xs
xsm
sm
md
lg

รีวิว “ชีวิต(คนเดินเท้า)ติดลบ” วางท่อกินที่-เดินหนีตกหลุม-เสี่ยงรถชนตาย!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ขุดถนนนานเป็นชาติไม่เสร็จสักที แถมยังขุดเข้ามาลึกจนเหลือ “ทางเดินเท้า” กว้างเท่าฝ่าเท้าได้ เหยื่องานก่อสร้างแฉวินาทีชีวิต พยายามเดินระวังสุดพลัง แต่ยังไม่พ้นความซวย พื้นที่ทางเท้าเกิดดินทรุด จนตกลงไปในหลุมสูงท่วมหัว ทั้งเจ็บตัว ทั้งเหม็นโคลนเน่า ชะตาชีวิตอันน่าเศร้า เดินบนฟุตปาธก็ไม่มีที่ ให้เดินริมถนนก็เสี่ยงรถชนอีก ถามกลับผู้รับผิดชอบ “คุณภาพชีวิตติดลบ” กว่านี้มีอีกไหม? ด้าน “กรมทางหลวง-ผู้รับเหมา” รับปากแก้ไขให้ ประชาชนจะได้ไม่ลื่นตก “ทางเท้าแคบๆ” อีก



ระวังแล้วยังร่วง!! ทั้งเหม็นทั้งอาย ชีวิต “คนเดินเท้า”

[เหยื่อทางเดินเท้าขาดความปลอดภัย]
คุณภาพชีวิตกูติดลบแล้วอะตอนนี้ เรื่องของเรื่องคือมันมีก่อสร้างถนนอะไรสักอย่างข้างทาง เห็นมานานละ ไม่เสร็จซะทีตั้งแต่ปิดเทอม กูเคยคิดด้วยว่ามันจะมีคนตกลงไปปะวะ และแล้ววันนี้ก็มาถึง วันที่กูนี่แหละตกลงไปเอง ดินมันแฉะ แล้วมันก็ทรุด คือขุดเข้ามาลึกมาก จนมันแทบไม่มีทางเดินให้กูละไง เก็ตปะ พอกูเหยียบตรงดินเท่านั้นแหละ กูร่วงเลย

ไม่ต้องถามนะว่าโคลนตรงนั้นกลิ่นเป็นยังไง กลิ่นมันไม่ใช่ขี้ แต่มันคือดินโคลนเน่าๆ เหม็นๆ เหมือนคูน้ำอะ สิ่งที่กูห่วงคือแผลกูจะติดเชื้อหรืออะไรไหมเนี่ย เหม็นก็เหม็น อายก็อาย ถ้ากูโดนโคลนดูดละตายในนั้นขึ้นมาจะทำไงวะ ชีวิตเด็กนักศึกษาต้องมาเสี่ยงกับการตกลงไปในโคลนเน่าๆ หรือไม่ก็โดนรถชนตาย ถ้าเดินเลี่ยงไปอีกฝั่งเนี่ยนะ???

นี่คือใจความบางส่วนจากโพสต์บนเฟซบุ๊ก "Jadetayakom Luythong" ซึ่งกลายมาเป็นโพสต์ที่ถูกแชร์มากที่สุดในขณะนี้ หลังนักศึกษาชายวัย 21 รายหนึ่ง ออกมาแฉนาทีตกหลุมก่อสร้างย่าน ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระบายความในใจอย่างถึงพริกถึงขิง จนส่งให้หัวข้อ “ชีวิตติดลบของคนเดินเท้า” กลายเป็นประเด็นร้อนที่สังคมอยากประกาศไปให้ถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบ

และเพื่อให้อุบัติเหตุในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องขำๆ ที่แชร์ในโลกโซเชียลฯ แล้วจบไป ทาง ทีมข่าวผู้จัดการ Live จึงต่อสายตรงไปยัง น้องพีท-เจตยาคม ลุยทอง เหยื่อพื้นที่การขุดฝังท่อครั้งนี้ จนทำให้ทราบว่าเขาคือนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่พักอาศัยอยู่ในหอพักใกล้จุดเกิดเหตุ บริเวณทางหลวงหมายเลข 3214 ถ.คลองหลวง - ถ.เชียงราก ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมชนที่มีนักศึกษา เด็ก และผู้สูงอายุเดินกันให้ขวักไขว่เป็นปกติอยู่แล้ว



[สภาพหลุมที่ตกลงไป ในช่วงค่ำของวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา]
“ตอนที่ร่วงลงไปในหลุม พอยืนขึ้น หลุมก็สูงมิดหัวเลย เพราะขาผมก็ถูกดูดลงไปในโคลนด้วย ตัวผมเองสูง 175 ซม.ก็ยังมิดหัวเลย ซึ่งถือว่าหลุมลึกเหมือนกัน ก็ยังถือว่าโชคดีครับที่มีเพื่อนไปด้วย เพื่อนอีก 2 คนเลยช่วยกันดึงขึ้นมา

ไม่งั้นถ้าไปคนเดียว ผมว่าคงปีนขึ้นมาเองไม่ได้ เพราะโคลนด้านล่างก็เละมาก ถ้าเดินมากๆ น่าจะโดนโคลนดูดลงไปด้วย มันอันตรายจริงๆ ผมว่าถ้าเป็นเด็กๆ ตกลงไปในจุดที่ผมหล่นลงไป น้องเขาอาจจะไม่รอดก็ได้ ด้วยความที่หลุมมันลึก ขึ้นลำบาก และน้ำในนั้นก็เหม็นมากด้วย

ผมรู้สึกว่ามันคือ "คุณภาพชีวิตติดลบ" จริงๆ เพราะผมมองว่ามันอันตรายมาก กับการที่นักศึกษาคนนึงต้องเดินไปเรียน แล้วก็ต้องมาคอยระมัดระวังอะไรแบบนี้ ทั้งที่มันไม่ใช่หน้าที่ของเราที่ต้องมาคอยระวังด้วย มันควรจะเป็นหน้าที่ของผู้รับเหมาหรือหน่วยงานที่ดูแลตรงนั้นมากกว่า ที่ต้องเข้ามาจัดการให้มันมีความปลอดภัย



[ภาพการขุดเจาะ-ฝังท่อ บริเวณทางหลวงหมายเลข 3214 ถ.คลองหลวง – ถ.เชียงราก]
นี่ขนาดผมเดินอย่างระวังแล้วนะครับ เดินดูพื้นตลอด แต่เรายังร่วงลงไปได้ คือถ้ามองจากสายตา ดูเผินๆ แล้ว มันเหมือนจะปลอดภัยนะครับ แต่มันไม่ปลอดภัยเลย ถ้าลองไปเดินผ่านตรงนั้นดูจะรู้เลยว่า เรามีสิทธิจะตกลงไปได้ตลอด กับการที่เขาเอาเชือกมาขึง มากั้นพื้นที่ให้เห็นแค่นั้น แต่ไม่ได้ช่วยเรื่องความปลอดภัยอะไรเพิ่มขึ้นเลย

ถ้าเทียบกับในต่างประเทศหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาจะมีมาตรการที่เข้มงวดกว่านี้ ลองย้อนมองดูหลายๆ เคสที่เคยเกิดขึ้นในบ้านเรา ประชาชนก็เอาผิดอะไรไม่ได้มากกับผู้รับเหมา ไม่รู้ว่าเป็นเพราะกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของเราเข้มแข็งไม่พอหรือเปล่า ในการที่จะกำหนดมาตรฐานการก่อสร้างให้ปลอดภัยเพียงพอ ทำไมผู้รับเหมาถึงไม่เคยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองสักที ทั้งที่มันควรจะทำให้เซฟมากกว่านี้ได้แล้ว



[แผลของ "น้องพีท" ที่ได้จากการตกท่อ]
แต่จริงๆ แล้ว เราไม่จำเป็นต้องเป็น "ประเทศพัฒนาแล้ว" ก็ได้ ที่จะทำให้ได้รับความปลอดภัยในชีวิตเรื่องทางเดินหรือถนนหนทาง ถึงเราจะยังเป็น "ประเทศที่ยังไม่พัฒนา" เราก็ทำให้มันเกิดขึ้นได้ ผมคิดว่ามันอยู่ที่จิตสำนึกมากกว่าว่า ในฐานะของคนที่รับผิดชอบก่อสร้างจุดไหนก็ตาม เราควรจะทำยังไงไม่ให้คนอื่นๆ ต้องมาเกิดปัญหาจากงานของตัวเอง จิตสำนึกที่จะต้องทำให้การก่อสร้างปลอดภัยที่สุด

ก็อยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบตรงนี้เข้ามาช่วยดูแลการก่อสร้างอย่างจริงจัง ไม่อยากให้เน้นแค่ว่างานเสร็จ หรือโฟกัสแค่งานของตัวเอง แค่เอาเชือกมากั้นแล้วก็แล้วไป ไม่ได้คิดถึงการใช้ประโยชน์จริงเลยว่า มันจะปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัย อยากให้มองถึงความปลอดภัยของผู้คนที่สัญจรไปมาแถวนั้นด้วย

ทุกวันนี้ ทุกครั้งที่ต้องเดินผ่านตรงนั้น ผมรู้สึกเลยว่าชีวิตผมเสี่ยงไปแล้วถึง 70 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกไม่มีความมั่นคงในชีวิตเลย หลังเกิดอุบัติเหตุผมก็เลยเลือกที่จะไม่เดินไปเส้นนั้นอีกเลย จากเคยเดินไปเซเว่นจุดนั้นตลอด ผมก็เปลี่ยนเป็นข้ามไปใช้บริการอีกเซเว่นนึงแทน เอาไว้เขาสร้างเสร็จเมื่อไหร่ ผมค่อยกลับมาเดินทางเดิม”



รับปากแก้ไข “ทางแคบ” แต่ไม่มี “แบล็กลิสต์ผู้รับเหมา”

[วงกลมสีแดง คือจุดเกิดเหตุ จุดที่ น้องพีท ตกท่อ]
ไม่ใช่แค่ น้องพีท เหยื่อทางเดินเท้าไร้ความปลอดภัยเท่านั้น ที่รู้สึกถึงความไม่มั่นคงในชีวิตบนทางเดินตรงจุดนั้น น้องไท้-ไท้ ดวงจันทร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เป็นผู้สัญจรอีกคนหนึ่งที่ออกมาช่วยคอนเฟิร์มผ่านปลายสายให้แก่ทีมข่าวว่า พื้นที่บริเวณนั้นน่าหวาดเสียวจริงๆ ทั้งยังสร้างความเดือดร้อนใจแก่คนเดินเท้าอย่างเขา จนทำให้ครั้งหนึ่งเคยโทร.ไปร้องเรียนที่เบอร์ “1586” สายด่วนกรมทางหลวงมาแล้ว ตั้งแต่ก่อนจะเกิดอุบัติเหตุกับเพื่อนร่วมสถาบันครั้งล่าสุด

“พอมารอบล่าสุด ที่เขาเริ่มขุดวางท่อระบายน้ำอันใหญ่ๆ แล้วก็กั้นพื้นที่เดินด้วยเชือกเล็กๆ มันยิ่งดูน่ากลัวมากขึ้น โดยเฉพาะจุดที่น้องเขาตกลงไปในหลุม มันแย่มาก น่าหวาดเสียวมากจริงๆ ครับ มันจะให้อารมณ์คล้ายๆ เวลาเราเดินไต่อยู่บนหน้าผา แล้วขอบหน้าผาตรงนั้น ดินมันกำลังจะถล่ม แต่คนแถวนั้นก็มีทางเลือกเดินไม่มากครับ คือจะเลือกเดินฝั่งที่ติดร้านค้า ที่เป็น "หน้าผาดินถล่ม" หรือจะเลือกเดินฝั่งติดถนน "เสี่ยงรถชนตาย" มีทางเลือกแค่นั้นเอง

ถ้าผมเป็นน้องคนนั้นที่หล่นลงไป ผมว่าผมคงต้องเรียกร้องค่าเสียหายครับ เพราะขนาดผมเดินผ่าน แล้วรองเท้าผมเปื้อน ผมยังรู้สึกหัวร้อนเลย เพราะผมเป็นคนรักรองเท้า (สะสมรองเท้าสนีกเกอร์ ราคาหลักพันจนถึงหลักหมื่น) แต่นี่น้องเขาต้องตกลงไปในโคลนอีก ยิ่งแย่ใหญ่

หลังจากที่มีน้องคนนั้นตกลงไป คืนนั้นผมก็โทร.ไปแจ้งที่เบอร์สายด่วนกรมทางหลวงเลยครับ เพราะตัวผมเองก็ทนมานานแล้ว และส่วนนึงผมก็คิดว่ามันเป็นหน้าที่ของประชาชนอย่างเราด้วยที่ต้องร้องเรียน เพราะถ้าเราไม่แจ้งไป เอาแต่บ่นลงโซเชียลฯ อย่างเดียว ภาครัฐเขาอาจจะไม่ทราบ อาจจะไม่เกิดผลอะไรเท่าไหร่ แต่เรื่องโซเชียลฯ ก็ช่วยได้เหมือนกัน แต่ผมว่าร้องเรียนหลายๆ ทางน่าจะดีกว่า”



[ล่าสุด "กรมทางหลวง" ได้ประสาน "บริษัท พลพรรธน จำกัด" บริษัทผู้รับเหมา ให้เข้ามาสร้าง "ราวกันตก" เรียบร้อยแล้ว]
ล่าสุด ตัวแทนหน่วยงานผู้รับผิดชอบพื้นที่เกิดเหตุอย่าง ธีระศักดิ์ วันนาพ่อ รองผู้อำนวยการแขวงทางหลวงปทุมธานี ฝ่ายวิศวกรรม ช่วยยืนยันจากการต่อสายตรงกับทีมข่าวแล้วว่า บริษัทผู้รับเหมาอย่าง “บริษัท พลพรรธน จำกัด” ได้เข้าไปร่วมตรวจสอบ แก้ไขจุดบกพร่องในพื้นที่ และตกลงจะเยียวยาจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่เหยื่อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“จุดที่เหลือทางเดินแคบ หรือเหลือทางเดินกว้างไม่ถึง 1 เมตร ทางเราได้กำชับทางบริษัทให้นายช่างเจ้าของพื้นที่ ให้ทำ "ราวสะพาน-ราวกันตก" เรียบร้อยแล้วครับ สำหรับคนที่กังวลว่าถ้าเสริมราวสะพานเข้าไปบนจุดที่ดินถล่มเดิม จะทำให้ราวถล่มลงมาด้วยหรือเปล่า อันนี้ไม่เป็นปัญหาครับ เพราะเราจะใช้วิธีเจาะฝังตัวราวสะพานตรงนั้นเข้าไปให้มั่นคงได้



[ความเคลื่อนไหวล่าสุด แก้ไขจุดเสี่ยงบนทางเดินเท้า ด้วยวิธีสร้าง ทำ "ราวสะพาน-ราวกันตก"]
จากการลงพื้นที่สำรวจหลังเกิดอุบัติเหตุ พบว่าจุดทางเดินที่แคบที่สุดบริเวณนั้น มีอยู่ 2 จุดด้วยกันคือ จุดที่ 1 จุดบริเวณข้างสะพานลอย ริมด้านนอก สุดเขตทาง และอีกจุดนึง จุดที่ 2 คือจุดที่น้องเขาตกลงไปนี่แหละครับ โดยเฉพาะบริเวณที่เกิดเหตุ จุดนั้นมีเสาเหล็ก-เสาป้ายข้างทางเดินอยู่ต้นนึง ที่ตั้งขวางทาง เราเลยจะถอนป้ายนั้นออก ก็จะทำให้ทางเดินตรงนั้นกว้างมากขึ้นกว่าเดิมด้วย

นอกจากนี้ เฉพาะส่วนพื้นที่แคบ เราจะเสริมกรวย เสริมแบริเออร์พลาสติกเข้าไป ให้ผู้ใช้ทางเดินเท้าได้เห็นชัดเจนว่าเป็นพื้นที่ก่อสร้าง หรือตรงบริเวณทางเท้าที่มีแนวท่อประปา ที่อาจจะทำให้คนเดินเท้าสะดุด เหมือนกับกรณีพื้นที่จุดเกิดเหตุครั้งนี้ ซึ่งตัวมิเตอร์ที่ต่อกับท่อหลักเข้าไป จะสูงกว่าระดับปกตินิดนึง เราก็จะพยายามเข้าไปปรับพื้นไม่ให้คนเดินเท้าสะดุด

แต่ในส่วนที่เหลือพื้นที่เดินเท้ากว้างพอ ถ้าเหลือพื้นที่ตั้งแต่ 2 เมตร 50 ขึ้นไป เราก็จะขอใช้แค่ "ธงราว" ให้รู้ว่าเป็นเขตกั้นพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งของเดิมที่ผ่านมาก็มีอยู่แล้ว และผมก็กำชับทางผู้รับเหมาไปแล้วครับว่า ก่อนกลับบ้านในแต่ละวัน ให้ลองเดินดูตามทางก่อนว่า ทางเท้าบริเวณจุดก่อสร้าง เราสามารถเดินได้อย่างปลอดภัยหรือเปล่า หรือถ้ามีจุดหมิ่นเหม่ตรงไหน ก็ต้องรีบแก้ไข”



[นอกจากสร้างทางกั้นแล้ว ยังให้วางกรวยเพิ่มบริเวณทางแคบด้วย]
เมื่อถามถึงเรื่องการ “แบล็กลิสต์” บริษัทผู้รับเหมาที่ทำงานโดยไม่คำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยของประชาชนว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์ซ้ำๆ กันขึ้นอีกแบบนี้ ทางกรมทางหลวงเองจะมีมาตรการเก็บสถิติเพื่อใช้แบน หรือตัดสินใจไม่ว่าจ้างบริษัทดังกล่าวหรือไม่ เกี่ยวกับเรื่องนี้ รอง ผอ.แขวงทางหลวงปทุมธานี ฝ่ายวิศวกรรม ให้คำตอบเอาไว้ว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีการพิจารณาในประเด็นนี้มาก่อน ส่วนเรื่องความล่าช้าของงานก่อสร้างนั้น มองว่าเป็นเรื่องที่ต้องขอความเข้าใจจากประชาชน

“เบื้องต้นคงต้องขอโทษผู้ประสบอุบัติเหตุและผู้เดินทางเท้าด้วยครับ ที่งานก่อสร้างทำให้ไม่สะดวกในการใช้ทาง ทางเราก็จะกำชับผู้รับจ้างให้แก้ไขและปรับปรุงทางเท้า ให้ผู้เดินมีทางเดินที่ปลอดภัย และจะพยายามเร่งงานให้เสร็จโดยเร็ว

ที่ผ่านมา ที่ทำให้งานล่าช้า เนื่องจากอุปสรรคจากการวางท่อ ที่จะส่งผลต่อสาธารณูปโภคต่างๆ ของคนในพื้นที่บริเวณนั้น ซึ่งต้องรอการประสานงาน การรื้อย้าย และสาธารณูปโภคบางอย่าง เช่น ไฟฟ้า, น้ำประปา ฯลฯ เราก็ไม่สามารถไปเร่งรัดเขาได้มากเท่าไหร่



[ทางเท้าแคบที่ต้องสร้างราวกั้นพิเศษเพิ่ม คือทางที่กว้างน้อยกว่า 1 เมตร]
ยังไงก็แล้วแต่ เมื่องานก่อสร้างส่วนนี้แล้วเสร็จ ก็จะดีตรงที่มีท่อระบายน้ำ จะทำให้ปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณนั้นดีขึ้น และจะมีทางเท้าที่สมบูรณ์ แต่ตอนนี้เนื่องจากจุดก่อสร้างและจุดทางเท้า มันคือจุดเดียวกัน เราจึงต้องพยายามทำให้งานก่อสร้างและการเดินเท้า มันไปด้วยกันได้ในคราวเดียว ซึ่งอาจจะทำให้เหลือทางเดินเท้าแคบลงไปบ้าง

ส่วนเรื่องแบล็กลิสต์บริษัทผู้รับเหมา เท่าที่ผ่านมายังไม่มีการเก็บสถิติเพื่อเอามาใช้ในจุดนี้นะครับ แม้กระทั่งเรื่องรถประสบอุบัติเหตุที่หน้างาน ส่วนใหญ่การแบล็กลิสต์ว่าจะว่าจ้างบริษัทนั้นๆ หรือไม่ จะพิจารณาจากผลงานความล่าช้าเป็นหลัก ส่วนเรื่องอุบัติเหตุแบบนี้คงต้องหารือกันเพิ่มเติมดูก่อน”







ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก "Jadetayakom Luythong", "Tai Duangjan" และแฟนเพจ "สภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต"


กำลังโหลดความคิดเห็น