เหมือนได้ชีวิตใหม่! จาก “เด็กกำพร้า-ถูกทารุณกรรม-บ้านยากไร้” สู่พลเมืองคุณภาพของสังคมไทย! “โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก” หลักสูตรทางเลือกการใช้ชีวิตคู่วิชาการ หลอมรวมหัวใจดวงน้อยๆ ให้เติบโตเป็นคนดี ผ่านอ้อมกอด “พ่อเปี๊ยก-แม่แอ๊ว” ผู้ก่อตั้งโรงเรียนด้วยแนวคิด “ความรัก-ความสุข-เสรีภาพ”
ที่นี่เป็นมากกว่า “โรงเรียนสังคมสงเคราะห์”
“หนูมาจาก จ.นครราชสีมา ค่ะ พ่อ-แม่ของหนูทะเลาะกันก็เลยได้มาอยู่ที่นี่ แม่ก็ทำงาน ส่วนพ่อไปไหนไม่รู้ หนูอยากเรียนจนจบเลย แม่บอกว่าให้เรียนจนจบปริญญาตรีเลย”
นี่คือคำบอกเล่าจากเด็กคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนหมู่บ้านเด็กของมูลนิธิเด็ก ซึ่งมี ศ.นพ. ประเวศ วะสี ประธานกรรมการมูลนิธิเด็ก ดำรงตำแหน่งเจ้าของโรงเรียน โดยมี อ.พิภพ ธงไชย หรือพ่อเปี๊ยกเป็นผู้ก่อตั้ง ขณะที่ รัชนี ธงไชย หรือแม่แอ๊ว ภรรยาของ อ.พิภพ เป็นผู้อำนวยการ ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำแควใหญ่ จ.กาญจนบุรี
อ.พิภพ เปิดเผยถึงแนวคิดการก่อตั้งโรงเรียนไว้ว่า ตนมีแนวคิดการก่อตั้งโรงเรียนมาจากประเทศอังกฤษ โดยเน้นเรื่องของเสรีภาพแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ที่รับเข้ามาจะเป็นเด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ครอบครัวยากจน รวมไปถึงเด็กที่ถูกทารุณกรรม
“โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ก่อตั้งปี 2522 ด้วยแนวคิดที่เราอยากทำโรงเรียนสมัยใหม่ที่ให้เสรีภาพ ให้การปกครองตนเอง และให้เด็กเรียนตามสบาย การให้เด็กเรียนตามสบายเพื่อมุ่งให้เด็กปลดปล่อยตัวเองก่อน เพราะเด็กที่เรารับมา เป็นเด็กยากจนและถูกทารุณกรรม
ผมอยากรู้ว่า ความยากจนและถูกทารุณกรรมก่อให้เกิดความประพฤติหรือนิสัยอย่างไร แทนที่เราจะไปกดดันเด็กว่าไม่ให้แสดงออกในสิ่งที่ถูกเลี้ยงดูมาอย่างไม่ถูกต้อง เราก็ให้เสรีภาพกับพวกเขา เพราะเสรีภาพจะทำให้เด็กกล้าแสดงออก”
โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ถือเป็นบ้านและโรงเรียนสำหรับเด็กด้อยโอกาส เช่น เด็กที่ถูกทารุณกรรม กำพร้า ถูกทอดทิ้ง ครอบครัวแตกแยกและยากจน โดยเด็กจะมาอยู่ประจำ กินนอนและรับการศึกษา โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งความตั้งใจในการสร้างโรงเรียนมาจากการอยากให้เป็นสถานที่เรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กตามช่วงวัย
“เรามีความคิดว่าจะทำโรงเรียนยังไงให้เหมาะกับเด็ก เราเห็นว่าโรงเรียนโดยทั่วไป มันไม่เหมาะกับเด็ก เด็กต้องปรับตัวให้เข้ากับโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนก็ไม่คำนึงถึงความแตกต่างและความถนัดของเด็ก โรงเรียนจะมีแนวทางเดียว คือ การสอนแบบท่องจำ เพื่อไปเรียนต่อสูงขึ้นไปในระดับมหาวิทยาลัย
ซึ่งใครที่ไม่มีการตระหนักทางวิชาการที่โรงเรียนกำหนด ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และวิชาอื่นๆ เด็กเหล่านี้จะถูกคัดออกไป ยกตัวอย่าง วิชาคณิตศาสตร์ สังเกตง่ายๆ ว่า โรงเรียนมักให้เด็กเรียนวิชาเลขที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถามว่า สำหรับเด็กที่ไม่ถนัดวิชาเลขจะทำอย่างไร ดังนั้น โรงเรียนแห่งนี้จึงสร้างขึ้นมาเพื่อให้เหมาะสมกับเด็ก”
ความรัก-ความสุข-เสรีภาพ
นอกเหนือไปจากการเรียนการสอน ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ยังมีหลักสูตรของโรงเรียนเองด้วย ทั้งนี้ เพื่อต้องการให้เด็กๆ สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากประสบการณ์จริงมากกว่าการเรียนรู้จากหนังสือตำราเรียนเพียงอย่างเดียว
โดยหลักสูตรการสอนจะเน้นไปที่การเรียนรู้จากเรื่องใกล้ตัว ก่อนไปเรียนรู้จากเรื่องไกลตัว อีกทั้งยังมีวิชาชีพด้านต่างๆ ที่ตรงตามความสนใจของเด็กๆ ด้วย เช่น งานศิลปะประดิษฐ์ งานบาติก และงานมัดย้อม ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนหมู่บ้านเด็กเปิดสอนตั้งแต่ชั้น ป.1-ป.6 แถมยังมีศูนย์การเรียนรู้ระดับชั้น ม.1-ม.3
ที่สำคัญหากเด็กคนใดมีความสามารถเรียนถึงระดับปริญญาตรี ทางโรงเรียนพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน ซึ่ง แม่แอ๊ว เผยว่ามีการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่นี่ด้วยความรัก เสรีภาพ และการปกครองตัวเอง
“เราให้บรรยากาศที่มีความรัก เสรีภาพ และการปกครองตนเอง แม่คิดว่าอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก 4 ประการ เอามาใช้ได้เลย ที่หมู่บ้านเด็กเราเอามายึดเป็นหลักในการทำงาน
นั่นคือ การมีชีวิตอยู่รอด ด้วยความรัก อบอุ่น ไม่ใช่แค่ปัจจัยสี่ อย่างที่สอง การได้รับการพัฒนา คือ การได้รับการศึกษาและการเรียนรู้ ไม่ใช่ศึกษาในห้องเรียน แต่เป็นการเรียนรู้ที่แวดล้อมด้วยกัลยาณมิตร ที่ชี้ทางที่ถูกต้องให้เขา ในการสร้างเขาให้เป็นมนุษย์ที่ดีของสังคมและโลกด้วย
ส่วนที่สาม การคุ้มครองเด็ก ไม่ใช่แต่มีกฎหมาย แต่ต้องมีคนดูแลที่มีจิตวิญญาณที่จะมาคุ้มครองเขาด้วย ให้เขารู้สึกปลอดภัย และสุดท้าย การมีส่วนร่วม เขาต้องมีส่วนร่วมว่า หนูอยากกินแบบนี้ หนูอยากทำอย่างนี้ตั้งแต่วัยเด็ก ถ้าเราห้ามเขา แล้วไปปล่อยให้ทำตอนโต มันหมดแล้ว ความใฝ่รู้มันหมดแล้วค่ะ"
ไม่เพียงแต่การให้เสรีภาพแก่เด็กๆ ในการแสดงออกในเรื่องต่างๆ แล้ว โรงเรียนหมู่บ้านเด็กยังเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองผ่านสภาโรงเรียนด้วยเช่นกัน โดย อ.พิภพ ขยายความการทำงานของสภาโรงเรียนเพิ่มเติมว่า มีการทำหน้าที่เหมือนศาลในการตัดสินผู้ที่ทำผิดและมีบทลงโทษด้วยเช่นกัน
“เด็กที่นี่มีเป็นร้อย เราอยู่กันอย่างไร เราก็ต้องตกลงกติกา ต้องออกกฎ ครูก็ต้องปฏิบัติตาม เรามีกฎอันหนึ่ง สิ่งที่เป็นอันตรายและทำไม่ได้ เช่น ปีนต้นไม้ หรือว่ายน้ำไม่แข็ง สภาจะออกหรือไม่ออกเป็นกฎหมาย แต่โรงเรียนต้องมีกฏตัวนี้ หรือการละเมิดทางเพศ ทำไม่ได้เด็ดขาด
ส่วนกฏนอกนั้นที่อ่อนลงมา ให้สภากับครูเป็นคนออก อยู่ด้วยกัน ย่อมมีการทะเลาะกัน สภาก็เป็นผู้ตัดสินว่าจะลงโทษอย่างไร ลงโทษก็ไม่รุนแรง อดอาหารนี่ไม่ให้มีแน่ อาจอดขนม อดไปเที่ยวข้างนอก อดดูทีวี ไม่มีตี เพราะเด็กเหล่านี้ถูกตีมาส่วนใหญ่ เพราะพ่อแม่ไทยชอบตีลูกอยู่แล้ว เราจะไม่ใช้วิธีนั้นทำโทษเด็ก”
จาก “ผู้รับ” กลายเป็น “ผู้ให้”
กว่า39 ปีแห่งการอุปถัมภ์-เลี้ยงดู อีกทั้งให้การศึกษาแก่เด็กยากจนและด้อยโอกาส โดยเป็นทั้งครูผู้สอนวิชาและพ่อ-แม่ให้แก่เด็กๆ ผลจากการเป็น “ผู้รับ” ในวันนั้น คือสิ่งที่หลอมรวมอยู่ในจิตใจ จนทำให้เด็กที่เคยเรียนอยู่โรงเรียนแห่งนี้ กลับมาเป็น “ผู้ให้” เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น
“ผมพูดตรงๆ ผมประทับใจแม่แอ๊ว-พ่อเปี๊ยก ที่สร้างโรงเรียนแบบนี้เพื่อให้เด็กด้อยโอกาสได้มาอยู่ร่วมกัน โรงเรียนหมู่บ้านเด็กมีความสำคัญกับผมมาก ถ้าเกิดไม่มีโรงเรียนแห่งนี้ ชีวิตผมก็ไม่รู้จะไปอยู่ตรงจุดไหน เพราะผมกำพร้าตั้งแต่เด็กๆ ไม่มีพ่อ-แม่ ไม่รู้รากเหง้าตัวเองด้วยซ้ำมาจากตรงไหน”
'เกษม แสนสุข' ผู้ที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนหมู่บ้านเด็กเล่าย้อนความทรงจำวัยเด็กให้ฟัง ก่อนเล่าต่อไปว่าการที่ได้มาอาศัยและเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้ เปรียบเสมือนครอบครัวและทำให้เขามีชีวิตใหม่ที่ดีขึ้นจากเดิม
“โรงเรียนหมู่บ้านเด็กทำให้ผมมีชีวิตใหม่ขึ้นมา ผมได้มีการศึกษา มีที่อยู่ มีพ่อ แม่ พี่ น้อง เหมือนสร้างเป็นครอบครัวใหม่ที่ชุบชีวิตผมขึ้นมาเลย ที่นี่ให้โอกาสหลายอย่าง ในเรื่องการเรียน การทำงาน ได้เรียนรู้อะไรมากมาย ผมผูกพันกับแม่ๆ ที่นี่เปรียบเหมือนครอบครัวผม
หลังผมเรียนจบ ผมได้กลับมาช่วยครอบครัว มาช่วยดูแลน้องๆ ผมคิดว่าถ้าเรียนจบมา ก็ต้องกลับมาตอบแทนบุญคุญ เพราะเขาช่วยเหลือเรามา”
เช่นเดียวกับ 'รุ่งอรุณ พวงดอกไม้' ผู้เคยใช้ชีวิตในโรงเรียนหมู่บ้านเด็กเล่าว่าเธอรู้สึกโชคดีที่ได้เรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งปัจจุบันเธอได้เป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก เพื่อตอบแทนคำขอบคุณที่ทำให้เธอเติบโตมาเป็นคนที่ดีในสังคมได้ถึงทุกวันนี้
“แต่ก่อนเป็นผู้รับ ก็คิดว่าเราโชคดี เราเคยเรียนโรงเรียนนี้ เราได้ไปทะเลทุกปีนะ เราได้ไปงานวอลต์ ดิสนีย์ เราพูดกับเพื่อนได้ ทั้งที่เพื่อนอยู่กับพ่อ-แม่ แต่เขาไม่มีโอกาสตรงนี้ เรารู้สึกภาคภูมิใจนะ อย่างน้อยชีวิตเราไม่ได้ด้อย คนอื่นยังอิจฉาเรา
พอเรากลับมาเป็นครู ความรู้สึกแตกต่างกัน เหมือนเราได้ทำบุญ เราได้ให้ความรู้ในสิ่งที่เขาไม่รู้ เรารู้สึกปลื้มปิติ เพราะเราได้ทำประโยชน์ ตอนนั้นเรารู้สึกแค่ว่าเรา “ได้รับ” แต่ตอนนี้เราได้เป็น “ผู้ให้” บ้าง เราได้ทำประโยชน์ต่อสังคมและเด็กๆ ทำให้รู้สึกภูมิใจ”
แม้เด็กหลายคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้จะเติบโตขึ้นและประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว ทว่า ความฝันของแม่แอ๊วยังคงไม่สิ้นสุด เนื่องจากเธอตั้งใจเอาไว้ว่าอยากเห็นเด็กๆ ที่เติบโตในโรงเรียนแห่งนี้ กลายเป็นคุณพ่อ-คุณแม่ที่มีคุณภาพในสังคมไทย รวมถึงไม่ทอดทิ้งลูกๆ ของตนไว้กับปัญหา
“โรงเรียนหมู่บ้านเด็กของเรา เราเอาจิตวิญญาณเติมเข้าไปให้มากที่สุด แม่ดูว่า เวลาเด็กโตเป็นพ่อ-แม่ เขามีจิตวิญญาณกับลูกเขาไหม ก็พบว่า ที่ประทับใจคือ ถ้าเขามีปัญหาครอบครัว จนอยู่ไม่ได้
อย่างไรก็ตามเขาจะขอเลี้ยงลูกเอง เพราะเขารู้ว่า ตอนเขามาอยู่บ้านเด็ก เขาไม่มีแม่ มันโหยหาแค่ไหน เขาจะไม่ยอมให้ลูกของเขาโหยหาความรักเด็ดขาด พอเขาพูดคำนี้ แม่ขนลุกเลย นี่คือความฝันของแม่ที่เราอยากเห็นลูกของเรา อยากเห็นเด็กในหมู่บ้านเด็ก เติบโตเป็นพ่อ-แม่ที่ดีของสังคมได้ด้วย”
สัมภาษณ์: รายการ "ฅนจริง ใจไม่ท้อ"
เรียบเรียง: ผู้จัดการ Live
เรื่อง : พิมพรรณ มีชัยศรี