โซเชียลฯ แห่แชร์ “วิธีแก้ปัญหาพกใบขับขี่” เลี่ยงโทษปรับ 50,000 บาท ทั้งแปะหน้ากระจกรถคู่ พ.ร.บ.รถยนต์ ทั้งถ่ายสำเนาแผ่นเบิ้มแปะข้างประตูรถ แสบสุดถึงขั้นพันเทปกาวมัดติดแขนโชว์ สังคมครหา หากเพิ่มปรับ จนท.เตรียมรับทรัพย์ใต้โต๊ะด้วยหรือไม่? ด้านผลสำรวจเผย คนไทยเกินครึ่งไม่คาดหวัง โทษหนักขึ้นแล้วจะแก้ปัญหาจราจรได้!
แปะแขน แปะรถ ประชดกรมขนส่งฯ
ยังคงเป็นประเด็นดรามาสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนกันอยู่ตอนนี้ หลังจากที่กรมขนส่งทางบก ได้เปิดเผยว่าจะมีการปรับปรุงกฎหมาย 2 ฉบับ คือกฎหมายพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ให้เป็นกฎหมายฉบับเดียว ซึ่งหนึ่งในหัวข้อที่แก้ไข มีเรื่องของใบขับขี่อยู่ด้วย ระบุไว้ว่า หากผู้ขับขี่ไม่มีใบขับขี่ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน และปรับไม่เกิน 50,000 บาท โดยหวังสร้างเสริมวินัยการขับขี่ ลดสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากการไม่มีใบอนุญาตขับรถ
ทว่า แม้การแก้ไขกฎหมายข้างต้นจะอยู่ในระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งยังไม่มีผลใช้บังคับแต่อย่างใดในตอนนี้ แต่ถึงอย่างนั้นก็จุดประเด็นดรามาให้ชาวโซเชียลฯ ทั้งหลาย ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวความคิดนี้กันอย่างดุเดือด
หลังจากที่ประเด็นการแก้ไข พ.ร.บ.จราจร ใหม่ นี้เผยแพร่ออกไปบนโลกโซเชียลฯ แล้วนั้น ก็ทำเอาความคิดเห็นบนสังคมออนไลน์แตกออกเป็น 2 ฝ่ายทันที โดยฝั่งที่เห็นด้วยกับการแก้กฎหมายครั้งนี้ มองว่า เห็นด้วยกับการเพิ่มโทษให้หนักขึ้น แค่ทำใบขับขี่ไว้และพกติดตัวตลอด ก็ไม่มีใครสามารถเอาผิดได้
แต่ในขณะเดียวกัน ฝั่งไม่เห็นด้วยที่ดูจะมีจำนวนมากกว่า ก็ขอค้านกฎหมายนี้อย่างสุดเสียง โดยให้เหตุผลว่า กลัวว่าจะเป็นดาบสองคม เพราะโทษดังกล่าวสูงเกินไป บางครั้งผู้ขับขี่อาจหลงลืมที่จะพก หรือออกไปไม่ไกลมากเลยไม่พกไป หากถูกจับและปรับขึ้นมาก็ดูจะเป็นโทษที่เกินกว่าเหตุ และอาจเปิดช่องให้เกิดการทุจริตของเจ้าหน้าที่ขึ้นตามมา ซึ่งก็มีบางคนเชิญชวนให้สมาชิกโลกออนไลน์แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการเปลี่ยนภาพโปรไฟล์ให้เป็นภาพขอคัดค้าน พ.ร.บ.จราจรใหม่อีกด้วย
ทั้งนี้ ยังมีชาวเน็ตจำนวนหนึ่ง เสนอ “วิธีแก้ปัญหาไม่พกใบขับขี่” กันแบบให้เห็นภาพกันไปชัดๆ ทั้งการ นำใบขับขี่ติดไปที่หน้ากระจกรถ เคียงคู่กับ พ.ร.บ.รถยนต์ไปเลย
เมื่อมีคนเปิดมาแล้วย่อมต้องมีคนตาม เรื่องจิกกัดนโยบายรัฐบาลขอให้บอกชาวเน็ตเมืองไทย เพราะมีคนเสนอไอเดียพกใบขับขี่ที่บันเทิงยิ่งกว่านั้น เช่น การถ่ายสำเนาใบขับขี่ขนาดเท่าประตูรถ แปะเข้าไปที่ข้างรถ มองเห็นเด่นมาแต่ไกล รวมไปถึงการนำใบขับขี่มาพันติดกับแขนด้วยเทปใส ประหนึ่งว่าหากเจ้าหน้าที่ขอตรวจ ก็ยื่นแขนให้ดูไปเลยว่าพกมา ทำเอาคนที่ได้เห็นภาพต่างพากันกดไลค์ให้กับไอเดียแก้ปัญหาแบบแสบๆ คันๆ นี้เป็นจำนวนมาก
นี่ขนาดว่า พ.ร.บ.จราจรชิ้นใหม่ยังไม่คลอด ยังจุดชนวนดรามาได้ถึงเพียงนี้ ก็ได้แต่รอดูต่อไปว่า หากยาแรงชิ้นนี้ผ่านขั้นตอนเรียบร้อยและถูกนำมาใช้โดยทั่วกันเมื่อไหร่ บนหน้าสังคมออนไลน์คงได้มีไอเดียการเลี่ยงโทษไม่มีใบขับขี่ปรับ 50,000 บาท ออกมาให้ชมอีกเพียบอย่างแน่นอน
จนท.ยัน ปรับจบที่ศาล ไม่ผ่านตำรวจ
ก่อนที่ความคิดเห็นในสังคมออนไลน์จะแตกแยกกันไปมากกว่านี้ ทางกรมขนส่งทางบก พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจคณะทำงานแก้ไขปัญหาจราจร จึงได้จับมือกันออกมาตั้งโต๊ะชี้แจงไปเมื่อเร็วๆ นี้ ถึงรายละเอียดในการแก้ไขและรวมร่างกฎหมายเกี่ยวกับการใช้รถใช้ถนนให้เป็นฉบับเดียวกัน รวมไปถึงคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่ว่า กฎหมายใหม่ปรับในชั้นตำรวจไม่ได้แล้ว!
กมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ข้อมูลศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย พบกลุ่มผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ มีโอกาสการเสียชีวิตร้อยละ 34 ซึ่งสูงกว่ากลุ่มผู้ขับขี่ที่มีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ถึงสองเท่า
สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับโทษของร่างกฎหมายใหม่ ระบุไว้ว่า ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ...” มีการเสนอแก้ไขปรับเพิ่มโทษความผิดเกี่ยวกับใบอนุญาตขับรถ ดังนี้ ความผิดเกี่ยวกับการขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต ปัจจุบันมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท ส่วนร่างพระราชบัญญัติฯ ใหม่เสนอให้ปรับเพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท
ความผิดเกี่ยวกับการขับรถในระหว่างใบอนุญาตสิ้นอายุ ถูกพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาต หรือถูกยึดใบอนุญาต ปัจจุบันมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ส่วนร่างพระราชบัญญัติฯ ใหม่ เพิ่มโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับเพิ่มขึ้นเป็นสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท
และความผิดเกี่ยวกับการขับรถโดยไม่แสดงใบอนุญาต ปัจจุบันมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติฯ ปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งจะทำให้เกิดความสอดคล้องกับบริบทการบริหารราชการ การควบคุมกำกับดูแล และบังคับใช้กฎหมาย ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
“ส่วนที่มีข้อคิดเห็นคัดค้าน วิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน จะมีการรวบรวมข้อมูลและส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป ยืนยันการปรับแก้เพิ่มโทษผ่านการศึกษารวบรวมข้อมูลทางวิชาการแล้ว และปรับให้ทัดเทียมมาตรฐานสากลด้วย” รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าว
และเพื่อให้เห็นภาพชัด นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ จากศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย ได้หยิบยกโทษปรับความผิดเกี่ยวกับการขับขี่โดยไม่มีใบอนุญาตขับรถในประเทศที่เป็นที่ยอมรับด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน พบว่า ประเทศญี่ปุ่น มีโทษปรับไม่เกิน300,000 เยน (88,000 บาท) หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี และถูกตัดแต้ม 12 คะแนน ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกา มีโทษปรับไม่เกิน 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ (800,000 บาท) หรือจำคุกไม่เกิน 5 ปี และถูกบันทึกประวัติตลอดชีวิตด้วย
ทางด้านของ พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ ผกบ.ส.3 หนึ่งในคณะทำงานแก้ไขปัญหาจราจร ก็กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา ตำรวจก็เข้มงวดเรื่องการจับยึดใบอนุญาตขับขี่ แต่โทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ถือเป็นลหุโทษที่ปรับในชั้นตำรวจได้ ทำให้ประชาชนไม่เกรงกลัว จึงต้องมีการเพิ่มโทษให้หนักขึ้น ปรับในชั้นตำรวจไม่ได้แล้ว ต้องทำสำนวนส่งอัยการ ส่งศาล ปรับหรือจำคุกตามแต่ดุลพินิจ เพื่อประชาชนเคารพกฎหมายมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยของประชาชนนั่นเอง
พร้อมกันนั้น ยังได้ชี้แจงข้อครหาจากประชาชนที่ว่า ร่างพระราชบัญญัติฯ ใหม่นี้ อาจเป็นเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์ได้นั้น ผกบ.ส.3 ก็ยืนยันว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ออกคำสั่งให้ตำรวจจราจรทั่วประเทศปฏิบัติหน้าที่อย่างโปร่งใส ต้องเปิดเผยตัวตนชัดเจน และหากว่าประชาชนพบเห็นการกระทำที่สื่อไปในทางประพฤติมิชอบ ก็สามารถร้องเรียนได้ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีมาตรการควบคุมและลงโทษอย่างเด็ดขาด
เกินครึ่งคนไทยไม่หวัง เพิ่มโทษแล้วปัญหาจะลด
จากประเด็นการแก้ไข พ.ร.บ.จราจรที่หวังจะช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนดังกล่าวนี้เอง นำไปสู่การสำรวจความคิดเห็นคนไทย ที่ล่าสุดมีการเปิดเผยออกมาว่า ประชาชนเกินครึ่งจากการเก็บตัวอย่าง ไม่คาดหวังว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาวิกฤตจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ แม้จะแก้กฎหมายหรือเพิ่มโทษก็ตาม
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนจากทั่วประเทศ จำนวน 1,132 คน เรื่อง การแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลของรัฐบาล สืบเนื่องจากที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เสนอแผนแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะที่รัฐบาลเองก็ได้มีการเตรียมเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แก้ไขกฎหมายจราจรเพื่อเพิ่มโทษผู้กระทำผิด ที่กำลังเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้
พบประชาชนเกินครึ่ง คือร้อยละ 53.71 มองว่า กรณีที่รัฐบาลเตรียมเสนอ สนช. แก้ไขกฎหมายจราจรเพื่อเพิ่มโทษผู้กระทำผิด แก้ปัญหาจราจรไม่ได้ เพราะเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ปัญหาการจราจรเป็นปัญหาที่มีมานาน แก้ไขได้ยาก เกิดจากความประมาท ขาดวินัย ฝ่าฝืนกฎจราจร ระบบขนส่งสาธารณะไม่ดี ทำให้คนนิยมใช้รถส่วนตัว รถมีปริมาณมากกว่าถนน
สำหรับความคาดหวังว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาสำเร็จหรือไม่ระบุว่า ประชาชนร้อยละ 55.03 ไม่คาดหวังว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาวิกฤตจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้สำเร็จ เพราะเป็นปัญหาใหญ่ มีมานาน แก้ไขไม่ได้ ขึ้นอยู่ที่ตัวบุคคล คนไทยไม่เคารพกฎหมาย ระบบขนส่งสาธารณะ ไม่รองรับการเดินทางของประชาชน ถนนหนทางไม่เป็นระบบ รถมีปริมาณมาก ฯลฯ
จากผลการสำรวจพบว่า กรณีที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางแก้ปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่กำลังวิกฤตอยู่ในขณะนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.83 เห็นว่า ควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แก้ให้ตรงจุด มีแผนระยะสั้นและระยะยาว
ส่วนวิธีการแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เป็นรูปธรรมนั้น ผลสำรวจเกินครึ่งอีกเช่นกัน คือร้อยละ 51.17 มองว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเคร่งครัด ทำตามกฎหมาย ผู้ใช้รถใช้ถนนมีจิตสำนึก มีวินัย
แม้โทษปัจจุบันของการไม่มีใบขับขี่จะน้อยกว่าค่าปรับในร่างกฎหมายใหม่หลายเท่า แต่ก็ถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวสำหรับคนที่ต้องหาเช้ากินค่ำ วิธีที่ดีที่สุดในการไม่ถูกปรับก็คงจะหนีไม่พ้นการปฏิบัติตาม เพื่อเป็นการเคารพกฎหมายและเคารพผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ ด้วย
ขอบคุณข้อมูล : สวนดุสิตโพล