xs
xsm
sm
md
lg

“ไม่รู้-ไม่ใส่ใจ” ภัยร้าย เด็กใต้ “ฟันผุ” สูงสุดของประเทศ!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
“เด็กโตกว่านี้ค่อยใช้แปรง-ใช้ผ้าเช็ดก็พอ-กินแค่นมทำไมต้องแปรงด้วย” กว่า 60% ของเด็กใต้ประสบปัญหาฟันผุ ค่าเฉลี่ยสูงที่สุดของประเทศ! ชี้ชัดปัญหาเกิดจากความไม่รู้-ไม่ใส่ใจ ล่าสุด ผุดช่องทางดูแลฟันลูกน้อยผ่าน LINE ตอบโจทย์ผู้ปกครองยุค 4.0 “พูดคุย-ปรึกษา-ทำกิจกรรม” พลิกปัญหาฟันผุสู่ฟันสวยผ่านโครงการ 'แปรงฟันให้เด็ก'

เด็กใต้ “ฟันผุ” สูงสุดในไทย!

สภาวะสุขภาพช่องปากเด็กไทยน่าตกใจ! เด็กไทยทั้งประเทศ ช่วงอายุ 3 ปี พบปัญหาฟันผุ ร้อยละ 51.7% ขณะที่เด็กไทยในภาคใต้ค่าเฉลี่ยสูงกว่าภูมิภาคอื่น 61.0% ตอกย้ำปัญหาสุขภาพช่องปากที่ผู้ปกครองนิ่งเฉยไม่ได้อีกต่อไป!

ข้อมูลจากรายงานสภาวะสุขภาพช่องปากระดับประเทศ ปี 2555 เปิดเผยว่า เด็กไทยช่วงอายุ 3 ปี ในภาคกลางร้อยละ 59.6% ประสบปัญหาฟันผุ ขณะที่ภาคเหนือค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 46.0% ใกล้เคียงกับภาคอีสานที่มีร้อยละ 49.2% ส่วนเด็กเล็กในภาคใต้มีปัญหาสุขภาพช่องปากสูงถึงร้อยละ 61.0%

เมื่อสำรวจข้อมูลเชิงลึกลงไปที่ อ.เทพา จ.สงขลา จากรายงานสถานการณ์และสาเหตุอุปสรรคในการแปรงฟันในเด็กเล็ก ซึ่งรวบรวมโดย คุณซัลมา การดี เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข โรงพยาบาลเทพา พบว่า ในปี 2560 เด็กเล็กอายุ 3 ปี ร้อยละ 56.6% มีปัญหาฟันผุ ซึ่งอุปสรรคที่เห็นได้ชัดเจนมาจากทั้งตัวผู้ปกครองและเด็กเล็กด้วยเช่นกัน

โดยผู้ปกครองมีเพียงร้อยละ 20 ที่แปรงฟันตั้งแต่ซี่แรก เพราะส่วนใหญ่มีความเชื่อในเรื่องทำความสะอาดโดยใช้ผ้า หรือในกรณีที่มีประสบการณ์การแปรงฟันให้เด็กแล้วมีเลือดออกบริเวณเหงือก จึงทำให้เด็กร้องเนื่องจากความเจ็บปวด ส่งผลให้ผู้ปกครองไม่แปรงฟันให้เด็กต่อไป และความคิดที่ว่ารอให้เด็กโตขึ้นค่อยแปรงฟัน


 
ขณะที่ผู้ปกครองกว่าร้อยละ 30 แปรงฟันให้เด็กวันละครั้ง เนื่องจากเชื่อว่าเด็กเล็กทานนมเพียงอย่างเดียว ไม่เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ รวมถึงการที่เด็กแสดงท่าทีไม่ให้ความร่วมมือขณะแปรงฟัน ทว่า ผู้ปกครองที่แปรงฟันให้เด็กด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์มีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาฟันผุในเด็กเล็กไม่เพียงแต่ส่งผลต่อความเจ็บปวดทางด้านร่างกายเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียไปถึงด้านจิตใจและพัฒนาการในการเรียนรู้อีกด้วย โดยปัญหาฟันผุส่งผลให้เกิดอาการเสียวฟัน ซึ่งหากฟันผุไปจนถึงโพรงประสาทฟัน อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อที่หน่อฟันแท้ที่อยู่ด้านล่างได้

หรืออาจกล่าวได้ว่า หากเด็กมีฟันผุในช่วงระหว่างที่มีการสร้างผิวฟันอยู่ อาจส่งผลให้การสร้างผิวฟันไม่สมบูรณ์ได้ ดังนั้น ฟันที่งอกขึ้นมาจึงไม่แข็งแรง นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดภาวะฟันซ้อนเกในกรณีที่ฟันน้ำนมหลุดเร็วกว่าระยะเวลาที่กำหนด ส่งผลให้ฟันแท้ที่ขึ้นใหม่ไม่มีตัวนำทาง เกิดการล้มเอียงเพื่อปิดช่องว่างของฟันน้ำนมที่หลุดไป

เช่นเดียวกับการส่งผลต่อพัฒนาการด้านความรู้ของเด็ก เช่น เกิดอาการปวดฟันจนไม่สามารถไปโรงเรียนได้ หรือไม่สามารถนอนหลับได้ในเวลากลางคืน ส่งผลต่อการทำงานของโกรทฮอร์โมนในวัยเจริญเติบโต

รวมถึงการที่เด็กรู้สึกปวดฟัน มักเลือกทานอาหารที่นิ่ม-หวาน อาจทำให้เด็กขาดสารอาหารได้ ซึ่งเมื่อขาดสารอาหารจะทำให้เด็กกลุ่มนี้เติบโตได้ไม่ตรงตามพัฒนาการนั่นเอง

พลิกปัญหา “ฟันผุ” สู่ “ฟันสวย”

“เรากำลังพลิก 'วิกฤต' ให้เป็น 'โอกาส' การแก้ปัญหาฟันผุของเด็กเล็กในภาคใต้ ใช้แค่ความรู้อย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องมีการฝึกปฏิบัติจริง มีการสื่อสารกันและกันได้อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ผู้ปกครองเปลี่ยนความเชื่อว่า การแปรงฟันให้เด็กเล็ก ไม่ใช่เรื่องยากต่อไปแล้ว”

'ผศ.ทพญ.จรัญญา หุ่นศรีสกุล' ผู้นำเสนอโครงการ 'แปรงฟันให้เด็ก' ผ่านสื่อออนไลน์ กล่าวถึงภาพรวมการแก้ปัญหาเด็กไทยฟันผุ ซึ่งนำไปสู่การแนวคิดการสร้างช่องทางการสื่อสารผ่านทางแอปพลิเคชั่น LINE สอดรับกับการใช้สื่อโซเชียลมีเดียในยุค 4.0 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

“ทางคณะทันตแพทย์ศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ เราทำงานในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีปัญหาเรื่องของฟันผุสูงที่สุดในประเทศไทย ในพื้นที่จะเน้นไปที่กลุ่มชายแดนภาคใต้ ใน อ.เทพา จ.สงขลา และ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เราพบว่ามีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการ จึงเกิดไอเดียสร้างช่องทางสื่อสารที่เข้าถึงตัวผู้ปกครองโดยตรงได้”

ขณะที่เหตุผลในการสร้างช่องทางสื่อสารให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพช่องปากผ่านไลน์ สืบเนื่องมาจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคุณแม่มือใหม่ในช่วงอายุระหว่าง 17-40 ปี ถือเป็นกลุ่มหลักที่ใช้สมาร์ทโฟนในชีวิตประจำวัน

“คุณแม่มือใหม่-วัยรุ่น ในการสื่อสารให้ความรู้กับประชาชน ต้องอาศัยการฝึกปฏิบัติควบคู่กันไป เราได้ดูจากสภาพการณ์ รวมถึงทางคณะทันตแพทย์เองได้ทำวิจัยเชิงลึกลงไปศึกษาดูว่า ในเด็กที่ฟันงอกแล้วจนถึงอายุ 2 ขวบ มีเหตุผลอะไรที่ทำให้เขาฟันสะอาดหรือไม่สะอาด


 
ทางคณะทันตแพทย์ พบว่ามีเหตุผลทั้งที่เป็นเรื่องของการไม่รู้ การเข้าไม่ถึงบริการ และการไม่เห็นความสำคัญ เช่น การแปรงฟันโดยที่ไม่ใช้ยาสีฟันจนกว่าเด็กจะบ้วนน้ำเป็น ในขณะที่การที่ฟันเด็กสะอาดและใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ตั้งแต่ต้นๆ จะทำให้ป้องกันฟันผุได้มากกว่าคนที่ไม่ได้รับโอกาส
 
ที่สำคัญ เราสร้างนิสัยให้กับผู้ปกครอง ด้วยธรรมชาติของเด็กเองที่มักไม่ค่อยให้ความร่วมมือ หากผู้ปกครองสามารถทำความสะอาดฟันให้เด็กได้ตั้งแต่เด็กยังเล็กจะเป็นผลดีต่อสุขภาพช่องปากและฟันของเด็กในอนาคต”

ซึ่งขั้นตอนการปฏิบัติงานในโครงการดีแทคพลิกไทย ผ่านแอปพลิเคชั่น LINE ไม่เพียงแต่ให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากของเด็กแก่ผู้ปกครองเท่านั้น แต่ยังมีการผลิตสื่อการสอนในรูปแบบการเล่นเกม-ตอบคำถาม สอดแทรกไปกับการให้ความรู้ด้วย รวมไปถึงการจัดงานกิจกรรมให้ผู้ปกครองได้มาพบปะพูดคุยกัน

“เรากำลังพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส จึงสอดคล้องกับโครงการดีแทคพลิกไทย ที่เราอยากเปลี่ยนปัญหาที่มีตรงนี้ได้ ส่วนเรื่องการปฏิบัติเวลาที่ให้เด็กแปรงฟัน ความรู้อย่างเดียวอาจไม่พอ จึงต้องมีการฝึกปฏิบัติโดยการมาพูดคุย แนะแนววิธีปฏิบัติที่ถูกต้องจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

สำหรับการทำไลน์ @funsuayplikthai เราไม่ได้ทำแค่เฉพาะการให้ความรู้ แต่มีการสอดแทรกเรื่องทัศนคติ ความเชื่อเข้าไปด้วย มีการเล่นเกมตอบคำถาม ได้ทั้งความสนุกและความรู้ไปด้วย มีการให้คนในพื้นที่ออกแบบกิจกรรมเอง เชิญชวนให้นำสิ่งที่ตัวเองมี มาสร้างเป็นภูมิปัญญาของตนเพื่อแลกเปลี่ยน

 
ดังนั้น วิธีการสื่อสารจะมีทั้งการร่วมกันพูดคุย เปิดช่องทางให้ได้แชทกับคุณหมอเฉพาะทางสำหรับเด็ก หรือทันตบุคลากรที่ทำงานในพื้นที่โดยตรง และเจ้าพนักงานสาธารณสุข ที่สำคัญเราเชื่อว่าความรู้อย่างเดียวไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรม แต่ต้องมีโอกาสในการเพิ่มช่องทางการสื่อสารด้วยถึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด”

อย่างไรก็ตาม ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในโครงการดีแทค “พลิกไทย” ในครั้งนี้ได้ โดยการสนับสนุนผ่านมือถือ สำหรับลูกค้าดีแทคกด *405*18# แล้วกดโทรออก (ครั้งละ 50 บาท) สำหรับผู้สนับสนุนที่ใช้เครือข่ายอื่น สามารถสนับสนุนได้ผ่าน taejai.com
 
หรือร่วมบริจาคผ่านช่องทางเว็บไซต์ https://www.dtac.co.th/plikthai/p/milk-tooth โดยมีช่องการบริจาคให้เลือกหลายจำนวน หรือสามารถระบุจำนวนเงินเพื่อบริจาคได้เช่นกัน สำหรับผู้ที่บริจาค 2,000 บาทขึ้นไป รับสิทธิ์ Dtac Reward (เฉพาะหมายเลขของ Dtac เท่านั้น)

เรื่องโดย ทีมข่าวผู้จัดการ Live


กำลังโหลดความคิดเห็น