xs
xsm
sm
md
lg

เครื่องเงินน่าน งานหัตถกรรม ที่กำลังไปสู่ระดับโลก!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เครื่องเงินน่าน งานหัตถกรรมเก่าแก่ ความโดดเด่นด้านภูมิปัญญาการผลิตเครื่องเงินมาช้านาน จากรุ่นสู่รุ่น มุ่งสู่สากล ก้าวไกลระดับโลก




หลายคนที่เคยไปเยือน จ.น่าน นั้นจะรู้ดีว่าเสน่ห์ของเมืองน่าน คือ ความเงียบสงบ และวิถีชีวิตแบบ Slow Life ซึ่งเต็มไปด้วยความงดงามทางธรรมชาติที่มีเสน่ห์ดึงดูดให้น่าไปเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ ด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมของคนที่อาศัยอยู่ที่นี่

ทำให้งานหัตกรรมเครื่องเงิน และเครื่องประดับเงิน ทั้งในรูปแบบของเครื่องเงินโบราณ และเครื่องเงินชมพูภูคา นั้นถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะเมืองน่าน และมีชื่อเสียงทั้งในด้านคุณภาพและความสวยงามเป็นเอกลักษณ์อีกด้วย


เครื่องเงิน ถือเป็นของฝากที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของ จ.น่าน เนื่องจากเมืองน่านจัดเป็นแหล่งผลิตเครื่องเงินที่สำคัญในพื้นที่ภาคเหนือ เพราะที่น่านนิยมทำเครื่องประดับเงินเป็นอาชีพ และให้เงินแท่ง หรือเครื่องเงินเป็นสินสอดในพิธีแต่งงาน หรือในงานพิธีต่างๆ

ซึ่งเครื่องเงินถือเป็นเครื่องประดับอย่างหนึ่งที่ก้าวผ่านยุคสมัย มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาการทำเครื่องเงินจากรุ่นสู่รุ่น เป็นงานหัตถกรรมที่ต้องใช้ฝีมือควบคู่ไปกับความอดทนสูงของช่าง

บริษัทสยามเจมส์ กรุ๊ป ได้เดินหน้าโครงการ “สืบสานงานเงิน” ลงพื้นที่เพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการครั้งแรกที่จังหวัดน่าน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการและช่างฝีมือได้นำเสนอผลงานให้กับคณะกรรมการ และได้รับโอกาสที่จะเข้าร่วมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนมุ่งยกระดับสินค้าไทยให้ตรงความต้องการของตลาดเป้าหมาย ตามนโยบายของรัฐบาลด้านการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของประเทศ

โดยร้านที่ผ่านเข้ารอบในกิจกรรม Mini Matching มีทั้งหมด 6 ร้าน คือ 1. ร้านไหมเงิน จ.สุโขทัย 2. ร้านปัณณะศรัล จ.นนทบุรี 3. ร้านมนตรีเครื่องเงิน จ.สุโขทัย 4. ร้านธนาภรณ์จิวเวอรี่ จ.จันทบุรี 5. ร้านแอลฟ่าคราฟท์เวอร์ค จ.น่าน 6. ร้านนำชัยเครื่องเงิน จ.น่าน

[ร้านไหมเงิน จ.สุโขทัย ]

[ร้านปัณณะศรัล จ.นนทบุรี]

[ร้านมนตรีเครื่องเงิน จ.สุโขทัย]

[ร้านธนาภรณ์จิวเวอรี่ จ.จันทบุรี]

[ร้านแอลฟ่าคราฟท์เวอร์ค จ.น่าน]

[ร้านนำชัยเครื่องเงิน จ.น่าน]
ณัฐพล ปฐมกุล ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารสินค้า สยามเจมส์ กรุ๊ป ได้กล่าวถึงการคัดเลือกผู้ประกอบการในกิจกรรมครั้งนี้ว่า เน้นความตั้งใจเป็นหลัก “เมื่อได้วิเคราะห์และสัมภาษณ์แล้ว จะดูเรื่องของความตั้งใจของผู้ประกอบการที่เขาตั้งใจที่จะมาเรียนรู้การออกแบบและพัฒนาฝีมือตนเองเกี่ยวกับการออกแบบเครื่องเงินจริงๆ หรือว่าแค่ต้องการที่จะมาขายสินค้ากับกลุ่มสยามเจมส์อย่างเดียว

[ณัฐพล ปฐมกุล ]
อีกทั้งยังตัดสินจากฝีมือการทำเครื่องเงินในแต่ละรายของผู้ประกอบการ และดูเรื่องของชิ้นงานด้วยในการพัฒนาว่าสามารถต่อยอดในแง่ของการตลาดในอนาคตได้ไหม เพราะบางรายอาจจะต้องการเปิดรับสิ่งใหม่ๆ หรือบางรายนั้นก็พอใจที่จะขายแค่ส่วนนี้ไม่อยากออกแบบรูปแบบใหม่ๆ กับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีวัฒนธรรมใหม่ๆ กับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ”

สำหรับเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เข้าถึงกลุ่มคนทุกเพศทุกวัยนั้น อย่างแรกคือผู้ประกอบการต้องทราบก่อนว่ากลุ่มลูกค้าไหนที่เหมาะกับสินค้าของตน เพราะแบบเครื่องเงินที่คนไทยมองว่าไม่ทันสมัย กลุ่มวัยรุ่นอาจจะไม่สนใจ แต่จริงๆ แล้ววัยรุ่นนั้นก็สนใจเครื่องเงิน เพียงแต่ว่าผู้ประกอบการต้องเจาะให้ได้ว่า จะทำอย่างไรให้รูปแบบไลฟ์สไตล์นั้นดูทันสมัยขึ้น มีดีไซน์ที่เป็นแฟชั่นขึ้น เครื่องเงินจะดูแพงไปหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับเทคนิคผู้ประกอบการเอง

“ผู้ประกอบการส่วนใหญ่นั้นจะเป็นผู้ผลิตเอง เพราะฉะนั้นคุมราคาได้ง่ายกว่า เช่น อาจจะลดปริมาณเนื้อเงินลงแต่ว่าคุณภาพยังเท่าเดิม แต่ก็ต้องปรับให้เข้ากับวัยรุ่นในปัจจุบันว่าเทรนด์เขาเป็นอย่างไร อาจจะต้องศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของการตลาดของวัยรุ่น ว่าชอบอะไรหรือรับวัฒนธรรมของชาติใดมา เช่น อย่างวัยรุ่นของไทยตอนนี้ก็รับวัฒนธรรมของเอเชียเองเป็นหลัก

จากประสบการณ์แล้ว วัยรุ่นไทยชอบเครื่องเงินสไตล์กึ่งดีไอวาย ที่นำมามิกซ์แอนด์แมทช์ เลือกมาอย่างละนิดเพื่อร้อยเป็นเส้นเดียวกัน เพื่อให้ดีไซน์ไม่ซ้ำใคร ดูชิคๆ คลูๆ ลักษณะคล้ายแพนโดร่านั่นเอง เพื่อถ่ายโชว์ลงโซเชียลฯ ได้ วัยรุ่นไทยจะไม่ชอบเครื่องเงินที่เป็นสไตล์ไทยจ๋า เช่น พวกช้างหรือตุ๊กๆ ดังนั้นผู้ประกอบการต้องนำวัฒนธรรมไทยมาประยุกต์เป็นลวดลายใหม่ หรือดีไซน์แปลกใหม่ไม่ซ้ำใครถึงจะดึงตลาดกลุ่มวัยรุ่นไทยได้”

สไตล์เครื่องเงินที่ต่างชาติชอบนั้นก็ไม่เหมือนกัน ฝั่งยุโรปจะชอบเครื่องเงินแบบไม่ฮาร์ดคอร์มาก คือเครื่องเงินชิ้นเล็ก จะชอบแบบเครื่องเงินภาคเหนือบ้านเรา แต่ถ้าเป็นฝั่งอเมริกาจะชอบแบบฮาร์ดคอร์ คือ เครื่องเงินชิ้นใหญ่ หนักๆ หนาๆ เพราะรับวัฒนธรรมของกลุ่มเฮฟวี่ หรือนิกโก มา

นอกจากนี้ ยังอธิบายเพิ่มเติมอีกด้วยว่า “เรามีแพลนที่จะนำร้านเครื่องเงินของผู้ประกอบการไปสู่ตลาดโลก เพราะผู้ประกอบการไม่ได้ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์บริษัทเรา แต่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าระดับโลก แต่ต้องดูว่าผู้ประกอบการต้องการเจาะตลาดกลุ่มไหน

การออกแบบจะต้องให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้าของเขาเองด้วย ทางบริษัทจะเป็นผู้ช่วยชี้นำผู้ประกอบการ แต่เขาต้องรู้ตลาดของเขาก่อนว่าเวลาจะออกแบบนั้นต้องการเจาะตลาดไหน เพื่อจะได้ส่งตรงไปที่ตลาดนั้น เพราะว่าหากเขาออกแบบมาแล้วไม่มีตลาดรองรับจะเคว้งคว้าง และอาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าการมีตลาดรองรับ”

การเลือกจัดกิจกรรม Mini Matching ขึ้นที่น่านเป็นจังหวัดแรก นั่นก็เพราะว่า น่าน มีความโดดเด่นด้านภูมิปัญญาการผลิตเครื่องเงินมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นศิลปะการสลักดุน เครื่องเงินชมพูคา ซึ่งถือว่าเป็นอัตลักษณ์เด่นของภาคเหนือที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ไม่ให้เลือนหายไป
 


กำลังโหลดความคิดเห็น