xs
xsm
sm
md
lg

ทีเอ็ม อคาเดมี’ ปั้นนักวิจัยป้อนอุตสาหกรรม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
โครงการทาเลนต์ โมบิลิตี้ อะคาเดมี Talent Mobility Academy หรือเรียกสั้นๆ ว่า TM Academy เป็นโครงการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในแวดวงการศึกษา เนื่องจากเป็นโครงการที่ดึงนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญรุ่นพี่ให้มาร่วมพัฒนา “ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมรุ่นใหม่” เพื่อเพิ่ม “ทักษะ” และ“ประสบการณ์” ในการทำงานจริงๆ

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มอบหมายให้ “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) ธัญบุรี” เป็นแกนนำในการดำเนินงาน

รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี มทร.ธัญบุรีให้ข้อมูลว่าโครงการทาเลนต์ โมบิลิตี้ อะคาเดมี่ (Talent Mobility Academy) นั้น มีเป้าประสงค์เพื่อยกระดับความสามารถด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของภาคเอกชนให้กับอาจารย์และนักวิจัย โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโปรแกรมและศึกษาดูงานในสถานประกอบการจริง 

ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้กับผู้มีประสบการณ์จริงในการทำงานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม
ก่อนหน้านี้ มทร.ธัญบุรี ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำโครงการนี้เนื่องจากตั้งแต่ปี 2558 มหาวิทยาลัยได้รับงบสนับสนุนจากสวทน. ให้อาจารย์ของมทร.ธัญบุรี ไปทำโครงการ ทาเลนต์ โมบิลิตี (Talent Mobility) โดยทำงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม 

ด้วยการเข้าไปฝังตัวอยู่ในสถานประกอบการมีการนำนักศึกษาเข้าร่วมโครงการและเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดีสามารถทำโครงการร่วมกับภาคอุตสาหกรรมได้ถึง 39 โครงการ สวทน.จึงมอบหมายให้มทร.ธัญบุรีเป็นแกนหลักในการจัดทำโครงการ ทาเลนต์ โมบิลิตี อะคาเดมีอย่างต่อเนื่อง
ลงพื้นที่ฝึกประสบการณ์จริง
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี มทร.ธัญบุรี
 
ที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวมีผู้เข้ารับการอบรมมาแล้ว 5 รุ่นรวมแล้วประมาณ 450 คน โดยกลุ่มที่เข้ารับการอบรมจะเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท-ปริญญาเอก แต่ยังไม่เคยทำงานกับภาคอุตสาหกรรมมาก่อน

“ต่อไปอาจารย์ที่ผ่านการอบรมและมีความมั่นใจมากขึ้น เมื่อนำงานวิจัยเข้าไปทำงานกับภาคอุตสาหกรรม ผลงานก็จะถูกต่อยอด ซึ่งโครงการนี้ไม่ได้มุ่งหวังแต่อาจารย์หรือนักวิจัยที่ผ่านการอบรมเท่านั้น แต่ยังมุ่งหวังให้เกิดผลไปยังนักศึกษาเพราะอาจารย์ที่นำผลงานไปทำกับภาคอุตสาหกรรม

โดยจะมีการนำนักศึกษาเข้าไปร่วมโครงการด้วย จะทำให้เกิดนักวิจัยหน้าใหม่ในอนาคต เน้นให้อาจารย์ นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเข้าไปทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาเชิงเทคนิค วิจัยพัฒนา มาตรฐานและการจัดการนวัตกรรม ทำให้ภาคธุรกิจมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก” รศ.ดร.ประเสริฐอธิบาย

หลังจากผ่านการอบรมเป็นระยะเวลา 4 วัน อาจารย์เหล่านั้นจะออกไปปฏิบัติงานในโครงการ ทาเลนต์ โมบิลิตี้ ร่วมกับนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์วิจัยพัฒนาร่วมกับภาคเอกชนใน 3 กลุ่มสาขา คือกลุ่มวัสดุศาสตร์ กลุ่มสิ่งแวดล้อมและกลุ่มชีววิทยาและสมุนไพร กลุ่มพฤกษเคมี เภสัชเคมีและเครื่องสำอาง ในสถานประกอบการ 

รวมถึงการถอดบทเรียนจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาแพลตฟอร์มการยกระดับศักยภาพและเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญรุ่นใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของภาคเอกชน
ผศ.ดร.สรพงษ์ ภวสุปรีย์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญรุ่นพี่กลุ่มวัสดุศาสตร์ 
 
ผศ.ดร.สรพงษ์ ภวสุปรีย์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญรุ่นพี่กลุ่มวัสดุศาสตร์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ได้เข้าไปร่วมทำงานวิจัยต่อยอดที่ บริษัทสินแร่สาครซึ่งเป็นบริษัทที่ส่งออกแร่ ด้วยงานวิจัยการสังเคราะห์อนุภาคนาโนไทเทเนียมไดออกไซด์ ไปใช้ในการผลิตเม็ดสี สีขาวสําหรับสีทาอาคาร ใช้ในการบําบัดนํ้าเสียเป็นต้น ซึ่งสารประกอบไทเทเนียมไดออกไซด์สามารถนํามาสังเคราะห์และประยุกต์ใช้ในงานด้านนาโนเทคโนโลยีจํานวนมาก

“การลงพื้นที่ดังกล่าวได้พานศ.ไปร่วมโครงการจำนวน 2 คนเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้เห็นการทำงานของภาคเอกชนจริงๆ รวมทั้งการทำงานวิจัยต่อยอดที่นำไปใช้ได้จริง และการทำงานร่วมกัน โครงการนี้ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งนักวิจัย นศ.และภาคเอกชนก็ได้องค์ความรู้ไปใช้ในบริษัทอย่างแท้จริง น่าจะเป็นการดีหากจะเป็นโครงการที่ทำได้อย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ การทำวิจัยครั้งนี้เขาเป็นผู้ประดิษฐ์อุปกรณ์ไฮโดรเทอร์มอล ที่สามารถสังเคราะห์แร่ตั้งต้น อิลมาไนท์ ออกมาเป็นนาโนไททาเทียมออกไซด์ ที่มีคุณสมบัติต้านแบคทีเรียสามารถนำไปผสมสารสีขาว ในสีทาบ้าน ครีมกันแดดต่างๆ เป็นการเพิ่มมูลค่าสารตั้งต้นจากราคากิโลกรัมหลักสิบเป็นหลักพันได้”

ด้าน “ปิ่นธนา คำแสงดี” บัณฑิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมพลาสติก เจ้าของโปรเจกต์การเตรียมวัสดุนาโนจากแร่อิลมาไนท์ของไทยเพื่อใช้เป็นสารต้านเชื้อแบคทีเรีย บอกว่า การลงพื้นที่ได้ทำงานจริง ได้ใช้อุปกรณ์ไฮโดรเทอร์มอล ที่สามารถสังเคราะห์แร่ตั้งต้น อิลมาไนท์ ออกมาเป็นไททาเทียมออกไซด์ จริงๆไม่ใช่แค่การเรียนทฤษฎีในห้องเรียน เมื่อเกิดปัญหาได้แก้ไขอย่างไร ทำให้ได้ความรู้จากโครงการ ทาเลนต์โมบิลิตี้ เป็นอย่างมาก

ขณะที่ “สถาพร บุญรอด” ผู้จัดการฝ่ายผลิต บริษัทสินแร่สาครซึ่งเป็นบริษัทแต่งแร่ส่งออก กล่าวว่า บริษัทให้การสนับสนุนจากตั้งต้นของสารไทนาเนียมให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี นำไปสังเคราะห์อนุภาคนาโนไททาเนียมออกไซด์ซึ่งสามารถพัฒนานำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงได้มากขึ้น 

เนื่องจากอนุภาคนาโนไททาเนียมออกไซด์ที่มีคุณสมบัติต้านแบคทีเรียสามารถนำไปครีมกันแดดต่างๆ เพิ่มมูลค่าสารตั้งต้นจากราคากิโลกรัมหลักสิบเป็นหลักพันได้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตมีบริษัทอาจจะพัฒนาเพิ่มช่องทางการจำหน่ายแร่มากขึ้นนอกเหนือจากการจำหน่ายสารตั้งต้นแต่เพียงอย่างเดียวซึ่งจะต้องดูแนวโน้มของตลาดเป็นหลักด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น