xs
xsm
sm
md
lg

ชุบชีวิตของเล่นพื้นบ้าน! "Maker Space" โรงเล่น เรียนรู้สู่โลกออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หวั่นของเล่นพื้นบ้านล้มหายตายจากไปกับกาลเวลา เด็กห่างเหินครอบครัว สมาธิสั้นเพราะติดเกมออนไลน์ ล่าสุด พิพิธภัณฑ์เล่นได้ ผุด "Maker Space" โรงเล่น เรียนรู้ออนไลน์ เสริมความคิดสร้างสรรค์ หลอมจินตนาการ กระตุ้นพัฒนาการ ปลุกคุณค่า ต่อลมหายใจของเล่นโบราณให้อยู่ต่อไป

เด็กไทยสมาธิต่ำ เล่นเกมออนไลน์สูงสุดในเอเชีย

"ป๋องแป๋ง จักจั่น ปืนก้านกล้วย ลูกข่าง อีโป๊ะ เดินกะลา ม้าก้านกล้วย" หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าคืออะไร แต่หากเป็นคนยุคเก่ารุ่นคุณปู่คุณย่าต้องร้องอ๋อ! 

ของเล่นพื้นบ้าน” ที่ผู้เฒ่าผู้แก่เคยทำให้ลูกหลานเล่นตามท้องถิ่นนั้นๆ โดยเน้นวัสดุที่ทำจากธรรมชาติ สร้างความสัมพันธ์กับธรรมชาติกับขนบธรรมเนียม ประเพณี ถักทอสายใยของครอบครัว เพราะการทำของเล่นนั้น ทุกคนในครอบครัวต้องช่วยกันหาวัสดุ ช่วยกันประดิษฐ์และเล่นร่วมกัน ผู้ใหญ่จะคอยแนะนำการเล่น ทำให้เกิดความรัก ความอบอุ่น ในครอบครัวมากยิ่งขึ้น



ต่างกับของเล่นเด็กสมัยนี้อย่างสิ้นเชิง! ที่เน้นความรุนแรง ต่อสู้ เลือดสาด หนำซ้ำยังสร้างความห่างเหินจากครอบครัว ลดปฏิสัมพันธ์ผู้คน 

สิ่งเร้าในปัจจุบันนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต เกมออนไลน์ หรืออุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัยยังเป็นตัวการสำคัญที่บั่นทอนสมาธิของเด็ก ให้ลดลง

จิตแพทย์เด็กเผยพฤติกรรมการเล่นเกมของเด็กไทยพบว่า เด็กไทยเล่นเกมออนไลน์ผ่านโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต สูงถึง 3.1 ชั่วโมงต่อวัน ถือเป็นอันดับ 1 ของประเทศในแถบเอเชีย โดยมีผู้ที่เสพติดการเล่นเกมขั้นรุนแรงจนไม่สามารถหยุดเล่นเกมได้ คิดเป็นร้อยละ 10-15 ของเด็กนักเรียนทั่วประเทศ

ทั้งนี้ การใช้เวลาเล่นเกมมากกว่า 60.7 นาที ต่อวัน จะส่งผลกระทบต่อเด็ก ทั้งด้านการเรียน ความเครียด สภาพอารมณ์ และจิตใจแปรปรวน

จะดีกว่ามั้ย!? หากวางโทรศัพท์มือถือ ลุกออกมาจากหน้าคอมพ์ ปรับเปลี่ยนอิริยาบถยืดเส้นยืดสาย กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์สู่ “โรงเล่นออนไลน์”

ต่อลมหายใจของเล่นพื้นบ้าน



“ของเล่นโบราณ” ที่อาจจะไม่เร้าใจเท่าเกมออนไลน์ แต่กลับเสริมสร้างจินตนาการไม่รู้จบ

วีรวัฒน์ กังวานนวกุล ผู้ปลุกชีวิตของเล่นโบราณให้กลายเป็นโรงเล่นออนไลน์ และผู้ก่อตั้งผลักดันพิพิธภัณฑ์เล่นได้ ของชาวชุมชนบ้านป่าแดด อ. แม่สรวย จ.เชียงราย เล่าถึงความเป็นมาของ Maker Space เกิดการจากต่อยอดฐานข้อมูลของพิพิธภัณฑ์เล่นได้ ของเล่นพื้นบ้าน โดยหวังให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์

"ของเล่นทุกชิ้นมีที่มา มีเรื่องเล่า มีคุณค่า เราต้องใส่เนื้อหาเข้าไปเพื่อให้เด็กเข้าใจถึงที่มา เห็นความสำคัญของตัวของเล่น มองออกว่าของเล่นมาจากไหน เล่นแล้วมีประโยชน์ยังไง เกิดอะไรขึ้นจากการเล่น

สิ่งที่เด็กจะได้รับจากของเล่น คือความสร้างสรรค์ ถ้าเด็กนั่งฟังในห้องเรียนแป้บเดียวเดี๋ยวก็ลืม แต่ถ้าได้เห็นได้เล่นได้จับจะทำให้จำได้ ลงมือทำจะเข้าใจ และถ้าได้เล่นจะค้นพบว่าเด็กชอบและถนัดอะไรจากการเล่น"





Maker Space ทำให้กลุ่มครอบครัวที่เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ผ่านการเล่นและลงมือทำ รวมถึงสอนกลุ่มครูที่สนใจอยากนำเอากระบวนการเรียนรู้ผ่านการเล่นเข้าไป

สามารถเชื่อมโยงคนสองวัย รุ่นเก่ากับรุ่นใหม่เข้าไว้ด้วยกัน รวมทั้งเป็นพื้นทีดูงานเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการทำงานการพัฒนาสังคมหรือชุมชนท้องถิ่น โดยการนำเสนอความรู้ผ่านการเล่นและสร้างของเล่นพื้นบ้านที่สามารถส่งเสริมจินตนาการให้กับเด็กๆ ได้ ซึ่งจะเป็นช่องทางที่ทำให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น

ปัจจุบันนี้ในผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนป่าแดด ที่สามารถประดิษฐ์ของเล่นพื้นบ้านได้เหลือเพียง 10 คน และเกือบครึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียง สุขภาพไม่แข็งแรง อีกไม่นานของเล่นในยุคเก่าอาจจะต้องสูญสลายหายไปตามกาลเวลา

ของเล่น…เบ้าหลอมความรัก



Maker Space จากของเล่นภูมิปัญญาจึงกลายเป็นเครื่องมือสื่อสาร เชื่อมคนสองวัยให้มีปฏิสัมพันธ์กัน เพราะช่องว่างระหว่างวัยของคนชรากับเด็กนั้นเยอะมาก

“อยากให้เด็กรุ่นหลังเห็นถึงความสำคัญของเครื่องเล่นโบราณ เพราะในอดีตจะเป็นผู้เฒ่าผู้แก่เป็นคนประดิษฐ์ เราจึงจำเป็นต้องสร้างสื่อสมัยใหม่ให้สามารถคงอยู่ได้ตลอดไป เครื่องโฮโลแกรมนอกจากจะแค่โชว์ของเล่น ยังสามารถประกอบกับสิ่งที่เป็นของจริงได้ ซึ่งเราสามารถใส่ของเล่นจริงๆ วางเข้าไปข้างในได้ ส่วนของเล่นข้างในเราจะสามารถอธิบายกลไกแต่ละชิ้นของของเล่นได้”

รามิล กังวานนวกุล ผู้คิดค้นเครื่องโฮโลแกรมของเล่นพื้นบ้านเล่าถึงความเป็นมาของเครื่องฉายภาพสามมิติ และเผยต่อว่า 
การทำของเล่นพื้นบ้านยุคใหม่ จะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยออกแบบและทุ่นแรงเพื่อให้งานที่ออกมาดูน่าสนใจมากกว่าของเล่นแบบเดิมๆ ในอดีต ซึ่งเป็นช่องทางที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่เข้าถึงได้มากขึ้น

ภูมิปัญญาของคนในอดีตจะได้ไม่หายสาบสูญไป….ตามลมหายใจ



ทุกคนก็เป็นส่วนหนึ่งกับการพลิกไทยกับดีแทคครั้งนี้ได้ ร่วมบริจาคเพื่อสนับสนุนภารกิจ “Maker Space โรงเล่น เรียนรู้"  ผ่านมือถือ ลูกค้าดีแทคกด *405*20# แล้วกดโทรออก (ครั้งละ 50 บาท) ผู้สนับสนุนที่ใช้เครือข่ายอื่น สามารถสนับสนุนได้ผ่าน taejai.com หรือร่วมบริจาคผ่านช่องทางเว็บไซต์ taejai.com/th/d/plikthai_toy โดยมีช่องการบริจาคให้เลือกหลายจำนวน หรือสามารถระบุจำนวนเงินเพื่อบริจาคได้เช่นกัน สำหรับผู้ที่บริจาค 2,000 บาทขึ้นไป รับสิทธิ์ Dtac Reward (เฉพาะหมายเลขของ Dtac เท่านั้น)

ทีมข่าว MGR Live


กำลังโหลดความคิดเห็น