xs
xsm
sm
md
lg

เผยฐานข้อมูลวิศวกรรม บูรณะโบราณสถานใกล้เคียงของเดิม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

[ตัวอย่างข้อมูลจากการใช้เลเซอร์สแกน]
สกว.จับมือ มจธ.จัดกิจกรรมสื่อสัญจร โชว์การจัดทำฐานข้อมูลทางวิศวกรรมของโบราณสถาน เพื่อใช้ในการอนุรักษ์และบูรณะโบราณสถานให้ใกล้เคียงของเดิม และคำนวณได้อย่างแม่นยำ พร้อมจัดทำต้นแบบฐานข้อมูลให้ดูได้ผ่านเว็บเบราว์เซอร์ และพัฒนาเว็บไซต์ให้ผู้เกี่ยวข้องหรือคนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้




สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดกิจกรรมสื่อสัญจร “การจัดทำฐานข้อมูลทางวิศวกรรมของโบราณสถาน” ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อรายงานความก้าวหน้าของโครงการวิจัย ‘การพัฒนาฐานข้อมูลทางวิศวกรรมเพื่อการประเมินและติดตามสภาพโครงสร้างโบราณสถานของไทย’

โดยมี กิตติพันธ์ พานสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และ ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. ร่วมแถลงถึงความร่วมมือในการสนับสนุนการวิจัย ตลอดจนการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์และบูรณะโบราณสถานโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมต่อไป



รศ.ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ฐานข้อมูลทางวิศวกรรมของโบราณสถานมีความจำเป็นอย่างยิ่งในด้านการวิเคราะห์ ประเมินและติดตามสภาพโบราณสถานเพื่อการอนุรักษ์ งานวิจัยนี้จึงมีเป้าหมายที่จะพัฒนาตัวอย่างฐานข้อมูลดิจิทัลทางด้านวิศวกรรมของโบราณสถานของไทย

โดยข้อมูลดังกล่าวจะครอบคลุมถึงข้อมูลทางพิกัดและมิติต่างๆ ที่จำเป็นต่อการวิเคราะห์โครงสร้าง ข้อมูลคุณสมบัติทางกลและความทนทานของวัสดุ รวมถึงศึกษาแนวทางการประเมินและติดตามสภาพโบราณสถาน ตลอดจนเทคนิคการทดสอบแบบไม่ทำลาย โดยงานวิจัยนี้ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้



1) การใช้เทคโนโลยีสแกนวัตถุ 3 มิติด้วยแสงเลเซอร์ ในการสำรวจและเก็บข้อมูลพิกัด รวมถึงมิติต่างๆ ของโบราณสถาน ผ่านกรณีศึกษาโบราณสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ประกอบด้วย การศึกษารวบรวมข้อมูลพิกัดและมิติค่าจริงตามความทรุดเอียงของโบราณสถานตัวอย่าง ได้แก่ ขนาดมิติ และการเอียงตัวในสภาพจริง เพื่อนำไปใช้ในการสร้างแบบจำลองในการวิเคราะห์และประเมินโครงสร้าง รวมถึงติดตามสภาพโครงสร้างโบราณสถานในระยะยาว


ทั้งนี้ค่าพิกัด 3 มิติบนพื้นผิววัตถุนี้สามารถนำมาสร้างเป็นรูปภาพหรือแบบจำลองของวัตถุเสมือนจริง ที่บ่งบอกถึงขนาดและรูปทรงของวัตถุได้อย่างแม่นยำเมื่อสแกนโบราณสถานเดียวกันอีกครั้งในอนาคต และนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับผลการสแกนก่อนหน้า จะทำให้สามารถทราบถึงสภาพหรือลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปได้



[ตัวอย่างการตรวจสอบโบราณสถาน]
2) การศึกษาคุณสมบัติของวัสดุก่อและวัสดุเชื่อมประสานโบราณ (ปูนก่อ หรือปูนสอ และอิฐ) จากการเก็บตัวอย่างจริงและทดสอบในห้องปฏิบัติการ เช่น องค์ประกอบทางแร่ธาตุ และองค์ประกอบทางเคมีที่เป็นพื้นฐานของอิฐโบราณและปูนก่อโบราณ กำลังรับแรงอัด ลักษณะที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า ภาพถ่ายกำลังสูง ความพรุน อัตราการดูดกลืนน้ำ อัตราการระเหยน้ำ และหน่วยน้ำหนักของอิฐและปูนก่อโบราณ เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์และประเมินเสถียรภาพโครงสร้าง

รวมถึงช่วยเลือกวัสดุซ่อมแซมที่มีสภาพใกล้เคียงกับวัสดุโบราณได้ ฐานข้อมูลคุณสมบัติของวัสดุโบราณนี้สามารถนำไปใช้วิเคราะห์ในทางวิทยาศาสตร์ และผู้สนใจการอนุรักษ์โบราณสถานต่อไป



3) การศึกษาคุณสมบัติวัสดุก่อสมัยใหม่และความเหมาะสมในการนำไปใช้กับงานซ่อมแซมโบราณสถาน โดยใช้ฐานข้อมูลของคุณสมบัติวัสดุโบราณเป็นแนวทางในการพัฒนาวัสดุก่อใหม่ เพื่อให้มีคุณสมบัติทางวิศวกรรมที่ใกล้เคียงกับวัสดุที่พบในโบราณสถาน ซึ่งพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ปูนซีเมนต์ในส่วนผสม และใช้วัสดุที่ดั้งเดิมให้มากที่สุด ได้แก่ ปูนหมัก เพื่อให้มีความเข้ากันได้และสอดคล้องกับวัสดุโบราณดั้งเดิม


ที่สำคัญต้องไม่เป็นวัสดุที่ส่งผลต่อการเสื่อมสภาพของวัสดุดั้งเดิม โดยคุณสมบัติของวัสดุก่อที่สนใจ ได้แก่ กำลังรับแรงอัด ระยะเวลาการก่อตัว ความพรุน การดูดกลืนน้ำ และระเหยน้ำ คุณสมบัติด้านความทนทานต่อเกลือ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้วัสดุประเภทวัสดุปอซโซลาน เช่น เถ้าแกลบ หรือเถ้าลอย เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติปูนก่อสำหรับงานซ่อมแซม



4) การศึกษาแนวทางการทดสอบคุณสมบัติวัสดุโบราณในสภาพหน้างานจริง โดยการตรวจสภาพแบบไม่ทำลาย วิธีต่าง ๆ ซึ่งการอ่านค่าจากวิธีการทดสอบแบบต่างๆ จำเป็นต้องได้รับการปรับเทียบค่าที่เหมาะสม ผ่านการทดสอบทั้งจากหน้างานจริงร่วมกับผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการที่มีการควบคุม เพื่อให้ทราบว่าวิธีใดที่เหมาะสมกับการไปใช้งานจริงและความน่าเชื่อถือของข้อมูล


5) การจัดทำต้นแบบฐานข้อมูลดิจิทัลทางวิศวกรรม ได้แก่ การพัฒนากระบวนการในการแปลงข้อมูลจากการสแกนวัตถุ 3 มิติที่มีขนาดข้อมูลที่ใหญ่มาก ให้สามารถดูได้ผ่านเว็บเบราว์เซอร์ และพัฒนาเว็บไซต์ฐานข้อมูลตัวอย่าง เพื่อนำเสนอข้อมูลที่รวบรวมมาในรูปแบบที่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือคนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้
 



ข่าวโดย MGR Live


กำลังโหลดความคิดเห็น