xs
xsm
sm
md
lg

ลดโลกร้อน เพิ่มรายได้ด้วย “Organic Paper” กระดาษจากเศษอาหาร!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ก๊าซเรือนกระจก - แหล่งเชื้อโรค - กำจัดเท่าไหร่ก็ไม่หมด” ปัญหาหนักอกจาก “ขยะอาหาร” ที่ทั้งโลกต้องเผชิญ แต่เด็กๆ โรงเรียนมีชัยพัฒนาไม่มองข้าม ผุดไอเดีย “เปลี่ยนเศษอาหารให้เป็นกระดาษคุณภาพสูง” พลิกของไร้ค่ามาเป็นรายได้ให้โรงเรียนและชุมชนรอบข้าง แถมช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วย

เศษอาหาร...สร้างปัญหามากกว่าที่คิด

“ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง อย่ากินทิ้งขว้าง เป็นของมีค่า ผู้คนอดอยาก มีมากนักหนา สงสารบรรดา เด็กตาดำๆ”

คำท่องที่แสนคุ้นหูของไทย ที่ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย ก็ยังสะท้อนสถานการณ์ด้านอาหารทั่วทั้งโลก นั่นก็เพราะข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO) ระบุว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตขึ้นมาบนโลกในแต่ละปี กลายเป็นอาหารเหลือทิ้ง มีจำนวนมากถึง 1,300 ล้านตัน ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในประเทศที่เจริญแล้ว

แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังมีอีกประชาชนในหลายประเทศบนโลก จำนวนกว่า 800 ล้านคน ต้องตกอยู่ในภาวะหิวโหยและอดอยาก เนื่องจากต้องเผชิญสถานการณ์ขาดแคลนอาหาร



นอกจากนี้ ปริมาณของอาหารที่ถูกทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์นี้ ยังส่งผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อมและกลายเป็นปัญหาใหญ่ให้แก่โลก คือเป็นแหล่งของก๊าซเรือนกระจกที่ทำลายชั้นบรรยากาศ ซึ่ง FAO ประเมินไว้ว่า ก๊าซที่เกิดขึ้นจากขยะจากอาหารบนโลก มีมากถึงปีละ 3,300 ล้านตัน

สำหรับประเทศไทยเอง มีตัวเลขจาก สากล ฐินะกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุถึงปริมาณขยะมูลฝอยของประเทศไทยว่าเพิ่มขึ้นทุกปี นับตั้งแต่ปี 2556 มีปริมาณขยะมูลฝอย 26.77 ล้านตัน

ในจำนวนนี้มีขยะอาหารมากถึงร้อยละ 64 เฉพาะในกรุงเทพฯ มีปริมาณขยะมูลฝอย 9,000 ตันต่อวัน มีขยะอาหารถึงร้อยละ 50 แต่ความสามารถในการกำจัดขยะจากอาหารมีไม่ถึง 70 %

ซึ่งการกำจัดขยะด้วยวิธีฝังกลบอย่างไม่ถูกต้อง ยิ่งจะเป็นการสร้างปัญหาให้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะจะทำให้เกิดการปนเปื้อนทั้งในดิน แหล่งน้ำ ส่วนชั้นบรรยากาศก็ได้รับผลกระทบจากการทับถมของขยะที่คายก๊าซมีเทนออกมา จนนำไปสู่ภาวะโลกร้อนอีกด้วย



ไม่เพียงแค่นั้น กองขยะเหล่านี้ ยังทำให้เกิดทัศนียภาพไม่สวยงาม เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคชั้นดี และนำพาสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น นก หนู แมลงสาบ แมลงวัน ฯลฯ ตามมาอีกไม่จบสิ้น

สถานการณ์ปัญหาขยะอาหารนี้เอง นำไปสู่การตั้งคำถามว่า เราควรจะแก้ปัญหานี้กันอย่างไร เพราะมันไม่ใช่เรื่องไกลตัว และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยคนเพียงคนเดียว แต่ต้องใช้ความร่วมมือในระดับมหภาค ลองคิดดูแล้วกันว่า หากเราทุกคนทิ้งกันคนละนิดคนละหน่อย แล้วคูณด้วยจำนวนประชากรทั้งโลก ขยะพวกนี้จะมีจำนวนมหาศาลขนาดไหน

ถึงเวลาแล้ว ที่ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนทั้งพฤติกรรมการกินและการทิ้ง ก่อนที่โลกของเราจะถูกทำร้ายด้วยน้ำมือของผู้อาศัย ไปมากกว่านี้ ...

ต่อยอดความรู้ สู่กระดาษรักษ์โลก

กลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนมีชัยพัฒนา ใน จ.บุรีรัมย์ ได้เล็งเห็นถึงปัญหานี้เช่นกัน และอยากเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไข เนื่องจากขยะจากเศษอาหารของโรงเรียน รวมถึงชุมชนใกล้เคียงมีจำนวนมากเกินความจำเป็นที่สามารถจัดการได้ ซึ่งเป็นขยะที่เกิดจากพืช ผัก เปลือกผลไม้สด และผักตบชวา ครั้นจะเอาไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพก็ยังไม่หมด เอาไปให้หมูที่เลี้ยงในโรงเรียนกินก็กินไม่ทัน

เด็กกลุ่มนี้จึงระดมสมองกันตั้งแต่น้อง ม.1 ถึงพี่ ม.6 นำความรู้จากวิทยากรที่เคยเข้ามาสอนทำกระดาษในโรงเรียน มาประยุกต์กับทรัพยากรพื้นฐานที่มีอยู่ ต่อยอดความรู้ตรงนั้น มาทำกระดาษของตัวเอง เกิดเป็น โครงการ Organic Paper หรือ เปลี่ยนเศษอาหารเป็นกระดาษคุณภาพสูง



ครูบุ๋ม - วาสนา ปาคำทอง ขอเป็นตัวแทนกลุ่มทำกระดาษ มาเล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า โครงการ Organic paper มีจุดประสงค์คือ อยากจะให้ชุมชนจัดการกับขยะที่มีอยู่ในครัวเรือน โดยเอาวิธีทำกระดาษไปสอน กลายเป็นรายได้เสริมในครอบครัว เพราะการทำกระดาษของไม่ใช่แค่ได้กระดาษอย่างเดียว แต่ลดเรื่องการขยะด้วย

กระดาษนี้จะเน้นใช้วัตดุดิบที่เหลือทิ้งอยู่มากคือพืชสด เมื่อทำเสร็จแล้วจะมีลักษณะคล้ายกระดาษสา แต่แตกต่างกันตรงที่กระดาษของเด็กๆ ไม่ได้ผ่านกระบวนการฟอกขาวหรือฟอกด้วยโซดาไฟ นอกจากจะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยประหยัดต้นทุนและเกิดความปลอดภัยต่อตัวผู้ผลิตด้วย

“กระดาษที่ได้มาแล้ว เอามาลองวาดภาพ มันวาดได้ และสามารถเข้าปริ๊นเตอร์อิงค์เจ็ตได้ด้วย ส่วนผลิตภัณฑ์หลักของเรายังเป็นการพิมพ์ภาพใส่กระดาษซึ่งจะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะค่ะ กระดาษของเรามีคุณสมบัติแข็งแรงพอสมควร ถ้าเอามาผสมกับอีกชนิดก็จะมีคุณสมบัติยืดหยุ่น



เราก็เลยคิดว่าตอนนี้ที่กำลังจะทำกันคืออัดเป็นถาดไข่ เพื่อใช้ในโรงเรือนของโรงเรียน ถ้าเราสามารถอัดถาดไข่ได้ เราก็จะลดต้นทุนได้ และทำให้ขยะอาหารในโรงเรียนและชุมชนสามารถจัดการไปได้ร้อยละ 50 แต่อาหารเหลือทิ้งบางอย่างเช่น ข้าว กับข้าว ปัจจุบันนี้มันยังใช้ไม่ได้ เพราะมันได้คุณภาพไม่เท่ากระดาษใบพืชค่ะ

ส่วนผลตอบรับดีค่ะ การทำกระดาษเองก็ช่วยลดเรื่องขยะไปได้ร้อยละ 50 จำนวนขยะบางอย่างเราไม่สามารถไปลดได้เลยทันที เช่น พวกขวดพลาสติก แต่พวกผักตบชวาที่อยู่ในคลอง มันสามารถเอามาใช้ต่อได้ สามารถสร้างเป็นกลุ่มธุรกิจของนักเรียนได้ ส่วนคนในชุมชนที่มาทำกิจกรรมก็มีรายได้เสริม อย่างกลุ่มผู้สูงอายุ เขาบอกกลับมาว่าได้ค่ากับข้าว ดีกว่านั่งรอลูกหลาน มันก็ทำให้เรามีความสุขค่ะ”

ไม่เพียงแค่คนในชุมชนเท่านั้น เด็กๆ กลุ่มนี้ยังนำความรู้ไปถ่ายทอดให้คนที่สนใจนอกพื้นที่อีกด้วย อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้มีโอกาสไปสอนให้แก่คนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรี ไม่เพียงแค่นั้น ยังเปิดบ้านต้อนรับคนที่สนใจ ให้เข้ามาศึกษาดูงานกันที่โรงเรียน โดยมุ่งหวังให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต



เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว ที่กระดาษคุณภาพสูงจากฝีมือนักเรียนโรงเรียนมีชัยพัฒนา เข้ามาพลิกวิถีชีวิตชุมชนรอบโรงเรียน ให้มีอาชีพเสริมและเป็นรายได้ในครัวเรือน และมีเป้าหมายสำคัญคือการนำความรู้ในการทำกระดาษนี้ไปเผยแพร่ต่อ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตั้งแต่ยังเยาว์วัย โดยหวังว่าพอเขาโตก็จะมีภูมิคุ้มกันและนำกลับไปพัฒนาชุมชนของเขาต่อไป

ทุกคนก็เป็นส่วนหนึ่งช่วยรักษ์โลกและร่วมพลิกไทยไปกับดีแทคครั้งนี้ได้ ร่วมบริจาคเพื่อสนับสนุนเงินทุนสำหรับโครงการ “เปลี่ยนเศษอาหารเป็นกระดาษคุณภาพสูง” ได้ 2 ช่องทาง คือ
- ลูกค้า dtac กด *405*16# แล้วกดโทรออก (ครั้งละ 50 บาท)
- ทางเว็บไซต์เทใจ https://taejai.com/th/d/plikthai_organicpaper/ สามารถระบุเงินบริจาคได้ หากบริจาค 250 บาทขึ้นไปสามารถขอใบเสร็จรับเงินบริจาคเพื่อนำไปลดหย่อนภาษีได้ และบริจาค 2,000 ขึ้นไป รับสิทธิ dtac reward Blue Member เป็นเวลา 1 เดือน (เฉพาะหมายเลขของ dtac)


ข่าวโดย : MGR Live
กำลังโหลดความคิดเห็น