ทะลุ “3 ล้าน” เข้าไปแล้ว!! กับยอดวิวคลิป “ผู้บริหารฯ เดอะแร็ปเปอร์” จากรั้วพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง หลังลุกขึ้นมาสวมวิญญาณขาโย่ว ด้นแร็ปยาวเอาใจเฟรชชี่วัยโจ๋ จนถูกยกให้เป็น “อธิการฯ ที่เฟี้ยวที่สุด” ในวินาทีนี้
และแน่นอนว่านิสัยชอบ “ฉีกกฎ” ของเขาไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่คือสัญชาตญาณ “นักเปลี่ยนแปลง” ที่ติดตัวมาแต่ไหนแต่ไร และคือความรั้นแบบเดียวกับที่ทำให้เขาได้เป็นศาสตราจารย์ที่อายุน้อยที่สุดในสถาบัน ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำยุคใหม่ด้านวิศวกรรมเทคโนโลยีในต่างแดน ทั้งยังเป็นเจ้าของทฤษฎีอุโมงค์ใต้ดิน ที่มีคนใช้อ้างอิงติดอันดับ 5 ของโลก!!
เบื้องหลังปรากฏการณ์ “ผู้บริหาร เดอะแร็ปเปอร์”
[แร็ปต้อนรับเหล่าเฟรชชี่ จนกลายเป็นซูเปอร์สตาร์โซเชียลฯ]
...แจ็กเกตดำลวดลายมังกร หมวกแก๊ปปักตัวอักษร กางเกงเข้ารูปดูเข้าฟอร์ม ที่มาพร้อมแว่นดำเงาวับ จนสะท้อนภาพของคู่สนทนาผ่านกระจกเลนส์ได้...
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าถ้อยคำทั้งหมดที่พรรณนามา คือภาพลักษณ์เจ้าของตำแหน่ง “อธิการบดีแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)” คือผู้บริหารวัย 46 คนเดียวกับที่ยังคงดำรงตำแหน่ง “ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)” และรับหน้าที่ “รักษาการประธานสมาคมสถาบันการศึกษาขั้นอุดมแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สออ.)” แถมยังเป็นคนช่วยคิดเนื้อท่อนแร็ปท่อนข้างล่างนี้ เพื่อเอาไปใช้โชว์อวดเหล่าเฟรชชี่ของสถาบันอีกต่างหาก
“ขอต้อนรับสู่สถาบันนี้ ชีวิตมหา'ลัยก็ต้องเตรียมตัวให้เข้าที่ จงตั้งใจศึกษาวิชาชีพ จะสอบแต่ละครั้งก็อย่าลืมไหว้เจ้าที่ อยากสำเร็จต้องกล้าฝันกล้าสู้ เจออุปสรรคก็อย่าเพิ่งทำหน้ามู่ อยากจะเก่งก็ต้องขยันลุกลน ถ้าใครโชว์มือก็ขอให้ได้ A ทุกคน!!”
หลังได้ฟังการพูดใส่จังหวะแบบสดๆ จากปากผู้ชายที่อยู่ตรงหน้าชัดๆ กับหูเองแล้ว ก็พอจะทำให้ผู้สัมภาษณ์คลายความสงสัยไปได้ว่า ทำไมเด็กทุกคนถึงเรียกเขาว่า “พี่เอ้” ได้อย่างสนิทใจ แทนที่จะเรียก “อาจารย์” “ศาสตราจารย์” หรือ “อธิการบดี” ตามตำแหน่งอย่างที่ควรจะเป็น เดาว่าน่าจะเป็นเหตุผลเดียวกันกับที่ ท่อนแร็ปๆ กับท่าทางฮิปๆ เมื่อสักครู่นี้ ทำให้ทีมงานที่อยู่ตรงนั้น รู้สึกผ่อนคลายและยิ้มกว้างๆ ไปได้พร้อมๆ กัน
“เทียบกับการปฐมนิเทศแบบเดิมๆ ที่จะมีคณบดี อธิการบดี เข้ามาอบรม เราก็อยากทำอะไรใหม่ๆ ให้น้องๆ รู้สึกว่าเป็นกันเอง เลยมานั่งคิดว่าจะทำยังไงให้เข้าถึงเด็กรุ่นนี้ แล้วก็ได้คำตอบว่าน่าจะต้องใช้เพลงแร็ปมาช่วย
เหมือนพอพูดถึงคำว่า “เพลงแร็ป” กับคำว่า “อธิการฯ” มันก็ดูขัดแย้งกันดี ก็เลยเลือกว่าคงจะต้องเป็นแนวนี้ แล้วก็ให้คณบดีช่วยกันเขียนคำพูดของแต่ละคณะขึ้นมาคร่าวๆ ว่า แต่ละคณะต้องการสื่ออะไร จากนั้นก็ให้ “น้องนิลโลหิต (นภ หอยสังข์)” แร็ปเปอร์ชื่อดัง ศิษย์เก่า สจล. (คณะอุตสาหกรรมเกษตร) มาช่วยแปลงเป็นภาษาแร็ปให้อีกที แต่แปลงเป็นแร็ปแบบสุภาพนะครับ”
[ยอมสวมชุดแร็ปโย่วให้ทีมงาน เพื่อให้เก็บภาพ "อธิการฯ ขวัญใจเด็กแนว" ตามคำขอ]
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ยิ้มปิดประโยคด้วยแววตาแห่งความภาคภูมิใจ ก่อนเจาะเบื้องหลังความพยายามให้ฟังเพิ่มอีกว่า คณบดีที่เห็นในคลิปทุกคนต้องทุ่มเวลาซ้อมกันอย่างจริงจัง ไม่ต่างไปจากคณะวิศวกรรมสังคีตประจำสถาบัน ที่ลงแรงมาช่วยทำพาร์ตดนตรีให้เองด้วย
“จริงๆ แล้วเวลาซ้อมเรามีไม่เยอะหรอกครับ คือซ้อมกันวันเสาร์-อาทิตย์ก่อนขึ้นโชว์ แต่เราก็ทุ่มเทกันมากๆ ซ้อมกันไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยเที่ยว กว่าจะได้เสียงแต่ละท่อนแบบนั้น พอวันโชว์ก็มีลิปซิงก์บ้าง อีกส่วนนึงก็ร้องสดไปด้วย
เพราะถ้าจะให้ร้องสดหมดคงไม่ไหว ด้วยจังหวะของเพลงด้วยแล้ว โดยเฉพาะตอนขึ้นแต่ละท่อนที่ยากมาก
เนื่องจากเพลงแนวนี้จะไม่มีจังหวะการขึ้นที่ชัดเจนเหมือนเพลงทั่วไป ต้องมีเข้าห้องอัดด้วย แต่ละคนต้องมี voice training คอยสอนเรื่องการออกเสียง ทำกันจริงจังเหมือนเป็นศิลปินเลย
[โฉมหน้าคณบดี ผู้ร่วมก๊วนแร็ปโย่ว หลังสลัดคราบ "เดอะแรปเปอร์" ออกไปแล้ว]
เพราะเราตั้งใจทำให้น้องๆ เห็นว่า เราอยากจะเข้าถึงเขา ถึงขนาดที่เรายอมปรับตัวเอง ปรับจากการเป็นครู เป็นคณบดี เป็นอธิการบดี มาเต้นอยู่ตรงนั้นให้ดู อยากสื่อว่าขนาดพวกเรายังตั้งใจขนาดนี้ พี่เอ้กับคณบดีก็ไม่ได้ขออะไร ขอให้น้องๆ ตั้งใจเรียน และเป็นคนดีก็พอ”
ที่น่าชื่นใจก็คือ หลังเปิดตัวด้วยการเขย่าจังหวะแร็ปไปในโชว์นั้นแล้ว พอเข้าสู่ช่วงของการอบรม ถอดแจ็กเกต-สละแว่นแฟชั่นทิ้ง นักศึกษาปี 1 ทุกคนก็ยังคงนั่งฟังโอวาทของเหล่าผู้บริหารอย่างตั้งใจ สะท้อนให้เห็นว่าการพยายามเข้าถึงคนรุ่นใหม่ด้วยวิธีใหม่ๆ แบบนี้ ได้ผลและได้ใจไปเต็มๆ
[ถอดแจ็กเกต กลับสู่โหมดให้โอวาทน้องๆ หลังแร็ปโชว์]
“คือหลังจากเราแร็ปดึงดูดความสนใจของเขาไปตั้งแต่แรก พอเริ่มพูดให้ฟัง เขาก็หยุดฟังกันแบบเงียบสนิท กลายเป็นว่าไม่มีใครเล่นโทรศัพท์มือถือเลย คนที่ไม่ได้มาก็บ่นกับเพื่อนว่าเสียใจกันหมด
พี่คิดแค่ว่าทุกอย่างเราเริ่มเปลี่ยนแปลงทุกอย่างจาก “บ้านของเรา” อย่างพี่เต้นแร็ป พี่ก็เต้นในบ้านของตัวเอง เวลาเราจะสอนลูก-สอนน้องเรา เราก็เริ่มจากในบ้านเราก่อน แต่เผอิญว่ามีคนมาให้ความสนใจเยอะ ซึ่งก็ขอบคุณแล้วก็ดีใจมากครับที่มีคนชื่นชม และมีคนบอกว่าเขาเข้าใจเรา ที่เราอยากสร้างความเปลี่ยนแปลง
บอกว่าขอเป็นกำลังใจให้ อยากให้พี่เอ้ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงต่อไป พวกเรารู้ว่ามันเหนื่อย บางครั้งมันก็ลำบาก แล้วก็ไม่ง่าย และไม่ใช่ว่าจะมีแต่คนเห็นด้วย แต่พวกเขาก็ขอเป็นส่วนนึงที่ให้กำลังใจ ให้เราทำดีแบบนี้ต่อไป พอได้ฟีดแบ็กแบบนี้กลับมาแล้วก็ซึ้งครับ และเราก็หยิบจุดนี้แหละมาเป็นแรงผลักของเราต่อไปได้อีก”
ตอกกลับกระแสลบ “มัวแต่แร็ป จนลืม TCAS”
เมื่อมี “คำชม” ก็ต้องมี “คำติ” และหนึ่งในประเด็นใหญ่ๆ ที่สังคมฝากถามเอาไว้ให้ว่อนเน็ต ก็คือคำอธิบายของพี่เอ้ในฐานะที่เป็น “ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)” ผู้ดูแลระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยปีล่าสุดอย่าง “TCAS (Thai University Center Admission System)” ที่ถูกรุมยำเรื่องการจัดการว่าเละไม่เป็นท่า ทั้งยังฝากคอมเมนต์หยิกแกมหยอกเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า “แร็ปเสร็จแล้ว อย่าลืมกลับมาแก้ TCAS ด้วยนะ”
รอยยิ้มเย็นๆ คือสิ่งแรกที่หัวเรือใหญ่ผู้จัดการระบบการคัดเลือกเจ้าปัญหาดังกล่าวส่งมาให้ ก่อนออกตัวให้ได้เข้าใจตรงกันว่า แท้จริงแล้ว TCAS ไม่ใช่ไอเดียการปรับเปลี่ยนที่เริ่มต้นจากตัวพี่เอ้เองอย่างที่หลายคนเข้าใจ เขาแค่เข้ามารับหน้าที่ประธานหัวโต๊ะ แต่ก็ยังยืนยันที่จะสนับสนุนระบบใหม่ เนื่องจากมองเห็นช่องโหว่ที่ปล่อยเอาไว้ไม่ได้ของระบบเดิม จึงต้องรีบเปลี่ยนแปลง!!
“พี่เข้ารับตำแหน่งตอนปี 60 แต่ระบบมันเริ่มมาก่อนนั้น เริ่มมาจากปัญหาที่มันเกิดขึ้นจริงในสังคมไทย เรื่องปัญหาระบบการรับเด็กเข้ามหาวิทยาลัยของแต่ละสถาบัน ที่รับไม่พร้อมกันเลย หมายความว่า ถ้าเด็กๆ อยากสอบสถาบันไหน ก็ต้องลงทุนนั่งเครื่อง นั่งรถทัวร์ ไปสอบแต่ละที่เองตามแต่ละจังหวัด แล้วถ้าเกิดครอบครัวของเขาไม่มีเงิน ไม่มีเวลาพอล่ะ จะทำยังไง
เด็กที่เก่งบางทีก็สอบติด 10 ที่ 15 ที่ แต่ก็ไม่มีใครรู้นะว่าเขากั๊กที่ เพราะผลการสอบมันไม่ได้ถูกประกาศให้คนเห็นในครั้งเดียว คนก็บ่นว่าระบบแบบนี้ไม่ไหว เป็นแบบนี้มายาวนาน ไม่มีใครลุกขึ้นมาแก้ไข
[ประธาน ทปอ. อีกหนึ่งหน้าที่ที่ต้องรับบทหนัก]
อีกประเด็นที่เป็นปัญหาของระบบเดิมก็คือ ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่โด่งดัง และเขากลัวคนจะไม่มาสอบของเขา เขาก็จะจัดสอบตัดหน้าสถาบันอื่นๆ ก่อน จนสุดท้ายมันกินเวลาขึ้นมาถึงการเรียนการสอนของชั้น ม.6 ตั้งแต่ต้นเทอมเลย กลายเป็นว่าเด็กๆ ไม่มีกะจิตกะใจจะเรียนแล้ว เพราะต้องเตรียมตัวไปสอบตามที่ต่างๆ ที่กำหนดวันสอบของตัวเองเอาไว้
ถามว่าถ้าคุณเป็นคนในแวดวงการศึกษา แล้วเห็นปัญหาแบบนี้ คุณจะปล่อยไปไหม? แต่พอมีตัวระบบ TCAS ออกมาเพื่อแก้ปัญหานี้ ก็กลายเป็นอีกฟีดแบ็กกลับมา
ซึ่งพี่เอ้คงได้แต่บอกว่า มันไม่มีอะไรที่จะเพอร์เฟกต์ตั้งแต่ครั้งแรกหรอกครับ ถ้าเราคิดจะเปลี่ยนแปลง เหมือนเวลาเราไปตัดผมทรงใหม่ มันก็คงออกมาไม่ได้หล่อตั้งแต่ในครั้งแรกหรอก หรือเวลาอยากจะเปลี่ยนลุคใหม่ มันคงยากที่จะทำให้ลงตัวตั้งแต่ครั้งแรก”
ให้ลองเทียบระบบการคัดเลือกนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยกับระดับสากลดูแล้ว อธิการฯ หัวใจวัยรุ่นคนนี้มองว่า ถึง TCAS จะยังเหลือช่องโหว่ในบางจุด แต่มันคือระบบที่ “ให้โอกาส” ผู้เข้าแข่งขันได้หลากหลายและสมเหตุสมผลที่สุดแล้ว โดยเฉพาะรอบการคัดเลือกรอบแรก ซึ่งคัดจาก “พอร์ตฟอลิโอ (portfolio)” เปิดโอกาสให้เด็กกิจกรรม-มีความสามารถพิเศษได้รับเลือกจำนวนถึง 90,000 คน
“แม้แต่มหาวิทยาลัยในเมืองนอกเขาก็คิดแบบนี้หมดครับ คือเขาไม่ได้ต้องการรับคนที่เรียนเก่ง สอบได้คะแนนดีอย่างเดียว แต่เขาอยากรับเด็กที่เรียนพอได้ แต่พร้อมทำกิจกรรมเพื่อสังคม อย่างที่ MIT (Massachusetts Institute of Technology : สถาบันเทคโนโลยี แมสซาชูเซตส์) ที่พี่เข้าไปเรียนได้ ก็ไม่ใช่เพราะพี่เรียนเก่ง แต่เพราะพี่มีความมุ่งมั่นอยากจะเปลี่ยนแปลง เขาเห็นสิ่งนั้นในตัวพี่เอ้
ไม่อย่างนั้นพี่ไม่มีสิทธิเข้าไปเรียนหรอกครับ ถ้าเขาจะเน้นเรื่องคะแนนในการเลือกคนอย่างเดียว เพราะพี่เอ้เรียนได้เกียรตินิยมอันดับสุดท้าย ได้เกรด 3.01 สอบโทเฟลก็ตกแล้วตกอีกถึง 14 ครั้ง แต่เราเป็นนักกิจกรรม เป็นผู้นำนักศึกษา หรือแม้แต่ที่ Harvard เขาก็มีวิธีการเลือกนักศึกษาแบบนี้กันหมด”
การคัดเลือกรอบที่ 2 ก็เป็นรอบที่เปิดโอกาสให้ “โควต้าเด็กต่างจังหวัด” อีก 20,000 ที่นั่ง ได้รับคัดเลือกโดยที่ไม่ต้องมาแข่งขันกับสนามใหญ่ มีเพียงรอบคัดเลือกรอบที่ 3 เท่านั้น ที่กลายมาเป็นชนวนของปัญหาที่ดูร้ายแรงในสายตาผู้ได้รับผลกระทบ
“รอบที่ 3 เป็นรอบที่ระเบิดลง เพราะผลการสอบของเด็กออกมาชนกันให้เห็น กลายเป็นว่ามีเด็กแพทย์มีชื่อติดทั้ง 4 สถาบัน ซึ่งมันมาจากความคิดที่ว่า “เด็กทุกคนมีสิทธิ” และเราก็มีเวลาให้เขาตัดสินใจสละสิทธิภายใน 6 วัน แต่เพียงเสี้ยววินาทีที่คนเห็นผลประกาศ เขาก็หาว่ากลายเป็นปัญหา “กั๊กที่” ไป จนเกิดเป็นชนวนระเบิดขึ้นมา ซึ่งเราก็ได้เรียนรู้จากข้อบกพร่องตรงนั้นแล้ว”
รับคำวิจารณ์เละ ก้มหน้ากวาด “ขยะใต้พรม”
ทุกครั้งที่มีคนเอ่ยถึงปัญหาเรื่องระบบ TCAS ขึ้นมา คนที่จะถูกสังคมชี้หน้าตำหนิในประเด็นต่างๆ คงหนีไม่พ้นเจ้าของตำแหน่งสูงสุดในที่ประชุม แม้เขาจะรับหน้าที่เพียงประธานหัวโต๊ะ จัดการดูแลเสียงข้างมากจากอธิการบดีทั่วประเทศ ไม่ใช่ผู้มีสิทธิขาดในการเลือกคำตอบใดๆ ก็ตาม พูดง่ายๆ ว่าตำแหน่ง “ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย” ไม่ต่างไปจากการเป็น “หนังหน้าไฟ” แต่ถึงอย่างนั้น ผู้ชายคนนี้ก็ยังยอมรับฟีดแบกทั้งหมดเหล่านั้น เพราะมองเห็นคำว่า “เพื่อสังคม” สำคัญที่สุด
“ถามว่าเข็ดไหมกับตำแหน่งนี้ มันเป็น “หน้าที่” ของเราครับ พี่เลยต้องกลืนมันเข้าไป โดยที่พี่ไม่โทษคนอื่นเลย ซึ่งมันยากนะ ที่เราต้องกลืนเลือดเข้าไปอย่างเดียว
บางครั้งเราเป็นทหาร เราไปออกรบ เรารู้ทั้งรู้อยู่ เวลามองเข้าไปในสนามรบ เราเห็นแล้วว่าศัตรูที่จะเข้ามายึดเมืองเรามันมีอยู่เต็มไปหมดเลย แต่พอหันไปดูข้างหลังเรา กลับมีคนแค่หยิบมือ ถามว่าคุณจะทำยังไง? มันคือคำว่า “responsibility of duty” เลยครับ หมายความว่ายังไงเราก็ต้องเดินหน้าต่อไป สำคัญที่สุดคือทุกคนต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ด้วยหัวใจเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
รู้ไหม..พี่เคยเชื่อว่าแค่เรามีความฝัน มีความเชื่อ มีความกล้า มันก็พอแล้วที่จะเปลี่ยนแปลง แต่จริงๆ มันยังไม่พอ... พอพี่ได้มาอยู่ตรงจุดนี้ มาทำหน้าที่เป็นหนึ่งในคนที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง กลับเจอคนด่าว่าเสียหาย ทั้งที่ทุกอย่างเราทำเพื่อสังคม เป็นคุณ คุณขมขื่นไหม? แต่ถามว่าคุณจะทำยังไงต่อไป คุณจะหยุดไหม?
คุณก็ต้องทำให้เห็นยิ่งไปกว่าเดิม ต้องปรับตัว เพื่อทำให้ดีขึ้นต่อไป แต่ก็ต้องเข้าใจว่าระบบที่มีคนอยู่ในระบบเป็นล้านคน มันเป็นไปไม่ได้หรอกครับที่จะทำให้คนทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ถูกใจได้”
การปรับเปลี่ยนเวอร์ชันล่าสุดของระบบ TCAS เพื่อให้ส่งผลกระทบต่ออนาคตของชาติทั้งประเทศน้อยที่สุด ก็คือการปรับให้การคัดเลือกรอบที่ 3 เปลี่ยนจากอนุญาตให้ผู้เข้าสอบติดได้ทั้ง 4 อันดับ มาเป็นกำหนดผลสอบแบบ “เรียงคะแนน” โดยอนุญาตให้เด็กๆ ติดได้แค่ที่เดียว เรียงตามลำดับที่เลือกเอาไว้
“เราปรับมาเป็นเด็กจะติดได้แค่ที่เดียวเท่านั้น แต่จะมีให้เลือกเพิ่มขึ้น จาก 4 อันดับ เป็น 6 อันดับ ซึ่งน่าจะช่วยแก้ปัญหาระเบิดลงแบบเดิมไปได้ แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยังไม่เพอร์เฟกต์สำหรับทุกคนหรอกครับ เด็กบางคนก็จะบอกว่าทำไมต้องมาตัดสิทธิเขา ในเมื่อเขามีสิทธิจะติดได้ทั้ง 4 อันดับ เพราะอย่างมหาวิทยาลัยที่อเมริกา เขาก็จะมองว่ามันคือ freedom ของแต่ละคน
ส่วนเรื่องการกั๊กที่ที่คนเขาห่วงกัน ถ้าลองฟังดูอย่างใจเย็นๆ เราจะพบว่าปัญหาของระบบเดิมมันก็มีอยู่ แต่มันอยู่ใต้พรมอย่างน่ากลัว ไม่มีใครรู้ว่าเด็กติดกี่ที่ แต่ระบบการศึกษาในชั้น ม.6 ของแต่ละโรงเรียนเนี่ย พังพินาศไปหมดแล้ว ถามว่าถ้าคุณเป็นคนในวงการศึกษา คุณจะปล่อยไปไหม?
พอเราไม่ปล่อย และลุกขึ้นมาทำ TCAS ซึ่งไม่ใช่พี่เอ้คนเดียวนะครับ พี่แค่รับหน้าที่ “ประธานหัวโต๊ะ” สานต่อความร่วมมือของทุกคนที่อยากจะแก้ปัญหาเดิมด้วยความองอาจ เพราะเราอยากให้ชีวิตของเด็ก ม.6 เหมือนสมัยที่เราเรียน เป็นวันแห่งความสวยงาม เป็นวันแห่งความผูกพัน แต่ช่วงเวลาเหล่านั้นกลับต้องมาสูญสลายไปเพราะเรื่องของ “การรับตรง” ของแต่ละมหาวิทยาลัย”
ทุกวันนี้ ที่ยังคงพยายาม อึด-สู้-ทน แก้ไขปัญหาด้านการศึกษา เพราะพี่เอ้มองว่าที่ตัวเขาเองมีทุกวันนี้ได้ ก็เพราะได้โอกาสทางการศึกษาเช่นเดียวกัน ดังนั้น ถ้าเขาเลือกที่จำนน ไม่คิดจะปฏิรูปให้ประเทศของเราดีขึ้น คิดที่จะหนีเพราะถูกคำตำหนิ-ติ-บ่น ก็ถือว่าตัวเองไม่ได้ตอบแทนคุณแผ่นดิน
“ก็อยากจะให้ทุกคนคิดถึงส่วนรวมครับ ให้มองกันที่เจตนา และอยากให้เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้เริ่มต้นที่ความสมบูรณ์แบบหรอกครับ แต่มันก็ต้องเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ
และถ้าเราไม่ให้กำลังใจคนที่คิดจะเปลี่ยนแปลงจริงๆ ในอนาคตก็จะไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ดี ไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาปฏิรูปการศึกษา ไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาปฏิรูปประเทศและสังคม เพราะปฏิรูปปั๊บ พอคนไม่ถูกใจ ก็เจอต้านกลับมาปั้งเลย พอเจอแบบนั้นเขาก็ถอยกันหมด สุดท้ายก็จะไม่มีคนที่จะกล้าถือธงเข้ามา
เพราะฉะนั้น ก็อยากจะให้คุณเข้าใจและเห็นแก่ส่วนรวมว่า คนที่อยู่ตรงนี้ เขาน่าเห็นใจนะ เขาเป็นนักรบที่ออกไปต่อสู้เพื่อลูกหลานของคุณ และถ้ามีคนกล้าทำต่อไปเรื่อยๆ สุดท้ายพอคนมองเห็น
สมมติมีคนเห็นว่า ขนาด “สุชัชวีร์” ที่โดนแบบไม่สมควรโดน เขายังเดินหน้าต่อไปได้เลย แล้วทำไมเขาจะทำไม่ได้ แต่ถ้าพี่ถอย ไม่เอาแล้ว ยอมแพ้ คนต่อไปเขาจะกล้าลุยไหม.. ไม่กล้าหรอกครับ เพราะฉะนั้น พี่ก็ต้องทำเพื่อส่วนรวมต่อไป”
แววตาแห่งความผิดหวัง จุดพลิกผัน “เด็กเกือบรีไทร์”
[จากเด็กเกือบรีไทร์ สู่เจ้าของทฤษฎีการขุดเจาะอุโมงค์]
...ได้รับประกาศเกียรติคุณให้เป็น “นักเรียนทุนรัฐบาลไทยดีเด่นเข็มทองคำ” ที่มีอายุน้อยที่สุดในประเทศไทย, ได้เป็น “ศาสตราจารย์ที่มีอายุน้อยที่สุด” ในสถาบันพระจอมเกล้าลาดกระบัง, ได้รับรางวัล “วิศวกรดีเด่นแห่งอาเซียน” จากสมาพันธ์วิศวกรรมอาเซียน, ได้เป็น “ศาสตราจารย์ด้านการก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์” คนแรกของประเทศไทย
ได้รับประกาศเกียรติคุณ “ไฮเซนฮาวร์ เฟลโลว์ชิป (Eisehower Fellowships)” ประจำปี 2012 ในฐานะผู้นำยุคใหม่ด้านวิศวกรรมเทคโนโลยี จากมูลนิธิประธานาธิบดี ดไวท์ ไฮเซน ฮาวร์ แห่งสหรัฐอเมริกา, ได้เป็น “คนคิดค้นทฤษฎีการคำนวณการขุดเจาะอุโมงค์” ที่มีประสิทธิภาพ ที่ได้รับการยอมรับไปใช้อ้างอิงมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก ฯลฯ...
แน่นอนว่ากว่าผลงานของพี่เอ้จะได้รับการยอมรับ ไต่เต้าจากระดับประเทศไปสู่ระดับโลกได้อย่างทุกวันนี้ ต้องแลกกับวันและคืนแห่งความพยายามมานับครั้งไม่ถ้วน ลองให้ลองนึกย้อนกลับไป จึงพบว่าจุดตัดของชีวิตเด็กต่างจังหวัดคนนึง มาจากวันที่คุณพ่อคุณแม่ของเขา พยายามผลักดันให้ลูกชายหัวดีชั้น ม.3 คนนึง เอื้อมมือคว้าความฝันในการสอบเข้าโรงเรียนชื่อดังประจำเมืองหลวงของประเทศ เพราะหวังให้เขามุ่งสู่หนทางแห่งความสำเร็จในชีวิตได้อย่างราบรื่นที่สุด
“ตอนนั้นพี่สอบได้ที่ 1 ของโรงเรียนระยองวิทยาคมมาตลอด ก็เลยมาสอบที่โรงเรียนดังของที่นี่ ปรากฏว่าวันที่ประกาศผล คุณพ่อก็นั่งรถ บขส.มาจากระยอง มาเฝ้าที่หน้าโรงเรียนตั้งแต่ตอนเย็นๆ เพราะได้ข่าวมาว่าเขาจะติดประกาศผลสอบตั้งแต่ตอนเที่ยงคืนของวันนั้น มาถึงคุณพ่อก็มาตีสนิทกับ รปภ.ของโรงเรียนไว้ ถึงเวลาก็จดชื่อลูกแล้วฝากให้เขาเข้าไปเช็กให้ รปภ.ก็เข้าไปส่องไฟดูให้ แล้วก็ยกมือขึ้นบอก
พ่อเห็นแบบนั้นก็ดีใจ สงสัยได้ที่ 5 ของประเทศ เพราะคิดว่าลูกเรียนหนังสือเก่งไงครับ (ยิ้ม) พอสักพักเริ่มสังเกตเห็นมือที่ชูเริ่มโบก รปภ.เดินมาบอกว่าไม่เห็นชื่อลูกครูเลยนะ ไปเช็กดูอีกทีก็ไม่มี เท่านั้นแหละ พ่อก็นั่งรถ บขส.เที่ยวสุดท้ายกลับมาบ้าน มานั่งร้องไห้กับแม่ เพราะเขาผิดหวัง พี่เอ้ก็ร้องไห้นะ เพราะรู้สึกว่าทำให้พ่อแม่ผิดหวัง
ตอนนั้นก็มีคนเสนอว่า ให้เข้าโรงเรียนนั้นสิ หรือมีวิธีเข้าแบบพิเศษต่างๆ แต่แม่กับพ่อก็ให้คำตอบว่า เราไม่เริ่มต้นชีวิตด้วยวิธีแบบนี้หรอก เลยให้พี่กลับมาเรียนที่โรงเรียนเดิม และพี่ก็เรียนสบายเลย เพราะเพื่อนที่เคยเป็นคู่แข่ง คนที่เรียนเก่งๆ ติดโรงเรียนดังๆ ไปหมดแล้ว 7 คน และพี่ก็ได้ที่ 1 ของจังหวัด จนได้โควต้าช้างเผือก (ปี 2533) มาเรียนที่ลาดกระบัง”
แต่แล้วการก้าวเข้ามาเป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมก่อสร้าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก็กลายมาเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตอีกครั้งนึง ที่ทำให้ “เด็กเรียนดี” ต้องเกือบเป็น “เด็กรีไทร์” เพราะมัวแต่ทำกิจกรรม รับตำแหน่งเป็นประธานวิศวะรุ่นที่ 29 ในขณะนั้น แถมยังติดเพื่อนจนลืมเรียน จนกลายมาเป็นจุดพลิกผันครั้งสำคัญในชีวิต
“จากเด็กต่างจังหวัด อยู่กับพ่อกับแม่มาตลอดไงครับ พอมาอยู่หอกับเพื่อนๆ ก็ติดสนุก ไม่เรียนเลย ทำแต่กิจกรรม ทั้งเป็นประธานนักศึกษา เป็นนักกีฬา ทุกอย่างทำหมด แต่ไม่เอาเรื่องเรียนอย่างเดียว
ปรากฏเกรดเทอมแรกออกมาได้ 2.75 ซึ่งก็ถือว่าโอเคนะสำหรับคนที่ทำแต่กิจกรรม ก็เลยเหลิง พอเทอม 2 มา ก็เลยไม่เข้าเรียนเลย พอเกรดออกมามีแต่ D, C, B พี่เห็นคะแนนแล้ว ถึงกับต้องมานั่งที่บันไดเลย บันไดตึกที่พี่เป็นอธิการฯ ตอนนี้นี่แหละครับ (ยิ้ม) เพื่อนก็เดินมาตบไหล่เลย บอกว่าถึงเอ้ไม่อยู่ที่นี่ เราก็ยังเป็นเพื่อนกันนะ
ตอนนั้นยังเหลือเกรดวิชาสุดท้ายไม่ออก วิชา “ความเป็นผู้นำ” เขาให้เด็ก 525 คนมาอยู่ในหอประชุม แล้วเชิญบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ทั้งจากหน่วยธุรกิจ, หน่วยงานราชการ ทั้งศาสตราจารย์มาเล่าชีวิตให้ฟัง เพื่อนๆ คนที่เรียนเก่งอยู่แล้วก็ไม่ค่อยสนใจ เอาโจทย์วิชาเลขขึ้นมาทำ ส่วนเพื่อนที่ไม่สนใจก็นอน แต่พี่ตั้งใจฟังเพราะอยากเป็นอย่างเขา
สุดท้าย ข้อสอบออกมาว่าจงอธิบายว่า แต่ละคนที่มาพูดให้ฟัง พูดเรื่องอะไรบ้าง พี่อธิบายไปจบ 2 เล่มเลย เพราะเราชอบ เราอยากประสบความสำเร็จเหมือนวิทยากร ปรากฏว่าเราได้ A อยู่คนเดียวเลย จนเกรดวิชานั้นช่วยฉุดเกรดตัวอื่นๆ ขึ้น จนเกรดเฉลี่ยพี่ออกมาได้ 2.01 รอดจากการถูกรีไทร์แบบเฉียดฉิว
หลังจากนั้น พี่ก็กลับบ้าน ตอนนั้นพ่อย้ายไปอยู่ที่ชลบุรีแล้ว มารอรับเราที่ท่ารถตั้งแต่เช้าเลย เพราะสมัยนั้นยังไม่มีโทรศัพท์มือถือ เราก็มัวแต่เตร็ดเตร่แบบเด็กไม่สนใจพ่อแม่ กว่าจะถึงบ้านก็ 4-5 โมงเย็น พ่อรอรถผ่านไปตั้ง 7-8 คัน พอเห็นเราเขาก็ไม่ว่า เข้ามาเล่าให้ฟังว่า พ่อเพิ่งพาเด็กๆ ทำจิตอาสาที่วัด เจ้าอาวาสเขาเลยกรุณาดูดวงเผื่อลูกมาให้ด้วย เขาบอกว่าลูกได้เกียรตินิยม พี่หันไปบอกทันทีเลยว่า พ่อเห็นไหม หมอดูคู่กับหมอเดา รู้ไหมลูกได้เกรดเท่าไหร่
หันไปเอาเกรดให้พ่อดู จากสายตาพ่อที่เห็นลูกยิ้มมีความสุข แวบนึงพี่เห็นสายตาแห่งความผิดหวัง-เสียใจของเขา แต่เหมือนเขากลัวลูกจะตกใจ เลยรีบเปลี่ยนสีหน้า บอกไม่เป็นไรหรอกเอ้ ขอให้เอ้ไม่ถูกรีไทร์ เรียนจบแล้วกลับมาทำงานที่บ้านเรา พ่อกับแม่ก็ดีใจแล้ว
แต่พี่จำสีหน้านั้นได้จนถึงทุกวันนี้ ความเสียใจของพ่อในวันนั้น ตั้งแต่นั้นมา เท่าที่จำได้ ไม่เคยได้ต่ำกว่า 3.5 - 3.7 อีกเลย พอจบมาก็ได้เกียรตินิยมคนสุดท้ายของรุ่นเลย ได้เกรด 3.01 พอดีเลย ถือว่าเราพลิกชีวิตกลับคืนมาได้ทัน จากที่เคยเกือบถูกรีไทร์ในวันนั้น”
เก่ง-กล้า-ทน หอบความฝันเข้าพบ “ผู้ว่าฯ”
[ภาพประวัติศาสตร์ หอบโปรเจกต์เส้นทางใต้ดิน เข้าพบผู้ว่าฯ]
เด็กจบใหม่คนนึง หอบเอาโปรเจกต์เปลี่ยนประเทศ ขอเข้าพบผู้ว่าฯ กทม. ไม่ว่าใครจะให้คำนิยามว่ามันคือ “ความกล้า” หรือ “ความบ้า” แต่สำหรับพี่เอ้แล้ว เขามองว่ามันคือทางเดียวที่จะช่วยทำให้ “ความฝันระดับโลก” ของเขาเป็นจริงขึ้นมาได้ ในวันที่การเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งด้านวิศวกรรมอย่าง “สถาบันเทคโนโลยี แมสซาชูเซตส์” ยังเป็นอะไรที่ไกลเกินเอื้อมสำหรับเด็กไทยคนนึง
“พี่มีความฝันว่าอยากไปเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก แต่ถ้าจะให้สอบชิงทุน ต่างชาติเขาก็ยังไม่รู้จักลาดกระบังเลยตอนนั้น พี่ก็เลยชวนเพื่อนทำโปรเจกต์จบปี 3 ปี 4 ขึ้นมา เป็นโปรเจกต์ “ออกแบบเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดิน” ตั้งแต่ปี 36 สมัยที่ยังไม่มีบีทีเอสเลย ตอนนั้นได้รับแรงบันดาลใจจากกการอ่านหนังสือจากทั่วโลก เห็นว่าเพราะเขาสร้างรถไฟฟ้ากัน เลยสามารถแก้ปัญหารถติดได้ พี่ก็เลยอยากให้มันเกิดขึ้นในบ้านเมืองเรา
สมัยนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ต จะหาข้อมูลก็ลำบากมาก คิดดูว่า พี่ต้องนั่งรถเมล์ไปกับเพื่อน ออกจากลาดกระบังตั้งแต่เช้า ไปลงสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียแถวๆ รังสิต ไปนั่งออกแบบเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินกับเพื่อน จนทำเสร็จ แต่ยังไม่เท่านั้น เราอยากให้มันเกิดขึ้นจริงให้ได้ แต่ตอนนั้นเพื่อนบอกไม่ไหวแล้ว ทำเสร็จแล้วก็พอเถอะ แต่พี่ไม่หยุดแค่นั้น พี่นั่งรถไปที่เสาชิงช้า ไปขอพบผู้ว่าฯ กทม. (ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา) เลย
ไปถึง เจอเลขาฯ ท่านผู้ว่าฯ เขาก็พูดกับเราดีมากนะ พี่ก็อธิบายไปว่า ผมเอาโปรเจกต์จบตอนเป็นนักศึกษาลาดกระบังมามอบให้ เพื่อจะให้ผู้ว่าฯ เอาไปแก้ปัญหาการจราจร แต่เขาก็บอกว่าให้ฝากเอาไว้กับเขา แต่พี่ยืนยันจะส่งมอบให้ด้วยตัวพี่เอง เขาเลยบอกให้มาลองนั่งรอ ถ้าไม่ติดอะไรคงได้เข้าพบ พี่เลยไปนั่งรอแบบนั้นทุกวัน แบบนั้นเป็นเวลาอยู่ 2 สัปดาห์
สุดท้ายเลขาฯ เดินออกมาบอกว่า พี่ไม่เคยเจอเด็กแบบเอ้เลย เอางี้..พี่จะให้เอ้เข้าพบท่านผู้ว่าฯ ได้ แต่ต้องเอาคณบดีมาด้วย พี่ก็นั่งรถเมล์กลับมาเลย มาขอเข้าพบคณบดี ซึ่งไม่ได้ยากสำหรับเรามาก เพราะเราเป็นเด็กกิจกรรม ตอนนั้นท่านกำลงเซ็นแฟ้มอยู่ พอได้ยินคำว่า จะพาท่านเข้าพบผู้ว่าฯ กทม.เรื่องโปรเจกต์รถไฟฟ้าใต้ดินเส้นแรก ท่านก็วางปากกา แล้วตอบตกลงทันที”
เมื่อมั่นใจว่าไตร่ตรองมาดีแล้ว นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ บัณฑิตวิศวะ จึงพาคณบดีและอาจารย์ที่ปรึกษา ประจำรั้วพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง เดินทางเข้าพบผู้ว่าฯ ในทันที เพื่อยื่นโปรเจกต์เส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินที่คิดขึ้นมาเองกับเพื่อนให้ แล้วขอความช่วยเหลือจากผู้ว่าฯ อีกหนึ่งอย่างก่อนหันหลังกลับบ้าน
“พอได้เจอท่าน เราก็ยื่นโปรเจกต์ให้แล้วบอกว่า “ขอบคุณมากครับ กำลังคิดอยู่เลยว่าจะลอยฟ้าหรือใต้ดินดี เดี๋ยวจะไปมอบให้กับรองผู้ว่าฯ ฝ่ายโยธา” แล้วท่านก็ตัดบทจบ แต่พี่บอกว่ายังไม่ยอมให้จบ (ยิ้ม) พี่ก็ชะโงกหน้าออกมา บอกท่านผู้ว่าฯ ว่า ท่านครับ เมืองไทยจำเป็นต้องมีรถไฟฟ้าใต้ดิน แต่ประเทศไทยยังไม่มีคนจบทางด้านการออกแบบอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน ผมขออาสาเป็นตัวแทนคนไทยคนแรกที่จะไปเรียนทางด้านนี้
ท่านถามกลับมาว่า แล้วเราจะไปเรียนที่ไหนล่ะ พี่ก็เลยตอบไปว่าเรียนที่เดียวกับท่านผู้ว่าฯ นั่นแหละครับ (ยิ้ม) เพราะเราทำการบ้านมาก่อนไงครับ เราเลยรู้ว่าจบปริญญาวิศวะสถาปัตย์ที่ MIT พอพูดถึงมหาวิทยาลัยที่ภาคภูมิใจ ท่านก็ลืมเวลานัดเลยคราวนี้ คุยกันยาวเลย เลยบอกท่านว่า แต่การที่ผมจะไปได้ ผมต้องได้จดหมาย recommendation จากท่านผู้ว่าฯ ก่อนนะครับ แล้วท่านก็เซ็นให้
คิดดูว่าพี่ไม่ได้รู้จักท่านเป็นการส่วนตัว เป็นคนที่เพิ่งเคยเจอกัน แต่เพราะท่านเห็นถึงความมุ่งมั่น ท่านเลยช่วยเขียนจดหมายให้เรา สุดท้ายพี่ก็ได้เป็นคนไทยเพียงคนเดียวในรุ่นนั้นที่เข้า MIT ได้ เรียนหนังสือก็ไม่ได้เก่ง โทเฟลก็ต้องสอบถึง 14 ครั้งกว่าจะผ่าน แต่พี่ก็ไม่ยอมแพ้ ลองคิดดูถ้าเกิดว่า พี่ยอมแพ้ตั้งแต่วันที่ 2 วันที่ 3 ที่ไปนั่งรอเจอท่านผู้ว่าฯ พี่คงไม่ได้เจอหน้าท่านแล้ว
[ความฝันเป็นจริง ได้เรียนกับอาจารย์ที่ MIT]
แต่เท่านั้นยังไม่พอ การที่พี่ได้ไปเรียนที่ MIT ส่วนนึงเป็นเพราะจดหมาย recommendation ฉบับนั้น และยังมีให้เขียน “จดหมายแนะนำตัวเอง” เพราะเขาไม่รู้จักลาดกระบัง ไม่รู้จักพี่เอ้ เขาไม่รู้ความแตกต่างระหว่างเด็กแต่ละชาติ พี่เลยเขียนแนะนำตัวเองไปว่า ระหว่างที่พี่โหนรถเมล์ไปเรียนที่ลาดกระบัง ไป 2 ชั่วโมงครึ่ง กลับ 3 ชั่วโมง มองออกไปยังนอกหน้าต่างรถเมล์ นึกถึงคำว่าประเทศไทยเป็น “Land of smiles (สยามเมืองยิ้ม)” แต่ตอนนี้ “Smile has gone (รอยยิ้มจางหาย)” ไปหมดแล้ว เพราะมีปัญหารถติดและมลภาวะเป็นพิษ
พี่ก็ส่งรูปที่ถ่ายกับท่านผู้ว่าฯ แนบไป บอกเล่าถึงโปรเจกต์เส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินที่คิดกับเพื่อนๆ ที่ได้ไปส่งมอบให้แก่ท่านผู้ว่าฯ แล้วก็ทิ้งทายสั้นๆ เอาไว้ว่า คนที่ไปเรียนที่ MIT แล้วไปเหยียบดวงจันทร์ได้ก็มีแล้ว, เป็นผู้นำประเทศก็มีแล้ว, เป็นนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก, เป็นมหาเศรษฐีมากมายเยอะแยะไปหมด ฯลฯ แต่พี่ไม่ต้องการอะไร ต้องการขอไปเรียนเพื่อเอาความรู้กลับมาออกแบบรถไฟฟ้าใต้ดินที่ประเทศของตัวเอง และเพื่อเป็น “The man who bring back land of smile” เพื่อเป็นคนนำรอยยิ้มกลับคืนสู่ประเทศไทยอีกครั้งนึง
เขาก็เลยรับเราเลย เพราะมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลก เขาไม่ได้มองที่ว่าคุณได้เกรดอะไร แต่ขอให้คุณมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลง สุดท้ายพี่ก็จบออกมา จนมามีทุกวันนี้ได้ ก็อยากจะสะท้อนว่า ถ้าเกิดชีวิตคนเราไม่อดทน ไม่มุ่งมั่น เราก็จะไม่มีอะไรที่จะไปสู้กับคนอื่นเขาได้เลย”
หมดปัญหา “รถติด-น้ำท่วม-รถไฟฟ้าเสีย"
[แนะทำแก้มลิงใต้ดิน มุมมองผู้เชี่ยวชาญแก้ “น้ำท่วม”]
ในฐานะวิศวกรมือรางวัล และนักวิจัยผู้มีผลงานด้านเทคโนโลยีโด่งดังไกลถึงระดับโลกมาแล้ว ให้ลองมองปัญหาโลกแตกที่เกิดขึ้นกับเมืองหลวงของไทยอย่าง เรื่องรถติดเรื้อรัง, น้ำท่วมระบายไม่ทัน และรถไฟฟ้าเสียซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผ่านสมองของคนสายเทคโนโลยีดูบ้าง พี่เอ้ก็ได้แต่ส่ายหน้าให้กับสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วช่วยเสนอทางออกที่น่าสนใจเอาไว้ให้
“เอาเรื่อง “รถติด” ก่อน ถามว่าช้ำไหม ปัญหานี้มันเป็นมาตั้งแต่สมัยพี่เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว ที่รถมันติดแล้วก็ไม่ได้ดีขึ้น แต่สิ่งที่ในอดีตและปัจจุบันมันต่างกันก็คือเรื่อง “เทคโนโลยี” และพี่มองว่าเทคโนโลยีมันจะมาช่วยได้อย่างแน่นอน คิดดูว่าสมัยนี้เราสามารถจัดการเวลานัดหมายผ่านโทรศัพท์มือถือได้ เราสามารถที่จะสั่งงานทุกอย่างด้วยตัวคนเดียวได้หมด
กลับมาถามว่า ทำไมไฟจราจรในบ้านเรายังต้องเปิดปิดด้วยคนอยู่ ขับรถอยู่วันนึง รถทางเราติด อีกทางนึงไม่ติด พอเปลี่ยนมาอีกวัน ทางนู้นติด ทางเราไม่ติด เป็นเพราะตำรวจเปลี่ยนคน เพราะเขาเปิดไฟตามประสบการณ์ ซึ่งแค่นั้นจริงๆ มันไม่พอ เพราะมันมีหลายแยก แต่ถ้าหันมาใช้เทคโนโลยี เราจะสามารถสร้างระบบที่เรียนรู้การจราจรในองค์รวม คำนวณได้ว่าควรจะปล่อยแต่ละแยกกี่นาที
แต่ปัญหาก็คือการประสานงานระหว่างหน่วยงานในบ้านเราที่ไม่เชื่อมโยงกัน ไฟจราจรเป็นของ กทม. แต่ว่าคนเปิดปิดเป็นของฝั่งตำรวจ หรืออย่างเรื่องฟุตปาธ กทม.เป็นคนดูแล แต่พอจอดรถผิดกฎหมาย ตำรวจเป็นคนออกใบสั่ง ซึ่งพี่มองว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงตรงนี้ด้วย แล้วค่อยเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริม
ถามว่าต้องลงทุนมากไหมกับเรื่องเทคโนโลยีเพื่อจะให้เราสามารถกลายเป็น “smart city” ได้ ก็ต้องบอกว่าเดี๋ยวนี้มันไม่แพงเลย ทางลาดกระบังของเราเองก็เคยทำแอปพลิเคชันพยากรณ์อากาศขึ้นมา ลงทุนไปไม่ถึง 5 ล้าน แต่พยากรณ์ที่ถ้ำหลวงได้อย่างแม่นยำหมด”
หรือแม้กระทั่งเรื่อง “ฝนตก-น้ำท่วม-รถติด” ถามว่าทำไมมันถึงได้กลายเป็น “วงจรอุบาทว์” ที่ดูจะแก้ไม่ตกซ้ำไปซ้ำมาอยู่แบบนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมมองว่า ปัญหาข้อใหญ่ๆ เป็นเพราะการขาดการวางแผนและจัดการอย่างเป็นระบบของหน่วยงานที่ดูแล
“เป็นเพราะเวลาฝนตก ไม่มีใครบอกเราล่วงหน้า กลายเป็นว่าพอออกรถไป เราต้องไปติดอยู่ตามถนนอีก 4 ชั่วโมง แต่ถ้ามีเทคโนโลยีเข้ามา เราคิดใหม่-ทำใหม่ได้ แอปฯ ที่คนไทยเขียนขึ้นมา บอกล่วงหน้าได้ 24 ชั่วโมงว่า ฝนจะตกตั้งแต่ลาดกระบัง ไปหนองจอก ถึงรามคำแหง เข้าไปถึงรัชดาฯ ลาดพร้าว ก่อนไปสิ้นสุดอยู่ที่สุขุมวิท
พอรู้ก่อนได้แบบนั้น เราก็ไปติดอุปกรณ์เล็กๆ ที่ปั๊มน้ำ ให้คอยตรวจเช็กได้เลยว่าระบบสูบน้ำมันสมบูรณ์ดีหรือเปล่า จะได้ไม่ต้องมีปัญหาว่า เพิ่งตรวจพบว่าปั๊มน้ำเสียตอนช่วงฝนตกพอดี จะได้วางแผนการปั๊มน้ำถูก
และถ้าเรารู้ว่าช่วงเวลาเร่งด่วน ฝนจะตกหนัก ระบบนี้ก็จะส่งไปที่ผู้อำนวยการโรงเรียน, อธิการบดี, หัวหน้าสำนักงาน ฯลฯ บอกให้คนมาทำงานช้าไป 2 ชั่วโมง หรือบางออฟฟิศจะเปลี่ยนเป็นให้ทำงานที่บ้านได้วันนั้น จะได้ไม่ต้องมานั่งรถติดหลายๆ ชั่วโมง และสุดท้ายสภาพจราจรก็จะไม่เลวร้ายเหมือนเดิม
หรือแม้แต่เรื่องน้ำท่วมตามซอย ตามถนนในกรุงเทพฯ จากแค่การที่ฝนตกลงมาแป๊บเดียว มันเป็นเพราะอะไร ไม่ใช่เพราะฝนตกหนักนะ แต่เพราะน้ำจากถนนมาท่วมซอย เพราะถนนมันสูงกว่าซอย และตัวถนน สำนักระบายน้ำเป็นคนดูแล ส่วนพื้นที่ซอย เขตดูแล ปัญหาก็คือระบบเครือข่ายการระบายน้ำของกรุงเทพฯ มันไม่เชื่อมโยงกัน และเราก็จ่ายเงินปีละ “หมื่นล้าน” มาเป็นสิบๆ ปีแล้ว
แต่ถ้าเราทำได้อย่างที่ญี่ปุ่น จากแต่ก่อนเขาก็เคยท่วมหนักกว่าเราอีก คนตาย 5,000 เพราะกรุงโตเกียวเป็นแอ่งกระทะ เนื่องจากเป็นเมืองที่คนสูบน้ำไปใช้ แถมเขายังเจอไต้ฝุ่นหนักกว่าเมืองไทยอีก แต่เขาทำ “แก้มลิงใต้ดิน” เวลาฝนตกมาปุ๊บ น้ำจะถูกดูดลงไปยัง “แทงก์น้ำใต้ดินขนาดยักษ์”
ถามว่าถ้าเอามาใช้กับกรุงเทพฯ เราจะใช้พื้นที่ตรงไหนเป็นพื้นที่แก้มลิงได้บ้าง เราก็ดูว่าเวลาฝนตกลงมาแล้ว น้ำไปท่วมตรงไหนบ้าง ทั้งอโศก, พระราม 4, สุขุมวิท, วิภาวดี, โชคชัย 4 ฯลฯ พอฝนตกปุ๊บ แล้วมีแทงก์น้ำใต้ดินรองรับ ดูดตามแรงดึงดูดของโลก รับรองน้ำตรงนั้นแห้งหมดเลย แล้วพอฝนหยุดตกก็ค่อยๆ ปั๊มน้ำออกไป ที่ญี่ปุ่นเองก็ทำสำเร็จมาแล้ว
และถ้าเรามีผู้นำที่เข้าใจเรื่องเทคโนโลยี รู้จักเลือกใช้ให้ถูกต้อง เราจะรู้เลยว่ามันไม่ได้ต้องลงทุนแพงอย่างที่คิด และจะมีประสิทธิภาพมากกว่าที่คิดด้วย”
ส่วนปัญหาตลกร้ายอย่างเรื่อง “อาณัติสัญญาณขัดข้อง” ที่เกิดกับระบบรถไฟฟ้านั้น พี่เอ้มองว่าเป็นเรื่องที่พอรับได้ ถ้าการขัดข้องเหล่านั้นอยู่ในอัตราที่ไม่ถี่จนเกินไป แต่ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็คงไม่ไหว เพราะธุรกิจคมนาคมประเภทนี้ คือธุรกิจที่ผู้ใช้บริการคาดหวังต่อเรื่อง “ความตรงต่อเวลา” เหนือกว่าสิ่งอื่นใด
“เรื่อง “อาณัติสัญญาณขัดข้อง” ที่คนบ่นๆ กัน จริงๆ แล้ว พี่มองว่ามันเป็นความรับผิดชอบของภาครัฐนะ ที่ต้องออกมาดูแลเรื่อง “ช่องสัญญาณ” ให้ทางรถไฟฟ้าได้ใช้ฟรี เป็น channel สัญญาณเฉพาะที่ตั้งขึ้นมาให้เขาเลย ไม่ใช่ปล่อยให้เขาไปใช้ช่องสัญญาณของ wi-fi แบบนั้น และสุดท้ายก็ถูกแทรกสัญญาณ
ในเมื่อเราทำ “ธุรกิจบริการคน” แล้ว เราต้องเน้นเรื่อง “บริการ” ไม่ใช่เน้นเรื่อง “ธุรกิจ” ถือเสียว่าเราดูแลประชาชนร่วมกัน ไม่ใช่โยนกันไปกันมา”
“คนถางหญ้า” ความฝันอันสูงสุด
ทำมาเกือบทุกอย่าง ดำรงตำแหน่งมาเกือบทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสายงานด้านวิศวกรรม แต่เมื่อถามถึง “ความฝันสูงสุด” ในชีวิต กลับได้รับคำตอบว่าเขาอยากจะเป็น “คนถางหญ้า” ฟังเผินๆ แล้วอาจดูพิลึกพิลั่น แต่จริงๆ ตลอดทางที่ทำมา พี่เอ้มองว่าเขากำลังทำหน้าที่ “ถางพงหญ้าแห่งปัญหา” อยู่ตามซอกหลืบของสังคมไทยอยู่จริงๆ เพื่อหวังให้ “คนไทย” ได้ขึ้นไปยืนบนเวทีโลกอย่างสมศักดิ์ศรี เหมือนประเทศอื่นๆ ที่ถูกขนานนามว่าเป็น “ประเทศที่พัฒนาแล้ว”
“พี่อยากเห็นประเทศไทยเป็น “ประเทศโลกที่ 1” เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว จากตอนนี้ที่เรายังเป็น “ประเทศกำลังพัฒนา” อยู่ เพราะมันจะไม่มีคุณค่าอะไรเลย ต่อให้เรารวยแค่ไหน หรือเราจะไปจบอะไรมา เวลาเรายืนบนเวทีโลก เราก็อยากจะยืนอย่างมีศักดิ์ศรี
เวลาคนสวิตเซอร์แลนด์มาเมืองไทย ไม่ว่าเขาจะเป็นคนงานเหมือง, พนักงานบริกร ฯลฯ เราก็ยังรู้สึกว่าเขาเป็นคนสวิสเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ หรือคนญี่ปุ่นที่มาเมืองไทย เราก็มองว่าเขาเป็น “คนคุณภาพ” เราอยากให้เวลาคนไทยไปไหน คนก็มองว่าเป็น “คนชั้นนำ” เป็นคนที่มีศักดิ์ศรี เป็นชาติที่คนให้เกียรติและยืนบนเวทีโลกได้อย่างภาคภูมิใจ
ถามว่าสิ่งที่เราจะทำ สิ่งที่อยากเปลี่ยนแปลงมันยากไหม พี่ว่าทุกอย่างยากหมดแหละครับ อย่างท่อนแร็ป กว่าจะได้ 2 นาทีนั้น โอ้โห..ยากมากสุดๆ นะ (ยิ้ม) มันท้าทายทั้งหมด และยิ่งจะเปลี่ยนแปลงองค์กร เปลี่ยนแปลงสังคม มันยากยิ่งกว่านั้นอีก ทั้งต้องอาศัยความกล้าและความอดทนด้วย พี่เลยคิดว่าทุกหน้าที่-ทุกบทบาทที่พี่ทำ พี่จะทุ่มเทให้กับมันทุกงานเลย
อย่างทุกวันนี้ พี่ทำหน้าที่แต่ละช่วงเวลาให้ดีที่สุด เป็น “อธิการบดี” ก็เป็นอธิการฯ ที่ดี ดึงเอา “Carnegie Mellon” (มหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และไอทีระดับโลก) มาร่วมเปิดคณะแพทย์หลักสูตรใหม่ที่นี่ มีเปิดโรงเรียนสาธิต เปิดวิศวกรรมดนตรี ฯลฯ หรือเปลี่ยนแปลงความเป็นผู้บริหาร ให้เห็นว่าเราเข้าใจเด็ก พี่ทำอย่างเต็มที่มาตลอด
พอมาเป็น “ประธานที่ประชุมอธิการบดีฯ” เหนื่อย ยาก เสียสละ เจ็บปวด ขมขื่น ฯลฯ แต่ก็ต้องทำให้ได้ เพื่อส่วนรวม, ตอนเป็น “อดีตนายกฯ วิศวกรรมสถาน” เวลาฝนตก ไฟไหม้ ดินถล่ม ตึกพัง พี่ลงพื้นที่ไปตลอด พี่ไม่ได้คิดอะไรมาก คิดแค่ว่าอยู่ในบทบาทไหน ก็จะต้องเปลี่ยนแปลง จะต้องทำให้ดีขึ้น จะต้องทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด พี่ต้องการแค่นี้แหละครับ"
แม้กาลเวลาจะหมุนผ่านไปเท่าไหร่ หรือตำแหน่งทางสังคมจะยกให้เขาลอยสูงขึ้นสักแค่ไหน แต่ตัวตนที่อยู่ภายในของ “เด็กบ้านนอกคนนึง” ก็ยังไม่เคยหนีหายไปไหน ถึงแม้วันนี้เด็กคนนั้นจะกลายเป็น “ผู้บริหารที่คนรุ่นใหม่กดไลก์ให้มากที่สุด” ไปแล้วก็ตาม แต่เขาก็ยังคงเป็นคนคนเดิมที่พร้อมจะก้าวฝ่าไปบนผืนหญ้า เพื่อกรุยทางสู้กับทุกปัญหา ด้วยฝ่าเท้าที่ยังคงติดดิน
“พี่คิดว่าพี่โชคดีมากนะ ที่เด็กบ้านนอกคนนึงได้มาอยู่ตรงนี้ มันโคตรโชคดีเลย ส่วนนึงเป็นเพราะพี่ขยันและอดทน และที่สำคัญคือประเทศให้อะไรกับพี่เยอะมาก พี่ได้เป็น “นักเรียนทุนไทยรัฐบาลดีเด่นเข็มทองคำ” ที่อายุน้อยที่สุดในประเทศไทย แล้วจะไม่ให้พี่ตอบแทนประเทศเหรอ ไม่ได้พูดเพื่อสร้างภาพนะครับ แต่เราได้มาขนาดนี้ แล้วถ้าเรายังไม่สู้อีก ยังคิดถึงแต่เรื่องของตัวเอง มันคงไม่ใช่แล้วล่ะ
เวลาอยากจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงเรื่องอะไรก็ตาม พี่จะนึกถึงเพลง “Imagine” ตลอดเวลา โดยท่อนที่ร้องว่า “Hope someday you'll join us” เหมือนเป็นท่อนที่ช่วยสะท้อนว่า ถ้าเรากล้าลุกขึ้นมาสร้างปรากฏการณ์อะไรสักอย่างนึง เดี๋ยววันนึงก็จะมีคนกล้าเดินตามเรามากขึ้นเรื่อยๆ เอง อย่างปรากฏการณ์ที่พี่ลุกขึ้นมาร้องเพลงแร็ปครั้งนี้ ก็ทำให้มีคณบดีอีกหลายคนมาร่วมกันได้
เมื่อไหร่ก็ตามที่มีคนที่ 1 เริ่มลงมือทำ มันจะต้องมีคนที่ 2-3-4 ตามมาแน่นอน เพราะฉะนั้น ขอให้เชื่อและทำมันต่อไป ถ้าจุดมุ่งหมายของเราคือการจะไปดวงดาว กว่าจะปล่อยตัวให้หลุดชั้นบรรยากาศไปได้ จรวดต้องผ่านไฟลุกท่วมเลย บางลำก็ระเบิด แต่บางลำก็รอดหลุดพ้นไปได้ถึงจุดหมาย
และถึงพงหญ้าข้างหน้ามันจะรกแค่ไหน พี่ก็ยังขอเกิดมาเป็น "คนถางหญ้า" ต่อไป ถึงแม้ตลอดทางที่ถางไปอาจจะถูกผึ้ง-ต่อต่อยหมด หรือมีงูคอยฉกอยู่เต็มไปหมด แต่ในเมื่อเราเริ่มถางไปแล้ว เราก็ต้องทำต่อไป และพี่เชื่อว่าเดี๋ยวจะมีคนมาช่วยเราถางเพิ่มขึ้นเอง แล้วพอหลายๆ คนร่วมมือกันปุ๊บ รุ่นน้อง-รุ่นลูกก็ได้วิ่งบนทางนี้สบายแล้ว
...แม้สุดท้ายแล้ว คนถางหญ้าจะต้องอาการสาหัสแค่ไหน แต่มันก็ต้องมีสักคนใช่ไหมล่ะครับ ที่ต้องยอมรับหน้าที่ถางทางเหล่านั้น...”
ได้เป็น “ผู้นำ” เพราะแม่ห้ามสปอยล์!! [คุณแม่ อีกหนึ่งแรงผลักสำคัญของชีวิต] คุณพ่อคุณแม่พี่เอ้เป็นครู พี่เอ้เป็นลูกคนเดียว เขาเลยกลัวเรื่องเราจะถูกสปอยล์มาก จะสอนให้พี่รู้จักการเสียสละเสมอ เวลาไปโรงเรียนแม่ก็จะบอกว่า นี่แม่ให้ส้มเอ้ 2 ลูกนะ ลูกนึงเอ้เก็บไว้ทานเอง อีกลูกนึงเอ้ต้องให้เพื่อนนะ บางวันแม่ก็จะทำเป็นหม้อ ให้เอาไปแจกเพื่อนๆ พอถึงงานปีใหม่ ก็จะสอนให้รู้จักให้ แล้วก็ปลูกฝังให้เราทำกิจกรรม เป็นหัวหน้าชั้น เพราะอยากให้เรารู้จักการเสียสละ พี่เอ้ก็เลยได้เป็นหัวหน้าชั้นตั้งแต่อนุบาล จนจบ MIT เลย คุณแม่พี่เป็นคนที่รู้จักคุณครูของพี่ตั้งแต่ครูประจำโรงเรียนอนุบาล ไปจนถึงครูระดับปริญญาเอกของเราเลย ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเก่งอะไร แต่เขาจะชอบเข้าไปทักทาย ไปฝากพี่กับคุณครูให้ช่วยใช้งานให้คุ้ม เพราะเขากลัวว่าเราจะถูกสปอยล์ ก็ต้องบอกเลยครับว่า ถ้าไม่มีคุณแม่ ไม่มีพี่วันนี้ พี่เอ้ได้เป็นเด็กกิจกรรม ได้เป็นประธานสี เป็นผู้นำในหลายๆ เรื่อง ก็เพราะได้รับการปลูกฝังจากจุดนี้นี่แหละครับ ทุกวันนี้ พี่ก็ยังโทร.คุยกับคุณแม่อยู่ทุกวัน ถึงแม้จะวัยขนาดนี้แล้ว และพี่ก็สอนเด็กที่นี่ตลอดว่าให้โทร.หาคุณพ่อคุณแม่ แม้บางทีจะเป็นการพูดคุยสั้นๆ ก็ยังดี และถึงทุกวันนี้ไม่ได้อยู่กับคุณแม่ แต่ต้องพาไปทานข้าวด้วยทุกอาทิตย์ ถึงตอนนี้พี่ก็มีครอบครัวเป็นของตัวเองแล้ว ก็พยายามทำหน้าที่ให้ได้ดีที่สุด แต่ก็ไม่รู้จะทำได้ดีเท่าพ่อแม่ของเราหรือเปล่านะ (ยิ้ม) เพราะวิถีชีวิตของแต่ละคนก็มีข้อจำกัด แต่เราก็พยายามทำเท่าที่มีโอกาสให้ดีที่สุด |
สัญชาตญาณ “นักเปลี่ยนแปลง” ไม่กลัวคำว่า “เพอร์เฟกต์” การเปลี่ยนแปลง ไม่มีใครชอบหรอกครับ เพราะทุกคนก็อยากจะทำเหมือนเดิม เพราะมันง่ายกว่า จะให้เปลี่ยนแปลงการสอน ให้อาจารย์เปลี่ยนสไลด์ ก็คงไม่มีใครชอบ หรือจะให้พัฒนาหลักสูตรแบบต่างประเทศ ก็คงไม่มีใครเอา แต่พี่ก็พยายามทำให้มันดีที่สุดในทุกบทบาทที่รับผิดชอบอยู่ ไม่มีอะไรหรอกครับที่มันสมบูรณ์ในการทำแค่ครั้งเดียว แต่เราก็ต้องอดทน ทำต่อไปเรื่อยๆ ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงปุ๊บแล้วมันจะได้เลย เทียบง่ายๆ กับเรื่องแร็ปนี้ กว่าจะมาเป็นแบบนี้ ปีที่แล้วที่เราเคยทำเซอร์ไพรส์นักศึกษามันก็ไม่โดนนะ จนมาปีนี้ ก็อยากให้กำลังใจ “นักเปลี่ยนแปลง” ทุกคนว่า ครั้งแรกที่ทำมันอาจจะออกมาไม่โดนหรอก หรือเราอาจจะโดนคนว่าด้วยซ้ำ ไปจนถึงครั้งที่ 2-3-4 ก็อาจจะยังไม่โดน อาจจะต้องถึงครั้งที่ 10 ครั้งที่ 100 เลยก็ได้นะ อย่างตอนที่สอบโทเฟลไปเรียนเมืองนอก เชื่อไหมพี่ต้องสอบ TOEFL ไปเรียนเมืองนอก เชื่อไหมว่าพี่ต้องสอบถึง 14 ครั้งแน่ะกว่าจะผ่าน เพราะงั้น เราต้องอดทน ถ้าเกิดคิดจะเป็นนักเปลี่ยนแปลง อย่างมหาวิทยาลัยของเรา ตอนนี้ก็มีภาควิชาที่เปิดขึ้นมาใหม่ ทั้ง “คณะแพทย์ศาสตร์หลักสูตรใหม่” ที่เอาคณะ “วิศวะ” กับ “แพทย์” มาอยู่ในคนคนเดียวกัน ลองมองดูสิครับเวลาไปโรงพยาบาล มันเต็มไปด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีทั้งนั้นเลย ตั้งแต่เราลงจากรถมา รถเข็นดีๆ ก็มาจากเยอรมัน มาจากไต้หวัน มาดูที่เตียงทำในอเมริกาตั้งหลายแสน จะก็เจอกับเข็มฉีดยาที่ทำจากเบลเยี่ยม จากนั้นพยาบาลมาจะเช็ดตัวเรา ล้วงมือไปใต้เตียง เจอถุงมือยางนั่นแหละครับ ถึงจะเจอเครื่องมือที่ทำในประเทศไทย ถามว่ามันน่าช้ำใจไหม เทคโนโลยีทางการแพทย์มันทำให้เราพึ่งพาตัวเองได้ ทำให้ประชาชนทุกคนสามารถมีกำลังพอที่จะจ่ายในราคาที่เหมาะสมได้ แล้วประเทศไทยจะไปสู่จุดนั้นได้ยังไง เราก็ต้องผลิตทรัพยากรที่มีความรู้เรื่องแพทย์ที่จะมาพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือตรงนี้ เทียบกับหมอในอเมริกา เขามีให้เลือกเรียนเครื่องเรื่องกล เรียนเคมี ฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์ ก่อนไปเรียนหมอ เหมือนกับคณะแพทย์ที่เปิดใหม่ที่นี่ นอกจากจะจบออกไปรักษาคนไข้ได้แล้ว ต้องเรียนทางด้านเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อให้เขาออกมาเป็นนักวิจัย นักประดิษฐ์ สามารถผลิตเครื่องไม้เครื่องมือออกมาได้ ทำให้ประเทศไทยพึ่งพาตัวเองได้ ไม่ต้องไปกินน้ำใต้ศอกคนอื่น นี่แหละครับคือสิ่งที่เราทำที่นี่ อีกคณะที่เราเปิดใหม่คือ “คณะวิศวกรรมสังคีต” จากความคิดที่ว่าทุกวันนี้ไม่มีใครซื้อเทปแล้ว มีแต่ฟังจากแอปฯ Joox, Deezer, Spotify ฯลฯ ฟังจากสตรีมมิ่งทั้งนั้น ซึ่งมันก็คือยุคแห่งการพึ่งพาซอฟต์แวร์หมดแล้ว เพราะฉะนั้น วันนี้เราต้องเอาคนที่เก่งวิทยาศาสตร์, วิศวะ และดนตรี เอามาไว้ในคนคนเดียวกัน แล้วก็เกิดขึ้นที่นี่ครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ เรายังมีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และไอทีระดับโลกอย่าง Carnegie Mellon ซึ่งเป็นคนคิดอินเตอร์เน็ต มาสร้างมหาวิทยาลัยใหม่ชื่อว่า “CMKL” ไว้ทำงาน super research ที่ล้ำหน้าที่สุดของโลกในประเทศไทย นอกนั้นยังมีโรงเรียนสาธิตนานาชาติ ที่เน้นทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งแรกของประเทศไทยเกิดขึ้นที่นี่ด้วย |
เป็นกันเอง-เป็นแบบอย่าง ซื้อใจวัยโซเชียลฯ [สมัยเข้าเป็นอธิการฯ ปีแรก แฝงตัวเป็น "พี่เนียน" เซอร์ไพรส์เฟรชชี่] จริงๆ แล้วพี่เอ้ไม่ได้เพิ่งเริ่มเซอร์ไพรส์เด็กๆ เฉพาะครั้งนี้นะครับ แต่ทำมาตั้งแต่ที่พี่เข้ามาเป็นอธิการฯ แล้ว ตั้งแต่ปี 58 ที่เคยปลอมตัวเป็นนักศึกษาปี 1 เป็นพี่เนียนแฝงตัวเป็น “พี่เนียน” ไปนั่งอยู่กับเด็กๆ ที่เพิ่งเข้ามาใหม่ ตอนนั้นเด็กทุกคนในมหาวิทยาลัยเขารู้จักพี่เอ้อยู่แล้วล่ะ เหลือแต่เด็กปี 1 ที่ยังไม่รู้จัก เราก็มานั่งคิดว่าจะทำยังไงดี พี่ก็ใส่เสื้อขาว-กางเกงดำ แล้วก็เปลี่ยนเข็มขัด รุ่นพี่ตอนนั้นก็สวมบทบาทเป็นว้ากเกอร์ ว้ากพี่เอ้เลย พี่ก็เลยเข้าไปแฝงเป็นเด็กปี 1 เด็กก็มีนั่งหลับบ้าง บ่นบ้าง พอเขาเรียกชื่อ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ไม่มีใครออกไป เด็กก็พูดกันว่าอธิการฯ เบี้ยวหรือเปล่า สักพักพิธีกรก็บอกให้เรียก “พี่เอ้” แทนละกัน แล้วพี่เอ้ก็วิ่งออกมา เด็กๆ เขาก็ตกใจ เราเองก็ไม่ได้ถ่ายรูปไว้ด้วยนะครับ แต่มีคนถ่ายไว้ แล้วก็ไปโพสต์ที่ไหนก็ไม่รู้ ก็เลยกลายข่าว เป็นกระแสขึ้นมา ถ้าถามว่าความเป็นกันเองของคณบดี ของอธิการฯ จะช่วยอะไรเด็กๆ ได้บ้าง ก็ต้องถามกลับมาว่า แล้วทำไมเขาจะยังต้องการครูอย่างพวกพี่ล่ะ ในเมื่อเราสอนวิชาเครื่องกล ระหว่างที่เราสอน เขาก็สามารถเปิดคอมพิวเตอร์ดูแอนิเมชันเครื่องยนต์ได้หมดแล้ว หรือจะสอนแพทย์เรื่องกายวิภาค เขาก็สามารถหันไปพึ่งกูเกิล หาคลิปผ่าตัดคนได้เพื่อศึกษาเหมือนกัน แล้วถามว่าเราจะเอาอะไรไปสู้ คำตอบก็คือ มันยังมีอยู่สิ่งนึงที่คอมพิวเตอร์ยังทดแทนพวกเราไม่ได้ ก็คือการปฏิสัมพันธ์ คือคอนเนกชันที่มันมีชีวิต ตรงนี้แหละครับที่จะทำให้เขาสัมผัสได้ รู้สึกได้ และเราก็อยากให้เขารู้ว่า เราไม่ใช่แค่ครูผู้ให้ความรู้ ซึ่งเขาสามารถหาได้ทุกที่ แต่เราคือพี่ คือเมนต์เทอร์ คือโค้ชให้เขาได้ (ยิ้มสบายๆ) เหมือนอย่างที่สมัยนี้รายการทีวีเขาเรียกกัน เวลาพี่เอ้มองเห็นเด็กๆ รุ่นใหม่ สิ่งที่พี่เอ้รู้สึกเสมอคือ พี่เอ้ภูมิใจในตัวเขา ศรัทธาเขา และมีความหวังในตัวเขา เราอาจจะเคยได้ยินคนบ่นว่า เด็กรุ่นใหม่ๆ สู้คนรุ่นเก่าๆ ไม่ได้เลย แต่เรามองด้วยสายตาแห่งความคิดบวก พอเรามองเขาผ่าน positive eyes ทุกอย่างมันก็ดีขึ้นหมด ถ้าเขาสมาธิสั้น เราก็ช่วยเขาได้ ถ้าเขาซีเรียสกับเรื่องชีวิต-เรื่องความรัก เราก็พอจะแนะนำเขาได้ หรือที่เขาไม่พอใจอะไรสักอย่างนึง เราก็บอกเขาว่าโลกนี้มันไม่สมบูรณ์นะ ก่อนอบรมทุกครั้งผมก็จะพูดคำนี้แหละครับ บอกว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้สมบูรณ์แบบหรอก เพราะไม่งั้นค่าเล่าเรียนคงจะแพงกว่านี้เป็น 10 เป็น 100 เท่าเหมือนในเมืองนอกไปแล้ว แต่นี่ค่าเทอมมันถู๊กถูก เทียบกับอนุบาลที่เขาคิดเป็นแสน, มัธยมเป็นล้าน แต่พอมาเรียนมหาวิทยาลัยเรา มันเหลือแค่หลักหมื่นเท่านั้นเอง |
สัมภาษณ์: ผู้จัดการ Live
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณภาพบางส่วน: แฟนเพจ “KMITL” และเฟซบุ๊ก “Suchatvee Suwansawat”