xs
xsm
sm
md
lg

น้ำให้ชีวิต! ปั้นเยาวชนคนรักษ์น้ำ ดูแลอ่างของพ่อ "คลองหลวงรัชชโลทร"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


"..หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้..." พระราชดำรัสตอนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2529

แสดงให้เห็นความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งหากรวบรวมเฉพาะโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำมีมากที่สุดจำนวน 3,204 โครงการ แบ่งเป็นภาคเหนือ 1,233 โครงการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 841 โครงการ ภาคใต้ 627 โครงการและภาคกลาง 503 โครงการ ตามลำดับ (ข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือกปร.)



"อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร" คือท้องน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่คนเมืองอาจไม่รู้ซึ้งถึงความจำเป็น แต่คนในพื้นที่ ต.เกาะจันทร์ อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี รู้ซึ้งดีเพราะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งจนทุกวันนี้กลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย โดยบริเวณพื้นที่ต้นน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำก็มีการทำฟาร์ม

ทว่า กิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินรอบๆ อ่างเก็บน้ำ อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ ซึ่งเรื่องนี้ ทางกรมชลประทานไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยมองว่า เด็กๆ คือกลไกสำคัญในการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ ล่าสุดเกิดเป็นโครงการ "เยาวชนคนรักษ์น้ำ" เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับคุณภาพน้ำ การทดสอบคุณภาพน้ำอย่างง่าย และการทำ EM Ball อย่างง่ายๆ ด้วยตัวเอง



ธนา สุวัฑฒน ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา กรมชลประทาน


มหิทธิ์ วงศ์ษา นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน

"พื้นที่ตอนบนของอ่างเก็บน้ำ เป็นพื้นที่ติดกับโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่เราเฝ้าระวัง และดูแลอยู่ตลอด เพราะการจะปล่อยน้ำไปใช้ประโยชน์ในภาคเกษตร เราต้องมั่นใจว่าปลอดภัยจริงๆ แต่ข้าราชการกรมชลฯ ฝ่ายเดียวคงไม่พอ คนในชุมชน โดยเฉพาะเด็กๆ คือพลังที่ต้องช่วยกันดูแล เฝ้าระวังคุณภาพน้ำในอนาคต" ธนา สุวัฑฒน ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา กรมชลประทาน เผยถึงความใส่ใจดูแลน้ำเพื่อประชาชน โดยพยายามปั้นเด็กๆ ให้เป็นนักสำรวจ ตรวจสอบคุณภาพน้ำอีกแรง

โรงเรียนเขาวนาพุทธาราม เป็นโรงเรียนที่ทางกรมชลฯ เลือกมาเป็นโรงเรียนแรก เนื่องจากอยู่ใกล้อ่างเก็บน้ำมากที่สุด โดยเมื่อคราวที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเสด็จเปิดโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 และทรงเสด็จเยี่ยมโรงเรียนแห่งนี้ด้วย






"กิจกรรมที่จัดขึ้น เราสอนวิธีการเฝ้าระวังโดยการดูสี กลิ่น ความขุ่นต่างๆ เพื่อที่เด็กๆ จะได้ช่วยกันสังเกต โดยเราคาดหวังว่า เด็กๆ จะเป็นเครือข่ายที่ช่วยเฝ้าระวังให้กรมชลประทาน มีเหตุการณ์ใดก็ตามทางชลประทานจะทราบได้ไวก็มาจากชุมชนรอบๆ ทั้งตอนบนและด้านล่างลงไป น้ำที่ปล่อยจากท้ายเขื่อนลงไปนั้น ถ้ากำลังจะใช้ประโยชน์ในพื้นที่นา ตักรดน้ำต้นไม้ หากว่ามีกลิ่นสามารถแจ้งมาได้เลย ทางกรมชลประทานจะรีบเข้ามาดำเนินการแก้ไข" ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา กรมชลประทานบอก และเผยถึงเหตุผลว่าทำไมถึงเลือกเด็กประถมศึกษาตอนปลายเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก

"การเลือกกลุ่มเป้าหมายนั้นยากเหมือนกัน เพราะหากเรานำเด็กโตมา เขาก็เบื่อ เพราะรู้แล้ว มาปั้น EM Ball แรกๆ ก็สนุก แต่พอสักพักก็เบื่อ แต่เด็กช่วงประถมศึกษาตอนปลายเขาชอบมีส่วนร่วม ได้สัมผัสของจริง ได้ปฏิบัติจริง และที่สำคัญคือ เด็กๆ ในช่วงวัยนี้กำลังเรียนทางด้านเคมี และจะได้นำสิ่งที่เขาเรียนรู้มาคอยสังเกต คอยวิเคราะห์


ส่วนอนาคต คุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนไว้ว่า จะนำเด็กกลุ่มนี้ไปเป็นโมเดลในพื้นที่อ่างเก็บน้ำอื่นๆ ด้วย เนื่องจากเรามีอ่างเก็บน้ำแบบนี้อยู่มาก ขนาดกลาง 400 กว่าแห่ง ขนาดใหญ่นั้นก็ดูร่วมกับการไฟฟ้าด้วย โดยเป้าหมายของกรมชลประทานไม่ได้อยากแค่ผลิตน้ำเท่านั้น แต่เราอยากให้เกิดการมีส่วนร่วมในการดูแลแหล่งน้ำในพื้นที่ของตัวเอง






จริงๆ เราทำโครงการแบบนี้แล้วที่โครงการเขื่อนทดน้ำแควน้อย จ.พิษณุโลก ที่แควน้อยมีอาคารคอนกรีต จะให้นักเรียนมาเรียนรู้ทุกสัปดาห์ วนมาเรียนรู้จนครบทุกโรงเรียน เพื่อให้เด็กๆ เกิดความรักความหวงแหนแหล่งน้ำของตัวเอง ช่วยกันเป็นหูเป็นตา เมื่อเกิดปัญหาเรื่องน้ำก็สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทันที หรือโครงการอบรมยุวชลกร เราก็ส่งเจ้าหน้าที่ไปบรรยายทุกโรงเรียนในชั่วโมงกิจกรรม สอนดูระดับน้ำ อันตรายจากการใช้น้ำ เป็นต้น"

ดังนั้น ต้องยอมรับว่าวิกฤตการณ์ทางทรัพยากรน้ำกำลังเป็นเรื่องใกล้ตัวขึ้นทุกที ทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเสีย และอีกสารพัดปัญหากำลังรุมเร้าผู้คนทั่วโลก แต่ละประเทศแต่ละพื้นที่มีวิธีจัดการแก้ไขปัญหาแตกต่างกันไป ทว่าวิธีการหนึ่งซึ่งได้ผลดีในระยะยาวอย่างยั่งยืน คือ การสร้างคนที่ตระหนักถึงปัญหา สรรหาวิธีแก้ไข แล้วลงมือปฏิบัติ เด็กและเยาวชน จึงเป็นดั่งความหวังของโลกนี้ที่ปัญหาสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรน้ำจะได้รับการแก้ไขในอนาคต



น้องนิว-นิวธิชา งอกขาว

"ถ้าเราไม่ช่วยกันดูแลแหล่งน้ำ ไม่ช่วยกันสังเกตคุณภาพน้ำ หากวันหนึ่งน้ำเน่าเสียขึ้นมา เราก็จะไม่มีน้ำทำเกษตร ไม่มีผลผลิต และถ้ายิ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วยแล้ว คนก็จะไม่มาเที่ยว ชุมชนของเราก็จะไม่น่าอยู่" น้องนิว-นิวธิชา งอกขาว นักเรียนประดับชั้นประถม 5 โรงเรียนวัดเขาวนาพุทธารามบอกผลที่ตามมาจากน้ำเน่าเสีย หากไม่ช่วยกันดูแล น้ำที่เคยมีใช้บริโภค หรือทำกินอาจไม่มีให้ใช้อีกต่อไป

"รู้สึกดีใจที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมเยาวชนคนรักษ์น้ำในครั้งนี้ พี่ๆ ทางกรมชลประทาน ได้สอน และอธิบายการทำกิจกรรมทดลองวิทยาศาสตร์ในเรื่องการวัดคุณภาพน้ำอย่างง่ายๆ และการทำ EM Ball ด้วยตนเองเพื่อบำบัดน้ำเสียอย่างถูกวิธี รู้สึกสนุก และได้ความรู้ในเรื่องการอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อมด้วย อยากให้มีกิจกรรมเยาวชนคนรักษ์น้ำแบบนี้อีกเรื่อยๆ เพื่อจะได้นำความรู้และประสบการณ์ไปประยุกต์ใช้ในครอบครัว และชุมชนค่ะ" น้องนิวบอก



กันธอร กุลบุตรดี" ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเขาวนาพุทธาราม

ด้าน "กันธอร กุลบุตรดี" ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเขาวนาพุทธาราม บอกว่า เป็นกิจกรรมที่ดี เด็กๆ ได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการดูแลรักษาน้ำเพื่อเฝ้าระวังถ้าเกิดน้ำในอ่างเก็บน้ำมีคุณภาพน้ำไม่ดีจะได้แจ้งให้กรมชลประทานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหา เพราะนอกจากผลประโยชน์เพื่อการเกษตรแล้ว ยังนำไปผลิตน้ำประปาอีกด้วย ถ้าน้ำคุณภาพไม่ดีก็คงไม่ปลอดภัย โดยในอนาคตอาจจัดกิจกรรมสอดแทรกความรู้เรื่องการดูแล ตรวจสอบคุณภาพน้ำในวิชาที่เกี่ยวข้องต่อไป



สำหรับ "อ่างเก็บน้ำคลองหลวง" ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเริ่มเก็บกักน้ำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 โดยก่อนหน้านี้ในปี 2554 ทางจังหวัดได้จัดประกวดตั้งชื่ออ่างเก็บน้ำคลองหลวงขึ้นใหม่ และชื่อที่ชนะการประกวดคือ "อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร" มีความหมายว่า "ท้องน้ำขององค์พระมหากษัตริย์" ต่อมาสำนักราชเลขาธิการได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท เปลี่ยนชื่อเป็น "อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ" อย่างเป็นทางการในทุกวันนี้

ปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญสำหรับการเกษตรกรรม การอุปโภค-บริโภค แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ รวมทั้งยังสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยให้กับอำเภอเกาะจันทร์ และอำเภอพนัสนิคมได้เป็นอย่างดี นับเป็นตำนาน "น้ำให้ชีวิต" และจำเป็นที่คนในพื้นที่จะต้องช่วยกันดูแลรักษาเพื่อใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น