xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ยุติธรรม!! นายจ้างโวย.. ลูกจ้างมาสาย-หักเงินไม่ได้-กฎหมายเข้าข้าง?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลูกจ้างเฮ!!! นายจ้างเศร้าหักเงินคนมาสายไม่ได้ สังคมตั้งคำถามกฏหมายจะเข้าข้างลูกจ้างขี้เกียจ ทนายชี้การมาสายไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขในการหักเงิน ฝ่ายพัฒนาบุคลากรแนะทริกเด็ด ดัดนิสัยลูกจ้างสายประจำ รับรองได้ผลมากกว่าหักเงิน!!

มาทำงานสายไม่ผิดฏหมาย ไม่มีสิทธิ์หักเงิน!!

การมาทำงานสายเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยปัจจัยหลายๆอย่างที่ต้องเผชิญ อาจจะเกิดจากฝนตก รถติด รถไฟฟ้าขัดข้อง น้ำท่วม หรือในบางครั้งลูกจ้างอาจจะตั้งใจมาทำงานสาย ด้วยการอ้างว่าขี้เกียจตื่นเช้า คิดว่าขอไปทำงานสายสักวันแล้วกัน ก็เป็นไปได้หมด

สังคมตั้งคำถามบางครั้งกฏหมายแต่ละอันส่งเสริมให้คนไม่มีระเบียบวินัยไร้ความรับผิดชอบ แทนที่กฏหมายจะมีเพื่อให้คนใช้ชีวิตตามกติกาสังคมเคารพซึ่งงกันและกันลดการเอารัดเอาเปรียบ เรื่องเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าเกิดว่าเรามีระเบียบวินัยตรงต่อเวลา แล้วถ้าลูกจ้างทำผิดซ้ำซากจะยุติธรรมกับนายจ้างหรือไม่ และการที่ลูกจ้างมาสายนายจ้างสามารถหักเงินเดือนลูกจ้างได้หรือไม่

เนื่องจากเป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงกันในสังคม ทางทีมข่าวผู้จัดการ Live จึงได้ติดต่อสอบถามไปยัง รณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความชื่อดัง จึงได้คำตอบว่า การมาสายไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขการหักเงิน การมาทำงานสายของลูกจ้าง นายจ้างไม่มีสิทธิ์หักเงินเดือน การหักเงินเดือนต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนถึงจะทำได้ แต่หากมีการตกลงกันไว้ก่อนการเข้าทำงานนายจ้างก็สามารถสามารถที่จะปฏิเสธการจ่ายเงินได้
 
รณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความชื่อดัง
“ปฏิเสธการจ่ายเงินได้ แต่ไม่ใช่เป็นการหักเงิน ปฏิเสธการจ่ายเงินในช่วงชั่วโมงที่ลูกจ้างไม่ได้มาทำงาน อย่างเช่น หากทำงานชั่วโมงละ 40 บาท วันละ 7 ชั่วโมง เขามาทำงานแค่ 6ชั่วโมง นายจ้างอาจจะจ่ายแค่ 6 ชั่วโมงที่มาทำงาน ส่วนชั่วโมงที่ไม่ได้มาก็อาจจะไม่ได้จ่าย แต่ไม่ใช่เป็นการหักเงิน”

ในกรณีเรื่องที่ลูกจ้างมาสายเกิดจากฝนตกรถติด แต่ถ้าไม่ใช่ฝนตกรถติดโดยที่ลูกจ้างอาจจะตั้งใจมาสาย ก็ไม่มีสิทธิ์หักเพราะผิดกฏหมายแรงงาน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานมาตรา76 ห้ามมิให้นายจ้างหักเงินค่าจ้าง ซึ่งจะหักได้ในกรณีดังต่อไปนี้ คือ หักภาษี หักค่าสหภาพแรงงาน หักหนี้สหกรณ์ หักเงินประกันบางอย่างที่ลูกจ้างให้ความยินยอม และหักเงินสะสมหากนายจ้างฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 144”

ทนายความชื่อดัง ยังบอกอีกว่า หากลูกจ้างมาสายเป็นประจำทำหนังสือเตือนหลายๆครั้ง ด้วยเหตุผลสุดที่จะบรรยายแล้ว การเชิญออกไม่ผิดกฏหมาย นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้โดยชอบด้วยกฏหมาย ถือว่าทำหนังสือเตือนแล้วยังไม่เลิกพฤติกรรมถือว่าไม่เป็นการปฏิบัติตามสัญญาของนายจ้างโดยชอบด้วยกฏหมายแล้ว เพราะต้องมีการตกลงตามสัญญาว่าการจ้างแรงงาน

“ถ้าลูกจ้างมาสายสะสมกันไป ก็ต้องเอาชั่วโมงที่มาสายมาคำนวนว่า ลูกจ้างไม่ได้มาทำงานให้นายจ้างกี่ครั้งแล้ว แต่คำว่าหัก หมายถึงว่าหักเงินไปเลย ซึ่งมันไม่สามารถทำได้ อยู่ที่เงื่อนไขการทำงานด้วย โดยหลักการทำได้แค่การปฏิเสธการจ่ายเงินแต่ไม่ใช่การหักเงิน อย่างเช่นหากมาสาย 1 ชั่วโมงแต่ไปหักเงินลูกจ้าง 2 ชั่วโมงมันไม่ได้”

ทั้งนี้ในแง่ของด้านกฏหมาย การมาสายจึงไม่ใช่เหตุผิดวินัยร้ายแรง หากนายจ้างจะไล่ออกถือว่าทำไม่ได้เนื่องจาก เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ต้องทำหนังสือเตือนก่อนและหากยังไม่มีการปรับปรุงตัวเองและมาสายบ่อยๆ อาจจะทำหนังสือไล่ออกได้ แต่ว่าถ้ามาสายครั้งเดียวจะไล่ออกเลยไม่ได้ต้องมีการตักเตือนก่อนตามกฏหมาย

แนะทริกดัดนิสัย “ลูกจ้างสายประจำ”

เมื่อให้ลองวิเคราะห์ในมุมมองของผู้ทำงานในแวดวงการพัฒนาบุคลากรมานาน ด้าน คณัสพิสิษฐ์ เตียสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาบุคลากร สำนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึงการมาทำงานสายไม่จำเป็นต้องออกกฏหมายอะไรมากมาย และไม่จำเป็นถึงขั้นต้องหักเงิน ทั้งยังมองว่ากฏหมายไม่ให้หักเงินนั้นไม่ได้เอื้อต่อลูกจ้าง

“มาสายไม่มีสิทธิ์หักเงินเดือน เพราะว่าไม่ได้หายไปทั้งวันหรือครึ่งวัน ไม่จำเป็นต้องไปออกฏหมายให้อะไรมากมาย เพราะมันเป็นข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง การมาทำงานสายเป็นเรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเมื่อ และในทุกกรณี บางทีมีเหตุการร์ไม่คาดฝัน ระหว่างทางอาจเกิดอุบัติเหตุ รถเฉี่ยวชน รถขวงทาง นายจ้างก็ต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป ให้เขาทำงานทดแทนไปในช่วงที่มาสาย มันโหดเกินไปถ้าจะมีการหักเงินคนมาสาย"
 
ส่วนวิธีที่จะช่วยให้ไม่มาทำงานสายนอกจากการหักเงินนั้น กูรูรายนี้ ยังได้ช่วยแนะอีกว่า การออกฏหมายมีทั้งข้อดีและข้อเสีย นายจ้างต้องมีการเข้าไปคุยกับลูกจ้าง ทำข้อตกลงร่วมกัน ต้องเข้าใจเหตุผลซึ่งกันและกัน จะทำให้การทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างราบรื่นและไม่มีเหตุขัดข้องใด

“การมาสายถือว่าไม่ผิดวินัยร้ายแรง แต่ถ้าสายประจำ ก็ควรที่จะต้องใช้วิธีการพูดคุยว่าเหตุที่สายเกิดจากอะไร อย่างเช่นบ้านไกล เราก็ต้องปรับพฤติกรรมการเดินทางอะไรยังไงของเขายังไง การออกเป็นกฏหมายบางทีมันก็มีข้อดีข้อเสีย ผมมองว่าบางทีนายจ้างก็อาจจะมองว่าก็คุณมาสายคุณก็ต้องถูกหัก แต่การมาสายมันบางทีมันก็ไม่ได้เป็นเหตุของการการทำงานที่จะไม่มีคุณภาพ แต่หากจะมาอ้างว่าบ้านอยู่ไกล และมาสายเป็นประจำ มันไม่ถูก แบบนี้ถือว่าขาดความรับผิดชอบ”
 

เป็นเช่นนี้แล้วนายจ้างต้องไปทำข้อบังคับมาก่อนที่จะมีการรับพนักงานเข้าทำงานในบริษัทตนเองโดยอาจจะเป็นการเรียกเก็บเงิน แต่ไม่มีสิทธิ์ไปหักจากเงินเดือนของลูกจ้าง หรืออาจจะมีผลกระทบเกี่ยวกับการขึ้นเงินเดือน อันนี้นายจ้างก็ตกทำข้อตกลงก่อนจะมีการว่าจ้าง เพื่อจะไม่ให้ผิดกฏหมายแรงงาน

ในทางปฏิบัติ ถ้าทุกคนมาสายโดยอ้างกฏหมายแรงงาน ว่าไม่สามารถหักเงินได้ แล้วงานในบริษัทเสียหาย ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ พฤติกรรมชอบมาทำงานสาย เป็นหนึ่งเหตุผลที่สุ่มเสี่ยงต่อการ โดนไล่ออกจากบริษัท ถ้าพนักงานยังคงมาทำงานสายเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง อาจจะโดนไล่ออกได้เพราะเหตุผลนี้ เพราะหลายๆ บริษัทมีนโยบายไล่พนักงานออกเมื่อมาสายเป็นประจำหรือขาดงาน 3 วัน

ขอบคุณภาพบางส่วน: ibeacon.com


กำลังโหลดความคิดเห็น