xs
xsm
sm
md
lg

เลิก "ขอทาน" สู้ชีวิตพลิกชะตา สู่ "แม่ค้า" ใจไม่สิ้นหวัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
“เบ้าตาทะลุ-ใส่กระโหลกเทียม-เย็บศีรษะ 444 เข็ม!!” หญิงชราวัย 69 ปีระทมทุกข์กว่า 17 ปี หลังอุบัติเหตุอ้อยหล่นทับร่างขณะรับจ้างขนอ้อย สามี-ลูกเขยเสียชีวิตคาที่ ส่วนลูกสาวเป็นอัมพาตเสียชีวิตในเวลาต่อมา “ยายแต๋ว-บุญตา ภูทาวัน” เดินหน้าสู้ชีวิตจาก “ขอทาน” สู่อาชีพ “แม่ค้า”ขายดอกไม้ แม้สิ้นหวังแต่ไม่มีวันยอมแพ้ให้กับชะตากรรม!

“น้ำตา” แห่งความปวดร้าว

หนึ่งชีวิตต้องรับมือกับความเจ็บปวด ทั้งทางร่างกายและจิตใจที่ถาโถมเข้ามาพร้อมกัน จากอุบัติเหตุกองอ้อยล้มทับ จนบาดเจ็บสาหัสต้องใส่กระโหลกศีรษะเทียม เย็บมากกว่า 444 เข็ม! ตาขวาถูกอ้อยแทงจนเกือบมองไม่เห็น และยังต้องเผชิญหน้ากับการสูญเสียสมาชิกครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นสามี ลูกสาว ลูกเขย ที่ไม่มีวันกลับคืนมา

“เริ่มต้นที่ยายเป็นแบบนี้ เพราะยายไปตัดอ้อยรับจ้าง ส่งขึ้นรถบรรทุก 10 ล้อ แต่ดินข้างล่างมันทรุดจึงทำให้อ้อยบนรถมันเทลงมาทับคนข้างล่าง 4 คน มีทั้งแฟนและลูกเขยที่เสียชีวิตคาที่ ส่วนลูกสาวเป็นอัมพฤต-อัมพาต กลับมาอยู่บ้านได้ 3 เดือนจากนั้นเสียชีวิต” ยายแต๋ว-บุญตา ภูทาวัน วัย 69 ปี เล่าย้อนภาพความทรงจำอันเจ็บปวดที่ไม่อาจลบเลือน

“วินาทีนั้นยายก็ไม่รู้เรื่องแล้ว ยายมารู้เรื่องอีกทีก็ตอนถึงโรงพยาบาล หลังจากที่สลบไป 2 วัน เย็บทั้งหมด 444 เข็มบริเวณรอบศีรษะ ส่วนตาด้านขวาของยายหลุดออกมาด้านนอก ส่งผลให้อักเสบจนถึงปัจจุบัน ใช้เวลารักษาตัว 6 เดือนเต็ม

ระหว่างที่รักษาตัว ยายไม่รู้มาก่อนว่าคนในครอบครัวได้เสียชีวิตไปแล้ว จนหมอมาบอกว่าพร้อมที่จะรับรู้เรื่องคนในครอบครัวไหม ตอนนั้นยายคิดว่ายายพร้อม คิดอยู่อย่างเดียวว่าคงไม่รอด ยายเคยขอหมออยากไปเยี่ยมแฟน หมอก็บอกว่าเขาอยู่ในห้องฉุกเฉิน ยังเยี่ยมไม่ได้ ที่แท้เขาตายแล้ว”


 
หลังจากที่กลับมาพักฟื้นรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ไม่เพียงแต่การเยียวยารักษาสภาพร่างกายให้ดีขึ้นจากเดิม แต่ยังต้องอดทนแบกรับความกดดันจากสังคมรอบตัว ทั้งถ้อยคำและสายตาที่ทำร้ายความรู้สึก นั่นเพียงเพราะกระโหลกศีรษะของตนไม่เหมือนคนอื่นๆ

“พอยายกลับมาอยู่บ้าน ก็ไม่ค่อยมีคนมาพูดคุยด้วย เพราะเขากลัวเรา เขากลัวกระโหลกศีรษะเราที่เป็นแบบนี้ ศีรษะยายไม่มีผม เนื้อยังไม่งอกออกมา มันเป็นกระโหลกหมดเลย เนื้อเพิ่งมาหุ้มกระโหลกได้เมื่อ 10 กว่าปีนี้เอง

หลังจากเหตุการณ์วันนั้นผ่านมาแล้ว 16-17 ปี ยายก็ยังลืมไม่ได้ ถ้าหากว่าไม่มีคนมาถาม ไม่มีคนมาพูด มันก็ลืมได้ แต่พอเรามาอยู่คนเดียว มันก็คิดอีก บางทียายก็คิดว่าทำไมเรื่องแบบนี้ต้องมาเกิดขึ้นกับเรา”

เรื่องราวเลวร้ายไปกว่านั้น เมื่อบ้านที่ควรอบอุ่นและเป็นที่ซุกตัวลงนอน กลับเต็มไปด้วยความบาดหมาง เมื่อญาติพี่น้องมองว่าตนคือภาระ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจเดินทางด้วยเท้าข้ามจังหวัดพร้อมหลานชายวัย 2 ขวบ

“ญาติพี่น้องมองว่ายายเป็นภาระ ทำให้ยายเลือกเดินออกมา จาก จ. นครปฐมเดินเท้ามาที่ จ.ราชบุรี พาหลานวัย 2 ขวบมาด้วย อาศัยวัดเป็นที่พักระหว่างเดินทาง

แต่จุดมุ่งหมายของยายจริงๆ ตอนที่ยังอยู่ รพ. เพราะมีเพื่อนคนหนึ่งบอกกับยายว่าบ้านเขาอยู่ที่หัวหินให้ยายมาหาเขาได้ตลอดเวลา แต่เมื่อยายไปถึงแล้วปรากฏว่าเพื่อนที่ตั้งใจมาขออาศัย ได้เสียชีวิตแล้ว ที่ตัวยายเองก็ไม่มีเงินสักบาท จึงอาศัยอยู่วัดและหาเงินด้วยการเป็นขอทานตั้งแต่นั้นมา”

จาก “ขอทาน” สู่อาชีพ “แม่ค้า” ขายใบเตย

หลังจากที่มรสุมเข้าเล่นงานชีวิตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะเมื่อยายเดินทางมาถึง อ. หัวหิน เพื่อนที่ตั้งใจมาขอพักอาศัยด้วยกลับเสียชีวิตไปแล้ว นั่นเท่ากับว่าความหวังของยายที่จะได้พบเจอเพื่อนจึงดับลงไป เธอได้อาศัยวัดเป็นที่พักใจและเริ่มต้นชีวิตอีกครั้งด้วยการเป็นขอทาน เดินขอเงินตามคำแนะนำของคนในท้องที่เพื่อประทังชีวิต

แต่ในความโชคร้ายก็มีความโชคดีที่มีคนใจบุญให้ความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นที่พักของยายในเวลาต่อมา “เราทราบว่าก่อนหน้านี้เขาเป็นขอทาน แม่ผมก็ดูแลเขามาตลอด บ้านเรามีห้องเช่าเล็กๆ ก็ให้เขาอยู่มาตลอด” วิเชียร ลิ้มพธยาเนตร์ เจ้าของบ้านเช่าย้อนความให้ฟังเมื่อตอนที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือคุณยาย

“เมื่อก่อนยายไปนั่งขอทานในตลาดโต้รุ่งนี่แหละ เขาก็ให้ยายนะ ยายก็เก็บทุนไว้มาซื้อของขาย ยายบอกว่ายายจน พอได้เงินแล้วยายก็เลิกไปขอเงินใครเขา เลิกแล้วยายก็มาซื้อดอกไม้ขาย ยายเดินเข้าไปในตลาด ซื้อดอกไม้มากำหนึ่ง ยายก็เอาดอกไม้มาแก้ออกหมดเลย และค่อยมาพับตามเขา ยายก็ทำเป็นมาจนถึงทุกวันนี้”

โดยทุกวัน ยายจะออกเดินทางขายใบเตยพับและพวงมาลัยตั้งแต่เช้าจนค่ำ ซึ่งช่วงเช้าจะออกไปขายที่ตลาดโต้รุ่งฉัตรไชย ตั้งแต่เช้าจนถึงสาย จากนั้นกลับมาที่บ้าน เพื่อมาพับใบเตยและร้อยพวงมาลัยสำหรับขายในช่วงเย็น โดยจะออกไปขายที่ตลาดนัดหัวนา ตั้งแต่ 3โมงเย็นจนถึง 6 โมงเย็น

 
จากนั้นเดินทางมาขายของต่อในช่วงค่ำที่ตลาดโต้รุ่งฉัตรชัยเวลา 6 โมง ถึง 3 ทุ่ม หากวันไหนของยังขายไม่หมด ยายจะเดินทางไปขายของต่อที่บ่อนไก่จนถึง 5 ทุ่ม จึงกลับบ้าน

“แต่ละวันขายได้ลดลง ขายได้วันละยังไม่ถึง 500 บาทเลย บางวันมาถึง 6 โมงเช้า ขายได้แค่ 20 บาท บางครั้งทำเพลินก็ลืมกินข้าว ที่ยายต้องทำแบบนี้เพราะมาคิดว่าถ้ายายไม่ขายของ หรือไม่ทำอะไรเลย เราจะกินอะไร เราจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร”

แม้ร่างกายจะไม่สมประกอบ แต่เธอก็ยืนยันว่าจะทำงานด้วยอาชีพสุจริต เพื่อหารายได้เลี้ยงชีวิตตัวเอง แต่กลับต้องเจอเรื่องราวที่เลวร้ายอีกครั้ง เมื่อมีชายคนหนึ่งเดินเข้ามาในชีวิต ซึ่งยายหวังว่าให้เป็นเพื่อนคู่คิดไปจนแก่เฒ่า แต่กลับหลอกลวง นำเอาเงิน-ทรัพย์สิน พร้อมทิ้งหนี้ก้อนโตให้เธอชดใช้อย่างที่เธอเองไม่เคยคาดคิดมาก่อน

“ยายมีแฟนคนใหม่ เขามาอยู่กับยายได้ 10 ปี แต่เมื่อยายขายของมาได้ เขาก็ลักเอาเงินยายไปให้ผู้หญิงอีกคนหนึ่ง และทั้งคู่ก็หนีไปด้วยกัน ไม่เพียงเท่านั้นยังสร้างหนี้เอาไว้ให้ยายเป็นคนปลดหนี้อีกด้วย ยายเลยต้องขายของใช้หนี้และอาศัยยืมเงินบ้าง แต่ยายจะไม่กลับไปเป็นขอทานขอเงินใครแล้ว

บางทียายไม่มีกิน ยังไม่หันกลับไปทำอีกเลย แต่ก่อนมีคนว่ายายเหมือนกัน เขาบอกว่ามือก็ดี เท้าก็ดี ไม่มีปัญญาเหรอ ยายมีโรคประจำตัว ยายก็ทำงานหนักไม่ได้ แต่พอยายไปเห็นคนที่เขาลำบากกว่ายาย ไปดูเขาแล้วเขามีลูกเต้าอีกหลายคน เขาหนักกว่ายาย เขายังสู้ ทำไมยายจะไม่สู้”

“ชีวิตไม่ง่าย แต่ยายต้องสู้”

ท่ามกลางมรสุมชีวิตแสนโหดร้ายที่เข้ามาตลอดในช่วง 17 ปี นับเป็นความโชคดีบนความโชคร้ายของหญิงชราวัย 69 ปี ที่ยังมีคนดีมีน้ำใจให้ความช่วยเหลือเสมอมา ทั้งเรื่องอาหารการกิน การค้าขาย และ ที่อยู่อาศัย จากเจ้าของบ้านเช่า เจ้าหน้าที่จิตอาสา และพ่อค้า-แม่ค้าในตลาดโต้รุ่ง

 “ทุกวันนี้ก็เหมือนเป็นญาติกันไปแล้ว ดูแลกันไป เรื่องสุขภาพเวลายายแกไม่สบายก็จะมาบอก มาพูดให้ฟัง เราก็จะบอกเขาว่าให้ไปหาหมอ ถ้าจะไป เราก็จะพาไป เราก็ดูแลกันเหมือนครอบครัวเดียวกัน” วิเชียร ลิ้มพธยาเนตร์ เจ้าของบ้านเช่าเผยความรู้สึกที่มีต่อยายนักสู้ชีวิต

 “ครั้งแรกที่เห็นคุณยายก็รู้สึกสงสารคุณยาย อย่างเวลาที่คุณยายมาก็ไม่เคยรบกวน ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้กับแม่ค้าข้างเคียงเลย ยายแกมีมานะดี แกเจ็บ แต่แกก็ดิ้นรนด้วยตัวของแกเอง” พ่อค้าแม่ค้าตลาดหัวนาเล่าถึงความตั้งใจทำมาค้าขายของยายโดยไม่ย่อท้อต่อความสิ้นหวัง

 “ทุกวันนี้หลังจากที่เราระดมทุนกันแล้ว โดยส่วนตัวผมขายของอยู่ใกล้ยายที่ตลาดโต้รุ่งหัวหิน คุณยายเองก็ได้รับความอนุเคราะห์จากเจ้าของตึกให้นั่งขายได้ โดยที่ไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ส่วนผมเองก็ได้ช่วยคุณยายรับฝากตะกร้าเล็กๆ ช่วยขายของในเวลาที่คุณยายไปเดินขายของอีกตลาดหนึ่ง” กฎษดา ณ สกุล จิตอาสา เล่าถึงเหตุการณ์เจ้าของตึกที่ได้เมตตาให้ยายค้าขายได้โดยไม่คิดค่าเช่าพื้นที่แต่อย่างใด


 
อย่างที่เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับหญิงชราวัย 69 ปีในวันนี้ นับเป็นเรื่องเลวร้ายและหดหู่เกินกว่าคนทั่วไปจะรับได้ แต่ด้วยจิตใจของเธอที่เข้มแข็งดิ้นรน เพื่อตั้งต้นชีวิตใหม่ จากขอทานสู่แม่ค้าพับใบเตยขาย และยังคงออกขายของทุกวันอย่างไม่มีวันหยุด

ยายบอกว่าชีวิตไม่ได้ง่าย แต่ไม่เกินความสามารถของคนๆ หนึ่งที่มีใจไม่ท้อ แม้สิ่งที่เผชิญอาจไม่ได้ทำให้เธอมีความสุข แต่เธอยังคงยืนยันที่จะสู้ต่อไปจนกว่าจะหมดลมหายใจ!

“ยายพูดจากใจจริง ยายไม่มีความสุข แต่ยายจะสู้ สู้ดีกว่า พออยากจะถอย ยายก็จะสู้ สู้มาเรื่อยๆ ช่วงนี้ยายก็คิดว่ายายสู้สุดๆ แล้วนะ บางทีก้าวขาไม่ออก แต่ยายก็ต้องไป”

ขณะที่ปัจจุบันบ้านเช่าที่ยายอาศัยอยู่ต้องถูกเวนคืนเพื่อทำทางรถไฟรางคู่ตามนโยบาย จึงทำให้ยายต้องดิ้นรนเพื่อหาที่อยู่ใหม่อีกครั้ง ทว่า หลังเรื่องราวของเธอถูกเผยแพร่สู่สังคมออนไลน์ ได้มีผู้ร่วมบริจาคเงินให้ยายนำเงินไปชดใช้หนี้สิ้น พร้อมทั้งยังมีข่าวดีเรื่องที่อยู่อาศัยหลังใหม่ที่มีผู้ใจบุญช่วยเหลือเรื่องค่าเช่าให้อีกด้วย

“ยายอยากจะขอบคุณคนทั่วประเทศที่ช่วยเหลือยาย ถ้าไม่มีพวกคุณ ยายก็คงไม่มีวันนี้”

สัมภาษณ์: รายการ "ฅนจริง ใจไม่ท้อ"
เรียบเรียง: ผู้จัดการ Live
เรื่อง: พิมพรรณ มีชัยศรี


กำลังโหลดความคิดเห็น