xs
xsm
sm
md
lg

ทางเลือกทางรอด! “ซูเปอร์ตะบันน้ำ 4.0” พลิกชีวิตเกษตรกรบนที่สูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ป่าโดนบุกรุก วิกฤตหมอกควัน ดิน แหล่งน้ำถูกทำลาย ผลพวงปัญหาเกษตรเชิงเดี่ยว “ปลูกข้าวโพด = เพิ่มการเผา” กระทบวงกว้าง เหตุชาวบ้านไร้ทางเลือก เข้าไม่ถึงน้ำ ผุด “ซูเปอร์ตะบันน้ำ 4.0” ใน ต.โป่ง จ.เลย สูบน้ำด้วยน้ำ ไม่ใช้ไฟฟ้า ไม่ใช้น้ำมัน ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซค์ 0.532 กิโลกรัมต่อเครื่อง แถมใช้เงินทุนน้อย เปลี่ยนเกษตรใช้สารเคมี ปลูกพืชชนิดเดียวสู่เกษตรพึ่งพิงป่า เพิ่มรายได้ ลดเสี่ยงอุทกภัยตามแนวแม่น้ำป่าสัก

ปลูกข้าวโพด = เพิ่มการเผา!

ตำบลโป่ง อำเภอด้านซ้าย จังหวัดเลย ตั้งอยู่ในลุ่มน้ำพุงตอนบน มีลักษณะเป็นลุ่มน้ำแบบสี่เหลี่ยม มีขนาดของพื้นที่ 204.68 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 37,500 ไร่ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม พืชหลักที่นิยมปลูก คือ ข้าวโพด แม้จะเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ แต่กลับพบว่าสภาพป่า และระบบนิเวศป่าต้นน้ำเสื่อมโทรมไปมาก


นอกจากนั้นยังเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง เช่น น้ำท่วม ภาวะแห้งแล้ง ดินถล่ม เห็นได้จากภัยพิบัติน้ำป่าไหลหลากครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2550 ทำให้แกนนำ และชาวบ้านบางกลุ่มเริ่มปรับเปลี่ยนระบบการผลิตจากข้าวโพดเป็นการผลิตที่ฟื้นฟูระบบนิเวศไปพร้อมกับการเพาะปลูก เพราะผลกระทบของการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างข้าวโพด ต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก การบุกรุกพื้นที่ป่าจึงเพิ่มขึ้น และการเผาปรับพื้นที่ก็มากขึ้นตามไปด้วย




“ปัญหาแรกที่เราเห็น คือ ชุมชนเข้าไมาถึงน้ำ แม้จะอยู่ในเขตต้นน้ำ แต่น้ำอยู่ต่ำกว่าพื้นที่เกษตรกรรม เพราะส่วนใหญ่เป็นภูเขา ห่างจากแหล่งน้ำอยู่ประมาณ 1 กิโลเมตร หรือบางที่ห่างแค่ 100 เมตรก็ไม่สามารถใช้น้ำได้ เมื่อเกษตรกรเข้าไม่ถึงน้ำ มันก็ส่งผลถึงการเลือกชนิดของต้นไม้หรือพืชที่จะนำมาปลูก ไม่สามารถไปทำเกษตรในเชิงอนุรักษ์ หรือการทำเกษตรพอเพียง ทำให้ชาวบ้านเลือกทำเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นส่วนใหญ่ เช่นการปลูกข้าวโพด ทำสวนยางพารา เสาวรส และอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในหลายมิติ ทั้งปัญหาสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

จีระศักดิ์ ตรีเดช นายกสมาคมเพื่ออนุรักษ์ และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ บอกเล่าถึงปัญหาเรื้อรังจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว นำไปสู่ผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพด เป็นเหตุให้เกิดดินเสื่อมโทรม และการสูญเสียหน้าดิน สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการปนเปื้อนของสารเคมีเกษตรในแหล่งน้ำ รวมไปถึงคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ทั้งด้านสุขภาพจากสารเคมีเกษตร และด้านเศรษฐกิจ ซึ่งยังคงอยู่ในวงจรหนี้สิน และความยากจน


“การปลูกข้าวโพดต้องไถหน้าดินทุกปี ทำให้ตะกอนดินไหลลงมาในเขตต้นน้ำ เกิดกระบวนการพัดพาไปยังเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนดินกักเก็บน้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทยตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เมื่อตะกอนดินทับถมเรื่อยๆ ประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำในเขื่อนก็น้อยลง ทำให้เกิดอุทกภัยตามแนวแม่น้ำป่าสักได้ง่าย และอาจสร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรรอบๆ เขื่อนด้วย

“ตะบันน้ำ 4.0” ทางเลือกเพื่อทางรอด
“เจ้าเครื่องนี้หากนำมาใช้ในพื้นที่ ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตได้” นายกสมาคมฯ บอก “เรานำแนวคิดมาใช้ กว่าจะสำเร็จและลงตัว ผ่านการปรับรูปแบบกันมา 8 เวอร์ชัน วัสดุที่นำมาทดลองกองเป็นภูเขาเลย (หัวเราะ) ลำพังจะไปซื้อทั้งเครื่องมาเลย มันแพงครับ ตกเครื่อละ 25,000 บาท กลุ่มชาวบ้านเข้าไม่ถึง ส่วนที่ทำขึ้นจากพลาสติก ราคาถูกจริง แต่เจอแรงดันมากๆ ก็แตก สุดท้ายชาวบ้านช่วยกันคิด ช่วยกันสร้างตามเงินทุนที่พวกเรามี ตอนนี้มีอยู่ 10 เครื่อง และจะทำกันไปเรื่อยๆ โดยใช้วัสดุที่หาง่ายในชุมชน เช่น ถัง LPG รวมราคาต่อเครื่องแล้วเหลือ 5,000 บาทเท่านั้น”



สำหรับหลักการทำงาน เป็นปั๊มน้ำที่สามารถทํางานได้เองโดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า น้ำมัน อาศัยเพียงการกระแทกของน้ำในท่อซึ่งถูกทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอัตราการไหลอย่างกะทันหัน ทําให้ความดันในตัวปั๊มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาสั้นๆ กล่าวคือ เมื่อน้ำไหลจากแหล่งน้ำที่สูงกว่าด้วยความเร็วที่เหมาะสมมากระทบให้วาล์วน้ำล้นซึ่งเป็นวาล์วเปิดทางเดียว ทํางานเปิด-ปิดเป็นจังหวะ เป็นการเพิ่มความดันน้ำ และผลักดันน้ำให้เข้าสู่กระเปาะอากาศ ผ่านวาล์วส่งน้ำซึ่งเป็นวาล์วเปิดทางเดียวเช่นกัน

เมื่อน้ำไหลเข้าสู่กระเปาะ อากาศที่อยู่ในกระเปาะจะถูกอัดจนมีความดันเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากไม่มีทางออกทางด้านบนของกระเปาะ อากาศจึงเกิดการอัดตัว และผลักดันให้น้ำไหลออกจากกระเปาะทางด้านล่างผ่านทางท่อส่งด้วยแรงดันที่เพิ่มขึ้นหลายเท่า ดังนั้นเครื่องตะบันน้ำจึงสามารถส่งน้ำหรือยกระดับน้ำได้


กระนั้น ตามระบบการทํางานของเครื่องตะบันน้ำต้องทำความเข้าใจก่อนว่า น้ำบางส่วนจะไหลออกไปทางวาล์วน้ำล้น เครื่องตะบันน้ำจึงเหมาะสําหรับแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เพราะน้ำที่ไหลล้นออกไป สามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ท้ายน้ำได้ แต่ไม่เหมาะสําหรับการมาใช้กับการสูบน้ำประปา


“ซูเปอร์ตะบันน้ำ สูบน้ำได้มากกว่าระดับแรงดันตั้งต้นถึง 10 เท่า ถ้าแรงดันเริ่มต้นที่ 1 เมตร เครื่องตะบันน้ำสามารถส่งน้ำขึ้นไปยังที่สูงได้ 10 เมตร ปัจจุบันเรามีอยู่ 10 เครื่อง ส่งน้ำขึ้นไปได้ 3,000 ลิตรต่อ 1 เครื่อง ซึ่งเป็นที่น่าพอใจของเกษตรกรมากๆ ครับ พวกเขามีความสุขที่ได้นวัตกรรมตัวนี้มา นอกจากนั้นยังมีการทดลองพบว่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซค์ 0.532 กิโลกรัมต่อ 1 เครื่องถ้า 10 ตัวจะช่วยลดได้ประมาณ 5.32 กิโลกรัม”


นวัตกรรมชาวบ้าน สู่นวัตกรรมทางสังคม




“ถ้าไม่มีน้ำก็ใช้ตะบันน้ำไม่ได้ ฉะนั้นกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับเครื่องตะบันน้ำไปแล้วจะกลายไปเป็นนักอนุรักษ์ต้นน้ำไปด้วยในตัว เกิดเป็นแกนนำรักษาป่าต้นน้ำ ปัจจุบันเรามีป่าที่ร่วมกันอนุรักษ์ 6-7 ป่า คิดเป็นพื้นที่ก็หลายพันไร่ แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ความสามัคคีในชุมชน เพราะเครื่องตะบันน้ำ ต้องร่วมแรงร่วมใจกันติดตั้ง เกิดการพูดคุย แลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาร่วมกัน มีการคิดไปถึงการจัดตั้งสภาผู้นำท้องถิ่นเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยให้ชาวบ้านหันมาทำเกษตรเชิงอนุรักษ์มากขึ้น ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการมีเครื่องตะบันน้ำ” นายกสมาคมฯ เผย และบอกถึงแผนการดำเนินงานในอนาคต


“อย่างที่บอกไป เราสร้างเสร็จและเอาไปติดตั้งใช้จริงแล้ว 10 เครื่อง ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจมาก เราตั้งเป้าไว้ 50 เครื่องตามเงินทุนที่เรามี ถ้ามีเงินทุนเพิ่มก็จะทำไปเรื่อยๆ เพราะยังมีอีกนับร้อยครัวเรือนที่ต้องการใช้ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีทรัพยากร ไม่มีงบประมาณ ซึ่งทางแกนนำชุมชนเองก็พยายามช่วยเหลือเต็มที่ ส่วนคนที่มีเจ้าเครื่องนี้แล้ว เราก็มีการอบรมตัวแทนจากครัวเรือนเรื่องการดูแลรักษาเครื่อง สร้างเป็นวิสาหกิจชุมชนต่อไป”

ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ “ซูเปอร์ตะบันน้ำ 4.0” ด้วยการสนับสนุนผ่านมือถือ โดยลูกค้าดีแทค กด *405*12# (ครั้งละ 50 บาท) หรือท่านอื่นที่สนใจบริจาค หรือสนับสนุนเรื่องอื่นๆ ติดต่อโดยตรงได้ที่คุณดิว-จีระศักดิ์ ตรีเดช นายกสมาคมเพื่ออนุรักษ์ และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ โทร. 08-5269-4264



กำลังโหลดความคิดเห็น