xs
xsm
sm
md
lg

แฉ ช่องโหว่ อย. “ยาลดอ้วน-สเตียรอยด์-พ.ร.บ.ยา” ต้องปฏิรูปอย่างเดียว!!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
“สเตียรอยด์เกลื่อนตลาด-ไซบูทรามีนในอาหารเสริม-เจ้าหน้าที่นิ่งเฉยไม่สนใจ” ปัญหาเก่ายังแก้ไม่หาย! ล่าสุด สังคมดราม่า “พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่” แบ่งประเภทยาไม่ตรงหลักสากล แถมเปิดกว้างวิชาชีพอื่นจ่ายยาได้ ด้านเภสัชกรผู้คลุกคลีแวดวง อย. กว่า 9 ปี แฉ นี่หรือคุ้มครองผู้บริโภค! ตอกกลับแฮชแท็กร้อน #ปฏิรูปอย.ก่อนดีกว่าไหม!?
 
“ปฏิรูป อย.” แฮชแท็กเดียวสะเทือนทั้งวงการ!

ปัญหาเดิมยังแก้ไม่หมด ผุดปัญหาใหม่ให้ดราม่าอีกแล้ว! ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ สังคมจวกเละปัญหาเก่าหมกไว้ใต้พรม ทั้ง 'สารปนเปื้อนสเตียรอยด์-ยาลดความอ้วนเกลื่อนตลาด' เจ้าหน้าที่ อย.(คณะกรรมการอาหารและยา) ปล่อยผ่านได้ไง!? ล่าสุด เภสัชกรสาว แฉแหลก พ.ร.บ ฉบับใหม่อุดช่องโว่วยังไงก็ไม่หมด ถ้าไม่ปฏิรูประบบการทำงานของ อย. เสียใหม่!!

“สำนักยา เขียนร่างพรบ.ยา ขึ้นมา จริงที่มีอะไรดีขึ้น แต่สิ่งที่มันแย่ มันถอยหลังลงคลอง ย้อนประเทศไทยกลับไปด้อยพัฒนากว่าเดิม ทั้งการแบ่งประเภทของยาที่ไม่เป็นตามหลักสากล การเปิดกว้างให้วิชาชีพอื่นๆ จ่ายยาได้ ปากก็อ้างว่าคุ้มครองผู้บริโภค แต่จริงหรือ? สิ่งเหล่านี้สำนักยา อธิบายให้สังคมเข้าใจได้หรือไม่..”

ถ้อยความครหาร้อนระอุไปทั่วสังคมออนไลน์ หลังหัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค 'ภญ.สุภาวดี เปล่งชัย' รพ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด ออกมาแสดงความคิดเห็นพร้อมใส่แฮชแท็ก #ปฏิรูปอย. สืบเนื่องมาจากประเด็นการร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ พบช่องโหว่เอื้อประโยชน์บางกลุ่ม จนเกิดเป็นกระแสดราม่าอย่างหนักในขณะนี้


 
โดยประเด็นที่สังคมกำลังพูดถึงมีทั้งเรื่องการจัดแบ่งประเภทยาที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล รวมถึงกรณีการให้วิชาชีพอื่นสามารถจ่ายยาได้ กลายเป็นข้อถกเถียงกันว่า การจ่ายยาต้องมีความรู้พื้นฐานมากพอในระดับหนึ่ง ซึ่งอาจเกิดช่องทางให้คลินิกเอกชนที่อาจมีวิชาชีพอิสระอื่นๆ ทำการจ่ายยาหรือเปิดร้านขายยาโดยไม่มีแพทย์เข้ามาควบคุม

ขณะที่สังคมออนไลน์ต่างพากันเห็นด้วยกับกรณีที่ ภญ.สุภาวดี ได้ออกมาเสนอแนวทางการปฏิรูป อย. ผ่านประสบการณ์ที่ตนได้คลุกคลีอยู่ในแวดวงนี้มากกว่า9ปี โดยเห็นว่ายังมีปัญหาด้านการขึ้นทะเบียนยา ปัญหาสเตียรอยด์ และปัญหาการปลอมปนไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

“จากปี 2553 จนถึงตอนนี้ ได้ลงลึกการทำงานเกี่ยวกับยาในชุมชนค่อนข้างมาก ได้เห็นปัญหาเรื่องยาในพื้นที่เยอะ อย่างแรก ทะเบียนยาแปลกๆ รวมถึง Package ยา ไม่เข้าใจว่า อย. โดยสำนักยาปล่อยให้ผ่านมาได้อย่างไร (ทะเบียนยาในปัจจุบันมี 20,000 กว่าทะเบียน และล้วนแต่เป็นทะเบียนตลอดชีพ)

ส่วนที่สอง คือ ปัญหาสเตียรอยด์ ทั้ง Dexamethasone Prednisolone Betamethasone tab. ตัวเลขการผลิต การกระจายยาทั่วประเทศ อย.รู้ว่าไปที่ไหนเยอะ เพราะ อย.มีระบบการให้รายงานการผลิต การขายยาจากบริษัทไปในแต่ละจังหวัดด้วย

รวมถึงสเตียรอยด์ที่ปลอมปนในยาแผนโบราณ ทั้งยาลูกกลอน ยาประดงน้ำ ยาฝุ่น ยาผงต่างๆ แถมยังมีสเตียรอยด์ไปปลอมปนในผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนเป็นอาหารด้วยนะ พวกเครื่องดื่มสมุนไพรต่างๆ แต่ในวันนี้ยังไม่เห็นสิ่งที่จะทำให้คนไทยปลอดภัยจากการใช้สเตียรอยด์โดยไม่มีข้อบ่งใช้ทางการแพทย์เลย

 
ส่วนที่สาม ไซบูทรามีน ยกเลิกทะเบียนตั้งแต่ปี 2553 ผ่านมา 8 ปีแล้ว ยังมีปัญหาการปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างว่ากินแล้วผอม น้ำหนักลด ผู้ประกอบการลักลอบนำเข้ามาในประเทศไทยได้อย่างไร อย.ประสานจัดระบบกับด่านศุลกากร เพื่อป้องกันไม่ให้ลักลอบนำเข้ามาผลิตให้คนไทยตายจากผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนได้ไหม

บริษัทที่ผลิตแล้วตรวจเจอไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์ ก็รู้อยู่ว่าใครผลิตบ้าง โรงงานตั้งอยู่จังหวัดไหน เพจไหนขาย ก็รู้ หรือไม่ใช่ คนตายจากไซบูทรามีนปีละกี่คน อย.รู้ไหม ซึ่งปัญหาที่ยกมา 3 ประเด็น ปัญหาเกิดจากอะไร
  ทั้งสำนักยา สำนักอาหาร งาน Pre - Marketing ก็มีหน้าที่ให้อนุญาตไป งาน Post - Marketing ก็ตามแก้ปัญหาไป แล้วทั้งสองสำนัก ประสานงานทำงานแบบบูรณาการเพื่อจะจัดการปัญหาบ้างหรือไม่..”

พ.ร.บ. ยาฉบับใหม่ เพื่อประชาชน!

จากกระแสการวิจารณ์อย่างหนักที่โจมตีไปยังการร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ที่พูดถึงในสังคมออนไลน์ ทั้งประเด็นการอนุญาตให้วิชาชีพอื่นสามารถจ่ายยาได้ จนเกิดกระแสตีกลับจากกลุ่มเภสัชกรหลายพื้นที่ พร้อมตั้งคำถามถึงมาตรฐานในการจ่ายยาจากผู้ที่ไม่ได้มีความรู้เฉพาะทางหรือไม่นั้น

ทางทีมข่าว MGR Live ได้ต่อสายตรงไปยัง 'นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์' รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ถึงกรณีที่สังคมวิพากษ์กันอยู่ในขณะนี้ ซึ่ง นพ.สุรโชค เปิดมุมมองต่อกระแสตีกลับที่เกิดขึ้นว่าในพ.ร.บ. ยาฉบับใหม่ได้มีการปรับเปลี่ยนเพิ่มมาตราการที่ทันสมัยในแง่ของการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา

“พ.ร.บ.เดิมตั้งแต่ปี 2510 จากข้อมูลการผลิตยาในสมัยก่อนจะผลิตจากสารเคมีเป็นหลัก แต่ปัจจุบันมียาชนิดใหม่ๆ ที่มีวิธีการผลิตเปลี่ยนไป เช่น ยากลุ่มชีววัตถุ คือยาที่ผลิตจากสิ่งมีชีวิต (แบคทีเรีย เชื้อรา และอื่นๆ) โดยเฉพาะยารักษามะเร็งจะมีกระบวนการผลิตที่ไม่เหมือนเดิม

 
ส่วนต่อมา ต้องมีการต่ออายุทุกๆ 7 ปี ส่งผลให้ยาที่ประสิทธิภาพไม่ดี ข้อมูลไม่เหมาะสมมาต่อใหม่ก็จะทำให้เขาไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ ดังนั้น ยาที่ไม่เหมาะสมก็จะลดน้อยลง รวมถึงเรื่องของบทลงโทษสำหรับยาที่ไม่มาขึ้นทะเบียน หรือนำยาไม่เหมาะสมมาขาย บทลงโทษเดิมปรับ 5,000 บาท แต่ปัจจุบันจะมีการปรับบทลงโทษที่สูงขึ้น

ซึ่งในแง่การคุ้มครองมีหลายข้อ รวมถึงในเรื่องการพัฒนาระบบยาของประเทศ การสร้างความมั่นคงหรือการผลิตยามีความเข้มแข็งมากขึ้น จริงๆ 229 มาตรา มีความเห็นตรงกัน 200 กว่ามาตรา แต่ที่เกิดความเห็นไม่ตรงกันแค่ถึงไม่ 10 มาตราเท่านั้น

ด้วยมุมมองไม่ได้มีฝ่ายใดถูก ฝ่ายใดผิด เราก็รับฟัง ซึ่งเราเองก็รับมาทั้งหมด หากมีอะไรถูก-ผิดชัดเจน เราเห็นตรงกันก็ไม่มีปัญหา แต่บางเรื่องที่มีความเห็นไม่ตรงกัน เนื่องจากว่าแต่ละฝ่ายก็มีเหตุผลของตน ก็ต้องมีการพูดคุยกันต่อ แต่เราก็อยากให้ข้อดีต่างๆ มันได้ผ่านไป ส่วนข้อที่ยังมีประเด็นก็มีการพูดคุยต่อ”

ขณะที่ประเด็นการจ่ายยาโดยผู้ที่ประกอบวิชาชีพอื่นที่สังคมให้ความสนใจ ด้าน รองเลขาฯ อธิบายกรณีที่เกิดขึ้นว่าอาจมีผลมาจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในสาระและบทบัญญัติของร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับดังกล่าว

“ส่วนประเด็นการขายยาในร้านขายยานั้นผู้รับอนุญาตและผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการถูกแยกออกจากกัน คือ ผู้รับอนุญาตจะเป็นผู้ใดก็ได้ อาจเป็นบุคคลทั่วไปหรือผู้ประกอบวิชาชีพก็ได้ ส่วนผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในร้านขายยา ต้องเป็นเภสัชกรเท่านั้น ไม่ใช่ใครก็สามารถทำหน้าที่นี้ได้

ดังนั้น จึงขอทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า การจัดตั้งร้านยาไม่ใช่ว่าทำที่ใดก็ได้ และการขายยาจะต้องมีเภสัชกรเป็นผู้ปฏิบัติการตามช่วงเวลาที่ระบุ ยกเว้นไว้แต่เพียง ร้านขายยาประเภทขายยาที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ (ข.ย.2 ตามพ.ร.บ.เดิม) ที่ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการอาจเป็นวิชาชีพอื่นหรือผู้ผ่านการอบรมจาก อย.แล้วเท่านั้น”

 
อย่างที่เห็นว่าหลังจากมีการเผยแพร่มาตราต่างๆ ใน พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ ทำให้เกิดกระแสตีกลับอย่างหนักหน่วง รวมถึงเกิดแฮชแท็กดังในสังคมออนไลน์ ให้มีการปฏิรูป อย. ทั้งนี้ ด้าน นพ.สุรโชค ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ตนได้เห็นด้วยกับแนวทางการปฏิรูป อย. พร้อมทั้งเปิดรับฟังความเห็นที่แตกต่าง

“อย. ต้องปฏิรูปอยู่แล้วครับ เรื่องปฏิรูป ผมเห็นด้วย แต่คงไม่เกี่ยวกับ พ.ร.บ. ตัวใหม่ เพราะ อย.ก็พยายามที่จะปรับให้ดีขึ้นอยู่แล้ว เราก็มีการปรับเปลี่ยน มีการนำเสนอผลงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เรามีไทม์ไลน์การนำเสนอการปฏิรูปกับท่านรัฐมนตรีด้วยเช่นกัน

สุดท้าย อยากฝากว่าในข้อดีของ พ.ร.บ. มีหลายส่วน แต่ในข้อที่ความเห็นไม่ตรงกัน ทาง อย.เองก็พร้อมรับฟังในทุกๆ ฝ่าย เพื่อที่มีการปรับและนำเสนอข้อดี-ข้อเสียของแต่ละฝ่ายที่นำเสนอไป อย.เป็นเหมือนคนกลางและดูแทนประชาชนว่า สิ่งไหนที่มีประโยชน์ รวมถึงดูทิศทางของประเทศและโลกด้วยว่าเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ดี สำหรับร่าง พ.ร.บ. ที่ออกมายังไม่ได้จบที่ตรงนี้ แต่ยังต้องผ่านหลายกระบวนการ คิดว่าสิ่งที่ดีเราก็เดินไปด้วยกัน แต่สิ่งที่ไม่ดีก็รับฟังและปรับเปลี่ยนได้ในอนาคต”

ข่าวโดย MGR Live


กำลังโหลดความคิดเห็น