอสักการะพระทันตธาตุส่วนเขี้ยวของพระพุทธเจ้า ซึ่งเชื่อกันว่ามีเพียง 2 องค์บนโลกมนุษย์เท่านั้น คือองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ที่เมืองฉางอัน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน และอีกองค์อยู่ที่นี่ จึงส่งให้มีคลื่นมหาชนชาวพุทธหลั่งไหลกันมาตรงจุดนี้อย่างไม่ขาดสาย

ถึงแม้พวกเขาจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปสักการะภายใน แต่ขอแค่ได้นั่งพนมมือไหว้อยู่หน้าประตู หรือได้ขึ้นไปยังชั้น 2 เพื่อสอดส่องสายตาผ่านช่องกำแพง ส่งไปยังพระบรมสารีริกธาตุในช่วงเวลาที่ผู้ถือกุญแจ ยอมเปิดแง้มประตูให้พุทธศาสนิกชนได้เห็นเจดีย์องค์ทองอยู่อย่างรำไร เพียงเท่านั้นพวกเขาก็สุขใจ และรู้สึกเหมือนได้เข้าใกล้พระพุทธองค์แล้ว


[หลังประตูบานนั้น คือที่ประดิษฐานของ “พระธาตุเขี้ยวแก้ว”]

[แม้ไม่อาจะเข้าไปสักการะ "พระธาตุเขี้ยวแก้ว" ขอแค่ได้มองผ่านช่องเล็กๆ เมื่อประตูชั้น 2 เปิดให้เห็นพระบรมสารีริกธาตุอยู่ภายในอย่างไกลๆ ก็พอใจ]

หรือแม้แต่การเข้าเยี่ยมชมพื้นที่มรดกโลก “แหล่งโบราณสถานประจำเมืองอนุราธปุระ” ที่แม้ไม่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นที่ที่มีพระ แต่ชาวศรีลังกาก็ยังปฏิบัติด้วยความเคารพอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งหมดนี้คือภาพประทับใจที่เกิดขึ้นอย่างเป็นปกติในศรีลังกา แต่ทว่ากลับสะท้อนใจให้ได้คิดเปรียบเทียบกับความเป็นพุทธในตัวคนไทย โดยเฉพาะเรื่องความงมงายในโชคลาภ ที่ส่งให้วัดไทยกลายเป็น “แหล่งใบ้หวย” ไปโดยปริยาย

ให้ลองวัดผลของแรงศรัทธา เปรียบเทียบระหว่าง “พุทธไทย-พุทธศรีลังกา” พระโสภณวชิราภรณ์ รักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยพระธรรมทูต ที่เดินทางไปด้วยในครั้งนี้ บอกได้แค่ว่าวิถีปฏิบัติและการปลูกฝังของคนทั้งสองฝั่งไม่เหมือนกัน จึงให้ผลลัพธ์ที่ออกมาแตกต่างกัน



“ยกตัวอย่างเรื่องการถอดรองเท้าเข้าวัด จากที่ได้ไปเห็นวิถีปฏิบัติของประชาชนชาวพุทธที่นี่ เขาเคร่งกันมากเรื่องการถอดรองเท้าเข้าวัด รวมถึงเวลาเข้าไปในส่วนของโบราณสถานด้วย หรือแม้แต่การแต่งตัวเข้าวัด เขาก็จะปฏิบัติตามๆ กันเลยว่า ต้องแต่งชุดขาวเท่านั้น

หรือแม้แต่การบันทึกภาพ ถ่ายภาพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ภายในโบสถ์อย่างพระธาตุเขี้ยวแก้ว เขาก็ไม่อนุญาตให้ถ่าย หรือถ้าจะถ่ายก็ถ่ายได้แค่หน้าประตูทางเข้า และต้องห้ามยืนถ่ายแบบหันหลังให้ตัวโบสถ์ด้วย เพราะถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม



ส่วนประเด็นเรื่องความหลงงมงายในโชคลาภ ที่เกิดขึ้นกับพุทธไทย แต่ช่างห่างไกลจากวิถีพุทธศรีลังกานั้น อธิบดีกรมการศาสนามองว่าน่าจะเป็นเพราะค่านิยมการปลูกฝังที่แตกต่างกัน จึงส่งให้ดินแดนแห่งนี้ไม่มีภาพคนขายลอตเตอรี่ในบริเวณวัด, ไม่มีคนแห่เข้ามาตีเลขในขันน้ำมนต์ และไม่มีการมานั่งขูดเลขเพื่อหวังโชคตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ไหนเลย

“ส่วนนึงอาจเป็นเพราะค่านิยมในบ้านเรา ที่ปลูกฝังเรื่อง “การขอ” ขอให้รวย, ให้อยากมี-อยากได้ ทำให้คนมีความหวังก่อนวันที่ 1 กับวันที่ 16 และอีกอย่าง พอใครถูกหวยก็มีการหยิบมาลงข่าวซ้ำเข้าไปอีก ทำให้เกิดความอยากได้ จนมาสู่ลูกโซ่การเข้ามาขอพร ขอหวยกันในวัด ซึ่งแตกต่างจากพุทธศาสนิกชนชาวศรีลังกา

แต่จริงๆ แล้ว เราคงไปห้ามให้คนไทยเลิกขอหวยในวัดไม่ได้ แต่ถามว่าจะทำยังไงให้พุทธศาสนิกชนส่วนนึงหลุดพ้นจากเรื่องเหล่านี้ไปได้ ก็คงต้องปลูกฝังให้คนไทยเข้าวัด เพื่อไปรำลึกถึงพระคุณของพระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์ อย่างที่ควรจะเป็นแทน



[หนึ่งในความศรัทธาที่ไม่เสื่อมคลาย ยังคงใช้โบราณสถานทำพิธีกรรมทางศาสนา]
เราจะทำยังไงให้คนรำลึกถึงพระพุทธคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ให้แสงสว่างทางโลกแก่มนุษย์ไว้ จะทำยังไงให้คนรำลึกถึงคุณของพระธรรม ให้คนเห็นว่าที่มีสุขได้อย่างทุกวันนี้ เพราะเราปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ และจะทำยังไงให้คนรำลึกถึงคุณของพระสงฆ์ ที่ทำหน้าที่ส่งต่อคำสอนต่างๆ มาให้พุทธศาสนิกชน

แต่ทุกวันนี้ ผู้คนมากมายไปยึดติดที่วัตถุ โดยเชื่อไปว่าพระพุทธรูปหรือพระสงฆ์คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และการจะลบล้างความเชื่อแบบนั้นได้ ก็คือการต้องให้แสงสว่างให้เขามองเห็นความจริง ให้เห็นทะลุเปลือกที่ยึดกันอยู่ทุกวันนี้
เปรียบไปแล้วก็เหมือนกับต้นไม้ กว่าจะเข้าถึงแก่น มันจะมีกระพี้กั้นอยู่ เพราะฉะนั้น เราจะทำยังไงให้ผู้คน ให้พุทธศาสนิกชนไม่ไปยึดติดอยู่กับกระพี้ ให้เขาทะลุไปถึงแก่นของพระพุทธศาสนาให้ได้



[พุทธศาสนิกชนที่นั่น ก้มลงกราบแทบพื้นทุกครั้งที่มีพระสงฆ์เดินผ่าน]
ทั้งนี้ทั้งนั้น ทางวัดเองก็ควรจะต้องให้ความรู้ความเข้าใจแก่พุทธศาสนิกชน ไม่ใช่มาช่วยมอมเมาให้หนักเข้าไปอีก บอกให้รวยๆๆ เฮงๆๆ แบบนี้ก็ไม่มีวันทำให้ประชาชนหลุดจากตรงนี้ไปได้ เพราะฉะนั้น วัดวาอารามต่างๆ ก็มีหน้าที่ที่จะให้ความรู้ความกระจ่าง และต้องลดกิเลสเรื่องนี้ไปให้ได้”

มาลองเริ่มจากการร่วมกัน “สร้างสติ” ในช่วงปลายปีนี้ก่อนก็ได้ โดยอาศัยช่วงจังหวะแห่งการเฉลิมฉลองในเทศกาลปีใหม่ สร้างวัฒนธรรมการ “เลิกขอ” แล้ว “เริ่มปฏิบัติ” ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ให้สมกับที่เป็น “ชาวพุทธ” ผู้ยึดถือในคำสอนของพระพุทธองค์


[มาเพื่อกราบไหว้ สักการะด้วยหัวใจ]





[ดอกไม้ที่พุทธศาสนิกชนนำมาจากบ้าน เพื่อมาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์]


[พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ณ โบราณสถานเมืองอนุราธปุระ]

สกู๊ป: ทีมข่าว MGR Live
เรื่องและภาพ: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณภาพ: กระทรวงวัฒนธรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น