สารพัดวิธีกลั่นแกล้งเพื่อนผ่านโลกโซเชียลฯ เครื่องมือการแกล้งจากเทคโนโลยีทันสมัยคล้ายดาบสองคม แค่กระดิกนิ้วพิมพ์ข้อความ ก็สร้างปัญหาไปทั่ว ทั้งยังจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน เพจดัง แนะผู้ปกครองควรพาเด็กพบจิตแพทย์
แกล้งจนชิน! ความคิดโหดร้ายเกินวัย
“น้องโดนเพื่อน Cyber bully ตั้งแต่ ป.6 จนตอนนี้ย้ายโรงเรียนแล้วก็ยังไม่หยุด รู้ตัวคนทำแต่จับไม่ได้ ขอคำแนะนำด้วยค่ะ” นี่คือหัวข้อกระทู้จากสมาชิกพันทิป ใช้ชื่อว่า “Penney" โดยได้เล่ารายละเอียดถึงสาเหตุที่ต้องออกมาโพสต์เรื่องดังกล่าว เป็นเพราะน้องสาวของตนโดนเด็กคนหนึ่งตามจองล้างจองผลาญ ตั้งแต่ ป.6 จนตอนนี้ ม.1 ย้ายโรงเรียนแล้วก็ยังไม่เลิก แถมยังไปปลุกปั่นให้เด็กคนอื่นที่อยู่โรงเรียนเดียวกับน้องมาร่วมมือกันเพื่อกลั่นแกล้ง
“เด็กคนนี้ใช้เฟซบุ๊กและอินสตาแกรมปลอมไปตามด่าคนโน้นคนนี้ แกล้งสวมรอยเป็นเด็กคนอื่นให้ครูและเพื่อนๆ เข้าใจผิดว่าเด็กคนอื่นเป็นคนทำ แรกๆ ขู่ขโมยของไปซ่อน และก็ลงมือขโมยของของน้องเราไปโยนทิ้งที่หน้าต่าง ขโมยของเพื่อนๆ และหลังๆ ก็มีขู่ว่าจะเอามีดมาแทงน้องสาวเรากับเพื่อนอีกคน
ถ้าถามว่ารู้ตัวคนทำไหม รู้ค่ะ เด็กคนนี้เคยมาต่อยหน้าน้องเราในวันปัจฉิมฯ ที่ห้องน้ำโรงเรียนเก่า แต่น้องสาวเราไม่มีพยาน และเด็กคนนี้ก็ปากแข็งมาก โกหกเก่ง ไม่ยอมรับอย่างเดียว ขนาดไปแจ้งความทั้งที่สถานีตำรวจ เรียกพ่อแม่มาคุยก็ยังไม่ยอมรับ แจ้งความกับ ปอท. แล้ว แต่เรื่องก็เงียบไป จนย้ายมาโรงเรียนใหม่ มันก็ยังไม่เลิก เอาเฟซปลอมมาตามด่า แล้วบอกว่ามีเพื่อนอยู่โรงเรียนใหม่น้อง จะให้มาตามทำร้าย และยังมีการขโมยสมุดไปฉีกให้ขาดอีกด้วย”
เสียงสะท้อนจากพี่สาวของเหยื่อรายหนึ่งที่ต้องการออกมาขอคำแนะนำจากสังคมโซเชียลฯ ว่าควรทำอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อน้องสาวโดนกลั่นแกล้งอยู่ตลอดเวลา และไม่มีทีท่าว่าคนที่ทำจะหยุดพฤติกรรมไม่ดีเหล่านี้ลงได้
นอกจากนี้ พี่สาวยังบอกว่า คนที่แกล้งน้องสาวของเธอมีการยุยงเด็กอีกคนที่อยู่โรงเรียนเดียวกันกับน้อง ให้ร่วมมือและคอยจับตาดูน้องสาว และยังทักมาบอกว่าเห็นน้องสาวทำอะไรที่ไหนบ้าง แค่นั้นไม่พอ ยังปลอมเฟซบุ๊กของน้องสาว เพื่อไปด่าเพจโรงเรียนด้วยถ้อยคำหยาบคาย ทำให้ทางโรงเรียนต้องเรียกตัวเข้าไปพบและไต่สวน
แต่ถึงอย่างนั้น ทางโรงเรียนก็ตามจับตัวคนทำไม่ได้ เพราะไม่ได้มีหลักฐานอะไร และคนกระทำก็ปิดเฟซบุ๊กปลอมหนีไปแล้ว ทำให้เพื่อนหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเด็กคนนี้ไปโพสต์ด่าเพจของโรงเรียน ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำแถมยังโดนปลอมเฟซ เมื่อพยายามเข้าหาเพื่อนแล้วแต่ก็ไม่มีเพื่อนไปไหนมาไหนด้วย กลางวันไม่ได้ไปกินข้าวเพราะไม่มีเพื่อน ต้องไปนั่งตามศาลาของโรงเรียน ทำการบ้าน อ่านหนังสือไป ไม่อยากไปกินเพราะไม่รู้จะไปนั่งกับใคร
และหลายคนต่างสงสัยว่าเป็นเพราะอะไร น้องสาวของเธอจึงถูกอาฆาตไม่เลิก ในฐานะพี่สาว เธออธิบายว่าอาจมาจากเรื่องที่เพื่อนของน้องสาวเธอเคยฝากซื้อของในเน็ต แล้วจะให้น้องออกเงินให้ แต่น้องไม่ยอมซื้อให้เลยโกรธ และอีกสาเหตุคือน้องเคยมีปัญหากับเพื่อนคนหนึ่งเรื่องใส่รองเท้าผิด แล้วสองคนก็ไม่ได้คุยกันเทอมหนึ่ง
พี่สาวคนเดิมยังบอกผ่านกระทู้พันทิปอีกว่า เหตุผลที่น้องโดนเกลียดนั้นไม่แน่ชัด แต่อาจเป็นเพราะคนกระทำคงสนุก ทำจนติดเป็นนิสัย เห็นว่าใครก็จับคาหนังคาเขาไม่ได้ยิ่งได้ใจก็เป็นไปได้
ถูกรังแกไม่เลิก ผู้ใหญ่ต้องช่วยปกป้อง
ประเด็นการถูกกลั่นแกล้งของเด็กอายุ 12-13 ปี ทางเพจ “เข็นเด็กขึ้นภูเขา” เพจดังเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูก ก็ได้ออกมาโพสต์ถึงเหตุการณ์ข้างต้น ในกรณีที่ลูกถูก “Cyberbullying” หรือการกลั่นแกล้งในอินเทอร์เน็ตพ่อแม่ต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งมีการอธิบายไว้ดังนี้
อย่างแรกผู้ปกครองควรพูดคุยและรับฟังลูกถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยจากการถูกกลั่นแกล้ง ให้ลูกรู้ว่าผู้ปกครองจะปกป้องและคุ้มครองลูกอย่างดีที่สุดจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่จะหยุดการกลั่นแกล้งไม่ให้เกิดขึ้นอีก ผู้ปกครองควรตั้งสติให้ดี อย่าตระหนกตกใจจนทำอะไรไม่ถูก
และผู้ปกครองควรติดต่อกับครูหรือผู้บริหารโรงเรียนให้รับทราบเรื่อง เพื่อช่วยเหลือร่วมมือกัน เพราะเด็กใช้เวลาส่วนใหญ่ที่โรงเรียน บรรยากาศในโรงเรียนที่ปลอดภัยเป็นความรับผิดชอบและต้องอาศัยการช่วยเหลือของครูอาจารย์
นอกจากนั้นการจัดการปัญหาการกลั่นแกล้งอาจต้องประชุมพูดคุยกับผู้ปกครองของเด็กที่กระทำการกลั่นแกล้ง ซึ่งในกรณีนี้อาจต้องให้ครูอาจารย์ในโรงเรียนช่วยเหลือในการจัดการประสานให้ติดต่อกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อขอความร่วมมือในการจัดการลบข้อมูลที่ไม่เหมาะสม เพราะการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์เป็นการละเมิดกฎเกณฑ์พื้นฐานของการใช้อินเทอร์เน็ตหรือสื่อสังคมออนไลน์อยู่แล้ว
ถ้ามีความจำเป็นและข้อสงสัยว่าลูกอาจมีปัญหาทางสุขภาพจิต ควรให้ลูกได้รับการประเมินและดูแลรักษาทางจิตใจจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพราะเด็กและวัยรุ่นที่ถูกกลั่นแกล้งจะมีอาการทางสุขภาพจิตได้บ่อยๆ เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า เป็นต้น
สอดคล้องกับคำพูดของ นพ.โยธิน วิเชษฐวิชัย จิตแพทย์โรงพยาบาลสมิติเวช ได้ให้ความคิดเห็นกับ ทีมข่าวผู้จัดการ Live ว่าคนที่กระทำและคนที่เป็นเหยื่อควรพาไปพบแพทย์เพื่อประเมินว่ามีอะไรที่ต้องรักษาหรือไม่ หรือมีอะไรที่ต้องช่วยเหลือบ้าง ที่สำคัญ คือผู้ปกครองควรสังเกตลูกของตัวเอง หากมีการเก็บตัวหรือไม่อยากไปโรงเรียน อาจจะต้องคุยกับทางโรงเรียนหรือไม่ก็ต้องสืบดูก่อนว่าสาเหตุมาจากอะไร
“คนที่โดนกระทำ ยังสามารถเป็นได้หลายโรค อาจจะวิตกกังวล ฝันร้าย หรือว่าการฆ่าตัวตายโดยที่ไม่ต้องเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน เหมือนหนีปัญหา หาทางออกไม่ได้ และสื่อโซเชียลฯ ถ้าอายุยังน้อย ยังอยู่ในช่วงประถมวัย ก็ไม่ควรจะให้เข้าถึงเยอะ ถ้าในวัยเรียนวัยประถมควรจะห้ามเด็ดขาด แต่พอโตขึ้นอาจจะต้องจำกัดเวลาในการเล่น
สำหรับคนที่แกล้งพอสะใจก็อาจจะทำเรื่อยๆ ไม่ได้เกิดผลเสียอะไรกับตัวเขา ฉันสนุกทำไปเรื่อยๆ คนเป็นเหยื่ออาจถูกทำร้ายร่างกาย เอามีดกรีดกระเป๋า ขโมยของ แต่ไม่มีใครช่วย ส่วนวิธีป้องกันอาจจะต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน เช่น ไปเรียนศิลปะป้องกันตัว ถ้าไม่มีระบบช่วยเหลือแบบจริงจัง หรือการย้ายไปอยู่ในที่ที่โอเคกว่า
และโรงเรียนก็ควรมีครูที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำได้จริงๆ หรือจบมาจากจิตวิทยา เพราะไม่รู้ว่าครูแนะแนวในปัจจุบันมีความรู้ด้านการให้คำแนะนำการใช้ชีวิตในโรงเรียนมากน้อยแค่ไหน”
สาเหตุของการบูลลี่นายแพทย์รายเดิมทิ้งท้ายว่า อาจมาจากผู้ใหญ่แสดงพฤติกรรมให้เห็นเป็นตัวอย่าง เช่น ผู้ใหญ่เห็นว่าเด็กคนนี้ทำผิดเอามาประจานก็เป็นการบูลลี่อย่างหนึ่ง เหมือนช่วงที่มีข่าวเด็กไม่จ่ายค่าเทอม เอาป้ายมาแขวนเสื้อ หรือข่าวที่บังคับให้เด็กถอดเสื้อในแล้วเดินในโรงเรียน อันนี้ก็คือบูลลี่ของผู้ใหญ่ที่ทำกับเด็ก แล้วมันก็เป็นตัวอย่างให้เด็กทำต่อ พอเกิดภาพจำ คนเราจะมีแรงผลักดันในการทำลายอยู่แล้ว พอควบคุมอารมณ์ไม่ได้แล้วมีตัวอย่างที่ไม่ดี มันก็เลยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น