จรรยาบรรณหายไปไหน!? สังคมรุมประณามวีรกรรมสื่อกระหายข่าวกรณีถ้ำหลวง หลังเคลื่อนย้ายสมาชิกทีมหมูป่าบางส่วนออกจากถ้ำได้สำเร็จ เจอดราม่าจวกเละการทำงานของสื่อไทยยุค 4.0 “เปิดเผยชื่อและภาพของเด็ก-เผยแพร่เสียงวิทยุสื่อสารเจ้าหน้าที่-ใช้โดรนบินเก็บภาพ” นักวิชาการด้านสื่อ เผย เหตุการณ์ถ้ำหลวงคือภาพสะท้อนบทเรียนให้กับสังคมไทย!
#ขายข่าวเก่ง..ไม่แคร์กระแสสังคม!?
สังคมวิพากษ์วิจารณ์ดุเดือดการทำงานของสื่อไทย หวังขายข่าวเรียกกระแสเรตติ้ง จนลืมคำนึงถึงประเด็นการละเมิดสิทธิของเด็กและเยาวชน หลังจากที่มีการนำตัวทีมหมูป่าออกจากถ้ำหลวง โดยสื่อกระแสหลักหลายแห่ง เช่น สำนักข่าว 'ไทยรัฐ' ได้มีการรายงานข่าวพร้อมระบุชื่อและภาพใบหน้าของผู้ประสบภัยอย่างชัดเจน
เช่นเดียวกับการนำโดรนขึ้นบินคู่กับเฮลิคอปเตอร์จากสำนักข่าว PPTV ซึ่งได้บังคับโดรนขึ้นบินเก็บภาพรถพยาบาลขณะนำตัวสมาชิกทีมหมู่ป่าไปยัง รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ โดยอ้างว่าได้มีการขออนุญาตขึ้นบินในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงมีใบอนุญาตอย่างถูกต้อง
ล่าสุด กองทัพอากาศยืนยันไม่มีการขออนุญาตนำโดรนขึ้นบิน ซึ่งทางกองทัพอากาศเองได้ประสานกับ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบกำกับดูแลการใช้โดรนของพลเรือน ดำเนินการสอบสวนตามอำนาจหน้าที่กับบุคคลที่กล่าวอ้างต่อไป
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่แถลงการเผยแพร่ได้ไม่นาน ด้านสำนักข่าว PPTV ได้ชี้แจงพร้อมกับขออภัยกรณีโดรนขึ้นบินระหว่างลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศยาน โดยข้อความระบุว่า
“กองบรรณาธิการข่าวพีพีทีวีขออภัยอย่างสูงต่อเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป กรณีที่มีภาพอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ขึ้นบินในช่วงเวลาเดียวกับเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ในภารกิจลำเลียงผู้ประสบภัยถ้ำหลวงไปยัง รพ.
ทั้งนี้ ทางกองบรรณาธิการฯ มิได้มีเจตนาฝ่าฝืนข้อพึงปฏิบัติในฐานะสื่อมวลชนที่ประจำการอยู่ อย่างไรก็ตาม ทางกองบรรณาธิการฯ ขอน้อมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และขออภัยอย่างสูงหากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำให้เกิดผลกระทบใดๆ และยืนยันว่าจะไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก”
ขณะที่การเผยแพร่ข่าวจากทีมข่าวเวิร์คพอยท์ได้มีกระแสดราม่าโจมตีกลับไม่ต่างกัน หลังจากได้มีการออกอากาศคลิปฯ เสียง ซึ่งอ้างว่ามาจากวิทยุสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่กำลังปฏิบัติภารกิจนำสมาชิกทีมหมูป่าออกจากถ้ำหลวง ตอกย้ำภาพการทำงานของสื่อไทยที่หวังโกยเรตติ้งเรียกยอดคนดูจนเกิดกระแสตีกลับ
ซึ่งภายหลังจากที่ถูกสังคมวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม ล่าสุด ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ได้ออกมาชี้แจง กรณีคลิปฯ เสียงออกอากาศ อ้างมาจากแอปฯ “เซลโล่” ได้สัญญาณจากวิทยุเครือข่ายเครื่องสีแดงของภาคประชาชน ไม่ได้ดักฟังวิทยุหน่วยงานราชการใดๆ ก่อนตรวจสอบความถูกต้อง แต่ขออภัยที่รีบเผยแพร่คลิปฯ จนเกิดความไม่เหมาะสม
เช่นเดียวกับเพจดัง 'อีจัน' ได้มีการนำเสนอข้อมูลที่เป็นเท็จสู่สังคมออนไลน์ โดยมีการเปิดเผยใบหน้าของสมาชิกทีมหมู่ป่าคนแรกที่ออกจากถ้ำหลวง พร้อมกับข้อความว่าสมาชิกทั้ง 4 คนเข้ารักษาตัวอยู่ที่ห้องไอซียูเพื่อสังเกตอาการภายใน รพ.เชียงราย จนทำให้สังคมเกิดความสับสน
ทันทีที่เกิดกระแสดราม่าสนั่นเกี่ยวกับการตั้งคำถามต่อหน้าที่ความรับผิดชอบและจริยธรรมจรรยาบรรณสื่อ ล่าสุด สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้แถลงการณ์ขอความร่วมมือสื่อมวลชน เพื่อให้คำนึงถึงจริยธรรมและสิทธิส่วนบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อจิตใจและความรู้สึกของผู้ที่เกี่ยวข้อง
“สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เข้าใจดีถึงการแข่งขันในการเสนอข่าวต่อเหตุการณ์ที่มีความสำคัญและอยู่ในความสนใจของคนทั่วโลกขณะนี้ แต่เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสถานการณ์ดังกล่าวเป็นเด็กและเยาวชน และเป็นเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อจิตใจและความรู้สึกของครอบครัวและญาติพี่น้องของคนเหล่านี้
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงขอให้สื่อมวลชนทุกแขนงพึงระมัดระวังในการเสนอข่าวเกี่ยวกับตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ โดยเฉพาะการเปิดเผยภาพ ชื่อ ข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนเหล่านี้ โดยให้คำนึงถึงจริยธรรมการเสนอข่าว สิทธิส่วนบุคคลและความเหมาะสม
เพื่อหลีกเลี่ยงการรายงานข่าวที่อาจมีผลกระทบต่อความรู้สึกและสภาพจิตใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นยังควรละเว้นการเสนอข่าวและภาพที่อาจสร้างความสับสน ความเข้าใจผิด และความรู้สึกในเชิงลบต่อสถานการณ์ ตัวบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสนอข้อมูลที่อาจมีผลกระทบต่อปฏิบัติการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตที่เหลืออยู่ และผู้ปฏิบัติงานด้านข่าวในพื้นที่ควรหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่...”
“กระหายข่าว-โกยเรตติ้ง” ถอดบทเรียนถ้ำหลวง!
“คำว่า 'สื่อไทยถึงยุควิกฤติ' ผมเชื่อว่ายังไม่ถึงคำนั้น เพราะสื่อส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีความประพฤติแบบส่วนน้อย แต่เมื่อส่วนน้อยทำอะไรแล้วมากระทบกับส่วนใหญ่ ต้องมาคุยกันว่าเราจะเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ยังไงบ้าง เราคุยกันเรื่องกรอบกติกาเพื่อไม่ให้เสียสิทธิเสรีภาพ”
'บรรยงค์ สุวรรณผ่อง' ประธานกรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เผยมุมมองวิกฤติสื่อไทยยุค 4.0 กับทีมข่าว ผู้จัดการ Live เกี่ยวกับประเด็นที่สังคมได้วิจารณ์การทำงานของสื่อไทย พร้อมทั้งวิเคราะห์การทำงานของสื่อกระแสหลักในกรณีถ้ำหลวงที่ถูกพูดถึงอย่างหนักในขณะนี้
“อย่างแรก มันคือการแข่งขัน ทำอะไรก็แล้วแต่โดยไม่คำนึงถึงวิธีการที่จะไปสู่จุดเป้าหมาย อย่างที่สอง ไม่ได้คิดอะไรเลย ไม่ได้มีเจตนา แต่เมื่อถูกเตือนถึงรู้ว่าผิด นี่คือประเด็นจริยธรรมที่ต้องสละเวลามาพูดคุยกันอย่างจริงจัง
แต่ที่สำคัญที่สุดเลย ถ้าเจ้าของหรือบรรณาธิการข่าวไม่เอามือปิดตา หรือเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ แต่ต้องดูแลว่าเราแข่งกันในเกม แข่งกันที่ความเป็นธรรม แข่งกันด้วยการเคารพสิทธิ์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หรือถ้าไม่มั่นใจ ถ้ามีผลกระทบสูง ช้าไม่เป็นไร แต่ให้ชัวร์ดีกว่า
อย่างไรแล้ว การนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวกับเด็กเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเด็กยังคุ้มครองป้องกันตนเองไม่ได้ ไม่ว่าทั้งทางพฤตินัยหรือนิตินัย ด้วยวุฒิภาวะยังไม่ถึงตามกฎหมาย เขาไม่ใช่จำเลยของสังคม แต่ก็อย่าไปยกย่องว่าเป็นฮีโร่ สิ่งที่ต้องทำคือคุ้มครองสิทธิของเด็ก นี่คือเรื่องใหญ่ที่สุด”
สอดคล้องกับด้าน 'ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์' คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ให้ความเห็นกับทีมข่าวผู้ จัดการ Live เกี่ยวกับภาพรวมการทำงานของสื่อไทย โดยมองว่าถึงแม้การนำเสนอของสื่อกระแสหลักจะมีดราม่าเกิดขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผู้เสพข่าวจำนวนไม่น้อยที่นิยมติดตามข่าวในลักษณะดังกล่าว
“กระบวนการทำข่าวของนักข่าวในพื้นที่อาจยังไม่ได้เรียนรู้การทำข่าวในภาวะฉุกเฉินว่า อะไรควรระวังหรือไม่ควรเผยแพร่ ยิ่งเจอกับธุรกิจสื่อที่แข่งขันกันอย่างรวดเร็ว หรือการไลฟ์สด 24 ชั่วโมง เมื่อประเด็นธรรมดามันหมด ก็ต้องหาทุกอย่างมาเพื่อขายให้ได้ จึงทำให้นักข่าวในท้องที่ต้องหาทุกเรื่อง-ทุกวิถีทางมาเพื่อรายงานข่าว
แต่ทั้งนี้ก็เพื่อตอบโจทย์ในส่วนของคนเสพข่าวด้วย ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่นักข่าวอย่างเดียว แต่มันอยู่ที่ผู้เสพข่าวจำนวนไม่น้อยก็นิยมชมชอบที่จะเสพข่าวแบบนี้ ทั้งประเด็นในเชิงดราม่าและไสยศาสตร์ เช่น อยากรู้ว่ารถตู้คันแรกทะเบียนอะไร วัน-เวลาที่ออกมา หรืออยากรู้บางเรื่องที่ไม่ได้ก่อให้เกิดสิ่งใด
ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้ก็อาจกลายเป็นข้ออ้างของสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งในการนำเสนอว่าเพราะมีคนชอบดู เรตติ้งดีเพราะการนำเสนอแบบนี้ อีกส่วนหนึ่งก็คือภาวะของหน่วยงานราชการในการบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินในเบื้องต้นที่ไม่มีกระบวนการที่รองรับไว้แต่ต้น"
ในฐานะนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน มองว่ากรณีถ้ำหลวงที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ให้บทเรียนกับวงการสื่อเพียงอย่างเดียว ทว่า จากปัญหาได้สร้างภาพสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนทั้งผู้เสพข่าว-ผู้สื่อข่าว และหน่วยงานของรัฐ ถือเป็นบทเรียนในการสร้างสื่อที่แข็งแรงได้ในอนาคต
“ผมว่าให้บทเรียนกับทุกส่วนนะครับ ทุกส่วนต้องกลับมาตั้งสติและทบทวนดู อย่าโทษกันไป โทษกันมา อย่างตัวนักข่าวเองก็อย่าโทษว่าเป็นเพราะผู้เสพอย่างเดียว หรือผู้เสพก็โทษสื่ออย่างเดียว จริงๆ แล้ว ทั้งสองส่วนมีส่วนสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
วันนี้เมื่อผู้เสพสื่อมีพลังในการตรวจสอบสื่อมากขึ้น ก็ต้องเติบโตขึ้น เลือกที่จะเสพสื่อที่คิดว่าไม่เหมาะสม หรือไม่ถูกต้องตามกรอบจริยธรรม ในขณะเดียวกันสื่อเองก็ต้องตระหนักว่าไม่ใช่เฉพาะผู้บริโภคกลุ่มเดิมที่เขาชอบแบบที่ดราม่าอย่างเดียว มันมีจำนวนไม่น้อยแล้วเช่นกันที่ไม่ได้ชอบแบบนี้
เราต้องเรียนรู้และถอดบทเรียนจากทั้งสองฝ่าย ปัญหาที่เกิดขึ้นมันจึงเป็นภาพสะท้อนของคนที่เสพข่าว, หน่วยงานรัฐ, องค์กรสื่อ และผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย ในอนาคตเรื่องของการทำงานของสื่อ ผมมองว่ามันคงมีการชัดเจนขึ้น อย่างวันนี้ผมมองในแง่ดีว่าเมื่อพลังผู้บริโภคชัดเจนขึ้น อย่างน้อยสื่อต้องตระหนักได้บ้างว่าเวลานำเสนอข่าวใดๆ ต้องฉุกคิด
แม้การนำเสนออาจต้องแข่งกับเรตติ้ง แต่ก็ต้องระวังมากขึ้น ทั้งสื่อและคนเสพสื่อควรจะถอดบทเรียนกรณีถ้ำหลวงนี้ เลิกที่จะโทษอีกฝ่ายหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่กลับมาย้อนมองตัวเอง และถอดบทเรียนให้กับตัวเองด้วย ทั้งในฐานะที่ทำงานสื่อและในฐานะที่เสพสื่อว่าเราจะช่วยกันสร้างสื่อที่ดีในอนาคตได้อย่างไร”
ข่าวโดย ทีมข่าวผู้จัดการ Live