xs
xsm
sm
md
lg

บรรเลงเพลงเพื่อเด็กยากไร้! “กลุ่มทอสายใย ฅ ทอฝัน” ศิลปินเปิดหมวกเพื่อสังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สุขใจที่ได้ให้ เติมความฝันให้เด็กขาดโอกาส นี่สิ นักดนตรีเพื่อชีวิตของจริง! "กลุ่มทอสายใย ฅ ทอฝัน" กลุ่มนักดนตรีจิตสาธารณะ ตระเวนร้องเพลงบรรเลงเสียงดนตรีสื่อบุญเปิดหมวกตามตลาดนัด ริมถนน นำเงินช่วยเหลือโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ช่วยเหลือโรงเรียนเด็กยากไร้ มาอย่างยาวนานจนก้าวสู่ปีที่ 22

จากคนเคยขาด ขอเติมฝันให้เด็ก

ปัจจุบันนี้กลุ่มทอสายใย ฅ ทอฝัน มีสมาชิกนักดนตรีนับสิบชีวิต ส่วนใหญ่เป็นศิลปินเพลงเพื่อชีวิตของ จ.พิษณุโลก พวกเขาพยายามใช้ความสามารถด้านดนตรีที่พวกเขามีก่อเกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น โดยช่วยเหลือคนด้อยโอกาสในสังคม และเด็กยากไร้ที่ขาดแคลนทั้งทุนการศึกษา และอุปกรณ์การเรียน

“เริ่มแรก จากกลุ่มนักดนตรีที่เล่นในร้านอาหารทั่วไปในพิษณุโลก ปี 40 รวมตัวกัน เพื่อทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเอาเนื้อของดนตรีมาสร้างประโยชน์ เลยลองเดินหาโรงเรียนสักหน่อย เพื่อน้องๆ

รวมกลุ่มกันได้ 4-5 คน เมื่อก่อนไม่มีร้านของตัวเอง เราจะออกทำกิจกรรมตอนเย็นๆ” ศุภชัย ประสาร หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มทอสายใย ฅ ทอฝัน เล่าที่มาของกลุ่ม

เพราะพวกเขาเคยขาดแคลน และไม่มีทุนการศึกษามาก่อน จึงเกิดแรงบันดาลใจอยากช่วยเด็กๆในโรงเรียนทุรกันดาร

“มีความคิดอยากช่วยสังคม โดยเริ่มช่วยโรงเรียนอันดับแรก ช่วยเด็กที่ยากไร้ เรื่องการศึกษา ทุนการศึกษา
พวกผมมาจากบ้านนอก เด็กตามบ้านนอก บางทีไม่มีเงินทุนที่จะเอาไปเรียน เสื้อผ้าก็ขาดๆ พยายามไปช่วยโรงเรียนที่กันดารที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตั้งใจไว้ว่า ทำใน จ.พิษณุโลกก่อน” สมบูรณ์ เวียนศรี ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มทอสายใยฯ ขยายความคิดของกลุ่มที่อยากช่วยเด็ก

ขณะเดียวกัน เสกสรร สอนใจดี สมาชิกกลุ่มทอสายใยฯ เล่าย้อนถึงการเล่นดนตรีเพื่อหาเงินช่วยโรงเรียนต่างๆ ที่ขอความช่วยเหลือมา โดยตระเวนเล่นตามตลาดนัด หาเงินช่วยโรงเรียนในถิ่น

“หิ้วเครื่องดนตรีไป เริ่มต้นยังไม่มีเครื่องเสียงก่อน เล่นตามตลาดสด ก็มีการตอบรับที่ดี ต่อมาตลาดนัดเริ่มเสียงดังขึ้น เขาไม่รู้เรามาทำอะไรกัน เราจึงพัฒนาให้เป็นระบบเครื่องเสียง จะได้ฟังดูดี

ก็มีโครงการโรงเรียนเข้ามาเรื่อยๆ ขอสนามเด็กเล่น ขอคอมพิวเตอร์ ตอนนั้นกำลังบูมมาก อุปกรณ์การเรียนการสอน ก็ไปขอตามบริษัท ส่วนหนึ่งก็ไปเล่นดนตรีบอกบุญเขา”

ใช้ดนตรีเป็นสื่อบุญ….ร่วมถักทอฝัน

แรกเริ่มเดิมที นักดนตรีกลุ่มนี้ ใช้ชื่อกลุ่มว่า “เปิดหมวกเพื่อน้อง” มีสมาชิกแค่ 3-4 คน แต่ต่อมา มีคนรุ่นใหม่มาขอชื่อนี้ไป ภายหลังทางกลุ่มจึงเคาะชื่อใหม่ “กลุ่มทอสายใย ฅ ทอฝัน”

กลุ่มทอสายใยฯ เป็นกลุ่มเปิด พร้อมต้อนรับทุกคนที่อยากร้องเพลง หรือเล่นดนตรี ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นมืออาชีพหรือไม่ บางคนก็เป็นข้าราชการ หรือประกอบกิจการส่วนตัวแต่ชอบร้องเพลง

“ร้องเพลงกับกลุ่มนี้สักระยะหนึ่งแล้ว ปกติมีอาชีพรับราชการ พอเห็นกลุ่มที่ทำเพื่อสังคมแบบนี้ เราเลยอยากสนับสนุน อยากมาร่วมด้วย เราร้องได้ เลยมาร่วม” อุรารัตน์ ท่อไข นักจิตวิทยาสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งวังทอง จ.พิษณุโลก ใช้เวลาหลังเลิกงานมาร้องเพลงช่วยเหลือสังคมกับกลุ่มทอสายใยฯ

“เรารักดนตรี เราได้เล่นดนตรีแล้วมีความสุข เราก็ใช้ดนตรีเป็นสื่อ มีประโยชน์ต่อสังคม เห็นพี่ๆ เขาทำ เราก็เลยมาร่วมตรงนี้ ทำแล้วมีความสุขดี

เมื่อก่อนทำงานประจำ ก็เครียด ก็ได้ผ่อนคลายเล่นดนตรี การจับกีตาร์ของผมคือมีความสุข มีดนตรีในจิตใจ” ไพรัช บินชัย อดีตสมาชิกวงหมีพูห์ ผู้ตัดสินใจเข้ามาร่วมกลุ่มทอสายใย ฅ ทอฝัน

รวบรวมเงินทุกบาททุกสตางค์บริจาค

สำหรับรายได้จากการเล่นดนตรีแต่ละครั้งของกลุ่มทอสายใย ฅ ทอฝัน นั้นจะรวบรวมเงินทั้งหมดบริจาคเงินเหล่านี้กับทางโรงเรียนในท้องถิ่นทุรกันดารไปจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ สิ่งปลูกสร้าง เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อเป็นประโยชน์แก่เด็กๆ และสาธารณประโยชน์

“เมื่อก่อนได้เงินประมาณ 500-800 บาท โดยจะเล่นดนตรีประมาณ 2 ชั่วโมง พอเริ่มใช้เครื่องเสียง ก็เพิ่มยอดขึ้นมาหน่อย บางทีได้ 2,000- 3,000 บาท บางตลาดก็ 3,000-4,000

โดยในปีแรกๆ การบริจาคจะเป็นในเรื่องทุน อุปกรณ์การกีฬา ช่วงหลังๆ เน้นสร้างสิ่งที่ใช้ร่วมกัน เช่น อ่างล้างหน้าแปรงฟันของเด็ก ห้องน้ำ สนาม ห้องสมุด เลี้ยงอาหารเด็ก

สำหรับงบนั้น จะอยู่ที่ทางโรงเรียนแจ้งมา” ศุภชัย ประสาร หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มทอสายใยฯ บอกเล่ารายได้และผลงานของกลุ่มฯ หลังทำกิจกรรมเล่นดนตรีเพื่อสังคมมายาวนานถึง 22 ปี

“บริจาคหลายครั้งแล้ว กิจกรรมนี้ดี เป็นการช่วยคนด้อยโอกาส เป็นโครงการที่ดี อยากให้ทำต่อไปนานๆ อยากให้มีอย่างนี้เยอะๆ ขอบคุณที่มาทำอย่างนี้” สำรวย ดีแล้ว หนึ่งในผู้ใจบุญที่ช่วยบริจาคให้เสมอเมื่อพบกลุ่มทอสายใยฯ เล่นดนตรี

ความช่วยเหลือของกลุ่มทอสายใยฯนั้น สุภาพ อินทุภูต ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตะแบก กล่าวชื่นชมว่า นอกจากเด็กจะได้ประโยชน์แล้วยังทำให้ชุมชนได้ทำกิจกรรมต่างๆด้วย

“เด็กได้ใช้ประโยชน์จากอ่างล้างหน้า แปรงฟัน แม้กระทั่งสนามกีฬา ซึ่งนักเรียนเราได้ใช้ประโยชน์ และชุมชนได้ใช้ประโยชน์ ผู้ปกครองนักเรียนที่มารับมาส่ง มาทำกิจกรรมที่โรงเรียนด้วย”

จากช่วยเหลือเด็ก สู่คนไร้ที่พึ่ง

นอกจากกลุ่มทอสายใยฯ จะเล่นดนตรีเปิดหมวกตามที่ต่างๆ เพื่อหาทุนช่วยเหลือน้องๆ ในโรงเรียนถิ่นทุรกันดาร ใน จ.พิษณุโลกแล้ว พวกเขายังทำโครงการหาทุนสนับสนุนหน่วยงานของรัฐ และใช้เสียงเพลงส่งความสุขผ่านกิจกรรมที่สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งวังทอง จ.พิษณุโลก ด้วย

“ถือว่าเป็นคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเหนียวแน่นกับสถานคุ้มครองฯ มาโดยตลอด ตั้งแต่ทำมา ก็มีการสร้างห้องน้ำให้บ้าง ให้เป็นเงิน

ทำกิจกรรมให้กับผู้รับบริการที่นี่ หรือบริจาคสิ่งของ ก็ทำมาอย่างต่อเนื่อง ถือว่าเป็นการทำงานเพื่อสังคม

ทุกๆคนที่มีโอกาส ไม่จำเป็นต้องร่ำรวย เรามีสิ่งไหนที่สามารถช่วยเหลือสังคมได้ เราก็ทำ ไม่ว่าจะเป็นเสียงเพลง เวลา ที่เราจะไปประชาสัมพันธ์ พูดคุยกับคนอื่นๆ ที่เขาไม่สามารถจะเดินทางเข้ามาบริจาคได้

กลุ่มคนทอฝันก็เป็นกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นสื่อกลางในการที่จะไปเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธา เข้ามาบริจาค คนละเล็กละน้อย ไม่มากมายแต่ว่าเมื่อรวมกันแล้วก็เป็นสิ่งใหญ่ได้” สมลักษณ์ ขนอม ผู้ปกครองสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งวังทอง จ.พิษณุโลก การันตีสิ่งที่กลุ่มทอสายใยฯ ทำเพื่อสังคมและสถานคุ้มครองฯ

ทว่า นอกจากจะช่วยเหลือโรงเรียนในท้องถิ่นทุรกันดารแล้ว กลุ่มทอสายใย ตนทอฝัน ยังช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติในจังหวัดพิษณุโลกอีกด้วย โดยได้รวมตัว กันไปเล่นดนตรีการกุศล ตามสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดพิษณุโลก และมีผู้ร่วมสมทบทุนบริจาค นำมาจัดซื้ออาหารแห้ง อาทิ ข้าวสาร น้ำปลา บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และน้ำดื่ม บรรจุใส่ถุงและนำมามอบให้ผู้ประสบภัยอีกด้วย

“ผมมีความสุขนะ ได้เห็นรอยยิ้มของเด็กๆ ของชาวบ้าน เราไปมอบของ เราเห็นรอยยิ้มของพ่อแม่ ของคนที่เขาไม่มีโอกาสได้มาสัมผัสความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่คนในเมืองเขามีอยู่แล้ว ทำให้เรารู้สึกดี” ไพรัช บินชัย สมาชิกกลุ่มทอสายใย ฅ ทอฝัน กับความสุขที่ทุกคนในกลุ่มคงรู้สึกไม่ต่างกัน

สุดท้ายเมื่อถามถึงที่มาของการใช้ชื่อ “กลุ่มทอสายใย ฅ ทอฝัน” สมบูรณ์ เวียนศรี ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มทอสายใยฯ เผยว่า

“อยากถักทอความฝันของพวกเราให้น้องๆ ได้มีความฝันตามที่เราต้องการ ถักไปเรื่อยๆ ทอไปเรื่อยๆ น้องๆ มีความฝัน ถ้าเราไปช่วยเขาทอ หรือสอนวิธีทอฝันนั้น น่าจะมีสิ่งดีๆ ในความคิดเขา”

….แม้พวกเขาจะเป็นนักดนตรีกลุ่มคนเล็กๆ แต่กลับมีจิตสาธารณะที่สุดแสนจะยิ่งใหญ่

สัมภาษณ์: รายการ "ฅนจริง ใจไม่ท้อ"

เรียบเรียง: ผู้จัดการ Live


กำลังโหลดความคิดเห็น