xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจผู้กำกับ “2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว” พี่ตูนไม่ใช่เทพ แต่เสกแรงบันดาลใจ!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ถ้าพี่ตูนทำได้ ทุกคนก็ทำได้” ประโยคที่สร้างแรงบันดาลให้ใครหลายๆคน จากการวิ่งระยะทาง 2,215 กิโลเมตร เส้นทางเบตง-แม่สาย กับโครงการก้าวคนละก้าว หาเงินช่วยเหลือ 11 โรงพยาบาล จนกลายมาเป็นภาพยนตร์สารคดี “2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว” ภาพยนตร์คลุกวงในตลอด 55 วัน กับช็อตเด็ดที่ไม่คยเห็นที่ไหนมาก่อน!

คลุกวงใน 55 วัน ก้าวคนละก้าว
ภาพยนตร์สารคดี 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว
แม้ว่าเรื่องราวตลอดการวิ่งของ ตูน - อาทิวราห์ คงมาลัย จะได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆไปแล้ว แต่ความพิเศษของหนังเรื่องนี้คือความเรียล! ที่ยังไม่เคยถูกเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน ภาพเหตุการณ์ต่างๆ บทสนทนาระหว่างเพื่อน ครอบครัว ความประทับใจตลอดเส้นทางการวิ่ง

ผ่านมุมมองของ ไก่-ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับภาพยนตร์ จาก GDH และทีมงานรวม 5 คน ใช้เวลาตัดต่อ 3 เดือน สารคดีเรื่องนี้จะเผยภาพความเจ็บปวด คราบน้ำตา และสีหน้าเปื้อนยิ้มของตูน ตลอดจนภาพลับสุด ๆ

ฝีไม้ลายมือของผู้กำกับผู้นี้ไม่เพียงแค่ผ่านการทำสารคดีมาก่อนแต่ยังเป็นอดีตทีมเขียนบทหนังค่าย GDH จากเรื่อง Suckseed ห่วยขั้นเทพ และ เมย์ไหน ไฟแรงเฟร่อ ผู้กำกับมิวสิกวิดีโอ และสารคดีหนังสั้นหลายเรื่อง และยังเคยอยู่เบื้องหน้าเป็นตัวประกอบหนังเรื่อง ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ อีกด้วย
รู้ สู้! flood” แอนิเมชั่นสร้างสรรค์
นอกจากนี้ เขายังเป็นหนึ่งในทีมงานหลักเบื้องหลัง “รู้ สู้! flood” กลุ่มอาสาสมัครทำสื่อวิดีโอสร้างสรรค์ ในรูปแบบแอนิเมชั่นเข้าใจง่ายๆ ให้ข้อมูลน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 กับผู้ประสบภัยได้อย่างครบถ้วนสมบรูณ์ ด้วยภาษา วิธีเล่าเรื่องที่สนุกสนาน อธิบายข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาผ่านเจ้าปลาโลมา

ความชัดเจนด้านหนังสารคดีของเขายิ่งฉายชัด หลังจากเดินทางไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านสารคดีจาก School of Visual Arts, New York สารคดีสั้นของเขาได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน Shortlist ของงาน BAFTA Student Film Awards 2017 รวมถึงเป็นหนึ่งในทีม ‘Young จะทำ’ เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากใช้สารคดีเปลี่ยนแปลงสังคม

ถามตอบกันสดๆ ถึงจุดเริ่มต้นในการก้าวมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีเลือดใหม่คนนี้กัน

- จุดเริ่มต้นของหนังสารคดีเรื่องนี้

เริ่มจากโปรเจ็กต์เล็กๆที่พี่ตูนคิดจะทำคลิปวิดีโอที่วิ่งระหว่างกรุงเทพฯ-โรงพยาบาลบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่สักพักก็พับโปรเจ็กต์นี้ไป เพราะพี่ตูนอยากจะทำภาพยนตร์สารคดีการวิ่งจากเบตงไปแม่สาย โดยมอบให้ค่ายหนัง GDH เป็นคนทำ พี่เก้ง - จิระ มะลิกุล โปรดิวเซอร์ GDH เลยโทร.หาผมมาว่ามีโปรเจกต์หนังวิ่งของพี่ตูน ให้ผมกำกับฯ ตอนนั้นตื่นเต้นมาก ผมเรียนอยู่ที่อเมริกาจึงตัดสินใจกลับเมืองไทยเลย ทั้งที่ตอนแรกตั้งใจว่าจบแล้วจะทำงานอยู่ที่อเมริกาสักพัก

รู้สึกท้าทายมากในแง่วิชาชีพ และผมคิดว่าหนังเรื่องนี้น่าจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะเบิกทางให้กับภาพยนตร์สารคดีในบ้านเรา และอยากให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดมุมมองเกี่ยวกับภาพยนตร์สารคดี ให้คนไทยเปิดรับภาพยนตร์สารคดีมากขึ้น รู้สึกว่าหนังสารคดีไม่ได้น่าเบื่อ ไม่ได้มีแค่สัตว์โลก ธรรมชาติ

จริงๆหนังเรื่องนี้เริ่มถ่ายทำตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2560 ตั้งแต่พี่ตูนรวมทีม ว่าจะวิ่งแบบไหน จัดขบวนแบบไหน จากนั้นพี่ตูนไปเซอร์เวย์โรงพยาบาลทุกแห่ง 11 โรงพยาบาลด้วยตัวเอง

ซึ่งเราก็ใหม่มาก กับเรื่องโรงพยาบาล เรื่องสาธารณสุข และคนที่อยู่รอบๆตัวเขา วิธีการทำงาน ตอนนั้นก็มีไอเดียบางๆเป็นเมล็ดอยู่บ้าง แต่ผมจะนึกถึงเพลงก่อนเลย และจากที่สัมผัสตัวตนพี่ตูน เท่าที่รู้จักตอนนั้น ลึกๆแล้วเขาเป็นคนเงียบ ไม่ใช่คนโฉ่งฉ่าง อมเศร้านิดๆ ผมนึกถึงเพลงเปียโนเบาๆ เราเลยเอาเพลงที่เรานึกถึงมาตัดใส่คนวิ่ง แล้วเปิดให้พี่ตูนดู ตอนนั้นมีไอเดียแค่นั้น

พอพี่ตูนได้ดูตอนนั้นเขาหลับตา อยู่ในห้องประชุม เขาบอกว่านึกถึงภาพเท้าที่วิ่งตัดสลับกับภาพเท้าของหมอที่วิ่งไปช่วยคนป่วยในโรงพยาบาล

พี่ตูนเขาไม่อยากให้หนังเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเขาทั้งหมด ไม่อยากให้มายกยอพี่ตูน ไม่ต้องมาโฟกัสที่เขาเยอะ อยากให้เขาเป็นตัวกลาง ที่จะนำไปสู่เรื่องของหมอ เรื่องของใครก็ตามที่มีส่วนช่วยเหลือ

แต่สุดท้ายผมคิดว่า คนที่สร้างแรงบันดาลใจได้ดีที่สุดก็คือพี่ตูน ยังไงก็ต้องเล่าเรื่องพี่ตูน

- ยากแค่ไหนที่จะต้องตามพี่ตูนไปในทุกที่
คลุกตัวอยู่กับพี่ตูนทุกช่วง
จินตนาการเล่นๆ ถ้าเราขับรถจากเบตงไปแม่สายเหนื่อยมั้ย แต่อันนี้เป็นการวิ่ง แต่ผมไม่ได้วิ่งหรอกนะ เดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ ทีมโปรดักชันผมมี 4 คน กล้อง 2 ตัว มอเตอร์ไซค์ 2 คัน วิ่งบ้างในบางโอกาส เพราะอาจจะต้องมีจังหวะที่เข้าไปในขบวน ก็ติดสอยห้อยตามไป

ถึงแม้เราจะนั่งมอเตอร์ไซค์ แต่เราก็ต้องถ่ายไปตลอดทางเหมือนกัน อย่างเอ็ม ที่เป็นตากล้องทีมผม ถ่ายจนยกแขนไม่ขึ้นเลย เพราะกล้ามเนื้อบาดเจ็บ ร้าวไปถึงสันหลัง

ความยากในด้านร่างกายน้อยอยู่แล้ว เราตื่นมาพร้อมพี่ตูนแล้วเราก็ถ่ายเลย จนกระทั่งเขานอนเป็นแบบนี้ทุกวัน นอนน้อย บางวัน 4 ชั่วโมง บางวัน 2 ชั่วโมง แล้วก็ต้องเดินทางเคลื่อนที่ตลอด นี่คือความยากในด้านร่างกาย

ส่วนความยากในการทำหนัง ในขั้นตอนโปรดักชั่นในการออกไปถ่าย คือ ก็เหนื่อยจริง แต่เราไม่ต้องคิดเยอะ เราคิดว่าเราอยากได้อะไร แต่เหมือนเราไหลไปกับขบวน เราสนุก เป็นช่วงเวลาที่มหัศจรรย์ เราเห็นคนเป็นหมื่นเป็นแสนมารอทุกวัน เราเห็นคนยิ้มแย้ม เอาน้ำ เอาอาหาร ต้อนรับอย่างดี

- ฟีดแบ็คพี่ตูนกับหนังเรื่องนี้เป็นไงบ้าง

พี่ตูนไม่เคยขอดูฟุตเทจ หรือขอดูหนังเลย จนกระทั่ง 1 อาทิตย์ก่อนจะฉายจริง พี่ตูนขอดู ไลน์มาถามผม ว่าหนังเป็นไงบ้าง ผมก็เลยโทร.ไปเล่าให้ฟัง พี่ตูนก็ดูไม่สบายใจ ผมก็เครียดแล้วสิ เหมือนรถไฟชนกัน เพราะจุดยืนพี่ตูนกับผมคนละทาง พี่ตูนไม่อยากให้โฟกัสที่ตัวเอง ส่วนผมอยากให้โฟกัสพี่ตูน

ผมเริ่มเครียด พอเจอพี่วัน โปรดิวเซอร์ พี่เขาเหมือนมีสัมผัสพิเศษ(หัวเราะ) ถามว่าผมเป็นอะไร ผมก็เล่าให้เขาฟัง พี่วันก็บอกว่าไม่ต้องเครียด เราต้องอยู่ในจุดยืนเราอย่างดีที่สุด สุดท้ายถ้าพี่ตูนจะแก้ หรือเปลี่ยน จะแก้ ยกเลิก มันก็เกิดขึ้นอยู่ดี จะไปถอยตอนนี้แล้วสุดท้ายผลลัพธ์ไมได้เป็นผลลัพธ์ที่ดีที่สุดที่เราตั้งใจ มันไม่มีประโยชน์กับใครเลย เพราะสุดท้ายถ้าพี่ตูนจะแก้ ก็ต้องแก้อยู่ดี ก็ลองดูทำไปเต็มที่

พอถึงวันฉาย เป็นวันที่ผมเครียดมากที่สุดในกระบวนการทำหนังเรื่องนี้ทั้งหมด เขาก็ดูหนัง พอหนังจบประมาณ 10 นาที พี่ตูนก็ยังไม่ออกมาจากโรง นั่งอยู่ในโรง ทั้งที่ทีมงานก็ออกมาหมดแล้ว

พวกผมก็นั่งประชุมกันอยู่หน้าโรง ฟีดแบคของทางทีมงานเขาก็ชอบนะ จากนั้นพี่ตูนก็เดินออกมาหน้ามุ่ยๆ แล้วพี่สิน ยงยุทธ ก็ถามว่า ชอบหนังมั้ย ผมก็นั่งมือเย็น

พี่ตูนก็พูดเหมือนวันแรก ว่าไม่อยากให้หนังมาโฟกัสเขา ไม่อยากให้มีคนมาว่า ว่าทำหนังอวยตัวเอง นี่คือสิ่งที่พี่ตูนกลัว แต่เราก็พยายามที่จะยืนยันว่านี่คือในมุมมองของคนทำหนัง แล้วเราก็ไม่ได้อวยพี่ตูนแบบที่พี่ตูนจะต้องกลัว เราทำหนังบนจุดยืนที่ว่า เราจะทำให้พี่ตูนเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่สัมผัสได้ ที่ไม่ใช่เทพ ไม่ใช่ผ้าขาว

ในมุมของคนทำหนังผมก็แค่หวังว่า ในท้ายที่สุด เราได้แรงบันดาลใจจากการที่คนคนนึงออกมาวิ่ง แล้วเราลุกขึ้นมาตั้งใจทำสิ่งที่เรามีอยู่ เราให้คนอื่นมากขึ้น นี่คือสิ่งที่ดีงามแน่นอน

จากการโครงการก้าวคนละก้าวที่ ตูน บอดี้สแลม สร้างปรากฏการณ์การวิ่งครั้งประวัติศาสตร์จากเบตง-แม่สาย ระยะทาง 2 พันกว่ากิโลเมตร เพื่อระดมเงินบริจาคให้ 11 โรงพยาบาลซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์

มาปีนี้โครงการก้าวคนละก้าวได้ต่อยอดสร้างแรงขับเคลื่อนการทำความดีเป็นโครงการ “ก้าวนี้…เพื่อศิริราช” โดยนำวิดีโอบันทึกเรื่องราวของตูนในระหว่างการวิ่งเบตง-แม่สายมาทำเป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว”

เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจในการทำความดี ก้าวนี้ เพื่อศิริราช ด้วยการบริจาคเงินเพื่อหารายได้ซื้ออุปกรณ์การแพทย์ เพื่ออาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อาคารหลังสุดท้ายที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานนาม เพื่อผู้ป่วยด้อยโอกาส โรงพยาบาลศิริราช และผลิตบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่

-เริ่มต้นสู่การเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ได้ยังไง
เคยเล่นเป็นตัวประกอบในหนัง ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ
"ตอนปริญญาตรีผมเรียนนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ภาควิชาภาพยนตร์ จากนั้นก็ทำฟรีแลนซ์ ทำเกี่ยวกับภาพยนตร์ โฆษณา ก็ได้มีโอกาสเขียนบทภาพยนตร์ มิวสิกวิดีโอ และก็ไปเรียนทำหนังสารคดีที่ต่างประเทศ

ขาหนึ่งผมทำงานภาพยนตร์ มิวสิกวิดีโอ อีกขาหนึ่งมันเริ่มต้นมาจากตอนน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ผมกับพี่ๆน้องๆในคณะรวมตัวกันทำแอนนิเมชั่นปลาวาฬ รู้ สู้ flood คือเราพยายามที่จะสื่อสารข้อมูลที่เข้าใจง่าย ให้คนไม่แตกตื่น และติดตามข่าวสารได้อย่างมีสติ

และทำวิดีโอต่างๆให้กับเอ็นจีโอ และคุณโจน จันได ผู้ก่อตั้ง พันพรรณ ที่ทำบ้านดิน ผมเคยไปลงคอร์สทำบ้านดิน ก็เลยทำวิดีโอ How To ต่างๆ ผลตอบรับดี

ทำให้ผมรู้สึกว่าวิชานิเทศศาสตร์ของเขา ในการที่จะถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆมันมีประโยชน์กับสังคม มีเวทมนตร์บางอย่างที่เราอยากจะทำไปใช้กับเนื้อหาอย่างอื่นบ้างนอกจากบันเทิง

ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่า วิชาการทำหนัง นิเทศศาสตร์ มีผลกระทบต่อคนวงกว้าง มีประโยชน์มาก จึงทำให้เริ่มสนใจสารคดี สนใจในแง่ของการจัดการชุดข้อมูลความจริง เหตุการณ์จริงมากขึ้น จึงตัดสินใจไปเรียน

- รู้ตัวตอนไหนว่าอยากเป็นผู้กำกับภาพยนตร์

มันเริ่มมาจากผมเลียนแบบพี่ชาย พี่ชายผมก็เป็นผู้กำกับ (ชยนพ บุญประกอบ) ผมเลียนแบบเขามาตั้งแต่อนุบาล เกิดมาก็วาดการ์ตูนตาม เล่นของเล่นตาม เล่นดนตรีตาม เรียนโรงเรียนเดียวกัน เรียนนิเทศฯ ด้านฟิล์มเหมือนกัน

ตอนเขาเรียนนิเทศฯ เขาก็เอาหนังมาดูที่บ้าน ผมก็ดูตาม พอเข้าไปอยู่ในคณะ ก็มีกิจกรรมต่างๆมากมาย ทำหนัง รับน้อง เราก็ทำกับเพื่อนๆ ก็เป็นธรรมชาติไปเอง เราชอบศิลปะ ทำหนัง ถ่ายรูป ก็เป็นสเต็ปมาเรื่อยๆเอง

-พ่อแม่รู้สึกอย่างไร ลูกสองคนมาเป็นผู้กำกับหนังกันหมด

พ่อแม่ผมเป็นนักการทั้งคู่ แต่ท่านไม่เคยบังคับ ก่อนเกษียณท่านเคยอยู่สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ สอนเรื่องเกี่ยวกับการวิจัยเชิงคุณภาพ การเรียน การสอน การจัดการความรู้ในเด็ก ในชั้นเรียน และเคยเป็นอาจารย์มัธยมมาด้วยทั้งคู่

ผมคิดว่าเขาจึงมีความเข้าใจในพื้นฐานการเรียนรู้ของเด็กว่า การที่เราไปคาดหวัง หรือบังคับเด็ก ไม่น่าจะมีประโยชน์

-แนะนำสำหรับคนที่อยากเป็นผู้กำกับหนัง

แต่ละคนก็มีเส้นทางในการเดินไม่เหมือนกัน ผมคิดว่าการทำหนังเหมือนการมองโลกอย่างที่บอก พี่เก้ง- จิระ มะลิกุล โปรดิวเซอร์ค่าย GDH ก็บอกว่า ถ้าใครอยากทำหนัง ให้ไปใช้ชีวิตก่อน

คือจบมาอย่าเพิ่งรีบทำหนัง ให้ไปใช้ชีวิตก่อน สุดท้ายการทำหนังคือการพูดสิ่งที่อยู่ในตัวเราออกมา มุมมองที่เรามี ความเข้าใจมนุษย์ ความเห็นที่เรามีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ฉะนั้นคนเราจะเติบโตได้จากการมีประสบการณ์ ที่ไม่ใช่แค่การอยู่ในกองถ่ายอย่างเดียวเท่านั้น

วัตถุดิบในตัวเรามันต้องสะสมจากการใช้ชีวิต ถ้าชอบดูหนัง ก็ดูหนัง แต่ก็ต้องไปหาประสบการณ์ใส่ตัวซะ ไม่จำเป็นจะต้องแบ็กแพ็คไปเที่ยวไอซ์แลนด์ หรืออะไรแบบนั้นนะ จะเป็นการทำงานที่บ้าน ช่วยเหลือพ่อแม่ เล่นกีฬากับเพื่อน คือเป็นได้ทุกรูปแบบ เพียงแต่ว่าเราต้องรู้จักสังเกตสิ่งรอบตัวมากขึ้น รู้จักรับฟัง ผมคิดว่า การฟังสำคัญมาก

เพราะการฟัง เป็นการเปิดรับโลกเข้ามาสู่ตัวเรา ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน ทำอะไรก็ตาม ถ้าคุณรู้จักฟัง ผมว่าทำหนังได้แน่นอน
สัมภาษณ์ : รายการพระอาทิตย์ Live

เรียบเรียง : MGR Live

เรื่อง : สวิชญา ชมพูพัชร

ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ก Nottapon Boonprakob


กำลังโหลดความคิดเห็น