กลายเป็นดรามาเหยียดเชื้อชาติ ไปแล้วระหว่างไทยและเขมร หลัง วธ.จ่อขึ้นทะเบียน “โขน” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เขมรหัวร้อนถล่มเพจยูเนสโก ลั่น!โขนไม่ใช่ของไทย แต่เป็นของกัมพูชา ซัดไทยก๊อปปี้ โลกโซเชียลฯ ลุกเป็นไฟซัดกันนัวลามไปถึงประเด็นอื่น อวดประเทศตนมีดีกว่าเยอะ นักประวัติศาสตร์ยันโขนเป็นวัฒนธรรมร่วมอาเซียน เป็นของใครกันแน่ ตอบยาก!
ศึกโซเชียลฯ 2 ชาติระอุ!
จากกรณีกระทรวงวัฒนธรรม(วธ)เตรียมยื่นเสนอให้ยูเนสโก (UNESCO )พิจารณาขึ้นทะเบียน “โขน” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2561 นั้น ปลุกปั่นกระแสความไม่พอใจในโลกออนไลน์ของชาวกัมพูชา
จากการสำรวจโลกออนไลน์กัมพูชา โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ มีความดุเดือดมาก ชาวกัมพูชายืนกรานว่าการแสดงโขนเป็นการแสดงและวัฒนธรรมของชาวกัมพูชา ไม่ใช่ของไทยชาวโซเชียลฯเขมรทนไม่ไหว ติดแฮชแท็ก
#itiscombodiaculture ยันการ “โขน” เป็นการแสดงและวัฒนธรรมของชาวกัมพูชา ไม่ใช่ของคนไทย แถมยังบอกด้วยว่า ประเทศไทยก๊อบปี้การแสดงโขนมาจากประเทศกัมพูชา
ทว่า ไม่ใช่ดรามาแค่เพียงปมโขน ยังลามไปยังประเด็นอื่นอีกด้วย เช่น เสื้อผ้า หน้า ผม และยังพบว่า มีการเปรียบเทียบภาพผู้หญิงเขมรหน้าตาดี กับสาวไทยรายหนึ่ง รวมถึงยังมีการสื่อสารในทำนองว่าประเทศตนเองดีที่สุดพร้อมกับด่าทอประเทศไทย
นอกจากนี้ ชาวกัมพูชาจำนวนมากยังเข้าไปแสดงความคิดเห็นในเพจเฟซบุ๊กของ องค์การยูเนสโก (UNESCO) เรียกร้องให้ทางยูเนสโกพิจารณายกเลิก การแสดงโขน ไม่ใช่ของประเทศไทย
ฝั่งไทยก็ไม่น้อยหน้า มีชาวไทยบางส่วนเข้าไปตอบโต้คอมเมนต์อย่างดุเดือด ผุดแฮชแท็ก #ItisthaiCulture งัดกลับ ขุดหลักฐานชี้รำไทย โขนไทยมีมากว่าร้อยปีแล้ว ระบุหลังเขมรมีสงครามตลอดกระทั่งวัฒนธรรมต่างๆโดนทำลายไป ก็ได้ครูจากราชสำนักไทยเข้าช่วยเข้าไปฟื้นฟูให้
อย่างไรก็ดี การกระทบกระทั่งในโลกโซเชียลฯ ครั้งนี้ทำให้หลายคนหวั่นกลายเป็นปัญหาลุกลามทำให้ทั้งสองประเทศเกิดความขัดแย้งและกระทบความสัมพันธ์อีกครั้ง
โขน สมบัติชาติใด?!
โขน นับเป็นประเภทหนึ่งของการแสดงหน้ากาก (masked play) ที่ใช้เป็นพิธีกรรมทางศาสนา พบอยู่ทั่วไปในอุษาคเนย์ ทุกประเทศจะมีการนำวัฒนธรรมทางจากประเทศอินเดีย เรื่องรามายณะ แต่รูปแบบหรือเอกลักษณ์การแสดงของแต่ละประเทศจะแตกต่างออกไป ดังนั้นจะบอกว่า โขนเป็นของประเทศใดประเทศหนึ่งคงไม่ถูก เพราะมาจากรากเหง้าเดียวกัน แต่ละประเทศรับวัฒนธรรมต่อกันมา
เช่นเดียวกับลาวที่มีทั้งดนตรี และท่ารำ เครื่องแต่งกาย ที่แทบจะไม่ต่างกับไทย โขนยังเป็นวัฒนธรรมที่ปรากฏในหลายๆประเทศ แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เมียนมา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และไทย จึงกลายเป็นความสับสนว่า โขนคือสมบัติของชาติใดกันแน่
วรณัย พงศาชลากร นักมานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ได้อธิบายว่า "โขน" มีความหมายถึง ส่วนหัว ที่ยื่นออกมาจากตัวหรือ ส่วนหน้า อย่างการใช้คำว่า โขนเรือ (ส่วนหน้าของเรือ) โขนทวาร (นางในส่วนหน้า) ผีตาโขน (ตาถลน - บ้างก็แต่งไปว่าผีตามคน)
หลักฐานชิ้นสำคัญจากบันทึกของ ซีมง เดอ ลาลูแบร์ ราชทูตจากฝรั่งเศส เขาได้จดบันทึกทุกอย่างเกี่ยวกับประเทศสยาม ตั้งแต่การปกครอง ภาษา ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณี โดย ลา ลูแบร์ ได้มีโอกาสได้สังเกตการแสดงนาฏศิลป์ประเภทต่างๆในราชสำนักไทย และจดบันทึกไว้โดยละเอียดดังนี้
"ชาวสยามมีศิลปะการเวทีอยู่สามประเภท: ประเภทที่เรียกว่า "โขน" นั้น เป็นการร่ายรำเข้า ๆ ออก ๆ หลายคำรบ ตามจังหวะซอและเครื่องดนตรีอย่างอื่นอีก ผู้แสดงนั้นสวมหน้ากาก และถืออาวุธ แสดงบทหนักไปในทางสู้รบกันมากกว่าจะเป็นการร่ายรำ และมาตรว่าการแสดงส่วนใหญ่จะหนักไปในทางโลดเต้นเผ่นโผนโจนทะยาน และวางท่าอย่างเกินสมควร แต่ก็มีการหยุดเจรจาออกมาสักคำสองคำอยู่ไม่ได้ขาด หน้ากาก (หัวโขน) ส่วนใหญ่นั้นน่าเกลียด เป็นหน้าสัตว์ที่มีรูปพรรณวิตถาร หรือไม่เป็นหน้าอสูรปีศาจ "
ส่วนการแสดงประเภทที่เรียกว่า "ละคร" นั้นเป็นบทกวีที่ผสมผสานกัน ระหว่างมหากาพย์ และบทละครพูด ซึ่งแสดงกันยืดยาวไปสามวันเต็มๆ ตั้งแต่ ๘ โมงเช้า จนถึง ๑ ทุ่ม ละครเหล่านี้เป็น ประวัติศาสตร์ที่ร้อยเรียงเป็นบทกลอนที่เคร่งครึม และขับร้องโดยผู้แสดงหลายคนที่อยู่ในฉากพร้อมๆกัน และเพียงแต่ร้องโต้ตอบกันเท่านั้น โดยมีคนหนึ่งขับร้องในส่วนเนื้อเรื่อง ส่วนที่เหลือจะกล่าวบทพูด แต่ทั้งหมดที่ขับร้องล้วนเป็นผู้ชาย ไม่มีผู้หญิงเลย"
วัฒนธรรมร่วมอาเซียน
ผศ.ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง สาขานาฏศิลป์ พ.ศ.2548 อธิบายขยายความถึงประเด็นร้อนนี้ว่า ไทยและกัมพูชา มีการเลื่อนไหลทางวัฒนธรรม ซึ่งกันและกันมาโดยตลอด มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันและกัน แต่ก็มีการพัฒนารูปแบบของโขนแต่ละประเทศในแบบฉบับของตนเองจนเป็นอัตลักษณ์
นอกจากไทยจะมีการแสดงโขนแล้ว กัมพูชาก็มีศิลปะรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า “ลโขล” (Lakorn Khol) เช่นเดียวกัน ซึ่งในสมัยก่อนจะใช้ผู้แสดงเป็นเพศหญิงทั้งหมด ต่างจากโขนของไทยที่จะใช้เพศชายในการแสดง รวมถึงลักษณะท่ารำก็มีความแตกต่างกัน ดังนั้น การที่จะสรุปว่าวัฒนธรรมโขนทั้งหมดเป็นของใครเป็นสิ่งที่ตอบได้ยาก
อย่างไรก็ดี หากไทยจะขึ้นทะเบียนโขนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมก็สามารถกระทำได้ คือขึ้นทะเบียนในสิ่งที่ได้พัฒนามาแล้วจนเกิดเป็นโขนยุคปัจจุบัน ทว่า หากกัมพูชาจะขึ้นทะเบียนลโขลบ้าง ก็ถือว่าสามารถทำได้เช่นกัน เพราะมีอัตลักษณ์แตกต่างกัน
เช่นเดียวกับ สุจิตต์ วงษ์เทศ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ที่เคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโขนไว้ว่าโขนเป็นวัฒนธรรมร่วมของสุวรรณภูมิในภูมิภาคอุษาคเนย์ มีรากเหง้าความเป็นมาร่วมกัน จะแยกโดดๆ มิได้ ว่าเป็นสมบัติของใคร หรือของที่ไหน
สอดคล้องกับ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ นักวิชาการด้านโบราณคดี ที่แสดงความคิดเห็นไว้ว่า โขน เป็นแขนงหนึ่งของการแสดงหน้ากาก ที่เป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของคนทั่วทั้งอุษาคเนย์ในยุคดึกดำบรรพ์ ไม่ใช่มรดกโลกของใครชาติใดชาติหนึ่ง เพียงชาติเดียว
ทว่า ดร.สุรัตน์ จงดา อาจารย์วิทยาลัยนาฏศิลป์ อาจารย์จากวิทยาลัยนาฏศิลป์ หนึ่งในกรรมการที่เตรียมยื่นเรื่องลงทะเบียนให้โขน เป็นมรดกโลก ย้ำไทยสามารถลงทะเบียนให้โขนเป็นมรดกโลกได้ เพราะโขนในแต่ละประเทศ ต่างมีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนกัน
“คนละสไตล์ คนละอย่าง คือมีความคล้ายคลึงกันก็จริง แต่มีองค์ประกอบ หรือเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของแต่ละอย่าง คนละชาติกัน ดังนั้นใครอยากขึ้นทะเบียนก็ขึ้นไป”
ยันไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนร่วมกับกัมพูชา ชี้ประเด็นนี้ทำให้คนไทยเห็นถึงความสำคัญถึงมรดกภูมิปัญญาของชาติ เป็นข้อดีทำให้หลายฝ่ายให้ความสนใจ ประชาชนได้รับข่าวสาร
เรื่องโดย MGR Live