xs
xsm
sm
md
lg

จิตรกรรมไทยร่วมสมัย “ศิลปะไทยยุค 4.0” ต้องปรับตัวถึงอยู่รอด!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
จิตรกรรมร่วมสมัย ถ่ายทอดออกมาเป็นครั้งที่ 20 ในนิทรรศการเชื่อมโยงระหว่าง ศิลปะ นวัตกรรม และความสุขของสังคมไทย “เพื่อความสุขของมวลมนุษยชาติ” ภายใต้แนวคิด “สร้างสรรค์เพื่อความสมบูรณ์ของชีวิต” โดยศิลปินรุ่นใหม่ที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น

หลายๆ คนคงคุ้นเคยกับคำว่า สังคมไทย ยุค 4.0 ยุคที่เศรษฐกิจต้องขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมในการทำสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีมาเป็นส่วนในการสร้างสรรค์ผลงาน หรือยุคที่ใครก็มองว่าอะไรๆ ก็เป็นดิจิตอลไปหมด
ศ.กิตติคุณกำจร สุนพงษ์ศรี ประธานคณะกรรมการตัดสินผลงาน กล่าวถึงจิตรกรรมไทยนั้น เป็นศิลปะที่มีเสน่ห์มาตั้งแต่ในอดีตแล้ว “จิตรกรรมร่วมสมัย หมายถึงสิ่งที่ทำในปัจจุบันนี้ จิตรกรรมสมัยดิจิทัล คือ สิ่งที่อะไรก็ตามที่บรรพชนไม่เคยทำไว้ สังคมมีส่วนในกระบวนความคิดให้เกิดศิลปะในวัฒนธรรมด้วย”

ความคิด หรือความเป็นไปของสังคมมีผลต่อการสร้างสรรค์ผลงาน และความเปลี่ยนแปลงไปในช่วงเวลาก็ทำให้เกิดผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมาด้วย โดยมีการพัฒนาให้ภาพดูร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น เช่นภาพที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการนี้นั้น มีแนวคิดและการสร้างสรรค์ผลงาน ในรูปแบบที่ร่วมสมัยยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ผศ.ธีระชัย สุขสวัสดิ์ ประจำสาขาศิลปกรรม หัวหน้าภาควิชามนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ยังกล่าวถึงศิลปะในยุค 4.0 ในเรื่องของการใช้นวัตกรรมนั้นมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวงการศิลปะไม่มากนัก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีระชัย สุขสวัสดิ์
 
“คือจริงๆ แล้วในยุค 4.0 นี้ศิลปะแทบจะไม่ต้องปรับตัวอะไรเลย เพราะว่าตามวิถีชีวิตของคนที่ดำเนินชีวิตมานั้น ค่อยๆปรับ ทยอยปรับตัวกันมาเรื่อยๆ อยู่แล้ว ในวงการศิลปะ ในเรื่องของกระบวนการคิด หรือวิธีการต่างๆ เหล่านี้ ก็ปรับไปตามสภาพสังคมที่ผ่านมาอยู่แล้ว

ทีนี้ในส่วนของ 4.0 ที่บอกว่า ในเรื่องของการใช้นวัตกรรม หรือเพื่อความยั่งยืนต่างๆ เหล่านี้ มีผลต่อวงการศิลปะไม่มากนัก กระบวนการที่ยังเป็นพื้นฐานดั้งเดิมอยู่ที่เรียกว่ากระบวนการทำงานศิลปะยังใช้อยู่ในรูปแบบเดิมๆ แต่แค่แตกต่างกันในเรื่องของการนำเสนอ หมายถึงว่า จะมีสื่อ หรืออุปกรณ์เทคโนโลยี เทคนิคการนำเสนอที่แปลก และแตกต่างไปจากสิ่งที่ผ่านมา”

ดังนั้น ลักษณะของวงการศิลปะจึงขับเคลื่อนไปในลักษณะที่ต้องปรับตัวเรื่อยๆ ตามสภาพสังคมอยู่แล้วนั่นเอง เพราะว่าทุกคนจะไม่ทำงานแบบเดิมๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะจะล้าหลัง ไม่ทันยุคสมัย เพราะฉะนั้นเมื่อบริบทของสังคมเปลี่ยนไป คนทำงานศิลปะทั่วไปจะต้องเปลี่ยนไปตามสังคม ทั้งเรื่องราว หรือคอนเซ็ปต์ที่ได้จากวิถีชีวิตของการดำเนินชีวิตในสังคม

หรือแม้กระทั่งเทคนิควิชาการ เมื่อสภาพแวดล้อมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปเหมือนกัน จากที่แต่ก่อนเคยร่างภาพด้วยดินสอ หรือสีธรรมดาพื้นๆ ทั่วไป ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนโดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ต่างๆ ที่มันทำให้กระบวนการทำงานรวดเร็ว และเห็นภาพได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และเห็นผลสำริดได้ง่ายขึ้น

 
นอกจากนี้ ผศ. ท่านเดิมยังกล่าวอีกด้วยว่า “ส่วนจิตวิญญาณพื้นฐานอย่างที่ ศ.กำจร กล่าวนั้นคือ อย่างไรก็ตามงานศิลปะนั้นก็ยังมีจิตวิญญาณของมันอยู่ที่เทคโนโลยีต่างๆ ไม่สามารถเข้าถึงได้ นั่นก็คือตัวงานที่ออกมาเสร็จแล้ว เช่น ศิลปินจะเพ้นท์งานสักชิ้น จากที่เคยใช้ฝีมือ 100% ในภาพร่าง
อาจใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ว่าสุดท้ายเขาก็ต้องจับพู่กัน หรืออุปกรณ์ต่างๆ เข้าไปต่อเติมจนงานนั้นเสร็จสมบูรณ์ แค่ปรับเปลี่ยนเทคนิควิธีการ กระบวนการทำงานให้รวดเร็ว สะดวก ง่ายยิ่งขึ้น แล้วสื่อเข้าถึงคนได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วยเทคนิค เทคโนโลยีต่างๆ”

สื่อดิจิทัลก็จะเป็นงานศิลปะอีกแขนงหนึ่ง เพราะวงการศิลปะไม่ได้อยู่แค่วาดภาพระบายสี ยังมีงานที่แสดงไอเดีย หรือวิธีการเรื่องของความคิด ดังนั้นศิลปินเหล่านี้จะไม่มานั่งระบายสี เขาจะหยิบอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในปัจจุบันที่สำเร็จรูปอยู่แล้วนำมาใช้งาน
ไม่ว่าจะเป็นสื่อดิจิตอล บางคนก็จะเป็นภาพวิดีโอ หรือภาพสามมิติ เพื่อทำให้คนดูรู้สึกตื่นเต้น เพื่อให้คนดูรู้สึกว่างานศิลปะมีปฏิกิริยาตอบโต้มากขึ้น นี่คือการใช้สื่อดิจิตอลเข้าไปมีส่วนร่วมกับงานศิลปะ มีภาพที่ทำในคอมด้วย

ปัจจุบันนี้นั้นมีนิทรรศการออนไลน์ที่สามารถให้คนเข้าไปชมได้เสมือนว่าเราได้ไปเดินชมอยู่ในงานนิทรรศการนั้นจริงๆ สำหรับผลงานรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 ได้แก่ “ลิงที่รอดชีวิต” โดย น.ส.ศริพร เพ็ชรเนตร จาก จ.กรุงเทพฯ ที่ใช้เทคนิคสีอะคริลิกถ่ายทอดแนวคิดที่มีมานาน คือ การรณรงค์การอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์แต่ผ่านการสื่อสารด้วยมุมมองใหม่ที่ทันสมัย มีอารมณ์ขันมากขึ้น
 
“ในฐานะของคนรุ่นใหม่ คิดว่าเสน่ห์ของจิตรกรรมไทย คือ ช่วงเวลาที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เพราะว่า ส่วนตัวของศิลปิน คือ การมีแรงบันดาลใจ หรือแรงขับเคลื่อนในการสร้างผลงานศิลปะ ส่วนมากจะมาจากสิ่งแวดล้อม ตัวตน และสภาพสังคม ส่วนตัวคิดว่าช่วงเวลาในแต่ละยุค คือ เสน่ห์ของศิลปินในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะค่ะ”
น.ส.ศิริพร เพ็ชรเนตร

 
โดยผลงานชิ้นนี้ จะมุ่งเน้นแสดงออกถึงความเป็นจริงทางสังคม ซึ่งนับเป็นหลักปรัชญาศิลปะสำคัญหลักหนึ่งในการสร้างงานศิลปะในปัจจุบัน โดยการนำเสนอผลงานผ่านภาพลิงสามตัวกับนางอายหนึ่งตัว ที่สวมใส่เสื้อผ้าของคน มาเป็นจุดสนใจบนภาพ

จัดให้มีการแต่งกายแบบคน แสดงกิริยาท่าทางคล้ายคนที่แตกต่างกันไป ซึ่งทุกอย่างนำมาแสดงได้ดีอย่างพอเหมาะ ที่สำคัญ คือ ภาพได้สร้างความประทับใจในการสร้างพลังแห่งการเยาะเย้ย ถากถางอย่างลุ่มลึก โดยนำร่างสัตว์มาแทนร่างคน

ส่วนผลงานศิลปะทั้ง 60 ชิ้น แบ่งออกเป็น ภาพของผู้ได้รับรางวัล 16 รางวัล และผลงานร่วมแสดง 44 รางวัล โดยคัดเลือกจากผลงานที่ส่งเข้าประกวด 216 ชิ้น จากศิลปิน 132 คนทั่วประเทศ ที่นำมาจัดแสดงนั้น เพื่อจุดประกาย สร้างแรงบันดาลใจ
รวมถึงต่อยอดงานจิตรกรรมไทยสู่ระดับสากล ของโครงการประกวดจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค “เพื่อความสุขของมวลมนุษยชาติ” ครั้งที่ 20 ภายใต้หัวข้อ “สร้างสรรค์เพื่อความสมบูรณ์แห่งชีวิต” โดยจัดแสดงให้ชมถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2561 เวลา 09.00 - 16.00 น. ทุกวันพุธ - อาทิตย์ (ปิดวันจันทร์ - อังคาร และวันนักขัตฤกษ์) ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลปะ ถนนเจ้าฟ้า
ซึ่งการจัดกิจกรรมประกวดจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค ครั้งที่ 20 นับเป็นเวลา 20 ปีที่บริษัทได้จัดกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งหวังที่จะสืบสานผ่านผลงานจิตรกรรม ส่งเสริมให้ศิลปินมีเวทีสำหรับการสร้างสรรค์ผลงานออกสู่สาธารณะชน อีกทั้งในปีนี้ยังเป็นการครบรอบ 100 ปี ในการดำเนินธุรกิจของ บริษัทพานาโซนิค ชิว เชลส์ (ประเทศไทย) จำกัด อีกด้วย
 
ข่าวโดย ทีมข่าวผู้จัดการ Live


กำลังโหลดความคิดเห็น