xs
xsm
sm
md
lg

ถล่มยับ!! “ครูเบี้ยวหนี้” ศักดิ์ศรีข้าราชการครูอยู่ที่ไหน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ครูชักดาบ ขอผ่อนผันหนี้ธนาคารออมสิน สังคมไม่พอใจกับการที่ครูออกมาเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือ ครูเบี้ยวหนี้แล้วจะสอนเด็กยังไง ทนายชื่อดังชี้นักเรียนสับสนว่าสิ่งที่ครูทำถูกต้องหรือไม่ ถ้าครูทำได้ข้าราชการอื่นๆ ก็ทำได้!!

การกระทำเหมาะสมกับคำว่า “ครู” ไหม?

“ข้าพเจ้าขอประกาศว่า ข้อ 1 ขอให้รัฐบาลและธนาคารออมสินพักหนี้โครงการ ช.พ.ค. (โครงการฌ าปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา) ทุกโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 61 เป็นต้นไป ข้อ 2ลูกหนี้จำนวน 450,000 คน จะดำเนินการยุติการชำระหนี้กับธนาคารออมสิน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 61 เป็นต้นไป ไชโย ไชโย ไชโย”
นี่เป็นเสียงของคณะครูที่ร่วมลงนาม ว่าด้วย “ปฏิญญามหาสารคาม” เพื่อพักหนี้ ช.พ.ค. ที่นับว่าเป็นความอัปยศขั้นสูงของคนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นครู ผู้ที่มีหน้า มีหน้าตาในสังคมที่มีลูกศิษย์และผู้คนนับถือมากมาย
สังคมตั้งคำถามทำไมจึงหาทางออกด้วยการประกาศไม่ใช้หนี้ ทั้งที่จุดเริ่มต้นของปัญหาคือการสร้างหนี้ คนอื่นเขาเป็นหนี้กันเยอะแยะทำไมเขาถึงจ่ายได้ เงินที่กู้ไปก็เพื่อความสุขและประโยชน์ของตัวเองทั้งนั้น บางทีรถที่ขับ บ้านที่อยู่ บางส่วนก็เป็นเงินที่กู้มาทั้งนั้น ได้ประโยชน์ไปแล้วก็มารวมตัวกันทำแบบนี้ ประกาศฝ่ายเดียว ว่าจะงดชำระหนี้ มันคือความคิดที่ผิดพลาด ครูที่ดี ครูที่ฉลาด จะไม่ทำแบบนี้
จากการหาข้อมูของทีมข่าว สาเหตุที่ครูประกาศเบี้ยวหนี้ในครั้งนี้ สาเหตุอ้างว่ามาจากการรับภาระดอกเบี้ยที่หนัก ยกตัวอย่าเช่น หากกู้เงินมา 1.2 ล้านบาท หักเงินเดือนละ 7,000 บาท ซึ่งหากส่งเงินมาในระยะ 7 ปี เงินต้นจะลดลงเพียง 100,000 บาท ยอดหนี้ยังอยู่ที่ 1.1 ล้านบาท
นอกจากนี้ทางธนาคารยังให้ทำประกันชีวิตเพื่อประกันความเสี่ยงของธนาคารออมสิน โดยบังคับหักเงินค่าประกัน 10 ปี งวดเดียว 80,000-200,000 บาท รวมแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท โดยผู้กู้ไม่ได้รับประโยชน์หรือดอกผลจากเงินจำนวนดังกล่าวเลย แต่ผู้ได้รับประโยชน์มหาศาลคือ บริษัทประกัน ธนาคารออมสิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
ขณะที่ครูเอกชนรายหนึ่งก็ได้ออกมาเปิดเผยลงพันทิปส่วนตัวว่า ตนเป็นครูเอกชน จนๆ เงินเดือน 15,000 บาท กู้มา 6 แสนบาท ทุกวันนี้จ่ายครบทุกงวดไม่เคยคิดว่าต้องขอให้รัฐบาลหรือธนาคารออมสินยกหนี้ให้ เพราะเงินกู้ ช.พ.ค.ให้ครูกู้แบบไม่มีหลักทรัพย์มาวางค้ำประกันกับธนาคาร
“บางคนบอกว่า จ่ายไปก็เป็นดอกเบี้ยทั้งหมดเลยมาโวย ผมบอกได้เลย คนที่บอกว่าเป็นดอกเบี้ยทั้งหมดคือคุณไม่ได้จ่ายหนี้ ค้างหลายเดือน พอจ่ายไปเดือนนี้ มันก็ไปตัดหนี้คงค้างได้ทั้งหมดก่อน มันจึงมีแต่ดอกเบี้ย ถ้าจ่ายทุกงวดมันจะลดต้นลดดอกแต่ช่วงแรกๆเงินต้นจะลดน้อย แค่นั้น ตอนนี้กัดฟันทนไปก่อนเงินที่เอามาก็เอามาลงทุนไม่ใช่เอามาซื้อรถขับหรือเที่ยวต่างประเทศ ไม่มีที่ไหน ให้ดีกว่านี้แล้ว”
สิทธิประโยชน์ของครูทุกวันนี้ คือหากครอบครัวป่วยรักษาฟรี ลูกได้เรียนฟรี เงินเดือนขึ้นตามขั้น มีสิทธิ์และโอกาสในการกู้ยืมมากและวงเงินค่อนข้างสูง ดอกเบี้ยก็ไม่แพง สวัสดิการต่างๆ พวกคุณถือว่าดีกว่าหลายๆ อาชีพ และที่สำคัญอาชีพครูคืออาชีพที่มีเกียรติ ป็นอาชีพที่ต้องเป็นพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ที่ดีของชาติ แล้วคนเหล่านี้เป็นแม่พิมพ์ที่ดีสมกับคำว่าครูหรือยัง
ความถูกต้องอยู่ที่ไหน เพราะช่วงที่ครูมีหนี้นอกระบบ รัฐบาลก็ยื่นมือเข้าไปช่วย ด้วยการให้กู้เงินจากธนาคารออมสินไปใช้หนี้ที่กู้มาจากหนี้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยถูกกว่า แต่ก็ยังจ่ายไม่ไหว ให้มาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ก็ไม่เอา เป็นครูประเภทไหนกันเชียวที่กล้าคิด กล้าทำอย่างไม่ละอายใจ เป็นเช่นนี้จะสอนนักเรียนได้อย่าไร ขนาดตัวเองยังโกง แล้วจะสอนเด็กนักเรียนให้เป็นคนดีได้อย่างไร
ด้าน พินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กล่าวว่าก่อนหน้านี้ สกสค.และธนาคารออมสิน ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินของ สมาชิก ช.พ.ค. ตามนโยบายของรัฐบาล โดยสำนักงาน สกสค.ขอไม่รับเงินสนับสนุนจากธนาคารออมสินตามข้อตกลงเดิม แต่ให้นำเงินดังกล่าวประมาณปีละ 2,000 กว่าล้านบาทไปลดอัตราดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ที่มีวินัยทางการเงินดี

“ผิดกฏหมาย” ไม่ร้ายแรงเท่า “ผิดจริยธรรมครู”
ในแง่ของทางกฏหมายที่ครูออกมาเรียกร้องแบบนี้ อาจจะไม่ได้ผิดกฏหมายถึงขั้นรุนแรง เป็นเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ธรรมดา ใครก็สามารถฟ้องร้องได้ ไม่ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง แต่ในเรื่องจริยธรรมแล้วถือว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรงสำหรับคนเป็นครู
เพื่อไขข้อข้องใจเรื่องกฏหมายทางทีมข่าวผู้จัดการLive จึงได้สอบถามไปยัง เกิดผล แก้วเกิด ทนายความชื่อดัง ถึงประเด็นเรื่อง การที่ครูออกมากล่าว “ปฏิญญามหาสารคาม” เพื่อหยุดชำระหนี้ จึงได้ทราบว่า ไม่มีความผิดในทางกฏหมายอาญาแต่มีความผิดในทางเพ่ง หากไม่ส่งเงินตามข้อตกลงทางธนาคารก็มีสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องเรียกเงินคืนได้
“หากครูผิดนัดตั้งแต่ 3 งวดขึ้นไป ธนาคารก็จะมีสิทธิ์ทวงสัญญากับครูที่เป็นหนี้ และผู้ค้ำประกัน พร้อมทั้งระยะเวลาที่ครูไม่จ่าย รวมจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาจนถึงที่สุด และในการชำระหนี้ ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งระบบ ทั้งส่วนของครูที่เป็นผู้กู้ยืม และส่วนของผู้ค้ำประกัน
ในส่วนของธนาคารก็จะเกิดการขาดสภาพคล่องเนื่องจากจำนวนผู้กู้เยอะ มีสมาชิกตั้ง 4 แสนคน ก็เป็นเหตุให้ธนาคารได้รับความเสียหายด้วย ซึ่งมันเป็นเรื่องปัญหาของครูแต่มันไปกระทบถึงธนาคาร และกระทบกับประชาชนที่จะต้องใช้บริการกับทางธนาคารไปด้วย เหมือนกระทบทั้งระบบจากการกระทำเพียงกลุ่มเดียว”
 
ทั้งนี้ทนายชื่อดัง ยังอ้างอีกว่าพฤติกรรมและการกระทำของครูยังทำให้นักเรียนสับสนว่าสิ่งที่ครูทำถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง การที่ใครเป็นหนี้สักคนหนึ่ง อยู่ๆ ประกาศออกมาว่าไม่จ่ายหนี้ทั้งๆ ที่ไม่มีการเจรจาหรือแม้แต่กระทั่งธนาคารออมสินเองก็เคยแจ้งว่ามีการนัดไปทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างนี้มาแล้ว แต่ว่าครูเหล่านั้นกลับไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข เมื่อไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ เหตุการณ์เหล่านี้จึงเกิดขึ้น
“ปัญหาที่ตามมาอีกก็คือ ถ้าเกิดครูขอพักชำระหนี้ของ ช.พ.ค.ได้ แล้วหนี้อื่นๆ ครูไม่รวมตัวกันประท้วงกันอีกหรือ ครูจะไม่ใช้หนี้กันสักอย่างเลยหรือ ซึ่งไม่ใช่หนี้อย่างเดียวมันคือหนี้อย่างอื่นด้วย ทรัพย์สินอื่นๆ หรือแม้กระทั่งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ถ้าหน่วยงานอื่นทำได้บ้างสังคมไทยจะเป็นเช่นไรต่อไป ขนาดครูที่เป็นต้นแบบก็เกิดภาพลักษณ์ในสิ่งที่มันไม่ดี
หลังจากการประกาศปฏิญญา ครูยังได้ออกมาอธิบายเพิ่มเติมอีกว่าเป็นการขอพักชำระหนี้ชั่วคราวเท่านั้น แต่ในขณะที่ประกาศใน “ปฏิญญามหาสารคาม” ที่อ่านไม่ได้พูดถึงการชำระหนี้ แต่พูดถึงเรื่องการงดชำระหนี้ ซึ่งเป็นการเรียกร้องในสิ่งที่มันผิดสัญญา”
ทั้งนี้ อวยชัย วะทา ประธานเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูแห่งประเทศไทย ยังได้ออกมาเผยเพิ่มเติมอีกหลังจากมีการกล่าวปฏิญญามหาสารคาม สาระสำคัญไม่ได้ประกาศหยุดใช้หนี้ เพียงแต่เป็นการยื่นพูดคุยกับทางกรรมาธิการการศึกษาว่าเรื่องแบบนี้ มีความเดือนร้อนมาก ครูเริ่มทยอบถูกฟ้อง และเตรียมยื่นถูกฟ้องอีกจำนวนหลายแสนคน
เนื่องจากการปฏิญญาในครั้งนี้เพื่อต้องการรวบรวมครูที่เดือดร้อนขึ้นมา และต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อยื่นกับรัฐเพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกันที่ใช้กับลูกหนี้ธกส. หรือสถาบันการเงินที่รัฐบาลไปซื้อหุ้น ซึ่งไม่แตกต่างกัน

“ครูเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์ ต่อการใช้หนี้มากที่สุดกว่าทุกอาชีพ เพราะว่ามีเงินให้หักอยู่แล้ว แต่ตอนนี้มันเหลือวิสัยแล้ว ไม่ใช่ว่าครูอยากจะเบี้ยวหนี้นะครับ และก็ยังมารับภาระหน้าที่ในการสร้างเยาวชน และสร้างคนอื่นๆ อีกมากมาย”


กำลังโหลดความคิดเห็น