xs
xsm
sm
md
lg

ทุกคนต้องแก่! 4 รู้สู่ความมั่งคั่ง ถ้าไม่อยากแก่แบบยากจน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปฏิเสธไม่ได้ว่า "เงิน" คือเรื่องใหญ่ที่ทำให้ผู้สูงอายุไทยเป็นทุกข์ การไม่มีเงินใช้ ไม่มีเงินออม หรือมีแต่ไม่พอใช้ คือความวิตกกังวล ความเครียด และความกลัว ที่เป็นเช่นนี้ เพราะชีวิตหลังเกษียณ รายได้อาจจะลดลง หรืออาจจะไม่มีรายได้เลย ไม่เพียงแต่เฉพาะมนุษย์เงินเดือนเท่านั้นที่จะมีปัญหานี้ เจ้าของกิจการ หรืออาชีพที่ต้องใช้แรงกาย เช่น เกษตรกร แม้จะไม่มีวันเกษียณ แต่เรี่ยวแรงที่เคยมีก็ถดถอยลง ซึ่งส่งผลให้รายได้ลดลงตามมา

แม้ว่าการออมจะถูกพูดถึงมาตลอด แต่ภาพรวมการออมของประชากรวัยแรงงานมีเพียง 15 ล้านคนที่อยู่ในระบบการออมเพื่อการเกษียณ แต่เงินออมเฉลี่ยที่มีก็อาจไม่เพียงพอกับเงินหลังเกษียณขั้นต่ำที่จะสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม ซึ่งหากใครไม่แก่คงยังไม่รู้ซึ้งถึงความจำเป็น

"การเก็บออมคือหลักใหญ่ของการเตรียมตัวเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ ก่อนจะชราภาพ เราต้องทำงานให้มีรายได้มากกว่ารายจ่าย และนำไปสู่รายเหลือที่จะต้องเก็บหอมรอมริบเอาไว้ เพราะถ้าวันหนึ่งเราเป็นผู้สูงอายุ จะได้มีเงินใช้ สูงอายุแล้วไม่มีเงินมันลำบากนะ"

นพ.บรรลุ ศิริพานิช ผู้สูงอายุรุ่นเก๋าวัย 93 ปีในฐานะประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ เน้นย้ำไว้บนเวที "ชาญชรา 60 มุ่งสู่...สังคมสูงอายุอย่างเข้าใจ" ที่โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น 7 สยามสแควร์วันเมื่อเร็วๆ นี้ โดยพูดไว้ในหัวข้อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเงิน เพระถ้าสูงอายุแล้วไม่มีเงิน ย่อมส่งผลถึงคุณภาพชีวิตที่ดีตามมา


ดังนั้น "รู้หา รู้เก็บ รู้ใช้ รู้ขยายดอกผล" จึงเป็น 4 รู้สู่ความมั่งคั่งในวัยเกษียณที่เชื่อว่าทุกคนรู้ดี แต่มักจะคิดได้เมื่อใกล้ความแก่ไปแล้ว และนี่คือหลักการบริหารจัดการเงินที่หยิบยกบางส่วนบางตอนมาจากหนังสือเงินทองต้องวางแผน จัดทำโดยศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อวางแผนง่ายๆ ในเรื่องการเงิน

รู้หา

ในช่วงต้นๆ ของการทำงาน เรายังมีเรี่ยวแรงเหลือเฟือ สามารถทำอะไรก็ได้ตามที่ฝันไว้ และนอกจากแรงกายแล้ว ยังมีประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ จึงสามารถหารายได้จากการทำงานอื่นๆ หรือธุรกิจอื่นๆ ไปพร้อมๆ กันได้

รู้เก็บ

เมื่อรู้หาแล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำคือรู้เก็บ เก็บออมเพื่อวัยเกษียณ เพราะหากไม่ได้เตรียมตัวแน่เนิ่นๆ หรือออมไว้น้อยเกินไป อาจทำให้ชีวิตในวัยเกษียณไม่เป็นไปอย่างที่ต้องการเท่าไรนัก แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อถึงวัยเกษียณจะไม่ต้องรู้เก็บอีกแล้ว เพราะต้องไม่ลืมว่า ชีวิตนี้ยังอีกยาวไกล หลายคนมีอายุยืนไปได้ถึง 70-80 ปี ขณะที่บางคนย่างเข้าเลข 9 แล้วก็ยังแข็งแรง ฉะนั้นเก็บก่อนใช้ดีที่สุด

รู้ใช้

ในแต่ละวัน เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการ "รู้ใช้" มากขึ้น โดยวางแผนการใช้จ่ายในแต่ละเดือน แต่ละปีอย่างชัดเจนว่า จะมีค่าใช้จ่ายอะไร เป็นเงินเท่าไร และต้องควบคุมให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ด้วย รวมทั้งการเตรียมเงินสดสภาพคล่องไว้ในเวลาฉุกเฉินอย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน วิธีควบคุมรายจ่ายให้เป็นไปตามแผนได้ดีที่สุด คือ การจดบันทึกรายได้ ค่าใช้จ่าย หรือที่รู้จักกันดี (แต่ไม่ค่อยทำกัน) คือ บัญชีรายรับรายจ่ายนั่นเอง

การรู้ใช้จะมีผลอย่างมากกับเงินออมที่เราเตรียมไว้สำหรับวัยเกษียณ เพราะ 1 ใน 3 สาเหตุที่ทำให้เงินออมหมดเร็ว หรือช้า คือจำนวนที่ต้องการเบิกออกไปใช้ในแต่ละเดือน เพราะฉะนั้นถ้าเตรียมเงินไว้น้อย การใช้จ่ายแบบพอเพียงจะช่วยยืดระยะเวลาของเงินออมออกไปได้

รู้ขยายดอกผล

ถ้ารู้วิธีการขยายดอกผลที่เหมาะสม เงินก้อนนี้จะสามารถออกดอกออกผลมาเป็นรายได้ ทดแทนรายได้ประจำที่หายไปเมื่อวัยเกษียณ หรือเมื่อถึงวันที่ไม่มีแรงหารายได้ได้อีก ลำพังแค่การฝากธนาคาร หรือลงทุนตราสารหนี้เพียงอย่างเดียวจะได้รับผลตอบแทนที่ต่ำมากๆ ฉะนั้นจำเป็นต้องกล้าเสี่ยงบ้าง แต่ให้อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น โดยผสมผสานทั้งการลงทุนตราสารหนี้ หุ้น อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะลงทุนด้วยตัวเองก็ทำได้ หรือลงทุนผ่านกองทุนรวมก็สะดวกดี


กำลังโหลดความคิดเห็น