จากเด็กกศน. สอบติดแพทย์ทหารมันไม่ใช่เรื่องง่าย ที่รวมความฝันของพ่อและตนเองเข้าด้วยกัน ผู้ชายคนนี้ไม่เพียงสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับประเทศไทยที่เป็นเด็กจบ กศน.คนแรกที่สอบติดแพทย์ได้ แต่เขายังเป็น "ว่าที่คุณหมอ" ที่อุทิศตัวช่วยเหลือสังคมอีกด้วย
จบกศน. สอบติดแพทย์ได้คนแรกของประเทศไทย!!
คงไม่มีใครอยากเชื่อว่าคนที่เรียน กศน. (การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ) จะสอบติดแพทย์ได้ แต่ชายคนนี้ได้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว “วิทย์ -วรวิทย์ คงบางปอ” คือนักเรียนกศน.จากจังหวัดระนองที่สอบติดแพทย์ได้เป็นคนแรกของประเทศไทย ปัจจุบันเขาเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกฏเกล้า เขายอมรับว่าไม่ได้คิดฝันว่าอยากเป็นหมอ มีแต่พ่อที่อยากเห็นลูกชายเป็นทหารเป็นนายร้อยตำรวจ
เด็กทุกคนมักถูกคาดหวังจากครอบครัว หนึ่งในนั้นก็คือพ่อของวิทย์อย่าง เชือบ คงบางปอ ที่อยากให้ลูกรับราชการ เพื่อในวันหนึ่งที่ตนไม่อยู่บนโลกใบนี้แล้ว หวังว่าลูกชายจะดูแลคนในครอบครัวแทนผู้เป็นพ่อได้เป็นอย่างดี ประกอบกับตนก็ไม่ได้เรียนหนังสือ จึงอยากให้ลูกชายไปได้สูงกว่าตน ทำให้วิทย์ต้องแบกความหวังของพ่อสู่แพทย์ทหาร
พ่อผู้คอยผลักดันลูกชายสู่แพทย์ทหาร
“ผมไม่ได้เรียนหนังสืออยู่แล้ว ทำแต่งาน ก็บอกให้ลูกจะเรียนก็ตั้งใจเรียนแค่นั้นเอง ไม่ได้สนใจว่าจะเรียนอะไร หรือโรงเรียนอยู่ที่ไหนไม่เคยรู้เรื่อง แต่อยากให้ลูกเป็นทหาร อยากให้เป็นตำรวจ อยากให้เป็นนายร้อย เพราะว่าเขาเป็นผู้ชายคนเดียวและมีผู้หญิงอีกสองสามคน เวลาเราไม่มีแล้วก็ไม่มีใครรังแก อย่างน้อยข้าราชการก็มีความมั่นคงอยู่ที่ว่าไม่ใช่เอาเบ่งคนอื่นแต่ว่าเอาไว้ช่วยพี่ช่วยน้องได้”
หลังสอบนายร้อยไม่ติดถึงสองครั้ง อะไรทำให้เด็กจบกศน. สอบติดแพทย์ได้คนแรกของประเทศไทย เจ้าตัวบอกเล่าเพียงว่าอยากช่วยเหลือคนอื่น เพราะเคยลำบาก เคยไม่มีที่จะเรียน เคยไม่มีใครยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ อีกทั้งตอนที่ไปเรียนกศน.พ่อแม่เสียใจมาก จึงอยากทำให้ท่านดีใจสักครั้ง นี่จึงเป็นแรงผลักดันไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้สำเร็จ
“ผมว่ามันมีหลายๆ ปัจจัยด้วยกัน ผมว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือตัวเองครับผม แรงขับเคลื่อนทุกอย่าง ครอบครัวก็มีผล เพื่อนก็มีผล คนรอบข้างก็มีผล อุปสรรคก็มีผล แต่ว่าที่สำคัญที่สุดคือตัวเอง คือเราจะเห็นว่าคนที่เจอปัญหาเดียวกันต่อให้ทุกอย่างเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมอะไรทุกอย่างเหมือนกัน ผลลัพธ์อาจจะออกมาไม่เหมือนกัน
มันอยู่ที่ตัวเราเองว่าเราจะคิดอย่างไร จะมองสิ่งที่เจออย่างไร จะวางแผนยังไงจะปฏิบัติอย่างไร อย่างเช่น ผมยกตัวอย่างการสอบหมอ ก็ไม่ใช่เด็กทุกคนที่เรียนในระบบหรือติวอย่างหนักจะติดทุกคน เพราะฉะนั้นการติวอาจจะเป็น 20-30% แต่60-70% คือตัวเองว่าเราจะมีวินัย หรือมีการวางแผนที่ดีขนาดไหน การที่ชีวิตเราจะเดินไปข้างหน้าได้ไหม หรือจะประสบความสำเร็จได้ไหม อยู่ที่ตัวเองเป็นหลักใหญ่”
เรื่องราวหนึ่งในร้อยที่เกิดขึ้น กับสภาพการศึกษาของสังคมไทยที่การเรียนกศน. เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นหลักแตกต่างจากเรียนในระบบซึ่งต้องมีเวลาเรียน การประเมินผลและก็มีสังคมมีกิจกรรมซึ่งจะแตกต่างกับกศน. ที่เราทราบกันดีว่าเรื่องของมาตราฐานในการศึกษาหรือว่าสิ่งแวดล้อมต่างๆ รวมทั้ง สิ่งที่จะนำไปสู่ความเป็นเลิศในด้านการศึกษา ค่อนข้างจะยาก อันนี้ก็ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายความคิดของคนในสังคมมากๆ ว่าเด็กกศน.สามารถสอบติดแพทย์
เด็กหนุ่มจากจังหวัดระนองที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่น และความพยายามเพื่อไปถึงเป้าหมายและฝันของตัวเอง เพื่อเป็นคุณหมอที่มีจิตอาสาเข้ามารับใช้สังคม และก้าวเดินทางอีกหนึ่งความฝันที่จะได้กลับไปพัฒนาสาธารณสุขที่บ้านเกิดในเร็ววัน
“คือในอนาคตถ้าไปเป็นแพทย์ก็อยากไปเป็นแพทย์อยู่ต่างจังหวัดเพราะหนึ่งด้วยความที่เป็นตัวเมืองเรามีทางเลือกในการรักษาทางการแพทย์มากมายอยู่แล้ว ผมก็เป็นเด็กต่างจังหวัดด้วยชอบบรรยากาศต่างจังหวัดมากกว่า และอย่างหนึ่งคือกลับไปพัฒนาระบบสาธารณสุขที่บ้านเกิด หรือเข้าไปช่วยคนในพื้นที่ ที่เขาต้องการความช่วยเหลือที่นั่นก่อน”
นักศึกษาแพทย์อุทิศตัวช่วยเหลือสังคม
“ถ้าไม่มีที่เรียนก็ไปเรียน กศน. ซะ”
คนที่เรียนกศน.ไม่ได้หมายความว่าเป็นเด็กไม่ดีเสมอไป แต่คนส่วนใหญ่อาจจะมองแบบนั้น ทำให้เด็กส่วนใหญ่ไม่ได้รับการศึกษาเท่าที่ควร มีใครอีกหลายคนที่อยากเรียนต่อ แต่ติดปัญหาในหลายๆ ด้าน หนึ่งในนั้นคือเด็กหนุ่มคนนี้ที่เดินตามฝันของพ่อมาตั้งแต่เด็ก หลังจากจบปีการศึกษาวิทย์ได้เดินทาง นำเอกสารไปสมัครเรียนที่โรงเรียนเดิม แต่ว่าโรงเรียนปฏิเสธรับเข้าเรียน โดยให้เหตุผลว่า หน่วยกิตขาดไป 1 ตัว หนำซ้ำยังถูกไล่ให้ไปเรียนกศน.
“มีคำหนึ่งที่คุณครูท่านนั้นเขาพูดมาว่า ถ้าไม่มีที่เรียนจริงๆ ก็ไปเรียน กศน.สิ ใครๆ ก็เรียนกัน ซึ่งความรู้สึกของผมตอนนั้น ของเด็ก 16 คนหนึ่ง ถ้าเอาในความรู้สึกคนทั่วไป คำว่ากศน.มันรู้สึกมันดูต่างจากโรงเรียนในระบบอยุ่แล้ว คือถ้าในมุมมองคนในสังคมหลายๆ คนมองว่ากศน. ก็คือเป็นที่รองรับเด็กที่ไม่สามารถเรียนในระบบได้ หรือมีปัญหา ในระบบด้วยหรืออะไรก็แล้วแต่ถึงต้องมาเรียนกศน. ซึ่งความรู้สึกในตอนนั้นคือ ผมรู้สึกแย่มากว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ทำไมระบบถึงเป็นอย่างนี้
ถามว่าตอนนั้นโกรธไหม ถ้าเป็นความรู้สึกตอนนั้น ผมก็รู้สึกว่าในเมื่อเขาพูดยังนี้ มันไม่ใช่เรื่องที่ผมจะต้องยอมอ้อนวอนเพื่อจะขอกลับเข้าไปเรียนต่อในเมื่อเขาคิดว่าให้ผมมาเรียนกศน. ผมก็คิดว่าถ้าผมมาเรียนกศน. ผมก็น่าจะทำได้ ตอนนั้นคิดแค่นั้น ไม่ได้คิดอย่างอื่นเลย ไม่ได้คิดว่าที่จะต้องสอบหมอหรืออะไร แต่คิดว่า ได้ผมไปเรียนกศน.ก็ได้ แค่ให้มีที่เรียน และผมจะพิสูจน์ให้เห็นว่าเรียนกศน.ก็ประสบความสำเร็จได้”
เรื่องราวของ วิทย์ที่เล่าย้อนไปเมื่อครั้งชีวิตพลิกผันทำให้ต้องย้ายที่เรียนอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ชีวิตในช่วงนั้นต้องไปจบที่การเรียนกศน.ทำให้เขาต้องใช้ความพยายามและมุ่มมั่นกว่าคนอื่นเป็นอย่างมาก การถูกปฏิเสธครั้งนี้ นำมาซึ่งการตัดสินใจอันใหญ่หลวงเพื่ออนาคตของตัวเองถือว่าเป็นการตัดสินใจที่รวดเร็ว แต่ต้องยอมรับว่าคงมีความทุกใจไม่น้อยกับสิ่งที่เกิดขึ้น
“ตั้งแต่ม.ต้น ผมไม่ใช่เป็นเด็กเก่งอะไร แต่ตอนม.ต้นคือพ่ออยากให้สอบเข้านายร้อย ก็เลยให้ไปติวเข้านายร้อยที่สถาบันแห่งหนึ่งที่ระนอง คือผมเป็นเด็กจังหวัดระนอง ก็ไปติวตามที่ท่านอยากให้ไป แต่ด้วยความที่ผมไม่ได้อยากเป็นก็เลยไปติวแบบเรียนๆเล่นๆ การติวของที่นั่นเป็นเหมือนกับการกินนอนที่นั่น มีการเตรียมร่างกายด้วย
หลังจากจบม.4ที่จังหวัดระนองคุณครูที่ติวด้วยกัน เขาจะย้ายครอบครัวมาอยู่กรุงเทพ เขาก็เลยชวนเด็กว่ามีใครอยากไปเรียนต่อที่กรุงเทพกับเขาไหม แล้วด้วยความที่ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด ความคิดของเด็กอายุ 16 ตอนั้นก็อยากมาอยู่กรุงเทพ เพราะเป็นเมืองหลวง คิดว่าน่าจะสนุกก็เลยไปขอพ่อกับแม่ ครูเขาก็สนิทกับผมและสนิทกับที่บ้านด้วย พ่อกับแม่ก็เลยให้มา”
หลังตัดสินใจตามครูเข้ามาที่กรุงเทพ และเรียนต่อม.5 ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งแถวนนทบุรี ปรากฏว่าเรียนได้ไม่นาน จุดพลิกผันด้านการเรียนของวิทย์ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อครูที่มาด้วยจากจังหวัดระนองจำเป็นต้องย้ายจากกรุงเทพกลับไประนองอีกครั้ง เขาจะทำอย่างไรต่อไป จะอยู่กรุงเทพต่อหรือกลับระนอง จึงเป็นการตัดสินอีกครั้งของวิทย์
“ซึ่งตอนนั้นผมตัดสินใจแล้วว่า ผมจะอยู่ต่อหรือกลับไปที่ระนอง และด้วยความที่ว่าในกรุงเทพ ผมไม่มีบ้านหรือว่าไม่มีญาติพี่น้องที่อยู่ในตัวเมืองกรุงเทพเลยก็เลยถามอยู่ต่อ ต้องอยู่คนเดียว แล้วคือสังคมที่นี่ก็ไม่มี เพื่อนที่นี่เราก็ไม่ค่อยมี ก็เลยต้องย้ายกลับระนอง”
ตอนย้ายจากรุงเทพกลับไปที่ระนอง อยู่ในช่วงเทอม 2 ของม.5 เขาตั้งใจว่ารอให้หมดเทอมสองแล้วค่อยไปสมัครเรียนม.5 ซ้ำที่โรงเรียนเดิมจากที่เคยเรียนอยู่ม.4 ก่อนย้ายไปกรุงเทพ ก่อนหน้านี้ ซึ่งคาดว่าโรงเรียนน่าจะรับไม่มีปัญหา โดยระหว่างที่รอก็ทำงานช่วยเหลือสังคมกับครูหนุ่มที่เคยติววิชาให้
เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะเริ่มต้นชีวิตการเรียนใหม่อีกครั้งที่กศน. ไม่ใช่โรงเรียนนายร้อยในระบบ หรือสายสามัญแบบที่เคยเป็นอีกต่อไป การจัดการกับระบบชีวิตตัวเองจึงต้องเริ่มต้นขึ้นใหม่ อีกทั้งที่เป็นความหวังของครอบครัวเขาจึงต้องแบกเราภาระอันหนักหนาในครั้งนี้และเดินต่อไปจนสำเร็จให้ได้ เพื่อพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าเขาทำได้ และเพื่อไม่ให้พ่อแม่ผิดหวัง ที่หวังอยากให้ลูกเป็นนายร้อย
มุ่งมั่น-พยายาม ทำให้มีวันนี้!!!
หลังเรียนจบกศน.ก็ถึงช่วงหัวเหลียวหัวต่อด้านการเรียนของเด็กหนุ่มผู้นี้อีกครั้ง แน่นอนว่าครั้งนี้ไม่ได้อยู่แค่ว่า เขาจะเลือกเข้าสอบในคณะไหนในอุดมศึกษาแต่เมื่อเลือกแล้วเขาจะสอบติดหรือไม่ การทุ่มเทอ่านหนังสืออย่างหนักในช่วงที่เรียนกศน.กว่าจะทำให้เขาเดินทางไปถึงฝัน
“ถ้าพูดตรงๆ เลยกศน มันคือการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการศึกษาแบบผู้ใหญ่ในแบบหนึ่ง ในสมัยก่อนเขาเรียกศึกษาแบบผู้ใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่าการศึกษาแบบผู้ใหญ่มันจะคล้ายๆ ระบบมหาวิทยาลัยคือเราต้องขวานขวายและต้องกระตือรือร้นด้วยตัวเอง
ในหนึ่งอาทิตย์หนึ่งจะเรียนอยุ่ 1-2 ครั้ง ที่เหลือคือจะเป็นการให้รายงานและไปทำมาส่ง ซึ่งด้วยความที่ผมอาศัยข้อดีตรงนี้ของกศน.ที่มีเวลาว่างเยอะ กลับมาอ่านหนังสือ ซึ่งในการอ่านหนังสือของผมก็คือจะมีทั้งอ่านเองและก็มีไปติวด้วย แต่การติวต้องข้ามจังหวัดไปติวเพราะว่าระนองมันไม่ได้มีที่ให้ติว ซึ่งผมก็เลยไม่ได้สะดวกที่จะไปติวเยอะขนาดนั้นส่วนใหญ่จะเป็นการอ่านเอง และวางแผนการอ่านเอง”
ความเข้มข้นในการเรียนกศน. ต้องยอมรับว่าไม่เท่าโรงเรียนในระบบตามหลักสูตรกระของกระทรวง ทำให้เขาตองเริ่มนับหนึ่งใหม่หมด เพื่อที่จะไปสอบแพทย์ทหารได้ เด็กหนุ่มผู้นี้จะมีการวางแผนชีวิตไว้ว่าจะอ่านหนังสือตอนไหน จะเล่นตอนไหน จะแบ่งเวลาเป็นตารางโดยไม่มีใครบังคับ ไม่มีใครบอก คิดเองทำเอง
“ต้องเรียนเนื้อหาตั้งแต่ม.4-6ใหม่หมดเลย ซึ่งผมก็จะเอาเนื้อหาทั้งหมดมากางดู เวลาเหลือเท่านี้ผมต้องหารว่าในวันหนึ่งผมต้องอ่านจบแค่นี้ อาทิตย์หนึ่งต้องจบแค่นี้ วันหนึ่งผมต้องอ่านได้เท่านี้ เป็นการวางแผนตั้งแต่จุดเล็กไปจุดใหญ่เพื่อจะได้ไม่ให้มีข้อผิดพลาด เพราะถ้าเราวางจุดใหญ่เลยทีเดียว และเราก็เดินระหว่างทางมันต้องมีเฉไฉอยู่แล้ว ผมก็ก็เลยวางจุดเล็กๆ ในแต่ละวัน เพื่อให้การเดินระหว่างทางมันไม่เฉไฉออกจากแนวทางที่เราจะวาง
ความเข้มข้นก็ไม่เท่ากันอยุ่แล้วแต่ละโรงเรียน ผมก็ต้องไปดูว่าโรงเรียนเขาเรียนกันยังไง เพราะว่าในหลักสูตรกระทรวงก็มีบอกว่าต้องเรียนอะไรบ้าง ทีนี้ผมก็เอาเนื้อหาทั้งหมด เรียกได้ว่าผมก็เรียนเนื้อหาม.4ใหม่เลยดีกว่า เพราะว่าช่วงม.4ยังสอบนายร้อยได้อยู่ ผมเลยต้องเรียนเนื้อหาม.ต้นเพื่อที่จะเอาไปสอบนายร้อย ผมก็เลยไม่ได้สนใจเนื้อหาม.4เลย พอมากศน.ก็เลยต้องเริ่มอ่านใหม่ตั้งแต่ม.4 ภายในเวลาทั้งหมดตั้งแต่เริ่มจากเรียนจนถึงสอบ ทำอย่างนี้มาปีครึ่ง”
วิทย์เหมือนวัยรุ่นทั่วไป อยากทำให้พ่อแม่ภูมิใจแต่สิ่งที่เขาอาจมีในสิ่งที่วัยรุ่นคนอื่นอาจไม่มีก็คือความมีน้ำใจช่วยเหลือสังคม ใครจะคิดว่าจุดนี้นี่เองซึ่งจะนำมาสู่อาชีพในฝันของเขา นี่เป็นเสียงยืนยันจาก ครูหนุ่ม-สุระเชษฐ์ ประสงค์ผล ที่วันนั้นลูกศิษย์ได้เดินมาบอกพร้อมความั่นใจว่าอยากสอบติดแพทย์ทหาร เพราะจะเป็นการรวมความฝันของพ่อและของตัวเองเข้าไว้ด้วยกัน
ครูหนุ่มเจ้าของโรงเรียนกวดวิชา
“มีอยู่วันหนึ่งผมจำได้วิทย์เขาเดินมาบอกผมเองหลังจากที่จบกิจกรรมช่วยเหลือสังคม ว่าอยากเป็นแพทย์ทหาร เขาบอกว่า เขารวมความฝันของพ่อและของเขาเองรวมมาเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นทั้งแพทย์ด้วย เป็นทั้งทหารด้วย แล้วผมก็ถามเขาว่าและมีอะไร ที่มันซ่อนลึกๆอยู่ตรงนี้ เขาบอกว่าเขาได้ช่วยเหลือสังคมได้เป็นผู้ให้ เขาอยากที่จะเติบโตมาและให้กับน้องๆ เขาเห็นเด็กกลุ่มหนึ่งที่ขาดโอกาส แต่เขามีโอกาสมากมาย เขาอยากจะทำให้ตัวเองใหญ่โตขึ้น เพื่อที่จะวันหนึ่งไปช่วยเหลือคนเหล่านี้”
อาชีพบางอาชีพหรือหลายๆ อาชีพจะมีความสวยงามในตัวเอง บางอาชีพไม่ใช่เพียงแค่เสียสละเล็กๆน้อยๆ แต่บางอาชีพ ต้องเสียสละชีวิตส่วนตัว หนึ่งในนั้นก็คืออาชีพหมอ อีกไม่นานเกินรอ วงการแพทย์คงได้ต้อนรับสมาชิกใหม่ของหนุ่มน้ำใจงามคนนี้ และเขาคงไม่ทำให้ทุกคนผิดหวังแน่นอน
“ผมอยากจะบอกว่าชีวิตของทุกคนมันมีปัญหาเหมือนกันหมด คำว่าเล็กใหญ่ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันอีก สำหรับเราอาจจะเป็นปัญหาเล็กสำหรับคนอื่นอาจจะเป็นปัญหาใหญ่ ปัญหาใหญ่สำหรับคนอื่นอาจจะเล็กสำหรับเรา แต่ที่สำคัญที่สุดคือไม่ว่าจะเป็นปัญหาเล็กหรือใหญ่ เราเลือกที่จะสู้หรือเลือกที่จะยอมแพ้
ถ้าเราเลือกที่จะสู้ เราใช้สติค่อยๆ จัดการกับปัญหา มีคนรอบข้างคอยสนับสนุนหรือไม่มีเราก็ต้องพยายามสนับสนุนตัวเองให้ได้ ผมว่าทุกคนผ่านปัญหาไปได้แค่เราเชื่อในตัวเอง แค่เรามีความมั่นใจ มีความตั้งใจในตัวเองเราจะผ่านมันไปให้ได้ ทุกปัญหามันมีทางออกเสมอ”
สัมภาษณ์ : รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ”
เรียบเรียง : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ติดตามรับชมรายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ” ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-10.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 (IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211)