xs
xsm
sm
md
lg

แก่ไม่เป็นภาระ! พลิกชีวิต "คนจนเมือง" อยู่ดี มีรายได้ ไม่จนความสัมพันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาของ "คนจนเมือง" หรือกลุ่มคนจนที่อาศัยในเขตเมือง เป็นกลุ่มคนที่ปรากฎขึ้นพร้อมกับการพัฒนาของเมืองที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำทั้งในเชิงพื้นที่ และเศรษฐกิจ เป็นผู้มีรายได้น้อย ตั้งบ้านเรือนอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่แออัด มีระดับการศึกษา รายได้ อยู่ในเกณฑ์ที่จำกว่าคนกลุ่มอื่นในสังคมเมือง

ไม่แปลกที่คนกลุ่มนี้จะตกอยู่ในความเสี่ยงทาง "สุขภาวะ" ทั้งจากความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ที่อยู่อาศัย และการเข้าไม่ถึงสิทธิสุขภาพ และสวัสดิการทางสังคม และที่น่าเป็นห่วงคือ ขาดการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งอาจเกิดภาระที่ทุกคนในประเทศต้องแบกรับในระยะยาว

ทางคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล มองเห็นปัญหาดังกล่าว จึงจัดทำโครงการเสริมสร้างสุขภาวะคนจนเมือง เพื่อเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงวัย ได้งบสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส. โดยมี ดร.วีรวัฒน์ แสนศรี เป็นผู้จัดการโครงการฯ


ปัจจุบัน ดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 3 ภูมิภาค จำนวน 15 ชุมชน จากทั้งหมด 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ อุบลราชธานี และกรุงเทพมหานคร โดยคัดเลือกจากชุมชนที่มีทุนการทำงาน/เครือข่ายการทำงานของสสส. เพื่อส่งเสริมการเรียนของผู้สูงอายุ เกิดทักษะอาชีพ การถ่ายทอดภูมิปัญญา และการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างเยาวชนและผู้สูงวัย

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ในการขับเคลื่อนโครงการฯ โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือมุ่งเน้นให้ผู้สูงวัยมีสุขภาวะที่ดี และสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี รวมถึงส่งเสริมให้มีการเตรียมความพร้อมใน 3 มิติ ทั้งด้านสุขภาพ ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจ



"คนจนเมืองบางกลุ่ม ไม่ใช่คนที่ไม่มีรายได้ แต่เป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเมือง หรือบางที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องรายได้ แต่เขาจนความสัมพันธ์ หมายความว่า มีคนเฒ่าคนแก่เยอะ แต่ขาดคนรุ่นใหม่มาสานต่อภูมิปัญญาดั้งเดิม ดังนั้นหากไม่ทำอะไรเลย ภูมิปัญญาต่างๆ ก็จะล้มหายตายจากไปด้วย" สุรเดช ลุนิทรานนท์ นักวิชาการประจำพื้นที่นำร่อง จังหวัดเชียงใหม่ ชี้ให้เห็นปัญหา และลงพื้นที่เข้าไปพูดคุย แลกเปลี่ยน พร้อมกระตุ้นให้เกิดชุดกิจกรรมในชุมชน

ยกตัวอย่างชุดกิจกรรม "ข่วงผญา" ณ ลานต้นแก้ว วัดเกตการาม ซึ่งเป็นลานที่คนในชุมชนมาพบปะ พูดคุย เรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวัน รวมถึงงานประเพณีทางศาสนา และสังคม ด้วยความเป็นศูนย์กลางนี้ แกนนำชุมชนจึงได้ดำเนินการหาเครื่องมือที่จะโน้มน้าวเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนให้เกิดขึ้น โดยนำเอา "ตุงไส้หมู" มาเป็นตัวกลางสร้างพื้นที่ พาผู้สูงวัย และคนในช่วงวัยอื่นๆ มาอยู่รวมกัน เปิดโอกาสให้เกิดการพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ชีวิตกันโดยธรรมชาติ

อีกหนึ่งชุดกิจกรรมที่ชุมชน "นันทาราม" คิดขึ้นมาคือ "รำวงย้อนยุค" แกนนำชุมชนที่นี่มองเห็นความสำคัญของการออกกำลังที่เหมาะสมตามช่วงวัย ดังนั้นเพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่แข็งแรง มีสุขภาวะทางจิตและสังคมที่เข้มแข็งขึ้นด้วยการลดภาวะผู้สูงวัยติดบ้านลง "รำวง" จึงเป็นทางเลือกที่ดึงดูดความสนใจได้เป็นอย่างดี


"เราไม่เคยบอกว่า ชุมชนต้องทำอะไร เราแค่ถามว่าอยากทำอะไร และมองว่าสิ่งนี้ตอบรับกับกิจกรรมที่เราวางไว้อย่างไร เราแค่เข้าไปกระตุ้นครับ พอวันหนึ่้งเราออกมา ชุมชนจะอยู่ได้ด้วยตัวของเขาเอง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ถูกมองว่าไม่มีศักยภาพ แต่บางชุมชน อย่างที่วัดเกตการามสามารถเถียงในเรื่องได้อย่างสบายๆ" นักวิชาการประจำพื้นที่นำร่อง จ.เชียงใหม่บอก




หรือที่ "ชุมชนเกตุแก้ว" จังหวัดอุบลราชธานี "จำปี มรดก" ตัวแทนแกนนำจากพื้นที่นำร่อง เล่าว่า การดำเนินงานของชุมชน เริ่มมาจากการรวมกลุ่มกันของแม่บ้าน และสตรีในชุมชน จัดอบรม ให้ความรู้เกี่ยวกับการหารายได้ และแนวคิดในการสร้างอาชีพด้วยธุรกิจของสตรีในชุมชน จากนั้นได้ดำเนินการจัดทำแผนธุรกิจ และทดลองเป็นผู้ประกอบการ โดยนำร่องทำขนม "กล้วยเกตุแก้ว" ขายในชุมชน ผลที่่ได้รับ คือ ทำให้กลุ่มสตรีในชุมชนเกิดความตระหนักและกำหนดเป้าหมายในชีวิตได้ พร้อมทั้งเรียนรู้การใช้จ่ายเงิน การออม และการลงทุนเพื่อรองรับสังคมสูงวัยในอนาคตได้

"1 ปีที่เข้าไปทำงานกับชุมชนกลุ่มเฉพาะ หรือคนจนเมือง ส่วนตัวมองว่าเกินคาดมาก โดยเฉพาะความรู้สึกที่มีต่อชุมชน เรามองชุมชนในมุมที่เปลี่ยนไป มองชุมชนที่มีความละเอียดอ่อน เข้าใจบริบทของชุมชนมากขึ้น เพราะเมื่อเข้าไปสัมผัสแล้ว เราเห็นเสน่ห์ เห็นความร่วมมือของชุมชน ในการร่วมด้วยช่วยกันออกแบบกิจกรรมโดยเรามีกระบวนการให้คนในชุมชนได้มาพูดคุยกัน" ศุภชัย ไตรไทยธีระ นักวิชาการประจำพื้นที่นำร่อง จังหวัดอุบลราชธานีเสริม


ปิดท้ายกับพื้นที่นำร่องกรุงเทพมหานคร ยกตัวอย่างชุมชนริมทางรถไฟ พุทธมณฑลสาย 2 เป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่้อ ตลิ่งชัน และโครงการตัดถนนเลียบทางรถไฟได้รับผลกระทบจำนวน 7 ชุมชน


ปัจจุบันมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยแล้ว แต่ช่องว่างระหว่างวัยยังมีอยู่มาก หลังจากที่โครงการได้เข้าไปสนับสนุน แกนนำชุมชนได้เชื่อมการทำงานเยาวชนกับผู้สูงอายุ โดยดึงกลุ่มผู้สูงวัยตามบ้านออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน โดยใช้ประสบการณ์เดิมซึ่งส่วนใหญ่มีพื้นฐานในการทำการเกษตร และการทำอาหาร




"เรามีบ้าน มีที่อยู่อาศัยแล้ว แต่ยังขาดกิจกรรมที่เด็กกับผู้สูงอายุทำร่วมกัน เราจึงจัดพื้นที่ปลูกผักสวนครัวเป็นแปลงรวม จากเดิมที่ผู้สูงอายุจะอยู่แต่ในบ้าน เด็กๆ ก็มาชวนผู้ใหญ่มาช่วยเก็บ และนำมาทำอาหาร เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน หรือกิจกรรมเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ในชุมชน ผลที่ได้รับคือ เด็ก กับผู้ใหญ่ในชุมชนสนิทกันมากขึ้น พูดคุยกันบ่อยขึ้น" ทองเชื้อ วรชุน ตัวแทนแกนนำพื้นที่นำร่อง กรุงเทพมหานครเล่าถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมา

ปัจจุบันชุมชนแห่งนี้ได้พัฒนากิจกรรมให้เกิดความต่อเนื่อง โดยผู้สูงอายุจะสอนเด็กทำอาหารจากผักในแปลงเกษตร มีการพุดคุย และกินข้าวร่วมกันเดือนละ 1 ครั้ง ส่วนผักที่เหลือจากการทำกิจกรรมจะขายให้คนในชุมชน ส่วนในอนาคตอาจเพิ่มการทำโรงเห็ด เลี้ยงกบ ปลา และจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เยาวชน

"พื้นที่กิจกรรมตรงนี้ จะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และทำเรื่องอื่นๆ ต่อไป ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น ความสัมพันธ์ถ้ามันยังดีอยู่ดี พวกเขาก็จะสามารถคลี่คลายปัญหาได้ อีกเรื่องก็คือความสัมพันธ์ของคนสองวัยที่นับวันยิ่งห่างมากขึ้น พอมาทำกิจกรรมแบบนี้ เด็ก ผู้สูงวัยมีความใกล้ชิดขึ้น ผู้สูงวัยเองก็รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ได้สอนลูกหลานทำอาหาร ได้บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ" นพพรรณ พรหมศรี นักวิชาการประจำพื้นที่นำร่อง กรุงเทพมหานคร เสริม

นับเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่สังคมสูงวัย และเน้นสร้างสรรค์กระบวนการให้ผู้สูงอายุสามารถปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก มีหลักในการดำรงชีพและการดูแลระยะยาวจากครอบครัว รวมไปถึงชุมชนที่พอเพียง และยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงแต่พื้นที่นำร่อง 3 ภาค 15 ชุมชน 3 จังหวัดแล้ว ยังเล็งขยายผลไปทั่วประเทศอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น