xs
xsm
sm
md
lg

ช่วยปลดหนี้-ช่วยชีวิต “ทีมฅนจริงฯ” ผู้ยอมทุ่มสุดตัวเพื่อช่วยเหลือคนแปลกหน้า [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

[ก้อง, ต่าย, เมศ 3 พิธีกรหลักจากรายการทีวีดีเด่น ฅนจริงใจไม่ท้อ]
พวกเขาคือกลุ่มคนที่ทำให้คุณป้าพิการ ซึ่งกำลังจะถูกยึดบ้าน ปลดหนี้ธนาคารได้สำเร็จภายใน 3 วัน... คือกลุ่มคนที่ทำให้ครอบครัวคุณยายผู้เป็นอัมพฤกษ์ ได้มีบ้าน มีไฟ มีน้ำใช้ ไม่ต้องทนตักน้ำคลองอาบกินอีกต่อไป... และคือกลุ่มคนเดียวกับที่ทำให้เด็กกตัญญูคนนึง เต็มใจที่จะขอก้มกราบแทบเท้า เพื่อแทนคำขอบคุณจากใจ...

จากผลงานการทำสารคดีที่เป็นมากกว่าคำว่า “รายการทีวี” แต่คือช่องทางการชุบชีวิต-มอบแรงบันดาลใจผ่านวิถีสื่อมวลชน จนเป็นที่มาของรางวัลรายการโทรทัศน์เพื่อสังคมอีกรายการนึงที่ได้รับการยกย่องว่า ควรค่าแก่การให้เวลาเพื่อเติมเต็มจิตวิญญาณ



“รางวัลที่ใจ” รางวัลที่ยิ่งใหญ่ของ “คนเพื่อสังคม”

[ได้รับรางวัล "ฐานันดร 4 ทองคำ" จาก ม.รังสิต]
“สำหรับคนทำงานมันคือความภาคภูมิใจครับ ที่สิ่งที่เราทำมีคนเห็นคุณค่า แม้จะไม่เยอะอะไรมาก แต่อย่างน้อยๆ สิ่งที่เราคิด-สิ่งที่เราทำ มันก็ได้สร้างการเปลี่ยนแปลง ได้สร้างการรับรู้ หรือได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนในสังคม เท่านี้ผมก็มีความสุขแล้วครับ”

ก้อง-ก้องเกียรติ พุทธรักษ์ขิต บอกเล่าความรู้สึกของเขาผ่านแววตาแห่งความอิ่มเอมใจ ในฐานะหัวเรือใหญ่ ผู้ควบตำแหน่งโปรดิวเซอร์และพิธีกรรายการ “ฅนจริงใจไม่ท้อ” รายการประจำสถานีโทรทัศน์ช่องนิวส์วัน (News1) ซึ่งเพิ่งคว้ารางวัลกิตติมศักดิ์ “รายการโทรทัศน์ดีเด่น ด้านการสร้างแรงบันดาลใจ และส่งเสริมการปลุกจิตสำนึกที่ดีในการช่วยเหลือสังคม” จากพิธีมอบรางวัล “คชสีห์” ประจำปี 61 และรางวัล “รายการสารคดีดีเด่น” จากพิธีมอบรางวัล "ฐานันดร 4 ทองคำ" ประจำปี 60

“นี่คือรายการแรกของผมเลย ที่ควบคุมการผลิตเองทั้งหมด จากก่อนหน้านี้ที่จะรับหน้าที่เป็นพิธีกร-อ่านข่าวเพียงอย่างเดียว ซึ่งก็ต้องขอบคุณ คุณจิตตนาถ ลิ้มทองกุล ซีอีโอของช่องด้วยครับ ที่ได้ให้โอกาส ผมเคยเสนอไอเดียไป และท่านก็แนะนำให้มาทำรายการประเภทนี้ ซึ่งก็ตรงกับความต้องการของผมอยู่แล้ว เลยถือเป็นความโชคดีของผมที่ได้ทำงานที่รัก และได้ช่วยเหลือคนไปพร้อมๆ กัน ทั้งยังเป็นงานที่สามารถดูแลเลี้ยงชีพของเราได้ด้วย

เคยมีแฟนรายการของเรา ที่ส่งเรื่องราวของตัวเองเข้ามา แล้วบอกเราว่าเป็นเพราะเขาเห็นเรื่องราวที่เรานำเสนอ มันเลยทำให้เขาที่เป็นโรคร้ายอยู่ รู้สึกว่าตัวเองไม่อยากยอมแพ้ พอได้ดูรายการเราแล้ว เขาก็คิดว่าจะไม่ท้อ (ยิ้มปลื้มใจ) แค่ได้รับรู้แค่นี้ มันก็ถือว่าเป็น “รางวัลในชีวิต” ของผมแล้วครับ”



[ทีมฅนจริงฯ กับรางวัล “คชสีห์” ประเภทรายการสร้างแรงบันดาลใจ]
นิยามคำว่า “รางวัล” ที่อยากจะได้รับสำหรับแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป แต่สำหรับทีมที่ทำงานด้วยหัวใจอย่างพวกเขาแล้ว พูดเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า “รางวัลที่ใจ” คือสิ่งที่สูงค่าที่สุดแล้วในชีวิตคนคนนึง อย่างที่ ต่าย-สายธาร นิยมการณ์ ผู้รับหน้าที่ 1 ใน 3 พิธีกรหลักของรายการ อธิบายมุมมองของตัวเองเอาไว้

“คำว่า “รางวัล” ต่ายไม่ได้หมายถึงแค่ตัวรางวัลเชิดชูเกียรติ แต่ในความหมายของต่ายอาจจะเป็นแค่ “คำขอบคุณ” จากเคสที่เราลงไปช่วย หรือถึงแม้จะไม่ได้รับคำขอบคุณตอบแทนมา แต่แค่ได้ทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงไปในเชิงบวก นั่นก็คือรางวัลสำหรับต่ายแล้วค่ะ

แต่ถ้าให้พูดถึงตัวรางวัลที่เป็นรูปธรรม ที่ทางรายการของเราเพิ่งได้รับมา มันก็เหมือนเป็นเครื่องเตือนใจ เป็นพลังขับเคลื่อนให้พวกเรามีกำลังกายและใจที่จะทำงาน ให้ทำรายการเพื่อสังคมต่อไปอย่างไม่ย่อท้อค่ะ

ไม่ต่างไปจากความรู้สึกของน้องคนสุดท้องในวงการ เมศ-ปรเมศร์ มีสมภพ อาสากู้ภัยที่คนใจบุญรู้จักกันในนาม “เมศเจ้าชายน้อย” ผู้โด่งดังจากการลงพื้นที่ช่วยเหลือคนยากไร้ และใช้โซเชียลฯ ส่งต่อธารน้ำใจของคนไทย ที่มองว่าการสร้างช่องทางช่วยชีวิตผ่านรายการทีวีแบบนี้ คืออีกหนึ่งโอกาสสำคัญสำหรับทั้ง “ผู้รับ” และ “ผู้ให้” ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับรางวัลจากหัวใจไปพร้อมๆ กัน



“ความรู้สึกของการได้มาทำรายการตีแผ่เรื่องราวชีวิตผู้คนตรงนี้ มันก็คล้ายๆ กับที่เราเคยทำมาตลอดผ่านโซเชียลฯ ครับ แต่พอตัวรายการได้รางวัลขึ้นมา มันก็ยิ่งสร้างกำลังใจให้กับคนทำอย่างเรา เหมือนเราได้ก้าวขึ้นไปอีกขั้นนึง และมันยังเป็นครั้งแรกที่ผมเข้ามาทำรายการด้วย เลยยิ่งทำให้รู้สึกว่าเราต้องช่วยเหลือคนตรงนี้ต่อไป เพื่อคนที่เขารอความช่วยเหลืออยู่

ความช่วยเหลือจากทางรายการและจากพวกเราทั้ง 3 คน อาจจะไม่ได้มากมายอะไรนัก แต่สิ่งที่เขาจะได้รับหลังจากพวกเราเข้าไปช่วยเหลือ และนำเสนอเรื่องราวของเขาแล้ว มันสามารถต่อชีวิตให้เขามีลมหายใจได้อีกยาวเลย บางเคสถึงแม้เขาจะป่วยใกล้เสียชีวิตแล้วก็ตาม แต่อย่างน้อยก่อนเขาตาย เขาก็ได้รู้ว่าสังคมยังไม่ทอดทิ้งเขา เขาก็นอนตายตาหลับแล้ว

บางรายเขามาบอกผมว่า เมศ..ถ้าป้าตายไป อุ้มป้าเข้าเตาเผาด้วยนะ แล้วพอแกเสีย ผมก็ทำตามนั้นครับ จัดงานศพให้คุณป้าคนนั้น สิ่งที่รายการทำ ไม่ใช่แค่เข้าไปถ่ายทำหรือมอบเงินบริจาคให้แก่เขานะครับ บางทีเขาขอเตียง ขออุปกรณ์ปฐมพยาบาล ขอโลงศพ หรือแม้แต่ขอให้จัดงานศพ เราก็ทำให้ และเราก็ไม่ได้จัดให้เหมือนศพไร้ญาติ แต่เราจัดให้ประดุจญาติเราคนนึงเลย เงินที่ใช้หลายๆ ครั้งก็เป็นเงินของพวกเรากันเองนี่แหละครับ”

ชายหนุ่มร่างเล็กบอกเล่ามุมมองของเขาอย่างตรงไปตรงมา ช่วยให้คู่สนทนาเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า ทีมทำงานทั้งหมด รวมถึงผู้ดำเนินรายการทั้ง 3 คนที่อยู่ตรงหน้า ไม่ใช่ “คนหัวใจอาสา” แค่ฉากหน้า แต่ถ้าผู้ชมจะเลือกสนใจเรื่องราวต่างๆ จากการตัดสินกันที่หน้าฉากจริงๆ พวกเขาก็ได้แต่หวังว่าจะมีคนบางส่วนมองเห็น “หัวใจ” ที่ฝากเอาไว้ผ่านทุกชีวิตในสารคดี



[รางวัลที่จับต้องได้ ที่รายการ "ฅนจริงใจไม่ท้อ" ได้รับ]
“ถ้ามองจากมุมของคนเป็นโปรดิวเซอร์ ด้วยตัวรายการของเราแล้ว อาจจะไม่ได้นำเสนอสิ่งที่วูบวาบหรือจูงใจคนทั่วไปได้มากพอ เพราะฉะนั้น มันเลยยากสำหรับรายการแบบนี้ที่จะเข้าไปอยู่ในใจคนได้ แต่เราเชื่อว่าถ้าคนดูได้สัมผัส ได้เห็นเจตนาและเขาจูนเราติด ก็คงไม่ยากเกินไปที่จะมาติดตามรายการของเราครับ

แต่อยากจะบอกว่า ลำพังแค่กำลังของพวกเรากันเอง คงช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้มาก ถ้ารายการไม่มีคนดูและส่งความช่วยเหลือมาให้ พวกเราคงเป็นได้แค่ฟันเฟืองเล็กๆ ที่จะคอยขับเคลื่อน ส่งต่อให้แก่คนที่ยากไร้ แต่พลังจากผู้ชมคือพลังที่ยิ่งใหญ่ และจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ”

เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ “เครือข่ายฅนจริงใจไม่ท้อ” ที่เกิดขึ้นมาแล้วในหลายๆ พื้นที่ จากการรวมตัวกันของแฟนรายการภาคประชาชน ทั้ง เชียงใหม่, เชียงราย, เพชรบูรณ์, สมุทรปราการ และหัวหิน ที่ประทับใจในจุดยืนของรายการ จนต้องออกมารวมตัวอาสาทำดี ตระเวนไปลงพื้นที่ช่วยเหลือคนยากไร้ โดยขอใช้ชื่อ “ฅนจริงใจไม่ท้อ” ลงนามเมื่อทำความดี เพราะอยากเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ที่พวกเขาสัมผัสได้ผ่านรายการทีวีที่ตัวเองศรัทธา



“น้ำตาแห่งความดีใจ” ความประทับใจที่ไม่มีวันลืมลง

[เพราะรายการทำให้ "ครูแสงดาว" ได้สัญชาติไทย]
ทำรายการมากว่า 50 เทป ช่วยชุบชีวิตผู้คนมาแล้วเกือบ 1 ปี แน่นอนว่าถ้าให้ลองมองย้อนรอยยิ้มที่ได้รับตอบแทนกลับไปจากวันนี้ มันน่าจะเปี่ยมล้นอยู่ภายในลิ้นชักหัวใจของพวกเขา แต่ถ้าให้เลือกหยิบมาเฉพาะที่สร้างรอยประทับเอาไว้ในใจได้อย่างชัดเจนที่สุด กรณีของ “ครูแสงดาว” คืออีกหนึ่งชีวิตที่ก้องอยากหยิบขึ้นมานำเสนอ

ถ้าให้พูดถึงเคสที่เป็นความภาคภูมิใจที่เกิดขึ้น ก็น่าจะเป็นเคสของอาจารย์แสงดาวครับ อาจารย์เขาเป็นคนไทใหญ่ แต่เติบโตที่ไทย เป็นครูบนดอยที่คอยสอนเด็กไร้สัญชาติ ให้ได้มีโอกาสเรียน สอนให้อ่านออกเขียนได้ สอนให้เด็กๆ รักชาติไทย จากช่วงแรกๆ ที่ยังไม่มีที่สอนหนังสือ เขาก็สอนเด็กๆ ตามใต้ต้นไม้ จนมีคนใจบุญมาสร้างอาคารให้เด็กได้มีที่เรียนเป็นหลักเป็นแหล่ง


[ลงพื้นที่ถ่ายทอดชีวิต "ครูแสงดาว" สะท้อนปัญหาคนดีที่ไร้สัญชาติ]
ในขณะที่ตัวอาจารย์เองยังไม่เคยได้รับสวัสดิการอะไรจากแผ่นดินเลย เพราะยังมีปัญหาเรื่องสัญชาติอยู่ เคยทำเรื่องไปเป็น 10 กว่าปีแล้ว แต่ยังไม่ได้สักที แต่พอรายการของเรานำเสนอเรื่องนี้ออกไป ก็ทำให้อาจารย์ได้รับพิจารณาให้สัญชาติไทย ซึ่งเพิ่งได้ไปเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมานี้นี่เองครับ”

“ของผมมีอยู่เคสนึงครับ” ว่าแล้วเมศก็ช่วยหยิบเรื่องราวแห่งความภาคภูมิใจอีกเรื่องขึ้นมาช่วยเสริม “เคสนี้เป็นเคสที่เขากำลังจะโดนยึดบ้านอยู่แล้ว เหลืออีกแค่ 10 กว่าวัน หลังจากต่อสู้มาตลอด 5-6 ปีแต่ก็หาเงินมาได้ไม่พอ แต่พอรายการลงไปนำเสนอเรื่องราวของเขา หลังจากนั้นแค่ 2-3 วัน ก็มีเงินบริจาคหลั่งไหลเข้ามาถึง 5-6 แสน และเราก็ให้เงินก้อนเขาไปเลยตอนนั้น ทำให้เขาได้บ้านคืน จนเขาดีใจน้ำตาไหล และนั่นแหละครับคือสิ่งที่เราได้รับกลับมา คือ “น้ำตาแห่งความดีใจ” ของเขา”

กรณีที่เมศพูดถึง คือเรื่องราวชีวิตของ “คุณป้าทองสุข” คุณป้าวัย 50 กว่าซึ่งป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ ร่างกายเป็นพังผืดจนไม่สามารถทำงานได้ มีเพียงเงินช่วยเหลือผู้พิการและผู้สูงอายุเท่านั้น ที่ยังช่วยต่อลมหายใจต่อไปได้ ซ้ำร้ายกว่านั้น คุณป้ายังต้องพักอาศัยอยู่กับน้องชายที่เป็นโรคประสาทขั้นรุนแรง ถึงขั้นเดินแก้ผ้าอยู่กับบ้าน ปาอึในห้องน้ำ และเคยพยายามจะทำร้ายตัวคุณป้าผู้เป็นพี่สาวมาแล้วด้วย

จุดที่วิกฤตที่สุดสำหรับครอบครัวนี้ ในตอนที่ทางทีมงานลงพื้นที่ไปให้ช่วยเหลือก็คือ บ้านของคุณป้ากำลังจะถูกยึดในอีกไม่กี่วัน เนื่องจากพี่น้องคนอื่นในบ้านเคยเอาไปจำนองไว้ เพื่อนำเงินมาทำธุรกิจนากุ้งที่ชลบุรี แต่ดันโชคร้ายเพราะเกิดน้ำท่วมในปีนั้น ส่งให้ผลผลิตได้รับความเสียหายทั้งหมด ทำให้ท้ายที่สุดไม่มีเงินมาผ่อนบ้าน การเข้ามาตีแผ่ชีวิตของทางรายการในครั้งนั้น จึงไม่ต่างอะไรจากการจุดไฟให้ชีวิตที่กำลังมืดหม่นหมดหนทาง ได้กลับมามองเห็นแสงสว่างได้อีกครั้งนึง



[เข้าไปช่วยเหลือ “ป้าทองสุข” จนบ้านไม่ต้องถูกยึด]
“ตรงนั้นแหละครับที่มันกลายมาเป็นความรู้สึกภาคภูมิใจที่เกิดขึ้นกับเรา ผมรู้สึกว่าการที่เขามาขอความช่วยเหลือจากเรา ทางเราเองก็ไม่ได้คิดว่าจะมีกำลังช่วยเหลืออะไรได้มากมาย แต่ด้วยพลังจากทุกคน ทำให้เขาได้รับความช่วยเหลือครั้งยิ่งใหญ่กลับไป เหมือนได้ชีวิตของคนคนนึงกลับมาเลย”

เจ้าชายน้อยประจำทีม บอกเล่าความรู้สึกของเขา ผ่านน้ำเสียงของคนที่ทำงานด้วยพลังขับเคลื่อนบางอย่าง ก่อนส่งต่อความรู้สึกตื้นตันในอกให้พี่ชายคนโตของบ้านฅนจริงฯ ได้บอกเล่าอีกมิตินึง ในฐานะคนที่ลงพื้นที่ในเคสนี้มาพร้อมกัน



[น้องชายของ "ป้าทองสุข" ผู้ป่วยเป็นโรคประสาทขั้นรุนแรง]
“เวลาเราลงพื้นที่ไป เราไม่ได้คาดคิดหรอกครับว่า สิ่งที่เราทำมันจะช่วยได้ทุกเคสแบบนี้หรือเปล่า แต่พอทำได้แบบนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยของเรายังพร้อมเสมอที่จะช่วยเหลือกัน ผมเคยเจอหลายคนเลยที่อยากช่วยเหลือ บางคนส่งเงินมาแล้วบอกว่า ผมมีเงินแค่ 30 บาทนะครับ ช่วยได้แค่นี้แต่อยากเป็นกำลังใจ แต่พอทุกคนช่วยกันคนละหยด มันก็สามารถเติมเต็มจนช่วยเหลือชีวิตคนได้”

“ยังมีเรื่องนึงประทับใจที่อยากให้พี่ก้องเล่าค่ะ เคสที่มีน้องเข้ามากราบเท้า ถามว่าชีวิตคนคนนึงเกิดมาจะกราบใครได้บ้าง พระเจ้าอยู่หัว, พ่อ-แม่, ครูบาอาจารย์ ก็มีแค่นี้ และการที่ใครสักคนนึงมาก้มลงกราบเรา ลองคิดดูสิคะว่าเรามีคุณค่าขนาดไหน” สาวสวยคนเดียวในวงล้อมสนทนา ช่วยจุดประเด็นใหม่ขึ้นมา ก่อนส่งไม้ต่อให้หัวหน้าทีมบอกเล่าเรื่องราวของ “น้องสอง” เด็กชายยอดกตัญญูผู้ลุกขึ้นมาขายของ แบ่งเบาภาระช่วยตากับยาย

“พอถ่ายทำเสร็จ มอบของให้ น้องเขาเข้ามากราบขอบคุณผม บอกว่าพี่ครับ กราบขอบพระคุณนะครับที่เข้ามาช่วยเหลือผม ทั้งๆ ที่เงินที่เราเข้าไปช่วยมันไม่ได้มากมายอะไร แต่จิตใจของน้องเป็นคนที่อ่อนโยนและกตัญญูสูงมาก


["น้องสอง" #เด็กกตัญญู2018]

ตัวผมเองไม่เคยคิดเลยครับว่า เรามีคุณค่าพอที่ใครคนนึงจะมาก้มกราบเราได้ แต่กลับมีเด็กคนนึงมาก้มกราบเราแบบนี้ ที่ทำให้ผมรู้สึกประทับใจ ไม่ใช่เพราะมีคนมากราบผมนะครับ แต่มันรู้สึกเหมือนเขาเห็นถึงคุณค่าที่เราให้กับเขา เห็นคุณค่าที่เราอยากนำเสนอเรื่องราวดีๆ ของเขา มันเป็นสิ่งที่ตอบแทนเรากลับมาในทุกครั้งที่เราไปถ่ายทำ

มันคือความโชคดีที่เราได้ทำงานที่ให้คุณค่ากับคน และเราเองก็ได้เติมกลับมาอยู่ตลอด มันเลยเป็นพลังคืนกลับมาให้เราในทุกครั้ง ทำให้ไม่ว่าจะรู้สึกเหนื่อยหรือหนักแค่ไหน เราก็จะประคับประคองและแก้ปัญหาทุกอย่างให้ผ่านพ้นไปให้ได้ มันคือความสุขทางใจที่ผมได้จากการทำงานจริงๆ พูดแล้วก็..ขนลุก”

“มีอีกเคสนึงที่ผมปลื้มใจมากที่ได้ลงไป คือเคสที่ปทุมฯ ยายอยู่กับลูกสาวที่สติไม่ดี แถมอยู่กระต๊อบที่ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟใช้ด้วย” โปรดิวเซอร์ประจำรายการ หยิบอีกหนึ่งกรณีแห่งความทรงจำขึ้นมา ก่อนปล่อยให้พิธีกรชายอีกรายเป็นผู้บอกเล่าความรู้สึกผ่านประสบการณ์ตรง

เคสนี้คุณยายพิการเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งตัว ลูกสาวก็มีอาการทางสมอง เพราะโดนคนข้างบ้านข่มขืน จนเกิดเจ้าตัวเล็กขึ้นมา และไอ้ตัวเล็กก็มีอาการทางสมอง ส่วนบ้านที่อยู่ก็ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟใช้ ต้องกินน้ำในคลอง แต่พอเราลงไปแล้ว ทุกอย่างก็เข้ามาหาเขา ภาครัฐโดดเข้าไปช่วย ทำให้น้ำ-ไฟเข้าถึง ตัวเล็กได้เรียนหนังสือ ครอบครัวเขาก็ได้ความช่วยเหลือไปเกือบ 8 แสน


[คุณยายผู้เคยต้องอยู่กระต๊อบ ไม่มีน้ำ-ไม่มีไฟฟ้าใช้]

คุณยายเขาก็ไม่ได้พูดอะไรมาก แต่ผมเห็นความดีใจของเขา วันนั้นเขากอดผม แล้วก็พูดกับผมแค่ว่า “ถ้าไม่ได้คนนี้ ยายตายแน่นอน” คือถึงแม้เราจะเป็นแค่แสงหิ่งห้อยตัวเล็กๆ ที่ไปส่องทางให้เขาก็เถอะ แต่เราก็ยังสามารถนำทางเขาออกไปได้ แค่นั้นเขาก็พร้อมที่จะขอบคุณเราแล้ว

เราเหมือนเป็นคนแปลกหน้า เป็นใครก็ไม่รู้ที่เข้าไปฉุดเขาให้ลุกขึ้นมาจากความมืด ทำให้เขาได้พบแสงสว่าง และเขาก็เป็นใครก็ไม่รู้ แต่พอเราลงไปช่วยเหลือ เขาก็มากอดเราด้วยความเต็มใจ กอดเราด้วยมิตรภาพ กอดด้วยความรู้สึกขอบคุณ มันเป็นอะไรที่ทำให้รู้สึกปลื้มใจอย่างบอกไม่ถูก ทำให้เราสัมผัสได้ว่า เขารับรู้ในสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เราไปอุ้มเขาขึ้นมาจากความมืด



บทเรียนอันล้ำค่า จาก “คุณครูผู้เดือดร้อน”

[โปรดิวเซอร์รายการ กับเด็กผู้ไร้สัญชาติ ศิษย์ของ "ครูแสงดาว"]
น่าแปลกใจ... คนที่ตั้งใจว่าจะลงไปเพื่อ “ให้” แต่กลับได้ “รับ” กลับมาอย่างไม่ได้คาดหมาย โดยเฉพาะ “บทเรียนชีวิต” ที่แขกรับเชิญในแต่ละเทปทิ้งเอาไว้ให้ เล่นเอาทีมทำงานขนกลับบ้านกันแทบไม่หวาดไม่ไหว อย่างที่ก้องบอกเอาไว้ว่า “แต่ละเคสที่เราไป เหมือนเขาเป็น “ครู” ให้เราได้เห็นสัจธรรมในชีวิตในหลายๆ มิติ ถือเป็นสิ่งที่เราต้องขอบคุณพวกเขามากๆ ที่เข้ามาให้เราได้เรียนรู้แล้วก็ถ่ายทอดส่งต่อ”

และถ้าจะให้ยกตัวอย่างกรณีที่เป็นคุณครูได้ดีที่สุดกรณีนึง คงหนีไม่พ้น “คุณครูแฟนรายการ” รายหนึ่ง ผู้ส่งเรื่องราวอาการป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมของตัวเองเข้ามา ซึ่งเป็นกรณีที่ก้องยืนยันด้วยตัวเองว่า ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่าไม่ควร “ตัดสินคน” จากแค่การประเมินด้วยสายตาและอคติบางอย่างที่บังตาของเราจริงๆ

“เขาบอกว่าเขาป่วยเป็นโรคร้าย และไม่มีที่พึ่งเลย จนเขารู้สึกว่าไม่อยากจะอยู่แล้ว เราก็เลยตัดสินใจลงไปช่วยเขา ปรากฏว่าพอไปถึง ภาพที่เห็นด้วยการประเมินจากสายตา ผมตัดสินไปแล้วว่า เขาก็ดูปกติดีนี่ ดูไม่ได้ป่วยเป็นอะไร แต่ปรากฏว่าพอคุณต่ายที่ลงพื้นที่ไปด้วยกันเข้ามาพูดคุยกับเขาต่อ เราถึงได้รู้ข้อมูลเพิ่มจากตรงนั้น”



[หอบน้ำใจไปฝาก ทุกครั้งที่เดินทางไปหาผู้เดือดร้อนเสมอๆ]
ว่าแล้วคนที่ถูกพูดถึงก็เริ่มบอกเล่าผ่านมุมมองของเธอบ้าง โดยพยายามย้ำกับคู่สนทนาถึงความ “จริง” ของกระบวนการทำรายการนี้ว่า ไม่มีการเตี๊ยม ไม่มีการเฟก และไม่มีการจัดฉากอะไรทั้งสิ้น เรียกได้ว่าเข้าไปลงพื้นที่ สืบประวัติคนที่ขอความช่วยเหลือกันอย่างจริงจังจริงๆ เพื่อไม่ให้เหล่าคนใจบุญที่อยากส่งน้ำใจมาสนับสนุน เกิดคำถามขึ้นภายหลังได้ว่าผู้เดือดร้อนเหล่านั้น คือบุคคลที่ควรค่าแก่การช่วยเหลือหรือไม่

“พอคุยกับเขาไปสักพัก ด้วยสัญชาตญาณความเป็นกู้ชีพของเรา ต่ายเห็นเขาเริ่มมีอาการเหนื่อยหอบ อ่อนล้า แล้วก็เริ่มซีด ต่ายเลยบอกทีมงานว่าเราตัดเรื่องอื่นออกไปก่อน ตอนนี้ขอพาเขาไปโรงพยาบาลก่อนดีกว่า พอไปถึงปุ๊บ เข้าไปคุยกับพี่พยาบาลว่าเรามาถ่ายทำรายการ บอกรายละเอียดตามจริงทั้งหมด

แต่ผลที่ออกมาก็ยังทำให้เราคาใจอยู่ และตอนนั้นเราก็ยังไม่ได้เชื่อและจบที่แค่ว่าเขาป่วยเป็นโรคมะเร็งอย่างที่เขาบอกมา เพราะในใบประวัติการแพทย์ที่นั่น มันไม่มีข้อมูลการป่วยของเขาเลยค่ะ และเขาก็จำโรงพยาบาลที่เคยไปไม่ได้ ไม่มีใบนัด จำหมอไม่ได้ มันเลยกลายเป็นการบ้านที่เราต้องทำ ณ ตอนนั้น

แต่ยังโชคดีค่ะที่ทางคุณหมอและทีมพยาบาลเมตตา ทำให้เราได้คุยกับท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลกำแพงแสน จนได้ทราบข้อมูลว่าประวัติเขาอยู่ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดอีกที่ ที่โรงพยาบาลนี้เลยไม่มีข้อมูลโรคของคนไข้ แต่สุดท้ายก็ได้ทราบจากการค้นประวัติกันว่าเขาป่วยจริงๆ”

และผลตรงนั้นแหละครับ ที่ทำให้ผมต้องสำนึกผิดกับตัวเองอีกที พอได้รู้ว่าเขาเป็นมะเร็งจริงๆ ชนิดที่จะมีอาการอ่อนเพลียทั้งวัน ทำงานไม่ได้ ซึ่งมันคนละเรื่องเลยกับที่ผมประเมินด้วยสายตาของตัวเอง ก็ถือเป็นเคสที่มอบบทเรียนให้ผมเรื่องการตัดสินคนเลย” ก้องช่วยเสริมความรู้สึกของเขาเอาไว้ ผ่านรอยยิ้มปลงๆ

พูดถึงอาการ “ป่วยทางกาย” สำหรับเคสนี้ก็ว่าหนักแล้ว แต่อาการ “ป่วยทางใจ” ก็ลำบากไม่แพ้กัน เพราะผู้เดือดร้อนกรณีนี้ยังคงน้อยใจที่ลูกหลานไม่เคยมาดูแล ปล่อยให้ตัวเธอเองต้องอยู่กับลูกอีกคนที่สมองได้รับการกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ วันดีคืนดีเกิดคลุ้มคลั่ง ถือมีดขึ้นมาอาละวาดก็เคยมี ทางทีมงานจึงได้แต่พยายามหาทางช่วยเยียวยา โดยเฉพาะ “แผลทางใจ” ที่ต่ายให้ความสำคัญมากกว่าอาการป่วยใดๆ

“ที่ต่ายรู้คืออายุเขาเท่าต่าย เวลาต่ายสื่อสารกับเขา ต่ายก็จะบอกเขาว่าเราเป็นเพื่อนกันนะ เรามาคุยกันแบบเพื่อน พาไปกินข้าว ไปปลดล็อกบางสิ่งบางอย่างในใจ วินาทีนั้นต่ายยังไม่ได้มองว่าเรามาทำรายการด้วยซ้ำค่ะ สลัดตรงนั้นออกไปก่อน เพราะตอนนี้เขาป่วยจริงๆ เราก็เลยคุยกันว่าจะเอาเรื่องของเขามาเป็นวิทยาทานให้แก่สังคม ให้คนที่ท้อหันมามองเขา และเขาก็พูดออกมาได้อย่างเต็มปากว่าจะสู้ต่อ จากที่เราบอกให้เขาสัญญาว่าจะสู้ต่อไป”



ในฐานะคนหัวใจอาสาที่ได้เข้ามาทำงานพิธีกรเพื่อสังคมผ่านรายการทีวีรายการนี้ เมศมองว่าตัวเองได้รับ “บทเรียนอันล้ำค่า” อย่างมากมาย โดยเฉพาะช่วงเวลาที่เกิดท้อแท้ใจ เขาก็จะใช้วิธีหันกลับมามองเคสที่เคยลงไปช่วยเหลือ เพื่อให้ตัวเองมีแรงฮึดสู้ขึ้นมาได้อีกครั้งนึง

“บางทีเราท้อ เราก็กลับมานั่งมองเฟซบุ๊กของตัวเอง ที่เราเคยไปช่วยเหลือในเคสต่างๆ เรายังคิดเลยว่าคนเหล่านี้เขายังผ่านมาได้เลย เพราะฉะนั้น เวลาเราเจอวิกฤตหรือเรื่องอะไรก็ตามที่กระทบใจ เมศก็จะหยิบเคสเหล่านี้ขึ้นมาเป็นครู และให้คนในกระจก ซึ่งก็คือตัวเราเองนั่นแหละครับที่ช่วยพยุงตัวเองขึ้นมาใหม่อีกครั้งนึง”

สำหรับคนอ่อนไหวง่ายอย่างต่ายแล้ว ถ้าให้พูดถึงบทเรียนที่หยิบมาใช้ได้ดีที่สุด ตลอดเส้นทางหัวใจอาสาที่ผ่านมา 20 ปี ก็คือ “บทเรียนจากธรรมะ” ที่เธอยังคงยึดเอาไว้ในใจเสมอ โดยเฉพาะเวลาที่ต้องไปเจอกับเคสที่น่าสลดใจมากๆ จนแทบกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่

“หลายๆ อย่างที่ผ่านเข้ามา มันก็ทำให้เราเรียนรู้ว่าความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ให้เราใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันอย่างมีสติ มันทำให้เรารู้จักดึงธรรมะเข้ามาช่วย ไม่อย่างนั้นเราเห็นเรื่องราวความทุกข์ยากของคนอื่นทุกวัน เราคงสติแตกเพราะต่ายเป็นคน sensitive มาก

เทียบกับเมื่อก่อน ต่ายเป็นคนใจร้อนด้วย มีอีโก้ มีข้อแม้ให้ตัวเองเยอะ แต่พอมาทำตรงนี้ มันทำให้มุมมองหลายๆ อย่างเปลี่ยนไป สิ่งที่ต่ายเชื่ออยู่ทุกวันนี้เหลือแค่เรื่องความกตัญญู และบาปบุญคุณโทษแค่นั้นเองค่ะ อย่างอื่นต่ายไม่เอามาแบกไว้เหมือนเดิมอีกแล้ว”


[กว่าจะออกมาเป็น "สารคดีมือรางวัล"]

“ประสบการณ์ที่มีค่าสำหรับผมในการได้มาทำตรงนี้ก็คือ มันทำให้เราได้เห็นบทพิสูจน์ที่ว่า “ทำได้ได้ดีและมีความสุข มันมีอยู่จริง” ครับ อย่างน้อยๆ ก็ในทุกครั้งที่เราได้รับรอยยิ้ม กำลังใจจากอ้อมกอดของคนที่เราไปช่วยเหลือ หรือคำขอบคุณเล็กๆ น้อยๆ ผมได้เรียนรู้ว่าการยึดมั่นในสิ่งที่คิดว่าดี และยึดมั่นที่จะทำเพื่อคนอื่น ได้ช่วยเหลือคนอื่น มันคือการกระทำที่ดีจริงๆ”

หัวเรือใหญ่แห่งทีมฅนจริงฯ ช่วยสรุปสัจธรรมในชีวิตที่ได้รับผ่านการทำสารคดีชีวิตที่เขารักอีกครั้งนึง เพื่อให้คนที่กำลังจะหมดหวังต่อการทำความดี ได้ย้ำชัดลงไปในหัวใจอีกทีว่า อย่าได้ท้อถอยต่อผลของการกระทำ

“คนบางคนอาจจะรู้สึกว่าฉันทำดีแทบตาย ไม่เห็นเคยได้ดีเลยสักที แต่วันนี้อย่างน้อยๆ พวกเราก็ได้เห็นว่าเรา “ได้ดี” ตอบแทนกลับคืนมาจริงๆ คือเราไม่ได้วัดจากอะไรหรอกครับ แต่สิ่งที่เราได้จากความสุขในใจ มันอิ่ม มันดีจริงๆ และผมว่าคนที่นั่งอยู่ตรงนี้ก็สัมผัสได้เหมือนกันทุกคน

มันไม่ใช่คำพูดที่ทำให้ดูหล่อดูสวยเลย มันเหมือนเวลาคุณแค่ได้ลุกให้คนนั่งบนรถเมล์ แล้วได้เห็นรอยยิ้มของคน คุณก็มีความสุขแล้ว ไม่ต่างจากพวกผมที่ทำอยู่ทุกวัน ได้สัมผัสมันทุกวัน ยิ่งปัญหาของเขารุนแรงหรือเดือดร้อนเท่าไหร่ และเราสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ เรายิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น มันคือสิ่งที่เราภาคภูมิใจ และรู้สึกคุ้มแล้วครับที่ได้เกิดมาทำอะไรแบบนี้”


ไม่เป็นไรเวลา “ส่วนตัว” แค่ได้เต็มที่เพื่อ “ส่วนรวม”

[พร้อมบุกลุยไปทุกสนาม ขอแค่ได้ช่วยส่องทางแก่ผู้ยากไร้]
ต่าย : เรื่องของสังคมต่ายเน้นมาก ต่ายจะพูดเสมอว่าคำว่า “สังคม” มันไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนนึง มันเป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องช่วยกัน ถ้าใครคนใดคนนึงมานั่งคิดว่า มันไม่ใช่เรื่องของฉัน เป็นเรื่องของเขา ไม่ช่วยหรอก ผัวเมียตีกัน ถามว่าคุณเห็นผลที่ตามมาไหม มันก็มีแต่สูญเสีย

ถ้าคุณมองคำว่า “สังคม” อย่างเข้าใจ คุณจะรู้ว่าคุณคือส่วนนึงของสังคม ที่จะต้องมาช่วยกันพัฒนาสังคมแล้วก็ประเทศชาติ อย่าลืมว่าเราเป็นคนในชาติ อยู่ร่วมกันในสังคม เรามีพระมหากษัตริย์องค์เดียวกัน เรามีพ่อคนเดียวกัน เพราะฉะนั้น อย่าโฟกัสแต่เรื่องของตัวเองจนกลายเป็นความเห็นแก่ตัวโดยไม่รู้ตัว

แค่ลองลดทิฐิ ถอยออกมาสักก้าวนึง คุณจะไม่โฟกัสอยู่ที่ตัวเองแค่จุดเดียวแล้ว แต่คุณจะเห็นภาพที่มันกว้างขึ้น และจะเข้าใจคำว่า “ใจเขา ใจเรา” มากขึ้น เพราะฉะนั้น เรื่องของสังคมไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนนึงแน่นอนค่ะ



ที่สำคัญเลยคือก่อนที่เราจะไปช่วยเหลือใคร เราต้องรักตัวเองให้เป็นก่อน เพราะถ้าเรารักตัวเองไม่ได้ เราจะรักคนอื่นไม่เป็น เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่จะออกไปช่วยเหลือ เราต้องดูก่อนว่าเราปลอดภัยหรือยัง ทีมปลอดภัยหรือยัง เพราะการเป็นกู้ภัยจะถูกฝึกมาให้คิดแบบนี้

ในมุมมองของต่าย ไม่ได้หมายความว่าการเป็นคนนึงในสังคม เราต้องมีหน้าที่เข้าไปจัดการแก้ปัญหาในทุกเรื่อง เพราะสังคมแต่ละสังคม ก็มีบทบาทหน้าที่ของเขาอยู่แล้ว แต่อย่างน้อยๆ เราเป็นคนในสังคม ถ้าไม่ทำอะไรให้ดีขึ้น ก็อย่าทำให้มันแย่ลง อย่างน้อยๆ ช่วยกันเป็นหูเป็นตาก็ยังดี แล้วก็มีเมตตาแก่คนอื่นให้เยอะๆ ค่ะ

เมศ : ผมมองว่าทางภาครัฐเขาก็ช่วยเรื่องนี้อยู่ตลอดนะครับ เพียงแต่เราเหมือนเข้าไปเป็นตัวช่วยเสริมในภาคประชาชนอีกทีนึง ไม่ใช่ว่าจะไปโยนให้ภาครัฐอย่างเดียว เพราะบางทีเขาก็ทำไม่ทัน ทำไม่ไหว เหมือนช่วยกันเติมเต็มอีกทีนึง

ถามว่าเราแบ่งเวลาเรื่องส่วนตัวกับเรื่องช่วยสังคมยังไง บางทีตี 1 ตี 2 ซึ่งควรจะเป็นเวลาครอบครัวของเราแล้ว แต่ถ้าเราไปเจอเคสเคสนึงที่คิดว่ารอไม่ได้แล้ว ดูปุ๊บเราต้องไปเลย เพราะถ้ารอเขาไม่รอดแน่เลย ตอนนั้นผมไม่กรองด้วย ผมไปเลย พาเขาไปส่งโรงพยาบาล ถึงแม้เขาจะอยู่ได้อีกไม่กี่วัน แต่อย่างน้อยเขาได้รับรู้ว่ายังมีคนเห็นค่าในชีวิตเขา ผมว่าเท่านั้นก็คุ้มแล้วครับ


ครอบครัวของเราก็พร้อมและเขาก็เข้าใจนะครับ ที่เวลาครอบครัวของเราจะหายไป เวลาที่จะอยู่กับพ่อแม่หายไป เพราะเขาเข้าใจว่าการช่วยเหลือคนมันต้องมาอันดับ 1 ก่อน เพราะผมเคยรอ คิดว่าเดี๋ยวค่อยไป สุดท้ายพอไปถึง ได้คำพูดตอบกลับมาว่า ทำไมเพิ่งมา มันทำให้เราอึ้งเลยว่า มันรอไม่ได้จริงๆ

ก้อง : ในส่วนของผมเอง ผมคิดว่าคนทุกคนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้ด้วยตัวคนเดียว ทุกคนต้องช่วยกัน ทุกคนมีหน้าที่ของตัวเอง แต่ก็ต้องมาดูว่าเราโฟกัสในสิ่งที่ทำนั้นเพื่อใคร เพื่อตัวเอง เพื่อคนอื่น หรือเพื่ออะไร ซึ่งทุกคนจะมีแนวคิดของตัวเอง แต่อะไรล่ะที่จะทำให้เราอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข อะไรล่ะที่จะทำให้ตัวเรามีความสุขที่จะได้ทำ ในมุมมองของผม การที่ผมอยากทำเพื่อสังคม หลักๆ เป็นเพราะผมทำเพื่อตอบสนองและเติมเต็มตัวเองครับ

ต้องยอมรับว่าสังคมไทย เป็นสังคมที่ยังมีสิ่งที่ขาดอยู่อีกเยอะ และการที่เราจะมองแค่เรื่องของตัวเอง มันจะไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไร แต่จะเป็นการสร้างปัญหามากกว่า ผมเชื่อเสมอว่าทุกคนมีความคิดที่อยากจะทำดี อยากจะเป็นคนดี แต่อยู่ที่ว่าคุณเลือกที่จะใช้มันตอนไหน เวลาไหน มันอยู่ที่ว่าคุณจะสามารถผลักส่วนดีๆ ของคุณ ออกมาช่วยเหลือสังคมได้แค่ไหน


ต่าย : ต่ายไม่กลัวจะสูญเสียเวลาชีวิตส่วนตัวเลยค่ะ มาเลย (ยิ้ม) มีอยู่ครั้งนึงที่มีเคสคนในคอนโดหมดสติ ชีพจรดร็อป ต้องปั๊มหัวใจ แต่ด้วยความที่เขาเกรงใจเรา เขาก็ไม่เรียก แล้วก็ปั๊มกันเอง ซึ่งก็ทำให้ผู้ป่วยเกือบตาย ต่ายเลยจะบอกกับทุกคนเลยว่า ไม่ว่ามีเคสอะไรก็ตาม ให้บอก ให้โทร.ขึ้นมาเลย ไม่ต้องเกรงใจ แล้วเราจะไปช่วย เราบอกเลยว่ามันเป็นหน้าที่ของเรา

พอเราได้เข้ามาช่วยเหลือผู้คน ได้ไป CPR ทำให้เขากลับบ้านไปหาครอบครัว ไปหาคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังจัดกับข้าวรอ มันทำให้ความคิดหลายๆ อย่างของเราเปลี่ยนไป

สิ่งที่สำคัญก็คือเราทำมากกว่าพูด เพราะพูดเยอะไปมันก็เจ็บคอ เราทำให้เห็นเลยดีกว่า และต่ายก็เป็นความสุขที่ได้เป็นผู้ให้ ซึ่งมันเป็นคุณสมบัติที่ต่ายชอบในตัวเอง และต่ายก็ชมตัวเองเรื่องนี้ตลอด (ยิ้มอย่างภาคภูมิใจ) ที่เราเป็นห่วงคนรอบข้างจากใจจริงๆ และสิ่งเหล่านี้ต่ายเอาไปสอนลูกบุญธรรมของเรา และลูกเราก็ทำได้ดี มาดูแลตอบแทนเราได้จริงๆ แค่นี้ชีวิตต่ายทุกวันนี้ก็มีความสุขแล้ว


เมศ : มีอยู่ครั้งนึง พี่ต่ายเขาอยู่เชียงราย ผมโทร.หาเขาแจ้งเรื่องเคส บอกมีผู้ชายนอนอยู่ป้ายรถเมล์ ต้องการความช่วยเหลือให้พาไปส่งโรงพยาบาล คิดดูว่าเขาบินกลับมาดูทันทีเลย เพื่อเอาคุณลุงคนนี้ไปส่งโรงพยาบาล คิดดูว่าเขายอมจะสละความเป็นส่วนตัวของตัวเอง เพื่อที่จะช่วยเหลือคนอื่น แต่สุดท้ายลุงเขาก็เสียชีวิตนะครับ

ต่าย : คือบางเรื่อง มันไม่ต้องมีกล้องหรอก กล้องที่มีคือตาเรานี่แหละ ใจเรานี่แหละ ที่รู้ว่าเราทำอะไรอยู่ แค่นั้นเอง

ก้อง : เรื่องบางเรื่องที่เราเข้าไปช่วยเหลือ มันเป็นปัจจัยพื้นฐานของชีวิต เป็นสิ่งที่เขาขาดอยู่ ไม่ใช่อะไรที่ใหญ่โตเลย แต่แค่เราลงไปช่วยเหลือ เขาก็ดีใจมากแล้วครับ… สิ่งที่เราทำอาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่เท่าใคร แต่สิ่งที่เราสัมผัสได้ มันวัดกันเป็นตัวเงินไม่ได้จริงๆ
















สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Live
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: วชิร สายจำปา
ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "ฅนจริงใจไม่ท้อ"


กำลังโหลดความคิดเห็น